การสอนเยาวชนและคนหนุ่มสาว
ความจริงยั่งยืน


ความจริงยั่งยืน

ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

คำปราศรัยกับนักการศึกษาวิชาศาสนาซีอีเอส •  26 มกราคม 2018 •  ซอลท์เลคแทเบอร์นาเคิล

ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับโอกาสพิเศษที่ได้อยู่กับท่านค่ำวันนี้ ขอบคุณเอ็ลเดอร์คิม บี. คลาร์กและบราเดอร์แชด เอช. เว็บบ์ ข้าพเจ้าชื่นชมทุกท่านที่เอ่ยนามในค่ำวันนี้หรือมีชื่อตีพิมพ์อยู่ในสูจิบัตร ข้าพเจ้าขอขอบคุณระบบการศึกษาของศาสนจักรเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเซมินารีและสถาบัน ข้าพเจ้าชื่นชมทุกคนที่รับใช้—ผู้ร่วมงาน อาสาสมัคร ทุกคนที่มีส่วนกระทำคุณประโยชน์ ข้าพเจ้าเชื่อว่างานรับใช้ที่ท่านทำเป็นสิ่งสำคัญและมีค่ามากแก่สมาชิกศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออนุชนรุ่นหลังแต่ละรุ่น และข้าพเจ้าสำนึกคุณต่อท่าน

ค่ำคืนนี้ข้าพเจ้าประสงค์จะพูดกับท่านเกี่ยวกับความจริง ระบบการศึกษาของศาสนจักรอุทิศไว้เพื่อสอนและปลูกฝังความจริง โดยเฉพาะความจริงพื้นฐานและสำคัญที่สุดซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตนิรันดร์ สำคัญเสมอที่จะไม่เพียงสอนเท่านั้นแต่ปกป้องความจริงด้วย และดูเหมือนจะต้องทำเช่นนั้นมากขึ้นในสมัยของเรา

เราทุกคนจำการสนทนาในหนังสือยอห์นเมื่อพระเยซูทรงถูกกล่าวหาต่อหน้าปีลาตได้ พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์เสด็จมาในโลกเพื่อ “เป็นพยานให้กับสัจจะ ทุกคนที่อยู่ฝ่ายสัจจะ” พระเยซูตรัส “ย่อมฟังเสียงของเรา”1 ปีลาตดูจะกังขาในเรื่องนี้มากจึงทูลถามว่า “สัจจะคืออะไร”2 เห็นชัดว่าเป็นคำถามในเชิงเล่นสำนวนโวหาร เขาอาจไม่เชื่อว่าสัจจะมีอยู่จริง หรือหลังจากใช้ชีวิตอยู่กับเล่ห์กลทางการเมือง เขาอาจจะสิ้นหวังกับการได้สัจจะที่แท้จริงก็เป็นได้ กระนั้นก็ตาม นี่เป็นคำถามที่ดี คำถามที่เราควรขบคิด

ในคำสวดวิงวอนแทนเราที่พระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระเจ้าทรงยืนยันว่าพระวจนะของพระบิดาเป็นความจริง3 พระองค์ทรงประกาศว่าบันทึกหรือคำพยานของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นความจริง และ “ความจริงดำรงอยู่ตลอดกาลและตลอดไป”4 ลีไฮประกาศว่าทั้งพระบิดาและพระบุตรทรง “เปี่ยมด้วยพระคุณและความจริง”5 โดยการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระผู้ช่วยให้รอดประทานนิยามที่น่าจะกระชับที่สุดของความจริงดังนี้ “ความจริงคือความรู้ถึงสิ่งทั้งหลายดังที่เป็นอยู่, และดังที่เป็นมา, และดังที่จะเป็น”6

แม้นิยามนั้นตรงไปตรงมา แต่ความหมายโดยนัยคือหากปราศจากความช่วยเหลือจากเบื้องบน มนุษย์จะเข้าใจความจริงได้ไม่มาก ชอนซี ซี. ริดเดิล ศาสตราจารย์เกียรติคุณของบีวายยู อธิบายดังนี้

“มนุษย์มีเศษเสี้ยวของความจริงเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่เป็นมา และสิ่งที่จะเป็น และเนื่องจากเราเข้าใจโดยอาศัยความสัมพันธ์ มนุษย์อย่างเราจึงไม่สามารถเข้าใจเศษเสี้ยวนั้น [ของความจริง] ที่เรารู้ได้อย่างถ่องแท้เพราะเศษเสี้ยวมีความสำคัญครบถ้วนต่อเมื่อเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นรวมทั้งอดีต [ปัจจุบัน] และอนาคตของสิ่งอื่น

“ความจริงจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้อย่างถ่องแท้เฉพาะผู้เป็นเจ้า ผู้มีสรรพปรีชาญาณ ผู้มองเห็นและรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต”7

ศาสตราจารย์ริดเดิลกล่าวต่อไปว่า

“เพื่อช่วยให้มนุษย์โลกรอดพ้นจากความสามารถอันจำกัดนี้จนเล็งเห็นความจริง พระบิดาของเราจึงประทานพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เรา พระผู้ช่วยให้รอดประทานแสงสว่างของพระคริสต์แก่ชายหญิงทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้เพื่อให้พวกเขาบอกความดีจากความชั่วได้ … หากบุคคลหนึ่งได้รับและรักแสงสว่างของพระคริสต์ และฝึกใช้จนเป็นนิสัยในการแยกแยะดีชั่ว เขาจะพร้อมรับพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ … บุคคลที่มี [ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์] มีสิทธิ์รับความเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีความเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนนั้นจะเข้าถึงความจริงทั้งมวล ‘และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ท่านจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง [โมโรไน 10:5]’”8

