“3. หลักธรรมฐานะปุโรหิต” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)
“3. หลักธรรมฐานะปุโรหิต” คู่มือทั่วไป
3.
หลักธรรมฐานะปุโรหิต
3.0
บทนำ
ฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ฐานะปุโรหิตดำรงอยู่เสมอมาและจะดำรงอยู่ตลอดไปไม่สิ้นสุด (ดู แอลมา 13:7–8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:17–18) พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำงานของพระองค์ให้สำเร็จผ่านฐานะปุโรหิตเพื่อ “ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบสิทธิอำนาจและพลังอำนาจให้บุตรและธิดาของพระองค์บนแผ่นดินโลกเพื่อช่วยดำเนินงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จ (ดู บทที่ 1)
3.1
การฟื้นฟูฐานะปุโรหิต
ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นองค์การเดียวบนแผ่นดินโลกที่มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและกุญแจฐานะปุโรหิตนั้นจากยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1) ท่านได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจฐานะปุโรหิตนั้นจากอัครสาวกเปโตร ยากอบ และยอห์น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:12–13)
ในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ปรากฏต่อโจเซฟ สมิธและมอบสิทธิอำนาจเพิ่มเติมให้ท่านอันจำเป็นต่อการทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จในยุคสุดท้าย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11–16)
-
โมเสสมอบหมายกุญแจแห่งการรวบรวมอิสราเอล (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “อิสราเอล”)
-
เอลีอัสมอบหมายสมัยการประทานพระกิตติคุณของอับราฮัม ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูพันธสัญญาแห่งอับราฮัมด้วย (ดู อับราฮัม 2:9–11; คู่มือพระคัมภีร์ “พันธสัญญาแห่งอับราฮัม”)
-
เอลียาห์มอบหมายกุญแจแห่งอำนาจการผนึก (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “ผนึก (การ)”) กุญแจเหล่านี้ให้สิทธิอำนาจที่ยินยอมให้ศาสนพิธีที่ประกอบบนแผ่นดินโลกเป็นการผูกมัดในชีวิตหน้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:9–10)
สมาชิกแต่ละท่านในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองถือกุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดนี้ในปัจจุบัน เฉพาะประธานศาสนจักรผู้เป็นอัครสาวกอาวุโสเท่านั้นมีสิทธิอำนาจในการใช้กุญแจทั้งหมดนี้ ผู้นำเหล่านี้เรียกและมอบอำนาจให้สมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ใช้สิทธิอำนาจและพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเหลืองานแห่งความรอดและความสูงส่ง
ดูข้อมูลเกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิตใน 3.4.1
3.2
พรของฐานะปุโรหิต
พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ได้รับพรอันยิ่งใหญ่ผ่านพันธสัญญาและศาสนพิธีฐานะปุโรหิต พรเหล่านี้ได้แก่:
-
บัพติศมาและสมาชิกภาพในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย
-
ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
การรับส่วนศีลระลึก
-
สิทธิอำนาจและพลังอำนาจที่จะรับใช้ในการเรียกและงานมอบหมายต่างๆ ของศาสนจักร
-
การได้รับปิตุพรและพรฐานะปุโรหิตอื่นๆ ของการรักษา การปลอบประโลม และการนำทาง
-
การรับเอ็นดาวเม้นท์ด้วยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในพระวิหาร
-
การผนึกกับสมาชิกครอบครัวชั่วนิรันดร์
-
คำสัญญาเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์
บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับพรเหล่านี้ของฐานะปุโรหิตและประสบปีติใหญ่หลวงเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
3.3
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน
ในศาสนจักร ฐานะปุโรหิตมีสองส่วนคือ ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1)
3.3.1
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเป็น “ฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์, ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:3) เป็นพลังอำนาจซึ่งทำให้บุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเป็นเหมือนพระองค์ได้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–21; 132:19–20)
“ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือสิทธิของการเป็นประธาน” และมี “พลังอำนาจและสิทธิอำนาจเหนือตำแหน่งทั้งหมดในศาสนจักรทุกยุคของโลก, เพื่อดูแลในเรื่องทางวิญญาณ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:8) ผู้นำศาสนจักรกำกับดูแลและบริหารงานทางวิญญาณทั้งหมดของศาสนจักรผ่านสิทธิอำนาจนี้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:18) “เจ้าหน้าที่หรือตำแหน่งอื่นทั้งปวงในศาสนจักรเป็นส่วนประกอบของฐานะปุโรหิตนี้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:5)
ประธานศาสนจักรเป็นมหาปุโรหิตควบคุมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:65–67) ประธานสเตคเป็นมหาปุโรหิตควบคุมในสเตค (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:8, 10; ดู บทที่ 6 ในคู่มือนี้ด้วย) อธิการเป็นมหาปุโรหิตควบคุมในวอร์ด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:17; ดู บทที่ 7 ในคู่มือนี้ด้วย)
ดูข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคใน 8.1
3.3.2
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเป็น “ส่วนประกอบของ … ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:14) และมีกุญแจของ:
-
การปฏิบัติของเหล่าเทพ
-
พระกิตติคุณแห่งการกลับใจ
-
การปฏิบัติศาสนพิธีภายนอก รวมทั้งบัพติศมาเพื่อการปลดบาป
(ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1; 84:26–27; 107:20)
อธิการเป็นประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในวอร์ด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:15)
ดูข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนใน 10.1.3
3.4
สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต
สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตคือการมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าและปฏิบัติในพระนามของพระองค์ ในศาสนจักรเราใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตทั้งหมดภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต
สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตผ่านการประสาทฐานะปุโรหิตและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต สมาชิกศาสนจักรทั้งหมดสามารถใช้สิทธิอำนาจที่มอบหมายเมื่อพวกเขาได้รับการวางมือมอบหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ช่วยทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ สมาชิกมีหน้าที่ชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อคนที่พระองค์ทรงกำหนดให้เป็นประธานว่าพวกเขาใช้สิทธิอำนาจของพระองค์อย่างไร (ดู 3.4.4)
3.4.1
กุญแจฐานะปุโรหิต
กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจให้กำกับดูแลการใช้ฐานะปุโรหิตเพื่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตกำกับดูแลการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตทั้งหมดในศาสนจักร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 65:2)
3.4.1.1
ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต
พระเยซูคริสต์ทรงถือกุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิต ภายใต้การกำกับดูแลของพระองค์ ชายได้รับกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อใช้ในการเรียกเฉพาะด้านสำหรับทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ ดังอธิบายไว้ด้านล่าง
พระเจ้าทรงประสาทกุญแจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกให้อัครสาวกแต่ละคนของพระองค์ อัครสาวกอาวุโสที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งคือประธานศาสนจักรเป็นเพียงบุคคลเดียวบนแผ่นดินโลกที่มีสิทธิอำนาจในการใช้กุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดนั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:1–2; 107:64–67, 91–92; 132:7)
ภายใต้การกำกับดูแลของประธานศาสนจักร ผู้นำฐานะปุโรหิตได้รับกุญแจเพื่อจะสามารถเป็นประธานในหน้าที่รับผิดชอบด้านต่างๆ ของตน ผู้นำเหล่านี้ได้แก่:
-
ประธานสเตคและประธานท้องถิ่น
-
อธิการและประธานสาขา
-
ประธานโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน
-
ประธานพระวิหาร
-
ประธานคณะเผยแผ่และประธานศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา
-
ประธานสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนจักร
ผู้นำเหล่านี้ได้รับกุญแจฐานะปุโรหิตเมื่อพวกเขาได้รับการวางมือมอบหน้าที่สู่การเรียกของตน
คนอื่นๆ รวมทั้งที่ปรึกษาของผู้นำฐานะปุโรหิตในท้องที่หรือประธานองค์การต่างๆ ของศาสนจักรจะไม่ได้รับกุญแจฐานะปุโรหิต แต่ผู้นำเหล่านี้ได้รับสิทธิอำนาจที่มอบให้เมื่อพวกเขาได้รับการวางมือมอบหน้าที่และเมื่อได้รับงานมอบหมายภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ประธานองค์การต่างๆ ของศาสนจักรเป็นประธานภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ดู 4.2.4)
3.4.1.2
ระเบียบงานของพระเจ้า
กุญแจฐานะปุโรหิตทำให้งานแห่งความรอดและความสูงส่งบรรลุผลสำเร็จอย่างมีระเบียบ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11; 132:8) ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตกำกับดูแลงานของพระเจ้าภายในขอบเขตความรับผิดชอบของตน พวกเขาทำเช่นนั้นด้วยความรักและความชอบธรรม สิทธิอำนาจควบคุมนี้มีผลเฉพาะกับหน้าที่รับผิดชอบจำเพาะการเรียกของผู้นำเท่านั้น เมื่อผู้นำฐานะปุโรหิตพ้นจากการเรียก ผู้นำเหล่านั้นไม่ถือกุญแจเหล่านี้อีก
ทุกคนที่รับใช้ในศาสนจักรล้วนได้รับการวางมือมอบหน้าที่หรืองานมอบหมายภายใต้การกำกับดูแลของบุคคลหนึ่งผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต เมื่อสมาชิกได้รับการวางมือมอบหน้าที่หรืองานมอบหมาย พวกเขาได้รับมอบอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้รับใช้ในงานของพระองค์
3.4.2
การประสาทและการแต่งตั้งฐานะปุโรหิต
สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรได้รับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:14–17) หลังจากประสาทฐานะปุโรหิตที่เหมาะสมแล้ว บุคคลได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตนั้น เช่น มัคนายกหรือเอ็ลเดอร์ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตใช้ฐานะปุโรหิตตามสิทธิและหน้าที่ของตำแหน่งนั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:99)
ชายแต่ละคนในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์จะพยายามมีค่าควรได้รับและใช้ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคในการรับใช้ผู้อื่น เมื่อชายคนหนึ่งได้รับฐานะปุโรหิตนี้ เขาทำพันธสัญญาว่าจะทำหน้าที่รับผิดชอบในฐานะปุโรหิตของเขาให้ลุล่วงอย่างซื่อสัตย์ เขาได้รับคำปฏิญาณหรือคำสัญญาถึงพรนิรันดร์จากพระผู้เป็นเจ้าด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:33–44; ดู คู่มือพระคัมภีร์ “คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต”)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประสาทและการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตใน 8.1.1, 10.6, 18.10 และ 38.2.5
3.4.3
การมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้รับใช้ในศาสนจักร
การมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้สมาชิกรับใช้ในศาสนจักรทำดังนี้:
-
โดยการวางมือมอบหน้าที่สู่การเรียกในศาสนจักร
-
โดยการมอบหมายจากผู้นำศาสนจักรที่เป็นประธาน
3.4.3.1
การวางมือมอบหน้าที่
เมื่อชายและหญิงได้รับการวางมือมอบหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต พวกเขาได้รับสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกนั้น เมื่อพวกเขาพ้นจากการเรียก พวกเขาไม่มีสิทธิอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการเรียกนั้นอีกต่อไป
การเรียกบางอย่างเกี่ยวข้องกับตำแหน่งและโควรัมของฐานะปุโรหิต ตัวอย่างเช่น ชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจได้รับการเรียกเป็นประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ เมื่อประธานสเตควางมือมอบหน้าที่ให้เขา เขาได้รับกุญแจฐานะปุโรหิต สิทธิอำนาจ และหน้าที่รับผิดชอบให้กำกับดูแลงานของโควรัมเอ็ลเดอร์ (ดู 3.4.1)
อีกหลายการเรียกของศาสนจักรไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งและโควรัมฐานะปุโรหิต แต่สมาชิกทุกคนของศาสนจักรที่ได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้รับใช้ล้วนได้รับสิทธิอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบจากสวรรค์ให้ปฏิบัติในการเรียกของตน ตัวอย่างเช่น:
-
หญิงที่อธิการเรียกและวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดจะได้รับสิทธิอำนาจให้กำกับดูแลงานของสมาคมสงเคราะห์ในวอร์ด
-
ชายหรือหญิงที่สมาชิกในฝ่ายอธิการเรียกและวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นครูปฐมวัยจะได้รับสิทธิอำนาจให้สอนเด็กปฐมวัยในวอร์ด
ทุกคนที่ได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่จะรับใช้ภายใต้การกำกับดูแลของคนที่เป็นประธานเหนือพวกเขา (ดู 3.4.1.2)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกทำการเรียกต่างๆ ในศาสนจักรใน 18.11
3.4.3.2
การมอบหมาย
ผู้นำศาสนจักรที่เป็นประธานสามารถมอบสิทธิอำนาจโดยการมอบหมาย เมื่อชายและหญิงได้รับงานมอบหมายเหล่านี้ พวกเขาได้รับสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้ปฏิบัติหน้าที่ ตัวอย่างเช่น:
-
ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองมอบสิทธิอำนาจให้สาวกเจ็ดสิบผู้ได้รับมอบหมายให้บริหารภาคต่างๆ และเป็นประธานที่การประชุมใหญ่สเตค
-
ประธานคณะเผยแผ่มอบสิทธิอำนาจให้ผู้สอนศาสนาชายและผู้สอนศาสนาหญิงผู้ได้รับมอบหมายให้นำและอบรมผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ
-
มีการมอบสิทธิอำนาจให้สมาชิกศาสนจักรรับใช้เป็นบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาได้รับมอบหมายภายใต้การกำกับดูแลของอธิการโดยประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์
สิทธิอำนาจที่มอบให้โดยการมอบหมายจะจำกัดเฉพาะกับหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้านและระยะเวลาของงานมอบหมาย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานมอบหมายผ่านการมอบหน้าที่ใน 4.2.5
3.4.4
การใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตอย่างชอบธรรม
ผู้นำศาสนจักรและสมาชิกใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ประสาทให้หรือมอบให้เพื่อเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่น
สิทธิอำนาจนี้จะใช้เฉพาะในความชอบธรรมเท่านั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36) ใช้โดยการชักชวน ความอดกลั้น ความอ่อนโยน ความสุภาพอ่อนน้อม ความรัก และความเมตตา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–42) ผู้นำปรึกษากับคนอื่นๆ ในวิญญาณของความเป็นหนึ่งเดียวกันและแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านการเปิดเผย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 41:2) ดูข้อมูลเกี่ยวกับการปรึกษากับคนอื่นๆ ใน 4.4.3
ผู้ใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตไม่ยัดเยียดความประสงค์ของตนให้ผู้อื่น พวกเขาไม่ใช้สิทธิอำนาจเพื่อจุดประสงค์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หากบุคคลหนึ่งใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตอย่างไม่ชอบธรรม “สวรรค์ย่อมถอนตัว [และ] พระวิญญาณของพระเจ้าเศร้าโศก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:37)
การเรียกบางอย่างในศาสนจักรครอบคลุมถึงหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นประธานไว้ด้วย ดูข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นประธานในศาสนจักรใน 4.2.4
3.5
พลังอำนาจฐานะปุโรหิต
พลังอำนาจฐานะปุโรหิตคือพลังอำนาจซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้ประทานพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ พลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าหลั่งไหลมาสู่สมาชิกทุกคนของศาสนจักร—หญิงและชาย—เมื่อพวกเขารักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระองค์ สมาชิกทำพันธสัญญาเหล่านี้เมื่อพวกเขารับศาสนพิธีฐานะปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–20)
พรของพลังอำนาจฐานะปุโรหิตที่สมาชิกจะได้รับได้แก่:
-
การนำทางสำหรับชีวิตพวกเขา
-
การดลใจให้รู้วิธีรับใช้สมาชิกครอบครัวและคนอื่นๆ
-
พลังให้อดทนและเอาชนะความท้าทาย
-
ของประทานแห่งพระวิญญาณเพื่อขยายความสามารถของพวกเขา
-
การเปิดเผยให้รู้วิธีทำงานที่พวกเขาได้รับการแต่งตั้ง การวางมือมอบหน้าที่ หรือการมอบหมายให้ทำ
-
ความช่วยเหลือและพลังให้เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น
3.5.1
พันธสัญญา
พันธสัญญาคือสัญญาศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับบุตรธิดาของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าประทานเงื่อนไขสำหรับพันธสัญญา และบุตรธิดาของพระองค์ตกลงที่จะเชื่อฟังเงื่อนไขเหล่านั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะประทานพรแก่บุตรธิดาของพระองค์เมื่อพวกเขาทำตามพันธสัญญา
สมาชิกทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพวกเขารับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง (ดู 18.1) ทุกคนที่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในการรักษาพันธสัญญาจะได้รับชีวิตนิรันดร์ (ดู 2 นีไฟ 31:17–20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7) การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่รวมถึงการใช้ศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์และกลับใจทุกวัน
บิดามารดา ผู้นำศาสนจักร และคนอื่นๆ ช่วยบุคคลเตรียมทำพันธสัญญาเมื่อพวกเขารับศาสนพิธีของพระกิตติคุณ พวกเขาต้องแน่ใจว่าบุคคลเข้าใจพันธสัญญาที่เขาจะทำ หลังจากบุคคลทำพันธสัญญา พวกเขาช่วยบุคคลนั้นรักษาพันธสัญญา (ดู โมไซยาห์ 18:8–11, 23–26)
3.5.2
ศาสนพิธี
ศาสนพิธีเป็นการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์โดยผู้มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีเป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เรื่อยมา ศาสนพิธีแรกบนแผ่นดินโลกทำในสมัยของอาดัมกับเอวา (ดู ปฐมกาล 1:28; โมเสส 6:64–65)
ในหลายศาสนพิธี บุคคลทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า ตัวอย่างได้แก่ บัพติศมา ศีลระลึก เอ็นดาวเม้นท์ และศาสนพิธีผนึกการแต่งงาน ในศาสนพิธีอื่น เช่น ปิตุพรหรือการให้พรคนป่วย บุคคลไม่ทำพันธสัญญา แต่พวกเขาได้รับการนำทางและพลังเพื่อรักษาพันธสัญญา
ศาสนพิธีมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ชี้นำบุคคลไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ในศาสนพิธีที่มีพันธสัญญารวมอยู่ด้วย การใช้สัญลักษณ์ช่วยให้บุคคลเข้าใจสัญญาที่พวกเขาทำและพรที่พวกเขาได้รับผ่านความซื่อสัตย์
แต่ละศาสนพิธีเปิดโอกาสให้บุคคลได้รับพรทางวิญญาณมากมาย พระเจ้าทรงเปิดเผยว่า “ในศาสนพิธี [ของฐานะปุโรหิต] พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าจึงแสดงให้ประจักษ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20) ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งจำเป็นต่อชีวิตนิรันดร์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 18.1
บุคคลที่มีชีวิตอยู่รับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งสำหรับตนเอง หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ พวกเขาจะกลับไปพระวิหารเพื่อประกอบศาสนพิธีเหล่านี้แทนผู้วายชนม์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกอบศาสนพิธีให้ผู้ถึงแก่กรรมใน บทที่ 28
3.6
ฐานะปุโรหิตและบ้าน
สมาชิกทุกคนของศาสนจักรที่รักษาพันธสัญญา—ชาย หญิง และเด็ก—ล้วนได้รับพรด้วยพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าในบ้านของพวกเขาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตนเองและครอบครัว (ดู 3.5) พลังอำนาจนี้จะช่วยเหลือสมาชิกในการทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว (ดู 2.2)
ชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสามารถให้พรฐานะปุโรหิตแก่สมาชิกครอบครัวเพื่อให้การนำทาง การรักษา และการปลอบประโลม เมื่อจำเป็น สมาชิกศาสนจักรสามารถขอพรเหล่านี้จากครอบครัวเครือญาติ บราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ หรือผู้นำศาสนจักรในท้องที่ได้เช่นกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพรฐานะปุโรหิตใน 18.13 และ 18.14
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการนำในครอบครัวใน 2.1.3