3
ความประพฤติของผู้สอนศาสนา
3.0
คำนำ
หมวดนี้พูดถึงมาตรฐานความประพฤติของผู้สอนศาสนาและคุณสมบัติเหมือนพระคริสต์ที่คาดหวังให้ท่านปฏิบัติและพัฒนาระหว่างเป็นผู้สอนศาสนาขณะท่านกลายเป็นสานุศิษย์ที่อุทิศตนมากขึ้นของพระเยซูคริสต์ ดังศาสดาพยากรณ์โมโรไนแนะนำ “[จำ] พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งตรัสไว้ว่าโดยงานของพวกเขาท่านจะรู้จักพวกเขา; เพราะหากงานของพวกเขาดี, พวกเขาก็ย่อมดีด้วย” (โมโรไน 7:5)
3.1
การประพฤติเหมือนพระคริสต์
สวดอ้อนวอนและทำงานเพื่อพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ดังอธิบายไว้ในพระคัมภีร์และใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา รวมทั้งความสำนึกคุณ ความกรุณา ความรัก ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และการเชื่อฟัง ท่านสามารถพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอดและความเพียรพยายามที่จริงใจของท่าน (ดู โมไซยาห์ 3:19)
เป็นคนมีน้ำใจ คิดบวก และหนุนใจผู้อื่น คำนึงถึงสถานการณ์ของกันและกัน โดยถามตนเองในทำนองนี้:
-
ดึกเกินไปหรือเช้าเกินไปไหมที่จะติดต่อคนนี้? จะเป็นการรบกวนเวลาส่วนตัวและเวลาครอบครัวอย่างไม่สมควรหรือไม่?
-
มีวิธีที่ฉันจะให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์นี้หรือไม่?
-
การกระทำหรือความคิดเห็นนี้จะทำให้ใครบางคนอับอาย กลัว หรือขุ่นเคืองได้หรือไม่?
-
อะไรเหมาะกับวัฒนธรรมนี้?
ท่านเป็นแขกในเขตที่ท่านรับใช้และควรปฏิบัติต่อผู้คนและสถานที่ด้วยความเคารพและความชื่นชม เคารพขนบธรรมเนียม ความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนา และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเขตของท่านอยู่เสมอ จงระวังอย่าให้การกระทำของท่านทำให้ใครขุ่นเคือง จำไว้ว่าสิ่งที่ท่านพูดและสิ่งที่ท่านทำอาจมีคนได้ยิน สังเกตเห็น และบันทึกไว้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหมวด 7.3 “เคารพผู้อื่น”
3.2
ความมีค่าควรในการเข้าพระวิหาร
พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ท่าน “เตรียมตัว, และชำระตนเองให้บริสุทธิ์; แท้จริงแล้ว, ทำให้ใจของเจ้าบริสุทธิ์, และชำระมือเจ้าและเท้าเจ้าให้สะอาดต่อหน้าเรา, เพื่อเราจะทำให้เจ้าสะอาด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:74) ส่วนหนึ่งของการเตรียมนี้รวมถึงการรักษาพันธสัญญาพระวิหารของท่านด้วย
3.2.1
พันธสัญญาพระวิหาร
การรักษาพันธสัญญาพระวิหารในเรื่องการเชื่อฟัง การเสียสละ และการอุทิศถวายจะเสริมพลังให้ท่านและช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
แม้ไม่มีพระวิหารในคณะเผยแผ่ของท่านแต่จงมีใบรับรองพระวิหารที่ไม่หมดอายุเพื่อช่วยเตือนท่านให้นึกถึงพันธสัญญาของท่าน ขอสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารกับประธานคณะเผยแผ่ก่อนใบรับรองของท่านหมดอายุ
3.2.2
การนมัสการในพระวิหาร
หากพระวิหารอยู่ใกล้ ประธานคณะเผยแผ่อาจให้ท่านและผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ เข้าพระวิหารเป็นครั้งคราวในวันเตรียม
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหมวด 7.4 “การเข้าพระวิหาร”
3.3
กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ
พันธสัญญาพระวิหารหนึ่งข้อที่ท่านทำไว้คือเชื่อฟังกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ จงทำสุดความสามารถเพื่อป้องกันตัวท่าน คู่ของท่าน และคนอื่นๆ จากการล่อลวงทางเพศที่อาจนำไปสู่การละเมิดพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์นี้ การทำสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎแห่งความบริสุทธิ์อาจถึงกับเป็นความผิดทางอาญาได้ในบางพื้นที่
ท่านควรหลีกเลี่ยงความคิดหรือการกระทำใดก็ตามที่จะแยกท่านจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า นี่รวมถึงการล่วงประเวณี การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน กิจกรรมทางเพศกับเพศเดียวกัน กิจกรรมทางเพศที่ใช้ปาก การปลุกเร้าความรู้สึกทางเพศ การสัมผัสที่ไม่เหมาะสม การส่งหรือรับข้อความ ภาพ หรือวีดิทัศน์ที่ผิดศีลธรรมหรืออนาจาร การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และการดูหรือการใช้สื่อลามก แต่ไม่จำกัดเพียงเท่านั้น (ดู 7.5.3) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (2011) “การกลับใจ” หน้า 28–29
พระเจ้าทรงสอนว่า “ซาตานหมายมั่นจะทำลายเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:57) และทำให้ท่าน “เศร้าหมองเหมือนตัวเขา” (2 นีไฟ 2:27) เขาจะใช้คน สื่อที่ไม่เหมาะสม และการล่อลวงอื่นเพื่อหลอกท่าน ล่อท่านให้ติดกับ ข่มขู่ท่าน และทำให้ท่านอับอาย ตัวอย่างเช่น จงระวังเป็นพิเศษกรณีมีคนเรียกร้องให้ท่านจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการไม่เปิดเผยภาพและข่าวสารที่ไม่เหมาะสมหรือน่าอับอายที่ท่านอาจเคยส่งให้พวกเขา
หากท่านกำลังมีปัญหากับการรักษามาตรฐานเหล่านี้หรือหากมีคนกำลังข่มขู่ท่าน ให้ทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและพูดคุยกับประธานคณะเผยแผ่ของท่านทันที
3.4
ความซื่อตรง
ความมีค่าควรในการเข้าพระวิหารรวมถึงการเป็นคนซื่อตรงในการติดต่อทุกอย่างกับผู้อื่น ในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ความซื่อตรงรวมถึงการ:
-
พูดความจริง โดยเฉพาะกับประธานคณะเผยแผ่ของท่านเกี่ยวกับความประพฤติ ประจักษ์พยาน นิสัยการทำงาน สุขภาพกาย และสุขภาพอารมณ์ของท่าน
-
ให้รายงานที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานและการใช้เวลาของท่านตลอดสัปดาห์ในรายงานประจำสัปดาห์ของท่าน
-
ใช้เงินทุนเผยแผ่อย่างมีความรับผิดชอบและส่งใบเสร็จถูกต้อง
-
เป็นคนไว้ใจได้และไม่ให้รายงานเท็จหรือข้อมูลเท็จเกี่ยวกับบุคคลใด รวมทั้งคู่ของท่าน
-
เคารพผู้อื่นโดยไม่ยืม หยิบฉวย หรือใช้ของส่วนตัวของเขา (รวมทั้งเสื้อผ้า หนังสือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องประดับ) โดยไม่ได้รับอนุญาต
3.5
การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “บัญญัติของเราคือให้พวกท่านรักกันและกันเหมือนอย่างที่เรารักท่าน” (ยอห์น 15:12) เลือกทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและปฏิบัติตนให้สุภาพ ปลอดภัย และเหมาะกับสถานการณ์
3.5.1
มาตรฐานทั่วไปในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่
สร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับคนที่ท่านรับใช้ รวมทั้งคนที่ท่านสอน ผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ และสมาชิกในท้องที่ เป็นมืออาชีพ มีน้ำใจ และปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้:
-
อยู่กับคู่ตลอดเวลา
-
อย่าให้คำปรึกษาผู้ใหญ่เกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว ส่งต่อสมาชิกให้อธิการหากสมาชิกต้องการคำปรึกษา หากท่านรู้ว่าคนนับถือศาสนาอื่นต้องการความช่วยเหลือเรื่องปัญหาส่วนตัว ให้พูดคุยกับประธานคณะเผยแผ่ของท่าน
-
หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายทางร่างกายหรือทางวิญญาณ หรือที่อาจทำให้คนเข้าใจผิด
-
อย่าจีบหรือคบหากับใครอย่างไม่เหมาะสม
-
พึงแน่ใจอยู่เสมอว่ามีผู้ใหญ่อีกคนที่เป็นเพศเดียวกับท่านอยู่กับท่านและคู่เมื่อสอน (ต่อหน้า) หรือเดินทางกับเพศตรงข้าม
-
ใช้ภาษาที่ภูมิฐานและหลีกเลี่ยงการใช้คำสแลง ใช้คำนำหน้าชื่อที่เหมาะสมเมื่อพูดถึงผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “เอ็ลเดอร์” หรือ “ซิสเตอร์” เมื่อพูดถึงผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ เพื่อแสดงการให้เกียรติการเรียกของพวกเขา
3.5.2
มาตรฐานทั่วไปในการปฏิสัมพันธ์กับเด็ก
เพื่อความปลอดภัยของท่านและความปลอดภัยของเด็ก พึงปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด:
-
อยู่กับคู่ตลอดเวลา
-
อย่าอยู่ลำพังกับคนที่อายุน้อยกว่า 18 ปี
-
ระมัดระวังในการเล่นกับกลุ่มเด็ก เช่นเล่นฟุตบอลหรือกีฬาอื่นด้วยกัน อย่าทำสิ่งใดที่อาจทำให้ผู้อื่นตีความการกระทำของท่านผิดๆ
-
เมื่ออยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ขออนุญาตบิดามารดาก่อนปฏิสัมพันธ์กับเด็ก
-
อย่าจั๊กจี้เด็ก เปลี่ยนผ้าอ้อม อุ้มเด็ก หรือให้เด็กนั่งตัก การกระทำเหล่านี้และการกระทำอื่นๆ อาจดูไม่เหมาะสมหรือทำให้ผู้อื่นตีความผิด
-
ปฏิเสธการเป็นพี่เลี้ยงเด็กทุกวัยอย่างสุภาพ
-
อย่าเข้าร่วมกิจกรรมการรับใช้ที่ท่านจะอยู่ลำพังกับเด็ก (ดู 7.2.2)
3.6
สันทนาการ
ท่านสามารถเรียนรู้ที่จะรักคนที่ท่านรับใช้ได้มากขึ้นโดยสนใจวัฒนธรรม ประวัติ ดินแดน และประเพณีของพวกเขาอย่างจริงใจผ่านการไปเยือนสถานที่น่าสนใจในท้องที่ โดยปกติจะไปในวันเตรียม (ดู 2.5)
ขอให้คนที่ท่านพบแนะนำสถานที่ปลอดภัยและเหมาะจะไปเยือน เลือกกิจกรรมที่ยกระดับจิตใจและช่วยให้ท่านผ่อนคลาย สถานที่ที่เหมาะจะไปเยือนอาจได้แก่ (แต่ไม่จำกัดเฉพาะ) สถานที่ต่อไปนี้:
-
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
-
พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
-
สวนสัตว์และสวนสาธารณะ
3.6.1
มาตรฐานสันทนาการทั่วไป
หลีกเลี่ยงการชุมนุมเป็นผู้สอนศาสนากลุ่มใหญ่ในที่สาธารณะ ปกติแล้วนี่หมายความว่าท่านไม่ควรรวมกลุ่มกันใหญ่กว่าขนาดดิสตริกท์ของท่าน การทำเช่นนั้นจะดึงดูดความสนใจโดยไม่จำเป็นหรือทำให้คนรู้สึกกลัว
ใช้รถของคณะเผยแผ่สำหรับกิจกรรมที่ประธานคณะเผยแผ่อนุญาตเท่านั้น
ออกกำลังกายและหมั่นทำให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมทำงานเผยแผ่ศาสนาอยู่เสมอ เล่นกีฬาในลักษณะที่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเหนื่อยล้ามากเกินไป
3.6.2
กิจกรรมที่ไม่อนุญาต
ปลอดภัยเสมอและใช้สามัญสำนึกตลอดเวลาเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ เพราะผู้สอนศาสนาเคยได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะเข้าร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย ท่านจึงไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในช่วงงานเผยแผ่ของท่าน กิจกรรมเหล่านี้รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ:
-
กีฬาที่ต้องปะทะ ยิมนาสติก กีฬาฤดูหนาว และกีฬาทางน้ำ (รวมถึงการว่ายน้ำ)
-
การปีนเขาและการปีนโขดหิน
-
การขี่มอเตอร์ไซค์และขี่ม้า
-
การนั่งเรือส่วนตัวหรือเครื่องบินส่วนตัว
-
การจับอาวุธปืน
-
การใช้ดอกไม้ไฟหรือวัตถุระเบิดทุกรูปแบบ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยในสันทนาการได้จากวีดิทัศน์นี้
3.6.3
สื่อ
เลือกสื่อที่เหมาะสมและได้รับอนุมัติ โดยทั่วไปหมายถึงการหลีกเลี่ยง:
-
สื่อสังคม แอปพลิเคชันมือถือ และสื่อออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้สอนพระกิตติคุณหรือติดต่อสื่อสารกับครอบครัวของท่าน (ดู 3.9)
-
โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม และวีดิทัศน์ที่ไม่อนุญาตให้ดู
-
หนังสือเสียง เพลง และสิ่งพิมพ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานงานเผยแผ่
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากมาตรฐานเทคโนโลยีของผู้สอนศาสนา (ดู 7.5) พูดคุยกับผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านหากมีคำถาม
3.6.4
เครื่องดนตรี
ท่านอาจนำเครื่องดนตรีมาที่สนามเผยแผ่หากได้รับอนุญาตจากประธานคณะเผยแผ่ เครื่องดนตรีควรมีราคาไม่แพง ง่ายต่อการขนย้าย และตรงกับข้อกำหนดของสัมภาระ ประเภทของเครื่องดนตรีควรเหมาะสมกับการประชุมในวันอาทิตย์ (ดู คู่มือทั่วไป, 19.4.2)
ท่านอาจฝึกเล่นเครื่องดนตรีในวันเตรียมและเวลาอื่นๆ ที่ประธานคณะเผยแผ่กำหนด เมื่อเล่นเครื่องดนตรี ให้คำนึงถึงเพื่อนบ้านและผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อพวกเขา ประเภทของดนตรีที่ท่านเล่นกับเครื่องดนตรีควรมีความศักดิ์สิทธิ์ ไพเราะ และเหมาะสมกับงานเผยแผ่
3.7
ภาพถ่ายและวีดิทัศน์
ภาพถ่ายสามารถช่วยท่านแบ่งปันประสบการณ์งานเผยแผ่กับคนทางบ้านและจะเป็นสิ่งเตือนใจที่มีความหมายให้นึกถึงงานเผยแผ่ของท่าน เมื่อถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอ จงระวังอย่าทำให้ใครอับอาย รวมทั้งผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ และคนที่มีปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม หรือร่างกาย บางคนอาจไม่ต้องการให้ท่านหรือคนอื่นเห็น แบ่งปัน หรือนึกถึงสิ่งที่เห็นในภาพ ขออนุญาตก่อนถ่ายและแบ่งปันภาพหรือวีดิทัศน์ ในบางคณะเผยแผ่ไม่อนุญาตให้แบ่งปันภาพคนที่ท่านสอนกับสาธารณชนเนื่องด้วยกฎหมายความเป็นส่วนตัวในท้องที่
การถ่ายภาพบางอย่างอาจเป็นความผิดหรือผิดกฎหมายในบางวัฒนธรรมและบางแห่ง ตัวอย่างได้แก่การถ่ายภาพของ:
-
อาคารรัฐบาลและอาคารทหารบางแห่ง
-
พื้นที่รักษาความปลอดภัยเช่น สนามบิน ช่องตรวจหนังสือเดินทาง จุดผ่านแดน กงสุล และสถานทูต
-
เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ทหาร
-
ผู้คน อาคาร หรือกิจกรรมของศาสนาอื่น
-
เรื่องที่อ่อนไหวทางวัฒนธรรม รวมถึงคนแต่งชุดพื้นเมือง
-
คนที่ยากจน เจ็บป่วย หรือพิการ
แนวทางทั่วไปคืออย่าถ่ายภาพวัตถุสิ่งของ สถานที่ หรือบุคคลที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีคำถามให้พูดคุยกับผู้นำคณะเผยแผ่ของท่าน
ศาสนจักรมีนโยบายเฉพาะเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่อาคารประชุมด้วย:
-
อย่าถ่ายรูปหรือบันทึกวิดีโอในห้องนมัสการของอาคารประชุม
-
อย่าถ่ายภาพ ส่ง หรือบันทึกศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งศีลระลึก บัพติศมา และการยืนยัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางในการถ่ายภาพและวีดิทัศน์ได้จากวีดิทัศน์นี้
3.8
การใช้เทคโนโลยี
พระเจ้าทรงประกาศว่า “ดูเถิด, เราจะเร่งงานของเราเมื่อถึงเวลา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:73) เทคโนโลยีสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้แบ่งปันคำสอนของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และควรใช้อย่างชอบธรรม
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหมวด 7.5 “เทคโนโลยี”
3.9
การติดต่อสื่อสารกับครอบครัว ผู้นำคณะเผยแผ่ และเพื่อนๆ
ครอบครัว ผู้นำคณะเผยแผ่ และเพื่อนๆ ของท่านจะสนับสนุนท่านได้มากในงานเผยแผ่ ใช้วันเตรียมบางส่วนติดต่อสื่อสารกับพวกเขา สมาชิก และผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่จากเขตอื่น
จัดลำดับความสำคัญของเวลาในวันเตรียมโดยติดต่อสื่อสารกับบิดามารดาของท่านเป็นอันดับแรกและประธานคณะเผยแผ่ของท่านเป็นอันดับสอง
ท่านอาจจะอ่านการติดต่อสื่อสารที่ได้รับระหว่างสัปดาห์เมื่อใดก็ได้ที่ท่านเห็นควรทำเช่นนั้น ท่านควรตอบการติดต่อสื่อสารจากบ้านเฉพาะวันเตรียมเท่านั้นเว้นแต่เป็นเหตุฉุกเฉิน
3.9.1
ครอบครัว
ท่านอาจติดต่อสื่อสารกับครอบครัวท่านในวันเตรียมประจำสัปดาห์ผ่านจดหมาย อีเมล การส่งข้อความออนไลน์ โทรศัพท์ และวิดีโอแชท
ใช้วิธีติดต่อสื่อสารที่อนุมัติ เหมาะกับท่านและครอบครัวมากที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งนี้เพื่อจะยังอยู่ในงบรายเดือนของท่าน ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ สถานที่ และกำหนดเวลา
หากบิดามารดาของท่านอยู่คนละที่ ท่านอาจติดต่อแยกกันในวันเตรียม แต่ไม่ได้คาดหวังให้ท่านโทรหรือวิดีโอแชทกับบิดามารดาทุกสัปดาห์
นอกจากนี้ท่านควรติดต่อสมาชิกครอบครัวเนื่องในโอกาสพิเศษอื่นๆ ด้วย เช่น คริสต์มาส วันแม่ วันพ่อ วันเกิดของบิดามารดา และวันหยุดอื่นๆ ที่สำคัญในประเทศหรือวัฒนธรรมบ้านเกิดของท่าน
ท่านควรเป็นฝ่ายเริ่มการสนทนาผ่านข้อความ การส่งข้อความทางออนไลน์ โทรศัพท์ และวิดีโอแชท หากครอบครัวท่านต้องการติดต่อท่าน พวกเขาควรติดต่อประธานคณะเผยแผ่ก่อน
เมื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัวทางโทรศัพท์หรือวิดีโอแชท จงฉลาดในการกำหนดระยะเวลาโทรของท่าน ในการตัดสินใจเหล่านี้ท่านควรคำนึงถึงคู่และจดจำจุดประสงค์ของการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของท่าน
3.9.2
ประธานคณะเผยแผ่
เขียนจดหมายถึงประธานคณะเผยแผ่ทุกสัปดาห์ในวันเตรียม โดยทั่วไปท่านจะส่งจดหมายโดยใช้ Missionary Portal
เฉพาะประธานคณะเผยแผ่ของท่านเท่านั้นจะอ่านจดหมายประจำสัปดาห์ของท่าน ไม่ปิดบังและซื่อตรงเพื่อเขาจะเข้าใจข้อกังวลที่ท่านมีตลอดจนให้คำแนะนำและคำติชมที่เกี่ยวข้องได้ โปรดรับรู้ว่าเขาจะอ่านทุกฉบับ แต่ไม่สามารถตอบทุกฉบับได้
หากท่านได้รับข่าวสำคัญจากทางบ้านที่ต้องตอบกลับทันที ให้แจ้งประธานคณะเผยแผ่และตรวจสอบกับเขาก่อนจะติดต่อครอบครัวท่านในวันอื่นที่ไม่ใช่วันเตรียมหรือเนื่องในโอกาสพิเศษ
3.9.3
การติดต่อสื่อสารกับผู้คนในคณะเผยแผ่
เมื่อท่านติดต่อกับผู้คนจากเขตอื่นในคณะเผยแผ่ พึงแน่ใจว่าการสื่อสารของท่านมุ่งเน้นไปที่ทำให้จุดประสงค์ในการเป็นผู้สอนศาสนาของท่านเกิดสัมฤทธิผล ปฏิบัติตามมาตรฐานในหมวด 3.5.1 “มาตรฐานทั่วไปในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่” และใน มาตรการคุ้มครองการใช้เทคโนโลยี และจำไว้ว่าต้องให้คู่ของท่านอยู่ด้วยเมื่อท่านเข้าร่วมในการสื่อสารเหล่านี้
3.9.4
พัสดุและจดหมาย
คณะเผยแผ่บางแห่งอาจใช้ที่อยู่สำนักงานคณะเผยแผ่รับจดหมายและพัสดุ และใช้เป็นที่อยู่ตอบกลับของท่าน การปฏิบัติเช่นนี้จะคุ้มครองความปลอดภัยของท่านและช่วยป้องกันไม่ให้จดหมายถูกขโมยและสูญหายเนื่องจากการย้าย โปรดทำตามแนวทางทั้งหมดที่ท่านได้รับในกรณีดังกล่าว
3.9.5
ประสบการณ์งานเผยแผ่ศาสนากับคนทางบ้าน
ท่านอาจรู้จักคนทางบ้านซึ่งมีประสบการณ์ส่วนตัวที่อาจช่วยคนบางคนที่ท่านกำลังสอนในคณะเผยแผ่ของท่าน ท่านควรขออนุญาตประธานคณะเผยแผ่ก่อนจะให้บุคคลนั้นแบ่งปันประสบการณ์และประจักษ์พยานของเขา หารือกับคนนั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะใช้ติดต่อสื่อสารได้ดีที่สุด
หากครอบครัวท่านหรือเพื่อนๆ จากทางบ้านต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ประธานคณะเผยแผ่ของท่านอาจอนุญาตให้ท่านสอนพวกเขาโดยใช้เทคโนโลยี (ดู 7.5.4)
3.9.6
การเยี่ยมเป็นส่วนตัวจากครอบครัวและเพื่อนๆ
โดยทั่วไปแล้วครอบครัวและเพื่อนๆ ไม่ควรมาเยี่ยมท่านในช่วงงานเผยแผ่ของท่าน แต่ประธานคณะเผยแผ่อาจอนุมัติข้อยกเว้นภายใต้สภาวการณ์พิเศษ การเยี่ยมเหล่านี้ควรสั้นๆ ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ผู้สอนศาสนาของท่าน และไม่ควรรบกวนคู่ ผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ หรือคนที่ท่านสอน ดูแลไม่ให้การเยี่ยมดังกล่าวดึงความคิดท่านออกห่างจากการรับใช้หรือก่อปัญหาการเงินให้ครอบครัวท่าน
3.9.7
เหตุฉุกเฉิน
หากครอบครัวท่านบอกท่านเรื่องเหตุฉุกเฉินที่บ้าน จงบอกผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านเพื่อพวกเขาจะให้การสนับสนุนท่านได้ ผู้นำคณะเผยแผ่จะติดต่อครอบครัวท่านหากท่านมีสถานการณ์ฉุกเฉิน