“22. การจัดหาให้ตามความต้องการทางโลกและสร้างการพึ่งพาตนเอง” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)
“22. การจัดหาให้ตามความต้องการทางโลกและสร้างการพึ่งพาตนเอง” คู่มือทั่วไป
22.
การจัดหาให้ตามความต้องการทางโลกและสร้างการพึ่งพาตนเอง
22.0
บทนำ
สมาชิกของศาสนจักรทำพันธสัญญาว่าจะ “แบกภาระของกันและกัน, … โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า … , และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน” (โมไซยาห์ 18:8–9) การดูแลคนขัดสนทางโลกเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่งความรอดและความสูงส่ง (ดู 1.2) หน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวนำมาใช้กับสมาชิกทุกคนของศาสนจักรขณะพวกเขาปฏิบัติศาสนกิจต่อกัน
สมาชิกศาสนจักรได้รับคำแนะนำให้เพิ่มประสิทธิภาพการพึ่งพาตนเองผ่านการทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรและด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า การพึ่งพาตนเองคือการสามารถ การมุ่งมั่นตั้งใจ และพยายามจัดหาสิ่งจำเป็นทางโลกและทางวิญญาณของชีวิตให้ตนเองและครอบครัว เมื่อสมาชิกพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น พวกเขาย่อมสามารถรับใช้ผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย
ความพยายามของบุคคลและครอบครัว
22.1
สร้างการพึ่งพาตนเอง
สมาชิกสร้างการพึ่งพาตนเองด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าในด้านต่อไปนี้:
-
พัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณ ร่างกาย และอารมณ์
-
ศึกษาหาความรู้และมีงานอาชีพ
-
ปรับปรุงการเตรียมพร้อมทางโลก
22.1.1
ความเข้มแข็งทางวิญญาณ
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “สำหรับเราทุกสิ่งเป็นฝ่ายวิญญาณ, และไม่มีสักครั้งที่เราให้กฎแก่เจ้าซึ่งเป็นฝ่ายโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:34) สมาชิกพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณเมื่อพวกเขาทำดังนี้:
-
ใช้ศรัทธาในพระคริสต์
-
สวดอ้อนวอน
-
อดอาหาร
-
ศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่
-
เชื่อฟังพระบัญญัติ
-
เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกและการประชุมอื่นของศาสนจักร
-
ให้การรับใช้ผู้อื่น
-
มีส่วนร่วมในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์และพยายามรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อสมาชิกทำสิ่งเหล่านี้ พวกเขาย่อมได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาของตนและปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
22.1.2
สุขภาพกายและอารมณ์
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้บุตรธิดาของพระองค์พัฒนาความเข้มแข็งทางร่างกายและทางอารมณ์ รวมถึงการทำสิ่งต่อไปนี้:
-
เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 89; ดู 38.7.14 ในคู่มือนี้ด้วย)
-
พยายามรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ
-
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมและสารที่เป็นอันตรายหรือทำให้เสพติด
-
ฝึกสุขอนามัยที่ดีและรับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
-
พัฒนาและกระชับความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวและผู้อื่น
-
เรียนรู้วิธีจัดการความเครียด
-
ขอความช่วยเหลือสำหรับความท้าทายทางจิตหรืออารมณ์เมื่อจำเป็น
22.1.3
การศึกษาและงานอาชีพ
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าคือความรู้แจ้ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:36) พระองค์ทรงสอนเช่นกันให้ “แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118; ดู 130:18 ด้วย) การศึกษาหรือการฝึกอาชีพจะส่งผลให้มีงานอาชีพที่ดีขึ้นทั้งนี้เพื่อสมาชิกจะสามารถจัดหาตามความต้องการของตนเองและครอบครัวได้
การพัฒนาความสามารถในการทำงานจะช่วยให้สมาชิกเอื้อประโยชน์ต่อครอบครัวของตน ศาสนจักร และโลก ศาสนจักรแนะนำให้สมาชิกทำงานขยันขันแข็งและซื่อสัตย์ในทุกสิ่งที่พวกเขาทำ
22.1.4
การเตรียมพร้อมทางโลก
พระคัมภีร์สอนความสำคัญของการเตรียมพร้อม (ดู เอเสเคียล 38:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:30) ศาสนจักรแนะนำให้สมาชิกเตรียมพร้อมเพื่อพวกเขาจะสามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ ในยามขัดสน
สมาชิกเพิ่มการเตรียมพร้อมทางการเงินโดยการ:
-
จ่ายส่วนสิบและเงินบริจาค (ดู มาลาคี 3:8–12)
-
ปลดหนี้และหลีกเลี่ยงหนี้สินเท่าที่ทำได้
-
เตรียมพร้อมและดำเนินชีวิตตามงบประมาณ
-
เก็บออมเผื่ออนาคต
-
ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้พวกเขาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ (ดู 22.3.3)
การเตรียมพร้อมรวมถึงการพัฒนาแผนดูแลความต้องการพื้นฐานในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกสร้างเสบียงอาหาร น้ำ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน Personal Finances for Self-Reliance และ “Temporal Preparedness Resources”
22.2
ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์
สานุศิษย์ของพระเจ้าได้รับการสอนให้ “รัก … และรับใช้กัน” และ “ช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ” (โมไซยาห์ 4:15–16) สมาชิกพยายามมองผู้อื่นเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงมองพวกเขา โดยเข้าใจความเข้มแข็งและความต้องการจำเพาะของคนเหล่านั้น โดยทำเช่นนี้สมาชิกจะได้รับการดลใจให้รู้วิธีปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ ความต้องการเหล่านี้อาจได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย การศึกษา งานอาชีพ สุขภาพกาย และความผาสุกทางอารมณ์
22.2.1
คลังของพระเจ้า
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้ “แบ่งทรัพย์สมบัติของเจ้าให้คนจน, … และจงมอบสิ่งเหล่านั้นไว้ให้อธิการ … [และ] จะเก็บ … ไว้ในคลังของเรา, เพื่อสงเคราะห์คนจนและคนขัดสน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:31, 34) แหล่งช่วยทั้งหมดที่มีให้ศาสนจักรช่วยเหลือคนขัดสนทางโลกเรียกว่าคลังของพระเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:18–19) แหล่งช่วยเหล่านี้รวมถึงการที่สมาชิกให้เวลา พรสวรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ ทรัพย์สิน และทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือคนขัดสน
คลังของพระเจ้ามีอยู่ในแต่ละวอร์ดและแต่ละสเตค ส่วนมากผู้นำสามารถช่วยให้บุคคลและครอบครัวพบวิธีตอบสนองความต้องการของตนโดยอาศัยความรู้ ทักษะ และการรับใช้ที่ได้รับจากสมาชิกวอร์ดและสมาชิกสเตค
นอกจากแหล่งช่วยในคลังของพระเจ้าแล้ว บ่อยครั้งสมาชิกสามารถรับความช่วยเหลือที่ต้องการผ่านแหล่งช่วยของรัฐและชุมชนด้วย (ดู 22.12)
22.2.2
กฎแห่งการอดอาหารและเงินบริจาคอดอาหาร
พระเจ้าทรงสถาปนากฎแห่งการอดอาหารและเงินบริจาคอดอาหารเพื่อเป็นพรแก่ผู้คนของพระองค์และเพื่อจัดหาวิธีให้พวกเขารับใช้คนขัดสน กฎแห่งการอดอาหารเป็นพรทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ สมาชิกใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นและเพิ่มพูนความเข้มแข็งทางวิญญาณเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอดอาหาร พวกเขาเพิ่มประสิทธิภาพการพึ่งพาตนเองและมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นด้วย (ดู อิสยาห์ 58:6–12; มาลาคี 3:8–12)
สมาชิกจะอดอาหารเวลาใดก็ได้ แต่โดยปกติสมาชิกถือปฏิบัติวันอดอาหารในวันสะบาโตแรกของเดือน ปกติแล้ววันอดอาหารรวมถึงการ:
-
สวดอ้อนวอน
-
ไม่กินอาหารและดื่มเป็นเวลา 24 ชั่วโมง (หากร่างกายทนไหว)
-
บริจาคเงินอดอาหารด้วยน้ำใจเอื้อเฟื้อ
เงินบริจาคอดอาหารเป็นเงินบริจาคเพื่อช่วยคนขัดสน เมื่อสมาชิกอดอาหาร ศาสนจักรเชื้อเชิญให้สมาชิกบริจาคอย่างน้อยเท่ากับค่าอาหารที่สมาชิกไม่ได้รับประทาน ศาสนจักรสนับสนุนสมาชิกให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อและบริจาคมากกว่าค่าอาหารเหล่านี้หากสามารถทำได้
สมาชิกจะมอบเงินบริจาคพร้อมใบส่วนสิบและเงินบริจาคอื่นๆ ที่กรอกข้อมูลแล้วให้อธิการหรือที่ปรึกษาคนหนึ่งของอธิการ ในบางพื้นที่พวกเขาสามารถทำ การบริจาคออนไลน์ ได้ด้วย ในบางวอร์ด อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนรวบรวมเงินบริจาคอดอาหาร (ดู 34.3.2)
22.2.3
การรับใช้
สมาชิกหมายมั่นรับใช้ผู้อื่นเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับใช้ (ดู ยอห์น 13:35) พวกเขาพยายามรับรู้ความเข้มแข็งและความต้องการของกันและกัน ปฏิบัติศาสนกิจต่อกันด้วยความรักและความเข้าใจ
สมาชิกสามารถประสานงานการรับใช้ในวอร์ด สเตค หรือชุมชน หากมี JustServe.org สมาชิกและคนอื่นๆ สามารถใช้ค้นหาโอกาสรับใช้ในชุมชน สมาชิกและคนอื่นๆ สามารถบรรเทาภัยพิบัติหรือรับใช้ชุมชนผ่านโครงการที่ศาสนจักรสนับสนุนได้เช่นกัน
22.2.4
ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม
ศาสนจักรให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมทั่วโลก ทั้งโดยตรงและผ่านความร่วมมือกับองค์กรบรรเทาทุกข์อื่นๆ และให้ความช่วยเหลือโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา หรือสัญชาติ
สมาชิกและคนอื่นๆ ผู้ประสงค์จะสนับสนุนความพยายามเหล่านี้จะบริจาคเข้ากองทุนช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมของศาสนจักร สมาชิกจะมอบเงินบริจาคพร้อมใบส่วนสิบและเงินบริจาคอื่นๆ ที่กรอกข้อมูลแล้วให้อธิการหรือที่ปรึกษาคนหนึ่งของอธิการ ในบางพื้นที่พวกเขาสามารถทำ การบริจาคออนไลน์ ได้ด้วย
ความพยายามของผู้นำ
22.3
แบบแผนสำหรับสร้างการพึ่งพาตนเองและการปฏิบัติศาสนกิจต่อคนขัดสน
ผู้นำศาสนจักรเป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอดขณะพวกเขาดูแลผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ (ดู 22.3.4) ในการทำเช่นนั้นพวกเขาพยายามช่วยให้สมาชิกเพิ่มประสิทธิภาพการพึ่งพาตนเองด้วย
ผู้นำแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ทั้งนี้เพื่อจะช่วยเหลือได้ด้วยความเห็นใจและความสงสาร แบบแผนต่อไปนี้จะช่วยผู้นำดูแลความต้องการของสมาชิกในวิธีที่สร้างการพึ่งพาตนเอง:
-
ค้นหาคนขัดสน
-
ช่วยพวกเขาประเมินและสนองความต้องการระยะสั้น
-
ช่วยพวกเขาสร้างการพึ่งพาตนเองระยะยาว
-
ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้มีความต้องการทางอารมณ์
22.3.1
ค้นหาคนขัดสน
อธิการมีหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ในการค้นหาและดูแลคนขัดสน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:112) คนอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืออธิการทำหน้าที่รับผิดชอบนี้ได้แก่:
-
บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ
-
ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์
-
ที่ปรึกษาของอธิการ
-
สมาชิกคนอื่นๆ ในสภาวอร์ด
เมื่อจำเป็นฝ่ายอธิการจะเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองวอร์ดมาสนับสนุนความพยายามเหล่านี้ (ดู 22.6.4)
ด้วยวิญญาณของความรักและความห่วงใย ผู้นำวอร์ดและคนที่รับใช้กับพวกเขาช่วยกันระบุชื่อสมาชิกที่อาจต้องการความช่วยเหลือ ไม่เพียงช่วยเหลือเมื่อขอเท่านั้น ผู้นำควรปรึกษากับบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกที่ขัดสนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
22.3.2
ช่วยสมาชิกประเมินและดูแลความต้องการระยะสั้น
สมาชิกพยายามสนองความต้องการพื้นฐานของตนผ่านความพยายามของตนเองและความช่วยเหลือจากครอบครัวเครือญาติ เมื่อไม่พอ สมาชิกอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น เช่น:
-
แหล่งช่วยของรัฐและชุมชน (ดู 22.12)
-
ความช่วยเหลือจากศาสนจักร
ความช่วยเหลือจากศาสนจักรอาจรวมถึงการช่วยเรื่องความต้องการระยะสั้น เช่น อาหาร ชุดสุขอนามัย เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย หรือสิ่งพื้นฐานอื่นๆ อธิการจะใช้เงินบริจาคอดอาหารตอบสนองความต้องการเหล่านี้ หากที่ใดมีใบสั่งซื้อของอธิการ ปกติอธิการจะใช้ใบสั่งซื้อเหล่านั้นจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ (ดู “ใบสั่งซื้อและใบแนะนำรายชื่อของอธิการ” ใน แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน [LCR])
เมื่อให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร ผู้นำทำตามหลักธรรมและนโยบายที่ระบุไว้ในหมวด 22.4 และ 22.5
22.3.3
ช่วยสมาชิกสร้างการพึ่งพาตนเองระยะยาว
สมาชิกอาจต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขความท้าทายระยะยาว การศึกษา การฝึกอาชีพ หรือแหล่งช่วยอื่นสามารถช่วยพวกเขาสร้างการพึ่งพาตนเองและจัดหาให้ตนตามความต้องการระยะยาว ผู้นำสมาคมสงเคราะห์ ผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนคนอื่นๆ สามารถช่วยให้สมาชิกเข้าถึงแหล่งช่วยเหล่านี้
แผนพึ่งพาตนเอง ช่วยให้สมาชิกทราบกำลังและความต้องการของตน อีกทั้งช่วยพวกเขาค้นพบแหล่งช่วยที่เป็นประโยชน์ด้วย ควรใช้แผนนี้ทุกครั้งที่พิจารณาความช่วยเหลือจากศาสนจักร อธิการจะมอบหมายให้ผู้นำสมาคมสงเคราะห์ ผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ หรือคนอื่นๆ ช่วยสมาชิกกรอกข้อมูลในแผน
ส่วนหนึ่งของแผนพึ่งพาตนเองคือผู้นำจะแนะนำให้สมาชิกเข้า กลุ่มพึ่งพาตนเอง กลุ่มเหล่านี้ช่วยพวกเขาพัฒนาทักษะและแหล่งช่วยเพื่อมีการศึกษา งานอาชีพ หรือการบริหารเงินที่ดีขึ้น (ดู 22.13) โดยทั่วไปสภาสเตคหรือสภาวอร์ดจัดกลุ่มเหล่านี้ (ดู 22.10.2, 22.7)
อธิการ หรือผู้นำอีกคนที่เขามอบหมาย ใช้ แนวทางของอธิการสำหรับแผนพึ่งพาตนเอง เมื่อให้ความช่วยเหลือ แบบฟอร์มนี้ช่วยผู้นำติดตามความก้าวหน้าของสมาชิกจนถึงการพึ่งพาตนเอง
22.3.4
ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้มีความต้องการทางอารมณ์
สมาชิกจำนวนมากประสบความท้าทายทางอารมณ์ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและผู้นำวอร์ดสามารถเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือสมาชิกที่มีความท้าทายเหล่านี้
การต่อสู้กับความท้าทายทางอารมณ์ของบุคคลจะส่งผลต่อสมาชิกครอบครัวของเขาเช่นกัน ผู้นำวอร์ดควรเอาใจใส่ความต้องการของสมาชิกครอบครัว โดยเฉพาะคู่สมรส ผู้นำให้การประคับประคองและเข้าใจพวกเขา
ศาสนจักรจัดเตรียม “แหล่งให้คำปรึกษา” เพื่อช่วยประคับประคองสมาชิกที่มีปัญหาหลากหลายทางอารมณ์และสังคม แหล่งช่วยเพิ่มเติมสำหรับสมาชิกได้แก่:
ดู “สุขภาพอารมณ์” ใน 22.13 ด้วย
อธิการจะปรึกษากับเจ้าหน้าที่หน่วยงานสนับสนุนครอบครัวเพื่อเข้าใจความท้าทายทางอารมณ์ของสมาชิกดีขึ้น และระบุแหล่งช่วยตลอดจนหน่วยบริการที่มี ประธานสเตคและประธานคณะเผยแผ่จะปรึกษากับหน่วยงานสนับสนุนครอบครัวเช่นกัน ส่วนหนึ่งของการปรึกษานี้คือเจ้าหน้าที่หน่วยงานสนับสนุนครอบครัวจะช่วยผู้นำเหล่านี้ประเมินว่าสมาชิกที่มีความท้าทายร้ายแรงทางอารมณ์หรือสังคมจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ผู้นำเหล่านี้สามารถขอคำปรึกษาโดยติดต่อสำนักงานหน่วยงานสนับสนุนครอบครัวหรือผู้จัดการด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองของพวกเขา ดูข้อมูลติดต่อใน 31.3.6
อธิการจะส่งต่อสมาชิกที่ต้องการคำปรึกษาให้ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานสนับสนุนครอบครัวหากมี พวกเขาส่งต่อให้หน่วยงานดังกล่าวโดยใช้ใบสั่งซื้อของอธิการ (ดู “ใบสั่งซื้อและใบแนะนำรายชื่อของอธิการ” ใน LCR) สมาชิกอาจเลือกขอความช่วยเหลือจากผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพในชุมชน
บางครั้งอธิการแนะนำสมาชิกผู้ต้องการความช่วยเหลือให้กลับใจจากพฤติกรรมที่เป็นบาป พฤติกรรมดังกล่าวอาจรวมถึงบาปเกี่ยวกับการเสพติดหรือเกิดจากการเสพติด ในสถานการณ์เหล่านี้ อธิการควรอ่านแนวทางใน 32.8.1 และ 32.8.2
22.4
หลักธรรมสำหรับการให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร
สมาชิกพยายามจัดหาให้ตนเองและครอบครัวด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า ศาสนจักรขอให้ครอบครัวเครือญาติช่วยเหลือเมื่อจำเป็น เมื่อสมาชิกต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม พวกเขาจะควรหันไปหาแหล่งอื่น เช่น:
-
แหล่งช่วยของรัฐและชุมชน (ดู 22.12)
-
ความช่วยเหลือของศาสนจักรผ่านเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ (ดู 22.3.2)
ความช่วยเหลือจากศาสนจักรมีไว้ช่วยให้สมาชิกพัฒนาการพึ่งพาอาศัยตนเอง ไม่ใช่พึ่งพาอาศัยผู้อื่น ความช่วยเหลือใดก็ตามที่ให้ควรเพิ่มพลังให้สมาชิกพยายามพึ่งพาตนเอง
เมื่อให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร ผู้นำทำตามหลักธรรมในหมวด 22.4.1 ถึง 22.4.5 ขอให้ฝ่ายอธิการและพนักงานทบทวนวีดิทัศน์เรื่อง “Sacred Funds, Sacred Responsibilities”
22.4.1
ส่งเสริมหน้าที่รับผิดชอบของบุคคลและครอบครัว
ผู้นำสอนว่าบุคคลและครอบครัวมีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้นต่อความผาสุกทางโลก ทางอารมณ์ และทางวิญญาณของตน การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของการพึ่งพาตนเองจะทำให้สมาชิกสามารถแก้ไขความต้องการในอนาคตของตนได้ดีขึ้น (ดู 22.1)
ก่อนให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร อธิการ (หรือผู้นำหรือสมาชิกอีกคนที่เขามอบหมาย) ตรวจสอบกับสมาชิกว่าพวกเขากำลังใช้แหล่งช่วยอะไรตอบสนองความต้องการของตน บุคคลนี้อาจเสนอแหล่งช่วยอื่นให้สมาชิกพิจารณา รวมถึงแหล่งช่วยในภาครัฐหรือชุมชน (ดู 22.12)
22.4.2
ให้ความช่วยเหลือชั่วคราวสำหรับสิ่งจำเป็น
เป้าหมายความช่วยเหลือจากศาสนจักรคือสนองความต้องการพื้นฐานเพียงชั่วคราวขณะสมาชิกพยายามพึ่งพาตนเอง โดยทั่วไปจะใช้เงินบริจาคอดอาหารช่วยจ่ายสิ่งจำเป็นต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องนุ่งห่ม แต่อาจจะใช้จ่ายค่าที่พักอาศัยหรือสาธารณูปโภค และอาจจะใช้จ่ายค่าบริการส่วนตัว เช่น การขอคำปรึกษา การรักษาพยาบาล หรือการฝึกทักษะระยะสั้นด้วย
ความช่วยเหลือจากศาสนจักรมีไว้เพื่อประคองชีวิต—ไม่ใช่เพื่อให้มีรูปแบบการดำเนินชีวิตเดิม สมาชิกอาจต้องการการสนับสนุนและความเห็นใจขณะพวกเขาพยายามลดหรือตัดค่าใช้จ่ายเพื่อจัดหาตามความต้องการของตนได้ดีขึ้น
อธิการควรใช้วิจารณญาณอันดีและแสวงหาการทรงนำทางวิญญาณเมื่อพิจารณาจำนวนและระยะเวลาที่ช่วยเหลือ พวกเขาควรสงสารและมีน้ำใจเอื้อเฟื้อขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยผู้อื่น
22.4.3
จัดหาแหล่งช่วยหรือหน่วยบริการแทนที่จะให้เงินสด
หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้อธิการควรหลีกเลี่ยงการให้เงินสด เขาควรใช้เงินบริจาคอดอาหารและใบสั่งซื้อของอธิการจัดหาของใช้ประจำวันหรือหน่วยบริการให้สมาชิกแทน จากนั้นสมาชิกจะใช้เงินของตนจ่ายสิ่งอื่นที่จำเป็น
เมื่อเงินส่วนนี้ไม่พออธิการจะช่วยเหลือโดยใช้เงินบริจาคอดอาหารชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้ชั่วคราว (ดู 22.5.2) หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ควรจ่ายเงินเหล่านี้แก่ผู้ให้บริการโดยตรง (ดู 22.5.3)
22.4.4
เสนอโอกาสให้ทำงานหรือรับใช้
