“การประชุมวันอาทิตย์ที่สี่,” จงตามเรามา—สำหรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ (2017)
การประชุมวันอาทิตย์ที่สี่
การประชุมวันอาทิตย์ที่สี่
ในวันอาทิตย์ที่สี่ของแต่ละเดือน โควรัม กลุ่ม และสมาคมสงเคราะห์จะสนทนาหัวข้อที่ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองเลือกไว้ หัวข้อเหล่านี้จะอัพเดทพร้อมการประชุมใหญ่สามัญทุกครั้ง หัวข้อจนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไปคือวันสะบาโต ผู้นำหรือครูอาจเลือกจากหลักคำสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่แนะนำไว้ด้านล่าง ผนวกกับหลักคำสอนหลายๆ เรื่อง หรือคิดขึ้นเองตามความต้องการของสมาชิก
สะบาโตเป็นวันที่เราระลึกถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อเรา
ตลอดประวัติศาสตร์ พระผู้เป็นเจ้าทรงเชื่อมประสานงานยิ่งใหญ่บางอย่างกับสะบาโต งานยิ่งใหญ่เหล่านี้รวมถึงการสร้าง (ดู ปฐมกาล 2:1–3) การอพยพของลูกหลานอิสราเอลออกจากอียิปต์ (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 5:15) และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ยอห์น 20:1–19; กิจการของอัครทูต 20:7) เชื้อเชิญให้สมาชิกทบทวนข้อเหล่านี้และสนทนาว่าการระลึกถึงเหตุการณ์แต่ละอย่างนี้จะช่วยเราให้เกียรติวันสะบาโตได้อย่างไร งานยิ่งใหญ่อะไรบ้างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อเรา เราจะระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ในวันสะบาโตได้อย่างไร เชื้อเชิญให้สมาชิกสนทนาคำถามทำนองนี้ในครอบครัวของพวกเขาหากนำไปปรับใช้ได้
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสะบาโต
สะบาโตเรียกกันว่าวันของพระเจ้าด้วย (ดู วิวรณ์ 1:10) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเรียกพระเยซูคริสต์ว่าพระเจ้าแห่งสะบาโต (ดู มัทธิว 12:8) ทบทวนด้วยกันสองสามข้อเพื่อจะช่วยดลใจสมาชิกให้คิดหาวิธีทำให้ประสบการณ์วันสะบาโตของพวกเขามีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง (ดูตัวอย่างใน ฮีลามัน 5:12; อีเธอร์ 12:41; โมโรไน 10:32; และ คพ. 6:36–37) สมาชิกจะแบ่งปันข้อใดได้อีกบ้างที่จะช่วยให้พวกเขาทำสะบาโตให้มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น เราจะตั้งเป้าหมายอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้เราจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดตลอดวันสะบาโต
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของการให้เกียรติสะบาโต
ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้โอกาสต่างๆ สอนเรื่องวันสะบาโต ขอให้สมาชิกอ่านเรื่องราวต่อไปนี้และเขียนสิ่งที่พระเยซูทรงทำในวันสะบาโตและหลักธรรมที่พระองค์ทรงสอนออกมาเป็นข้อๆ: ลูกา 6:1–11; 13:11–17; ยอห์น 5:1–20; 9:1–16 เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับสะบาโตจากข้อต่อไปนี้ อพยพ 20:8–11; 31:12–18; อิสยาห์ 58:13–14; และ คพ. 59:9–19 เชื้อเชิญให้สมาชิกแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “สะบาโตคือวันปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 129–132.
สะบาโตเป็นวันนมัสการ
เขียนคำว่า นมัสการ ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนคำอื่นที่เกี่ยวข้องไว้ใกล้ๆ จากนั้นให้ทำสามคอลัมน์โดยเขียนคำว่า ก่อน ระหว่าง และ หลัง ไว้บนสุดของแต่ละคอลัมน์ เราจะทำอะไรได้บ้างก่อน ระหว่าง และหลังเลิกโบสถ์เพื่อนมัสการพระเจ้าในวันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน โมโซยาห์ 18:17–29 และ โมโรไน 6 ด้วยกันเพื่อหาแนวคิด เชื้อเชิญให้สมาชิกไตร่ตรองว่าเจตคติและการกระทำของพวกเขาในวันสะบาโตกำลังช่วยให้พวกเขานมัสการพระเจ้าในวันนั้นอย่างไร (ดู อพยพ 31:16–17) เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยปรับปรุงประสบการณ์การนมัสการที่ครอบครัวเราและสมาชิกวอร์ดมีระหว่างการประชุมของศาสนจักร
การรับส่วนศีลระลึกยอมให้เรามีพระวิญญาณสถิตกับเราตลอดเวลา
เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ศีลระลึกมีผลต่อชีวิตท่านอย่างไร เพื่อตอบคำถามนี้ ให้สมาชิกทำงานเป็นคู่เพื่อเลือกและสนทนาหนึ่งวลีจากคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79 และคำแนะนำใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9 ให้เวลาแต่ละคู่หาข้อพระคัมภีร์ที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจวลีนั้นดีขึ้นและสนทนาว่าพวกเขาจะตอบคำถามบนกระดานว่าอย่างไร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกเพลงสวดศีลระลึกที่พวกเขาชื่นชอบเป็นพิเศษและร้องด้วยกัน
ดู เชอริล เอ. เอสพลิน, “ศีลระลึก—การเริ่มใหม่สำหรับจิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 12–14.
สะบาโตเป็นวันรับใช้ผู้อื่น
เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการรับใช้ผู้อื่นในวันสะบาโตจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับใช้และเป็นพรแก่คนที่อยู่รายรอบพระองค์ กระตุ้นสมาชิกให้ทบทวนและสนทนา มัทธิว 9:10–13; ลูกา 19:1–9; ยอห์น 11:32–46; 13:1–5, 12–17; และ 3 นีไฟ 17:5–10 ขอให้สมาชิกตรึกตรองพระคัมภีร์เหล่านี้ขณะพวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาจะรับใช้ในวันสะบาโตได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะรับใช้สมาชิกครอบครัว ช่วยเหลือแต่ละบุคคลและครอบครัวที่พวกเขาเป็นผู้สอนประจำบ้านและผู้เยี่ยมสอน ทำประวัติครอบครัว เยี่ยมคนเจ็บป่วย หรือแบ่งปันพระกิตติคุณ สมาชิกอาจจะจัดสภาครอบครัวเพื่อวางแผนวิธีที่พวกเขาจะรับใช้ผู้อื่นในวันสะบาโต