คู่มือและการเรียก
28. ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับผู้ถึงแก่กรรม


“28. ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับผู้ถึงแก่กรรม” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“28. ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับผู้ถึงแก่กรรม” คู่มือทั่วไป

อ่างบัพติศมา

28.

ศาสนพิธีพระวิหารสำหรับผู้ถึงแก่กรรม

28.0

บทนำ

การทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์เป็นส่วนหนึ่งของงานแห่งความรอดและความสูงส่ง (ดู 1.2) ศาสนพิธีที่ประกอบในพระวิหารทำให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์และประสบความบริบูรณ์แห่งปีติในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อลูกๆ ของพระบิดาบนสวรรค์จะได้กลับไปหาพระองค์ ลูกๆ แต่ละคนต้องกลับใจ มีค่าควรรับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง และให้เกียรติพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีแต่ละอย่าง ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งได้แก่:

  • บัพติศมา

  • การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับผู้ชาย)

  • เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร

  • การผนึกในพระวิหาร

พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้ว่าลูกๆ จำนวนมากจะไม่ได้รับศาสนพิธีเหล่านี้ในช่วงชีวิตมรรตัยของพวกเขา จึงทรงเตรียมอีกวิธีหนึ่งให้พวกเขาได้รับศาสนพิธีและทำพันธสัญญากับพระองค์ ในพระวิหารสามารถประกอบศาสนพิธีโดยตัวแทน นี่หมายความว่าคนที่มีชีวิตอยู่รับศาสนพิธีในนามของคนที่ถึงแก่กรรม ในโลกวิญญาณผู้ถึงแก่กรรมเลือกได้ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธศาสนพิธีที่ประกอบให้พวกเขา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:19, 32–34, 58–59)

ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งไม่จำเป็นต้องประกอบให้คนที่ไม่สามารถรับผิดชอบได้ในชีวิตนี้ (ดู 18.1, 28.3.2 และ 28.3.3)

ศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกระบุชื่อญาติที่ถึงแก่กรรมผู้ไม่เคยได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง แล้วประกอบศาสนพิธีในนามของญาติเหล่านั้น (ดู มาลาคี 4:5–6; 1 โครินธ์ 15:29; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:1–3; 128:15–18; ดู 25.1 ในคู่มือนี้ด้วย)

หากสมาชิกไม่ได้เตรียมชื่อครอบครัวสำหรับงานพระวิหาร (ดู 28.1.1) ทางพระวิหารจะจัดเตรียมชื่อผู้ถึงแก่กรรมที่ต้องการศาสนพิธีให้

ศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกเข้าพระวิหารบ่อยเท่าที่สภาวการณ์เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะประกอบศาสนพิธีแทนญาติของตนหรือแทนคนที่ทางพระวิหารจัดเตรียมชื่อให้

สมาชิกศาสนจักรได้รับพรเมื่อพวกเขาประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้ผู้ถึงแก่กรรม ขณะประกอบศาสนพิธีแทน พวกเขาสามารถใคร่ครวญพันธสัญญาพระวิหารและคำมั่นสัญญาของตนว่าจะรักษาพันธสัญญาเหล่านั้น

ประธานสเตคและอธิการช่วยสมาชิกเตรียมมีประสบการณ์เชิงบวกขณะประกอบศาสนพิธีพระวิหาร พวกเขาช่วยโดยสอนพื้นฐานหลักคำสอนเรื่องงานพระวิหารและต้องแน่ใจว่าสมาชิกเข้าใจแนวทางสำหรับงานนี้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน บทที่ 25

28.1

แนวทางทั่วไปสำหรับการประกอบศาสนพิธีแทน

ผู้ถึงแก่กรรมที่อายุ 8 ขวบขึ้นไป ณ เวลาตายจะมีตัวแทนประกอบศาสนพิธีในนามของพวกเขา ยกเว้นที่ระบุไว้ใน 28.3, ศาสนพิธีโดยตัวแทนจะประกอบให้ผู้ถึงแก่กรรมทุกคนทันทีหลังจากตายครบ 30 วันหากอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้:

