ดิจิทัลเท่านั้น
“ถึงเวลาเลิกขุ่นเคืองแล้ว”
“ความขุ่นเคืองเป็น การเลือก ที่เราทำ ไม่ใช่ สภาพ ที่บางคนหรือบางสิ่งยัดเยียดให้เรา”
ในแต่ละวันเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนกี่คน? เราอ่านข่าวสารหรือความคิดเห็นกี่ข้อความ? ไม่ว่าจะเป็นแบบเจอตัว ทางโทรศัพท์ หรือผ่านโซเชียลมีเดีย ตัวเลขอาจสูงเป็นพิเศษ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เราจะเจอใครบางคนที่จะพูดหรือทําบางสิ่งที่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อเราไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เมื่อได้รับสิทธิ์เสรี ท่านและข้าพเจ้าเป็นตัวแทน และในเบื้องต้นเราต้องกระทําและไม่เพียงแค่ถูกกระทํา การเชื่อว่าบางคนหรือบางสิ่ง ทำให้ เรารู้สึกขุ่นเคือง โกรธ เจ็บใจ หรือเจ็บแค้นจะบั่นทอนสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมของเราและเปลี่ยนเราเป็นวัตถุที่ถูกกระทำ แต่ในฐานะตัวแทน ท่านและข้าพเจ้ามีอำนาจที่จะกระทำและเลือกว่าเราจะตอบสนองอย่างไรต่อสถานการณ์ที่ทำให้ขุ่นเคืองหรือเจ็บใจ”
พิจารณาว่าท่านอาจทําอย่างไรในสถานการณ์ต่อไปนี้ที่โดยปกติผู้คนอาจขุ่นเคือง—และไตร่ตรองว่าท่านจะเลือกไม่ขุ่นเคืองได้อย่างไร:
-
ท่านเตรียมอาหารให้ผู้อื่นด้วยความปรารถนาดี ขณะรับประทานอาหารมีคนบอกว่าอาหารมีรสชาติเหม็นหืน
-
บางคนพูดกับคนกลุ่มหนึ่งว่าผมท่านดูยุ่งรุงรัง และคนอื่นๆ ก็หัวเราะ
-
ระหว่างการสนทนาที่โรงเรียนวันอาทิตย์ หลังจากท่านแบ่งปันประสบการณ์ทางวิญญาณที่ประทับใจแล้ว มีคนวิจารณ์คําพูดของท่าน
การเลือกวิธีปฏิบัติและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เจ็บปวดไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดี ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนให้เรานึกถึงจุดที่เราสามารถจดจ่อแทนได้ “เมื่อท่านทําการเลือก ข้าพเจ้าขอให้ท่านมองให้ไกล—ไกลถึงนิรันดร ให้พระเยซูคริสต์มาเป็นอันดับแรก เพราะชีวิตนิรันดร์ของท่านขึ้นอยู่กับศรัทธาที่ท่านมีในพระองค์และในการชดใช้ของพระองค์”
รากฐานอันเป็นหลักคำสอนในพระคริสต์
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการไม่ยอมให้คําพูดและการกระทําของผู้อื่นส่งผลกระทบต่อหน้าที่ของพระองค์ (ดู 1 นีไฟ 19:9) ระหว่างคําเทศนาบนภูเขา พระเยซูทรงสอนให้เรารักศัตรูของเราและทรงบัญชาให้เราดีพร้อม ซึ่งเป็นไปได้ผ่านการชดใช้ของพระองค์ (ดู มัทธิว 5)
เมื่อเราพยายามเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น เราจะได้รับพลังเสริมความสามารถและการเสริมสร้างความเข้มแข็งผ่านพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยให้เราเอาชนะความเจ็บปวดและความขุ่นเคืองของเรา
เอ็ลเดอร์เบดนาร์สอนว่า “โดยผ่านพลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ท่านและข้าพเจ้าจะได้รับพรให้หลีกเลี่ยงและเอาชนะความขุ่นเคืองได้”
จงเป็นนักสืบ
หลังจากได้รับความคิดเห็นหรือการแสดงท่าทีหยาบคาย เราอาจรู้สึกว่าจําเป็นต้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว อาจจะตอบโต้ด้วยความโกรธ หรือเก็บกลั้นอารมณ์ไว้จนทนไม่ไหว เราจะถอยออกมาก่อนแล้วระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?
แนวคิดหนึ่งคือเราต้องเป็นนักสืบให้กับตนเอง เราสามารถพยายามเข้าใจอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังความขุ่นเคือง มีการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือไม่? เรากําลังคิดด้วยสมองที่แจ่มใสหรือพลุ่งพล่านด้วยอารมณ์ไหม? เรากำลังตอบสนองต่อสิ่งใด?
เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เรามักแก้ตัวว่าความโกรธของเราเป็นความชอบธรรม การตัดสินของเราเชื่อถือได้และเหมาะสม … เรามีข้อยกเว้นเมื่อเราเองเป็นผู้ได้รับความขมขื่นเพราะเรารู้สึกว่าในกรณีของเรา เรามีข้อมูลทั้งหมดที่เราต้องการเพื่อมองคนอื่นอย่างเหยียดหยาม”
ถึงแม้การเป็นนักสืบให้กับตัวเราเองอาจต้องอาศัยการฝึกฝน แต่การเข้าใจสถานการณ์และอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นอาจช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด แทนที่จะรู้สึกถึงอารมณ์ด้านลบที่อาจดึงเราออกห่างจากพระองค์
หลังจากลองใช้กลยุทธ์นี้แล้ว บางครั้งสิ่งที่พูดหรือทําออกไปยังมีความเจ็บปวดอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้น เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าวว่า: “ข้อผูกมัดประการแรกของเราคือไม่ขุ่นเคือง และจากนั้นพูดคุยเป็นการส่วนตัว อย่างตรงไปตรงมา และโดยตรงกับบุคคลดังกล่าว วิธีนี้จะเชื้อเชิญการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ชี้แจงในสิ่งที่เข้าใจผิดและเข้าใจเจตนาที่แท้จริง”
สําหรับการสนับสนุนเพิ่มเติม อ่าน “Emotional Resilience Helps Us to Prepare for Emergencies” และหมวดย่อยต่อไปนี้ใน Emergency Preparedness Manual, และดูที่ emotional resilience course จาก Self-Reliance Services
ค้นหาสันติสุขวันนี้
เมื่อมีคนพูดหรือทําบางอย่างที่อาจทําให้ขุ่นเคือง เราสามารถพึ่งพาคําเตือนของเอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟได้:
“เราต้องตระหนักว่าเราทุกคนไม่ดีพร้อม—ว่าเราเป็นขอทานต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า …
“เพราะเราทุกคนพึ่งพาพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เราจะปฏิเสธพระคุณที่เราปรารถนาอย่างยิ่งนั้นต่อผู้อื่นได้อย่างไร? พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราไม่ควรให้อภัยหรอกหรือตราบที่เรายังปรารถนาที่จะได้รับการให้อภัย?”
ท้ายที่สุด การเยียวยาที่แท้จริงเกิดขึ้นโดยและผ่านพระผู้ช่วยให้รอด ทําให้เรามีสันติสุขที่จะมุ่งหน้าต่อไป
“เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:27)