“4. การเป็นผู้นำและสภาในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2021)
“4. การเป็นผู้นำและสภาในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์” คู่มือทั่วไป
4.
การเป็นผู้นำและสภาในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์
4.0
บทนำ
ในฐานะผู้นำในศาสนจักรท่านได้รับเรียกโดยการดลใจผ่านผู้รับใช้ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบอำนาจ ท่านมีสิทธิพิเศษของการช่วยเหลืองานของพระบิดาบนสวรรค์ใน “การทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) ท่านทำงานนี้โดยกระตุ้นสมาชิกให้ร่วมงานแห่งความรอดและความสูงส่งเพื่อตนเอง ครอบครัว และผู้อื่น (ดู บทที่ 1) ท่านจะพบปีติขณะท่านรับใช้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า
บ่อยครั้งท่านจะรับใช้ผู้อื่นทีละคนโดยทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ ท่านจะมีโอกาสเป็นผู้นำในการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักรเช่นกัน นอกจากนี้ท่านอาจให้การรับใช้ที่สำคัญผ่านสภาด้วย สภาเหล่านี้ได้แก่การประชุมฝ่ายประธาน การประชุมสภาวอร์ด และอื่นๆ หมวด 4.3 และ 4.4 ให้แนวทางสำหรับสภาที่มีประสิทธิภาพ รายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมสภาต่างๆ มีให้ไว้ใน บทที่ 29
การอุทิศตนรับใช้ของท่านเรียกร้องให้เสียสละเวลา แต่อย่าละเลยความต้องการของท่านเองและความต้องการของครอบครัวท่าน แสวงหาการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยท่านรักษาสมดุลและทำหน้าที่รับผิดชอบให้ลุล่วง (ดู โมไซยาห์ 4:27)
4.1
จุดประสงค์ของการเป็นผู้นำในศาสนจักร
ผู้นำกระตุ้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมในงานของพระผู้เป็นเจ้าโดยเป็น “ผู้ติดตามที่แท้จริงของ … พระเยซูคริสต์” (โมโรไน 7:48) เพื่อทำเช่นนี้ ผู้นำต้องพากเพียรเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระผู้ช่วยให้รอดก่อนโดยดำเนินชีวิตตามคำสอนและแบบอย่างของพระองค์ (ดู ลูกา 18:22) จากนั้นผู้นำจึงจะสามารถช่วยให้ผู้อื่นเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้น ในระหว่างช่วยเหลือผู้อื่น ผู้นำจะกลายเป็นสานุศิษย์ที่ดีขึ้น (ดู โมไซยาห์ 18:26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:5)
การเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์เพื่อจะช่วยให้ผู้อื่นเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์เป็นจุดประสงค์เบื้องหลังการเรียกทุกอย่างในศาสนจักร การเรียกแต่ละอย่างมีโอกาสให้รับใช้ นำ และทำให้ผู้อื่นเข้มแข็ง
4.2
หลักธรรมของการเป็นผู้นำในศาสนจักร
ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำในศาสนจักรของพระองค์ จุดประสงค์สำคัญของพระองค์คือการทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์และช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์ (ดู ยอห์น 5:30; โมไซยาห์ 15:7) พระองค์ทรงรักคนที่พระองค์ทรงนำและทรงแสดงความรักนั้นโดยรับใช้พวกเขา (ดู ยอห์น 13:3–5)
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเพิ่มความสามารถของผู้อื่นโดยมอบหน้าที่รับผิดชอบและโอกาสให้พวกเขาเติบโต (ดู มัทธิว 10:5–8; ยอห์น 14:12) พระองค์ทรงให้กำลังใจและแก้ไขด้วยความชัดเจนและความรัก (ดู ยอห์น 21:15–17)