  • ญาติสนิทของผู้ถึงแก่กรรม (คู่สมรสที่ไม่ได้หย่าร้าง บุตรที่เป็นผู้ใหญ่ บิดาหรือมารดา หรือพี่น้อง) ส่งชื่อทำศาสนพิธีพระวิหาร

  • ได้รับอนุญาตจากญาติสนิทของผู้ถึงแก่กรรม (คู่สมรสที่ไม่ได้หย่าร้าง บุตรที่เป็นผู้ใหญ่ บิดาหรือมารดา หรือพี่น้อง) ให้ประกอบศาสนพิธี

หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น ศาสนพิธีพระวิหารโดยตัวแทนจะประกอบหลังจากผู้ถึงแก่กรรมเกิดแล้ว 110 ปี

ดูข้อมูลเพิ่มเติมในบทความต่อไปนี้บน FamilySearch.org (การเข้าไปอ่านบทความต้องเข้าสู่ระบบ FamilySearch.org):

28.1.1

การเตรียมชื่อผู้ถึงแก่กรรมสำหรับศาสนพิธีพระวิหาร

มีหลายแหล่งที่จะช่วยสมาชิกระบุชื่อญาติที่ถึงแก่กรรมผู้ต้องการให้ประกอบศาสนพิธีในนามของพวกเขา (ดู 25.4 และ 28.3) ผู้นำต่อไปนี้ช่วยให้สมาชิกเรียนรู้วิธีเตรียมชื่อสมาชิกครอบครัวที่ถึงแก่กรรมสำหรับศาสนพิธีพระวิหาร:

  • ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ด (ดู 25.2.2)

  • หัวหน้างานพระวิหารและประวัติครอบครัววอร์ด (ดู 25.2.3)

  • ผู้ให้คำแนะนำด้านพระวิหารและประวัติครอบครัววอร์ด (ดู 25.2.4)

หากทำได้ให้ป้อนข้อมูลระบุชื่อสมาชิกครอบครัวที่ถึงแก่กรรมเข้าไปใน FamilySearch.org ก่อนประกอบศาสนพิธีพระวิหาร (ดู 25.4.2)

28.1.1.1

การส่งชื่อสมาชิกครอบครัว

เมื่อส่งชื่อให้ทำศาสนพิธีพระวิหารแทน โดยทั่วไปสมาชิกควรส่งเฉพาะชื่อคนที่เป็นญาติกับพวกเขา

28.1.1.2

การส่งชื่อคนมีชื่อเสียงและกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุญาต

โดยทั่วไปสมาชิกศาสนจักรจะไม่ส่งชื่อ FamilySearch.org จากกลุ่มต่อไปนี้ไปให้:

  • คนมีชื่อเสียง

  • ชื่อที่รวบรวมจากโครงการคัดลอกที่ไม่ได้รับอนุมัติ

  • เหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมในบทความต่อไปนี้บน FamilySearch: “ฉันจะทำงานพระวิหารให้เหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้หรือไม่?

28.1.2

ใครจะมีส่วนร่วมในศาสนพิธีสำหรับผู้ถึงแก่กรรม

สมาชิกผู้มีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันทุกคนจะมีส่วนร่วมในบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์ได้ สมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน จะมีส่วนร่วมได้ทุกศาสนพิธีสำหรับผู้ถึงแก่กรรม ดู 26.3

28.1.3

การมีส่วนร่วมโดยสมาชิกที่ร่างกายพิการหรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา

สมาชิกพิการจะทำงานพระวิหารแทนผู้ถึงแก่กรรมได้หากพวกเขา:

  • มีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน (ดู 28.1.2)

  • มีสติปัญญามากพอจะเข้าใจศาสนพิธี

  • สามารถดูแลตนเองได้หรือมีญาติหรือเพื่อนเพศเดียวกันที่มีใบรับรองพระวิหารตามมาด้วยและสามารถให้ความช่วยเหลือหากจำเป็น

