รายการตรวจสอบของครู
การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดกับเอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟ
12 มิถุนายน 2022
คนโปรดของข้าพเจ้า!
พี่น้องที่รัก เพื่อนที่รัก ช่างเป็นเวลาที่ดีที่ได้มาอยู่ด้วยกันและชมวีดิทัศน์อันยอดเยี่ยมและงดงามที่แสดงให้เราเห็นถึงวิธีที่สมาชิกศาสนจักรและผู้คนของโลกสามารถสอนคนทุกยุคทุกสมัยในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
เพื่อนที่รัก ข้าพเจ้าปลาบปลื้มที่ได้อยู่ท่ามกลางคนโปรด: บรรดาครู—ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต! เนื่องจากทุกท่านเป็นครูไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง กลุ่มคนโปรดของข้าพเจ้าจึงน่าจะหมายรวมถึงทุกคน ข้าพเจ้ารักครู ชอบคลุกคลีกับครู ข้าพเจ้ารักและเป็นหนี้ครูเกินกว่าจะทดแทนได้ในชีวิต
นักวิชาการศึกษามาหลายร้อยปีว่าอะไรสร้างครูที่ยอดเยี่ยม และได้เสนอ ส่งเสริม และตีพิมพ์ทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จ
เราทุกคนได้รับพรให้เรียนรู้จากครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล พระเยซูคริสต์ ตลอดสองพันปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีสักวินาทีผ่านไป—ไม่ว่าที่ใดในโลก—ที่ไม่มีคนเห็นค่า ศึกษา ไตร่ตรอง กล่าวย้ำ และทำตามคำสอนของพระองค์
นั่นไม่ใช่เป้าหมายของครูทุกคนหรอกหรือ? ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน? ที่จะเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่นไกลเกินกว่าบทเรียนหรือห้องเรียน?
พระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงมีอิทธิพลเช่นนั้น—ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีใครให้เราศึกษาดีไปกว่านี้? ถ้าเราเรียนรู้จากพระองค์ ไม่ว่าสถานการณ์ในชีวิตเราเป็นเช่นไร เราจะไม่เพียงเป็นครูที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นมากด้วย
ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พูดกับท่านวันนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด—เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการเป็นครูที่ดีขึ้นคือเป็นผู้ติดตามที่ดีขึ้นของพระเยซูคริสต์
ความสำคัญของการตรวจสอบก่อนบิน
สมัยเป็นนักบิน ทุกครั้งที่นั่งประจำที่กัปตัน ข้าพเจ้ามีเป้าหมายสำคัญอย่างเดียวคือ—พาตัวเอง ลูกเรือ และผู้โดยสารไปให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย เป้าหมายนี้ต้องมุ่งจดจ่อและระมัดระวัง
เพื่อให้มีสมาธิมุ่งจดจ่อ นักบินต้องทำการตรวจสอบก่อนบิน ซักซ้อมขั้นตอนความปลอดภัย ทดสอบการทำงานของอุปกรณ์และความเชื่อถือได้ของเครื่องยนต์กลไก รายการตรวจสอบแต่ละข้อเป็นสิ่งที่นักบินต้องทำหลายร้อยครั้ง (ไม่ก็หลายพันครั้ง)
นักบินที่ชำนาญจะคิดเอาเองว่าเพราะเคยบินมาหลายร้อยเที่ยว จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบก่อนบินหรือตรวจผ่านๆ ไปก็ได้
การตรวจสอบก่อนบินฝึกนักบินให้มุ่งจดจ่ออยู่กับสิ่งสำคัญซึ่งทำให้บินถึงที่หมาย
นักบินมีจุดมุ่งหมายชัดเจนฉันใด เราผู้เป็นครูสอนพระคำก็มีจุดมุ่งหมายชัดเจนฉันนั้น คือนำจิตวิญญาณมาใกล้พระคริสต์มากขึ้น ทุกครั้งที่เรามีโอกาสสอน เราควรคิดถึงเป้าหมายนั้นเป็นอันดับแรก
ในฐานะครู เรามีรายการตรวจสอบที่จะช่วยให้เรามุ่งจดจ่ออยู่กับวัตถุประสงค์ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่? มี!
การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
เดือนนี้ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะเผยแพร่ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ฉบับแก้ไข นี่คือคู่มือสำหรับทุกคนที่สอนพระกิตติคุณ—ในบ้านและในโบสถ์ โดยจะมีให้อ่าน 70 ภาษาในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ฉบับพิมพ์จะตามมาในเดือนถัดๆ ไป
แหล่งช่วยนี้จะดึงพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซูคริสต์มาเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้เรา จะช่วยเรามุ่งจดจ่ออยู่กับวิธีที่ทรงสอน
การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด จะช่วยทุกคนที่กำลังสอน จะให้แรงบันดาลใจและคำแนะนำสำหรับบิดามารดา เพื่อนบ้าน บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ผู้สอนศาสนา และสานุศิษย์ทุกคนของพระเยซูคริสต์ การเป็นสานุศิษย์หมายถึงการรัก ดูแล เป็นพร และหนุนใจผู้อื่น และนั่นหมายถึงการสอน
อีกนัยหนึ่งคือ ถ้าท่านพยายามรักและรับใช้เหมือนพระเยซู ท่านก็คือครูคนหนึ่ง และ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด มีไว้สำหรับท่านและข้าพเจ้า หวังว่าสิ่งนี้จะเป็นสมบัติล้ำค่าสำหรับท่าน ไม่ว่าท่านกำลังเริ่มต้นบนเส้นทางนี้หรือเดินทางมาแล้วหลายปีก็ตาม
ในส่วนที่ 3 ของ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด มีการประเมินตนเอง—เหมือนรายการตรวจสอบก่อนบิน—ที่จะช่วยให้เรามุ่งจดจ่อมากขึ้นในการสอน คู่มือนี้จะนำเราให้ตรวจสอบตนเอง เห็นจุดบอด และได้รับการดลใจให้รู้วิธีที่เราปรับปรุงได้ จะเป็นประโยชน์สำหรับครูเหมือนกับเป็นรายการตรวจสอบก่อนบินสำหรับนักบิน
กล่าวคือถ้าท่านยอมให้ข้าพเจ้านั่งข้างท่านในห้องนักบิน ข้าพเจ้าอยากตรวจสอบกับท่านก่อนการสอน ขอให้ท่านดึงตารางเปรียบเทียบออกมาแล้วพิจารณาว่าจะประเมินตนเองแต่ละข้ออย่างไร การประเมินตนเองเช่นนี้จะเป็นพรใหญ่หลวงได้—วันนี้และทุกครั้งที่ท่านเตรียมสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
มุ่งความสำคัญไปที่พระเยซูคริสต์
รายการแรกในการตรวจสอบก่อนบินคือ “มุ่งความสำคัญไปที่พระเยซูคริสต์” นี่เป็นโอกาสให้ใคร่ครวญว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นจุดศูนย์กลางการสอนของเราจริงๆ หรือไม่ โปรดพิจารณาคำถามเหล่านี้:
-
ฉันสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ไม่ว่ากำลังสอนเรื่องอะไรหรือไม่?
-
ฉันเน้นความสำคัญถึงแบบอย่างของพระเยซูคริสต์หรือไม่?
-
ฉันช่วยให้ผู้เรียนรับรู้ถึงความรัก เดชานุภาพ และพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตหรือไม่?
-
ฉันช่วยให้ผู้เรียนตั้งใจพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นหรือไม่?
เหล่านี้เป็นคำถามที่ลึกซึ้ง!
พูดกันตามตรงคือ: พระกิตติคุณกว้างมากจนท่านอาจใช้เวลาศึกษาชั่วชีวิตและรู้เพียงผิวเผินเท่านั้น ลองนึกถึงการวาดเป้าให้สูงและกว้างเท่าด้านข้างของอาคารไม้มหึมาที่ใช้แทนความกว้างใหญ่ของพระกิตติคุณ
เราทุกคนมีงานอดิเรกพระกิตติคุณที่ชื่นชอบ—สิ่งที่เราสนใจ ประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ โปรแกรมศาสนจักร หัวข้อหลักคำสอน หรือแม้กระทั่งข้อพระคัมภีร์เดี่ยวๆ และเราอาจจะรู้สึกอยากเน้นไปที่หัวข้อโปรดของเราเป็นหลัก
แต่เป้าหมายหลักของการสอนพระกิตติคุณมีขนาดพอๆ กับตาวัว—หรือจุดศูนย์กลางของเป้า—ซึ่งเราไม่ควรลืมที่จะเน้น—มันมีขนาดเล็ก นั่นคือจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้มาจากคำวิจารณ์ ไม่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็น ไม่ได้มาจากการโต้วาที พระผู้ช่วยให้รอดเป็นผู้ประทานแก่เรา
นั่นคืออะไร?