พระผู้ช่วยให้รอดทรงยืนยันเรื่องนี้ในพระดำรัสที่พระกระยาหารมื้อสุดท้าย “เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงเสด็จมาแล้ว พระองค์จะนำพวกท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล”9 พระองค์ตรัสกับโจเซฟ สมิธว่า “คนที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์ได้รับความจริงและแสงสว่าง, จนเขารุ่งโรจน์ในความจริงและรู้สิ่งทั้งปวง”10

อย่างแรกที่เราควรเข้าใจเกี่ยวกับความจริงคือการจะรู้ความจริงจำนวนมากนั้นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเบื้องบนทั้งโดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์และโดยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แม้มนุษย์เรามีความสามารถและแหล่งข้อมูลจำกัด แต่หากเราไม่มีการเปิดเผยช่วย เราจะไม่มีความรู้ที่ครอบคลุมของสิ่งที่เป็นมา สิ่งที่เป็นอยู่ และสิ่งที่จะเป็น และไม่รู้ว่าสิ่งหนึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นที่เป็นมา สิ่งอื่นที่เป็นอยู่ และสิ่งอื่นที่จะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี พระเจ้าทรงแนะนำศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้ “ศึกษาและเรียนรู้, และมาคุ้นเคยกับหนังสือดีๆ ทั้งปวง, และกับภาษา, คำพูด, และผู้คน”11 พระองค์ทรงขยายคำแนะนำนั้นมาถึงเราทุกคน “เจ้าจงแสวงหาถ้อยคำแห่งปัญญา [หรือเราอาจจะพูดว่า “ความจริง”] จากบรรดาหนังสือดีที่สุด; แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย”12 และพระองค์ตรัสว่าเราควรทำสิ่งนี้ “อย่างขยันหมั่นเพียร”13 เราต้องพยายามสุดความสามารถ และความพยายามสุดความสามารถนั้นรวมถึงการใช้ศรัทธาด้วย—ขอ หา และเคาะอย่างแข็งขันเพื่อให้เราเปิดรับความจริงและแสงสว่างที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า14 นี่เป็น “การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง” ดังที่เอ็ลเดอร์คิม คลาร์กได้บรรยายไว้แล้วในคืนนี้

ข้าพเจ้าเชื่อว่าความจริงส่วนใหญ่ หากไม่ทั้งหมด ที่เราสามารถค้นพบมาถึงเราผ่านความช่วยเหลือจากเบื้องบน ไม่ว่าเรารับรู้หรือไม่ก็ตาม ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์เขียนเกี่ยวกับแสงสว่างของพระคริสต์หรือพระวิญญาณของพระคริสต์ไว้ดังนี้

“พระวิญญาณของพระคริสต์จะให้ความกระจ่างแก่นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ จิตรกร ประติมากร คีตกวี นักแสดง สถาปนิก และนักประพันธ์ในการผลิตสิ่งต่างๆ มากมายด้วยการดลใจเพื่อเป็นพรและประโยชน์ของมวลมนุษย์

“พระวิญญาณนี้จะกระตุ้นเตือนเกษตรกรในท้องทุ่งและชาวประมงบนเรือ จะดลใจผู้สอนในชั้นเรียน และผู้สอนศาสนาขณะนำเสนอบทสนทนา จะดลใจนักเรียนที่ฟัง และที่สำคัญมากคือ จะดลใจสามีภรรยาและบิดามารดา”15

ในบรรดาคนทั้งปวง เราควรถ่อมตนและอยู่กับความเป็นจริงมากพอจะยอมรับว่าความรอดไม่เพียงได้มาโดยพระคุณ “หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” เท่านั้น แต่การเข้าใจความจริงมาโดยพระคุณ “หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” เช่นกัน16 “เพราะพระคำของพระเจ้าเป็นความจริง, และสิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริงคือความสว่าง, และสิ่งใดก็ตามที่เป็นความสว่างคือพระวิญญาณ, แม้พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์”17

ตอนนี้ข้าพเจ้าจะอ่านคำประกาศของพระผู้ช่วยให้รอด “ความจริงดำรงอยู่ตลอดกาลและตลอดไป”18 ในภาค 93 ของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา พระเจ้าทรงประกาศว่า “ความจริงทั้งมวลเป็นอิสระอยู่ในภพนั้นซึ่งในนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงวางไว้, ที่จะกระทำด้วยตัวมันเอง, ดังความรู้แจ้งทั้งมวลด้วย; มิฉะนั้นก็ไม่มีการดำรงอยู่”19 ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความจริงทั้งมวล รวมถึงความจริงที่ปกครองภพปัจจุบันของเรา ดำรงอยู่เป็นอิสระและแยกจากกัน ความชอบของข้าพเจ้าหรือความเห็นของท่านไม่มีผลต่อความจริง ความจริงเป็นอิสระจากการพยายามควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่สามารถวิ่งเต้นหรือชักจูงให้เป็นอื่นได้ นี่คือความเป็นจริงถาวร

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าหากปราศจากความเป็นจริงถาวรของความจริง ย่อม “ไม่มีการดำรงอยู่”20 ข้าพเจ้าเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ลีไฮคิดเมื่อท่านสอนว่า

