องอาจ มีเกียรติ และเป็นอิสระ
การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก • 11 กันยายน 2022 • ซอลท์เลคแทเบอร์นาเคิล
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์: ขอบคุณครับ เรามารวมกันในซอลท์เลคแทเบอร์นาเคิลแห่งประวัติศาสตร์ แต่มีผู้ชมมาจากทั่วโลก ทั่วพระคัมภีร์พระเจ้าทรงขอให้เรา จำ การจดจำมรดกร่วมของเราในด้านศรัทธา ความอุทิศตน และความบากบั่นจะให้มุมมองและพลังขณะเราเผชิญความท้าทายในสมัยของเรา
ด้วยความปรารถนาจะ “จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาลูกหลานมนุษย์เพียงใด”1 วิสุทธิชน: เรื่องราวศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้าย ทั้งสี่เล่มจึงเกิดขึ้น มีการเผยแพร่ไปแล้วสามเล่ม คำบรรยายทางประวัติศาสตร์นี้มีเรื่องราวของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ในอดีตรวมอยู่ด้วย ทำให้เราได้เห็นแบบอย่างของผู้คนที่รักพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ทำพันธสัญญา และเดินตามเส้นทางพันธสัญญาเพื่อมารู้จักพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์
ซิสเตอร์รูธ แอล. เรนลันด์: เราขอเน้นประสบการณ์ชีวิตจริงที่คุณอ่านได้แล้วใน Saints: Boldly, Nobly, and Independent [วิสุทธิชน: องอาจ มีเกียรติ และเป็นอิสระ] เล่มสามในหนังสือชุดนี้ เล่มนี้บันทึกประวัติของศาสนจักรระหว่างการอุทิศพระวิหารซอทล์เลคในปี 1893 ไปจนถึงการอุทิศพระวิหารเบิร์นสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1955 ในช่วงนี้ การเปิดเผยต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ในศาสนจักรผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าและต่อสมาชิกรายบุคคล วิสุทธิชน เล่ม 3 ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของเราเอง คนที่อยู่ในนั้น และพระผู้ช่วยให้รอด
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: ในช่วงเวลานี้ ปู่ย่าตายายของผมทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมศาสนจักร พ่อแม่ของผมอพยพมาอยู่ซอลท์เลคซิตี้เพราะพวกท่านสัญญากันไว้ว่าจะแต่งงานกันในพระวิหาร ในปี 1950 ไม่มีพระวิหารในยุโรป ต่างฝ่ายต่างรับเอ็นดาวเม้นท์ในพระวิหารซอลท์เลค ฟังคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษด้วยความเข้าใจเพียงเล็กน้อย ทั้งสองแต่งงานกันและผนึกและนับว่าตนได้รับพรชั่วนิรันดร์ การที่พวกท่านเลือกทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผนึกในพระวิหารมีผลนิรันดร์ต่อชีวิตผมด้วย
วิสุทธิชน เล่ม 3 คือมรดกของเรา ไม่ว่าเราจะสืบเชื้อสายมาจากผู้บุกเบิกยุคแรกเหมือนซิสเตอร์เรนลันด์ หรือจากผู้บุกเบิกยุคหลังเหมือนผม หรือพวกท่านบางคนที่เป็นผู้บุกเบิกศรัทธา ท่านเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ต่อเนื่องของศาสนจักรนี้ เราขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่ท่านทำเพื่อสร้างบนรากฐานศรัทธาที่ท่านและบรรพชนวางไว้ “เราสวดอ้อนวอนขอให้ [วิสุทธิชน] เล่มนี้ขยายความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับอดีต เพิ่มพลังศรัทธาของท่าน ช่วยให้ท่านทำและรักษาพันธสัญญาอันจะนำไปสู่ความสูงส่งและชีวิตนิรันดร์”2
ซิสเตอร์เรนลันด์: ดิฉันตื่นเต้นที่จะเล่าเรื่องต่างๆ จาก วิสุทธิชนเล่ม 3 ให้ฟัง เริ่มเลยนะคะ!
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: เราจะเริ่มด้วยตัวอย่างของการฟื้นฟูต่อเนื่องของศาสนจักร ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนบ่อยๆ ว่าการฟื้นฟู “เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์ และจะดำเนินต่อไปจนพระเจ้าเสด็จมาอีกครั้ง”3 ตัวอย่างจากวาระสุดท้ายของชีวิตประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ ทำให้เห็นภาพชัดเจน
ในปี 1918 ประธานสมิธสุขภาพไม่สู้ดี และคงทราบว่าท่านจะอยู่อีกไม่นาน ดูเหมือนความตายรายล้อมท่าน หนึ่ง ไฮรัมลูกชายคนโตป่วยและเสียชีวิตเพราะไส้ติ่งอักเสบ ประธานสมิธเขียนระบายความเศร้าโศกไว้ในบันทึกว่า “จิตวิญญาณข้าพเจ้าแตกเป็นเสี่ยงๆ … โอ้! ทรงช่วยข้าพระองค์ด้วยเถิด!”4 สอง ความโศกเศร้าของประธานสมิธเพิ่มพูน เมื่อไอดาภรรยาม่ายของไฮรัมเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวไม่นานหลังจากนั้น
สาม ท่านอ่านข่าวน่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับสงครามโลกที่ลุกลาม ระหว่างสงครามนั้น ทหารและพลเรือน 20 ล้านคนเสียชีวิต สี่ ไข้หวัดใหญ่ร้ายแรงกำลังคร่าชีวิตคนทั่วโลก จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอย่างน้อย 50 ล้านคน การเสียชีวิตเหล่านี้ทำให้ครอบครัวเศร้าโศกเสียใจสุดพรรณนา ประธานสมิธอาลัยผู้เสียชีวิต นอกจากนั้น ท่านยังล้มป่วยนานถึงห้าเดือน พูดได้ว่าความตายอยู่ในห้วงคำนึงของท่านศาสดาพยากรณ์
ดิฉันมีพระคัมภีร์ไบเบิลของประธานสมิธอยู่ที่นี่ ท่านอาจเคยใช้เล่มนี้หรือเล่มอื่นคล้ายๆ กันเพื่อกระตุ้นการเปิดเผยสำคัญ
ซิสเตอร์เรนลันด์: ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ท่านนั่งอยู่ในห้องตนเองที่ Beehive House แค่หนึ่งช่วงตึกจากที่นี่ “ใคร่ครวญการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการไถ่ของโลก ท่านเปิด … 1 เปโตรและอ่านเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดทรงสั่งสอนเหล่าวิญญาณในโลกวิญญาณ … พระวิญญาณสถิตกับ [ประธานสมิธ] ทรงเปิดดวงตาแห่งความเข้าใจ [ของท่าน]” ในโลกวิญญาณท่านเห็น “ชายหญิงที่ชอบธรรม [จำนวนมาก] ผู้เสียชีวิตก่อนการปฏิบัติศาสนกิจบนโลกของพระผู้ช่วยให้รอด กำลังรอพระองค์เสด็จมาประกาศการปลดปล่อยพวกเขาจากสายรัดแห่งความตายด้วยความเบิกบานใจ
“พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏ … วิญญาณที่ชอบธรรมชื่นชมยินดี … พวกเขาคุกเข่าเบื้องพระพักตร์พระองค์ ยอมรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ปลดปล่อยจากความตายและโซ่แห่งนรก …
“… [ประธานสมิธเข้าใจด้วย] ว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้เสด็จไปหาเหล่าวิญญาณที่ไม่เชื่อฟังด้วยพระองค์เอง แต่ทรงจัดกลุ่มวิญญาณที่ชอบธรรม … ให้นำข่าวสารพระกิตติคุณไปให้เหล่าวิญญาณในความมืด ด้วยวิธีนี้ทุกคนที่ตายในการล่วงละเมิดหรือไม่รู้ความจริงจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า การกลับใจ บัพติศมาเพื่อการปลดบาปโดยตัวแทน ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และหลักธรรมสำคัญอื่นๆ ทั้งหมดของพระกิตติคุณ …
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: “ศาสดาพยากรณ์รับรู้ต่อจากนั้นว่า [วิสุทธิชนที่] ซื่อสัตย์ของสมัยการประทานนี้จะทำงานต่อไปในชีวิตหน้าโดยสั่งสอนพระกิตติคุณให้กับเหล่าวิญญาณที่อยู่ในความมืดภายใต้พันธนาการแห่งบาป [ท่านกล่าวว่า] ‘คนตายผู้ที่กลับใจจะได้รับการไถ่, โดยการเชื่อฟังศาสนพิธีแห่งพระนิเวศน์ของพระผู้เป็นเจ้า, … และหลังจากพวกเขารับโทษของการละเมิดของพวกเขา, และได้รับการชำระล้างให้สะอาดแล้ว, จะได้รับรางวัลตามงานของพวกเขา, เพราะพวกเขาเป็นทายาทแห่งความรอด’
ซิสเตอร์เรนลันด์: “… เช้าวันต่อมา [บางคนแปลกใจที่ท่านมาร่วม] การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมทั้งๆ ที่สุขภาพกำลังย่ำแย่ ด้วยความตั้งใจที่จะพูดกับที่ประชุม ท่านยืนโงนเงนที่แท่นพูด [ในอาคารแห่งนี้] ร่างสูงใหญ่ของท่านสั่นเทาขณะพยายามทรงตัว … เพราะไม่มีแรงพูดถึงนิมิตของท่านโดยไม่สะเทือนอารมณ์ ท่านจึงเท้าความเล็กน้อยเท่านั้น ‘ห้าเดือนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ลำพัง” ท่านบอกผู้เข้าร่วมประชุม ‘ข้าพเจ้าอยู่ในวิญญาณของการสวดอ้อนวอน การวิงวอน ศรัทธา และความตั้งใจมั่น ข้าพเจ้าสื่อสารกับพระวิญญาณของพระเจ้าตลอดเวลา การประชุมเช้านี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข’ ท่านกล่าว ‘ขอพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ทรงอวยพรท่าน’”5
หลังการประชุมใหญ่สามัญประธานสมิธบอกให้โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธลูกชายท่านจดการเปิดเผย นี่เป็นสำเนาหนึ่งในสองฉบับที่ท่านลงนามและส่งให้ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง พวกท่านอ่าน ลงนามรับรอง6 และประกาศเป็น ภาค 138 ของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เราเข้าใจแล้วว่าพระผู้เป็นเจ้าสนพระทัยคนที่อยู่อีกด้านของม่านแห่งความเป็นมรรตัย สนพระทัยการไถ่พวกเขา “คนตาย” ไม่ได้ตายไปจริงๆ การฟื้นฟูต่อเนื่องทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ และนำการปลอบประโลมและความกระจ่างเกี่ยวกับโลกหน้ามาให้
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: ในหลายๆ ด้าน การเปิดเผยส่วนตัวเรียกร้องกระบวนการเดียวกัน สำหรับผม ผมต้องจดจ่อที่ปัญหา ต้องศึกษาปัญหาและขบคิด ต้องคิดหาทางออกหลายๆ ทาง ดูเหมือนวิธีนี้เท่านั้นที่การเปิดเผยส่วนตัวจะมาจริงๆ บ่อยครั้งการเปิดเผยมาถึงผมเป็นคำสั่งเฉียบขาดสั้นๆ เช่น “ไป” “ทำ” หรือ “พูด!”
ซิสเตอร์เรนลันด์: ดิฉันก็เหมือนกันค่ะ หลังจากไตร่ตรอง ศึกษา และสวดอ้อนวอน ดิฉันมักจะมีความคิดเข้ามาในจิตใจที่รู้ว่าไม่ใช่ความคิดของตัวเอง ซึ่งให้กำลังใจเสมอว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักดิฉันและกระตุ้นเตือนดิฉันผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทำดี
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: การเปิดเผยมักเกิดขึ้นเพราะมีความจำเป็นอะไรบางอย่าง ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมเกิดขึ้นที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายนปี 1894 ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์แจ้งที่ปรึกษาของท่านกับโควรัมอัครสาวกสิบสองว่าท่านได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับการผนึกในพระวิหาร ท่านพูดว่า “พระเจ้ารับสั่งกับผมว่าลูกๆ ควรผนึกกับพ่อแม่ และพ่อแม่ผนึกกับพ่อแม่ของพวกเขาย้อนกลับไปให้ไกลเท่าที่เราจะได้บันทึกมา”7 การเปิดเผยนี้มาหลังจากเอลียาห์ฟื้นฟูสิทธิอำนาจการผนึกในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ได้ 50 กว่าปี
ซิสเตอร์เรนลันด์: ในวันอาทิตย์ที่การประชุมใหญ่สามัญปี 1894 ประธานวูดรัฟฟ์ประกาศว่า “‘เราไม่ได้เสร็จสิ้นการเปิดเผย … เราไม่ได้เสร็จสิ้นงานของพระผู้เป็นเจ้า’ ท่านพูดถึงวิธีที่บริคัม ยังก์สานต่องานของโจเซฟ สมิธในการสร้างพระวิหารและจัดระบบศาสนพิธีพระวิหาร ‘แต่ท่านไม่ได้รับการเปิดเผยทั้งหมดที่เป็นของงานนี้’ ประธานวูดรัฟฟ์บอกผู้เข้าร่วมประชุม ‘ประธานเทย์เลอร์กับวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ก็ไม่ได้รับ งานนี้จะไม่จบจนกว่าจะสมบูรณ์”8
ตั้งแต่สมัยนอวูสมาชิกทำบัพติศมาแทนคนตายให้กับคนในครอบครัวที่ล่วงลับ แต่ความสำคัญของการผนึกกับบรรพชนของตนเองยังไม่ได้รับการเปิดเผย ประธานวูดรัฟฟ์อธิบายว่า “นับจากนี้เราต้องการให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายสืบเชื้อสายให้ไกลเท่าที่จะไกลได้ และผนึกกับบิดาและมารดาของพวกเขา … ให้ลูกๆ ผนึกกับพ่อแม่ และต่อสายโซ่ของพวกเขาให้ยาวเท่าที่จะยาวได้”9
ประธานวูดรัฟฟ์ “เตือนวิสุทธิชนให้นึกถึงนิมิตของโจเซฟ สมิธเมื่อท่านเห็นอัลวินพี่ชายในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ‘คนทั้งปวงที่ตายโดยปราศจากความรู้ถึงพระกิตติคุณนี้, ผู้ที่จะรับไว้หากเขาได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไป, จะเป็นทายาทของอาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้า’
“‘บรรพบุรุษของท่านก็จะเป็นเช่นนั้น’ ประธานวูดรัฟฟ์พูดถึงคนในโลกวิญญาณ ‘จะมีคนน้อยมากที่ไม่ยอมรับพระกิตติคุณ ถ้ามี’
“ก่อนจบโอวาท ท่านกระตุ้นวิสุทธิชนให้ … สืบหาญาติที่ตายแล้ว ‘พี่น้องทั้งหลาย’ ท่านกล่าว ‘ขอให้เราทำบันทึกต่อไป กรอกบันทึกให้ถูกต้องต่อพระเจ้า และปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ และพรของพระผู้เป็นเจ้าจะอยู่กับเรา และคนที่ได้รับการไถ่จะอวยพรเราในวันข้างหน้า’”10 การเปิดเผยนี้เป็นเหตุผลให้สมาชิกกลับไปพระวิหารบ่อยๆ เพื่อประกอบศาสพิธีแทนคนอื่นๆ และศาสนพิธีสำหรับบรรพชนผู้ล่วงลับ ครอบครัวเริ่มเก็บบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับศาสนพิธีของตนเองและงานที่ทำเพื่อจะนำไปประกอบศาสนพิธีในสมุดเหมือนอย่างเล่มนี้ซึ่งแสดงให้เห็นงานที่คนในครอบครัวเจนส์ ปีเตอร์กับแมรี เดมทำไว้
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: ปัจจุบันหลักคำสอนเรื่องการผนึกคนรุ่นต่างๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับเรา แต่ต้องใช้การเปิดเผยจากพระเจ้าเพื่อจัดระบบการผนึกครอบครัวให้ถูกต้อง การเปิดเผยนี้มีผลโดยตรงต่อครอบครัวผมบนเกาะลาร์สโมอันไกลโพ้นที่อยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของฟินแลนด์ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ใน วิสุทธิชน เล่ม 3 แต่มีค่าในครอบครัวผม ในปี 1912 คุณปู่คุณย่าของผม เลนา โซเฟียกับแมทส์ ลีนเดอร์ เรนลันด์ฟังผู้สอนศาสนาจากสวีเดนสั่งสอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เลนา โซเฟียกับลีนเดอร์รับบัพติศมาในวันถัดมา พวกท่านพบปีติในศาสนาใหม่และในการเป็นสมาชิกของสาขาเล็กๆ แห่งแรกในฟินแลนด์ น่าเสียดายที่ชะตาชีวิตผกผันและหายนะถาโถมเข้ามา
ในปี 1917 ลีนเดอร์เสียชีวิตเพราะวัณโรค ทิ้งเลนา โซเฟียให้เป็นม่ายขณะตั้งครรภ์ลูกคนที่สิบ เด็กคนนั้น ซึ่งคือคุณพ่อของผม เกิดหลังจากลีนเดอร์เสียชีวิตได้สองเดือน อีกหลายคนในครอบครัวเสียชีวิตเพราะวัณโรค ในที่สุดเลนาฝังลูก 7 ใน 10 คนของเธอ รวมทั้งลีนเดอร์ การดูแลคนที่เหลือในครอบครัวให้กินดีอยู่ดีเป็นเรื่องลำบากมากสำหรับหญิงชาวนายากจนอย่างคุณย่า
เกือบยี่สิบปีที่ท่านนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ท่านวิ่งรอกทำงานหลายอย่างตอนกลางวันเพื่อให้มีอาหารประทังชีวิต ตอนกลางคืนท่านพยาบาลคนในครอบครัวที่ใกล้จะสิ้นใจ แทบนึกภาพไม่ออกว่าเลนา โซเฟียรับมืออย่างไร
ผมพบเลนา โซเฟียครั้งหนึ่งในปี 1963 ผมอายุ 11 ขวบ ท่านอายุ 87 ปี ท่านหลังค่อมจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิต ผิวหน้าและมือท่านกร้านมาก หยาบและแข็งเหมือนแผ่นหนังเก่าๆ ตอนเราพบกัน ท่านยืนชี้ไปที่ภาพของลีนเดอร์และพูดกับผมเป็นภาษาสวีเดนว่า “Det här är min gubbe” “คนนี้ เป็น สามีของย่า”