อธิการเชื้อเชิญให้ผู้รับความช่วยเหลือทำงานหรือรับใช้ตามขีดความสามารถของพวกเขา นี่ช่วยให้สมาชิกรู้สึกว่าตนยังมีศักดิ์ศรี และทำให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นด้วย หากมี JustServe.org อาจใช้เพื่อค้นหาโอกาสรับใช้ในชุมชน
สมาชิกสูงวัยหรือสมาชิกพิการบางคนอาจทำงานหรือรับใช้ได้จำกัด ผู้นำควรเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขาและเสนอทางเลือกที่ให้พวกเขาทำเท่าที่ทำได้ภายในสภาวการณ์ของตน
22.4.5
ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากศาสนจักร
อธิการและผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ ไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับสมาชิกที่อาจต้องการความช่วยเหลือจากศาสนจักร เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีของสมาชิก (ดู 31.3)
สมาชิกที่รับความช่วยเหลือควรรับรู้ความศักดิ์สิทธิ์ของเงินบริจาคอดอาหารและใบสั่งซื้อของอธิการ พวกเขาควรรักษาความลับและเคารพความช่วยเหลือใดก็ตามที่ได้รับ
บางครั้งอาจเป็นประโยชน์หากให้สภาวอร์ดหรือคนอื่นๆ ทราบความต้องการของบุคคลหรือครอบครัว ตัวอย่างเช่นเมื่อสมาชิกกำลังหางาน ในกรณีเหล่านี้ โดยทั่วไปอธิการและผู้นำคนอื่นๆ ขออนุญาตสมาชิกเพื่อเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
22.5
นโยบายสำหรับการให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร
ผู้นำศาสนจักรควรทำตามนโยบายที่ระบุไว้ในหมวดนี้เมื่อให้ความช่วยเหลือผ่านเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการเพื่อซื้ออาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ
22.5.1
นโยบายเกี่ยวกับผู้รับความช่วยเหลือจากศาสนจักร
22.5.1.1
ความช่วยเหลือแก่สมาชิกวอร์ด
โดยทั่วไปสมาชิกที่รับความช่วยเหลือจากศาสนจักรควรอยู่ในเขตวอร์ดและมีบันทึกสมาชิกภาพในวอร์ด ศาสนจักรสามารถให้ความช่วยเหลือได้ไม่ว่าสมาชิกจะเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรเป็นประจำหรือทำตามมาตรฐานศาสนจักรหรือไม่ก็ตาม
หากสมาชิกเพิ่งย้ายเข้ามาในวอร์ด อธิการติดต่ออธิการคนก่อนเพื่อพูดคุยสถานการณ์ของสมาชิกก่อนให้ความช่วยเหลือ อธิการสามารถทบทวนความช่วยเหลือที่ให้ในช่วงสามปีก่อนในหมวด “การเงิน” ของ LCR ได้เช่นกัน
22.5.1.2
ความช่วยเหลือแก่อธิการและประธานสเตค
บางครั้งอธิการหรือคนในครอบครัวเครือญาติของเขาที่อยู่ในวอร์ดอาจต้องการความช่วยเหลือจากศาสนจักร เมื่อเกิดกรณีนี้อธิการทบทวนความต้องการและความช่วยเหลือที่เสนอกับประธานสเตค ต้องได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากประธานสเตคก่อนอธิการจึงจะใช้เงินบริจาคอดอาหารหรืออนุมัติใบสั่งซื้อของอธิการให้ตนเองหรือครอบครัวได้
หากใช้เงินบริจาคอดอาหาร ประธานสเตคทบทวนใบเรียกเก็บและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก่อนอนุมัติการจ่ายเงิน อธิการจะไม่อนุมัติการจ่ายเงินให้ตนเองหรือครอบครัวของตน
เมื่อประธานสเตคหรือคนในครอบครัวเครือญาติที่อยู่ในวอร์ดของเขาต้องการความช่วยเหลือ เขาติดต่ออธิการ อธิการทำตามหลักธรรมและแนวทางของการให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักรแบบเดียวกับที่เขาจะใช้กับสมาชิกคนอื่นๆ แต่ทันทีที่อธิการอนุมัติคำขอ ประธานสเตคต้องส่งคำขอถึงฝ่ายประธานภาค ประธานสเตคและอธิการรอการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมาชิกในฝ่ายประธานภาคก่อนดำเนินการจ่ายเงินหรือดำเนินการกับใบสั่งซื้อ (หากประธานท้องถิ่นต้องการความช่วยเหลือ ต้องขออนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ไม่ใช่ฝ่ายประธานภาค)
22.5.1.3
การช่วยเหลือคนเร่ร่อนหรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
อธิการอาจช่วยเหลือสมาชิกและคนอื่นๆ ที่เร่ร่อนหรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่พวกเขาพึงพิจารณารูปแบบและจำนวนความช่วยเหลือที่ให้อย่างรอบคอบ พวกเขาควรปรึกษากับอธิการวอร์ดเดิมของบุคคลนั้นก่อนให้ความช่วยเหลือ
โดยทั่วไปอธิการเชิญชวนสมาชิกที่เร่ร่อนหรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งผู้ได้รับความช่วยเหลือให้ยอมรับโอกาสในการทำงานและการรับใช้ อธิการอาจส่งต่อสมาชิกเหล่านี้ให้แหล่งช่วยชุมชนที่พร้อมดูแลความต้องการของพวกเขาเช่นกัน
เมื่อจำเป็นประธานสเตคอาจกำหนดอธิการหนึ่งคนให้จัดการคำร้องทั้งหมดที่มาจากคนเร่ร่อนหรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในสเตค ในบางพื้นที่สเตคมีคนเร่ร่อนหรือคนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจำนวนมาก ในสถานการณ์เหล่านั้นฝ่ายประธานภาคจะเรียกผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์ให้จัดการคำร้องขอความช่วยเหลือของคนเหล่านั้น บุคคลนี้ควรเคยรับใช้เป็นอธิการมาก่อน
22.5.1.4
การช่วยเหลือคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร
โดยปกติจะส่งต่อคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรให้แหล่งช่วยชุมชนในท้องที่ช่วยเหลือ นานๆ ครั้งเมื่อพระวิญญาณทรงนำอธิการจะช่วยเหลือพวกเขาด้วยเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการ เช่น อธิการจะพิจารณาความช่วยเหลือสำหรับบิดามารดาหรือผู้ดูแลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีบุตรหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นเป็นสมาชิก
22.5.2
นโยบายเรื่องการใช้เงินบริจาคอดอาหาร
22.5.2.1
การรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพอื่นๆ
แต่ละภาคของศาสนจักรกำหนดวงเงินอนุมัติให้ใช้เงินบริจาคอดอาหารจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทันตกรรม หรือค่าจิตเวช ฝ่ายประธานภาคเป็นผู้เสนอวงเงินเหล่านี้ และอนุมัติโดยคณะกรรมการบริหารสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองของศาสนจักร วงเงินต่างกันไปตามเขตหรือประเทศในภาค
เมื่ออธิการใช้เงินบริจาคอดอาหารช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทันตกรรม หรือค่าจิตเวช พวกเขาไม่ควรใช้เกินวงเงินเหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุมัติที่เหมาะสม ดูจำนวนอนุมัติและแนวทางใน “การใช้เงินบริจาคอดอาหารสำหรับค่ารักษาพยาบาล”
22.5.2.2
หนี้ผู้บริโภคและธุรกิจหรือการลงทุนที่ล้มเหลว
จะไม่ใช้เงินบริจาคอดอาหารจ่ายหนี้ผู้บริโภค เช่น บัตรเครดิตหรือเงินกู้ ทั้งไม่ใช้เงินบริจาคอดอาหารจ่ายหนี้ที่เกิดจากธุรกิจหรือการลงทุนที่ล้มเหลว
22.5.2.3
การคืนเงินบริจาคอดอาหาร
สมาชิกไม่ต้องคืนเงินช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารที่พวกเขาได้รับจากศาสนจักร
22.5.2.4
จำนวนการใช้จ่ายเงินบริจาคอดอาหารของวอร์ด
อธิการต้องไม่จำกัดความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารสำหรับสมาชิกวอร์ดเฉพาะจำนวนเงินบริจาคที่รวบรวมได้ภายในวอร์ด
22.5.3
นโยบายเรื่องการจ่ายเงิน
หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ควรจ่ายให้ธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการโดยตรง โดยปกติจะไม่จ่ายเงินให้คนที่รับความช่วยเหลือ
สมาชิกฝ่ายอธิการและพนักงานทำตามระเบียบปฏิบัติด้านการเงินที่ระบุไว้ใน 34.5.7 เมื่อ:
-
เตรียมเช็ค
-
เตรียมการเบิกจ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์
-
ถอนเงินสดเพื่อจ่ายเงินบริจาคอดอาหาร
22.5.4
นโยบายเรื่องการจ่ายเงินที่จะให้ผลประโยชน์แก่อธิการหรือประธานสเตค
เมื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกด้วยเงินบริจาคอดอาหาร อธิการจะไม่ใช้เงินจ่ายค่าสินค้าหรือบริการในลักษณะที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวเขา ข้อยกเว้นใดก็ตามจะต้องได้รับอนุมัติจากประธานสเตค ตัวอย่างเช่น หากอธิการเป็นเจ้าของบ้านเช่าที่สมาชิกอาศัยอยู่ เขาจะไม่ใช้เงินบริจาคอดอาหารจ่ายค่าเช่าให้สมาชิกเว้นแต่ประธานสเตคอนุมัติก่อน จะใช้นโยบายเดียวกันหากใช้เงินบริจาคอดอาหารซื้ออาหารให้สมาชิกจากร้านของชำที่อธิการเป็นเจ้าของ
หากการจ่ายเงินบริจาคอดอาหารให้สมาชิกจะให้ผลประโยชน์แก่ประธานสเตคหรือธุรกิจที่เขาเป็นเจ้าของ ต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานภาค ทันทีที่อธิการอนุมัติการจ่ายที่เสนอ ประธานสเตคส่งคำร้องถึงฝ่ายประธานภาค ประธานสเตคและอธิการรอการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมาชิกในฝ่ายประธานภาคก่อนดำเนินการจ่ายเงิน
22.5.5
การป้องกันการใช้เงินโดยมิชอบ
ฝ่ายอธิการและพนักงานควรป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินบริจาคอดอาหารโดยมิชอบ หากมีคำถามหรือต้องการรายงานการใช้ความช่วยเหลือจากศาสนจักรผิดประเภทหรือการฉ้อฉล สมาชิกในฝ่ายอธิการหรือพนักงานในสหรัฐและแคนาดาสามารถโทรสายด่วนที่ 1-800-453-3860 ต่อ 2-7887 สมาชิกในฝ่ายอธิการหรือพนักงานนอกสหรัฐและแคนาดาจะโทรไปสำนักงานภาคของพวกเขา
22.6
บทบาทของผู้นำวอร์ด
22.6.1
อธิการและที่ปรึกษา
อธิการได้รับพระบัญชาให้ค้นหาและดูแลคนขัดสนทางโลก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:112) เขามอบหมายงานส่วนใหญ่นี้ให้ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ แต่หน้าที่บางอย่างจะทำโดยอธิการเท่านั้น ตัวอย่างเช่น อธิการ:
-
พิจารณารูปแบบ จำนวน และระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือทางโลก
-
อนุมัติความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหาร (ดู 22.4 และ 22.5) และใบสั่งซื้อของอธิการเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ (ดู 22.13)
-
พึงแน่ใจว่าได้ทำตามหลักธรรมและนโยบายสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางโลก (ดู 22.4, 22.5 และวีดิทัศน์เรื่อง “Sacred Funds, Sacred Responsibilities”)
-
ทบทวนแผนพึ่งพาตนเองของสมาชิกด้วยตนเอง เขามอบหมายให้ผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ ติดตามแผนเหล่านั้นเมื่อจำเป็น (ดู แผนพึ่งพาตนเอง และ แนวทางของอธิการสำหรับแผนพึ่งพาตนเอง)
อธิการและที่ปรึกษามีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:
-
สอนหลักธรรมและพรเกี่ยวกับ (1) การดูแลผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ และ (2) สร้างการพึ่งพาตนเอง (ดู 22.1) ทั้งนี้รวมถึงการเตรียมพร้อมส่วนบุคคลและครอบครัวด้วย
-
สอนกฎแห่งการอดอาหารและกระตุ้นให้สมาชิกถวายเงินบริจาคอดอาหารด้วยน้ำใจเอื้อเฟื้อ (ดู 22.2.2)
-
สอดส่องดูแลการรวบรวมและการทำบัญชีเงินบริจาคอดอาหาร (ดู 34.3.2)
ในฐานะฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ฝ่ายอธิการสอดส่องดูแลความพยายามของโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิงที่จะรับใช้คนขัดสนทางโลกในวอร์ดและชุมชน (ดู 10.2.2 และ 11.2.2) โดยประสานความพยายามเหล่านี้ในการประชุมสภาเยาวชนวอร์ด (ดู 22.8) และในการประชุมฝ่ายประธานโควรัมและการประชุมฝ่ายประธานชั้นเรียน (ดู 10.4.3 และ 11.3.4.3)
22.6.2
ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์
ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์มีบทบาทสำคัญในการดูแลคนขัดสนในวอร์ด (ดู 8.2.2 และ 9.2.2) ผู้นำเหล่านี้สอนให้สมาชิกวอร์ด:
-
ดูแลช่วยเหลือคนขัดสน
-
ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอดอาหาร
-
สร้างการพึ่งพาตนเอง
-
เพิ่มการเตรียมพร้อมส่วนบุคคลและครอบครัว
ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์นำแบบแผนที่อธิบายไว้ใน 22.3 ไปปฏิบัติขณะพวกเขาช่วยดูแลคนขัดสน
ในบางแห่ง อธิการมีทางเลือกให้จัดหาอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ให้สมาชิกที่ขัดสนด้วยใบสั่งซื้อของอธิการ (ดู 22.13) โดยทั่วไปอธิการมอบหมายให้ประธานสมาคมสงเคราะห์พบกับสมาชิกและกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มใบสั่งซื้อ (ดู 9.2.2.2) แต่เขาจะมอบหมายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ด้วยก็ได้ (ดู 8.2.2.2) ที่ปรึกษาคนหนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์หรือฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์อาจได้รับมอบหมายหากประธานไม่อยู่ ผู้นำที่ได้รับมอบหมายส่งแบบฟอร์มที่กรอกครบถ้วนแล้วให้อธิการอนุมัติ
22.6.3
บราเดอร์หรือซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ
การช่วยเหลือตามความต้องการทางวิญญาณและทางโลกมักเริ่มกับบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ (ดู 21.1) พวกเขารายงานความต้องการของคนที่พวกเขารับใช้ต่อฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและในเวลาอื่น พวกเขาอาจบอกความต้องการที่เป็นความลับกับอธิการโดยตรง
22.6.4
ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองวอร์ด
ฝ่ายอธิการอาจเรียกบุคคลหรือคู่สามีภรรยาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองวอร์ด ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สนับสนุนผู้นำวอร์ดในการพยายามดูแลผู้อื่นและช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตนเองมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญอาจได้รับมอบหมายให้ดูแลเฉพาะด้านที่เน้น ด้านเหล่านี้ได้แก่:
-
งานอาชีพ
-
การศึกษา
-
การเตรียมพร้อม
-
สุขภาพอารมณ์
-
การเงินส่วนบุคคล
-
แหล่งช่วยของรัฐและชุมชนในท้องที่ซึ่งดูแลคนขัดสน (ดู 22.12)
ฝ่ายอธิการอาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยประสานงานหรือเป็นวิทยากรกระบวนการของ กลุ่มพึ่งพาตนเอง เช่นกัน โดยทั่วไปกลุ่มเหล่านี้จัดโดยสภาสเตคหรือสภาวอร์ด
22.6.5
สรุปการเรียกและบทบาท
ตารางต่อไปนี้สรุปการเรียกและบทบาทที่กล่าวไว้ใน 22.6
การเรียก |
เยี่ยมและประเมินความต้องการ |
สอนหลักธรรมเรื่องการพึ่งพาตนเอง |
ช่วยเหลือสมาชิกที่มีแผนพึ่งพาตนเอง |
อนุมัติความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการ |
---|---|---|---|---|
การเรียก อธิการ | เยี่ยมและประเมินความต้องการ อาจจะ แต่มักจะมอบหมาย | สอนหลักธรรมเรื่องการพึ่งพาตนเอง ใช่ | ช่วยเหลือสมาชิกที่มีแผนพึ่งพาตนเอง อาจจะ แต่มักจะมอบหมาย | อนุมัติความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการ ใช่ |
การเรียก ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ | เยี่ยมและประเมินความต้องการ ใช่ | สอนหลักธรรมเรื่องการพึ่งพาตนเอง ใช่ | ช่วยเหลือสมาชิกที่มีแผนพึ่งพาตนเอง ตามที่มอบหมาย | อนุมัติความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการ ไม่ |
การเรียก บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ | เยี่ยมและประเมินความต้องการ ใช่ | สอนหลักธรรมเรื่องการพึ่งพาตนเอง ใช่ | ช่วยเหลือสมาชิกที่มีแผนพึ่งพาตนเอง ตามที่มอบหมาย | อนุมัติความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการ ไม่ |
การเรียก ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองวอร์ด (หากเรียก) | เยี่ยมและประเมินความต้องการ ตามที่มอบหมาย | สอนหลักธรรมเรื่องการพึ่งพาตนเอง ตามที่มอบหมาย | ช่วยเหลือสมาชิกที่มีแผนพึ่งพาตนเอง ตามที่มอบหมาย | อนุมัติความช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคอดอาหารหรือใบสั่งซื้อของอธิการ ไม่ |
22.7
บทบาทของสภาวอร์ด
บทบาทสำคัญของสภาวอร์ดคือวางแผนวิธีดูแลคนขัดสนและช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตนเอง (ดู 4.4) สมาชิกสภายึดแผนเหล่านี้ตามข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและจากการติดต่อกับคนขัดสนด้วยตนเอง ในการพูดถึงความต้องการของสมาชิก สภาเคารพความปรารถนาของคนที่ขอให้รักษาความลับ
เมื่อสภาวอร์ดคิดหาวิธีดูแลผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ พวกเขาทำดังนี้:
-
วางแผนวิธีสอนสมาชิกวอร์ดให้รู้วิธีนำหลักธรรมเรื่องการพึ่งพาตนเองมาปฏิบัติ (ดู 22.1) หลักธรรมเหล่านี้รวมถึงการเตรียมพร้อมส่วนบุคคลและครอบครัว
-
วางแผนวิธีช่วยเหลือผู้มีความต้องการเร่งด่วนเช่นตกงาน และผู้ต้องการการดูแลระยะยาวเช่นปัญหาสุขภาพหรือความพิการ
-
ระบุชื่อสมาชิกวอร์ดที่ทักษะของพวกเขาอาจช่วยตอบสนองความต้องการเร่งด่วนและระยะยาว
-
ระบุงานมอบหมายให้ทำงานหรือรับใช้สำหรับคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากศาสนจักร
-
ระบุชื่อสมาชิกที่จะได้ประโยชน์จากการเข้า กลุ่มพึ่งพาตนเอง โดยทั่วไปกลุ่มเหล่านี้จัดโดยสภาสเตคหรือสภาวอร์ด
-
ระบุแหล่งช่วยอื่นของรัฐ ชุมชน หรือศาสนจักรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก (ดู 22.12 และ 22.13)
-
วางแผนวิธีรับใช้ในชุมชน หากมี JustServe.org อาจใช้เพื่อค้นหาโอกาสให้รับใช้เช่นนั้น
สภาวอร์ดเตรียมแผนเรียบง่ายเป็นลายลักษณ์อักษรให้วอร์ดพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรประสานแผนนี้กับแผนฉุกเฉินของสเตค (ดู “การเตรียมพร้อมของสเตคและวอร์ด”; ดู 22.9.1.3 ในคู่มือนี้ด้วย)
อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองวอร์ดเข้าร่วมการประชุมสภาวอร์ดเมื่อจำเป็น
22.8
บทบาทของสภาเยาวชนวอร์ด
จุดประสงค์ประการหนึ่งของสภาเยาวชนวอร์ดคือช่วยให้เยาวชนเป็นผู้ติดตามที่อุทิศตนของพระเยซูคริสต์ (ดู 29.2.6) การรับใช้ผู้มีความต้องการทางโลกสำคัญต่อการบรรลุจุดประสงค์นี้ นอกจากคนอื่นๆ แล้ว บุคคลที่มีความต้องการทางโลกอาจได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย หรือผู้พิการด้วย
สภาเยาวชนวอร์ดวางแผนวิธีรับใช้คนขัดสนในวอร์ดและชุมชนของพวกเขาภายใต้การนำทางของฝ่ายอธิการ กิจกรรมการรับใช้บางอย่างจะวางแผนระหว่างการประชุมฝ่ายประธานโควรัมและการประชุมฝ่ายประธานชั้นเรียน หากมี JustServe.org อาจใช้เพื่อค้นหาโอกาสรับใช้ในชุมชน
22.9
บทบาทของผู้นำสเตค
22.9.1
ประธานสเตคและที่ปรึกษา
ประธานสเตคและที่ปรึกษานำความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์และสร้างการพึ่งพาตนเอง ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค สมาชิกสภาสูง และสมาชิกคนอื่นๆ ในสภาสเตคช่วยเหลือพวกเขา
ประธานสเตคและที่ปรึกษามีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:
-
สอนหลักธรรมและพรเกี่ยวกับ (1) การดูแลผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ และ (2) สร้างการพึ่งพาตนเอง (ดู 22.1) ทั้งนี้รวมถึงการเตรียมพร้อมส่วนบุคคลและครอบครัวด้วย
-
สอนกฎแห่งการอดอาหารและกระตุ้นให้สมาชิกถวายเงินบริจาคอดอาหารด้วยน้ำใจเอื้อเฟื้อ (ดู 22.2.2)
-
สอนอธิการเกี่ยวกับวิธีให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักรอย่างถูกต้องแก่ผู้มีความต้องการทางโลก (ดู 22.9.1.1)
-
พึงแน่ใจว่าประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ได้รับการสอนเกี่ยวกับบทบาทของตนในการดูแลคนขัดสน สมาชิกสภาสูงและฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตคช่วยสอนหน้าที่รับผิดชอบให้ผู้นำวอร์ดเหล่านี้ (ดู 22.9.2 และ 22.9.3)
-
กำกับดูแลความพยายามของสเตคในการเตรียมพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (ดู 22.9.1.3)
ประธานสเตคมีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้:
-
ทบทวนคำขอเงินบริจาคอดอาหารเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เกินวงเงินอนุมัติของอธิการ ประธานสเตคจะอนุมัติคำขอตามวงเงินอนุมัติของเขา เขาส่งคำขอที่เกินวงเงินอนุมัติไปให้ฝ่ายประธานภาคพิจารณา (ดู 22.5.2.1)
-
ทบทวนคำขอความช่วยเหลือจากศาสนจักรให้อธิการ (ดู 22.5.1.2)
-
รับใช้เป็นประธานสเตคตัวแทนเพื่อดำเนินงานสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองหากได้รับมอบหมาย (ดู 22.9.1.2)
ฝ่ายประธานสเตคอาจมอบหมายให้สมาชิกสภาสูงหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นช่วยสอดส่องดูแลความพยายามในการดูแลผู้มีความต้องการทางโลกในสเตค (ดู 22.9.2) ฝ่ายประธานสเตคอาจเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองสเตคเพื่อสนับสนุนความพยายามเหล่านี้เช่นกัน (ดู 22.9.4)
22.9.1.1
สอนอธิการเรื่องหลักธรรมของการให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร
ประธานสเตคต้องแน่ใจว่าอธิการกำลังดูแลผู้มีความต้องการทางโลกในวอร์ดของพวกเขา เขาสอนอธิการเรื่องหลักธรรมและนโยบายสำหรับการให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักร (ดู 22.4 และ 22.5) ในการสอนเขาใช้ตัวอย่างจริงที่ปฏิบัติได้จริง
ในการสัมภาษณ์อธิการ ประธานสเตคทบทวนการจ่ายเงินบริจาคอดอาหารจากงบการเงินรายเดือนของวอร์ด เขาสนทนากับอธิการแต่ละท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่อธิการกำลังใช้ช่วยเหลือสมาชิกด้วย เขาปรึกษากับอธิการเกี่ยวกับการจ่ายเงินหรือรูปแบบในงบการเงินที่อาจแสดงให้เห็นความเข้าใจผิดในเรื่องหลักธรรมที่ถูกต้อง
พูดถึงหลักธรรมและแนวทางปฏิบัติสำหรับการให้ความช่วยเหลือจากศาสนจักรในสภาอธิการของสเตคด้วย (ดู 22.11)
ประธานสเตคพึงแน่ใจว่าอธิการแต่ละท่านทบทวนการอบรมในวีดิทัศน์เรื่อง “Sacred Funds, Sacred Responsibilities” อย่างน้อยปีละครั้ง
22.9.1.2
รับใช้เป็นประธานสเตคตัวแทนดูแลการดำเนินงานสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองของศาสนจักร
หากทำได้ ฝ่ายประธานภาคมอบหมายประธานสเตคตัวแทนให้ดูแลการดำเนินงานสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองแต่ละครั้งในภาคของพวกเขา ตัวอย่างการดำเนินงานเหล่านี้ได้แก่:
-
คลังอธิการ
-
สำนักงานหน่วยงานสนับสนุนครอบครัว
-
ร้านอุตสาหกรรมเดเซเร็ท
ประธานสเตคที่ได้รับมอบหมายจะช่วยหาอาสาสมัครมารองรับความต้องการด้านการดำเนินงาน อาสาสมัครอาจมาจากสเตคตัวแทนและจากสเตคอื่นที่มีการดำเนินงาน
ประธานสเตคตัวแทนอาจจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานสเตคตัวแทนให้สอดส่องดูแลการดำเนินงาน สมาชิกคณะกรรมการประกอบด้วย:
-
ประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย
-
สมาชิกสภาสูงคนหนึ่ง
-
สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค
-
ผู้จัดการฝ่ายดำเนินงาน
-
ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองเมื่อจำเป็น
22.9.1.3
รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ประธานสเตคสอดส่องดูแลการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินของศาสนจักรและการสื่อสารภายในสเตคของเขา ในภัยพิบัติที่ครอบคลุมมากกว่าหนึ่งสเตค ฝ่ายประธานภาคหรือสาวกเจ็ดสิบภาคที่เขามอบหมายจะกำกับดูแลการรับมือ ผู้จัดการด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองสนับสนุนผู้นำภาคและผู้นำสเตคในความพยายามเหล่านี้
ประธานสเตคอาจเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองมาสอดส่องดูแลศูนย์ดำเนินงานฉุกเฉิน บริหารการสื่อสาร หรือจัดการข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย หากจำเป็นฝ่ายประธานภาคหรือสาวกเจ็ดสิบภาคจะตั้งผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวในระดับภาคหรือระดับสภาประสานงานด้วย
บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจรายงานสภาพและความต้องการของสมาชิกต่อผู้นำโควรัมและผู้นำสมาคมสงเคราะห์ ผู้นำเหล่านี้รายงานต่ออธิการผู้รายงานต่อฝ่ายประธานสเตค
ฝ่ายประธานสเตครายงานข้อมูลต่อ (1) ฝ่ายประธานภาคหรือสาวกเจ็ดสิบภาคที่ได้รับมอบหมาย และ (2) ผู้จัดการด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเอง รายงานนี้รวมถึงสภาพของสมาชิก ผู้สอนศาสนา สิ่งอำนวยความสะดวกของศาสนจักร และชุมชน หากสมาชิกศาสนจักรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ อธิการจะใช้เงินบริจาคอดอาหารช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐาน อธิการทำตามหลักธรรมใน 22.4
ประธานสเตคอนุมัติข้อมูลที่ศาสนจักรจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนในท้องที่ เขาประสานงานนี้กับผู้อำนวยการด้านการสื่อสารสเตคหากเรียกผู้อำนวยการ (ดู 6.2.1.7) เขาต้องแน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องทันเวลา เขาจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของศาสนจักรเพื่อตอบคำถามจากสื่อ เขาอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารสเตคหรือกระบอกเสียงอีกคนทำหน้าที่นี้เช่นกัน ในภัยพิบัติที่ครอบคลุมมากกว่าหนึ่งสเตค ฝ่ายประธานภาคหรือสาวกเจ็ดสิบภาคที่เขามอบหมายจะจัดการเรื่องการสื่อสารต่อสาธารณชน
ผู้นำศาสนจักรอาจให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้แหล่งช่วยของศาสนจักรระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อฝ่ายประธานภาคอนุมัติ อาจใช้อาคารศาสนจักร (ยกเว้นพระวิหาร) เป็นที่พักชั่วคราว จุดปฐมพยาบาล หรือจุดแจกอาหาร ควรประสานงานการใช้อาคารศาสนจักรเพื่อการเหล่านั้นกับผู้จัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับมอบหมาย หากอนุญาตให้องค์กรการกุศลหรือองค์กรชุมชนอื่นใช้อาคาร ควรลงนามในข้อตกลงการใช้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน “Use of Church Buildings in a Disaster (การใช้อาคารศาสนจักรกรณีเกิดภัยพิบัติ)”
ข้อมูลเพิ่มเติมมีอยู่ที่ “Emergency Response Procedures (ระเบียบปฏิบัติในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน)”
22.9.2
สมาชิกสภาสูง
สมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโควรัมเอ็ลเดอร์แต่ละโควรัมจะสนับสนุนฝ่ายประธานโควรัมในหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขาต่อการดูแลคนขัดสนและช่วยคนเหล่านั้นสร้างการพึ่งพาตนเอง (ดู 22.6.2)
ฝ่ายประธานสเตคอาจมอบหมายสมาชิกสภาสูงหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นทำดังนี้ด้วย:
-
ช่วยสอนผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองของสเตคและวอร์ดให้รู้บทบาทของตนหากเรียกผู้เชี่ยวชาญ (ดู 22.9.4 และ 22.6.4)
-
ประสานความพยายามของอาสาสมัครเพื่อการดำเนินงานสวัสดิการและการพึ่งพาตนเอง
-
รับใช้ในกลุ่มทำงานเฉพาะด้านที่ประสานแหล่งช่วยเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองหรือการรับใช้ชุมชน (ดู 22.10.2)
ในสเตคที่สนับสนุนการดำเนินงานสวัสดิการและการพึ่งพาตนเอง อาจขอให้สมาชิกสภาสูงคนหนึ่งรับใช้ในคณะกรรมการดำเนินงานสเตคตัวแทน (ดู 22.9.1.2)
22.9.3
ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค
ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตคสนับสนุนฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดในหน้าที่รับผิดชอบของพวกเธอต่อการดูแลคนขัดสนและช่วยคนเหล่านั้นสร้างการพึ่งพาตนเอง (ดู 22.6.2)
อาจขอให้สมาชิกในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สเตครับใช้ในกลุ่มทำงานเฉพาะด้านที่ประสานแหล่งช่วยเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองหรือการรับใช้ชุมชน (ดู 22.10.2) ในสเตคที่สนับสนุนการดำเนินงานสวัสดิการและการพึ่งพาตนเอง อาจขอให้สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานรับใช้ในคณะกรรมการดำเนินงานสเตคตัวแทน (ดู 22.9.1.2)
22.9.4
ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองสเตค
เมื่อจำเป็นฝ่ายประธานสเตคจะเรียกบุคคลหรือคู่สามีภรรยาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองสเตค พวกเขาสนับสนุนผู้นำสเตคในการพยายามดูแลผู้อื่นและช่วยให้คนเหล่านั้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญอาจได้รับมอบหมายให้ดูแลเฉพาะด้านที่เน้น เช่น อาจขอให้พวกเขา:
-
ช่วยประสานงานหรือเป็นวิทยากรกระบวนการของ กลุ่มพึ่งพาตนเอง หรือ กลุ่มบำบัดการเสพติด โดยทั่วไปกลุ่มเหล่านี้จัดโดยสภาสเตคหรือสภาวอร์ด
-
ช่วยสมาชิกหาโอกาสในงานอาชีพหรือการศึกษา
-
รับใช้เป็น ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์หรืออาสาสมัครของ BYU–Pathway Worldwide
-
ให้แนวคิดและแหล่งช่วยเพื่อช่วยสมาชิกสเตคเพิ่มการเตรียมพร้อมทางโลกของตน (ดู 22.1.4)
-
ช่วยเตรียมหรือรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (ดู 22.9.1.3)
-
บอกข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งช่วยของรัฐ ชุมชน และศาสนจักรที่มีให้กับสมาชิก (ดู 22.12 และ 22.13)
ผู้เชี่ยวชาญสเตคประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองผู้อาจได้รับการเรียกในวอร์ด
22.10
บทบาทของสภาสเตค
สมาชิกในสภาสเตคสนทนาเรื่องความต้องการของสมาชิกสเตคและวางแผนวิธีช่วยให้สมาชิกพึ่งพาตนเอง (ดู 29.3.8) พวกเขาระบุแหล่งช่วยในชุมชนและสเตคที่สามารถช่วยผู้นำวอร์ดดูแลความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ของสมาชิก (ดู 22.12 และ 22.13) พวกเขาพัฒนาและดำเนินแผนเรียบง่ายเป็นลายลักษณ์อักษรให้สเตครับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (ดู “การเตรียมพร้อมของสเตคและวอร์ด”) สภาสเตคจะวางแผนการรับใช้ชุมชนในด้านต่างๆ ด้วย
22.10.1
แหล่งช่วยที่สเตคประสานงาน
สภาสเตคจะเข้าถึงหรือนำแหล่งช่วยทางเลือกต่อไปนี้มาใช้ตามที่มีในท้องที่ แหล่งช่วยเหล่านี้สามารถช่วยสมาชิกสเตคสร้างการพึ่งพาตนเองหรือมีส่วนร่วมในการรับใช้ชุมชน:
-
กลุ่มพึ่งพาตนเองในเรื่อง งานอาชีพ อาชีพอิสระ การศึกษา การเงินส่วนบุคคล หรือ ความสามารถในการปรับอารมณ์
-
JustServe.org (ดู JustServe Community Service Guidebook)
-
สารบบแหล่งช่วยของรัฐและชุมชนในท้องที่ที่ดูแลคนขัดสน (ดูตัวอย่างใน 22.12)
22.10.2
กลุ่มทำงานเฉพาะด้าน
เพื่อช่วยจัดระบบและบริหารแหล่งช่วยทางเลือกที่ระบุไว้ใน 22.10.1 ฝ่ายประธานสเตคอาจตั้งกลุ่มทำงานเฉพาะด้าน เช่น กลุ่มทำงาน JustServe กลุ่มเหล่านี้จะประกอบด้วยสมาชิกที่เลือกจากสภาสเตคหรือคณะกรรมการผู้นำผู้ใหญ่สเตค (ดู 29.3.9) อาจรวมถึงผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้:
-
ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเอง (ดู 22.9.4)
-
ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารสเตคหรือผู้เชี่ยวชาญ JustServe (ดู JustServe Community Service Guidebook)
-
อื่นๆ ตามความจำเป็น
22.11
บทบาทของสภาอธิการสเตค
สภาอธิการสเตคจัดขึ้นเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับอธิการ อีกทั้งสนทนากันเป็นประจำเรื่องหลักธรรมของ (1) การดูแลผู้มีความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ และ (2) การสร้างการพึ่งพาตนเอง (ดู 29.3.11)
สมาชิกสภาพึง:
-
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแหล่งช่วยเพื่อดูแลความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ของสมาชิก รวมถึงแหล่งช่วยในชุมชน และความคิดเห็นเรื่องโอกาสในการทำงานหรือการรับใช้สำหรับสมาชิกที่ได้รับความช่วยเหลือจากศาสนจักรด้วย
-
สนทนาเรื่องวิธีกระตุ้นให้สมาชิกรับพรของการดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอดอาหารและการบริจาคเงินอดอาหาร
แหล่งช่วยของรัฐ ชุมชน และศาสนจักร
22.12
แหล่งช่วยของรัฐและชุมชน
ในหลายพื้นที่สมาชิกมีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งช่วยของรัฐหรือชุมชนที่ช่วยเรื่องความต้องการพื้นฐาน แหล่งช่วยเหล่านี้อาจได้แก่:
-
ความช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพ
-
ความช่วยเหลือด้านอาหาร
-
การฝึกงานและบริการจัดหางาน
-
บริการสุขภาพจิต
-
โปรแกรมการศึกษา
-
โปรแกรมช่วยเหลือผู้สูงอายุ
-
ความช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัย
สมาชิกพึงสำรวจแหล่งช่วยเหล่านี้นอกเหนือจากแหล่งช่วยที่ศาสนจักรมีให้ (ดู 22.13)
22.13
แหล่งช่วยของศาสนจักร
ตารางต่อไปนี้ระบุแหล่งช่วยของศาสนจักรที่สามารถสนับสนุนความพยายามของสมาชิกในการจัดหาตามความต้องการทางโลกและทางอารมณ์ของตนและสร้างการพึ่งพาตนเอง คลังของพระเจ้า (ดู 22.2.1) และเงินบริจาคอดอาหาร (ดู 22.2.2) มีให้อธิการทุกวอร์ด แหล่งช่วยอื่นที่ระบุเป็นแหล่งช่วยทางเลือกและต่างกันไปในแต่ละแห่ง
ประเภท |
แหล่งช่วย |
---|---|
ประเภท ความต้องการเร่งด่วน | แหล่งช่วย
* วางใบสั่งซื้อของอธิการผ่าน “ใบสั่งซื้อและใบแนะนำรายชื่อของอธิการ” ใน LCR |
ประเภท การศึกษาและงานอาชีพ | แหล่งช่วย |
ประเภท สุขภาพอารมณ์ | แหล่งช่วย
|
ประเภท การเตรียมพร้อมทางโลก | แหล่งช่วย
|
ประเภท การรับใช้ชุมชน | แหล่งช่วย
|