“เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์” หัวข้อประวัติศาสนจักร
“เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์”
เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ เจมส์
เจน เอลิซาเบธ แมนนิงก์ (ประมาณปี 1822–1908) เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตรไม่ต่ำกว่าห้าคนที่เกิดจากคู่สามีภรรยาชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่เป็นไทในคอนเนตทิคัตในช่วงเวลาที่คนผิวดำส่วนใหญ่เป็นทาสในสหรัฐอเมริกา1 สมัยเป็นสาว เธอเข้าร่วมคริสตจักรประชาคมคานาอันใหม่ในปี 1841 แต่ 18 เดือนต่อมาในฤดูหนาวปี 1842–1843 เธอและสมาชิกครอบครัวอีกหลายคนรับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ต่อมาไม่นานเจนและคนอื่นๆ ในครอบครัวปรารถนาจะไปร่วมกับวิสุทธิชนในนอวู พวกเขาจึงออกเดินทางจากคอนเนตทิคัตไปนิวยอร์ก โดยวางแผนเดินทางด้วยเรือกลไฟและเรือสำหรับแล่นในคลอง อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเรือเพราะเชื้อชาติของตน ดังนั้นจึงต้องเดินไปอีก 1,287 กิโลเมตรที่เหลือ ในพีโอเรีย อิลลินอยส์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสงสัยว่าครอบครัวแมนนิงก์เป็นทาสที่อาจหลบหนีออกมาและเรียกร้องเอกสารเพื่อพิสูจน์สถานะความเป็นไทของพวกเขา การเหยียดเชื้อชาติเป็นอุปสรรคที่เจนจะเผชิญตลอดชีวิตของเธอ
เมื่ออยู่ในนอวู เจนพัฒนาสัมพันธภาพอย่างรวดเร็วกับโจเซฟและเอ็มมา สมิธ เธออาศัยและทำงานในบ้านของพวกเขา มีช่วงหนึ่งเอ็มมาได้เชื้อเชิญให้เจนเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวสมิธโดยการผนึกของฐานะปุโรหิต2 เจนปฏิเสธเพราะเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แต่เธอเชื่อมั่นในบทบาทการเป็นศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟ “ดิฉันรู้จักท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟจริงๆ” เธอเป็นพยานในภายหลัง “ท่านเป็นชายที่ดีที่สุดที่ดิฉันเคยเห็นมาบนแผ่นดินโลก … ดิฉันมั่นใจว่าท่านเป็นศาสดาพยากรณ์เพราะดิฉันรู้”3
โดยสนทนากับโจเซฟและลูซี แมค สมิธมารดาของท่าน เจนเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนและการแปล ตลอดจนเริ่มเข้าใจและเคารพศาสนพิธีพระวิหาร
เจนแต่งงานกับไอแซค เจมส์ ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวผิวดำที่เป็นไทจากนิวเจอร์ซี พวกเขาพร้อมด้วยซิลเวสเตอร์บุตรชายของเจน ออกจากนอวูในปี 1846 เพื่อมุ่งหน้าไปทางตะวันตกกับวิสุทธิชน ในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกันนั้น ไซลาสบุตรชายของเจนกับไอแซคเกิด ปีต่อมาครอบครัวนี้ข้ามทุ่งราบมาถึงหุบเขาซอลท์เลคในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1847 ไอแซคกับเจนมีบุตรด้วยกันเพิ่มอีกหกคน มีเพียงสองคนเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่นานกว่าเจน เช่นเดียวกับผู้ตั้งถิ่นฐานยุคแรกในหุบเขาซอลท์เลค เจนกับไอแซคทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวของตน ไอแซคทำงานเป็นกรรมกรและคนขับรถม้าให้กับบริคัม ยังก์เป็นครั้งคราว ส่วนเจนทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า และซักรีดเสื้อผ้าเหมือนที่เธอเคยทำในนอวู
ความตึงเครียดในชีวิตสมรสทำให้ไอแซคกับเจนหย่าร้างกันในปี 1870 ต่อมาเจนมีชีวิตสมรสระยะสั้นสองปีกับแฟรงค์ เพอร์คินส์ผู้เคยเป็นทาส แต่ไม่นานก็กลับมาใช้ชีวิตเป็นมารดาและคุณย่าคุณยายตัวคนเดียวอีกครั้ง ความต้องการทางการเงินและการสิ้นชีวิตของบุตรสามคนเป็นเหตุให้เจนต้องกลับไปทำงาน เธอทำซุปขาย ในขณะที่บุตรชายสองคนของเธอรับจ้างเป็นกรรมกร ในปี 1890 หลังจากหายไป 20 ปี ไอแซคกลับมาซอลท์เลคซิตี้และเป็นสมาชิกในศาสนจักรอีกครั้ง และสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเจน เมื่อเขาสิ้นชีวิตในหนึ่งปีต่อมา พิธีศพจัดขึ้นในบ้านของเธอ
ตลอดชีวิตที่ยากลำบาก เจนยังคงยึดมั่นในศรัทธาที่มีต่อคำสอนพระกิตติคุณและให้ความสำคัญกับการเป็นสมาชิกในศาสนจักร เธอบริจาคเงินให้กับการก่อสร้างพระวิหารและมีส่วนร่วมในสมาคมสงเคราะห์และสมาคมอดออมของสตรี4 เจนมีประสบการณ์มากมายกับของประทานแห่งพระวิญญาณ รวมถึงนิมิต ความฝัน การรักษาโดยศรัทธา และการพูดภาษา “ศรัทธาของดิฉันในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” เธอเขียนในชีวิตของเธอภายหลัง “เข้มแข็งในวันนี้ ไม่ใช่สิ น่าจะเข้มแข็งกว่าวันที่ดิฉันรับบัพติศมาในตอนแรก”5
ระหว่างปี 1884 และปี 1904 เจนติดต่อกับผู้นำศาสนจักรเป็นระยะๆ—จอห์น เทย์เลอร์, วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, ซีนา ดี. เอช. ยังก์, และโจเซฟ เอฟ. สมิธ—และขออนุญาตรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและการผนึก6 ในเวลานั้น ชายหญิงวิสุทธิชนชาวผิวดำไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารส่วนใหญ่ ในปี 1888 ประธานสเตคชื่อแองกัส เอ็ม. แคนนอนอนุมัติให้เจนประกอบพิธีบัพติศมาให้ญาติผู้วายชนม์ของเธอ7 ในที่สุดผู้นำศาสนจักรอนุญาตให้เธอได้รับการผนึกโดยตัวแทนเข้าสู่ครอบครัวโจเซฟ สมิธในฐานะผู้รับใช้ในปี 1894 ซึ่งเป็นเหตุการณ์พิเศษ แม้เธอจะไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารหรือการผนึกกับครอบครัวในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่มีผู้ประกอบศาสนพิธีเหล่านี้แทนเธอในปี 19798
เธอสิ้นชีวิตในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1908 โดยมีอายุได้ 95 ปี เธอเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์เสมอมา Deseret News รายงานว่า “มีเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อเสียงในเรื่องศรัทธาและความซื่อสัตย์มากกว่าเจน แมนนิงก์ เจมส์ และแม้มาจากแผ่นดินที่ต่ำต้อย แต่หลายร้อยคนนับเธอเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย”9