พระเจ้าตรัสว่า “ให้ทุกคนพึงเรียนรู้หน้าที่ของตน, และกระทำในตำแหน่งซึ่งตนได้รับการกำหนดไว้, ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:99) พระดำรัสเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับทุกคนผู้ได้รับหน้าที่รับผิดชอบให้รับใช้และนำในศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด
จงแสวงหาการนำทางของพระเจ้าเพื่อช่วยให้ท่านเรียนรู้และทำหน้าที่การเรียกให้ลุล่วง ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ จงมองหาหลักธรรมการเป็นผู้นำที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เห็นและทรงสอน การประยุกต์ใช้หลักธรรมในบทนี้จะช่วยให้ท่านนำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกันในศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด
4.2.1
เตรียมพร้อมทางวิญญาณ
พระเยซูทรงเตรียมพระองค์ทางวิญญาณเพื่อพร้อมทำพระพันธกิจบนแผ่นดินโลก (ดู ลูกา 4:1–2) ท่านเตรียมพร้อมทางวิญญาณในทำนองเดียวกันโดยเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์ผ่านการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ การทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ช่วยท่านเตรียมทางวิญญาณเช่นกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 21:4–6)
จงแสวงหาการเปิดเผยเพื่อเข้าใจความต้องการของคนที่ท่านนำและวิธีทำงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกท่านให้ลุล่วง เมื่อท่านพยายามเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นท่านจะได้รับการนำทางในชีวิตส่วนตัว ในหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว และการเรียกในศาสนจักร
พระเจ้าทรงสัญญาจะมอบของประทานฝ่ายวิญญาณแก่คนที่แสวงหาของประทานเหล่านั้นเช่นกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8) เมื่อท่านร้องทูลพระบิดาบนสวรรค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อขอรับของประทานเหล่านี้ พระองค์จะทรงเพิ่มความสามารถให้ท่านนำและพยุงคนที่ท่านรับใช้
4.2.2
ปฏิบัติศาสนกิจต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า
พระเยซูทรงปฏิบัติศาสนกิจเป็นส่วนพระองค์ต่อผู้คน โดยทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปพยุงและสอนคนที่รู้สึกโดดเดี่ยว สิ้นหวัง หรือหลงทาง พระองค์ทรงแสดงให้ผู้คนเห็นโดยพระดำรัสและพระกรณียกิจของพระองค์ว่าพระองค์ทรงรักพวกเขา พระองค์ทรงยอมรับธรรมชาติแห่งสวรรค์และคุณค่านิรันดร์ของแต่ละบุคคล
รักคนที่ท่านรับใช้เฉกเช่นพระเยซูทรงรัก สวดอ้อนวอน “จนสุดพลังของใจ” ขอให้เปี่ยมด้วยความรักของพระคริสต์ (โมโรไน 7:48) สร้างมิตรภาพที่จริงใจ ยื่นมือช่วยเหลือคนที่อาจรู้สึกโดดเดี่ยว ต้องการการปลอบประโลม หรือมีความต้องการอื่น ความรักของท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาและช่วยให้ผู้คนปรารถนาจะมาหาพระคริสต์
ช่วยแต่ละบุคคลทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาลึกซึ้งขึ้นและเพิ่มพลังศรัทธาของพวกเขาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ช่วยพวกเขาเตรียมทำพันธสัญญาขณะรับศาสนพิธีถัดไป กระตุ้นให้พวกเขารักษาพันธสัญญาที่ทำไว้และรับพรของการกลับใจ ช่วยให้พวกเขารู้ว่าตนสามารถเจริญก้าวหน้าจนบรรลุศักยภาพอันสูงส่งได้ไม่ว่าประสบความท้าทายอะไรก็ตาม
4.2.3
สอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
ผู้นำทุกคนคือครู พยายามทำตามแบบอย่างการเป็นครูของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู บทที่ 17; การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด) สอนหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์และหลักธรรมพระกิตติคุณของพระองค์ผ่านคำพูดและการกระทำของท่าน (ดู 3 นีไฟ 11:32–33; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:12–14) การสอนที่มีประสิทธิภาพสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนกระชับความสัมพันธ์ของตนกับพระผู้เป็นเจ้าและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณขณะเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์
การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นมากกว่าการพูด แต่รวมถึงการฟังและถามคำถามแบบพระองค์ด้วย (ดู มัทธิว 16:13–17)
ครูที่มีประสิทธิภาพเป็นผู้เรียนที่ขยันหมั่นเพียรด้วย ทำให้การศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีความสำคัญสูงสุดในชีวิตท่าน เข้าใจว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการชั่วชีวิต พยายามเรียนรู้จากคนอื่นๆ รวมทั้งคนที่ท่านสอน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122)
สอนจากพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:9) จำไว้ว่า “การสั่งสอนพระวจนะ … บังเกิดผลอันมีพลังแก่จิตใจผู้คน ยิ่งกว่า … สิ่งใด” (แอลมา 31:5)
แสวงหาอิทธิพลของพระวิญญาณขณะท่านเตรียมและสอน พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำความจริงไปสู่ใจและความคิดของคนที่ท่านสอน (ดู 2 นีไฟ 33:1)
สอนสมาชิกให้ขะมักเขม้นศึกษาพระกิตติคุณร่วมกับการสวดอ้อนวอนทั้งเป็นส่วนตัวและกับครอบครัว
หากท่านได้รับเรียกหรือได้รับมอบหมายให้เป็นประธานในการประชุมหรือกิจกรรมของศาสนจักร พึงแน่ใจว่าการสอนจรรโลงใจและถูกต้องตามหลักคำสอน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:21–23)
4.2.4
เป็นประธานด้วยความชอบธรรม
พระเจ้าทรงเปิดเผยว่า “ด้วยความจำเป็นจึงมีประธาน, หรือเจ้าหน้าที่ควบคุม” ในศาสนจักรของพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21) ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตเป็นประธานในหน้าที่รับผิดชอบด้านต่างๆ เช่น โควรัมหรือวอร์ด
องค์การอื่นในศาสนจักร รวมทั้งสมาคมสงเคราะห์ เยาวชนหญิง ปฐมวัย และโรงเรียนวันอาทิตย์นำโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมเช่นกัน ผู้นำเหล่านี้ได้รับการเรียก การวางมือมอบหน้าที่ และได้รับสิทธิอำนาจที่มอบหมายโดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตหรือคนที่ผู้ถือกุญแจมอบอำนาจ (ดู 3.4.3)
เจ้าหน้าที่ควบคุมแต่ละคนรับใช้ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ดู 3.4.1) โครงสร้างนี้จัดวางระเบียบและสายงานชัดเจนของหน้าที่รับผิดชอบและภาระรับผิดชอบในการทำงานของพระเจ้า
เจ้าหน้าที่ควบคุมอาจมอบหมายงานชั่วคราวให้อีกคนหนึ่งเป็นประธาน ตัวอย่างเช่น หากประธานสมาคมสงเคราะห์จะไม่อยู่ในการประชุมสมาคมสงเคราะห์วันอาทิตย์ เธอจะมอบหมายให้ที่ปรึกษาที่หนึ่งเป็นประธานในการประชุม หากที่ปรึกษาที่หนึ่งจะไม่อยู่ ประธานจะมอบหมายให้ที่ปรึกษาที่สองเป็นประธาน
ผู้นำที่เป็นประธานพึงแน่ใจว่าจุดประสงค์ของพระเจ้าบรรลุในองค์การ การประชุม หรือกิจกรรมของศาสนจักร ในการทำเช่นนี้ผู้นำจะทำตามหลักธรรมพระกิตติคุณ นโยบายศาสนจักร และการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์
ผู้เป็นประธานจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในการรับใช้ด้วยความสุภาพ ความอ่อนโยน และความรักอันบริสุทธิ์ (ดู ยอห์น 13:13–15) การเรียกหรือการมอบหมายให้เป็นประธานไม่ทำให้ผู้ได้รับการเรียกนั้นสำคัญกว่าหรือมีค่ามากกว่าคนอื่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:109–110)
หากท่านได้รับเรียกหรือได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน จงทำตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า “ถ้าใครต้องการจะเป็นนาย คนนั้นจะต้องเป็นผู้รับใช้ของพวกท่าน” (ดู มัทธิว 20:27; ดู ข้อ 26–28) ปรึกษากับคนอื่นๆ และพยายามเป็นหนึ่งเดียวกันในการเข้าใจพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและทำงานของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 41:2; ดู 4.4 ในคู่มือนี้ด้วย)
ไม่สมควรมุ่งหวังเป็นประธานในองค์การใดในศาสนจักรของพระเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–37) แต่จงรับใช้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ในตำแหน่งที่ท่านได้รับเรียก พยายามทำงานของพระเจ้าให้สำเร็จด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระองค์อย่างเดียว (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:5) วางใจว่าพระเจ้าจะประทานโอกาสให้ท่านเติบโตและเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์
4.2.5
มอบหน้าที่รับผิดชอบและให้ภาระรับผิดชอบ
พระผู้ช่วยให้รอดประทานงานมอบหมายและหน้าที่รับผิดชอบที่มีความหมายแก่สานุศิษย์ของพระองค์ (ดู ลูกา 10:1) พระองค์ประทานโอกาสให้พวกเขารับผิดชอบงานที่ทรงมอบให้พวกเขาทำเช่นกัน (ดู ลูกา 9:10)
ในฐานะผู้นำท่านสามารถช่วยให้ผู้อื่นเติบโตโดยมอบหมายงานให้พวกเขา ในวิธีนี้ท่านจะช่วยให้พวกเขาได้รับพรที่มาจากการรับใช้ด้วย พยายามให้สมาชิกทุกคนมีส่วนในการทำงานของพระผู้เป็นเจ้า
การมอบหมายงานจะทำให้การรับใช้ของท่านมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย หากท่านพยายามทำมากเกินไป ท่านจะ “อ่อนล้า” แน่นอน (อพยพ 18:18) จงแสวงหาการนำทางของพระวิญญาณว่าจะมอบหมายงานใดเพื่อท่านจะสามารถจดจ่อกับงานที่มีความสำคัญสูงสุด
การมอบหมายงานเป็นมากกว่าการให้งานมอบหมาย แต่รวมถึงการสอนและวางใจว่าอีกคนหนึ่งจะทำงานมอบหมายให้ลุล่วง โดยปกติการมอบหมายงานมีองค์ประกอบดังนี้:
-
พบกับบุคคลนั้นเพื่อเชื้อเชิญให้เขารับใช้พระเจ้าในงานมอบหมาย ช่วยให้เขาเข้าใจงานมอบหมายและจุดประสงค์ของงาน อีกทั้งเข้าใจด้วยว่าการรับใช้ของเขาจะเป็นพรแก่ผู้อื่นอย่างไร
-
ปรึกษากันเกี่ยวกับงานมอบหมายว่าใครจะเกี่ยวข้องอีกบ้างและควรทำงานให้เสร็จเมื่อใด พึงแน่ใจว่าบุคคลนั้นเข้าใจและเต็มใจยอมรับงานมอบหมาย แสดงความเชื่อมั่นในความสามารถของเขา
-
กระตุ้นให้เขาแสวงหาการดลใจเกี่ยวกับวิธีทำงานมอบหมายให้ลุล่วง แสดงความไว้วางใจของท่านและช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ ให้การกำกับดูแลและการสนับสนุนตามต้องการ
-
ขอให้เขารายงานเกี่ยวกับงานมอบหมายเป็นระยะๆ ยอมรับว่าเขาพยายามสุดความสามารถแล้ว และแสดงความขอบคุณสำหรับสิ่งที่เขาทำ
4.2.6
เตรียมผู้อื่นให้เป็นผู้นำและครู
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมอัครสาวกให้เป็นผู้นำในศาสนจักรของพระองค์ ท่านช่วยผู้อื่นเตรียมเป็นผู้นำและครูในทำนองเดียวกัน งานของพระเจ้ามุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้คน ไม่ใช่แค่บริหารโปรแกรมศาสนจักร โปรแกรมเหล่านี้ไม่ใช่จุดหมายในตัวมันเอง โปรแกรมมีไว้ช่วยให้ผู้คนเติบโต
เมื่อพิจารณาว่าใครจะรับใช้ในการเรียกหรืองานมอบหมายของศาสนจักร จงสวดอ้อนวอน จำไว้ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้คนที่พระองค์ทรงเรียกมีคุณสมบัติ สิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขาเต็มใจรับใช้ ยอมทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และพยายามมีค่าควร การเรียกและงานมอบหมายจะช่วยให้พวกเขาเติบโตโดยให้โอกาสพวกเขาใช้ศรัทธา ทำงานหนัก และรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงขยายความพยายามของพวกเขา ให้การนำทางและความช่วยเหลือแก่เยาวชน สมาชิกใหม่ และคนอื่นๆ ที่อาจต้องการให้ท่านสนับสนุนเป็นพิเศษขณะทำการเรียกของพวกเขาให้ลุล่วง
บางครั้งคนกลุ่มเดิมได้รับเรียกซ้ำๆ ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ จึงทำให้พวกเขากับครอบครัวรับภาระหนักเกินไปและปิดโอกาสผู้อื่น จงพยายามให้โอกาสสมาชิกทุกคนได้รับใช้และเติบโต
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียกต่างๆ ของศาสนจักรใน บทที่ 30
4.2.7
วางแผนการประชุม บทเรียน และกิจกรรมด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจน
แสวงหาการนำทางของพระวิญญาณในการวางแผนการประชุม บทเรียน และกิจกรรมให้มีจุดประสงค์ชัดเจน จุดประสงค์เหล่านี้ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งให้บุคคลและครอบครัว นำพวกเขาเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น และช่วยทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ (ดู บทที่ 1 และ 2) เมื่อวางแผน ให้ทำตามหลักธรรมใน บทที่ 20 และ 29
วางแผนระยะยาวสำหรับองค์การของท่าน ทำกำหนดการในปฏิทินประจำปี มุ่งส่งเสริมการเติบโตทางวิญญาณของสมาชิก
4.2.8
ประเมินความพยายามของท่าน
ทบทวนหน้าที่รับผิดชอบและการเติบโตทางวิญญาณของท่านเป็นประจำในฐานะผู้นำ พิจารณาการเติบโตของคนที่ท่านนำเช่นกัน ผู้นำของหน่วย โควรัมฐานะปุโรหิต และองค์การอื่นสามารถทบทวนตัวชี้วัดหลัก รายงานประจำไตรมาส และรายงานอื่นใน แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน เพื่อดูว่าจุดใดก้าวหน้า และจุดใดมีศักยภาพจะเติบโต
ความสำเร็จของท่านในฐานะผู้นำหลักๆ แล้ววัดได้จากความมุ่งมั่นของท่านในการช่วยเหลือบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้กลายเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ เพราะทุกคนมีสิทธิ์เสรี บางคนจึงอาจเลือกออกจากเส้นทางพันธสัญญา บางครั้งอาจทำให้ท่านท้อใจ แต่เมื่อท่านหันไปหาพระเจ้า พระองค์จะทรงหนุนใจและปลอบโยนท่าน (ดู แอลมา 26:27) ท่านจะรู้ได้ว่าพระเจ้าพอพระทัยความพยายามของท่านเมื่อท่านรู้สึกว่าพระวิญญาณทรงทำงานผ่านท่าน
4.3
สภาในศาสนจักร
พระบิดาบนสวรรค์ทรงกำหนดให้สภาเป็นส่วนสำคัญของการได้รับการเปิดเผย การตัดสินใจ และการทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ สภามีมาตั้งแต่ก่อนสร้างโลก เราแต่ละคนมีส่วนร่วมในสภาเหล่านี้ก่อนมาโลกนี้ ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:32; อับราฮัม 3:22–28.
สภาทุกระดับปกครองศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ตามรูปแบบดังกล่าว ตัวอย่างเช่น สภาของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ดู 5.1.1.1) ฝ่ายประธานภาค (ดู 5.2.1) ฝ่ายประธานสเตค และฝ่ายอธิการล้วนแล้วแต่เป็นสภา นอกจากสภาสเตคและสภาวอร์ดแล้ว ฝ่ายประธานแต่ละชุดขององค์การ โควรัม หรือชั้นเรียนของศาสนจักรก็เป็นสภาด้วย
พระเจ้าทรงสอนผู้นำของศาสนจักรให้ปรึกษาหารือกันในการทำงานของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 41:2–3) สภาเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาได้รับการเปิดเผยขณะพวกเขาพยายามเข้าใจความต้องการของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้าและวางแผนว่าจะช่วยตอบสนองความต้องการเหล่านั้นอย่างไร
4.4
หลักธรรมของสภาที่มีประสิทธิภาพ
หลักธรรมบางข้อของสภาที่มีประสิทธิภาพระบุไว้ในหมวดนี้ หลักธรรมเหล่านี้จะช่วยผู้นำในสภาศาสนจักรได้เช่นเดียวกับบิดามารดาในสภาครอบครัว
4.4.1
จุดประสงค์ของสภา
จุดประสงค์เบื้องต้นของสภาคือช่วยให้สมาชิกทำงานด้วยกันในการแสวงหาการทรงนำเกี่ยวกับเรื่องที่จะเป็นพรแก่บุคคลและครอบครัว (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:8–9) สภาเน้นย้ำเป็นพิเศษเรื่องการช่วยให้สมาชิกได้รับศาสนพิธีและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาแสวงหาการดลใจเช่นกันเกี่ยวกับการวางแผนและการประสานงานของพระเจ้าภายในขอบเขตความรับผิดชอบของพวกเขา
งานธุรการบางอย่าง เช่นการวางแผนปฏิทิน อาจไม่ต้องสนทนาในสภา งานส่วนใหญ่นี้สามารถจัดการผ่านการสื่อสารก่อนและหลังการประชุมได้
สมาชิกสภาเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อบุคคลและครอบครัวที่มีความต้องการเร่งด่วน สภาช่วยประสานความช่วยเหลือ ดูข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการบางอย่างเหล่านี้ พร้อมด้วยแหล่งช่วยเพื่อความเข้าใจและการช่วยเหลือจาก ความช่วยเหลือในชีวิต ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ
4.4.2
การเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมสภา
ฝ่ายประธานและสภาได้รับการคาดหวังให้ประชุมกันเป็นประจำ ฝ่ายประธานแต่ละองค์การและแต่ละสภามีผู้นำที่ได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ ผู้นำเหล่านี้แสวงหาการนำทางของพระเจ้าในการวางแผนการประชุมสภา พวกเขาขอข้อมูลจากสมาชิกสภาด้วยในการตัดสินใจว่าจะสนทนาเรื่องใด
ผู้นำให้สมาชิกสภาทราบเรื่องที่จะสนทนาล่วงหน้า สมาชิกสภาเตรียมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ สำหรับสภาวอร์ดและสภาสเตคการเตรียมส่วนใหญ่นี้เกิดขึ้นในการประชุมฝ่ายประธาน
สมาชิกสภาเตรียมตนเองทางวิญญาณให้พร้อมมีส่วนร่วมในการประชุมสภา พวกเขาพยายามเปิดรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ
4.4.3
การสนทนาและการตัดสินใจ
พระเจ้าตรัสว่า “ให้พูดทีละคนและให้ทุกคนฟังคำกล่าวของเขา, เพื่อว่าเมื่อทุกคนพูดเพื่อทุกคนจะรับการจรรโลงใจจากทุกคน, และเพื่อมนุษย์ทุกคนจะมีอภิสิทธิ์เท่าเทียมกัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122) หลักธรรมนี้ประยุกต์ใช้กับสภาต่างๆ ของศาสนจักร
ระหว่างการประชุมสภาผู้นำ (หรือคนที่ผู้นำมอบหมาย) อธิบายเรื่องที่จะพิจารณา จากนั้นผู้นำกระตุ้นให้สมาชิกสภาทุกคนสนทนากัน ซักถาม และขอความเห็น
ผู้นำกระตุ้นให้สมาชิกพูดอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ภูมิหลัง อายุ ประสบการณ์ และมุมมองที่หลากหลายของสมาชิกสภาทำให้สภามีคุณภาพมากขึ้น สมาชิกให้ข้อเสนอแนะ และฟังกันด้วยความเคารพ ขณะพยายามรู้พระประสงค์ของพระเจ้า วิญญาณของการดลใจและความเป็นหนึ่งเดียวกันจะเกิดขึ้น
ในสภาที่มีทั้งหญิงและชาย ผู้นำขอข้อมูลเชิงลึกและความเห็นจากทั้งสอง หญิงและชายมักมีทัศนะต่างกันอันทำให้เกิดดุลยภาพที่ต้องการ ชายและหญิงตัดสินใจได้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จมากขึ้นในการรับใช้พระเจ้าเมื่อพวกเขาเห็นค่าสิ่งที่แต่ละฝ่ายแบ่งปันได้และทำงานด้วยกัน
ผู้นำชี้นำการสนทนาของสภา แต่เขาควรฟังมากกว่าพูด เมื่อผู้นำสภาแสดงทัศนะของตนเร็วเกินไป จะขัดขวางสิ่งที่คนอื่นๆ แบ่งปันได้ เมื่อจำเป็นผู้นำสภาจะนำกลับเข้าสู่ประเด็นการสนทนาอย่างสุภาพ
หลังจากการสนทนาผู้นำอาจตัดสินใจดำเนินการต่อหรือเลื่อนการตัดสินใจออกไปก็ได้ขณะหาข้อมูลและการนำทางเพิ่มเติม การตัดสินใจควรได้รับข้อมูลจากการสนทนาและรับการยืนยันจากพระวิญญาณ กระบวนการของสภาช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจด้วยการดลใจที่อยู่นอกเหนือวิจารณญาณอันดีที่สุดของผู้นำ ผู้นำอาจส่งเรื่องให้อีกสภาหนึ่งได้เช่นกัน
บางครั้งสมาชิกสภาอาจรู้สึกไม่สบายใจกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นำอาจรอประชุมอีกครั้งเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมและแสวงหาการยืนยันทางวิญญาณและความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในบางกรณีสมาชิกสภาอาจต้องการพบกับผู้นำเป็นรายบุคคลเพื่ออธิบายข้อกังวลของเขา
4.4.4
ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
พระเจ้าทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27) สมาชิกสภาหมายมั่นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ในความปรารถนาและจุดประสงค์ พวกเขาพยายามเป็นหนึ่งเดียวกันในการสนทนาและการตัดสินใจ อีกทั้งหมายมั่นให้ “มีจิตใจเดียวและความคิดเดียว” ขณะทำงานด้วยกัน (โมเสส 7:18)
สมาชิกสภาควรหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การตัดสินโดยมิชอบ และการนินทา (ดู 3 นีไฟ 11:28–30) เมื่อพวกเขาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน พระบิดาบนสวรรค์จะทรงอวยพรความพยายามของพวกเขา
4.4.5
การปฏิบัติหน้าที่และภาระรับผิดชอบ
สมาชิกสภาวอร์ดทำงานส่วนใหญ่ของพวกเขาก่อนและหลังการประชุมสภา ระหว่างการประชุมพวกเขาแสวงหาการดลใจในการพัฒนาแผนเพื่อทำให้การตัดสินใจเกิดผล ผู้นำสภาเชื้อเชิญให้สมาชิกทำงานมอบหมายอันเกี่ยวเนื่องกับแผนเหล่านี้ให้ลุล่วง โดยปกติสมาชิกสภาจะเชื้อเชิญคนอื่นๆ ในองค์การของพวกเขาให้ช่วยเหลือ ไม่ควรมีบุคคลใดรับภาระทำงานมอบหมายมากเกินไป
สมาชิกสภารายงานเรื่องงานมอบหมายของตน โดยปกติความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้ต้องเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องและติดตามงานมอบหมาย
4.4.6
การรักษาความลับ
พึงปฏิบัติต่อข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดด้วยความเคารพ ผู้นำใช้ดุลพินิจเมื่อบอกข้อมูลส่วนตัวกับสภา โดยทั่วไปพวกเขาขออนุญาตสมาชิกก่อนบอกข้อมูลนี้
สภาเคารพความปรารถนาของทุกคนที่ขอให้รักษาความลับ สมาชิกสภาจะไม่บอกข้อมูลส่วนตัวนอกสภาเว้นแต่ต้องทำงานมอบหมายจากผู้นำสภาให้ลุล่วง
บางเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าจะนำมาพูดต่อหน้าทุกคนในสภา เมื่อเห็นสมควรผู้นำจะทบทวนเรื่องเหล่านี้กับสมาชิกสภาเป็นรายบุคคล หรืออาจส่งต่อบางเรื่องให้อีกสภาหนึ่ง