“และหากลูกจะกล่าวว่าไม่มีกฎ [กฎในที่นี้มีความหมายเดียวกันกับความจริง—ความจริงที่ ‘เป็นอิสระในภพนั้นซึ่งในนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงวางไว้’], ลูกจะกล่าวด้วยว่าไม่มีบาป [บาปคือการไม่เชื่อฟังกฎ]. หากลูกจะกล่าวว่าไม่มีบาป, ลูกจะกล่าวด้วยว่าไม่มีความชอบธรรม [ความชอบธรรมคือการเชื่อฟังกฎ หรืออีกนัยหนึ่ง หากไม่มีกฎหรือความจริงก็ไม่มีสิ่งใดให้เชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟัง]. และหากไม่มีความชอบธรรมก็ไม่มีความสุข [ความสุขเป็นผลของความชอบธรรม]. และหากไม่มีความชอบธรรมหรือความสุขก็ไม่มีโทษหรือความเศร้าหมอง [โทษและความเศร้าหมองเป็นผลของบาป]. และหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีพระผู้เป็นเจ้า. และหากไม่มีพระผู้เป็นเจ้าเราก็หาได้เป็นอยู่ไม่, ทั้งแผ่นดินโลกก็หาได้เป็นอยู่ไม่; เพราะจะมีการสร้างของสิ่งต่างๆ ไม่ได้, ทั้งที่จะกระทำหรือถูกกระทำ; ดังนั้น, สิ่งทั้งปวงต้องสูญสิ้นไป”21

โดยสิ่งเหล่านี้ เราจึงรู้ว่าความจริงดำรงอยู่ ความจริงเป็นตัวแทนของความเป็นจริงถาวรที่ไม่เปลี่ยนแปลง ปริมาณความจริงที่มนุษย์เล็งเห็นได้นั้นค่อนข้างน้อยนิด เราอาศัยความช่วยเหลือของการเปิดเผยจากเบื้องบนเพื่อเรียนรู้ “ความจริงของทุกเรื่อง”22 และเรารู้ว่าเรากับพระผู้เป็นเจ้าอาศัยความจริงเพื่อกระทำและสร้าง “มิฉะนั้นก็ไม่มีการดำรงอยู่”23 เราเรียนรู้ที่อื่นเช่นกันว่าความจริงไม่ขัดแย้งกับความจริง แต่ความจริงทั้งมวลอาจรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ครบถ้วนสมบูรณ์

เวลานี้เราพบตนเองอยู่ตรงไหนในโลกทุกวันนี้ขณะที่เราพยายามสอนและยืนยันความจริง โดยเฉพาะความจริงทางวิญญาณ

ในโลกส่วนใหญ่ การคิดแบบนักสัมพัทธนิยมกลายเป็นปรัชญาเด่น ข้าพเจ้าหมายความตามสัมพัทธนิยมว่าความจริงด้านจริยธรรมหรือศีลธรรมสัมพันธ์กัน ทั้งยังแปรตามเจตคติและความรู้สึกของคนที่ยึดมั่นความจริงเหล่านั้นด้วย ไม่มีใครสามารถตัดสินความสมเหตุสมผลใน “ความจริง” ของผู้อื่นได้ สมัยนี้ท่านได้ยินมามากเกี่ยวกับ “ความจริงของฉัน” และ “ความจริงของเขา” หรือ “ความจริงของเธอ” คอลัมนิสต์เดวิด บรูคส์อธิบายการคิดแบบนี้ขณะทบทวนหนังสือเรื่อง Lost in Transition ของคริสเตียน สมิธนักสังคมวิทยาชาวน็อทร์ดาม และคนอื่นๆ บรูคส์รายงานว่า

“คำตอบที่ [ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ของสมิธ] พูดซ้ำๆ คือการเลือกทางศีลธรรมเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว ‘เป็นเรื่องส่วนตัว’ ผู้ให้สัมภาษณ์ตอบตามที่คนทั่วไปพูด ‘ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ผมไม่อยู่ในฐานะจะพูดได้’

“เพราะไม่คล้อยตามผู้มีอำนาจ คนหนุ่มสาวจำนวนมากจึงเอนเอียงไปหาความสุดโต่งอีกด้าน ‘ผมจะทำสิ่งที่คิดว่าทำให้ผมมีความสุขหรืออย่างที่ผมรู้สึก ผมไม่มีทางรู้ว่าต้องทำอะไรรู้แต่ว่าในใจรู้สึกอย่างไร’

“หลายคนรีบพูดเกี่ยวกับความรู้สึกทางศีลธรรมของตนเองแต่ลังเลไม่กล้าเชื่อมโยงความรู้สึกเหล่านี้กับความคิดที่กว้างขึ้นในเรื่องขอบข่ายหรือข้อผูกมัดทางศีลธรรมที่ใช้ร่วมกัน ดังที่คนหนึ่งพูดว่า ‘ผมคิดว่าเรื่องบางเรื่องถูกเพราะผมรู้สึกว่าถูก แต่ต่างคนต่างรู้สึกไม่เหมือนกัน ผมจึงไม่สามารถพูดแทนใครได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด’”24

ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงเห็นด้วยว่าปรัชญาสัมพัทธนิยมทางศีลธรรมได้แรงหนุนมากขึ้นในสมัยของเรา “การไม่ตัดสิน” กลายเป็นมาตรฐานการสนทนาและพฤติกรรมที่แทบจะทักท้วงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่เพียงตัดสินด้วยตัวเราเองเท่านั้น แต่ผู้คนและสังคมรอบข้างมีส่วนตัดสินด้วย กฎหมายและระบบกฎหมาย แม้กระทั่งระบอบการเมือง เป็นรูปธรรมของค่านิยมทางศีลธรรมและความจริงที่รับรู้ ในสังคมที่หลากหลาย เราอาจถกเถียงกันว่าควรรวมค่านิยมใดไว้ในกฎหมายหรือกฎข้อบังคับ และอะไรถูกหรือผิดหรือจริง แต่สุดท้ายแล้ว ในเรื่องใดก็ตาม ทัศนะของคนบางคน หรือทัศนะต่อความจริงของคนบางกลุ่มจะแพร่หลายและทุกคนต้องปฏิบัติตาม

สัมพัทธนิยมทางศีลธรรมไม่ได้ผลหากต้องการระเบียบและความยุติธรรมในสังคม ฆาตกรรมจะผิดสำหรับคนส่วนใหญ่แต่ถูกสำหรับบางคนได้หรือ ขโมยมีสิทธิ์เก็บสิ่งที่ขโมยมาและขโมยต่อไปเพราะเขาเชื่อว่าการลักขโมยถูกต้องสำหรับเขา เพราะเขาโตมาในสภาพด้อยโอกาสอย่างนั้นหรือ เกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องซึ่งเป็นที่โจษจันอยู่ในข่าวทุกวันนี้ ชายคนหนึ่งมีสิทธิ์ล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรีเพราะเขาเห็นว่าไม่ขัดกับสำนึกถูกผิดของเขาอย่างนั้นหรือ

คนหนึ่งอาจจะพูดว่า “นี่คุณ คุณกำลังพูดเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไปว่าผิด มีค่านิยมบางอย่างอยู่แล้วในการดำรงอยู่ของมนุษย์ซึ่งเป็นมูลบทของกฎหมายห้ามกระทำฆาตกรรม ข่มขืน ขโมย และอื่นๆ ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายหรือขัดขวางการแสวงหาความสุขอย่างถูกต้องของพวกเขา หลักสิทธิมนุษยชนโดยทั่วไปไม่ยอมให้บุคคลใดมีสิทธิ์ทำตรงกันข้าม สัมพัทธนิยมทางศีลธรรมนำมาใช้นอกเหนือสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับแล้วเท่านั้น ซึ่งแต่ละบุคคลจะนิยามด้วยตนเองว่าอะไรถูกอะไรผิด” แต่การอ้างเหตุผลทำนองนี้ทำให้เกิดประเด็นว่ามีความสัมบูรณ์ทางศีลธรรม ไม่ว่าท่านจะเรียกว่าสิทธิมนุษยชนสากลหรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยความจริงและแนวคิดทางศีลธรรมบางอย่างก็อยู่แยกจากความชอบส่วนตัว ข้อถกเถียงที่มีอยู่ประเด็นเดียวคือความจริงเหล่านั้นคืออะไรและขยายออกไปไกลเพียงใด อันที่จริง สิ่งที่เราเรียกว่าสัมพัทธนิยมทางศีลธรรมนั้น เป็นข้อถกเถียงเรื่อยมาเกี่ยวกับขันติธรรม นั่นคือ เราควรจะยอมรับการกระทำและความแตกต่างอะไรบ้างในสังคมและในมนุษยสัมพันธ์

การเรียกของเรา เร่งด่วนขึ้นเรื่อยๆ ในสภาพแวดล้อมนี้ คือสอนความจริงของแนวคิดทางศีลธรรมว่า แนวคิดเหล่านั้นคืออะไรและขยายออกไปไกลเพียงใด เราตีค่าความจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากแหล่งที่มา แต่ความจริงนิรันดร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระทบต่อความหมาย จุดประสงค์ และการดำเนินชีวิต เราต้องได้มาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยทั่วไป นักสัมพัทธนิยมทางศีลธรรมเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงมีบทบาทหรือไม่ทรงเกี่ยวข้องในเรื่องนี้และไม่แน่ใจว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ พวกเขาอึดอัดที่สุดถ้าพระองค์ทรงดำรงอยู่และอึดอัดมากกว่านั้นถ้าพระองค์ตรัสกับมนุษย์ พวกเขาจะนึกถึงความจริงก็ต่อเมื่อไม่มีพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อไม่นานมานี้สำนักวิจัยพิวรายงานว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (56 เปอร์เซ็นต์) บอกว่าไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อทางศาสนาก็เป็นคนดีได้ “‘พระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องมาก่อนค่านิยมที่ดีงามและศีลธรรม’ เกรก สมิธ รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยพิวกล่าวไว้ในโพสต์เกี่ยวกับผลการค้นพบ”25

ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเราคงเห็นด้วยว่าผู้ไม่เชื่อพระเจ้าหรือผู้ไม่มีศาสนาหรือความเชื่อทางศาสนาสามารถเป็นคนดีและซื่อตรงได้ และส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนั้น แต่เราคงไม่เห็นด้วยว่านี่เกิดขึ้นโดยปราศจากพระผู้เป็นเจ้า ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบ เชื่อหรือไม่เชื่อ รับรู้หรือไม่รับรู้ เขาเต็มไปด้วยแสงสว่างของพระคริสต์ และด้วยเหตุนี้จึงมีสามัญสำนึกเรื่องผิดชอบชั่วดีที่บางครั้งเราเรียกว่ามโนธรรม พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เราคือแสงสว่างที่แท้จริงซึ่งให้ความสว่างทุกคนที่มาในโลก”26 เราอ่านเช่นกันว่า “และพระวิญญาณทรงให้ความสว่างแก่มนุษย์ทุกคนที่มาในโลก; และพระวิญญาณทรงให้ความสว่างมนุษย์ทุกคนทั่วโลก, ผู้ที่สดับฟังสุรเสียงของพระวิญญาณ”27

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์สอนไว้ในบทความที่ข้าพเจ้าอ้างอิงไว้ข้างต้นว่า

