“14–20 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี: ‘ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“14–20 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
14–20 ตุลาคม
ฟีลิปปี; โคโลสี
“ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า”
ครั้งสุดท้ายที่ท่านอ่านความประทับใจทางวิญญาณที่บันทึกไว้ระหว่างศึกษาพันธสัญญาใหม่คือเมื่อใด นั่นอาจจะช่วยทบทวนการกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับมาตลอด
บันทึกความประทับใจของท่าน
เปาโลเขียนสาส์นถึงชาวฟีลิปปีและชาวโคโลสีขณะที่เขาถูกคุมขัง แต่จดหมายเหล่านี้อ่านแล้วไม่เหมือนเขียนโดยคนที่ท่านคิดว่าเขาถูกคุมขัง เปาโลพูดเกี่ยวกับปีติ การชื่นชมยินดี และการขอบพระทัยมากกว่าพูดเรื่องความทุกข์และการทดลอง “พระคริสต์ก็ถูกประกาศไปทุกที่” เขากล่าว “เรื่องนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้ายินดี และข้าพเจ้ายังจะมีความยินดีต่อไป” (ฟีลิปปี 1:18) “เพราะว่าถึงแม้ตัวข้าพเจ้าไม่อยู่แต่ใจก็อยู่กับท่านทั้งหลาย และมีความชื่นชมยินดีที่เห็น … ความเชื่อมั่นคงของพวกท่านในพระคริสต์” (โคโลสี 2:5) แน่นอนว่า “สันติสุขของพระเจ้า” ที่เปาโลประสบในสภาวการณ์ยุ่งยากทั้งหลาย “เกินความเข้าใจ” (ฟีลิปปี 4:7) แต่กระนั้นก็เป็นความจริง ในการทดลองของเราเอง เราสามารถรู้สึกถึงสันติสุขเดียวกันนี้และ “ชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา” (ฟีลิปปี 4:4) เราสามารถวางใจพระเยซูคริสต์ได้อย่างสมบูรณ์เฉกเช่นเปาโลวางใจ “ในพระบุตรนั้นเราได้รับการไถ่” (โคโลสี 1:14) เราสามารถกล่าวได้เช่นเดียวกับเปาโลว่า “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13; ดู โคโลสี 1:11ด้วย)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เรา “ประพฤติอย่างสมกับความรอด [ของเรา]” หรือไม่
บางคนใช้วลี “ประพฤติอย่างสมกับความรอดของท่านทั้งหลาย” เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเรารอดด้วยความพยายามของเราเท่านั้น แต่นั่นเป็นทัศนะที่จำกัด ทำให้เข้าใจคำสอนของเปาโลได้จำกัดเช่นกัน—“ท่านทั้งหลายได้รับความรอดแล้วด้วยพระคุณโดยทางความเชื่อ” (เอเฟซัส 2:8)—หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรก็รอด พระคัมภีร์ รวมทั้งงานเขียนของเปาโล สอนชัดเจนว่าต้องมีทั้งพระคุณของพระเยซูคริสต์และความพยายามส่วนตัวจึงจะได้รับความรอด ตามที่นีไฟกล่าว “โดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอด, หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” (2 นีไฟ 25:23) แม้เมื่อเราพยายามประพฤติอย่างสมกับความรอดของเรา แต่ “พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำการอยู่ภายในพวกท่าน” (ฟีลิปปี 2:13; ดู ฟีลิปปี 1:6; คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ” ด้วย)
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คุ้มกับการเสียสละทุกอย่าง
เปาโลยอมทิ้งหลายสิ่งหลายอย่างเมื่อเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ รวมทั้งตำแหน่งอันทรงอิทธิพลในสังคมชาวยิวในฐานะฟาริสีคนหนึ่ง ใน ฟีลิปปี 3:5–14 ให้มองหาสิ่งที่เปาโลได้รับเพราะเขาเต็มใจเสียสละเพื่อพระกิตติคุณ เขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเสียสละของเขา
จากนั้นให้พิจารณาการเป็นสานุศิษย์ของท่านเอง ท่านเสียสละอะไรบ้างเพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านได้รับอะไร มีการเสียสละเพิ่มเติมอะไรบ้างหรือไม่ที่ท่านรู้สึกว่าต้องทำเพื่อจะเป็นสานุศิษย์ที่อุทิศตนมากขึ้นของพระผู้ช่วยให้รอด
ดู 3 นีไฟ 9:19–20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:2–5; โรเบิร์ต ซี. เกย์, “มนุษย์จะเอาอะไรไปแลกชีวิตของตนกลับคืนมา” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 34–36 ด้วย
ฉันสามารถพบปีติในพระคริสต์ไม่ว่าสภาวการณ์ของฉันเป็นเช่นไร
ชีวิตของเปาโลเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจนถึงความจริงที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว “เมื่อศูนย์กลางชีวิตเราอยู่ที่พระเยซูคริสต์กับพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะรู้สึกปีติได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น—หรือไม่เกิดขึ้น—ในชีวิตเรา ปีติมาจากพระองค์และมาเพราะพระองค์” (“ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82)
ขณะที่ท่านอ่านฟีลิปปี—โดยเฉพาะ บทที่ 4—ให้ค้นหาข้อความที่สามารถช่วยให้ท่านพบปีติในทุกสภาวการณ์ของชีวิตท่าน ท่านเคยประสบ “สันติสุขของพระเจ้า” ในช่วงเวลาท้าทายเมื่อใด (ข้อ 7) ท่านเคยพบพลังทำเรื่องยากๆ “โดย [ผ่าน] พระคริสต์” เมื่อใด (ข้อ 13) ท่านคิดว่าเหตุใดความ “พอใจ” ในสภาวการณ์ทุกอย่างจึงสำคัญ (ข้อ 11) การปฏิบัติคุณลักษณะใน ข้อ 8 จะช่วยให้ท่านพบปีติในสภาวการณ์ของท่านได้อย่างไร
ดู แอลมา 33:23; ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “สำนึกคุณในทุกสภาวการณ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 70–77
ศรัทธาของฉันตั้งอยู่บนพระเยซูคริสต์
นี่เป็นวิธีศึกษาที่ท่านอาจจะพยายามใช้กับพระคัมภีร์ได้เกือบทุกบท แต่จะได้ผลดีเป็นพิเศษกับ โคโลสี 1:12–23 ค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อหาสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และเขียนสิ่งที่ท่านพบออกมาเป็นข้อๆ เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเป็นเรื่องสำคัญ
สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เป็นคน “ใหม่” เมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์
ท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กำลังช่วยให้ท่านเป็น “[ชายหรือหญิงคน] ใหม่” หรือไม่ วิธีหนึ่งที่จะทราบคือสำรวจ โคโลสี 3:1–17 และเขียนรายการเจตคติ คุณลักษณะ และการกระทำของ “มนุษย์เก่า” และอีกรายการหนึ่งเขียนเจตคติ คุณลักษณะ และการกระทำของ “มนุษย์ใหม่”
การศึกษาข้อเหล่านี้ทำให้ท่านเกิดความคิดบ้างหรือไม่ว่าพระกิตติคุณกำลังเปลี่ยนท่านอย่างไร บันทึกความคิดของท่านไว้ทบทวนในอนาคตและไตร่ตรองว่าท่านกำลังก้าวหน้าอย่างไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ครอบครัวท่านอาจสังเกตเห็นคำวา ปีติ หรือ ชื่นชมยินดี ซ้ำบ่อยๆ ในฟีลิปปี แต่ละครั้งที่ท่านพบคำใดคำหนึ่งเหล่านี้ ท่านอาจจะหยุดและสนทนาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับวิธีพบปีติ
เราจะส่องสว่าง “ดุจดวงสว่างต่างๆ ในโลก” ได้อย่างไร
บางทีครอบครัวท่านอาจจะระบุสิ่งที่ต้อง “ใคร่ครวญ” ซึ่งตรงกับคำอธิบายในข้อนี้ (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:13 ด้วย) ครอบครัวท่านจะได้รับพรจากการทำตามคำแนะนำของเปาโลอย่างไร
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มพูน “ความรู้ถึงเรื่องพระเจ้า” เราพบ “คลังสติปัญญาและความรู้” อะไรบ้างในพระกิตติคุณ
บางทีครอบครัวท่านอาจจะอ่านข้อเหล่านี้ขณะนั่งล้อมต้นไม้หรือขณะดูภาพต้นไม้ (เช่นภาพที่มากับโครงร่างนี้) การเป็นคน “แน่วแน่” และ “หยั่งราก” ในพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร เราจะช่วยกันเสริมความแข็งแกร่งให้รากทางวิญญาณของเราได้อย่างไร
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย