เกี่ยวกับการผนึกในพระวิหาร

เกี่ยวกับการผนึกในพระวิหาร

ครอบครัวเป็นศูนย์กลางในแผนของพระผู้เป็นเจ้า

ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” กล่าวไว้ว่า “การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์” (เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)

ปีติสูงสุดของชีวิตพบได้ในครอบครัวที่รักกัน ซึ่งเป็นเช่นนั้นแม้จะมีสิ่งรบกวนและความท้าทายมากมายในชีวิต การสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งต้องใช้ความพยายาม แต่ความพยายามเช่นนั้นนำมาซึ่งปีติในชีวิตนี้และชั่วนิรันดร์ แม้ในครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สามารถให้ความหวัง การปลอบโยน และการเยียวยา

ในแผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์ สามีภรรยาสามารถอยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์ สิทธิอำนาจในการรวมครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวตลอดไปเรียกว่าอํานาจ การผนึก ซึ่งเป็นอํานาจเดียวกันกับที่พระเยซูประทานแก่อัครสาวกของพระองค์ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลก (มัทธิว 16:19) การแต่งงานนิรันดร์จึงเรียกว่า การผนึก บุตรที่เกิดหรือรับมาเป็นบุตรบุญธรรมในการแต่งงานเช่นนั้นสามารถผนึกกับครอบครัวชั่วนิรันดร์

ซึ่งต่างจากการแต่งงานที่คงอยู่เพียง “จนกว่าความตายจะพรากจากกัน” การผนึกพระวิหารรับประกันว่าความตายไม่สามารถทําให้เราพรากจากผู้ที่เรารัก เพื่อให้การแต่งงานดำเนินต่อไปแม้หลังความตาย สามีภรรยาจะต้องผนึกในสถานที่ที่ถูกต้องและด้วยสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง ซึ่งสถานที่ที่ถูกต้องคือพระวิหารและสิทธิอำนาจที่ถูกต้องคือฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:7, 15–19)

เมื่อสามีและภรรยาได้รับการผนึกในพระวิหาร พวกเขาทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระเจ้าและต่อกัน พันธสัญญาเหล่านี้ให้คํามั่นว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะคงอยู่หลังจากชีวิตนี้หากพวกเขาซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาของตน พวกเขารู้ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถพรากพวกเขาจากกันได้แม้แต่ความตาย ผู้ที่แต่งงานแล้วควรถือว่าการรวมกันของสามีภรรยาเป็นความสัมพันธ์ทางโลกที่น่าทะนุถนอมมากที่สุดของพวกเขา ท้ายที่สุดแล้ว คู่สมรสคือบุคคลเพียงคนเดียวนอกจากพระเจ้าซึ่งเราได้รับบัญชาให้รักอย่างสุดใจ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22)

พระวิหารเพย์สัน ยูทาห์, ห้องผนึก

การแต่งงานนิรันดร์คือสิ่งจำเป็น

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) สอนว่า: “การแต่งงานอาจเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดและมีผลกระทบกว้างที่สุด เนื่องจากไม่เพียงเกี่ยวข้องกับความสุขในเวลานี้เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับความปีตินิรันดร์ด้วย อีกทั้งส่งผลไม่เพียงต่อคนสองคนที่เกี่ยวดองกันเท่านั้น แต่ส่งผลต่อครอบครัวเช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลานสืบมาอีกหลายชั่วอายุ” (“The Importance of Celestial Marriage,” Ensign, ต.ค. 1979, 3)

พันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์จำเป็นสำหรับความสูงส่งเช่นกัน ความสูงส่งคือชีวิตนิรันดร์—ชีวิตแบบพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงดีพร้อม พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในพระสิริอันยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงมีพระปรีชาญาณและเดชานุภาพทั้งปวง พระองค์ทรงรัก และเปี่ยมด้วยพระเมตตา พระองค์ทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของทุกคนบนแผ่นดินโลก เราสามารถเป็นเหมือนพระองค์สักวันหนึ่ง นี่คือความสูงส่ง

ความสูงส่งเป็นของประทานสําคัญที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่บุตรธิดาของพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7) เป็นรางวัลสำหรับทุกคนที่พิสูจน์ความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า และผู้ที่ซื่อสัตย์จะอยู่ในชั้นสูงสุดของอาณาจักรซีเลสเชียล

พระเจ้าทรงเปิดเผยผ่านโจเซฟ สมิธดังนี้:

“ในรัศมีภาพซีเลสเชียลมีสวรรค์หรือระดับสามชั้น; และเพื่อจะให้บรรลุถึงชั้นสูงสุด, มนุษย์ต้องเข้าสู่ระเบียบนี้ของฐานะปุโรหิต [หมายถึงพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน]; และหากเขาไม่ทำ, เขาจะบรรลุถึงชั้นนั้นไม่ได้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–3)

เมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาของเรา เรามั่นใจได้ว่าเราจะอยู่กับคนที่เรารักชั่วนิรันดร์ พระเจ้าทรงสัญญาว่า:

“หากชายแต่งกับภรรยาโดยคำของเรา, ซึ่งเป็นกฎของเรา, และโดยพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ, และผนึกไว้กับพวกเขาโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา, โดยเขาผู้ที่รับการเจิม, แก่ผู้ที่เรากำหนดอำนาจนี้และกุญแจทั้งหลายของฐานะปุโรหิตนี้ให้; … และหาก [พวกเขา] ปฏิบัติตามพันธสัญญาของเรา, … มันจะบังเกิดกับพวกเขาในสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่ผู้รับใช้ของเราให้ไว้แก่พวกเขา, ในกาลเวลา, และตราบชั่วนิรันดร; และจะมีผลบังคับเต็มที่เมื่อพวกเขาไปจากโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19)

พระเจ้าทรงทราบว่าไม่ใช่บุตรธิดาของพระองค์ทุกคนจะมีโอกาสแต่งงานในชีวิตนี้ พระองค์ทรงสัญญาว่าทุกคนที่ยอมรับพระกิตติคุณและพยายามรักษาพันธสัญญาจะมีโอกาสแต่งงานและมีลูกในชีวิตนี้หรือในชีวิตหน้า

อนุชนทุกรุ่นเชื่อมต่อกัน

ครอบครัวถ้อยแถลงต่อโลกกล่าวว่า “แผนแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้าทําให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดำเนินต่อไปหลังความตาย ศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ทำให้เกิดความเป็นไปได้สำหรับแต่ละบุคคลที่จะกลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและสำหรับครอบครัวจะรวมเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์”

นอกจากนี้อำนาจการผนึกแผ่ขยายจากพ่อแม่สู่ลูกๆ ในทุกรุ่นนับแต่กาลเริ่มต้นของโลก ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972) สอนว่าเด็กที่เกิดในพันธสัญญา—และผู้ที่ได้รับการผนึกกับพ่อแม่ในพระวิหาร—“มีสิทธิ์ได้รับพรของพระกิตติคุณมากกว่าที่คนที่ไม่ได้เกิดมามีสิทธิ์ได้รับ พวกเขาอาจได้รับการนำทางมากขึ้น ความคุ้มครองมากขึ้น การดลใจมากขึ้นจากพระวิญญาณของพระเจ้า และไม่มีอำนาจใดที่จะพรากพวกเขาไปจากพ่อแม่ได้” (Doctrines of Salvation, comp. บรูซ อาร์. แมคคองกี [1955], 2:90)

บุตรที่เกิดจากบิดามารดาผู้ผนึกในพระวิหารจะถือว่าเกิดในพันธสัญญา ดังนั้นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์ตามความซื่อสัตย์ของพวกเขา บุตรที่ไม่ได้เกิดในพันธสัญญาจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์ได้เช่นกันเมื่อบิดามารดาผู้ให้กำเนิดหรือบิดามารดาบุญธรรมของพวกเขาผนึกกัน ศาสนพิธีผนึกบุตรกับบิดามารดาจะประกอบในพระวิหารเท่านั้น เพื่อขยายพรเหล่านี้ให้ทุกคน เราสามารถประกอบศาสนพิธีผนึกแทนผู้ล่วงลับได้เช่นกัน ในวิธีนี้ ทุกครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์

คําสัญญาที่ว่าครอบครัวเราสามารถอยู่ด้วยกันหลังความตายทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น ส่งเสริมให้เรามีความภักดีและซื่อสัตย์ ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นและแน่นแฟ้น ช่วยให้เราพบปีติและความหวังขณะรับมือกับความท้าทายในชีวิต และการรู้ว่าเราสามารถอยู่ด้วยกันได้อีกครั้งทำให้เราพบการปลอบโยนและสันติสุขขณะรับมือกับความทุกข์หรือความตายของคนที่เรารัก

ศาสนพิธีผนึกเป็นของประทานสำคัญที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ลูกๆ ของพระองค์ ช่วยให้เรากลับไปอยู่กับพระองค์และคนที่เรารักตลอดไป เป็นพรอันน่าอัศจรรย์ในชีวิตนี้และชีวิตหน้า เป็นเครื่องเตือนใจตลอดเวลาว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางในแผนของพระผู้เป็นเจ้าและความสุขของเราที่นี่และในนิรันดร มอบสันติสุข ความหวัง และปีติแก่ทุกคนที่รับอย่างซื่อสัตย์