“28 มกราคม–3 กุมภาพันธ์ มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3: ‘จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“28 มกราคม–3 กุมภาพันธ์ มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
28 มกราคม–3 กุมภาพันธ์
มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3
“จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า”
ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 3; มาระโก 1; และ ลูกา 3 ให้บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ การทำเช่นนี้จะอัญเชิญพระวิญญาณขณะที่ท่านเตรียม จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยท่านสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชั้นเรียนของท่านเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักคำสอนในพระคัมภีร์เหล่านี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าการเรียนรู้จากพันธสัญญาใหม่เป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร ท่านอาจจะเขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ท่านทำอะไรบ้างเพราะสิ่งที่ท่านอ่านในพันธสัญญาใหม่สัปดาห์นี้
สอนหลักคำสอน
เหล่าสาวกเตรียมตนเองและผู้อื่นให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์
-
เราเตรียมรับการเยือนของแขกคนสำคัญอย่างไร คำถามทำนองนี้จะช่วยท่านนำเข้าสู่การสนทนาว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเตรียมผู้คนให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์อย่างไร จากนั้นท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มให้อ่าน มัทธิว 3:1–6; มัทธิว 3:7–12; และ ลูกา 3:10–15 โดยดูว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเตรียมผู้คนให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตพวกเขาอย่างไร ให้แต่ละกลุ่มผลัดกันแบ่งปันสิ่งที่พบ
-
ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ช่วยเราเตรียมรับพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเราเฉกเช่นยอห์นผู้ถวายบัพติศมาทำ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนทำการเชื่อมโยงระหว่างศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา ท่านอาจจะทบทวนคำสอนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาใน มัทธิว 3:1–12 และ ลูกา 3:2–18 และคำแนะนำบางประการจากการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุด การเชื่อฟังคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ช่วยเราเตรียมรับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร
-
งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 3:4–11 (ใน คู่มือพระคัมภีร์) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์นอกเหนือจากที่พบใน ลูกา 3:4–6 สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการที่เราต้องกลับใจ
เราจำเป็นต้องทำให้เกิด “การกลับใจด้วยผลที่เกิดขึ้น”
-
ใน ลูกา 3:8 ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอนผู้คนว่าก่อนพวกเขาจะรับบัพติศมา พวกเขาต้องแสดงให้เห็น “ผล” หรือหลักฐานยืนยันการกลับใจของพวกเขา ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนมองเห็นหลักฐานยืนยันการกลับใจของพวกเขาได้อย่างไร ท่านอาจจะขอให้พวกเขาค้นคว้า ลูกา 3:8–14 และมองหาสิ่งที่ยอห์นถือว่าเป็น “ผล” ของการกลับใจ พวกเขาอาจจะทบทวน โมโรไน 6:1–3 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 ด้วย ท่านอาจจะวาดรูปไม้ผลบนกระดานและให้สมาชิกชั้นเรียนเขียน “ผล” ของการกลับใจที่พวกเขาพบไว้ที่ผลไม้บนต้น อาจจะเป็นเวลาเหมาะจะพูดถึงความหมายของการกลับใจอย่างแท้จริง ชี้ให้เห็นว่าวิธีหนึ่งที่เราจะ “ทำหนทางของพระองค์ให้ตรงไป” (ลูกา 3:4) คือผ่านการกลับใจจากอุปสรรคทั้งหลายที่จะขัดขวางไม่ให้พระวิญญาณมาถึงเรา
-
การร้องเพลงสวด “เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ฉัน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 56 จะส่งเสริมการสนทนาว่าการกลับใจจะช่วยให้เราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร ดูมิวสิควิดีโอของเพลงสวดเพลงนี้ที่ mormontabernaclechoir.org
เราทำตามพระเยซูคริสต์เมื่อเรารับบัพติศมาและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
เพื่อทบทวนเรื่องบัพติศมาของพระเยซูคริสต์ ให้ลองแนวคิดนี้: ถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาจะใช้ มัทธิว 3:13–17 สอนคนบางคนเช่นเด็กหรือคนที่นับถือศาสนาอื่นเกี่ยวกับบัพติศมาได้อย่างไร (พวกเขาอาจจะใช้ภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัวด้วยก็ได้) พวกเขาจะเน้นองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้างของบัพติศมา พวกเขาอาจจะฝึกแนวคิดของพวกเขาโดยสอนกัน
-