“ชาย หญิง และเด็กทุกคนในทุกชาติ ศาสนา หรือสีผิว—ไม่ว่าจะอยู่ไหนหรือเชื่ออะไรหรือทำอะไร ทุกคนมีแสงสว่างอันไม่ดับสูญของพระคริสต์อยู่ในตัวเขา ในประเด็นนี้ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ทั้งปวงเท่าเทียมกัน แสงสว่างของพระคริสต์ในทุกคนคือประจักษ์พยานยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้ามิทรงเลือกที่รักมักที่ชัง (ดู คพ. 1:35) พระองค์ทรงปฏิบัติต่อทุกคนเท่าเทียมกันในการประสาทแสงสว่างของพระคริสต์”28

แสงสว่างของพระคริสต์ที่อยู่ในมนุษย์ทุกคนคือสิ่งที่ลีไฮคิดเมื่อท่านประกาศว่า “และมนุษย์ได้รับการสั่งสอนอย่างเพียงพอจนพวกเขารู้จักความดีจากความชั่ว … และเพราะพระองค์ทรงไถ่พวกเขาจากการตก พวกเขาย่อมเป็นอิสระตลอดกาล, รู้จักแยกแยะดีชั่ว; กระทำด้วยตนเอง”29 มอรมอนกระตุ้นให้ “ค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียรโดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์เพื่อท่านจะรู้ความดีจากความชั่ว; และหากท่านยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง, และหาตำหนิไม่, ท่านจะเป็นลูกของพระคริสต์อย่างแน่นอน”30

สัมพัทธนิยมทางศีลธรรมเป็นภัยอย่างยิ่งเมื่อทำให้มโนธรรมลดลง หากยอมรับและทำตามมโนธรรม แสงสว่างและความจริงจะมีมากยิ่งขึ้น แต่การเมินเฉยหรือเก็บกดมโนธรรมจะนำคนนั้นออกห่างจากแสงสว่างและความจริงไปสู่การปฏิเสธ ความผิดพลาด และความเสียใจ การเสแสร้งว่าไม่มีความจริงถาวรทางภววิสัยเป็นเพียงการพยายามหลบเลี่ยงหน้าที่และภาระรับผิดชอบ นี่ไม่ใช่เคล็ดลับของความสุข

ยี่สิบปีที่แล้ว เจ. บุดซีสซูสคี ศาสตราจารย์สอนการปกครองและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแห่งเทกซัส เมืองออสตินเขียนบทความที่น่าสนใจให้ First Things วารสารคาทอลิกชื่อว่า “การแก้แค้นของมโนธรรม” เขาพูดว่ามโนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ “กฎที่เขียนไว้ในใจมนุษย์ทุกคน” เราเรียกสิ่งนี้ว่าแสงสว่างของพระคริสต์ อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตของเขาเกี่ยวกับความพยายามเก็บกดมโนธรรมเต็มไปด้วยแง่คิด

เขาเขียนว่า “ความรู้ของเราในเรื่องหลักธรรมสำคัญ [เช่นหลักธรรมที่อยู่ในพระบัญญัติสิบประการ] ไม่สามารถลบออกได้ นี่เป็นกฎที่เราจะไม่รู้ไม่ได้”31 สัมพัทธนิยม ทางศีลธรรมไม่ยอมรับว่าหลักธรรมสำคัญเหล่านี้ดำรงอยู่ หรือหากดำรงอยู่ก็ไม่ยอมรับว่าหลักธรรมเหล่านี้เหมาะกับทุกคน สัมพัทธนิยม ทางศีลธรรมแย้งว่าเราไม่รู้ความจริงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราเสาะหาความจริงและทำสุดความสามารถโดยพยายามมองหาความจริงในคืนที่หมอกหนา บุดซีสซูสคีประกาศว่า “เรารู้ดีขึ้น แต่เราไม่ทำสุดความสามารถ … โดยปกติเรารู้จากผิดเป็นถูก แต่หวังให้เราไม่รู้เราเพียงเสแสร้งว่ากำลังแสวงหาความจริง—ทั้งนี้เพื่อเราจะสามารถทำผิด ลบล้างความผิด หรือเก็บกดความสำนึกผิดเพราะเคยทำผิดในอดีต … ความเสื่อมถอย [ของเรา] ไม่ได้เกิดจากความเมินเฉยทางศีลธรรมแต่เกิดจากการเก็บกดทางศีลธรรม ใช่ว่าเราไม่ได้รับการสั่งสอนอบรม แต่เรา ‘ปฏิเสธ’ เราไม่ขาดความรู้ทางศีลธรรม แต่เรากดไว้”32

สิ่งที่แอลมาบอกกับโคริแอนทันบุตรชายว่าเป็น “ความสำนึกผิดจากมโนธรรม”33 มีอยู่จริง แต่บุดซีสซูสคีชี้ให้เห็นว่าการพยายามเก็บกดมโนธรรมหรือบรรเทาความสำนึกผิด การไม่กลับใจ สุดท้ายแล้วไม่เกิดผลดี เราเห็นเช่นนั้นในคนที่แสร้งทำเป็นว่าสิ่งที่พวกเขารู้ว่าผิดนั้นไม่ผิด พวกเขาอาจจงใจทำบาปซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อพยายามกลบเสียงของมโนธรรม บางคนอาจติดตามสิ่งที่ทำให้เขวไม่หยุดหย่อนโดยหมกมุ่นอยู่กับสื่อสังคม วิดีโอเกม หรือเสียบหูฟังเพลงตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเงียบสงบที่มโนธรรมจะพูด เราเห็นเช่นนั้นในการหาเหตุเข้าข้างตนเองไม่สิ้นสุด นับครั้งไม่ถ้วนหรือหลากหลายวิธี บุดซีสซูสคีอ้างดังนี้ “ผมบอกตัวเองว่าเพศ [นอกชีวิตสมรส] โอเคเพราะผมจะแต่งงานกับคู่นอนของผม เพราะผมต้องการให้คู่นอนแต่งงานกับผม หรือเพราะผมต้องรู้ให้ได้ว่าเราจะแต่งงานมีความสุขหรือไม่ … [หรือ] ‘เราไม่ต้องการคำสัญญาเพราะเรารักกัน’ แน่นอนว่าความหมายโดยนัยคือคนที่ [ต้องการ] คำสัญญารักอย่างไม่บริสุทธิ์ใจ”34

นอกจากเสแสร้ง ทำให้เขว และหาเหตุเข้าข้างตนเองแล้ว ผู้คนอาจพยายามให้คนอื่นมีส่วนในการทำผิดเช่นกันซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการแก้ตัว พวกเขา “ไม่ทำบาปในที่ลับ แต่หาสมัครพรรคพวก”35 เราอาจจะพูดว่าซาตานเป็นผู้เชี่ยวชาญการหาสมัครพรรคพวก “เพราะเขาแสวงหาเพื่อจะให้มนุษย์ทั้งปวงเศร้าหมองเหมือนตัวเขา”36 คนทุกข์ที่สุดคือคนที่ยืนกรานว่า “สังคมต้องถูกปฏิรูปทั้งนี้เพื่อจะไม่ยืนรับการตัดสินอันน่าสะพรึงกลัวอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเปลี่ยนกฎหมาย แทรกเข้าไปในสถานศึกษา และสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ล่วงล้ำสิทธิและมีขั้นตอนมากมาย”37 อิสยาห์เตือนว่า “วิบัติแก่พวกที่เรียกความชั่วว่าความดีและเรียกความดีว่าความชั่ว พวกที่ถือ‍ว่าความมืดคือความสว่างและความสว่างคือความมืด พวกที่ถือ‍ว่าความขมคือความหวานและความหวานคือความขม!”38

บุดซีสซูสคีจึงสรุปว่า การที่เราพยายามเก็บกดพลังอำนาจของมโนธรรมและเห็นผิดเป็นชอบจะผลักดันสังคมให้ออกห่างจากความจริงทางศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ39 ข้าพเจ้าขอเสริมว่านี่เป็นเหตุให้ระเบิดความโกรธออกมาขณะพยายามสนทนาเรื่องที่เกี่ยวพันกับมาตรฐานและบรรทัดฐานทางสังคม

พระเยซูตรัสกับนิโคเดมัสว่า

“หลักการพิพากษามีอย่างนี้ คือความสว่างเข้ามาในโลกแล้ว แต่มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง เพราะกิจการของพวกเขาเลวทราม

“เพราะทุกคนที่ประพฤติชั่วก็เกลียดความสว่างและไม่มาหาความสว่าง เนื่องจากกลัวว่าการกระทำของตนจะปรากฏ

“แต่คนที่ประ‌พฤติตามความจริงก็มาถึงความสว่าง เพื่อให้เห็นว่าการกระ‌ทำของเขานั้นทำโดยพึ่งพระ‍เจ้า”40

การพยายามเก็บกดมโนมธรรมไม่เพียงไร้ผลเท่านั้น แต่หากผู้คนเข้าใจเรื่องราวในแง่มุมของตนคงไม่มีใครอยากพยายามข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นถึงสิ่งที่ลีไฮสอนเกี่ยวกับการพยายามหนีให้พ้นโทษและความเศร้าหมองโดยปฏิเสธความเป็นจริงของบาป—“หากลูกจะกล่าวว่าไม่มีกฎ, ลูกจะ … กล่าวว่าไม่มีบาป”41 ถ้าเราลบกฎหรือความจริงได้เหมือนคนที่กำลังต่อสู้กับมโนธรรมพยายามทำอยู่ เราอาจจะกำจัดความรู้สึกผิดหรือโทษหรือความเศร้าหมองได้ แต่จงระลึกถึงคำเตือนของลีไฮ หากปราศจากกฎการดำรงอยู่ของเราย่อมไม่มีประโยชน์อันใด เราจะลบโอกาสของความชอบธรรมและความสุข เราจะลบการสร้างและการดำรงอยู่ เห็นชัดว่าแนวคิดเรื่องการลบหรือขจัดความจริงเป็นเรื่องไร้เหตุผล แต่มีวิธีขจัดความเศร้าหมองขณะรักษาโอกาสได้ความสุขไว้ วิธีนี้เรียกว่าหลักคำสอนหรือพระกิตติคุณของพระคริสต์—ศรัทธาในพระคริสต์ การกลับใจ และบัพติศมา ทั้งจากน้ำและจากพระวิญญาณ42

เราต้องช่วยนักเรียนของเราในความหมายของพระผู้ช่วยให้รอดให้ “ประพฤติตามความจริง”43—นั่นคือ ตั้งใจน้อมรับแสงสว่างของพระคริสต์ที่อยู่ในพวกเขาและต้อนรับแสงสว่างเพิ่มเติมที่ผ่านมาทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ การต่อต้าน การหาเหตุแก้ตัว และการเสแสร้งจะไม่ช่วย การกลับใจและการเชื่อฟังความจริงเท่านั้นที่สามารถให้ “ความถูกต้อง” ที่หลายคนอยากได้ การกลับใจและการเชื่อฟังความจริงเท่านั้นที่สามารถถนอมและขยายความสุขตลอดจนความเป็นอิสระของเรา

ช่วงแรกในอาชีพกฎหมายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นผลของการเพิกเฉยต่อมโนธรรม ข้าพเจ้าเป็นนิติกรของจอห์น เจ. ซิริกาผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐในวอชิงตัน ดี.ซี.คดีอื้อฉาวระดับชาติที่เรียกว่าวอเตอร์เกตเริ่มก่อนข้าพเจ้าเป็นนิติกรได้ไม่นาน และการพิจารณาคดีวอเตอร์เกตกินเวลาของผู้พิพากษาซิริกาและเวลาของข้าพเจ้าเกือบทั้งหมดเป็นเวลาติดต่อกันราวสองปีครึ่ง ข้าพเจ้าไม่ขอเล่ารายละเอียด แต่จะพูดเพียงว่าในการดำเนินงานเมื่อปี 1972 เพื่อหาเสียงให้ริชาร์ด นิกสันได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง คณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดีพยายามโจรกรรมข้อมูลจากคณะกรรมการเดโมแครตแห่งชาติโดยส่งคนบุกเข้าไปดักฟัง พวกเขาถูกจับกุม และเริ่มพยายามปกปิดความเชื่อมโยงของการทำผิดกฎหมายเหล่านี้กับการหาเสียงของประธานาธิบดีนิกสันหรือเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเกือบจะทันที การปกปิดดังกล่าวเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและประธานาธิบดีนิกสันมีส่วนรู้เห็นด้วย

สำหรับข้าพเจ้าดูเหมือนว่ามีหลายครั้งตลอดสองปีต่อมาก่อนที่เขาจะลาออก เมื่อนิกสันผู้ยังมีมโนธรรมอยู่น่าจะยุติเรื่องนี้โดยพูดว่า “เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เราจะไม่ทำต่อ ผลจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด” เขาน่าจะทนรับความอับอายทางการเมือง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจบวาระของเขา เขาไม่เคยพูดว่าจะหยุด แต่กลับถลำลึกลงไปในแผนการปกปิดแทน ช่วงที่เลวร้ายที่สุดคือเมื่อผู้พิพากษาซิริกากับข้าพเจ้าฟังเทปบันทึกการสนทนาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปี 1973 ระหว่างประธานาธิบดีกับจอห์น ดีน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของทำเนียบขาว ในห้องทำงานรูปไข่

ดีนจัดการเรื่องปกปิดข้อมูลภายในทำเนียบขาวมาตลอด และเขารู้สึกว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เขามาขอคำแนะนำจากนิกสัน ในการสนทนาที่บันทึกไว้นี้ ดีนอธิบายสิ่งที่เขาทำในช่วงหลายเดือนก่อน รวมถึงการเตรียมเงินให้ครอบครัวของคนที่สารภาพว่าบุกเข้าไปในวอเตอร์เกต เขาให้เงินเพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นพาดพิงถึงผู้มีตำแหน่งสูงในคณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดีผู้วางแผนและสั่งให้บุกรุก แต่ตอนนี้พวกเขากำลังขู่จะเปิดโปงเพราะครอบครัวพวกเขายังรับเงินไม่ครบหรือไม่มากเท่าที่สัญญาไว้

ผู้พิพากษาซิริกากับข้าพเจ้าตกใจมากเมื่อได้ยินนิกสันถามอย่างใจเย็นว่า “จะต้องใช้เงินเท่าไร” ฟังจากน้ำเสียงดูเหมือนดีนจะประหลาดใจกับคำถามนี้ และด้วยความรู้สึกเหมือนตัวเลขลอยมา เขาตอบว่า “หนึ่งล้านดอลลาร์” นิกสันตอบว่าการรวบรวมเงินจำนวนนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่กังวลว่าจะแจกจ่ายอย่างไรโดยไม่ถูกจับได้ ผู้พิพากษากับข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อหู—เราไม่อยากจะเชื่อ—สิ่งที่เราได้ยิน และเขาทำให้เราต้องกรอเทปกลับไปฟังอีกครั้ง เราฟังการสนทนาจนจบ เก็บเทปเงียบๆ แทบไม่พูดอะไรกันเลยและกลับบ้านแต่หัวค่ำ แม้จนบัดนี้ ข้าพเจ้ายังจำความรู้สึกผิดหวังและความเสียใจได้ นี่เป็นช่วงไม่กี่เดือนก่อนนิกสันลาออก แต่เรารู้แล้วว่าประธานาธิบดีจะถูกฟ้องถ้าเขาไม่ชิงลาออก

ข้าพเจ้าสงสัยนับแต่นั้นว่าเหตุใดนิกสันจึงยอมให้เรื่องอื้อฉาวเช่นนี้บานปลาย ข้าพเจ้ายังคงประหลาดใจที่มโนธรรมของเขาด้านชาจนถึงขนาดว่าแม้แต่โจรบุกวอเตอร์เกตพยายามข่มขู่เรียกเงินจากประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเขาก็ยังไม่ทำให้เขาขุ่นเคือง บทเรียนชีวิตที่ข้าพเจ้าได้จากประสบการณ์นี้คือข้าพเจ้าหวังจะหลีกเลี่ยงโอกาสเกิดเหตุเภทภัยคล้ายกันนี้ในชีวิตข้าพเจ้าโดยไม่มีข้อยกเว้น—ยอมทำตามคำสั่งของมโนธรรมเสมอและไม่เปลี่ยนแปลง การที่คนๆ หนึ่งทุจริต แม้ต่อการกระทำที่ดูเหมือนเล็กน้อยในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย ย่อมทำให้เขาอยู่ในอันตรายของการเสียประโยชน์และสูญเสียความคุ้มครองของมโนธรรมไปด้วย ข้าพเจ้าแน่ใจว่าบางคน “ทำผิดแต่ไม่ได้รับโทษ” ในกรณีที่พวกเขาไม่ซื่อสัตย์หรือทำผิดกฎหมายในธุรกิจหรืออาชีพหรือชีวิตการเมือง และไม่ได้รับผิดชอบการกระทำของตน (อย่างน้อยก็ในชีวิตนี้) แต่มโนธรรมที่อ่อนแอ และมโนธรรมที่ด้านชาเปิดประตูรับ “วอเตอร์เกต” ไม่ใหญ่ก็เล็ก ไม่โดยส่วนตัวก็ส่วนรวม—รับภัยพิบัติที่สามารถทำร้ายและทำลายทั้งคนผิดและคนบริสุทธิ์