ตอนนั้นผมคิดว่าท่านใช้คำกริยากาลปัจจุบันไม่ถูกต้อง เนื่องจากลีนเดอร์เสียชีวิตได้ 46 ปีแล้ว ผมจึงบอกคุณแม่ว่าคุณย่าพูดผิด คุณแม่พูดเพียงว่า “ลูกไม่เข้าใจ” ผมไม่เข้าใจเวลานั้น เลนา โซเฟียรู้ว่าสามีที่เสียชีวิตไปนานแล้วเคยเป็นและจะยังเป็นสามีเธอชั่วนิรันดร หลักคำสอนเรื่องครอบครัวนิรันดร์ทำให้ลีนเดอร์ยังอยู่ในชีวิตคุณย่าและเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ของท่านสำหรับอนาคต
ก่อนการอุทิศพระวิหารเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ในปี 2006 พี่สาวผมตรวจดูว่าเราต้องทำศาสนพิธีอะไรให้ฝั่งคุณพ่อบ้าง สิ่งที่เธอพบคือคำยืนยันหนักแน่นของเลนา โซเฟียในความเชื่อเรื่องสิทธิอำนาจการผนึก เลนา โซเฟียได้ส่งบันทึกครอบครัวของลูกที่เสียชีวิตตอนอายุเกินแปดขวบมาให้ทางพระวิหารทำศาสนพิธีให้ในปี 1938 บันทึกเหล่านี้อยู่ในศาสนพิธีแรกสุดที่ส่งจากฟินแลนด์มาให้พระวิหาร
เลนารับมือโดยนึกถึงหลักคำสอนเรื่องความรอดอยู่เสมอ ท่านถือว่านี่เป็นพระเมตตาใหญ่หลวงประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้รู้ว่าครอบครัวอยู่ชั่วนิรันดร์ก่อนเกิดเภทภัยเหล่านี้ เครื่องหมายบ่งบอกว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างลึกซึ้งคืองานของท่านในประวัติครอบครัว งานที่เปิดเผยผ่านโจเซฟ สมิธ, วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, และโจเซฟ เอฟ. สมิธ ท่านเหมือนคนที่ “ตายในขณะที่ยังมีความเชื่ออยู่ และยังไม่ได้รับสิ่งต่างๆ ที่ทรงสัญญาไว้ แต่พวกเขาก็สังเกตเห็นแต่ไกลและรอรับด้วยใจยินดี”11
ซิสเตอร์เรนลันด์: และเพราะการฟื้นฟูเป็นกระบวนการต่อเนื่อง เราจึงมีอีกมากให้ต้องตั้งตารอ ไม่ถึงปีที่ผ่านมา ประธานเนลสันกล่าวว่า “การปรับเปลี่ยนขั้นตอนพระวิหารในปัจจุบัน และอื่นๆ ที่จะตามมา เป็นหลักฐานยืนยันต่อเนื่องว่าพระเจ้าทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์อย่างแข็งขัน ทรงจัดเตรียมโอกาสให้เราแต่ละคนหนุนรากฐานทางวิญญาณของเราอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยให้ชีวิตเรามีศูนย์กลางในพระองค์และในศาสนพิธีกับพันธสัญญาในพระวิหารของพระองค์”12 ประธานเนลสันอธิบายว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ทำ “ภายใต้การทรงนำของพระเจ้าและในคำตอบการสวดอ้อนวอนของเรา” เพราะพระเจ้าทรงต้องการให้เรา “เข้าใจถ่องแท้แน่ชัดว่า [เรา] กำลังทำพันธสัญญาว่าจะทำอะไร … ทรงต้องการให้ [เรา] เข้าใจเอกสิทธิ์ สัญญา และความรับผิดชอบ [ของเรา] … [และ] มีความเข้าใจลึกซึ้งและการตื่นตัวทางวิญญาณ”13
บางครั้งการเปิดเผยมาทันที นี่เกิดขึ้นกับอีกตัวอย่างหนึ่งของการฟื้นฟูที่ต่อเนื่องเมื่อลอเรนโซ สโนว์เป็นประธานศาสนจักร ในปี 1898 ศาสนจักรอยู่ในสภาพลำบากทางการเงิน ช่วงที่คนต่อต้านการแต่งภรรยาหลายคนรุนแรงที่สุด รัฐสภาคองเกรสสหรัฐได้อนุญาตให้ริบทรัพย์สินของศาสนจักร ด้วยเกรงว่ารัฐบาลจะยึดเงินบริจาค วิสุทธิชนหลายคนจึงหยุดจ่ายส่วนสิบ ทำให้แหล่งเงินทุนของศาสนจักรลดลงอย่างมาก ศาสนจักรจึงยืมเงินมาช่วยให้มีทุนมากพอให้งานของพระเจ้าเดินหน้าต่อไป แม้ถึงกับกู้เงินมาจ่ายค่าสร้างพระวิหารซอลท์เลคให้แล้วเสร็จ สถานะทางการเงินของศาสนจักรทำให้ศาสดาพยากรณ์วัย 85 ปีหนักใจอย่างยิ่ง14
“เช้าตรู่วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ประธานสโนว์นั่งอยู่บนเตียงตอนเลรอยลูกชายเข้ามาในห้อง … ท่านทักทายเขาและบอกว่า ‘พ่อจะไปเซนต์จอร์จ’
“เลรอยแปลกใจ เซนต์จอร์จอยู่ … ห่างสามร้อยไมล์” พวกท่านต้องนั่งรถไฟ 320 กิโลเมตรลงใต้ไปมิลฟอร์ดแล้วนั่งรถม้าต่ออีก 169 กิโลเมตร การเดินทางจะยากสำหรับชายสูงอายุ กระนั้น พวกท่านก็ยังเดินทางไกลด้วยความยากลำบาก “เมื่อพวกท่านมาถึง … ทั้งเลอะฝุ่นและอิดโรย … ประธานสเตคถามว่าทำไมถึงมา ประธานสโนว์ตอบว่า ‘เราไม่ทราบว่ามาเซนต์จอร์จเพราะอะไร แค่พระวิญญาณบอกให้เรามา’
“วันรุ่งขึ้น 17 พฤษภาคม ศาสดาพยากรณ์ประชุมกับสมาชิกในแทเบอร์นาเคิลเซนต์จอร์จ อาคารหินทรายสีแดงห่างจากพระวิหารไปทางตะวันตกเฉียงเหนือหลายช่วงตึก” เมื่อประธานสโนว์ยืนปราศรัยกับวิสุทธิชน ท่านพูดว่า “เราบอกเหตุผลแทบไม่ได้ว่าเรามาทำไม แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีบางอย่างจะพูดกับเรา”
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: “ระหว่างกล่าวโอวาท ประธานสโนว์หยุดกะทันหัน และห้องเงียบกริบ ดวงตาท่านเปล่งประกาย สีหน้าสว่างไสว เมื่ออ้าปากพูด เสียงของท่านหนักแน่นขึ้น ดูเหมือนการดลใจของพระผู้เป็นเจ้าจะเต็มห้อง แล้วท่านก็พูดเรื่องส่วนสิบ … ท่านรำพันว่าวิสุทธิชน … หลายคนไม่ยอมจ่ายส่วนสิบเต็ม … ‘การเตรียมนี้จำเป็นสำหรับไซอัน’ ท่านกล่าว