รักพระผู้เป็นเจ้าและรักผู้อื่น
นั่นคือจุดศูนย์กลาง
สิ่งอื่นอาจน่าสนใจ แม้ถึงกับสำคัญ แต่ไม่ใช่จุดศูนย์กลาง
สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวประกอบ เป็นเครื่องเคียงในเมนูของเรา อาจเป็นสลัดให้แก่อาหารจานหลัก สามารถเพิ่มรสชาติหรือความหลากหลาย แต่ไม่ใช่เมนูหลัก
แล้วอะไรคือเป้าหมายในการสอนของเรา?
เป้าหมายของเราคือช่วยให้คนที่เราสอนเข้ามาใกล้พระคริสต์มากขึ้น เพิ่มพูนความรู้และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า รับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยยื่นมือช่วยเหลือลูกทุกคนของพระองค์ด้วยความเห็นใจ
นั่นคือจุดศูนย์กลาง
เราจะพบแบบอย่างที่ดีที่สุดของการรักพระผู้เป็นเจ้าและรักผู้อื่นจากที่ไหน?
พบในพระชนม์ชีพและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา
ขณะนำจิตวิญญาณมาหาพระคริสต์ เราช่วยพวกเขาเพิ่มพูนศรัทธาและความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า เราช่วยพวกเขาเพิ่มพูนความเห็นใจและความรักต่อผู้อื่น
เมื่อเราถูกหัวข้ออื่นที่อาจดูน่าสนใจล่อลวงเราให้เฉและเขว เราควรถามตัวเองจริงๆ ว่า:
“ฉันมุ่งความสำคัญที่พระผู้ช่วยให้รอดไม่ว่ากำลังสอนเรื่องอะไรหรือไม่?
“สิ่งที่ฉันกำลังสอนช่วยให้ผู้อื่นรักพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและแสดงความรักนั้นโดยการรักและรับใช้ และโดยการประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเราหรือไม่?”
ในฐานะครู เราอาจพูดด้วยลิ้นของเทพ ทำให้เพลิดเพลิน ยินดี สนุกสนาน และประหลาดใจ แต่ถ้าเราไม่ได้มุ่งความสำคัญไปที่พระเยซูคริสต์ เราย่อมพลาดเป้า1 และการสอนของเราก็เป็นเพียงเงาของสิ่งที่ควรจะเป็น
จงมุ่งความสำคัญไปที่พระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเราเสมอ
รักคนที่ท่านสอน
รายการตรวจสอบหมวดที่สองคือ “รักคนที่ท่านสอน” รายการตรวจสอบหมวดนี้จะเปิดโอกาสให้เราใคร่ครวญเจตนาของเราในฐานะครู และเตือนเราให้มีใจมุ่งอยู่กับการรักและเห็นค่าคนที่เราสอน ลองพิจารณาคำถามบางข้อต่อไปนี้:
-
ฉันพยายามมองผู้เรียนแบบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมองหรือไม่?
-
ฉันหาวิธีรู้จักคนที่ฉันสอน—เพื่อเข้าใจสภาวการณ์ ความต้องการ และข้อดีของพวกเขาหรือไม่?
-
ฉันสวดอ้อนวอนให้ผู้เรียนโดยออกชื่อหรือไม่?
-
ฉันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งทุกคนได้รับความเคารพและรู้ว่าการมีส่วนของพวกเขามีค่าหรือไม่?
-
ฉันหาวิธีแสดงความรักอย่างเหมาะสมหรือไม่?
ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นครูมัธยมปลายที่เก่งมาก เธอใช้เวลาหลายปีพัฒนาวิธีสอนและทุ่มเทมากให้ชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย เธอรู้วิธีรับมือกับนักเรียนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี
ปีหนึ่งเธอได้เข้าร่วมโปรแกรมโรงเรียนภาคฤดูร้อนที่เธอสอนนักเรียนที่อายุน้อยกว่าเดิมและแตกต่างจากเดิมมาก นั่นคือเด็กห้าขวบ แน่นอนว่าเด็กๆ ตื่นเต้นและเปี่ยมด้วยพลังขณะกรูกันเข้ามาในห้องเรียน พวกเขาส่งเสียงดัง หัวเราะครื้นเครง ตะโกนโหวกเหวก วิ่งไปมา และไล่กวดกัน ครูคนนี้ทำให้ชั้นเรียนอยู่ในระเบียบโดยใช้ “เสียงครูดุๆ” ที่ใช้ได้ผลกับเด็กมัธยมปลายเพื่อให้เด็กๆ สงบและนั่งที่ แต่เกิดอะไรขึ้น?
ทั้งห้องเงียบกริบ เด็กๆ หยุดสิ่งที่ทำอยู่ทันที ตาเบิกโพลง แล้วรีบไปนั่งที่ ยกเว้นอยู่สองคน
คนแรกเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เธอลงไปนั่งกับพื้นและเริ่มร้องไห้ ทั้งที่ครูไม่ได้รู้สึกโกรธเธอสักนิด แต่เด็กน้อยคนนี้รู้สึกว่าเธอคงทำอะไรไม่ดีบางอย่างแน่ๆ และลงไปนั่งร้องไห้ฟูมฟาย
เด็กคนที่สองเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ แต่แข็งแรง เขามองครูด้วยความกลัวแล้ววิ่งพรวดออกจากห้องหายวับไปตามทางเดิน ครูสงสัยว่าเขาจะกลับมาหรือเปล่า
วันนั้นครูเรียนรู้บทเรียนสำคัญคือ เทคนิคที่เธอใช้กับวัยรุ่นใช้ไม่ได้ผลกับเด็กเล็ก
และนั่นเป็นบทเรียนสำหรับท่านและข้าพเจ้าเช่นกัน
ทุกคนที่เราสอนเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้าและมีบุคลิกเฉพาะตัว
เรามองพวกเขาแบบพระบิดาบนสวรรค์ทรงมองหรือไม่—ว่าพวกเขาเป็นคนมีความคิด ความรู้สึก การทดลอง และการต่อสู้ของพวกเขาเอง? เรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยหรือไม่—ที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับ?
ไม่ว่าเราจะพูดภาษาอะไร นักเรียนของเรารู้หรือไม่ว่าเราพูดภาษาสากลซึ่งคือภาษารัก? ว่าเราเห็นคุณค่า เห็นใจ และเคารพพวกเขา?
พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้เวลามากมายในพระชนม์ชีพกับคนที่สังคมทอดทิ้งและไม่ยอมรับ
พระองค์จะทรงสั่งสอนและประณามพวกเขาก็ได้ แต่กลับทรงโอบกอด รักษา และปลอบประโลมพวกเขาแทน
ใช่ พระองค์ทรงสอนพวกเขาว่า “จงไปเถิดและจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก”2 พระองค์ตรัสและปฏิบัติต่อคนป่วย คนบาป และคนพิการด้วยความรัก ความเห็นใจ และความเคารพ
ทรงเห็นเราแต่ละคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ—ไม่ต่ำกว่าพระองค์ แต่มีศักยภาพนิรันดร์ที่จะเดินเคียงข้างพระองค์ในรัศมีภาพ
ซี.เอส.ลูอิส นักเขียนชาวคริสต์ที่ยิ่งใหญ่สะท้อนมุมมองนี้เมื่อเขาสอนว่า “การอยู่ในสังคมของคนที่จะเป็นพระผู้เป็นเจ้าได้นั้น เป็นเรื่องจริงจังที่จะจดจำว่าคนน่าเบื่อที่สุดและคนไม่น่าสนใจที่สุดที่ท่านพูดคุยด้วยตอนนี้สักวันอาจจะเป็นคนที่ท่านอยากบูชามากก็ได้” เขากล่าวต่อว่า “ไม่มีใครเป็นคนธรรมดา ท่านไม่ได้พูดคุยกับผู้ที่เป็นแค่มนุษย์ … ผู้ที่ท่านล้อเล่นด้วย ทำงานด้วย แต่งงานด้วย ดูแคลน และเอาเปรียบคือผู้อมตะ — ซึ่งมีความเป็นอมตะ… มีราศีอันเป็นนิจ”3
เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ เราสะท้อนแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เรารักเหมือนพระองค์ทรงรัก เราหนุนใจเหมือนพระองค์ทรงหนุนใจ เราสอนเหมือนพระองค์ทรงสอน
บัตนี้ ขอให้เราจดจำว่าต้องรัก เคารพ และหนุนใจคนที่เราสอน
สอนโดยพระวิญญาณ
รายการตรวจสอบหมวดที่สามคือ “สอนโดยพระวิญญาณ” โปรดพิจารณาคำถามเหล่านี้:
-
ฉันเตรียมตนเองทางวิญญาณให้พร้อมสอนหรือไม่?
-
ฉันตอบรับการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณเกี่ยวกับความต้องการของผู้เรียนหรือไม่?
-
ฉันสร้างสภาพแวดล้อมและโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการสอนโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่?
-
ฉันช่วยให้ผู้เรียนแสวงหา รับรู้ และทำตามการเปิดเผยส่วนตัวหรือไม่?
-
ฉันแสดงประจักษ์พยานบ่อยๆ และกระตุ้นผู้เรียนให้ทำเช่นเดียวกันหรือไม่?
ข้าพเจ้าพยายามเตือนตนเองบ่อยๆ ว่าในขณะพยายามสอนพระกิตติคุณและนำผู้คนมาหาพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าไม่สามารถทำให้ใครเปลี่ยนใจเลื่อมใจได้
พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นทรงทำได้
เราพูดพระคำได้ แต่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นเรื่องของพระวิญญาณ เกิดขึ้นเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสัมผัสใจและบุคคลตอบรับอิทธิพลของพระองค์โดยติดตามพระผู้ช่วยให้รอด
ถ้าคน “เชื่อมั่น” เพราะคำพูดโน้มน้าวหรือการให้เหตุผลที่ดีว่าต้องติดตามพระเยซูคริสต์ ความเชื่อมั่นนั้นอาจอยู่แค่ประเดี๋ยวเหมือนเมล็ดพืชที่ตกกลางดงหนาม4
งานของเราไม่ใช่ทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใส นั่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา
แล้วงานของเราคืออะไร? คือสอนข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ฟื้นฟูในสมัยของเรา! งานของเราคือสนับสนุนและยืนยันคำพูดของเราด้วยการกระทำที่ซื่อสัตย์และจริงใจ! วิธีที่เราดำเนินและกระทำในชีวิตเรา
คนจะตอบรับสิ่งที่เราสอนหรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างพวกเขากับพระผู้เป็นเจ้า แต่เราสามารถเป็นสะพานเชื่อมพวกเขากับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถเป็นหน้าต่างให้พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เข้ามาในชีวิตพวกเขา คำพูดและการกระทำของเราสามารถสอนหลักคำสอนของพระคริสต์ในวิธีที่ช่วยให้นักเรียนประสบอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์
ตามที่เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เคยสอน “การศึกษาและเหตุผลสามารถพบความจริง … แต่การเปิดเผยเท่านั้นสามารถยืนยันความจริง”5
ข้าพเจ้าขอย้ำข้อความนั้น: “การศึกษาและเหตุผลสามารถพบความจริง … แต่การเปิดเผยเท่านั้นสามารถยืนยันความจริง”
บางครั้งเราเดินละเมอผ่านชีวิต เราเห็นหลายอย่างแต่จำแทบไม่ได้ โฆษณา คำคมใน Pinterest แม้กระทั่งป้ายถนน ส่วนใหญ่เข้ามาในหัวสมองแต่ไม่ทะลุทะลวงใจ
แต่ถ้าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ตรัสกับจิตวิญญาณท่าน กับจิตวิญญาณข้าพเจ้า ท่านกับข้าพเจ้าจะลืมไม่ลงเพราะสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงท่าน เปลี่ยนแปลงเรา จงจำสิ่งที่โจเซฟ สมิธกล่าวหลังจากอ่าน ยากอบ 1:5: “ไม่เคยมีข้อความใดในพระคัมภีร์มาสู่จิตใจมนุษย์ด้วยพลังได้มากไปกว่าข้อความนี้ที่ขณะนั้นมาสู่จิตใจข้าพเจ้า”6
พระวิญญาณทรงสามารถทำให้ความคิดธรรมดาที่พูดแบบธรรมดาลุกไหม้เหมือนไฟได้
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของผู้อื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาทศิลป์หรือความเชี่ยวชาญพระคัมภีร์ของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราสอนหรือปกป้องหลักคำสอนดีเพียงใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับไหวพริบ เสน่ห์ หรือความเชี่ยวชาญด้านภาษาของเรา
ทั้งหมดที่เราต้องทำคือรู้ด้วยตัวเราเอง จากนั้นพระบิดาบนสวรรค์ทรงเชื้อเชิญให้เรา “อ้าปาก [ของเรา] ตลอดเวลา, โดยประกาศกิตติคุณ [ของพระองค์] ด้วยเสียงแห่งความชื่นชมยินดี”7 ถ้าเราทำเช่นนั้น พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงเป็นพยานถึงความจริง
เราไม่ต้อง “เป็น” อะไรมากหรือน้อยไปกว่าที่เป็นอยู่ และนั่นคือเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าและผู้ติดตามพระเยซูคริสต์
ท่านจะแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด พระกิตติคุณ และศาสนจักรของพระองค์ด้วยปีติยินดีได้หรือไม่?
