2010–2019
อำนาจของฐานะปุโรหิต
เมษายน 2018


2:3

อำนาจของฐานะปุโรหิต

การขยายฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านดำรงอยู่จำเป็นอย่างยิ่งต่องานของพระเจ้าในครอบครัวท่านและการเรียกของท่านในศาสนจักร

ที่น้องชายที่รัก เราได้ยินข้อประกาศการเปิดเผยจากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน เราได้ยินรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน เอ็ลเดอร์ราสแบนด์และจากประธานอายริงก์ คำพูดที่ยังไม่ได้กล่าว รวมถึงส่วนที่ประธานเนลสันจะกล่าวเพิ่มเติม จะอธิบายสิ่งที่ท่าน ผู้นำของพระเจ้าและผู้ดำรงฐานะปุโรหิต จะต้องทำในหน้าที่รับผิดชอบของตน เพื่อช่วยในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทบทวนหลักธรรมพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตที่ท่านดำรงอยู่

I. ฐานะปุโรหิต

ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคือสิทธิอำนาจแห่งสวรรค์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ “คือการทำให้เกิด … ชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) ในปี 1829 ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคประสาทบนโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีโดยอัครสาวกของพระผู้ช่วยให้รอด เปโตร ยากอบ และยอห์น (ดู คพ. 27:12) นี่คืออำนาจศักดิ์สิทธิ์และทรงพลังเกินอำนาจที่เราจะอธิบาย

กุญแจ ฐานะปุโรหิตคืออำนาจในการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ฉะนั้น เมื่ออัครสาวกประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคบนโจเซฟและออลิเวอร์ พวกท่านได้มอบกุญแจเพื่อใช้ฐานะปุโรหิตนั้นเช่นกัน (ดู คพ. 27:12–13) แต่กุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดไม่ได้รับการประสาทในเวลาเดียวกัน กุญแจและความรู้ทั้งหมดที่จำเป็นต่อ “สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา” (คพ. 128:18) ให้ไว้เป็น “บรรทัดทีละบรรทัด” (ข้อ 21) กุญแจเพิ่มเติมมอบให้ในพระวิหารเคิร์ทแลนด์หลังจากนั้นเจ็ดปี (ดู คพ. 110:11–16) กุญแจเหล่านี้ให้ไว้เพื่อกำกับดูแลสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในงานมอบหมายเพิ่มเติมซึ่งให้ไว้ ณ เวลานั้น เช่นการบัพติศมาแทนคนตาย

ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคไม่ใช่สถานภาพหรือฉายานาม แต่เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงไว้ด้วยความวางใจให้ใช้เป็นประโยชน์ในงานของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อบุตรธิดาของพระองค์ พึงระลึกไว้เสมอว่าชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิต ไม่ใช่ “ฐานะปุโรหิต” ไม่เหมาะสมที่จะพูดว่า “ฐานะปุโรหิตและสตรี” เราควรพูดว่า “ผู้ดำรง ฐานะปุโรหิตและสตรี”

II. การปฏิบัติศาสนกิจเกี่ยวกับการรับใช้

ต่อไปนี้ขอให้เราพิจารณาสิ่งที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงคาดหวังจากผู้ดำรงฐานะปุโรหิตของพระองค์—วิธีที่เราจะนำจิตวิญญาณมาหาพระองค์

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธสอนว่า “มีกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า ศาสนจักรได้รับการจัดระเบียบอย่างสมบูรณ์ ปัญหาอย่างเดียวที่มีคือองค์การเหล่านี้ไม่ได้ทำภาระหน้าที่ที่ให้ไว้อย่างเต็มที่ เมื่อใดที่พวกเขารับรู้ข้อเรียกร้องที่ทำไว้อย่างถ่องแท้แล้ว พวกเขาก็จะทำหน้าที่ให้สำเร็จได้อย่างซื่อสัตย์มากขึ้น และงานของพระเจ้าจะยิ่งใหญ่ ทรงพลังและมีอิทธิพลมากขึ้นในโลก” 1

ประธานสมิธเตือนไว้ด้วยว่า

“ฉายานามแห่งเกียรติ … ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำแหน่งและระเบียบต่างๆ ของฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์จะไม่ใช่ทั้งไม่ถือว่าเป็นฉายานามที่ก่อกำเนิดขึ้นจากมนุษย์ ทั้งไม่ได้มีไว้ประดับหรือแสดงความเป็นใหญ่ แต่เป็นฉายานามแห่งการแต่งตั้งสู่การรับใช้อันต่ำต้อยในงานของพระอาจารย์ผู้ที่เรายอมรับใช้ …

“… เรากำลังทำงานเพื่อความรอดของจิตวิญญาณ และเราควรรู้ว่านี่เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มอบแก่เรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรเต็มใจที่จะเสียสละทุกสิ่ง หากต้องการอย่างนั้น เพื่อความรักของพระผู้เป็นเจ้า ความรอดของมนุษย์ และชัยชนะของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก”2

III. ตำแหน่งของฐานะปุโรหิต

ในศาสนจักรของพระเจ้า ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีหน้าที่ต่างกัน หลักคำสอนและพันธสัญญากล่าวถึงมหาปุโรหิตว่าเป็น “ประธานประจำหรือผู้รับใช้เหนือสเตคต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป” (คพ. 124:134) กล่าวถึงเอ็ลเดอร์ว่าเป็น “ผู้ปฏิบัติศาสนกิจประจำอยู่กับศาสนจักร [ของพระเจ้า]” (คพ. 124:137) ต่อไปนี้คือคำสอนเกี่ยวกับหน้าที่เหล่านี้ซึ่งแยกจากกัน

มหาปุโรหิตปฏิบัติหน้าที่และดูแลเรื่องทางวิญญาณ (ดู คพ. 107:10, 12) เช่นกัน ดังที่ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธสอน “เนื่องจากเขาได้รับแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิต [เขา] ควรรู้สึกว่าตนมีพันธะรับผิดชอบ … ในการเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่ผู้สูงวัยและผู้ที่อ่อนวัยกว่า วางตนในตำแหน่งของการเป็นครูที่ชอบธรรม ไม่เฉพาะคำสั่งสอนเท่านั้นแต่ที่เจาะจงยิ่งกว่านั้นคือการเป็นแบบอย่างด้วย—โดยให้ประโยชน์จากประสบการณ์ของความอาวุโสแก่คนที่อ่อนวัยกว่า จึงจะกล่าวได้ว่าเขาเป็นพลังท่ามกลางชุมชนที่เขาพำนักอยู่” 3

ในเรื่องหน้าที่ของเอ็ลเดอร์ เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เอ็ลเดอร์คือผู้ปฏิบัติศาสนกิจของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ … เขาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระอาจารย์ของเขาให้เกิดสัมฤทธิผล … ในการปฏิบัติศาสนกิจต่อเพื่อนมนุษย์ เขาคือตัวแทนของพระเจ้า”4

เอ็ลเดอร์แมคคองกีวิพากษ์แนวคิดที่ว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเป็น “เพียงเอ็ลเดอร์คนหนึ่ง” “เอ็ลเดอร์ทุกคนในศาสนจักรดำรงฐานะปุโรหิตมากเท่ากับประธานศาสนจักร …” ท่านกล่าว “เอ็ลเดอร์คืออะไร เขาคือผู้เลี้ยงแกะ ผู้เลี้ยงแกะที่รับใช้ฝูงแกะของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ”5

ในหน้าที่สำคัญของการดูแลฝูงแกะของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ ไม่มีความแตกต่างระหว่างตำแหน่งมหาปุโรหิตกับตำแหน่งเอ็ลเดอร์ในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ใน ภาค 107 ของหลักคำสอนและพันธสัญญา พระเจ้าทรงประกาศว่า “มหาปุโรหิตตามระเบียบของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตนเอง, ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธาน, ในการดูแลเรื่องทางวิญญาณ, และในตำแหน่งของเอ็ลเดอร์ [หรือตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน]” (คพ. 107:10; ดู ข้อ 12 ด้วย)

หลักธรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทุกคนคือหลักธรรมที่สอนโดยเจคอบ ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอน หลังจากท่านกับโจเซฟ น้องชายของท่านได้รับการอุทิศถวายเป็นปุโรหิตและผู้สอนของผู้คน ท่านประกาศว่า “และเราขยายตำแหน่งของเราแด่พระเจ้า, โดยรับความรับผิดชอบไว้กับเราเอง, โดยรับบาปของผู้คนไว้บนศีรษะของเราเองหากเราไม่สอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าให้พวกเขาด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ” (เจคอบ 1:19)

พี่น้องชายทั้งหลาย หน้าที่รับผิดชอบของเราในฐานะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเป็นเรื่องที่จริงจัง องค์กรอื่นๆ อาจพอใจกับมาตรฐานการทำงานของโลกในการเผยแพร่ข่าวสารและทำหน้าที่อื่นๆ ของพวกเขา แต่เราผู้ดำรงฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลแม้กระทั่งการเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้า เรามีจุดประสงค์และหน้าที่รับผิดชอบที่พระเจ้าทรงนิยามไว้ในคำนำที่ได้รับการเปิดเผยของหลักคำสอนและพันธสัญญา เราต้องประกาศต่อโลกว่า

“เพื่อมนุษย์ทุกคนจะได้พูดในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้า, แม้พระผู้ช่วยให้รอดของโลก;

“เพื่อศรัทธาจะได้เพิ่มพูนในแผ่นดินโลกด้วย;

“เพื่อพันธสัญญาอันเป็นนิจของเราจะได้รับการสถาปนา;

“เพื่อความสมบูรณ์แห่งกิตติคุณของเราจะได้รับการประกาศโดยคนอ่อนแอและคนต่ำต้อยถึงสุดแดนแผ่นดินโลก” (คพ. 1:20–23)

ในการทำหน้าที่อันสูงส่งนี้ให้สำเร็จ เราต้องซื่อสัตย์ใน “การขยาย” การเรียกและหน้าที่รับผิดชอบฐานะปุโรหิตของเรา (ดู คพ. 84:33) ประธานฮาโรลด์ บี. ลีอธิบายความหมายของการขยายฐานะปุโรหิตไว้ว่า “เมื่อบุคคลหนึ่งกลายเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิต เขาก็กลายเป็นตัวแทนของพระเจ้า เขาควรนึกถึงการเรียกของตนประหนึ่งว่าเขากำลังทำธุระของพระเจ้า นั่นคือความหมายของการขยายฐานะปุโรหิต”6

ดังนั้น พี่น้องชาย หากพระเจ้าพระองค์เองทรงขอให้ท่านช่วยบุตรธิดาคนหนึ่งของพระองค์—ซึ่งพระองค์ได้ทรงทำผ่านผู้รับใช้ของพระองค์—ท่านจะทำหรือไม่ หากท่านทำ ท่านจะปฏิบัติตนเป็นตัวแทนของพระองค์ “ทำธุระของพระเจ้า” พึ่งพาความช่วยเหลือที่พระองค์ทรงสัญญาไว้หรือไม่

ประธานลีสอนเกี่ยวกับการขยายฐานะปุโรหิตอีกว่า “เมื่อท่านถือแว่นขยายส่องไปที่บางสิ่ง ทำให้สิ่งนั้นดูใหญ่กว่าที่ท่านสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือแว่นขยาย บัดนี้ … หากใครก็ตามขยายฐานะปุโรหิตของตน—ซึ่งคือทำให้ใหญ่กว่าที่พวกเขาคิดไว้ทีแรกและสำคัญกว่าที่ใครก็ตามคิดไว้—นั่นคือวิธีที่ท่านขยายฐานะปุโรหิตของท่าน”7

ต่อไปนี้เป็นแบบอย่างของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ขยายหน้าที่รับผิดชอบฐานะปุโรหิตของเขา ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ ดี. อีเรคสัน คู่ของข้าพเจ้าในการประชุมใหญ่สเตคที่ไอดาโฮ สมัยที่เจฟฟรีย์เป็นเอ็ลเดอร์วัยหนุ่มที่แต่งงานแล้ว เขายากจนมากและรู้สึกว่าไม่สามารถเรียนวิทยาลัยปีสุดท้ายจนจบได้ เขาตัดสินใจเลิกเรียนและตอบรับข้อเสนองานที่น่าสนใจ สองสามวันต่อมาประธานโควรัมเอ็ลเดอร์มาหาเขาที่บ้าน “คุณเข้าใจความสำคัญของกุญแจฐานะปุโรหิตที่ผมถืออยู่ไหม” ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ถาม เมื่อเจฟฟรีย์บอกว่าเขาเข้าใจ ประธานบอกเขาว่าตั้งแต่ได้ยินว่าเขาตั้งใจจะเลิกเรียนหนังสือ พระเจ้าทรงทรมานเขาหลายคืนที่เขานอนไม่หลับเพื่อจะมาบอกเจฟฟรีย์ว่า “ในฐานะประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ของคุณ ผมแนะนำไม่ให้คุณเลิกเรียนหนังสือ นั่นคือข่าวสารจากพระเจ้าถึงคุณ” เจฟฟรีย์เรียนต่อ หลายปีต่อมาผมพบเขาขณะที่เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและได้ยินเขาพูดกับผู้ฟังคนหนึ่งของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตว่า “[คำแนะนำ] นั้นสร้างคุณค่าทุกอย่างในชีวิตผม”

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนหนึ่งขยายฐานะปุโรหิตและการเรียกของเขา และทั้งหมดนั้นสร้าง “คุณค่าทุกอย่าง” ในชีวิตบุตรอีกคนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า

IV. ฐานะปุโรหิตในครอบครัว

จนถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าได้พูดถึงหน้าที่ของฐานะปุโรหิตในศาสนจักร ต่อไปข้าพเจ้าจะพูดถึงฐานะปุโรหิตในครอบครัว ข้าพเจ้าเริ่มด้วยกุญแจ หลักธรรมที่ว่าสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตสามารถใช้ได้ภายใต้การกำกับดูแลของคนที่ถือกุญแจสำหรับหน้าที่นั้นเท่านั้นเป็นหลักธรรมพื้นฐานในศาสนจักร แต่ใช้ไม่ได้กับการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัว8 บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตควบคุมดูแลครอบครัวของเขาโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่เขาดำรงอยู่ เขาไม่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลหรือความเห็นชอบของกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อจะให้คำแนะนำสมาชิกในครอบครัว จัดประชุมครอบครัว ให้พรฐานะปุโรหิตแก่ภรรยาและลูกๆ หรือให้พรรักษาผู้ป่วยแก่สมาชิกครอบครัวหรือคนอื่นๆ

ครอบครัวศึกษาด้วยกัน

หากบิดาจะขยายฐานะปุโรหิตในครอบครัวของพวกเขาเอง สิ่งนั้นก็จะช่วยให้พันธกิจของศาสนจักรก้าวหน้าขึ้น มากเท่ากับสิ่งอื่นที่พวกเขาอาจจะทำ บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคควรรักษาพระบัญญัติเพื่อพวกเขาจะมีอำนาจฐานะปุโรหิตในการให้พรสมาชิกครอบครัว บิดาควรเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเปี่ยมด้วยความรัก ทั้งนี้เพื่อสมาชิกครอบครัวจะอยากขอพรจากบิดาของพวกเขา บิดามารดาทุกคนควรส่งเสริมการให้พรฐานะปุโรหิตในครอบครัวมากขึ้น

พรฐานะปุโรหิต

บิดา มีหน้าที่เป็น “หุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน” ของภรรยา ดังที่ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวสอนไว้9 และบิดา เมื่อท่านมีโอกาสพิเศษในการใช้พลังและอิทธิพลของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตของท่าน ขอให้ทำ “โดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง” (คพ. 121:41) มาตรฐานสูงที่มีไว้สำหรับการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในครอบครัว ประธานฮาโรลด์ บี. ลีให้คำสัญญานี้ไม่นานหลังจากท่านเป็นประธานศาสนจักร “พลังของฐานะปุโรหิตที่ท่านดำรงอยู่จะเลิศล้ำมากขึ้นเมื่อมีวิกฤตกาลในบ้าน มีความเจ็บป่วยร้ายแรง หรือมีเรื่องใหญ่ให้ตัดสินใจ … สิ่งที่อยู่ในพลังของฐานะปุโรหิต ซึ่งเป็นพลังของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ คือพลังที่จะกระทำสิ่งอัศจรรย์หากพระเจ้าทรงประสงค์ให้ทำเช่นนั้น แต่เพื่อให้เราใช้ฐานะปุโรหิต เราต้องมีค่าควร หากไม่เข้าใจหลักธรรมนี้ เราก็จะไม่ได้รับพรของการดำรงฐานะปุโรหิตที่ใหญ่ยิ่งนั้น”10

พี่น้องชายที่รัก การขยายฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านดำรงอยู่จำเป็นอย่างยิ่งต่องานของพระเจ้าในครอบครัวท่านและการเรียกของท่านในศาสนจักร

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระองค์ ผู้เป็นเจ้าของฐานะปุโรหิต ผ่านการทนทุกข์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ ชายหญิงทุกคนได้รับความเป็นอมตะอย่างแน่นอนและมีโอกาสสำหรับชีวิตนิรันดร์ เราแต่ละคนควรซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียรทำส่วนของเราในงานอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน