จงตามเรามา
7–13 ธันวาคม โมโรไน 7–9: “ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น”


“7–13 ธันวาคม โมโรไน 7–9: ‘ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“7–13 ธันวาคม โมโรไน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976) โมโรไน: ชาวนีไฟคนสุดท้าย 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้เนื้อแข็ง ขนาด 34⅞ x 47 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 1969

7–13 ธันวาคม

โมโรไน 7–9

“ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น”

ขณะที่ท่านศึกษา โมโรไน 7–9 จงฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์และบันทึกข่าวสารของพระองค์ถึงท่าน พระองค์ทรงสามารถสอนท่านทั้งสิ่งที่ท่านต้องรู้และสิ่งที่ท่านต้องทำ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ก่อนโมโรไนสรุปบันทึกที่เรารู้กันในปัจจุบันว่าเป็นพระคัมภีร์มอรมอนด้วยถ้อยคำสุดท้ายของเขา เขาแบ่งปันข่าวสารสามเรื่องจากมอรมอนบิดาของเขา คือ คำปราศรัยกับ “ผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์” (โมโรไน 7:3) และจดหมายสองฉบับที่มอรมอนเขียนถึงโมโรไน บางทีโมโรไนรวมข่าวสารเหล่านี้ไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนเพราะเขาเห็นความคล้ายคลึงล่วงหน้าระหว่างอันตรายของยุคสมัยของเขากับของเรา เมื่อโมโรไนเขียนถ้อยคำเหล่านี้ ผู้คนชาวนีไฟทั้งหมดถลำไปสู่การละทิ้งความเชื่อ หลายคน “สูญเสียความรัก, ที่มีต่อกัน” และเบิกบานใน “ทุกสิ่งนอกจากสิ่งที่ดี” (โมโรไน 9:5, 19) ทว่ามอรมอนยังคงมีเหตุให้หวัง—โดยสอนเราว่าความหวังไม่ได้หมายถึงการเมินเฉยหรือไม่รู้สึกรู้สากับปัญหาของโลก แต่หมายถึงการมีศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ผู้ทรงมีเดชานุภาพยิ่งกว่าและมากกว่าปัญหาเหล่านั้น หมายถึงการ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (โมโรไน 7:19) หมายถึงการให้การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ “และความหวังในรัศมีภาพของพระองค์และชีวิตนิรันดร์, จงสถิตอยู่ในจิตใจ [ท่าน] ตลอดกาล” (โมโรไน 9:25) และจนกว่าจะถึงวันอันน่ายินดีของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์ หมายถึงการไม่หยุด “ทำงานที่ [เราต้อง] ทำ … [เพื่อ] ชนะศัตรูของความชอบธรรมทั้งปวง” (โมโรไน 9:6)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โมโรไน 7:12–20

แสงสว่างของพระคริสต์ช่วยเราตัดสินระหว่างความดีกับความชั่ว

โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข่าวสารที่มีอำนาจชักจูง เราจะบอกได้อย่างไรว่าข่าวสารใดถูกและข่าวสารใดผิด ถ้อยคำของมอรมอนใน โมโรไน 7 ให้หลักธรรมหลายประการที่เราสามารถใช้หลีกเลี่ยงการ “ตัดสินผิด” (โมโรไน 7:18) ขณะที่ท่านศึกษา โมโรไน 7:12–20 ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้ท่านรู้ว่าอะไรจะนำหรือไม่นำท่านให้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ท่านอาจจะใช้ความจริงเหล่านี้ช่วยท่านประเมินข่าวสารที่ท่านพบเจอ ประสบการณ์ที่ท่านมีสัปดาห์นี้และพิจารณาว่าข่าวสารเหล่านั้นเชื้อเชิญและชักจูงให้ท่านทำดีหรือไม่ (ดู โมโรไน 7:13)

ดู “Judging Others,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org; Bible Dictionary, “Light of Christ” ด้วย

โมโรไน 7:20–48

ฉันสามารถ “ยึดมั่นในทุกสิ่งที่ดี” โดยผ่านศรัทธาในพระคริสต์

หลังจากสอนวิธีแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วแล้ว มอรมอนถามคำถามหนึ่งที่ดูเหมือนเกี่ยวข้องกับปัจจุบัน: “เป็นไปได้อย่างไรที่ท่านจะยึดมั่นในทุกสิ่งที่ดี”—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการล่อลวงของปฏิปักษ์น่าหลงใหลอย่างยิ่ง (โมโรไน 7:20) คำตอบของมอรมอนมีอยู่ทั่ว ส่วนที่เหลือของบทที่ 7 ขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 20–48 ให้มองหาความจริงที่ช่วยให้ท่านสำนึกใน “ทุกสิ่งที่ดี” ที่ท่านมีเพราะพระเยซูคริสต์ การมีศรัทธาในพระองค์ช่วยให้ท่านแสวงหาสิ่งที่ดีอย่างไร ท่านจะ “ยึดมั่น” สิ่งที่ดีมากขึ้นได้อย่างไร

ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:13 ด้วย

โมโรไน 7:44–48

“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ตั้งข้อสังเกตว่า “เหตุผลที่จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้นและเหตุผลที่จิตกุศลยิ่งใหญ่กว่าการทำความดีที่สำคัญที่สุด … คือจิตกุศล ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ (โมโรไน 7:47) ไม่ใช่ การกระทำ แต่เป็น สภาวะ หรือสภาพการดำรงอยู่ … จิตกุศลคือสิ่งที่มนุษย์จะเป็น” (ดู “การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 49) ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 7:44–48 ให้พิจารณาคำอธิบายของมอรมอนเกี่ยวกับจิตกุศลและฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงช่วยให้ท่านพบวิธีที่ท่านจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เหตุใดเราจึงต้องมีศรัทธาและความหวังจึงจะได้รับของประทานแห่งจิตกุศล

โมโรไน 9:9

ความบริสุทธิ์ทางเพศและพรหมจรรย์ของฉันถูกพรากไปจากฉันได้หรือไม่

คำอธิบายของมอรมอนเกี่ยวกับบาปอันน่ากลัวของชาวนีไฟทำให้บางคนสรุปอย่างผิดๆ ว่าเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมทางเพศได้ละเมิดกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ แต่เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ให้ความกระจ่างว่าไม่ใช่เช่นนั้น ท่านสอนว่า “ข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างจริงจังว่าเมื่อการใช้ความรุนแรงของอีกคนหนึ่ง ความวิปริต หรือการข่มขืนจากบุคคลในครอบครัวทำร้ายท่านอย่างยิ่ง ปราศจากความเห็นพ้องของท่าน ท่านไม่ต้องรับผิดชอบและท่านต้องไม่รู้สึกผิด” (“Healing the Tragic Scars of Abuse,” Ensign, May 1992, 32)

โมโรไน 9:25-26

ฉันสามารถมีความหวังในพระคริสต์ไม่ว่าสภาวการณ์ของฉันเป็นเช่นไร

หลังจากบรรยายความชั่วร้ายที่มอรมอนเห็น เขาบอกบุตรชายว่าอย่าเศร้าโศก ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับข่าวสารของมอรมอนเรื่องความหวัง พระคริสต์ “ทรงยก [ท่าน] ขึ้น” มีความหมายต่อท่านอย่างไร คุณลักษณะใดของพระองค์และหลักธรรมใดของพระกิตติคุณ “อยู่ในจิตใจ” ท่านและให้ความหวังแก่ท่าน (โมโรไน 9:25)

ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ความหวังแห่งแสงสว่างของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 70, 75–77 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

โมโรไน 7:5–11

ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 7:5–11 เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องทำสิ่งถูกต้องด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังสวดอ้อนวอนและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าด้วย “เจตนาอันแท้จริง” (ข้อ 6)

โมโรไน 7:12–19

คำแนะนำของโมโรไนจะช่วยให้เราเลือกได้ดีอย่างไรว่าเราจะใช้เวลาอย่างไรและเราจะใช้เวลากับใคร ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวค้นหาสิ่งที่เชื้อเชิญให้พวกเขา “ทำดี, และรักพระผู้เป็นเจ้า, และรับใช้พระองค์” (โมโรไน 7:13) ในบ้านของท่านและ “ยึดมั่นใน” (โมโรไน 7:19) หรือถือสิ่งเหล่านั้นไว้ สรรเสริญพวกเขาสำหรับสิ่งดีที่พวกเขาพบ

โมโรไน 7:29

หลังจากอ่านข้อนี้ สมาชิกครอบครัวจะพูดถึงปาฏิหาริย์ที่พวกเขาเคยเห็นและด้านอื่นที่พวกเขาเคยเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตพวกเขา

โมโรไน 8:5–26

ชาวนีไฟที่ให้บัพติศมาเด็กเล็กเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการชดใช้จากคำสอนของมอรมอน

โมโรไน 8:16–17

“ความรักที่บริบูรณ์” หมายความว่าอย่างไร ช่วยให้เราเอาชนะความกลัวอย่างไร ช่วยเราสอนความจริงด้วยความอาจหาญอย่างไร เราพัฒนาความรักนั้นอย่างไร

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้ดนตรีเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณและสอนหลักคำสอน “ดนตรีมีพลังอันไม่มีขอบเขตที่จะช่วยให้ [เรา] มีความเข้มแข็งทางวิญญาณ” (“คำกล่าวของฝ่ายประธานสูงสุด,” เพลงสวด, x) เพลงเกี่ยวกับความรัก เช่น “จงรักกันและกัน” (เพลงสวด บทเพลงที่ 155) จะเสริมการสนทนาในครอบครัวเกี่ยวกับจิตกุศลใน โมโรไน 7:44–48)

ภาพ
พระเยซูคริสต์

ภาพเหมือนของพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์

พิมพ์