“บ่ายวันต่อมา ประธานสโนว์ [สอนว่า] ‘บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนผู้คาดหวังให้ตนพร้อมรับอนาคตและยืนหยัดมั่นคงบนรากฐานที่ถูกต้องจะไปทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าและจ่ายส่วนสิบเต็ม นี่เป็นพระดำรัสของพระเจ้าถึงท่าน และจะเป็นพระดำรัสของพระเจ้าถึงทุกคนที่อยู่ทั่วแผ่นดินไซอัน’”
ต่อมาประธานสโนว์สอนว่า “‘เราอยู่ในสภาพน่ากลัว ด้วยเหตุนี้ศาสนจักรจึงอยู่ในพันธนาการ ทางเดียวที่จะปลดเปลื้องคือวิสุทธิชนต้องรักษากฎนี้’ ท่านท้าทาย [สมาชิก] ให้เชื่อฟังกฎอย่างครบถ้วนและสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงอวยพรที่พวกเขาพยายามเชื่อฟัง ท่านประกาศด้วยว่าต่อจากนี้การจ่ายส่วนสิบจะเป็นข้อกำหนดสำหรับการเข้าพระวิหาร”15
ซิสเตอร์เรนลันด์: ตั้งแต่นั้นหลายคนเป็นพยานได้อย่างซื่อสัตย์ว่าพระเจ้าทรงเทพรล้ำค่าที่สุดมาบนคนที่เต็มใจเชื่อฟังกฎอันเรียบง่ายนี้ บราเดอร์อลอยซ์ เซ็พรับใช้เป็นประธานสาขาเวียนนา ออสเตรีย เขาเก็บบันทึกส่วนสิบและบันทึกอื่นของสาขาไว้ในกล่องที่แข็งแรงใบนี้ ระหว่างการโจมตีทางอากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่องใบนี้เป็นของชิ้นแรกที่ประธานเซ็พกับครอบครัวเอามาก่อนทรัพย์สินส่วนตัวของพวกเขา
บางคนเป็นพยานถึงความท้าทายในการยอมรับกฎนี้และถึงการได้รับพรอันน่าทึ่งด้วยเหตุดังกล่าว
ตัวอย่างเช่นประสบการณ์ของครอบครัวยานางิดะในญี่ปุ่น ในปี 1948 ฝ่ายประธานสูงสุดส่งผู้สอนศาสนาไปญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อโตชิโกะ ยานางิดะถามคุณพ่อของเธอเรื่องศาสนา เขาบอกให้เธอไปร่วมการประชุมของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เขาเข้าร่วมศาสนจักรในปี 1915
ซิสเตอร์ยานางิดะพบกับผู้สอนศาสนา เปลี่ยนใจเลื่อมใส และรับบัพติศมาในเดือนสิงหาคมปี 1949 โดยมีคุณพ่อเข้ามาดู ต่อมาสามีเธอตามหาผู้สอนศาสนาและรับบัพติศมาจากผู้สอนศาสนาที่สอนซิสเตอร์ยานางิดะ16
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: บราเดอร์และซิสเตอร์ยานางิดะไม่อยากจ่ายส่วนสิบ พวกเขา “มีรายได้ไม่มาก และบางครั้งสงสัยว่าจะมีเงินพอจ่ายค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนลูกชายหรือเปล่า พวกเขายังหวังจะซื้อบ้านด้วย หลังการประชุมหนึ่งของศาสนจักร [ซิสเตอร์ยานางิดะ] ถามผู้สอนศาสนาคนหนึ่งเรื่องส่วนสิบ ‘ตอนนี้คนญี่ปุ่นยากจนมากหลังสงคราม’ เธอกล่าว ‘ส่วนสิบเป็นเรื่องยากสำหรับเรา เราต้องจ่ายด้วยหรือ?’
“เอ็ลเดอร์ตอบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้ทุกคนจ่ายส่วนสิบ และพูดถึงพรของการเชื่อฟังหลักธรรมดังกล่าว [ซิสเตอร์ยานางิดะ] สงสัย—และโกรธเล็กน้อย ‘นี่เป็นแนวคิดคนอเมริกัน’ เธอบอกตัวเอง
“… ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาคนหนึ่งสัญญากับ [ซิสเตอร์ยานางิดะ] ว่าการจ่ายส่วนสิบจะช่วยให้ครอบครัวของเธอบรรลุเป้าหมายของการมีบ้านเป็นของตนเอง เพราะต้องการเชื่อฟัง [บราเดอร์และซิสเตอร์ยานางิดะ] จึงตัดสินใจจ่ายส่วนสิบและวางใจว่าพรจะมา …
“[พวกเขา] เริ่มเห็นพร [เหล่านั้น] … พวกเขาซื้อที่ดินราคาไม่แพงในเมืองและร่างแบบแปลนบ้าน จากนั้นพวกเขาก็สมัครสินเชื่อบ้านผ่านโครงการใหม่ของรัฐบาล พอได้รับอนุมัติให้สร้าง พวกเขาก็เริ่มทำรากฐานของบ้าน
“กระบวนการราบรื่นจนกระทั่งผู้ตรวจอาคารสังเกตว่ารถดับเพลิงเข้าไม่ถึงที่ของพวกเขา ‘ที่ผืนนี้ไม่ใช่ที่ที่เหมาะจะสร้างบ้าน” เขาบอกทั้งสอง ‘คุณจะก่อสร้างต่อไม่ได้แล้วนะ’
“เมื่อไม่ทราบจะทำอย่างไร [บราเดอร์กับซิสเตอร์ยานางิดะ] จึงพูดกับผู้สอนศาสนา ‘พวกเราทั้งหกคนจะอดอาหารและสวดอ้อนวอนให้คุณ’ เอ็ลเดอร์คนหนึ่งบอก ‘คุณก็ควรทำเหมือนกัน’ สองวันต่อมาครอบครัวยานางิดะอดอาหารและสวดอ้อนวอนพร้อมกับผู้สอนศาสนา ผู้ตรวจอีกคนมาประเมินที่ดินของพวกเขาอีกครั้ง … ตอนแรกเขาให้ความหวังนิดหน่อยว่าจะผ่านการตรวจ แต่ขณะสำรวจที่ เขาสังเกตเห็นทางออก ในกรณีฉุกเฉินหน่วยดับเพลิงสามารถเข้ามาได้โดยเอารั้วใกล้ๆ ออก ยานางิดะจึงสร้างบ้านของตัวเองได้
“‘ผมเดาว่าคุณสองคนคงทำสิ่งที่ดีมากๆ มาก่อนในอดีต” ผู้ตรวจอาคารบอก ‘ตั้งแต่ทำงานมาผมไม่เคยอะลุ้มอล่วยขนาดนี้’ [บราเดอร์และซิสเตอร์ยานางิดะ] ดีใจมาก พวกเขาอดอาหาร สวดอ้อนวอนและจ่ายส่วนสิบ และพวกเขาจะมีบ้านเป็นของตนเองตามที่ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนา [ที่ยอดเยี่ยมคนนั้น] สัญญาไว้17
วิสุทธิชนทั่วโลกมีประสบการณ์คล้ายๆ กันเมื่อพวกเขาจ่ายส่วนสิบ พระเจ้าทรงอวยพรคนของพระองค์ที่ซื่อสัตย์และเชื่อฟัง การจ่ายส่วนสิบอย่างซื่อสัตย์นี่เองที่ทำให้สร้างพระวิหารได้ทั่วโลก
ซิสเตอร์เรนลันด์: ดิฉันรู้ว่าชีวิตเราได้รับพรอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการดำเนินชีวิตตามกฎส่วนสิบ บางครั้งพรไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังและถูกมองข้ามโดยง่าย แต่มีอยู่จริง เราเคยประสบมาแล้ว18
