คลังค้นคว้า
บทที่ 113: 2 โครินธ์ 1–3


บทที่ 113

2 โครินธ์ 1–3

คำนำ

เปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์และอธิบายว่าพวกเขาจะปลอบโยนผู้อื่นได้อย่างไร เปาโลตักเตือนพวกเขาด้วยว่าต้องให้อภัยคนบาปที่อยู่ในการประชุมของพวกเขา เปาโลสอนวิสุทธิชนว่าหากพวกเขาหันไปหาพระเจ้า พวกเขาจะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 โครินธ์ 1

เปาโลสอนวิธีปลอบโยนผู้อื่นให้วิสุทธิชนชาวโครินธ์

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่บางคนที่พวกเขารู้จักประสบกับการทดลองที่ยากลำบากหรือความทุกข์

  • ท่านทำอะไรเพื่อช่วยเขา

  • ท่านเคยต้องการปลอบโยนคนบางคนระหว่างการทดลองแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 2 โครินธ์ 1 เพื่อจะช่วยพวกเขารู้วิธีปลอบโยนผู้อื่นในการทดลองและความทุกข์ของพวกเขา

อธิบายว่าหลังจากเปาโลเขียน 1 โครินธ์ มีการจลาจลเกิดขึ้นในเมืองเอเฟซัสซึ่งเกิดจากคำสอนของเขา (ดู กิจการของอัครทูต 19:23–41 หมายเหตุ: แคว้นเอเชียเป็นจังหวัดของโรมันซึ่งเป็นตุรกีในสมัยปัจจุบัน) เปาโลออกจากเมืองเอเฟซัสไปที่แคว้นมาซิโดเนีย ทิตัสนำข่าวมาบอกเขาว่าจดหมายของเปาโลฉบับก่อนหน้านี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากวิสุทธิชนในโครินธ์ เปาโลเรียนรู้ด้วยว่าวิสุทธิชนกำลังประสบกับความยากลำบากและผู้สอนปลอมในเมืองโครินธ์ทำให้หลักคำสอนที่แท้จริงของพระคริสต์เสื่อม เปาโลเขียน 2 โครินธ์เพื่อปลอบโยนวิสุทธิชนและเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้สอนซึ่งไม่เป็นที่ต้อนรับเหล่านี้

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 2 โครินธ์ 1:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกวิสุทธิชนเกี่ยวกับความยากลำบากของพวกเขา

  • เปาโลบอกอะไรวิสุทธิชนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าใน ข้อ 3 ที่อาจปลอบใจพวกเขาขณะเผชิญความยากลำบาก

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 4 เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้เมื่อเราได้รับการปลอบโยนจากพระบิดาบนสวรรค์ (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ เมื่อพระบิดาบนสวรรค์ทรงปลอบโยนเราขณะเผชิญความยากลำบาก เราสามารถช่วยให้ผู้อื่นได้รับการปลอบโยนจากพระองค์)

  • เมื่อท่านได้รับการปลอบโยนจากพระผู้เป็นเจ้าระหว่างการทดลองทำให้ท่านช่วยผู้อื่นรับการปลอบโยนจากพระองค์อย่างไร (ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านขณะที่นักเรียนนึกถึงประสบการณ์ของพวกเขาเอง)

สรุป 2 โครินธ์ 1:6–8 โดยอธิบายว่าเปาโลบอกวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์เกี่ยวกับความยากลำบากที่โหดร้ายและอันตรายถึงชีวิตที่เขาหรือคู่ของเขาเคยประสบขณะสั่งสอนพระกิตติคุณในเอเฟซัส

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 1:9–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ช่วยเปาโลแและคู่ของเขาระหว่างการทดลองของพวกเขา

  • อะไรที่ช่วยเปาโลแและคู่ของเขาระหว่างการทดลองของพวกเขา

  • ท่านสามารถระบุความจริงอะไรใน ข้อ 11 เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถช่วยคนที่กำลังประสบกับการทดลอง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ คำสวดอ้อนวอนของเราสามารถช่วยคนที่กำลังประสบกับการทดลองได้)

  • คำสวดอ้อนวอนของเราช่วยคนที่กำลังประสบกับการทดลองได้อย่างไร

  • การสวดอ้อนวอนของผู้อื่นช่วยท่านระหว่างการทดลองที่ท่านประสบอย่างไร

สรุป 2 โครินธ์ 1:12–24 โดยอธิบายว่าเปาโลชื่นชมยินดีในคนที่รับคำแนะนำที่เขาให้ในสาส์นฉบับแรกของเขา ใน ข้อ 15–20 เปาโลตอบคนที่จับผิดเขาเมื่อเขาเปลี่ยนแผนไปเยี่ยมคนเหล่านั้น ผู้ที่วิจารณ์เปาโลบางคนดูเหมือนจะพูดว่าเนื่องจากเปาโลเปลี่ยนแผนการเดินทางของตนเอง พวกเขาจึงไม่สามารถไว้ใจเปาโลหรือคำสอนของเขาอีกต่อไป เปาโลประกาศว่าข่าวสารของพระกิตติคุณเป็นความจริงไม่ว่าเขาจะเปลี่ยนแผนหรือไม่

2 โครินธ์ 2

เปาโลตักเตือนวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ให้อภัยคนบาป

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่มีคนทำร้ายพวกเขาหรือสร้างความขุ่นเคืองใจให้พวกเขาหรือคนที่พวกเขารัก

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยบุคคลนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 2 โครินธ์ 2 ที่จะช่วยพวกเขารู้เหตุผลว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้อภัยคนทั้งปวง

เตือนนักเรียนว่าในจดหมายฉบับแรกของเปาโลถึงชาวโครินธ์เขาเคยตีสอนชาวโครินธ์เรื่องการไม่เชื่อฟังและขาดศรัทธา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 2:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลหวังว่าวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์จะรู้เกี่ยวกับการตีสอนของเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 เปาโลต้องการให้วิสุทธิชนรู้ถึงแรงจูงใจของเขาในการตีสอนคนเหล่านั้น

  • การตีสอนหรือการแก้ไขเป็นหลักฐานของความรักที่คนบางคนมีต่อเราได้อย่างไร

สรุป 2 โครินธ์ 2:5–6 โดยอธิบายว่าเปาโลเขียนเกี่ยวกับสมาชิกศาสนจักรที่ได้ทำบาปต่อสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ และทำให้พวกเขาทุกข์โศก ด้วยเหตุนี้ ศาสนจักรจึงลงโทษทางวินัยชายคนนี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 2:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลพูดว่าวิสุทธิชนควรปฏิบัติต่อชายคนนี้อย่างไร

  • วิสุทธิชนควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อชายคนนี้ที่ทำให้เกิดความทุกข์โศกอย่างมาก

อธิบายว่าแม้ชายคนนี้ทำบาป แต่ค่าของจิตวิญญาณของเขายิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 18:10) เปาโลตักเตือนให้วิสุทธิชนให้อภัย ปลอบโยน และรักชายคนนี้เพื่อช่วยให้เขากลับใจ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 2 โครินธ์ 2:9–11 ในใจโดยมองหาอีกเหตุผลหนึ่งที่เปาโลพูดว่าวิสุทธิชนควรให้อภัยผู้อื่น

  • ตามที่เปาโลสอนวิสุทธิชนใน ข้อ 11อะไรคืออีกเหตุผลหนึ่งที่เราควรให้อภัยผู้อื่น (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ ถ้าเราไม่ให้อภัยผู้อื่น ซาตานจะได้เปรียบเรา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงนี้ใน ข้อ 11)

ชี้ให้เห็นว่าการให้อภัยไม่ได้หมายความว่าคนบาปจะไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง และไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมให้ตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่คนจะข่มเหงเราต่อไป แต่การให้อภัยผู้อื่นหมายถึงการปฏิบัติด้วยความรักต่อคนที่ข่มเหงเราและไม่มีความรู้สึกเคียดแค้นหรือโกรธพวกเขา เราได้รับบัญชาที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ให้อภัย,” scriptures.lds.org; คพ. 64:9–11)

  • ท่านคิดว่าซาตานได้เปรียบเราเมื่อเราไม่ให้อภัยผู้อื่น อย่างไร

เป็นพยานถึงความสำคัญของการให้อภัยผู้อื่น ขอให้นักเรียนนึกถึงคนบางคนที่พวกเขาอาจจำเป็นต้องให้อภัย เชื้อเชิญให้พวกเขาตั้งเป้าหมายในการให้อภัยบุคคลคนนี้เพื่อซาตานจะไม่ได้เปรียบพวกเขา

อธิบายว่าเราอ่านใน 2 โครินธ์ 2:14 เปาโลเขียนว่าเขาขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรง “นำ [เขา] ด้วยความมีชัยในพระคริสต์” เสมอมาแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

