2021
นำไซอันออกมา
กันยายน 2021


นำไซอันออกมา

เมื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับพรจากพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เราได้รับเรียกให้เสริมสร้างศาสนจักรและสร้างไซอัน

map of the world

ภาพแผนที่จาก GETTY IMAGES

ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้คนของพระเจ้าพยายามสร้างสังคมแห่งพระกิตติคุณซึ่งพระองค์ทรงสามารถพำนักอยู่ เพื่อจะกลายเป็นชุมชนเช่นนั้นของวิสุทธิชน เราต้องเรียนรู้ที่จะทำให้ความคิดและจิตใจของเราสะอาดและเป็นหนึ่งเดียวกัน ปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรมโดยไร้ซึ่งความขัดแย้งและการโต้เถียง ดำรงอยู่ในความชอบธรรมโดยไม่มีคนจนในบรรดาพวกเรา (ดู โมเสส 7:18)

ตัวอย่างเช่น หลังจากจอห์นและมาเรีย ลินฟอร์ดเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในเกรฟลีย์ ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1842 จอห์นได้รับเรียกเป็นประธานสาขาในท้องที่ อย่างไรก็ตาม ญาติพี่น้องและผองเพื่อนต่างไม่ได้ร่วมยินดีกับครอบครัวลินฟอร์ดที่ค้นพบการฟื้นฟู หากพวกเขาไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้จอห์นเลิกนับถือศาสนาใหม่ พวกเขาจะ “ทำให้เขาอดอยาก” โดยการคว่ำบาตรธุรกิจการทำรองเท้า

ในปี 1856 กองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพเปิดโอกาสให้จอห์นและมาเรียอพยพไปยังหุบเขาซอลท์เลค พวกเขาล่องเรือไปยังนิวยอร์กพร้อมกับบุตรชายทั้งสามคน พวกเขาเดินทางจากที่นั่นไปยังไอโอวาซิตี รัฐไอโอวา และออกเดินทางในเดือนกรกฎาคม ปี 1856 พร้อมกับทอดทิ้งคณะรถลากเจมส์ จี. วิลลีย์ที่ประสบเคราะห์ร้าย

จอห์นเอ่ยคำพูดสุดท้ายของเขาเมื่อเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 21 ตุลาคม ณ บริเวณใกล้ริมฝั่งแม่น้ำสวีตวอเตอร์ในรัฐไวโอมิง

“ผมดีใจที่เรามา” เขาบอกกับมาเรียเมื่อเธอถามเขาว่าเสียใจหรือไม่ที่ออกจากประเทศอังกฤษ “ผมคงจะไปไม่ถึงซอลท์เลค แต่คุณกับลูกๆ จะไปถึง และผมไม่เสียใจกับทุกสิ่งที่เราประสบถ้าลูกชายเราจะเติบโตและเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาในไซอัน”1

ไซอันคืออะไร?

group of pioneers

นอกเหนือจากเรื่องการประสูติของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ มีไม่กี่หัวข้อที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศาสดาพยากรณ์ในสมัยโบราณและปัจจุบันอีกทั้งวิสุทธิชนมากกว่าการรวบรวมเชื้อสายแห่งอิสราเอลในยุคสุดท้ายและการสร้างไซอันเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด2

เหตุใดไซอันจึงมีความสำคัญต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้าย—จากวันนั้นจนถึงเวลานี้ ไม่ว่าจะพบเจอผู้คนของพระเจ้า ณ แห่งหนใดก็ตาม?

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ตั้งแต่สมัยอาดัมจนถึงปัจจุบัน—เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าทรงมีผู้คนของพระองค์เอง เมื่อใดก็ตามที่มีผู้สดับฟังพระสุรเสียงและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เมื่อใดก็ตามที่วิสุทธิชนรับใช้พระองค์ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว—ณ ที่แห่งนั้นมีไซอัน”3

พระคัมภีร์บรรยายถึงชุมชนไซอัน เอโนค ศาสดาพยากรณ์ผู้มีศรัทธายิ่งในยุคสมัยของโนอาห์ “สร้างนครหนึ่งที่เรียกว่านครแห่งความบริสุทธิ์, แม้ไซอัน” (โมเสส 7:19) พระเจ้าทรงพำนักกับผู้คนของพระองค์ที่นั่น ประทานพรแก่พวกเขาและทรงอวยพรแผ่นดินของพวกเขา (ดู โมเสส 7:16–18) พระเจ้าตรัสกับเอโนคว่า “ดูเถิด, เราคือพระผู้เป็นเจ้า; มหาบุรุษแห่งความบริสุทธิ์คือนามของเรา” (โมเสส 7:35)

ปณิธานของไซอันคือการสถาปนาสถานที่แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของศรัทธาซึ่งตั้งอยู่บนหลักธรรมซีเลสเชียลแห่งสวรรค์ เป็นที่ซึ่งผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าสามารถดำเนินไปกับพระองค์และพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองทรงมีที่ประทับ

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์เสด็จเยือนโลกใหม่ “ผู้คนทั้งหมดได้รับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า, ทั่วผืนแผ่นดิน …

“และพวกเขามีสิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกันในบรรดาพวกเขา; ฉะนั้นจึงไม่มีคนรวยและคนจน, ทาสและไท, แต่พวกเขาเป็นอิสระทุกคน, และเป็นผู้รับส่วนในของประทานจากสวรรค์ …

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือไม่มีความขัดแย้งในแผ่นดิน, เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน” (4 นีไฟ 1:2, 3, 15)

มีความชอบธรรมและเดชานุภาพเป็นอาวุธ

ยุคของเอโนคเป็นช่วงเวลาแห่งสงคราม การนองเลือด ความกลัว ความมืด และความเกลียดชัง—เมื่อ “อำนาจของซาตานอยู่ทั่วพื้นพิภพ” (โมเสส 7:24; ดู ข้อ 16, 17, 33 ด้วย) แต่เอโนคซื่อสัตย์ และพระเจ้าทรงเรียกให้เขาป่าวประกาศการกลับใจ

พระเจ้าตรัสกับเอโนคว่า “ความยากลำบากใหญ่หลวง” (โมเสส 7:61) ที่คล้ายคลึงกันนั้น จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ “เรามีชีวิตอยู่ฉันใด, แม้ฉันนั้นเราจะมาในวันเวลาสุดท้าย, ในวันเวลาของความชั่วร้ายและการแก้แค้น, เพื่อทำให้คำมั่นซึ่งเราทำกับเจ้าเกิดสัมฤทธิผลเกี่ยวกับลูกหลานของโนอาห์” (โมเสส 7:60)

ในยุคสมัยของเรา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันออกความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ “ข้าพเจ้ามองว่าการระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน [โควิด-19] เป็นเพียงสิ่งเลวร้ายอย่างหนึ่งที่เป็นภัยพิบัติแก่โลกของเรา รวมถึงความเกลียดชัง การก่อความไม่สงบ การเหยียดเชื้อชาติ ความรุนแรง การทุจริต และการขาดอารยธรรม”4 กระนั้นก็ตาม เรามีคำมั่นสัญญาจากศาสดาพยากรณ์ ประธานเนลสันยังได้กล่าวอีกว่า:

“เราอยู่ในยุคที่ ‘บรรพบุรุษของเราทั้งหลายรอคอยอยู่ด้วยความร้อนรนกระวนกระวาย’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:27] เราได้นั่งแถวหน้าเพื่อ เป็นพยานเหตุการณ์สด ในสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์นีไฟเห็น เฉพาะในนิมิต ว่า ‘เดชานุภาพของพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า’ จะลงมา ‘บนผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า, ซึ่งกระจัดกระจายอยู่บนทั่วพื้นพิภพ; และพวกเขามีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่’ [1 นีไฟ 14:14]

“พี่น้องของข้าพเจ้า ท่าน อยู่ในบรรดาชายหญิงและเด็กเหล่านั้นที่นีไฟเห็น”5

คำเชื้อเชิญให้รวบรวมและเป็นพรแก่ผู้คนทั้งสองด้านของม่าน สร้างไซอัน และเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดนั้นรวมถึงเราแต่ละคนด้วย “จากบรรดาคนทั้งหมดที่เคยอยู่บนแผ่นดินโลก” ประธานเนลสันกล่าวว่า “เรา เป็นคนที่มีส่วนร่วมในงานรวบรวมครั้งสุดท้ายที่สำคัญยิ่งนี้”6

แล้วเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร?

เมื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับพรจากพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เรา “ได้รับเรียกมาทำงานในสวนองุ่นของ [พระเจ้า], และมาเสริมสร้างศาสนจักรของ [พระองค์] และมานำไซอันออกมา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 39:13) ซึ่งงานนั้นต้องใช้ความรัก ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ศรัทธา การรับใช้ การเสียสละ และการเชื่อฟัง

group of women outside a church

“เมื่อผู้คนรักพระผู้เป็นเจ้าสุดหัวใจและพากเพียรอย่างชอบธรรมเพื่อเป็นเหมือนพระองค์ การวิวาทและความขัดแย้งในสังคมจะมีน้อยลง ความเป็นหนึ่งเดียวกันจะมีมากขึ้น” เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว ท่านเสริมว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็น … คำที่กินความกว้าง แต่แน่นอนที่สุดว่าเป็นแบบอย่างของพระบัญญัติสำคัญข้อแรกและข้อสองคือรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ของเรา ทั้งยังแสดงถึงชาวไซอันที่ใจและความคิด “ผูกพันกันในความเป็นหนึ่งเดียว” ด้วย [โมไซยาห์ 18:21]”7

ด้วยความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น เราใช้ศรัทธาเพื่อนำการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดมาใช้ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเราเมื่อเราชำระจิตใจและชีวิตให้บริสุทธิ์ (ดู โมไซยาห์ 3:19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:21) เรารวบรวมผู้ที่เต็มใจมาหาพระเจ้าด้วยความชอบธรรม โดยผ่านศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์และหลักธรรมแห่งซีเลสเชียล เราเชื้อเชิญความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาในชีวิตของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:5) เราสร้างไซอันและพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองเพื่อเป็นการอุทิศถวายพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับเรา

“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว “และคือศรัทธาในพระองค์และผลที่สมบูรณ์ของการชดใช้อันไม่มีขอบเขตซึ่งจะทำให้ท่านกับคนที่ท่านรักและรับใช้มีคุณสมบัติคู่ควรรับของประทานอันสูงส่งเพื่ออาศัยอยู่ในสังคมนั้นของไซอันที่สัญญาไว้และตั้งตารอมานาน”8

เตรียมพร้อมสำหรับวันที่จะมาถึง

group of young men sitting in a Church class

ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันสอนว่าการมาหาพระคริสต์เป็นเรื่องของความมุ่งมั่นของแต่ละคน ไม่ใช่เรื่องของสถานที่ทางกายภาพ

ประธานเนลสันอธิบายว่า “ในยุคแรกของศาสนจักร การเปลี่ยนใจเลื่อมใสมักจะหมายถึงการโยกย้ายถิ่นฐานด้วย “แต่ขณะนี้งานการรวบรวมเกิดขึ้นในแต่ละประชาชาติ พระเจ้าทรงประกาศิตการสถาปนาไซอันในแต่ละเขตแดนที่พระองค์ประทานการเกิดและสัญชาติแก่วิสุทธิชนของพระองค์”9

เมื่อเรารับความท้าทายและพรของการสร้างไซอันในครอบครัว สาขา วอร์ด สเตค และชุมชนของเรา เรามองไปพร้อมกับจอห์นและมาเรีย ลินฟอร์ดไปสู่วันที่ลูกหลานของเรา “สามารถเติบโตและเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาในไซอัน” ในท่ามกลางทุกประชาชาติ ตระกูล และภาษา

ขณะที่เราแสวงหาพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน เราสวดอ้อนวอน “เพื่ออาณาจักรของพระองค์จะออกไปบนแผ่นดินโลก, เพื่อผู้อยู่อาศัยในนั้นจะได้รับมัน, และพร้อมสำหรับวันเวลาที่จะมาถึง, ซึ่งในเวลานั้นบุตรแห่งพระมหาบุรุษจะเสด็จลงมาในสวรรค์, ทรงห่อหุ้มด้วยความเจิดจ้าแห่งรัศมีภาพของพระองค์, เพื่อพบอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งจัดตั้งอยู่บนแผ่นดินโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 65:5)

อ้างอิง

  1. ดู แอนดรูว์ ดี. โอลเซ็น, The Price We Paid: The Extraordinary Story of the Willie and Martin Handcart Pioneers (2006), 45–46, 136–137.

  2. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกับเวนดีย์ ดับเบิลยู. เนลสัน, “ความหวังอิสราเอล” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับเยาวชนทั่วโลก 3 มิถุนายน 2018), HopeofIsrael.ChurchofJesusChrist.org.

  3. บรูซ อาร์. แมคคองกี, “Come: Let Israel Build Zion,” Ensign, May 1977, 116–117.

  4. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, ใน Sarah Jane Weaver, “President Nelson Invites Us to Give Thanks,” Nov. 20, 2020, thechurchnews.com.

  5. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 88.

  6. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกับเวนดี้ ดับเบิลยู. เนลสัน, “ความหวังอิสราเอล.”

  7. เควนทิน แอล. คุก, “ใจผูกพันกันในความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 18, 19.

  8. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “พี่น้องสตรีในไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 69.

  9. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 81.