เรื่องโปรดอีกเรื่องของดิฉันใน วิสุทธิชน คือซิสเตอร์กลุ่มแรกที่ได้รับเรียกให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา ในอังกฤษช่วงปลายทศวรรษ 1890 มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่าสตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายถูกหลอกง่ายและคิดเองไม่เป็น ตอนนั้นเอลิซาเบธ แม็คคูน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจากซอลท์เลคซิตี้กับลูกสาวมาเที่ยวลอนดอนหลายวัน
เมื่อพวกเธอเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของศาสนจักรในลอนดอน เอลิซาเบธประหลาดใจ “ระหว่างการประชุมภาคเช้าเมื่อโจเซฟ แม็คเมอร์ริน ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานคณะเผยแผ่ประณาม … คำพูดดูหมิ่นสตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้าย [และประกาศว่า] ‘เรามีสตรีท่านหนึ่งจากยูทาห์อยู่กับเราตอนนี้ … เราจะขอให้ซิสเตอร์แม็คคูนพูดค่ำนี้และเล่าประสบการณ์ในยูทาห์ให้ท่านฟัง’ จากนั้นเขาก็ขอให้ทุกคนที่การประชุมใหญ่พาเพื่อนๆ มาฟังเธอพูด”
“เมื่อใกล้ถึงเวลาประชุม มีคนอยู่เต็มห้อง เอลิซาเบธสวดอ้อนวอนในใจและยืนที่แท่นพูด” เธอพูดกับคนทั้งห้องเกี่ยวกับความเชื่อและครอบครัวของเธอ โดยเป็นพยานอย่างองอาจถึงความจริงของพระกิตติคุณ เธอพูดด้วยว่า “‘ศาสนาของเราสอนเราว่าภรรยายืนเคียงบ่าเคียงไหล่สามี’ เมื่อจบการประชุม คนแปลกหน้าจับมือทักทายเอลิซาเบธ บางคนพูดว่า ‘ถ้าผู้หญิงของคุณออกมาที่นี่มากกว่านี้ คงจะทำประโยชน์ได้มากทีเดียว’”
“หลังจากเห็นเอลิซาเบธมีผลต่อผู้ฟัง [ประธานแม็คเมอร์รินจึงเขียนถึงประธานศาสนจักรว่า] ‘ถ้าเรียกสตรีที่ฉลาดปราดเปรื่องจำนวนหนึ่งมาทำงานเผยแผ่ในอังกฤษ … คงจะเกิดผลดีอย่างยิ่ง’” “ผลการสั่งสอนของเอลิซาเบธ แม็คคูนมีส่วนทำให้ตัดสินใจเรียกผู้หญิงเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาด้านการเผยแผ่”19
วันที่ 22 เมษายนปี 1898 ไอเนซ ไนท์กับเจนนี่ บริมฮอลล์เทียบท่าที่ท่าเรือลิเวอร์พูล อังกฤษ พวกเธอเป็นสองคนแรกที่ได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็น “ผู้สอนศาสนาหญิง” ของศาสนจักร
พวกเธอไปเมืองหนึ่งทางตะวันออกของลิเวอร์พูลกับประธานแม็คเมอร์รินและผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ตอนค่ำคนกลุ่มใหญ่เข้าร่วมการประชุมริมถนนกับผู้สอนศาสนา “ประธานแม็คเมอร์รินประกาศว่าจะจัดการประชุมพิเศษในวันต่อมา และเชิญทุกคนมาฟังการสั่งสอนจาก ‘สตรีมอรมอนตัวจริง’”20 นี่คือบันทึกผู้สอนศาสนาของไอเนซ ไนท์ เธอเขียนว่า “ตอนค่ำฉันพูดทั้งที่สั่นเทาด้วยความกลัวแต่ทำให้ตัวเองประหลาดใจ”21 เธอรับรู้ถึงความช่วยเหลือจากสวรรค์เมื่อเธอเขียนว่า “ตอนค่ำฉันพูดกับคนกลุ่มใหญ่ แต่ได้รับพรจากคำสวดอ้อนวอนของผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ”22 “สตรีมอรมอนตัวจริง” สองคนนี้ประพฤติตนดี ไปบ้านแต่ละหลังและเป็นพยานที่การประชุมริมถนนบ่อยๆ ไม่นานก็มีซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ที่ทำงานทั่วอังกฤษมาสมทบ
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: ซิสเตอร์ไนท์กับซิสเตอร์บริมฮอลล์เป็นจุดเริ่มต้น แต่ในสมัยการประทานนี้มีซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาหลายแสนคนที่เคยรับใช้23 สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจเกี่ยวกับซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาคือพวกเธอมีประสิทธิภาพได้โดยเป็นตัวของตัวเอง พวกเธอเป็นสตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายตัวจริง เหมือนซิสเตอร์ไนท์กับซิสเตอร์บริมฮอลล์ พวกเธอบอกผู้คนว่าพวกเธอเป็นใครและทำไมถึงเชื่อแบบนั้น
อิทธิพลของซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาต่อการรวบรวมอิสราเอลไม่ธรรมดาเลย เอ็ลเดอร์วัยหนุ่มคนหนึ่งถามผมเมื่อเร็วๆ นี้ในช่วงถามตอบว่าทำไมวอร์ดในคณะเผยแผ่ของเขาชอบซิสเตอร์ผู้สอนศาสนามากกว่า คำตอบของผมคือ “เพราะซิสเตอร์ให้ใจและจิตวิญญาณกับการทำงาน สมาชิกรักผู้สอนศาสนาทุกคนที่ทำแบบนั้นโดยไม่ลังเลเลย”
การตอบรับการเรียกของซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาเคยเป็นและยังคงเป็นส่วนสำคัญของการเผยแพร่พระกิตติคุณ ประธานเนลสันกล่าวในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายนว่า “เรารักซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาและยินดีต้อนรับอย่างสุดใจ ท่านทำคุณประโยชน์ใหญ่หลวงให้แก่งานนี้!”24
ซิสเตอร์เรนลันด์: ดิฉันประทับใจความดีที่มาจากซิสเตอร์แม็คคูนด้วย เธอไม่ได้รับการเรียกและวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นผู้สอนศาสนา แต่ซิสเตอร์แสนดีคนนี้ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเพราะศรัทธาของเธอ25
ทำให้เราเห็นแง่มุมอันที่น่าพิศวงอีกแง่จาก วิสุทธิชน เล่ม 3 เราพบตัวอย่างของวิสุทธิชนผู้แสดงความเป็นสานุศิษย์ภายใต้สภาพลำบากที่สุด อดีตศัตรูเอาชนะความเกลียดชังและมาเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อพวกเขาพึ่งพาพระเยซูคริสต์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “เนเธอร์แลนด์อยู่ในสภาพน่าสังเวชหลังถูก [ระบบนาซีเยอรมัน] ยึดครองห้าปี ชาวเนเธอร์แลนด์กว่าสองแสนคนตายระหว่างสงคราม บ้านเรือนหลายแสนหลังเสียหายหรือไม่ก็ถูกทำลาย วิสุทธิชนหลายคนใน … เนเธอร์แลนด์โกรธแค้นคนเยอรมัน” และโกรธแค้นกันเพราะบางคนต่อต้านและบางคนร่วมมือกับผู้ยึดครอง พวกเขาแบ่งฝ่ายชัดเจน
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: “คอร์เนเลียส แซ็พพีย์ประธานคณะเผยแผ่ขอให้สาขาต่างๆ ของศาสนจักรเพิ่มเสบียงอาหารของตนโดยเริ่มโครงการปลูกมันฝรั่งด้วยการใช้หัวพันธุ์มันฝรั่งจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์” ด้วยเหตุนี้ “สาขาต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์ … จึงเริ่มปลูกมันฝรั่งในสวนหลังบ้าน สวนดอกไม้ ที่ว่าง และเกาะกลางถนน
“ใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว [ประธานแซ็พพีย์] จัดการประชุมใหญ่คณะเผยแผ่ในเมืองรอตเทอร์ดาม” เขารู้จากการสนทนากับประธานคณะเผยแผ่เยอรมันตะวันตออก “ว่าวิสุทธิชนหลายคนในเยอรมนีประสบกับความขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง [ประธานแซ็พพีย์] ต้องการทำบางอย่างเพื่อช่วย จึงถามผู้นำระดับท้องที่ว่ายินดีแบ่งมันฝรั่งที่เก็บเกี่ยวได้ให้วิสุทธิชนในเยอรมนีหรือไม่
“ศัตรูที่พวกคุณโกรธแค้นที่สุดอันเนื่องมาจากสงครามครั้งนี้บางคนเป็นคนเยอรมัน’ เขายอมรับ ‘แต่ตอนนี้คนเหล่านั้นแย่กว่าพวกคุณมาก’
“ตอนแรกวิสุทธิชนชาวเนเธอร์แลนด์บางคนต่อต้านแผนนี้ ทำไมพวกเขาต้องแบ่งมันฝรั่งให้คนเยอรมัน? [บางคนสูญเสียบ้าน] ไปกับระเบิดของชาวเยอรมันหรือ [เห็น] คนที่รักอดตายเพราะพวกยึดครองชาวเยอรมันเอาอาหารของพวกเขาไป”
ประธานแซ็พพีย์ขอให้พีเตอร์ ฟลัม อดีตเชลยสงครามและผู้นำสาขาของศาสนจักรในอัมสเตอร์ดัม “ไปเยี่ยมสาขาต่างๆ ทั่วเนเธอร์แลนด์และกระตุ้นพวกเขาให้สนับสนุนแผนนี้” โดยแยกแยะระหว่างระบอบนาซีกับคนเยอรมัน “พีเตอร์เป็นผู้นำศาสนจักรที่มีประสบการณ์ ทราบกันทั่วไปว่าเขาเคยถูกกักขังในค่ายเยอรมันอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าวิสุทธิชนชาวเนเธอร์แลนด์รักและไว้ใจคนใดในคณะเผยแผ่ คนนั้นคือพีเตอร์ ฟลัม”
เมื่อพีเตอร์ประชุมกับสาขาต่างๆ “เขาจะพูดถึงความลำบากของตัวเองในค่ายกักกัน ‘ผมเคยผ่านมันมาแล้ว” เขาบอก ‘คุณก็รู้’ เขาขอให้คนเหล่านั้นให้อภัยคนเยอรมัน ‘ผมรู้ว่าคุณรักพวกเขาได้ยาก’ เขาบอก ‘ถ้าคนเหล่านั้นเป็นพี่น้องของเรา เราก็ควรปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นพี่น้องของเรา’
ซิสเตอร์เรนลันด์: “คำพูดของเขาและคำพูดของประธานสาขาคนอื่นๆ ทำให้วิสุทธิชนเปลี่ยนใจ และความโกรธของหลายคนจางหายขณะพวกเขาเก็บเกี่ยวมันฝรั่งให้คนเยอรมัน [พี่น้อง] ของพวกเขา” ไม่ใช่แค่นั้น ความไม่ลงรอยและความไม่ไว้ใจที่เคยมีในหมู่สมาชิกสาขาต่างๆ เริ่มน้อยลงด้วย สมาชิก “รู้ว่าพวกเขาช่วยกันทำให้งานก้าวหน้าต่อไปได้
“ระหว่างนั้น [ประธานแซ็พพีย์] เดินเรื่องขออนุญาตขนส่งมันฝรั่งไปเยอรมัน … เมื่อเจ้าหน้าที่บางคนพยายามยับยั้งแผนการขนส่ง [ประธานแซ็พพีย์] บอกพวกเขาว่า ‘มันฝรั่งพวกนี้เป็นของพระเจ้า และถ้าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า พระเจ้าจะให้ไปถึงเยอรมัน’
“ในที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 1947 วิสุทธิชนชาวเนเธอร์แลนด์และผู้สอนศาสนาพบกันในกรุงเฮกเพื่อขน … มันฝรั่งเจ็ดสิบกว่าตันขึ้นรถบรรทุกสิบคัน ไม่นานหลังจากนั้น มันฝรั่งก็มาถึงเยอรมนีเพื่อแจกจ่ายให้วิสุทธิชน …
“ไม่นานฝ่ายประธานสูงสุดก็ทราบเรื่องโครงการมันฝรั่ง ประธาน เดวิด โอ. แมคเคย์พูดด้วยความประหลาดใจว่า ‘นี่เป็นหนึ่งในการประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐสุดของชาวคริสต์ที่แท้จริงที่ข้าพเจ้าเคยพบมา’”26
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: ปีต่อมา สมาชิกชาวเนเธอร์แลนด์ส่งมันฝรั่งจำนวนมากไปให้คนเยอรมันอีกครั้ง และส่งปลาเฮอริงไปให้ด้วย ทำให้ของขวัญนั้นมีมากมายขึ้นไปอีก ไม่กี่ปีต่อมา ในปี 1953 น้ำทะเลเหนือท่วมขึ้นมาและท่วมส่วนสำคัญของเนเธอร์แลนด์ทำให้สมาชิกชาวเนเธอร์แลนด์ขัดสน คราวนี้วิสุทธิชนชาวเยอรมันส่งความช่วยเหลือไปเนเธอร์แลนด์เพื่อช่วยคนเหล่านั้นในยามขัดสน การแสดงจิตกุศลของวิสุทธิชนชาวเนเธอร์แลนด์สะเทือนเลือนลั่นนานหลายปีและเป็นเครื่องพิสูจน์ตลอดมาว่าความรักและจิตกุศลเกิดขึ้นได้แม้ระหว่างศัตรู เมื่อคนธรรมดารักพระผู้เป็นเจ้าก่อนและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