ถ้าเราทำส่วนของเรา พระวิญญาณจะทรงทำส่วนของพระองค์ นั่นคือวิธีที่เรา “สอนโดยพระวิญญาณ”
สอนหลักคำสอน
รายการที่สี่ในการตรวจสอบก่อนบินคือ “สอนหลักคำสอน”—ไม่ใช่หลักคำสอนใดก็ได้ แต่สอนหลักคำสอนที่พระเยซูคริสต์ทรงได้รับจากพระบิดา พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของผู้ทรงใช้เรามา”8 เพื่อประเมินว่าท่านกำลังทำตามแบบอย่างของพระองค์ดีเพียงใด โปรดพิจารณาคำถามเหล่านี้:
-
ฉันเรียนรู้หลักคำสอนด้วยตัวเองหรือไม่?
-
ฉันสอนจากพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายหรือไม่?
-
ฉันช่วยให้ผู้เรียนรับรู้และเข้าใจความจริงในพระคัมภีร์หรือไม่?
-
ฉันมุ่งความสำคัญไปที่ความจริงที่สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์หรือไม่?
-
ฉันช่วยให้ผู้เรียนพบการเปิดเผยส่วนตัวในหลักคำสอนหรือไม่?
ในสมัยการประทานของเราพระเจ้าตรัสว่า: “เราให้บัญญัติข้อหนึ่งแก่เจ้าว่าเจ้าจะสอนหลักคำสอนของอาณาจักรให้กัน. เจ้าจงสอนอย่างขยันหมั่นเพียรและพระคุณของเราจะอยู่กับเจ้า”9
อะไรคือหลักคำสอนที่เราต้องสอน?
คือถ้อยคำที่ออกมาจากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และจากปากอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ ท่านเหล่านี้มีสิทธิ์และสิทธิอำนาจในการอรรถาธิบายและชี้แจ้งหลักคำสอน พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศพระคำของพระองค์ผ่านพวกท่านเสมอ เพื่อให้แนวทางและความเข้าใจแก่ลูกๆ ของพระองค์
หลักคำสอนแห่งความรอดที่เป็นศูนย์กลางของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของทุกคน อัครสาวกเปาโลผู้เห็นและติดต่อกับพระผู้ช่วยให้รอดที่คืนพระชนม์เขียนถึงชาวโครินธ์ว่า “ข้าพเจ้าขอให้คำนึงถึงข่าวประเสริฐที่ข้าพเจ้าเคยประกาศแก่ท่านทั้งหลาย … คือ [พระเยซูพระคริสต์] วายพระชนม์เพราะบาปของเรา … ทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา … พระองค์ทรงปรากฏต่อเคฟาส แล้วต่ออัครทูตสิบสองคน”10
เราได้รับบัญชาให้ “ยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า, ซึ่งมีชีวิตและทรงพลัง … และ [จะ] นำคนของพระคริสต์ไปในทางคับแคบและแคบ … และวางจิตวิญญาณของพวกเขา, แท้จริงแล้ว, จิตวิญญาณอันเป็นอมตะของพวกเขา, ไว้ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรแห่งสวรรค์”11
ในฐานะครู เราต้องไม่ละอายในเรื่องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์12 แต่เราต้องเปล่งเสียงอย่างเบิกบานขณะสอนหลักคำสอนแม้อาจดูเหมือนเป็นสิ่งสะดุดของบางคนและเป็นความโง่เขลาของอีกหลายคนก็ตาม13 “เพราะว่าข่าวประเสริฐนั้นเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด”14
เชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
รายการสุดท้ายในการตรวจสอบก่อนบินคือ “เชื้อเชิญให้เรียนรู้อย่างขยันหมั่นเพียร” ข้อนี้เป็นเครื่องเตือนสติว่า การสอน อย่างขยันหมั่นเพียรเป็นครึ่งเดียวของสมการ อีกครึ่ง—ในระยะยาวอาจเป็นครึ่งที่สำคัญกว่า—คือการที่นักเรียนของเรา เรียนรู้ อย่างขยันหมั่นเพียร ต่อไปนี้เป็นคำถามที่จะช่วยเราประเมินว่าการสอนอย่างขยันหมั่นเพียรของเรากำลังนำไปสู่การเรียนรู้อย่างขยันหมั่นเพียรหรือไม่:
-
ฉันช่วยให้ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนหรือไม่?
