การรวมคน
รวมทุกคนเข้ามา
เราจะช่วยให้ผู้อื่นเดินเข้าประตูโบสถ์ด้วยความรู้สึกวิตกกังวลหรือว้าเหว่น้อยลงได้อย่างไร?
ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ พวกเราหลายคนเลือกจะ “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” อย่างแท้จริงในแต่ละสัปดาห์ขณะเราเข้าประชุมวันอาทิตย์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:32) การมาแบ่งปันพระวิญญาณและพื้นที่กับคนอื่น หลายคนมองหาความสัมพันธ์ การยอมรับ และความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน เราแต่ละคนต่างมีความหวังว่าเราจะ “ไม่ใช่คนนอกและคนต่างด้าวอีกต่อไป แต่เป็นพลเมืองเดียวกับบรรดาธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า” (เอเฟซัส 2:19)
แต่สำหรับบางคน การเดินเข้าประตูโบสถ์รวมเอาความรู้สึกเปราะบาง วิตกกังวลหรือว้าเหว่มาด้วย ประสบการณ์ ความเป็นจริงในครอบครัว หรือสภาวการณ์ของพวกเขาอาจไม่สะท้อนให้เห็นภาพ “อุดมคติ” เรื่องนี้มักนำไปสู่ความรู้สึกคล้ายกับพวกเขายืนอยู่ด้านนอกแล้วมองเข้ามา แม้เมื่อ “อุดมคติ” นั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของความเป็นจริงสำหรับเราทุกคนแต่อย่างใด
คุณค่าของเราที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เป็นผลมาจากสภาวการณ์ของเรา และในหลายกรณี สภาวการณ์ที่ด้อยกว่าอุดมคติเหล่านี้ผลักดันให้เราเติบโตและเรียนรู้ แต่เนื่องจากสภาวการณ์เหล่านี้ มีหลายคนรู้สึกยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับโบสถ์หรือเข้าใจอย่างเต็มที่ เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะเปิดประตูที่ปิดกั้นผู้อื่นจากความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา แม้ขณะนั้นเราอาจต่อสู้กับความรู้สึกคล้ายๆ กันด้วยตัวเราเอง
การเรียกให้รวมทุกคนเข้ามา
การสร้างความรู้สึกให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพันธสัญญาของเรา ที่บัพติศมา เราสัญญาว่าเราจะไม่ปล่อยให้ใครทนทุกข์อยู่ตามลำพังแต่เราสัญญาว่าจะโศกเศร้ากับพวกเขา ปลอบโยนพวกเขา และแบกรับภาระของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 18:8-10)
การสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรเรา เราต้องรวมทุกคนเข้ามาในการนมัสการของเราดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้อนรับทุกคนให้รับส่วนความรอดของพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 26:24–28, 33; 3 นีไฟ 18:22–23)
การสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการเดินทางของเราไปสู่การเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด การรักผู้อื่นและการเปิดแวดวงของเราเพื่อรวมผู้คนที่แตกต่างจากเราเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นคนดีพร้อม (ดู มัทธิว 5:43-47)
ในที่สุด เพื่อเป็นของพระองค์ เราต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27)
ไม่มีการต่อสู้ดิ้นรนใดถูกลืม
ความรักที่พระผู้เป็นเจ้ามีต่อบุตรธิดาของพระองค์ไม่มีการแบ่งแยก แต่รวมเข้ามาทั้งหมด พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้ทุกคน “มาหาพระองค์และรับส่วนพระคุณความดีของพระองค์; และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย” (2 นีไฟ 26:33)
พระองค์ทรงรู้จักและทรงทะนุถนอม:
-
พี่น้องสตรีที่เพิ่งหย่าร้างรู้สึกเจ็บปวดเมื่อสนทนาเรื่องการแต่งงาน
-
คนหนุ่มสาวที่ต่อสู้ดิ้นรนกับข้อสงสัย วิงวอนหาคำตอบ
-
พี่น้องสตรีที่ทุกข์ทรมานกับความวิตกกังวล รู้สึกอ้างว้างและหวาดหวั่น
-
พี่น้องหนุ่มผิวสีที่รู้สึกอึดอัดขณะชั้นเรียนสนทนาถึงความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสีผิวและฐานะปุโรหิต
-
พี่น้องสตรีที่ยังไม่แต่งงานและรู้สึกว่านั่นหมายถึงเธอเป็นคนไร้ค่า
-
คุณแม่ที่มีลูกพิการ กังวลว่าการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ของเขาจะรบกวนผู้อื่น
-
พี่น้องชายที่เสน่หาเพศเดียวกัน กำลังคิดจะทิ้งศาสนจักรขณะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะเข้าใจอนาคตของตน
-
พี่น้องสตรีที่กังวลว่าคนอื่นจะตัดสินเธออย่างไรขณะเธอเริ่มลองกลับมาที่โบสถ์ครั้งแรก
ไม่มีสภาวการณ์ใด ไม่มีสถานการณ์ไหน ไม่มีบุคคลใดถูกลืม “พระองค์ทรงคำนึงถึง … และทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 26:33) เพราะเช่นเดียวกับสานุศิษย์คนแรกๆ ของพระองค์ เราทุกคน “เป็นฝ่ายพระคริสต์” (มาระโก 9:41; ดู โมไซยาห์ 5:7 ด้วย)
แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างความสัมพันธ์และต้อนรับคนอ่อนแอเช่นเดียวกับเมื่อเราเห็นคนเข้มแข็ง?
เราอาจเริ่มด้วยการไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้:
-
ฉันสามารถเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นที่จะเอื้อมออกไปทำความรู้จักคนที่ฉันไม่รู้จักในวอร์ดหรือสาขาของฉันให้มากขึ้นได้อย่างไร?
-
ฉันจะเชื้อเชิญคนที่อาจต้องการเพื่อนในแบบใดได้บ้าง?
-
ฉันจะเป็นแบบอย่างของคนที่รักและรวมคนอื่นเข้ามาได้อย่างไร?
-
ฉันจะแสวงหาใครสักคนอย่างจริงใจเพื่อทักทายได้อย่างไร?
-
อะไรเข้ามาในความคิดเมื่อฉันสวดอ้อนวอนขอการดลใจที่จะรู้วิธีช่วยใครสักคน?
เมื่อเรารู้จักคนอื่นๆ จะมีเรื่องมากมายให้เราเรียนรู้จากพวกเขา
ในเดือนต่อๆ ไป เราจะแบ่งปันเรื่องราวของพี่น้องที่พยายามอย่างยิ่งที่จะรู้ว่าพวกเขามีส่วนร่วม เราหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราแต่ละคนทำตามพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดสองข้อของพระผู้เป็นเจ้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น: ที่จะรักพระองค์และรักลูกๆ ทุกคนของพระองค์