2 โครินธ์ 3

เปาโลสอนวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ว่าขณะที่พวกเขาหันไปหาพระเจ้า พวกเขาจะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

อธิบายว่าระหว่างที่เปาโลไม่อยู่ในเมืองโครินธ์ ผู้สอนปลอมบางคนเริ่มต่อต้านคำสอนของเปาโลและพยายามใส่ร้ายเปาโลโดยบอกผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสว่าพวกเขายังคงจำเป็นต้องทำตามกฎของโมเสส สรุป 2 โครินธ์ 3:1 โดยอธิบายว่าเพื่อตอบคนที่พยายามใส่ร้ายเขา เปาโลถามสมาชิกของเมืองโครินธ์โดยใช้วาทศิลป์ว่าเขาจำเป็นต้องแสดง “[จดหมาย] แนะนำตัว” ที่บอกถึงอุปนิสัยและความชอบธรรมของเขาในฐานะอัครสาวกที่แท้จริงคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์หรือไม่ (อธิบายว่าในสมัยของเปาโล ผู้ที่เข้ามาใหม่ในชุมชนต้องมีจดหมายแนะนำตัวกับพวกเขา จดหมายเหล่านี้แนะนำผู้ที่มาใหม่และยืนยันอุปนิสัยที่ดีของพวกเขา)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 3:2–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกว่าใช้เป็นจดหมายแนะนำตัวของเขา

  • เปาโลใช้อะไรเป็นจดหมายแนะนำตัวของเขา (ชีวิตที่เปลี่ยนไปของวิสุทธิชนเป็นเหมือนสาส์นจากพระคริสต์พระองค์เอง)

  • วลี “ให้ทุกคนรู้และอ่าน” ใน ข้อ 2 หมายความว่าอย่างไร (หลายคนจะรู้จักศาสนจักรและตัดสินความจริงของศาสนจักรก่อนผ่านความประพฤติส่วนตัวและแบบอย่างของสมาชิกศาสนจักร)

ชี้ให้เห็นวลี “ไม่ได้เขียนบนแผ่นศิลา แต่เขียนบนแผ่นดวงใจของมนุษย์” ใน ข้อ 3 อธิบายว่าในสมัยของโมเสส พระบัญญัติเขียนไว้บนแผ่นศิลา เปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนชาวโครินธ์ว่า ผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระบัญญัติเขียนไว้ในใจของพวกเขา

สรุป 2 โครินธ์ 3:5–13 โดยอธิบายว่าเปาโลให้เหตุผลว่าหากกฎเก่าของโมเสส ซึ่งจางหายไปแล้ว มีรัศมีภาพด้วยตัวมันเอง รัศมีภาพของพันธสัญญาพระกิตติคุณอันเป็นนิจย่อมยิ่งใหญ่กว่านั้น เปาโลเตือนวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ว่าโมเสสนำเอาผ้าคลุมใบหน้าเขาไว้เมื่อเขาลงมาจากการพูดคุยกับพระเจ้าบนภูเขาซีนายเพราะลูกหลานของอิสราเอลกลัวรัศมีภาพที่ส่องจากใบหน้าของเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 3:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม มองหาว่าเปาโลเปรียบเทียบชาวอิสราเอลที่กลัวรัศมีภาพส่องจากใบหน้าของโมเสสกับชาวยิวในสมัยของเขาอย่างไร

  • เปาโลเปรียบเทียบชาวอิสราเอลที่ขอให้โมเสสใส่ผ้าคลุมหน้ากับชาวยิวในสมัยของเขาอย่างไร

  • วลี “ความคิดของพวกเขามืดมัวไป” ใน ข้อ 14 และ “[พวกเขามี] ผ้าคลุม … ปิดบังใจของเขาไว้” ใน ข้อ 15 น่าจะหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 3:16–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสัญญาว่าจะนำเอาผ้าคลุมแห่งความเข้าใจผิดออกไปจากจิตใจและความคิดของผู้คน ชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธแก้ไขประโยคนี้ “ถ้าใครหันมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า” ใน ข้อ 16 เป็น “ถ้าใจหันมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, 2 โครินธ์ 3:16)

  • ตามที่กล่าวไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ 2 โครินธ์ 3:16 ผู้คนต้องทำอะไรเพื่อให้ผ้าคลุมแห่งความเข้าใจผิดออกไป

เขียนบนกระดานว่า เมื่อเราหันใจเราไปหาพระเจ้า …

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 18 เกิดอะไรขึ้นกับคนที่หันไปหาพระเจ้าและทำให้ผ้าคลุมแห่งความเข้าใจผิดออกไป (อธิบายว่าวลี “เปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระฉายาของพระองค์โดยมีศักดิ์ศรีเป็นลำดับขึ้นไป” หมายถึงการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงที่เราได้รับผ่านพระวิญญาณที่จะช่วยเราเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น)

เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อให้อ่านว่า “เมื่อเราหันใจเราไปหาพระเจ้า เราจะมีพระวิญญาณ ซึ่งจะค่อยๆ ช่วยเราเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น”

  • ท่านคิดว่าการหันใจของเราไปหาพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาหนึ่งนาทีเพื่อเขียนรายการในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาถึงวิธีที่พวกเขาจะหันใจไปหาพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันรายการของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพระวิญญาณเปลี่ยนแปลงพวกเขาหรือบางคนที่พวกเขารู้จักอย่างไร ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีขึ้นเพื่อหันไปหาพระเจ้า ขอให้พวกเขาวางเป้าหมายเพื่อหันไปหาพระเจ้าเพื่อพวกเขาจะได้รับพระวิญญาณและเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

2 โครินธ์ 2:1–4 ผู้นำศาสนจักรตีสอนสมาชิกศาสนจักรเนื่องจากความรัก

ประธานบริคัม ยังก์อธิบายเหตุผลที่เขาตีสอนสมาชิกศาสนจักร

“ในบางครั้ง ข้าพเจ้าอาจจะดูเป็นคนเข้มงวดกับพี่น้องชายหลายคน บางครั้งข้าพเจ้าตีสอนพวกเขา แต่นั่นเป็นเพราะข้าพเจ้าหวังว่าพวกเขาจะดำเนินชีวิตเพื่อที่อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ดังเปลวไฟ จะประทับอยู่ในพวกเขาและอยู่รอบข้างพวกเขา” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 115)

2 โครินธ์ 2:5–11 ความสำคัญของการให้อภัยผู้อื่น

เราได้รับความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความรักและความเห็นใจของเปาโลจาก 2 โครินธ์ 2:5–11 เราไม่รู้ว่าผู้ล่วงละเมิดที่เปาโลพูดถึงเป็นคนที่ถูกกล่าวถึงใน 1 โครินธ์ 5:1 หรืออีกคนหนึ่ง—บางทีอาจจะเป็นครูสอนปลอมคนหนึ่งในเมืองโครินธ์ที่ต่อต้านเปาโลและคำสอนของเขา เปาโลกระตุ้นให้สมาชิกศาสนจักรให้อภัยชายคนนั้นและปลอบโยนเขาเพื่อว่าเขาจะไม่ “จมลงในความทุกข์มากมาย” (2 โครินธ์ 2:7)

2 โครินธ์ 3:1–2 คนบางคนตัดสินศาสนจักรจากแบบอย่างของสมาชิก

“หลายคนทั่วโลกมีความรู้สึกปรานีต่อศาสนจักรเนื่องจากการกระทำที่แสดงความเมตตาและการรับใช้ที่พวกเขาเห็นประจักษ์ในชีวิตของสมาชิกศาสนจักร (ดู 2 โครินธ์ 3:2)

“การประกาศของเปาโลว่าสมาชิกของศาสนจักรเป็นเหมือนสาส์น ‘ให้ทุกคนอ่าน’ แนะนำว่าความประพฤติส่วนตัวของสมาชิกศาสนจักรเป็นวิธีที่หลายๆ คนจะรู้จักศาสนจักรและตัดสินความเป็นจริงของศาสนจักรก่อน เช่นเดียวกับเจ้าของร้านที่ถูกตัดสินจากสินค้าที่เขาขาย ศาสนจักรก็เช่นกัน—และบางครั้งแม้แต่พระเยซูคริสต์—ทรงถูกตัดสินจากการดำเนินชีวิตของเรา เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี … สอนว่า ‘ในความหมายสุดท้าย พระกิตติคุณไม่ได้เขียนไว้บนแผ่นศิลาหรือในหนังสือพระคัมภีร์ แต่ในร่างของคนที่ซื่อสัตย์และเชื่อฟัง ดังนั้น วิสุทธิชนจึงเป็นสาส์นที่มีชีวิตของความจริง หนังสือที่ชีวิตของเขาเปิดไว้ให้ทุกคนอ่าน’ (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 2:414)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 395)