-
ฉันกระตุ้นให้ผู้เรียนศึกษาพระกิตติคุณทุกวันหรือไม่?
-
ฉันกระตุ้นให้ผู้เรียนแบ่งปันความจริงที่กำลังเรียนรู้หรือไม่?
-
ฉันเชื้อเชิญให้ผู้เรียนดำเนินชีวิตตามสิ่งที่กำลังเรียนรู้หรือไม่?
วิญญาณเราต้องมีการบำรุงเลี้ยงอยู่เสมอเพื่อเราจะสามารถเป็นผู้มีแสงสว่างและรัศมีภาพที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างให้เราเป็น เมื่อเราศึกษาและไตร่ตรองถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เราดื่มน้ำดำรงชีวิตและดื่มด่ำพระคำของพระคริสต์
อ่านพระคำอย่างเดียวไม่พอ เราต้องสดับฟัง เราต้องไตร่ตรองและนำมาใช้15
กล่าวด้วยสำนวนได้ว่า “สอนพระกิตติคุณให้คนหนึ่งคน เท่ากับเป็นพรให้คนคนนั้นหนึ่งวัน สอนคนหนึ่งคนให้ดื่มด่ำพระคำของพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อมต่อกับพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับเป็นพรให้เขาชั่วชีวิต”
โดยผ่านกระบวนการดลใจและการเปิดเผยส่วนตัวนั่นเองที่เราสร้างชีวิตบนศิลาของพระผู้ไถ่16 เมื่อนั้นพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะกลายเป็น “สมอ [ของจิตวิญญาณ]”17
การสอนพระกิตติคุณมีความสำคัญ การสอนผู้อื่นให้ตั้งใจสวดอ้อนวอน แสวงหาพระวิญญาณ และประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้อย่างน้อยก็มีความสำคัญเท่าๆ กัน
สัญญา & พร
พี่น้องชายหญิงที่รัก เพื่อนที่รัก ครูที่รักและมีค่า—และทุกท่านเป็นครู เราทุกคนเป็นครู—ขอบคุณสำหรับความซื่อสัตย์และความปรารถนาจะทำดีของท่าน ขอบคุณสำหรับหลายชั่วโมงที่ท่านใช้เตรียม ปฏิบัติศาสนกิจ และสอนผู้อื่นถึงพระกิตติคุณอย่างเบิกบาน
ข้าพเจ้าขอเชิญให้ท่านศึกษา การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด เล่มใหม่ และใช้การประเมินตนเองเพื่อเตือนท่านให้นึกถึงจุดประสงค์ของท่าน
โดยการยึดมั่นพระคำของพระผู้เป็นเจ้าและสอนผู้อื่นให้ทำแบบเดียวกัน—โดยการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด—เท่ากับเราแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อเพื่อนและมนุษย์ทั้งปวง เมื่อเราเดินในทางคับแคบและแคบ เรามีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของการเรียกที่จะนำจิตวิญญาณอมตะของเราและของผู้อื่นไปทาง “พระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรแห่งสวรรค์, เพื่อจะนั่งลงกับอับราฮัม, และอิสอัค, และกับยาโคบ, และกับบรรพบุรุษผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายของเรา, และไม่ออกไปอีกเลย”18
ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรท่าน เพื่อนครูของข้าพเจ้า มิตรที่รัก และเพื่อนผู้รับใช้ของข้าพเจ้าสำหรับการทำงานอย่างจริงใจเพื่อสอนในพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ในพระนามของพระอาจารย์ ในพระนามของพระเยซูพระคริสต์ เอเมน