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงบัพติศมาของตนและใคร่ครวญความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาบัพติศมา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน มัทธิว 3:13–17 และคำกล่าวของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สมาชิกชั้นเรียนอาจจะชอบแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับบัพติศมาของตนและพันธสัญญาบัพติศมาของพวกเขา พวกเขาอาจจะร้องเพลง “จงตามเรามา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 48 ด้วยก็ได้
-
ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรับบัพติศมา “ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ” (มัทธิว 3:11) บัพติศมาด้วยไฟเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับการยืนยันและเรารับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เหตุใดเราต้องมีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจะก้าวหน้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า บัพติศมาด้วยไฟและพระวิญญาณบริสุทธิ์มีผลอะไรต่อเรา (ดู แอลมา 5:14) วีดิทัศน์เรื่อง “Baptism of the Holy Ghost” (LDS.org) จะช่วยในการสนทนาเรื่องนี้ได้
-
ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมที่จะช่วยสมาชิกชั้นเรียนสนทนาหลักคำสอนเรื่องบัพติศมาเพิ่มเติม เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานและเขียนพระคัมภีร์อ้างอิงไว้ในแถบกระดาษ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกกระดาษแล้วให้ชั้นเรียนอ่านพระคัมภีร์แต่ละข้อ สนทนาว่าพระคัมภีร์แต่ละข้อตอบคำถามข้อใดได้ดีที่สุด มีพระคัมภีร์หรือข้อคิดอื่นอีกหรือไม่ที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้
-
พระคัมภีร์สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความจำเป็นของบัพติศมา (3 นีไฟ 11:38)
-
บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวเป็นสัญลักษณ์ของอะไร (โรม 6:3–5)
-
พันธสัญญาบัพติศมาของฉันควรเปลี่ยนวิธีที่ฉันดำเนินชีวิตอย่างไร (โมไซยาห์ 18:8–10)
-
เหตุใดเราจึงไม่บัพติศมาทารก (โมโรไน 8:8–12)
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องประกอบพิธีบัพติศมาโดยผู้มีสิทธิอำนาจ ไม่ใช่แค่เจตนาที่จริงใจ (ฮีบรู 5:4)
-
ถ้าฉันรับบัพติศมาเข้าในนิกายหนึ่งแล้ว เหตุใดฉันต้องรับบัพติศมาอีกครั้ง (คพ. 22:1–4)
-
เหตุใดบัพติศมาต้องตามด้วยการรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ยอห์น 3:5)
-
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้ศึกษา มัทธิว 4 และ ลูกา 4–5 ที่บ้าน ให้พวกเขานึกถึงการล่อลวงที่พวกเขาประสบ และบอกพวกเขาว่าบทเหล่านี้จะสอนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเมื่อพระองค์ทรงเผชิญการล่อลวง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ความหมายของพันธสัญญาบัพติศมาของเรา
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์สอนว่า
“เมื่อเราเข้าใจพันธสัญญาบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สิ่งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเราและทำให้ความจงรักภักดีทั้งหมดของเราอยู่ที่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า … การเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าสำคัญมากจนพระเยซูทรงรับบัพติศมาเพื่อแสดงให้เราเห็น ‘ความคับแคบของทาง’ [2 นีไฟ 31:9] …
“เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระเยซู เราแสดงให้เห็นด้วยว่าเราจะกลับใจและเชื่อฟังการรักษาพระบัญญัติของพระบิดาในสวรรค์ เราอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดขณะที่เรายอมรับบาปของตนเองและแสวงหาการให้อภัยจากการล่วงละเมิดของเรา [ดู 3 นีไฟ 9:20] เราทำพันธสัญญาว่าจะเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราและระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา …
“โดยการเลือกอยู่ในอาณาจักร [ของพระผู้เป็นเจ้า] เราแยก—ไม่ใช่ปลีก—ตัวเราเองจากโลก การแต่งกายของเราต้องสุภาพ ความนึกคิดของเราต้องบริสุทธิ์ และคำพูดของเราต้องสะอาด ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่เราดู เพลงที่เราฟัง หนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านจะต้องยกระดับวิญญาณของเรา เราจะเลือกเพื่อนที่ส่งเสริมเป้าหมายนิรันดร์ของเรา และเราจะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา เราจะหลีกเลี่ยงความชั่วร้ายของการผิดศีลธรรม การพนัน บุหรี่ สุรา และยาเสพติด กิจกรรมวันอาทิตย์ของเราจะสะท้อนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าให้ระลึกถึงและรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น เราจะดำเนินชีวิตให้คู่ควรเข้าไปในพระนิเวศน์ของพระเจ้า” (“พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2000, 7, 10)