“18–24 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5: ‘งานของเราจะออกไป’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“18–24 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021
เวลาเก็บเกี่ยวในฝรั่งเศส โดย เจมส์ เทย์เลอร์ ฮาร์วูด
18–24 มกราคม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5
“งานของเราจะออกไป”
ขณะที่ท่านศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5 ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้รู้ว่าเด็กที่ท่านสอนจำเป็นต้องเข้าใจอะไร กิจกรรมในโครงร่างนี้อาจให้แนวคิดท่านได้เช่นกัน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ให้ดูภาพโจเซฟ สมิธจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และช่วยเด็กๆ แบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเรื่องที่เห็นในภาพ ช่วยให้พวกเขาจดจำเรื่องที่มาร์ติน แฮร์ริสทำงานแปลหน้าแรกๆ ของพระคัมภีร์มอรมอนหาย (ดู “บทที่ 4: มาร์ติน แฮร์ริสและหน้าที่หายไป” เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา หน้า 18–21; หรือ วิสุทธิชน, 1:51–56)
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถเลือกสิ่งถูกต้องเมื่อผู้อื่นพยายามชักจูงให้ฉันทำผิด
ช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่โจเซฟ สมิธเรียนรู้ นั่นคือ ถ้าพวกเขาวางใจพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์จะทรงอยู่ “กับ [พวกเขา] ในความทุกข์ร้อนทุกครั้ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:8)
กิจกรรมที่ทำได้
-
ทบทวนเรื่องมาร์ติน แฮร์ริสและหน้าต้นฉบับที่หายไป (ดู เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา หน้า 18–21 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้บน ChurchofJesusChrist.org) เล่าสถานการณ์บางอย่างให้เด็กฟังที่พวกเขาอาจถูกล่อลวงให้ทำสิ่งที่พวกเขารู้ว่าไม่ถูกต้อง พระบิดาบนสวรรค์ทรงสามารถช่วยให้เราเลือกสิ่งถูกต้องได้อย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:8)
มาร์ติน แฮร์ริส โดย ลูอิส เอ. แรมซีย์
-
อ่านคำพูดเหล่านี้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:8: “พระองค์ก็จะทรงยื่นพระพาหุของพระองค์มาค้ำจุนเจ้า” เชื้อเชิญให้เด็กยืนและยื่นแขนขณะท่านอ่านวลีนี้อีกครั้ง บอกพวกเขาบางวิธีที่พระเจ้าทรงยื่นพระพาหุมาช่วยพวกเขาเมื่อผู้อื่นพยายามชักจูงพวกเขาให้ทำสิ่งผิด ให้พวกเขาผลัดกันยื่นแขนขณะพวกเขาบอกวิธีอื่นที่พระเจ้าทรงยื่นพระพาหุมาช่วยเรา
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันทำงานของพระองค์
เด็กสามารถ “เริ่มในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2 ได้หลายวิธี และพวกเขาสามารถเตรียมตอนนี้เพื่อรับโอกาสเพิ่มเติมในอนาคต
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:1 ให้เด็กฟัง นำบางภาพที่แสดงให้เห็นงาน “อัศจรรย์” ยุคสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้ามาชั้นเรียน (เช่น ภาพผู้สอนศาสนา พระวิหาร และพระคัมภีร์มอรมอน) ให้เด็กผลัดกันเลือกหนึ่งภาพและพูดคุยกันเกี่ยวกับภาพนั้น แบ่งปันว่าเหตุใดงานของพระเจ้าจึงอัศจรรย์ต่อท่าน
-
ช่วยเด็กคิดท่าหรือวาดภาพบรรยายวลี “รับใช้พระองค์ด้วยสุดใจ, พลัง, ความนึกคิด และพละกำลังของเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2) ยกตัวอย่างของคนที่ท่านรู้จักผู้รับใช้พระผู้เป็นเจ้าแบบนี้
-
ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนา เช่น “ฉันอยากเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 90) สนทนาว่าเพลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถช่วยพระผู้เป็นเจ้าทำงานของพระองค์
เราได้รับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าผ่านโจเซฟ สมิธ
ท่านจะช่วยเด็กๆ เสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาได้อย่างไรว่าโจเซฟ สมิธและศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นสอนพระคำของพระผู้เป็นเจ้า?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ซ่อนภาพโจเซฟ สมิธไว้ที่ใดที่หนึ่งในห้อง (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 87) อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญา 5:10 และเชื้อเชิญให้เด็กหาภาพเพื่อจะทราบว่า คำว่า “เจ้า” ในข้อนี้หมายถึงใคร แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าเราได้รับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าผ่านโจเซฟ สมิธ
-
ให้เด็กดูพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพระคัมภีร์เหล่านี้แก่เราผ่านโจเซฟ สมิธ แบ่งปันข้อโปรดบางข้อของท่านจากพระคัมภีร์สองเล่มนี้ และบอกว่าเหตุใดท่านจึงสำนึกคุณต่อพระคัมภีร์ดังกล่าว
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:5–10; 5:21–22
ฉันควรสนใจจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยมากกว่าทำให้ผู้อื่นพอใจ
ขณะเด็กเรียนรู้ประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธกับงานแปลพระคัมภีร์มอรมอนที่หายไป พวกเขาจะได้รับแรงบันดาลใจให้ซื่อสัตย์ต่อไปเมื่อผู้อื่นล่อลวงพวกเขาไม่ให้เชื่อฟัง
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชิญเด็กคนหนึ่งล่วงหน้าสักสองสามวันให้เตรียมมาแบ่งปันเรื่องที่โจเซฟ สมิธกับมาร์ติน แฮร์ริสทำงานแปลพระคัมภีร์มอรมอนหน้าแรกๆ หายไป (ดู เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา หน้า 18–21; หรือ วิสุทธิชน,1:51–56) อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:5–8; 5:21–22 ด้วยกันและมองหาพรที่เกิดขึ้นเมื่อเรายังคงซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้า
-
ให้เวลาเด็กคิดถึงสถานการณ์ที่เพื่อนอาจพยายามชักจูงพวกเขาให้ทำสิ่งผิด เชื้อเชิญให้พวกเขาหาข้อความหนึ่งใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:5–8; 5:21–22 ที่สามารถช่วยพวกเขาระหว่างสถานการณ์เหล่านั้น แสดงบทบาทสมมติสองสามตัวอย่าง
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันทำงานของพระองค์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 4 สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเป็นส่วนหนึ่งใน “งานอัศจรรย์” ของพระเจ้า (ข้อ 1)
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนบนกระดานว่า รับใช้พระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 4 และเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับความหมายของการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ขอให้พวกเขาเขียนเพิ่มสิ่งที่เรียนรู้จากเพลง “ฉันจะกล้าหาญ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 85) หรืออีกเพลงหนึ่งเกี่ยวกับการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า
-
นำเครื่องมือ (หรือภาพเครื่องมือ) ที่บางคนใช้ทำงานในทุ่งมาชั้นเรียน เครื่องมือเหล่านี้ช่วยเราอย่างไร? ช่วยเด็กหาสิ่งต่างๆ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:5–6 ที่จะเป็นเหมือนเครื่องมือทำงานของพระผู้เป็นเจ้า
-
เชิญผู้สอนศาสนาเต็มเวลาหรือผู้สอนศาสนาวอร์ดมาแบ่งปันบางอย่างจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 4 ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาทำงานของพระผู้เป็นเจ้า เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยงานของพระผู้เป็นเจ้า?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:1–7, 11, 16, 23–24
ฉันสามารถเป็นพยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง
มาร์ติน แฮร์ริสได้รับสัญญาว่าเขาจะได้เป็นพยานคนหนึ่งของแผ่นจารึกทองคำถ้าเขาซื่อสัตย์ เราจะไม่เห็นแผ่นจารึกเหมือนมาร์ตินเห็น แต่เราจะได้รับพยานทางวิญญาณถึงพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะช่วยให้เด็กพัฒนาและแบ่งปันพยานของตนถึงพระคัมภีร์มอรมอนได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนคำถามทำนองนี้ไว้บนกระดาน และช่วยเด็กหาคำตอบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:1–3, 7, 11; มาร์ติน แฮร์ริสปรารถนาจะรู้อะไร โจเซฟ สมิธสามารถแสดงแผ่นจารึกทองคำให้ใครดู เหตุใดการเห็นแผ่นจารึกจึงอาจไม่มากพอจะทำให้บางคนเชื่อมั่นว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง?
-
ถามเด็กว่าพยานคืออะไรและเหตุใดพยานจึงสำคัญ มาร์ติน แฮร์ริสต้องทำอะไรเพื่อเป็นพยานถึงแผ่นจารึกทองคำ? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:23–24) ถึงแม้เราไม่เคยเห็นแผ่นจารึก แต่เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นพยานถึงพระคัมภีร์มอรมอน? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:16; โมโรไน 10:3–5)
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
กระตุ้นเด็กให้เขียนประจักษ์พยานของตนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนและแบ่งปันให้กับคนที่พวกเขารู้จัก
ปรับปรุงการสอนของเรา
ปรับกิจกรรมให้เหมาะกับเด็กพิการ การปรับกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้จากกิจกรรมเหล่านั้น อย่างเช่น ถ้ากิจกรรมแนะนำให้ดูภาพ ท่านจะร้องเพลงแทนการดูภาพเพื่อให้เด็กพิการทางสายตาได้มีส่วนร่วม