การสอนเยาวชนและคนหนุ่มสาว
“ปรับใจสู่ความเข้าใจ”


“ปรับใจสู่ความเข้าใจ”

ยามค่ำกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ • 8 กุมภาพันธ์ 2019 • แทเบอร์นาเคิลซอลท์เลคซิตี้

พี่น้องที่รักทั้งหลาย นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้รับใช้กับท่านในงานอันสำคัญยิ่งนี้ ขอแสดงความรักและความสำนึกคุณต่องานไม่ธรรมดาทั้งหมดของท่านในการช่วยให้อนุชนรุ่นหลังทั้งเยาวชนและคนหนุ่มสาวได้เรียนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างลึกซึ้ง

เมื่อการเรียนพระกิตติคุณลึกซึ้ง นักเรียนจะเติบโตใน (1) ความรู้และความเข้าใจ (2) ความสามารถในการทำสิ่งชอบธรรมให้เกิดผล และ (3) เป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดและพระบิดาบนสวรรค์มากยิ่งขึ้น

ความเข้าใจพระกิตติคุณเป็นห่วงเชื่อมสำคัญระหว่างความรู้ในพระกิตติคุณกับการทำสิ่งชอบธรรมให้เกิดผล คืนนี้ข้าพเจ้าต้องการแบ่งปันความคิดพอสังเขปเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยให้นักเรียนของเราเติบโตในความเข้าใจพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ข้าพเจ้าขอเริ่มด้วยวาทะที่อบินาไดใช้ตำหนิพวกปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์ “ท่านมิได้พยายามปรับใจสู่ความเข้าใจเลย; ฉะนั้น, ท่านจึงไม่ฉลาด”1

พวกปุโรหิตมีพระคัมภีร์ พวกเขารู้เรื่องกฎและศาสดาพยากรณ์ แต่พวกเขาไม่ปรับใจสู่ความเข้าใจ ใจเป็นศูนย์รวมเชิงสัญลักษณ์ของความประสงค์ ความปรารถนา ความมุ่งมั่น คุณค่า ลำดับความสำคัญ ความรู้สึก และประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับความจริง2

ความเข้าใจพระกิตติคุณเป็นยิ่งกว่ากระบวนการรับรู้3แต่คือประสบการณ์ทางวิญญาณซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงความจริง จุดประกายความนึกคิดของเรา และเปลี่ยนแปลงใจเรา4ความเข้าใจของใจเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ

เมื่อนักเรียนคนหนึ่งของท่านปรารถนาจะปรับใจเธอสู่ความเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณสักข้อเช่นศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เธอต้องใช้สิทธิ์เสรีเลือกพระเยซูคริสต์และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนั้น ประสบการณ์ของเธอกับหลักธรรมนั้นจะเปิดทางเข้าสู่ใจเธอ การกระทำของเธอยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยาน ให้ความกระจ่าง และเปลี่ยนแปลงใจเธอให้น้อมรับพระเจ้าและหลักธรรมนั้น5เมื่อเธอยังคงดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ใคร่ครวญประสบการณ์ และเป็นพยานถึงสิ่งที่เธอรู้ว่าจริง ความเข้าใจเรื่องศรัทธาจะเพิ่มขึ้น และใจเธอจะเปลี่ยน

  • ความประสงค์ ความปรารถนา และลำดับความสำคัญของเธอเกี่ยวกับการปฏิบัติด้วยศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดจะสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์มากขึ้น

  • พันธสัญญาของเธอกับพระเจ้าทำให้เธอมีความมุ่งมั่นในใจลึกซึ้งขึ้นว่าจะปฏิบัติด้วยศรัทธาในพระองค์

  • ความรู้สึกของเธอในเรื่องความรัก ความภักดี ปีติ และศรัทธาในพระเจ้าจะลึกซึ้งและแรงกล้ามากขึ้น

  • ประจักษ์พยานของเธอต่อความจริงเรื่องศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เดชานุภาพของพระเจ้าและความรักของพระองค์จะเติบโต6

ท่านและข้าพเจ้าจะทำอะไรได้บ้างในฐานะครูสอนพระกิตติคุณเพื่อช่วยให้นักเรียนปรับใจสู่ความเข้าใจในหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามีข้อคิดสำคัญสำหรับเรา

ครูคนหนึ่งสอนนักเรียนประถมสี่กลุ่มหนึ่งและเล่าเรื่องมาร์ติน ลูเทอร์ บาทหลวงคาทอลิกชาวเยอรมันผู้เป็นบุคคลสำคัญในการปฏิรูปนิกายโปรเตสแตนท์ในยุโรป7ให้ฟัง จากนั้นแจกแบบสอบถามสั้นๆ แต่นักเรียนตอบคำถามราวกับว่าพวกเขาเรียนเรื่องมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน ด้วยเหตุนี้จึงตอบคำถามไม่ถูกสักข้อ

ต่อจากนั้นครูสอนนักเรียนประถมสี่กลุ่มที่สอง แต่คราวนี้เขาเริ่มด้วยคำถามว่า “ใครรู้บ้างว่ามาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เป็นใคร” ทุกคนยกมือ เด็กเหล่านั้นมีความรู้มากมายเกี่ยวกับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ครูจึงถามว่า “รู้หรือเปล่าว่าทำไมพ่อแม่ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์จึงตั้งชื่อเขาว่ามาร์ติน ลูเธอร์—คิง” ไม่มีใครรู้ ครูจึงพูดว่า “ครูจะเล่าให้ฟังว่าทำไม” จากนั้นเขาก็สอนเรื่องมาร์ติน ลูเทอร์ โดยใช้ข้อมูลเดียวกันกับที่ใช้กับกลุ่มแรก เมื่อเขาแจกแบบสอบถามชุดเดิม กลุ่มที่สองตอบคำถามถูกทุกข้อ

นักเรียนกลุ่มแรกไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเกี่ยวกับมาร์ติน ลูเทอร์8แต่ในกลุ่มที่สองครูเชื่อมโยงมาร์ติน ลูเทอร์กับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์คนที่นักเรียนรู้จักดีและรู้สึกชอบเขามาก

คำถามของครูและการสนทนาของเขากับนักเรียนเปิดความนึกคิดและใจของนักเรียนให้รับข้อมูลใหม่และความรู้สึกใหม่ๆ พวกเขาไม่เพียงเรียนรู้เกี่ยวกับมาร์ติน ลูเทอร์เท่านั้น แต่การเรียนรู้นั้นเพิ่มความเข้าใจเรื่องมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ด้วย

เรื่องนี้สอนให้เราสร้างประสบการณ์ที่จะช่วยให้นักเรียนปรับใจสู่ความเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณ บทเรียนสำคัญสองบทคือ

  1. มีพลังอย่างมากในการเชื่อมโยงหลักธรรมกับประสบการณ์ของพวกเขาเองและกับสิ่งที่พวกเขารู้และเข้าใจอยู่แล้ว ประสบการณ์ส่วนตัวเปิดทางเข้าสู่ใจของพวกเขาจริงๆ

  2. การใช้คำถามทั้งสองอย่างสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งคำถามที่เราถามและคำถามที่นักเรียนถาม คำถามไขความนึกคิดและใจของพวกเขา

แนวคิดทั้งสองได้ผลมาก ข้าพเจ้าขอให้ท่านใช้สองข้อนี้พร้อมกับสองข้อต่อจากนี้:

  1. ตั้งใจสอนกระบวนการ การปรับใจสู่ความเข้าใจเป็นกระบวนการทางวิญญาณ ความเข้าใจของใจเป็นของประทานฝ่ายวิญญาณ ขอให้สอนนักเรียนว่ากระบวนการได้ผลอย่างไร ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบต่อการใช้สิทธิ์เสรีเลือกพระเจ้าและดำเนินชีวิตตามหลักธรรม สอนให้พวกเขาใคร่ครวญสิ่งที่พวกเขาประสบ และแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ และเป็นพยานถึงความจริง พระคุณของพระเยซูคริสต์จะอยู่กับพวกเขาเมื่อพวกเขาสอนกัน9

  2. เน้นพระผู้ช่วยให้รอด หลักคำสอน แสงสว่าง และความรัก และเดชานุภาพของพระองค์คือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ทุกสิ่งรวมกันอยู่ในพระองค์ เมื่อเรากล่าวคำพยานถึงพระองค์และเชื่อมโยงหลักธรรมกับพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะกล่าวคำพยานถึงความจริง สอน และให้ความกระจ่าง

ขณะท่านทำสิ่งเหล่านี้ และอีกมากมาย พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเป็นพยานถึงความจริง โดยเฉพาะความจริงที่ว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระองค์จะทรงสอนนักเรียนของท่านทีละคน พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงใจพวกเขา และพวกเขาจะเข้าใจพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มากขึ้น ข้าพเจ้าทราบว่านี่เป็นความจริง! ข้าพเจ้าฝากความรักและพยานของข้าพเจ้าไว้กับท่าน ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. โมไซยาห์ 12:27.

  2. ดู Merriam-Webster.com Dictionary, “Heart,”merriam-webster.com.

  3. ดูการสนทนาเพิ่มเติมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างใจกับความเข้าใจพระกิตติคุณได้จาก เดวิด เอ. เบดนาร์,Increase in Learning(2011), 66–70.

  4. ความนึกคิดของเราเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการนี้แน่นอน แต่ถ้าเราใช้เพียงความนึกคิด และไม่ “เอียงใจ [เรา] เข้าหาความเข้าใจ” (สุภาษิต 2:2) เราจะไม่เข้าใจหลักธรรมจริงๆ เราจะรู้ แต่เราจะไม่เข้าใจในแบบที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราเข้าใจ นอกจากนี้ เมื่อเราพูดถึงความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในใจเรา เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงใจของเราด้วย

  5. เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนหลักธรรมนี้ว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงบังคับท่านให้เรียนรู้ ท่านต้องใช้สิทธิ์เสรียินยอมให้พระวิญญาณสอนท่าน เมื่อท่านฝึกทำเช่นนี้ในชีวิต ท่านจะรับความรู้สึกที่มาพร้อมการชี้นำทางวิญญาณได้มากขึ้น” (“เพื่อให้ได้รับการชี้นำทางวิญญาณ,”เลียโฮนา,พ.ย. 2009, 8; ดู 6–9 ด้วย).

  6. มีหลักธรรมที่่ใช้ได้ผลและสำคัญมากที่นี่ พระเยซูทรงแสดงให้เราเห็นวิธี เช่นเดียวกับทุกเรื่อง พระเยซูทรงมีความรู้อันสมบูรณ์เกี่ยวกับความอ่อนแอและความทุพพลภาพของเรา แต่ทรงเลือกทนทุกข์ในเนื้อหนัง (ดูแอลมา 7:11) พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพื่อจะลดพระองค์ลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงและเข้าพระทัยสิ่งทั้งปวง เพื่อจะทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา มีความเห็นใจโดยสมบูรณ์และมีพลังไถ่เรา ทำให้เราเข้มแข็ง และช่วยเหลือเรา แนวคิดนี้—ว่าพระเยซูทรงเลือกรับเอาความทุพพลภาพของเราไว้กับพระองค์ในเนื้อหนังทำให้พระองค์มีความเข้าพระทัยเกินกว่าที่ทรงรู้ด้วยสติปัญญา—เป็นแนวคิดที่กล่าวไว้อย่างไพเราะในคำพูดของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์เรื่อง “Willing to Submit” (Ensign,May 1985, 70–73).

    ต่อมาในเกทเสมนีโดยผ่านความทุกขเวทนา พระเยซูทรงเริ่ม “เป็นทุกข์” (มาระโก 14:33) หรือ “ตกใจ” และ “แปลกใจ” ในภาษากรีก ให้จินตนาการว่าพระเยโฮวาห์ พระผู้สร้างโลกนี้และโลกอื่นๆ ทรง “แปลกใจ”  พระเยซูทรงรู้แน่แก่ใจว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ใช่รู้จากประสบการณ์ พระองค์ไม่เคยรู้จักกระบวนการที่จริงจังและเรียกร้องมากของการชดใช้มาก่อน ด้วยเหตุนี้ เมื่อความปวดร้าวมาถึงขีดสุด ความปวดร้าวนั้นจึงรุนแรงมาก มากเกินกว่าพระองค์จะทรงจินตนาการได้ด้วยพระปรีชาญาณอันหาใดเทียบได้ของพระองค์! ไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดทูตสวรรค์จึงมาปรากฏเพื่อชูกำลังพระองค์ (ดูลูกา 22:43)!

    มีพระคัมภีร์หลายข้อที่อธิบายชัดเจนว่าเราได้รับพร (เหมือนของประทานฝ่ายวิญญาณแห่งความเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณ) หลังจากเราดำเนินชีวิตตามหลักธรรมเท่านั้น (ดูยอห์น 7:17;ยอห์น 8:31–32;เอเฟซัส 1:17–21;โมไซยาห์ 12:27;แอลมา 32:28;อีเธอร์ 12:6;หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:4;หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:10–11).

  7. เรื่องนี้เรียบเรียงตาม James E. Zull,The Art of Changing the Brain: Enriching the Practice of Teaching by Exploring the Biology of Learning(2002), 124–25.

  8. นักเรียนในกลุ่มแรกกรองทุกอย่างที่ได้ยินผ่านกรอบความรู้ที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เมื่อพวกเขาได้ยินคำว่า “มาร์ติน ลูเทอร์” พวกเขาจึงเชื่อมโยงคำเหล่านั้นกับ “คิง” และใช้กรอบความรู้ที่มีอยู่เดิม พวกเขาไม่รับรู้อะไรเลยเกี่ยวกับมาร์ติน ลูเทอร์.

  9. ดูหลักคำสอนและพันธสัญญา 88:77–78.

พิมพ์