จงตามเรามา
21–27 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา: ‘อย่า​ให้​ใจ​ของ​ท่าน​หวั่น‍ไหว​ง่าย หรือ​ตื่น‍ตระ‌หนก‍ตก‍ใจ’


“21–27 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา: ‘อย่า​ให้​ใจ​ของ​ท่าน​หวั่น‍ไหว​ง่าย หรือ​ตื่น‍ตระ‌หนก‍ตก‍ใจ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“21–27 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2019

ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนากำลังพูดคุยกับชายหนุ่มคนหนึ่ง

21–27 ตุลาคม

1 และ 2 เธสะโลนิกา

“อย่า​ให้​ใจ​ของ​ท่าน​หวั่น‍ไหว​ง่าย หรือ​ตื่น‍ตระ‌หนก‍ตก‍ใจ”

ขณะที่ท่านอ่าน 1 และ 2 เธสะโลนิกา ร่วมกับการสวดอ้อนวอนและนึกถึงเด็กๆ ในใจ ท่านจะพบหลักธรรมที่พวกเขาต้องเข้าใจ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ในบทเรียนของสัปดาห์ที่แล้ว ท่านเชื้อเชิญให้เด็กประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในทางใดทางหนึ่งหรือไม่ ให้เด็กใช้เวลาสองสามนาทีในชั้นเรียนของสัปดาห์นี้เพื่อเล่าประสบการณ์ของพวกเขา

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กเล็ก

1 เธสะโลนิกา 5:1–6

เมื่อฉันทำตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ฉันจะพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

คำแนะนำของเปาโลสามารถช่วยให้เราเตรียมพร้อมและเฝ้ารอวันสำคัญนั้นเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จมาแผ่นดินโลกอีกครั้ง

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญคุณแม่คนหนึ่งมาพูดว่าการเฝ้ารอลูกน้อยเกิดมานั้นเป็นอย่างไรโดยที่ไม่รู้แน่นอนว่าเด็กจะคลอดเมื่อใด อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:2–3 และบอกเด็กว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาแผ่นดินโลกอีกครั้ง แต่ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าเมื่อใด—เช่นเดียวกับที่คุณแม่ไม่รู้แน่นอนว่าลูกน้อยของเธอจะเกิดเมื่อใด

  • ขอให้เด็กพูดถึงเวลาที่พวกเขาเตรียมตัวสำหรับการเดินทางหรืองานสำคัญ พวกเขาทำอะไรเพื่อเตรียมความพร้อม นำกระเป๋าสะพายหรือกระเป๋าเดินทางมาให้เด็กทำเป็นจัดกระเป๋าเตรียมเดินทางหรืองานสำคัญ อธิบายว่าเราเตรียมตัวรับการเสด็จมาอีกครั้งของพระเยซูคริสต์โดยการสวดอ้อนวอน อ่านพระคัมภีร์ ทำตามศาสดาพยากรณ์ และดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในแต่ละวัน ขอให้เด็กวาดรูปว่าพวกเขาทำสิ่งนี้ได้อย่างไรและเก็บภาพวาดไว้ในกระเป๋าเดินทาง

  • อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:6 ให้เด็กฟังและอธิบายว่าหากเราไม่พร้อมรับการเสด็จมาอีกครั้งของพระเยซู ก็เหมือนเราหลับไปและเราไม่พร้อมรับเสด็จพระองค์ เชื้อเชิญให้เด็กทำเป็นนอนหลับ อธิบายว่าหากเราเตรียมพร้อม ก็เหมือนเราตื่นและรอพระองค์ เชื้อเชิญให้พวกเขาตื่น ร้องเพลง “คราพระเสด็จมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 46–47) ด้วยกัน

2 เธสะโลนิกา 2:1–3

เปาโลสอนว่าจะมีการละทิ้งความเชื่อเกิดขึ้นก่อนพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาอีกครั้ง

ศาสนจักรที่พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาจะตกไปสู่การละทิ้งความเชื่อ หมายความว่าสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและความจริงแห่งพระกิตติคุณจะถูกนำออกไปจากแผ่นดินโลก เปาโลพยากรณ์ว่าการละทิ้งความเชื่อนี้ หรือ “การ​กบฏ​” จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด

กิจกรรมที่ทำได้

  • หลังจากอ่าน 2 เธสะโลนิกา 2:3 กับเด็ก สร้างหอคอยจากถ้วยพลาสติกหรือแท่งไม้ บอกเด็กว่าถ้วยหรือแท่งไม้หมายถึงส่วนสำคัญของศาสนจักรที่แท้จริง เช่นความจริงแห่งพระกิตติคุณ ฐานะปุโรหิต การผนึกในพระวิหาร และศาสดาพยากรณ์ หลังจากเปาโลและอัครสาวกคนอื่นๆ สิ้นชีวิต สิ่งเหล่านี้หายไป และศาสนจักรที่แท้จริงไม่มีอยู่บนแผ่นดินโลกเป็นเวลาหลายปี เชิญให้เด็กคนหนึ่งทำหอคอยล้ม และอธิบายว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าการละทิ้งความเชื่อหรือ “การกบฏ” เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงนำศาสนจักรของพระองค์กลับคืนมา สิ่งนั้นเรียกว่าการฟื้นฟู (ดู “การละทิ้งความเชื่อ,” แน่วแน่ต่อศรัทธา, 66–67)

  • ให้เด็กดูพระคัมภีร์มอรมอน ภาพศาสดาพยากรณ์และพระวิหาร เชื้อเชิญให้เด็กพูดว่า “การละทิ้งความเชื่อ” เมื่อท่านซ่อนสิ่งเหล่านั้นไว้ในกระเป๋าและ “การฟื้นฟู” เมื่อท่านนำออกมาจากกระเป๋า

  • ร้องเพลงที่สอนความจริงที่ถูกนำออกไปในระหว่างการละทิ้งความเชื่อและฟื้นฟูกลับคืนมาในสมัยของเรา เช่น “ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า,” “ศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์,” และ “ฉันชอบมองดูพระวิหาร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 2–3, 48, 99)

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กโต

1 เธสะโลนิกา 5:1–6

เมื่อฉันทำตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ฉันจะพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

คำแนะนำของเปาโลสามารถช่วยให้เราเตรียมพร้อมและเฝ้ารอวันสำคัญนั้นเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จมาแผ่นดินโลกอีกครั้ง

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:1–6 ขณะที่เด็กคนอื่นๆ อ่านตาม หลังจากอ่านแต่ละข้อ ให้เด็กสรุปสิ่งที่เขาคิดว่าข้อนี้กำลังพูดถึง ท่านอาจจะอธิบายว่า “วัน​ของ​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​” หมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ ทำไมเด็กจึงคิดว่าการเสด็จมาครั้งที่สองเปรียบเหมือนขโมยในเวลากลางคืนหรือหญิงที่กำลังจะคลอดลูก

  • ขอให้เด็กจินตนาการว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จมาเยือนชั้นเรียนวันนี้ เราจะเตรียมห้องเรียนให้พร้อมรับการเสด็จเยือนของพระองค์ได้อย่างไร ช่วยเด็กนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เราทำได้เพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมรับการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น เราสามารถกลับใจ ให้อภัย ปรับปรุงความสัมพันธ์ของเรากับครอบครัว ทำตามศาสดาพยากรณ์ และรักษาพันธสัญญาของเรา กระตุ้นให้เด็กเลือกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมรับพระผู้ช่วยให้รอด ณ การเสด็จมาของพระองค์

2 เธสะโลนิกา 2:1–3

เปาโลสอนว่าจะมีการละทิ้งความเชื่อเกิดขึ้นก่อนพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาอีกครั้ง

หากเด็กเข้าใจว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ถูกนำออกไปจากแผ่นดินโลกในช่วงการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ พวกเขาจะเข้าใจชัดเจนถึงความจำเป็นของการฟื้นฟู

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน 2 เธสะโลนิกา 2:1–3 ตามข้อเหล่านี้ อะไรจะต้องเกิดขึ้นก่อน “วัน​ของ​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า” ซึ่งหมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สอง มีเด็กคนใดรู้จักความหมายของคำว่า “การกบฏ” หรือไม่ พึ่งแน่ใจว่าเด็กเข้าใจว่าหมายถึงการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการสิ้นชีวิตของอัครสาวกของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจจะแบ่งปันข้อมูลจาก “การละทิ้งความเชื่อ,” แน่วแน่ต่อศรัทธา, 66–67

  • ช่วยเด็กเขียนบนกระดานถึงความจริงและพรบางอย่างที่เราได้สำราญใจเพราะพระกิตติคุณ (ตัวอย่างเช่น พระวิหาร ศาสดาพยากรณ์ ฐานะปุโรหิต และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์) ลบสิ่งเหล่านี้ออกทีละอย่าง และถามเด็กว่าชีวิตของพวกเขาจะต่างไปอย่างไรหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ อธิบายว่าความจริงเหล่านี้สูญหายไประหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ทำไมจึงสำคัญที่ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์จะได้รับการฟื้นฟูมายังแผ่นดินโลกในยุคสุดท้าย เชื้อเชิญให้เด็ก “ฟื้นฟู” หรือเขียนความจริงและพรบนกระดานอีกครั้ง

2 เธสะโลนิกา 3:7–13

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันทำงาน

ท่านจะช่วยให้เด็กเห็นว่าการทำงานเป็นพรได้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่จะหลีกเลี่ยง

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันอ่านข้อพระคัมภีร์จาก 2 เธสะโลนิกา 3:7–13 และมองหาปัญหาที่วิสุทธิชนกำลังเผชิญ เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันทำงาน อะไรจะเกิดขึ้นหากเราไม่เคยเรียนรู้ที่จะทำงานหนัก ให้เด็กผลัดกันทำท่าทางทำงานบ้านง่ายๆ ขณะที่เด็กคนอื่นๆ ทายว่าพวกเขากำลังทำอะไร

  • เชื้อเชิญให้เด็กพูดถึงเวลาที่พวกเขาทำงานหนักในหน้าที่ โครงการ หรือเป้าหมายหนึ่ง พวกเขารู้สึกอย่างไรกับตนเองเมื่อทำเสร็จ “อย่าอ่อนใจที่จะทำความดี” หมายความว่าอย่างไร (2 เธสะโลนิกา 3:13)

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กบอกสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนถึงเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาสำนึกคุณที่เรามีพระกิตติคุณบนแผ่นดินโลกในปัจจุบัน (หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้สามารถช่วยเตือนพวกเขาได้)

ปรับปรุงการสอนของเรา

สนับสนุนบิดามารดาของเด็ก “บิดามารดาเป็นครูสอนพระกิตติคุณที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกๆ—พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบหลักและพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการมีอิทธิพลต่อลูกๆ ของพวกเขา (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6–7) เมื่อท่านสอนเด็กที่โบสถ์ ให้แสวงหาร่วมกับการสวดอ้อนวอนถึงวิธีสนับสนุนบิดามารดาของพวกเขาในบทบาทสำคัญ” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25)