ดู 27.1.3 และ 27.2.1.3

28.1.4

การนัดหมาย

สมาชิกจะต้องทำนัดก่อนประกอบศาสนพิธีสำหรับผู้ถึงแก่กรรม ดู temples.ChurchofJesusChrist.org สำหรับข้อมูลติดต่อพระวิหารแต่ละแห่งและข้อกำหนดการนัดหมาย

28.1.5

ความช่วยเหลือด้านการแปลหรือการเป็นล่าม

ดู 27.1.4

28.1.6

เสื้อผ้าที่สวมใส่ไปพระวิหาร

ดู 27.1.5

28.1.7

การดูแลเด็ก

ดู 27.1.6

28.2

การประกอบศาสนพิธีพระวิหารสำหรับผู้ถึงแก่กรรม

หมวดต่อไปนี้อธิบายศาสนพิธีที่ประกอบแทนผู้ถึงแก่กรรมในพระวิหาร เมื่อประกอบศาสนพิธีแทน สมาชิกจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับผู้ถึงแก่กรรมที่มีเพศกำเนิดเดียวกันกับสมาชิกเท่านั้น

โดยทั่วไปจะประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้ผู้ถึงแก่กรรมตามลำดับต่อไปนี้:

  • บัพติศมา

  • การยืนยัน

  • การแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (สำหรับผู้ชาย)

  • ศาสนพิธีขั้นเตรียม

  • เอ็นดาวเม้นท์

  • การผนึก

หากทำศาสนพิธีให้ผู้ถึงแก่กรรมผิดลำดับ ไม่จำเป็นต้องประกอบศาสนพิธีอีกครั้ง เพราะจะมีผลเมื่อทำศาสนพิธีที่ต้องได้รับก่อนครบหมดแล้ว

28.2.1

บัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์

สมาชิกผู้มีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันทุกคนอาจได้รับเชิญให้รับใช้ในงานมอบหมายที่ห้องบัพติศมา งานมอบหมายบางอย่างอาจได้แก่:

  • การทำหน้าที่รับบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์

  • การทำหน้าที่เป็นพยานสำหรับบัพติศมาแทนผู้วายชนม์

  • การช่วยเหลือผู้ทำงานพระวิหาร

  • การแจกจ่ายเสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัว

  • การช่วยลงบันทึกศาสนพิธีบัพติศมาและการยืนยันในระบบคอมพิวเตอร์

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและปุโรหิตในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนอาจได้รับเชิญให้ประกอบพิธีบัพติศมาแทนผู้วายชนม์ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจได้รับเชิญให้ทำหน้าที่ในการยืนยันแทนผู้วายชนม์เช่นกัน

เฉพาะชายที่รับเอ็นดาวเม้นท์อาจได้รับเชิญให้:

  • รับใช้เป็นผู้บันทึกที่อ่าง

  • รับใช้เป็นผู้บันทึกการยืนยัน

กลุ่มที่จัดขึ้นเช่น ครอบครัว วอร์ด และสเตคที่ปรารถนาจะมีส่วนร่วมในศาสนพิธีในห้องบัพติศมาปกติจะทำนัดกับทางพระวิหารล่วงหน้า (ดู 28.1.4) ผู้ใหญ่หนึ่งคนหรือมากกว่านั้นผู้มีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันควรไปกับกลุ่มเหล่านี้ด้วย

28.2.2

เอ็นดาวเม้นท์ (รวมทั้งศาสนพิธีขั้นเตรียม)

เมื่อประกอบเอ็นดาวเม้นท์แทนผู้ถึงแก่กรรม จะประกอบและลงบันทึกส่วนศาสนพิธีขั้นเตรียมของเอ็นดาวเม้นท์แยกต่างหาก (ดู 27.2) สมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์และมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันอาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับศาสนพิธีเหล่านี้

28.2.2.1

การตรวจสอบศาสนพิธีที่จำเป็นต่อการรับเอ็นดาวเม้นท์

ผู้ถึงแก่กรรมจะต้องได้รับบัพติศมาและการยืนยันในชีวิตนี้แล้วหรือโดยตัวแทนก่อนประกอบศาสนพิธีเอ็นดาวเม้นท์ รวมทั้งศาสนพิธีขั้นเตรียมในนามของเขาหรือเธอ

บางครั้งเราพบหลังจากผู้ถึงแก่กรรมได้รับเอ็นดาวเม้นท์โดยตัวแทนว่าบัพติศมาและการยืนยันที่เขาหรือเธอได้รับขณะมีชีวิตอยู่ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ในกรณีดังกล่าวบุคคลต้องรับบัพติศมาและการยืนยันโดยตัวแทน ไม่จำเป็นต้องประกอบเอ็นดาวเม้นท์อีกครั้งหลังจากบัพติศมาและการยืนยันโดยตัวแทน

28.2.3

การผนึกกับคู่สมรสและการผนึกบุตรกับบิดามารดา

ในพระวิหารผู้ถึงแก่กรรมจะได้รับการผนึกกับคู่สมรสที่พวกเขาแต่งงานด้วยในชีวิตนี้ (ดู 38.4.1.3 หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งยังมีชีวิตอยู่และ 38.4.1.7 หากคู่สมรสถึงแก่กรรมทั้งคู่) ผู้ถึงแก่กรรมอาจให้บุตรที่มีชีวิตอยู่หรือบุตรที่ถึงแก่กรรมผนึกกับพวกเขาด้วย (ดู 38.4.2.2) สมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันอาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำหรับศาสนพิธีการผนึก

โดยทั่วไปจะประกอบศาสนพิธีบัพติศมา การยืนยัน ศาสนพิธีขั้นเตรียม และเอ็นดาวเม้นท์ ไม่ว่าในชีวิตนี้หรือโดยตัวแทน ก่อนผนึกผู้ถึงแก่กรรมกับคู่สมรสหรือบิดามารดาของเขาหรือเธอ (ดู 28.2) อย่างไรก็ดี ผู้ถึงแก่กรรมที่สิ้นชีวิตก่อนอายุ 8 ขวบหรือผู้ไม่สามารถรับผิดชอบได้ในชีวิตนี้ไม่จำเป็นต้องรับศาสนพิธีอื่นก่อนผนึกกับบิดามารดาของเขาหรือเธอ (ดู 18.1, 28.3.2, และ 28.3.3)

ห้องผนึก

28.3

สภาวการณ์พิเศษ

หมวดนี้อธิบายสภาวการณ์ต่างๆ ซึ่งแนวทางบางอย่างใน 28.1 อาจใช้ไม่ได้

28.3.1

เด็กที่สิ้นชีวิตก่อนเกิด (เด็กตายคลอดและเด็กที่ตายจากการแท้งเอง)

ไม่จำเป็นหรือไม่ประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้เด็กที่สิ้นชีวิตก่อนเกิด ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 38.7.3

28.3.2

เด็กที่สิ้นชีวิตก่อนอายุแปดขวบ

เด็กเล็กได้รับการไถ่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และ “รอด​ใน​อาณาจักร​ซี​เลสเชีย​ลแห่งสวรรค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10) เพราะเหตุนี้จึงไม่ประกอบพิธีบัพติศมาหรือเอ็นดาวเม้นท์ให้เด็กที่สิ้นชีวิตก่อนอายุครบ 8 ขวบ แต่อาจประกอบศาสนพิธีผนึกกับบิดามารดาให้เด็กที่ไม่ได้เกิดในพันธสัญญาหรือไม่ได้รับศาสนพิธีนั้นในชีวิต (ดู 18.1)

28.3.3

ผู้ถึงแก่กรรมที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

อาจประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้ผู้ถึงแก่กรรมที่ทราบกันว่ารับผิดชอบได้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:71) อาจประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้บุคคลที่ไม่ทราบว่ารับผิดชอบได้เช่นกัน

หากทราบแน่ชัดว่าผู้ถึงแก่กรรมมีความบกพร่องทางสติปัญญาและไม่สามารถรับผิดชอบได้ ศาสนพิธีเดียวที่จะประกอบให้คือการผนึกกับบิดามารดา (ดู 38.2.4) จะทำศาสนพิธีนี้ให้เฉพาะบุคคลที่ไม่ได้เกิดในพันธสัญญาหรือไม่ได้รับการผนึกกับบิดามารดาขณะมีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นต้องประกอบศาสนพิธีพระวิหารอื่นๆ แม้บุคคลนั้นจะอายุ 8 ขวบขึ้นไปก็ตาม

28.3.4

บุคคลที่สันนิษฐานว่าสิ้นชีวิตแล้ว

จะประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้บุคคลที่สันนิษฐานว่าสิ้นชีวิตแล้ว แต่จะประกอบศาสนพิธีให้ไม่ได้จนกว่า 10 ปีผ่านไปนับจากเวลาที่สันนิษฐานว่าบุคคลสิ้นชีวิตหรือประกาศตามกฎหมายว่าสิ้นชีวิต นโยบายดังกล่าวใช้กับบุคคลที่:

  • สูญหายขณะปฏิบัติหน้าที่หรือสูญหายในทะเล

  • หายสาบสูญภายใต้สภาวการณ์ที่ปรากฏชัดว่าตายแต่ไม่พบศพ

ในกรณีอื่นทั้งหมดของบุคคลที่สูญหาย จะประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้หลังจากบุคคลเกิดครบ 110 ปี

ประธานสเตคจะติดต่อแผนกพระวิหารหากเขามีคำถามเกี่ยวกับนโยบายนี้:

อีเมล: TempleDepartment@ChurchofJesusChrist.org

28.3.5

บุคคลที่ถูกถอนสมาชิกภาพหรือลาออกจากสมาชิกภาพ

หากบุคคลถูกถอนสมาชิกภาพศาสนจักรหรือลาออกจากสมาชิกภาพก่อนสิ้นชีวิต ต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด รวมถึงการฟื้นฟูพรเมื่อต้องฟื้นฟู ก่อนจึงจะประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้พวกเขาได้ สมาชิกครอบครัวจะขออนุมัตินี้โดยเขียนจดหมายถึงฝ่ายประธานสูงสุดหลังจากบุคคลตายไปแล้วหนึ่งปี จดหมายควรอธิบายสภาวการณ์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม อธิการหรือประธานสเตคจะช่วยเรื่องคำขอครั้งนี้เมื่อจำเป็น

28.3.5.1

การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งของผู้ถึงแก่กรรมที่ไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์

ผู้ถึงแก่กรรมที่ไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์แต่ถูกถอนหรือลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักรจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยัน จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดดังระบุไว้ใน 28.3.5 ผู้ถึงแก่กรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการผนึกกับบิดามารดาอีกหากพวกเขาเกิดในพันธสัญญาหรือผนึกกับบิดามารดาในชีวิตนี้แล้ว

28.3.5.2

การฟื้นฟูพรพระวิหารสำหรับบุคคลที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว

ผู้ถึงแก่กรรมที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วแต่ถูกถอนหรือลาออกจากสมาชิกภาพศาสนจักร และภายหลังกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งโดยบัพติศมาและการยืนยันจะได้รับพรฐานะปุโรหิตและพรพระวิหารผ่านศาสนพิธีของการฟื้นฟูพรเท่านั้น บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือรับเอ็นดาวเม้นท์อีกเพราะพรเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูผ่านศาสนพิธีนี้

ตามที่ระบุไว้ใน 28.3.5, การประกอบศาสนพิธีนี้ให้ผู้ถึงแก่กรรมต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด ดูข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบศาสนพิธีดังกล่าวสำหรับคนเป็นใน 32.17.2