“26. ใบรับรองพระวิหาร” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)
“26. ใบรับรองพระวิหาร” คู่มือทั่วไป
26.
ใบรับรองพระวิหาร
26.0
บทนำ
การเข้าพระวิหารเป็นสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้นำวอร์ดและผู้นำสเตคกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนมีค่าควรและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันแม้พวกเขาไม่ได้อยู่ใกล้พระวิหาร
ผู้นำศาสนจักรพยายามทุกวิถีทางเพื่อดูว่าทุกคนที่เข้าพระวิหารมีค่าควรเข้าพระวิหาร (ดู สดุดี 24:3–5) ผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจจะดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารและออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกที่ตอบคำถามสัมภาษณ์อย่างเหมาะสมและจริงใจ (ดู 26.3) พระเจ้าทรงสัญญาว่าหากคนที่เข้าพระวิหารสะอาด พระสิริของพระองค์จะอยู่ที่นั่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:15–16)
สมาชิกต้องมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันจึงจะเข้าพระวิหารได้ เด็กอายุน้อยกว่า 8 ขวบที่รับการผนึกกับบิดามารดาหรือดูการผนึกพี่น้องกับบิดามารดาไม่จำเป็นต้องมีใบรับรอง (ดู 26.4.4)
บทนี้ให้คำแนะนำสำหรับผู้นำที่ออกใบรับรองพระวิหาร อธิการปรึกษากับประธานสเตคหากมีคำถามเกี่ยวกับใบรับรองพระวิหารที่ไม่มีคำตอบในบทนี้ ประธานสเตคจะติดต่อสำนักงานฝ่ายประธานสูงสุดหากมีคำถาม
26.1
ใบรับรองพระวิหารแบบต่างๆ
ใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันยินยอมให้สมาชิกเข้าพระวิหารได้ทุกแห่ง ผู้นำฐานะปุโรหิตพึงแน่ใจว่าสมาชิกได้ใบรับรองถูกต้องตามสภาวการณ์ของพวกเขา ใบรับรองมีสามแบบได้แก่:
-
ใบรับรองพระวิหารสำหรับสมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ ใบรับรองเหล่านี้มีไว้สำหรับสมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ผู้จะรับการผนึกกับบิดามารดาของตนหรือรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตาย ออกใบรับรองดังกล่าวผ่าน แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน (LCR) ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 26.4
-
ใบรับรองพระวิหารสำหรับศาสนพิธีคนเป็น ใบรับรองเหล่านี้มีไว้สำหรับสมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหรือจะผนึกกับคู่สมรส ใบรับรองเหล่านี้ออกผ่านสมุดใบรับรองเล่ม 2 ใบรับรองสำหรับศาสนพิธีคนเป็นจะแนบอยู่กับใบรับรองพระวิหารปกติสำหรับสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว (อธิบายด้านล่าง) พระวิหารเก็บใบรับรองศาสนพิธีคนเป็นเมื่อประกอบศาสนพิธี สมาชิกเก็บใบรับรองปกติและใช้เมื่อกลับไปพระวิหาร
-
ใบรับรองพระวิหารสำหรับสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว ใบรับรองเหล่านี้มีไว้สำหรับสมาชิกที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว และออกผ่าน LCR ใบนี้อนุญาตให้สมาชิกมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารทั้งหมดสำหรับผู้วายชนม์ และใช้ใบนี้เมื่อสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วจะผนึกกับบิดามารดาหรือบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่หรือถึงแก่กรรมแล้ว ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 26.3
26.2
การเก็บรักษาใบรับรองพระวิหาร
26.2.1
ผู้นำฐานะปุโรหิตที่เก็บรักษาใบรับรองพระวิหาร
ผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจให้มีสมุดใบรับรองพระวิหารควรเก็บรักษาไว้ให้ดี ไม่ควรให้บุคคลใดดูสมุดเหล่านี้ เมื่อศาสนจักรอัปเดตสมุดใบรับรองพระวิหาร ผู้นำจะทำลายสมุดที่เลิกใช้
ผู้นำฐานะปุโรหิตพึงแน่ใจด้วยว่าผู้ไม่ได้รับมอบอำนาจไม่เข้ามาดูข้อมูลใบรับรองพระวิหารใน LCR
26.2.2
การจัดการใบรับรองพระวิหารที่หมดอายุ
สมาชิกฝ่ายประธานสเตคและสมาชิกฝ่ายประธานคณะเผยแผ่ขอใบรับรองพระวิหารใบเดิมคืนเมื่อสัมภาษณ์สมาชิกเพื่อออกใบรับรองใบใหม่ พวกเขาทำลายใบรับรองใบเดิม
26.2.3
ใบรับรองสูญหายหรือถูกขโมย
อธิการขอให้สมาชิกแจ้งเขาทันทีหากใบรับรองสูญหายหรือถูกขโมย เขาหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายหรือพนักงานใช้ LCR ยกเลิกใบรับรองทันทีที่ทำได้ หากไม่มีระบบนี้ อธิการติดต่อสำนักงานพระวิหารให้ยกเลิกใบรับรอง
ทันทีหลังจากยกเลิกใบรับรองที่สูญหายหรือถูกขโมย อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารกับสมาชิกเพื่อออกใบรับรองใบใหม่
26.2.4
ผู้ถือใบรับรองที่ไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานความมีค่าควร
หากอธิการเห็นว่าสมาชิกผู้มีใบรับรองปัจจุบันไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานความมีค่าควร (ดู 26.3) เขาขอใบรับรองคืนจากสมาชิก เขาใช้ LCR ยกเลิกใบรับรอง หากไม่มีระบบนี้ อธิการติดต่อสำนักงานพระวิหารให้ยกเลิกใบรับรอง
26.3
แนวทางทั่วไปสำหรับการออกใบรับรองพระวิหาร
ผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจดำเนินการสัมภาษณ์ก่อนสมาชิกจะได้ใบรับรองพระวิหาร คำแนะนำอยู่ใน LCR ผู้นำฐานะปุโรหิตจะออกใบรับรองต่อเมื่อสมาชิกตอบคำถามใบรับรองพระวิหารอย่างเหมาะสม
การสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารยินยอมให้สมาชิกแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีประจักษ์พยานและกำลังพยายามเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ ผู้นำฐานะปุโรหิตยืนยันผ่านการสัมภาษณ์เช่นกันว่าสมาชิกมีค่าควร
การสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารไม่ควรเร่งรีบ และควรเป็นส่วนตัว แต่บุคคลที่รับการสัมภาษณ์อาจเชิญผู้ใหญ่อีกคนให้อยู่ด้วย เยาวชนอาจเชิญบิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่อีกคนให้อยู่ระหว่างการสัมภาษณ์ใบรับรอง
ผู้นำฐานะปุโรหิตจะไม่เพิ่มข้อกำหนดใดๆ เข้าไปในข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสมุดใบรับรองพระวิหาร ทั้งไม่ควรตัดข้อใดออก แต่เมื่อออกใบรับรองให้เยาวชน ผู้นำปรับคำถามตามอายุและสภาวการณ์ของเยาวชน
บางครั้งสมาชิกมีคำถามระหว่างการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร ผู้นำฐานะปุโรหิตจะอธิบายหลักธรรมพระกิตติคุณพื้นฐาน เขาจะช่วยให้สมาชิกเข้าใจคำถามใบรับรองพระวิหารด้วยหากจำเป็น แต่เขาจะไม่นำเสนอความเชื่อ ความชอบ หรือการตีความส่วนตัวว่าเป็นหลักคำสอนหรือนโยบายศาสนจักร
ในสเตค สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือพนักงานสเตคเปิดใช้งานใบรับรองพระวิหารใน LCR หลังจากออกให้สมาชิก ในท้องถิ่น สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานคณะเผยแผ่หรือพนักงานคณะเผยแผ่เปิดใช้งานใบรับรอง ใบรับรองสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตายเปิดใช้งานเมื่อสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขาพิมพ์ออกมา เขาใช้ LCR พิมพ์ใบรับรอง
26.3.1
การสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารสำหรับสมาชิกในวอร์ดและสาขา
ในวอร์ด อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารและออกใบรับรองให้ผู้ที่มีค่าควร ในสาขา เฉพาะประธานสาขาเท่านั้นดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารและออกใบรับรอง
ในวอร์ด อธิการเป็นผู้สัมภาษณ์สมาชิกที่:
ในกรณีเร่งด่วนเมื่ออธิการไม่อยู่ เขาจะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้
ในวอร์ดหนุ่มสาวโสดวอร์ดใหญ่ อธิการอาจมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้
ก่อนออกใบรับรองพระวิหารในสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น อธิการทบทวนบันทึกของสมาชิกเพื่อยืนยันว่าไม่มีคำอธิบายประกอบเกี่ยวกับการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักร สำหรับสมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหรือจะผนึกกับคู่สมรส อธิการพึงแน่ใจเช่นกันว่า:
-
บัพติศมาและการยืนยันของสมาชิกมีบันทึกไว้ในบันทึกสมาชิกภาพ
-
พี่น้องชายได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคแล้ว
บางครั้งวันเดือนปีบัพติศมาและการยืนยันหรือการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคของสมาชิกไม่ได้มีบันทึกไว้ ในสถานการณ์เหล่านี้ ต้องตรวจสอบและบันทึก รับรอง หรือประกอบศาสนพิธีอีกครั้ง (ดู 38.2.6)
หลังจากสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขาสัมภาษณ์แล้ว สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคสัมภาษณ์สมาชิกที่อยู่ในสเตค เขาเซ็นใบรับรองของสมาชิกที่มีค่าควร สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานคณะเผยแผ่ดำเนินการสัมภาษณ์ครั้งที่สองกับสมาชิกที่อยู่ในท้องถิ่น เขาเซ็นใบรับรองของสมาชิกที่มีค่าควรเช่นกัน ประธานท้องถิ่นไม่ดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารเว้นแต่ฝ่ายประธานสูงสุดมอบอำนาจ
ประธานสเตคหรือประธานคณะเผยแผ่เป็นผู้สัมภาษณ์สมาชิกที่:
-
จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตน
-
จะผนึกกับคู่สมรส
หากประธานสเตคไม่อยู่ เขาจะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้
ประธานคณะเผยแผ่จะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้เมื่อจำเป็น
ในสเตคหนุ่มสาวโสด ประธานสเตคอาจมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้
26.3.2
การสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารสำหรับสมาชิกในพื้นที่ห่างไกล
สมาชิกบางคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งต้องเสียค่าเดินทางแพงหรือยุ่งยากมากเพื่อมาพบกับสมาชิกในฝ่ายประธานสเตคหรือฝ่ายประธานคณะเผยแผ่ ในสถานการณ์เหล่านี้ ประธานพระวิหารอาจสัมภาษณ์บุคคลและเซ็นใบรับรอง เขาหารือกับประธานสเตคหรือประธานคณะเผยแผ่ก่อนดำเนินการสัมภาษณ์ อธิการ ที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย หรือประธานสาขาควรสัมภาษณ์สมาชิกและเซ็นใบรับรองเรียบร้อยแล้ว
นโยบายดังกล่าวนำมาใช้กับสมาชิกที่เป็นทหารในพื้นที่ห่างไกลด้วย พวกเขาควรได้รับการสัมภาษณ์โดยอธิการของวอร์ดบ้านหรือหน่วยที่สนับสนุนฐานประจำการของตนก่อน
26.4
การออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์
26.4.1
แนวทางทั่วไป
ในวอร์ด อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์เพื่อขอใบรับรองพระวิหาร ในสาขา เฉพาะประธานสาขาเท่านั้นดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร ผู้นำทำตามแนวทางใน 26.3 เขาออกใบรับรองหากบุคคลมีค่าควร
จะออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์ดังนี้:
-
สมาชิกอายุ 11 ปีขึ้นไปเพื่อรับบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์ (เยาวชนชายที่ได้รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตแล้วและเยาวชนหญิงมีสิทธิ์ได้ใบรับรองพระวิหารตั้งแต่เดือนมกราคมของปีที่พวกเขาอายุครบ 12 ปี)
-
สมาชิกอายุ 8 ถึง 20 ปีเพื่อผนึกกับบิดามารดาของตน เด็กอายุน้อยกว่า 8 ขวบไม่ต้องมีใบรับรองเพื่อผนึกกับบิดามารดาของพวกเขา (ดู 26.4.4)
-
สมาชิกโสดอายุ 8 ถึง 20 ปีเพื่อดูการผนึกพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ พี่น้องบุญธรรม หรือพี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดากับบิดามารดาของพวกเขา
จะไม่ออกใบรับรองใดๆ ที่อธิบายไว้ในหมวดนี้ให้สมาชิกที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว
สมาชิกชายที่อายุมากพอจะดำรงฐานะปุโรหิตต้องได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งหนึ่งในฐานะปุโรหิตก่อนจึงจะได้ใบรับรองพระวิหาร
เมื่อออกใบรับรองพระวิหาร สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขาสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล แต่บุคคลอาจเชิญบิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่อีกคนให้อยู่ด้วย
26.4.2
ใบรับรองพระวิหารสำหรับสมาชิกที่เพิ่งรับบัพติศมา
อธิการสัมภาษณ์สมาชิกใหม่ที่มีอายุเหมาะสมเพื่อจะได้ใบรับรองพระวิหารสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตายเท่านั้น เขาดำเนินการสัมภาษณ์หลังการยืนยันสมาชิกไม่นาน ปกติจะภายในหนึ่งสัปดาห์ (ดู 26.4.1) สำหรับพี่น้องชาย การสัมภาษณ์นี้จะจัดเป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์เพื่อรับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน สมาชิกชายต้องได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งหนึ่งในฐานะปุโรหิตก่อนจึงจะได้ใบรับรองพระวิหาร
สมาชิกผู้ใหญ่ที่มีค่าควรจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหลังจากรับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักรครบหนึ่งปีเต็ม (ดู 27.2.1.1)
26.4.3
ใบรับรองพระวิหารสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตายเท่านั้น
ใบรับรองพระวิหารที่ออกให้สำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตายจะใช้เฉพาะจุดประสงค์ดังกล่าวเท่านั้น พิมพ์ใบรับรองเหล่านี้โดยใช้ LCR และต้องมีลายเซ็นของสมาชิกและของสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขาเท่านั้น
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการนัดเวลาบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์ใน 28.2.1
26.4.4
ใบรับรองพระวิหารสำหรับการผนึกบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่กับบิดามารดา
จะออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์อายุ 8 ถึง 20 ปีมีส่วนร่วมในการผนึกดังนี้:
-
ผนึกกับบิดามารดาของพวกเขา
-
ดูการผนึกพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ พี่น้องบุญธรรม หรือพี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดากับบิดามารดาของพวกเขา
คนที่ได้ใบรับรองพระวิหารเพื่อมีส่วนร่วมในการผนึกจะรับการสัมภาษณ์จากสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขา และรับการสัมภาษณ์อีกครั้งจากสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือฝ่ายประธานคณะเผยแผ่
สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขาใช้ LCR พิมพ์ใบรับรองเหล่านี้ ใบรับรองพระวิหารสำหรับการผนึกจะออกให้บุตรเป็นรายบุคคลหรือให้บุตรในครอบครัวเดียวกันเป็นกลุ่มก็ได้ อาจใช้ใบรับรองใบเดียวกันระบุชื่อบุตรที่จะรับการผนึกและจะดูการผนึก
บุตรอายุต่ำกว่า 8 ขวบไม่ต้องมีใบรับรองเพื่อผนึกกับบิดามารดาของพวกเขา และไม่ต้องมีใบรับรองเพื่อดูการผนึกพี่น้อง พี่น้องบุญธรรม หรือพี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดากับบิดามารดาของพวกเขา
สมาชิกที่อายุ 21 ปีขึ้นไปจะผนึกกับบิดามารดาหรือดูการผนึกได้ต่อเมื่อพวกเขา (1) ได้รับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว และ (2) มีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน
ดูนโยบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูการผนึกและการผนึกกับบิดามารดาใน 27.4.4 และ 38.4.2
26.5
การออกใบรับรองพระวิหารในสภาวการณ์พิเศษ
26.5.1
สมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตน
คำแนะนำสำหรับการออกใบรับรองให้คนที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนอยู่ในสมุดใบรับรองพระวิหารเล่ม 2 สมาชิกที่มีค่าควรผู้ประสงค์จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนจะรับได้เมื่อบรรลุเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้:
-
พวกเขาอายุอย่างน้อย 18 ปี
-
เรียนจบหรือไม่ได้เรียนมัธยมปลาย หรือเทียบเท่าอีกแล้ว
-
ผ่านมาหนึ่งปีเต็มตั้งแต่รับการยืนยัน
-
พวกเขารู้สึกปรารถนาจะรับและให้เกียรติพันธสัญญาพระวิหารตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ผู้ชายต้องดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคก่อนจะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนด้วย ดูข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกที่กำลังเตรียมรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนใน 25.2.8 ดูข้อมูลเกี่ยวกับคนที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ใน 27.2.1
26.5.2
สมาชิกที่เพิ่งรับบัพติศมา
สมาชิกผู้ใหญ่ที่มีค่าควรจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหลังจากรับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักรครบหนึ่งปีเต็ม (ดู 27.2.1.1) ผู้นำฐานะปุโรหิตพึงแน่ใจว่าวันเดือนปีที่สมาชิกจะรับเอ็นดาวเม้นท์อย่างน้อยจะต้องครบหนึ่งปีเต็มหลังจากวันยืนยันของพวกเขา ไม่ใช่วันบัพติศมา เฉพาะฝ่ายประธานสูงสุดเท่านั้นจะอนุมัติข้อยกเว้น
สมาชิกใหม่ที่มีค่าควรควรจะได้ใบรับรองพระวิหารสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตายเท่านั้น (ดู 26.4.2)
26.5.3
ผู้สอนศาสนาหนุ่มสาวที่กลับจากการรับใช้ไกลบ้าน
ก่อนผู้สอนศาสนาหนุ่มสาวที่รับใช้ไกลบ้านจะจบการรับใช้ ประธานคณะเผยแผ่ดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร หากผู้สอนศาสนามีค่าควร เขาออกใบรับรอง ประธานคณะเผยแผ่ลงวันที่และเปิดใช้งานใบรับรองให้หมดอายุสามเดือนนับจากวันที่ผู้สอนศาสนากลับบ้าน
อธิการสัมภาษณ์ผู้สอนศาสนาที่จบแล้วเพื่อออกใบรับรองพระวิหารใบใหม่ช่วงใกล้สิ้นระยะหมดอายุสามเดือน ในกรณีเร่งด่วนเมื่ออธิการไม่อยู่ เขาจะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้
ในวอร์ดหนุ่มสาวโสดวอร์ดใหญ่ อธิการอาจมอบอำนาจให้ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้
จากนั้นผู้สอนศาสนาที่จบแล้วพบกับสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคของเขาเพื่อสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร
ในการสัมภาษณ์เหล่านี้ อธิการและสมาชิกในฝ่ายประธานสเตคทบทวนคำแนะนำที่ให้ไว้ในการสัมภาษณ์ปลดผู้สอนศาสนาให้พ้นจากหน้าที่ด้วย (ดู 24.8.2) พวกเขาสนทนาถึงความก้าวหน้า ความเป็นอยู่ และการเรียกปัจจุบันในศาสนจักรของผู้สอนศาสนาที่จบแล้ว อีกทั้งกระตุ้นให้เขาหรือเธออยู่บนเส้นทางการเติบโตทางวิญญาณและการรับใช้ต่อไปชั่วชีวิต
หากผู้สอนศาสนาที่จบแล้วไม่มีการเรียกในศาสนจักร อธิการและประธานต้องให้การเรียก อาจเสนอชื่อผู้สอนศาสนาที่จบแล้วให้รับใช้เป็นเจ้าหน้าที่ศาสนพิธีพระวิหารหรืออาสาสมัครหากพระวิหารอยู่ใกล้ (ดู 25.5)
26.5.4
สมาชิกที่ไม่ได้อยู่ในวอร์ดเดียวนานอย่างน้อยหนึ่งปี
หากสมาชิกไม่ได้อยู่ในวอร์ดเดียวติดต่อกันนานอย่างน้อยหนึ่งปี อธิการทบทวนบันทึกของสมาชิกเพื่อตรวจสอบว่าไม่มีคำอธิบายประกอบเกี่ยวกับการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักร
อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายติดต่ออธิการคนก่อนหน้านี้ก่อนดำเนินการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร หากที่ปรึกษาทราบว่ามีข้อมูลไม่พึงเปิดเผย เขายุติการสนทนา ก่อนจะสัมภาษณ์ เขาแจ้งอธิการของเขาให้ติดต่ออธิการคนก่อน
26.5.5
หลังการหย่าร้าง การแยกกันอยู่ หรือการเพิกถอน
อธิการและประธานสเตคอาจรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้สัมภาษณ์สมาชิกที่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่อย่างถูกกฎหมายหรือเพิกถอนการแต่งงานตั้งแต่ได้ใบรับรองพระวิหารครั้งล่าสุด ระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งนี้ พวกเขาช่วยเพิ่มพลังทางวิญญาณให้สมาชิก อีกทั้งตรวจสอบความมีค่าควรในการเข้าพระวิหารอย่างต่อเนื่องของสมาชิกด้วย
26.5.6
สมาชิกที่ญาติสนิทต่อต้านศาสนจักรอย่างเปิดเผยหรืออยู่ในกลุ่มละทิ้งความเชื่อ
อธิการและที่ปรึกษาของพวกเขาควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อออกใบรับรองให้สมาชิกที่ญาติสนิทต่อต้านศาสนจักรอย่างเปิดเผยหรืออยู่ในกลุ่มละทิ้งความเชื่อ ไม่ควรทำให้สมาชิกในสภาวการณ์เหล่านี้รู้สึกว่าพวกเขาจะมีใบรับรองพระวิหารไม่ได้เพราะความสัมพันธ์กับครอบครัวของพวกเขา แต่ควรกระตุ้นให้พวกเขารักษาความสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักกับญาติสนิท และจะออกใบรับรองพระวิหารให้หากพวกเขาตอบคำถามใบรับรองพระวิหารทุกข้ออย่างเหมาะสมและจริงใจ
26.5.7
สมาชิกที่ระบุตนเป็นคนข้ามเพศ
สมาชิกที่มีค่าควรผู้ระบุตนเป็นคนข้ามเพศแต่ไม่ได้ใช้ยา ไม่ได้ทำศัลยกรรม หรือไม่ได้ทำการเปลี่ยนสถานะทางสังคมเป็นเพศตรงข้ามกับเพศสรีระแต่กำเนิดของตน (“การแปลงเพศ”) อาจได้ใบรับรองพระวิหารและศาสนพิธีพระวิหาร
บุคคลจะได้รับศาสนพิธีพระวิหารตามเพศสรีระแต่กำเนิดของตน เพราะเหตุนี้ สมาชิกต่อไปนี้จึงอาจไม่ได้ใบรับรองพระวิหาร รวมถึงใบรับรองสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตาย:
-
สมาชิกที่ใช้ยาหรือทำศัลยกรรมเพื่อจุดประสงค์เพื่อพยายามเปลี่ยนเพศสภาพ
-
สมาชิกที่เปลี่ยนสถานะทางสังคมเป็นเพศตรงข้ามกับเพศสรีระแต่กำเนิดของตน
ประธานสเตคจะปรึกษากับฝ่ายประธานภาคเพื่อแก้ไขสถานการณ์เป็นรายบุคคลด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษและด้วยความรักเหมือนพระคริสต์ (ดู 38.6.23 และ 38.7.7)
26.5.8
สมาชิกที่ทำบาปร้ายแรง
สมาชิกที่ทำบาปร้ายแรงจะไม่ได้ใบรับรองพระวิหารจนกว่าจะกลับใจ (ดู 32.6) ช่วงเวลาระหว่างการทำบาปกับการออกใบรับรองขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอธิการและประธานสเตค ซึ่งควรนานพอจะเห็นว่าบุคคลกลับใจแล้วจริงๆ
26.5.9
สมาชิกที่กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งหลังจากการถอนหรือการลาออกจากสมาชิกภาพ
26.5.9.1
สมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์
หลังจากสมาชิกที่ไม่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน อธิการจะสัมภาษณ์เขาเพื่อรับใบรับรองพระวิหารสำหรับบัพติศมาและการยืนยันแทนคนตาย (ดู 26.4.2) การสัมภาษณ์นี้ปกติเกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์หลังการยืนยันสมาชิก สมาชิกชายต้องได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งหนึ่งในฐานะปุโรหิตก่อนจึงจะได้ใบรับรองพระวิหาร
จะไม่ออกใบรับรองให้สมาชิกเหล่านี้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนจนกว่าจะครบหนึ่งปีเต็มหลังจากวันกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน
26.5.9.2
สมาชิกที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว
สมาชิกที่เคยรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วจะไม่ได้ใบรับรองทุกแบบจนกว่าจะได้รับการฟื้นฟูพรพระวิหารผ่านศาสนพิธีของการฟื้นฟูพร (ดู 32.17.2) เมื่อฟื้นฟูพรแล้วจึงจะออกใบรับรองพระวิหารสำหรับสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วได้