ยอห์นบันทึกคำสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอด “กับพวกยิวที่วาง‍ใจในพระ‍องค์ว่า ถ้าพวก‍ท่านยึด‍มั่นในคำ‍สอนของเรา ท่านก็เป็นสาวกของเราอย่างแท้‍จริง และพวกท่านจะรู้จักสัจจะ และสัจจะจะทำให้ท่านเป็นไท”44 การรู้จักและทำตามสัจจะทำให้เราเป็นไทอย่างแน่นอนที่สุด—หนึ่ง เป็นไทจากพันธนาการของความเขลาและบาป45 จากนั้นเป็นไทที่จะประกอบคุณงามความดีทุกอย่างจนเราได้รับอาณาจักรของพระบิดาและทั้งหมดที่พระองค์ประทานให้ได้46 โดยรู้ว่าพระเยซูทรงเป็น “ทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต”47 ความหมายสำคัญที่สุดของความจริงที่ทำให้เราเป็นไทน่าจะเป็นว่าโดยพระคุณของพระองค์ พระองค์ทรงทำให้เราเป็นไทจากความตายและนรก48

พระเจ้าทรงประกาศว่า “แสงสว่างและความจริงละทิ้งคนชั่วคนนั้น [ยุติพันธนาการของบาป]. … [แต่] คนชั่วร้ายคนนั้นมาและนำแสงสว่างและความจริงไป, จากลูกหลานมนุษย์, โดยการไม่เชื่อฟัง, และเนื่องจากประเพณีบรรพบุรุษของพวกเขา”49

เรามีตัวอย่างที่ลึกซึ้งในพระคัมภีร์มอรมอน ตัวอย่างของคนชั่วที่นำแสงสว่างและความจริงไปโดยผ่านประเพณีเท็จและการไม่เชื่อฟัง ราวหนึ่งศตวรรษครึ่งก่อนการเสด็จมาของพระคริสต์ กล่าวได้ว่าชาวเลมันหลงอยู่ในประเพณีเท็จและ “ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเจ้า”50 เมื่อพวกบุตรของโมไซยาห์ทำงานเผยแผ่อันน่าทึ่งของพวกเขา ชาวเลมันจำนวนมากจึงได้รับฟังแผนแห่งความรอดและเรียนรู้ความจริง 51

สำหรับกษัตริย์ลาโมไน ท่านรู้สึกตื้นตันกับปีติของการออกจากความมืดแห่งความเท็จเข้าสู่แสงสว่างอันน่าอัศจรรย์ของความจริง “และแสงสว่างที่ทำให้จิตใจเขาสว่าง, ซึ่งเป็นแสงสว่างแห่งรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า, …สาดส่องปีติมากมายอะไรเช่นนี้เข้าไปในจิตวิญญาณของเขา, โดยที่เมฆแห่งความมืดมนถูกขับออกไป, และว่าแสงสว่างของชีวิตอันเป็นนิจจุดขึ้นในจิตวิญญาณเขา, แท้จริงแล้ว, …สิ่งนี้ทำให้ร่างธรรมชาติของเขาหมดกำลัง, และอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าจึงพาเขาไป”52

มีเพียงสองตัวเลือกเท่านั้น หนึ่งคือดำเนินตามความจริงโดยเอาใจใส่พระวจนะของพระคริสต์—“คนที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์ได้รับความจริงและแสงสว่าง, จนเขารุ่งโรจน์ในความจริงและรู้สิ่งทั้งปวง”53 อีกหนึ่งตัวเลือกคือถูกปฏิปักษ์หลอกและพยายามทำเรื่องเหลือวิสัย—หาความสุขในความเท็จของเขา คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตนี้หรือหลังจากนี้ไม่ได้หากเมินเฉยความเป็นจริงของสัจธรรม แต่บางคน ซึ่งอันที่จริงคือคนจำนวนมาก พยายามเมินเฉิย—เพียงเพราะดูเหมือนง่ายกว่ากลับใจมาก แต่การกลับใจและการเชื่อฟังความจริงของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทำให้เราเป็นไทจากโลกเพ้อฝันซึ่งถูกกำหนดให้พ่ายแพ้ “และการพังทลายนั้น [จะ] ยิ่งใหญ่”54

สัจธรรมหลัก ความเป็นจริงในการดำรงอยู่ของเรา ที่เราต้องสอนและสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความเชื่อมั่นอันบริสุทธิ์และพลังทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราคือ55

  1. พระผู้เป็นเจ้า พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงพระชนม์ พระผู้เป็นเจ้าองค์จริงพระองค์เดียวและทรงพระชนม์อยู่

  2. พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า

  3. พระเยซูคริสต์เสด็จมาแผ่นดินโลกเพื่อไถ่ผู้คนของพระองค์ ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อชดใช้บาปของพวกเขา

  4. พระองค์ทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตายอีกครั้ง ทรงทำให้เกิดการฟื้นคืนชีวิต

  5. ทุกคนจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระองค์เพื่อรับการพิพากษาในวันพิพากษาครั้งสุดท้ายตามงานของพวกเขา

ขอให้เรารักและดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้ ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานอันศักดิ์สิทธิ์ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง ขอให้เราแสวงหา สอน และดำเนินชีวิตตามความจริงอย่างแข็งขันและกระตือรือร้น ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอน ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

พิมพ์