การยินดีให้อภัยนำการเยียวยามาให้สมาชิกชาวเนเธอร์แลนด์ ผมพบว่าตัวเองก็เป็นเหมือนกัน ถ้าผมแค้นฝังใจ พระวิญญาณจะโศกเศร้า ถ้าผมโกรธ การปฏิบัติต่อผู้อื่นจะอ่อนโยนน้อยลงและเหมือนพระคริสต์น้อยลง ความจริงนี้กล่าวไว้อย่างไพเราะโดยตัวละครในนิยายปี 1953 ของอลัน พาตันเรื่อง Too Late the Phalarope เกี่ยวกับแอฟริกาใต้ที่แบ่งแยกสีผิวว่า “มีกฎยากอยู่ข้อหนึ่งคือ … เมื่อมีคนทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เราไม่มีวันหายเจ็บจนกว่าเราจะให้อภัย”27
ซิสเตอร์เรนลันด์: มีเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจอีกมากจากประวัติศาสนจักรในช่วงเวลาดังกล่าวตามที่เล่าอยู่ใน วิสุทธิชน เล่ม 3 อันเป็นเรื่องเล่าจากทุกมุมโลก คุณอาจจะอยากรู้บางอย่างเกี่ยวกับวิลเลียม แดเนียลส์ผู้รับใช้อย่างซื่อสัตย์นานหลายปีในเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ที่แบ่งแยกเชื้อชาติ แม้ไม่ได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่เขามีประจักษ์พยานแรงกล้า28
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: หรือราฟาเอล มอนรอยกับวินเซนต์ โมราเลสในเม็กซิโกผู้เป็นมรณสักขีเพราะความเชื่อของพวกเขา และเจซูอิตาคุณแม่ของราฟาเอล กับกัวดาลูเปภรรยา ผู้นำครอบครัวและชุมชนอย่างกล้าหาญทั้งที่ถูกข่มขู่ไม่หยุดหย่อน29
ซิสเตอร์เรนลันด์: หรือแอลมา ริชาร์ดส์ วิสุทธิชนยุคสุดท้ายคนแรกที่ได้เหรียญโอลิมปิก ส่วนหนึ่งเพราะเขาเลือกรักษาพระคำแห่งปัญญา30
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: หรือฮีรินี วางา ผู้ที่เมียร์ ภรรยาที่ซื่อสัตย์สนับสนุนเขาให้กลับบ้านเกิดในนิวซีแลนด์ไปเป็นผู้สอนศาสนาเพื่อสั่งสอนและรวบรวมรายชื่อสำหรับงานพระวิหาร31
ซิสเตอร์เรนลันด์: หรือเฮลกา มายส์ซัส เยาวชนหญิงวิสุทธิชนท้ายในนาซีเยอรมนีผู้รักษาศรัทธาทั้งที่ถูกเพื่อนเก่า ครู และผู้นำโรงเรียนกลั่นแกล้ง32
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: หรือเอวาลีน ฮอจส์ นักสังคมสงเคราะห์ที่สมาคมสงเคราะห์ว่าจ้างให้มาช่วยหลายๆ ครอบครัว กลับมาตั้งตัวได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่33
ซิสเตอร์เรนลันด์: เราไม่มีเวลาเล่าเรื่องอื่น แต่รู้ว่าคุณทุกคนจะอยากอ่าน วิสุทธิชน เล่ม 3 ด้วยตัวเอง
เอ็ลเดอร์เรนลันด์: สำหรับผม เพลงเหมาะสมที่สุดสำหรับประวัติศาสนจักรช่วงนี้คือ “ทุกชนชาติจงฟัง!”34 ที่คณะนักร้องจะร้องปิดการประชุมของเรา “ทุกชนชาติจงฟัง!” เขียนโดยหลุยส์ เอฟ. มุนช์ เขาเกิดในเยอรมนี เข้าร่วมศาสนจักรขณะเดินทางผ่านซอลท์เลคซิตี้ในปี 1864 ต่อมาเขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาให้ศาสนจักรในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี ขณะเป็นผู้สอนศาสนา เขาตีพิมพ์งานหลายชิ้นเป็นภาษาเยอรมัน รวมทั้ง “ทุกชนชาติจงฟัง!” ซึ่งกลายเป็นเพลงโปรดเพลงหนึ่งของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่พูดภาษาเยอรมัน เพลงนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมันในปี 1890 แปลในภาษาอื่นๆ และตีพิมพ์ลงในหนังสือเพลงสวดฉบับปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ฉบับนั้นไม่มีข้อสามที่คณะนักร้องจะร้องในวันนี้
ข้อสามบรรยายว่าวิสุทธิชนที่เราพูดถึงได้ทำอะไรในยุคนี้ พวกเขา “ถวายเกียรติพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงที่ทรงพระชนม์อยู่ [มารับ] บัพติศมา [จับ] ราวเหล็ก [ถวาย] ใจ [พวกเขา] ด้วยศรัทธาในพระบุตรพระองค์—พระเยซู องค์ผู้บริสุทธิ์”
ผมเชิญชวนให้คุณอ่าน วิสุทธิชน เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประวัติของศาสนจักรและเรียนรู้จากแบบอย่างของสมาชิก วิสุทธิชน เป็นหนังสือที่ค้นคว้ามาอย่างดีและเชื่อถือได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์อย่างต่อเนื่อง ประวัติของเราสร้างแรงบันดาลใจ ประวัติศาสตร์นี้เป็นมรดกร่วม ไม่ว่าเราจะสืบเชื้อสายมาจากผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ ผู้บุกเบิกรุ่นต่อๆ มา หรือแม้ว่าเราเป็นผู้บุกเบิกศรัทธาก็ตาม
เหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญ? ทำไมเราจึงใช้เวลามากมายเล่าเรื่องราวหล่านี้? นั่นก็เพราะเรื่องราวเหล่านี้ให้แบบอย่างจากชีวิตจริงแก่เราถึงพลังที่มาจากการรู้จักพระผู้ช่วยให้รอด ผมรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์และทรงนำศาสนจักรนี้ ทรงดูแลผู้คนในพันธสัญญาของพระองค์ ผู้มีเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่ ผมขอให้พรคุณที่จะรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิต เข้าใกล้พระองค์และศาสนจักรของพระองค์มากขึ้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน