จงตามเรามา
11–17 พฤษภาคม โมไซยาห์ 18–24: “เราเข้ามาอยู่ในพันธสัญญากับพระองค์”


“11–17 พฤษภาคม โมไซยาห์ 18–24: ‘เราเข้ามาอยู่ในพันธสัญญากับพระองค์” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“11–17 พฤษภาคม โมไซยาห์ 18–24” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ผู้คนของลิมไฮหลบหนี

มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต (1888-1976), การหลบหนีของกษัตริย์ลิมไฮกับผู้คนของเขา, 1949-1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 35 7/8 x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 1969

11–17 พฤษภาคม

โมไซยาห์ 18–24

เราเข้ามาอยู่ในพันธสัญญากับพระองค์

ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 18–24 ให้นึกถึงคนที่ท่านสอน ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงดลใจความคิดของท่านและช่วยให้ท่านค้นพบความจริงพระกิตติคุณที่จะเกี่ยวข้องกับพวกเขามากที่สุด

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชิ้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนบอกหลักธรรมบางข้อ หรือถ้อยแถลงความจริงที่พวกเขาพบระหว่างศึกษา โมไซยาห์ 18–24 (หลักธรรมบางข้อระบุไว้ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันข้อต่างๆ จาก โมไซยาห์ 18–24 ที่สอนหลักธรรมเหล่านี้ พวกเขาเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างกับความจริงเหล่านี้

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โมไซยาห์ 18:1–16

บัพติศมาประกอบด้วยพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและยืนเป็นพยานของพระองค์

  • ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 18 และเตรียมสอน ท่านอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้ช่วยสมาชิกชั้นเรียนทบทวนและไตร่ตรองพันธสัญญาบัพติศมาของพวกเขา วิธีหนึ่งที่ท่านจะทำสิ่งนี้ได้คือ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนช่วยกันเขียนวลีบนกระดานให้มากเท่าที่พวกเขาจะจำได้เกี่ยวกับคำอธิบายของแอลมาเรื่องพันธสัญญาบัพติศมา เมื่อเขียนเสร็จแล้ว สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน โมไซยาห์ 18:8–10 และเพิ่มสิ่งที่ขาดหายไปเข้าไปในรายการที่เขียนไว้ (พวกเขาอาจเพิ่มวลีจาก ค&พ. 20:37, 77 และ 79 เข้าไปด้วย) อาจมีประโยชน์ถ้าถามพวกเขาว่าแต่ละวลีหมายถึงอะไรและพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาพันธสัญญาบัพติศมาส่วนนั้น พระเจ้าทรงอวยพรเราอย่างไรเมื่อเราพยายามรักษาพันธสัญญาในส่วนของเรา

  • เมื่อผู้ติดตามแอลมาเตรียมรับบัพติศมา แอลมาสอนพวกเขาว่าการเข้ามา “สู่คอกของพระผู้เป็นเจ้า” เรียกร้องให้ทำพันธสัญญาว่าจะติดตามพระองค์และดูแลบุตรธิดาของพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 18:8–9) สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาหรือคนรู้จักเข้มแข็งขึ้นเพราะคนอื่นปฏิบัติตามพันธสัญญาบัพติศมาที่อธิบายไว้ใน โมไซยาห์ 18:8–10 ตัวอย่างเช่น มีคนปลอบโยนพวกเขาหรือช่วยพวกเขาแบกภาระเมื่อใด ประสบการณ์เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เรารักษาพันธสัญญาของเราอย่างไร ท่านอาจจะเตือนให้สมาชิกชั้นเรียนนึกเช่นกันว่าอบินาไดยืน “เป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่ง” (ข้อ 9) อย่างไร เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของเขาขณะที่เราหมายมั่นปฏิบัติตามพันธสัญญาบัพติศมาส่วนนี้

บัพติศมาในมหาสมุทร

เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่น

โมไซยาห์ 18:17–31

ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

  • โมไซยาห์ 18:17–31 พูดถึงพระบัญญัติที่แอลมาให้ผู้คนของเขาเพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนตรึกตรองว่าพระบัญญัติเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับพวกเขาอย่างไร ท่านอาจจะขอให้พวกเขาค้นคว้าข้อเหล่านี้เป็นกลุ่มเล็กและเขียนพระบัญญัติที่พบออกมาเป็นข้อๆ การทำตามพระบัญญัติเหล่านี้จะช่วยให้สมาชิกวอร์ดรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นได้อย่างไร มีเป้าหมายใดหรือไม่ที่สมาชิกชั้นเรียนของท่านจะทำเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเพื่อทำตามแบบอย่างผู้คนของแอลมา

  • บางคนสงสัยว่าทำไมเราต้องมีศาสนจักร เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะร่างภาพอาคารของศาสนจักรบนกระดานและเขียนคำถามนี้ไว้ใต้ภาพร่างนั้น จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะค้นคว้า โมไซยาห์ 18:17–31 และเขียนคำตอบที่พวกเขาพบในข้อเหล่านี้ไว้บนกระดาน พวกเขาจะหาคำตอบได้เช่นกันในบทความที่คัดลอกมาจากคำพูดของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ท่านอาจจะให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแสดงบทบาทสมมติว่าพวกเขาจะตอบเพื่อนที่ไม่เชื่อว่าจำเป็นต้องมีศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูอย่างไร เหตุใดเราจึงสำนึกคุณที่เป็นสมาชิกของศาสนจักร

  • แม้เราอยากจะให้ทุกคนรู้สึกถึงการต้อนรับที่โบสถ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึก เราเรียนรู้อะไรจากผู้คนของแอลมาใน โมไซยาห์ 18:17–31 ที่จะช่วยเราสร้างที่แห่งหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง

โมไซยาห์ 21–24

พระเจ้าทรงสามารถทำให้ภาระของเราเบา

  • ภาระที่สมาชิกชั้นเรียนของท่านแบกต่างจากภาระที่ผู้คนของลิมไฮหรือผู้คนของแอลมาแบกขณะเป็นเชลย แต่ข่าวสารของเรื่องราวเหล่านี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนที่รู้สึกหนักใจกับความยากลำบากหรือสภาวการณ์ยุ่งยากทั้งหลาย เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก โมไซยาห์ 21–24 ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเราท่ามกลางการทดลองของเราได้อย่างไร (ดูสรุปสั้นๆ ของเรื่องราวเหล่านี้ได้จากแอล. ทอม เพอร์รีย์, “พลังแห่งการปลดปล่อย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 94–97) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันเวลาที่พวกเขาประสบสัมฤทธิผลแห่งคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนผู้คนของแอลมาที่ว่าพระองค์จะทรงทำให้ภาระของพวกเขาเบาลงและเสด็จเยือนพวกเขาในยามทุกข์ยาก (ดู โมไซยาห์ 24:14)

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจจะใช้เวลาสองสามนาทีจดความท้าทายส่วนตัวที่พวกเขาเคยประสบและไตร่ตรองวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยพวกเขาแบกภาระ มีข้อใดจาก โมไซยาห์ 21–24 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาหันมาหาพระเจ้าในยามยากลำบากหรือไม่ สัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับผู้คนของแอลมาใน โมไซยาห์ 24:14 เกี่ยวข้องอย่างไรกับพันธสัญญาที่เราทำกับพระเจ้าเมื่อรับบัพติศมา (ดู โมไซยาห์ 18:8–10)

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน โมไซยาห์ 25–28 ขอให้พวกเขานึกถึงคนรู้จักที่หันเหออกจากพระกิตติคุณ บอกพวกเขาว่าขณะพวกเขาอ่านบทเหล่านี้ พวกเขาอาจจะพบข้อคิดเกี่ยวกับวิธีช่วยให้บุคคลนั้นกลับมา

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

เหตุใดเราจึงต้องมีศาสนจักร

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าตระหนักว่ามีหลายคนถือว่าตนเลื่อมใสศาสนาหรือสนใจเรื่องทางวิญญาณแต่ไม่ยอมมีส่วนร่วมในโบสถ์หรือแม้กระทั่งไม่ต้องการสถาบันเช่นนั้น การปฏิบัติศาสนาสำหรับพวกเขาแล้วเป็นเรื่องส่วนตัว กระนั้นศาสนจักรนี้ก็ยังคงเป็นการสร้างของพระองค์ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางทางวิญญาณของเรา—พระเยซูคริสต์ เราสมควรหยุดสักครู่เพื่อพิจารณาว่าเพราะเหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงเลือกใช้ศาสนจักรหนึ่ง ศาสนจักรของพระองค์ ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ให้ดำเนินงานของพระองค์และงานของพระบิดา”

ต่อจากนั้นเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันบอกเหตุผลที่พระเจ้าทรงจัดตั้งศาสนจักร (ดู “เหตุใดจึงต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 108–111) ว่า

  • “เพื่อสั่งสอนข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอด—หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นำผู้คนมาหาพระคริสต์”

  • “เพื่อสร้างชุมชนของวิสุทธิชนที่จะสนับสนุนกันใน ‘ทางคับแคบและแคบนี้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์’ [2 นีไฟ 31:18] … เราสอนและจรรโลงใจกันด้วยศรัทธา และพยายามบรรลุจุดสูงสุดของการเป็นสานุศิษย์”

  • เพื่อ “ให้มีการชุมนุมกันทุกสัปดาห์เพื่อหยุดพักและต่อพันธสัญญา มีเวลาและสถานที่ให้ละโลกไว้เบื้องหลัง—วันสะบาโต”

  • “เพื่อบรรลุสิ่งจำเป็นที่แต่ละคนหรือคนกลุ่มเล็กไม่สามารถบรรลุได้ [รวมถึง] การจัดการกับความยากจน … นำพระกิตติคุณออกไปทั่วโลก … สร้างและดำเนินงานพระวิหาร พระนิเวศน์ของพระเจ้าที่ใช้ในการประกอบศาสนพิธีและทำพันธสัญญาอันสำคัญยิ่ง”

  • เพื่อให้กุญแจฐานะปุโรหิตมีผล โดยใช้ “เจ้าหน้าที่ฐานะปุโรหิตของศาสนจักรปกป้องความบริสุทธิ์ของหลักคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและความสมบูรณ์ของศาสนพิธีแห่งความรอด … ช่วยเตรียมผู้ปรารถนาจะรับศาสนพิธีเหล่านั้น วินิจฉัยคุณสมบัติและความมีค่าควรของผู้ยื่นขอและประกอบศาสนพิธีให้ … [และ] ระบุทั้งความจริงและความเท็จ”