คู่มือและการเรียก
จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2018: การปฏิบัติศาสนกิจกับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งขึ้น


การปฏิบัติศาสนกิจกับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งขึ้น

คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การปฏิบัติศาสนกิจกับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งขึ้น

จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2018: การปฏิบัติศาสนกิจกับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งขึ้น

การปฏิบัติศาสนกิจกับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งขึ้น: คำถามเพิ่มเติมที่พบบ่อย

พระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูเป็นแบบอย่างของพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อคือ “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37, 39) ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดที่ปรารถนาจะเป็นสานุศิษย์ของพระองค์อย่างแท้จริง เราควรทำตามพระดำรัสเตือนของพระองค์ให้รักและรับใช้พระบิดาในสวรรค์และบุตรธิดาของพระองค์ “หากเจ้ารักเราเจ้าจงรับใช้เรา” พระผู้ช่วยให้รอดตรัส (คพ. 42:29) กษัตริย์เบ็น-จามินสอนว่า “เมื่อท่านอยู่ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ของท่าน ท่านก็อยู่ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของท่านนั่นเอง” (โมไซยาห์ 2:17) แอลมาสรุปหน้าที่ของเราโดยกล่าวว่า “พวกเขาดูแลผู้คนของตน, และบำรุงเลี้ยงคนเหล่านั้นด้วยสิ่งที่เกี่ยวกับความชอบธรรม” (โมไซยาห์ 23:18)

เพื่อช่วยให้เราแต่ละคนขานรับพระบัญชาให้ดูแลและรับใช้ผู้อื่น ฝ่ายประธานสูงสุดจึงประกาศการปรับเปลี่ยนดังต่อไปนี้ โดยออกแบบให้งานของโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซ- เดคและสมาคมสงเคราะห์มุ่งเน้นการปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ได้แก่

  • ที่ระดับวอร์ด โควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งโควรัม

  • ที่ระดับสเตค โควรัมมหาปุโรหิตหนึ่งโควรัม

  • การปฏิบัติศาสนกิจแทนการสอนประจำบ้านและการเยี่ยมสอน

  • รวมเยาวชนไว้ในการปฏิบัติศาสนกิจ

ในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ วอร์ดและสเตคไม่จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารฐานะปุโรหิตอีกต่อไป กรณีวอร์ดเกิดปัญหาพิเศษ เช่น ปัญหาครอบครัวที่ละเอียดอ่อนหรือความท้าทายด้านสวัสดิการที่ไม่เป็นไปตามปกติ อาจแก้ไขปัญหานี้ในการประชุมฝ่ายอธิการเพิ่มเติม ปัญหาอื่นๆ ที่ละเอียดอ่อนน้อยกว่าสามารถแก้ไขในสภาวอร์ด การประชุมที่เรียกว่า “การประชุมคณะกรรมการบริหารฐานะปุโรหิตสเตค” จะเรียกว่า “การประชุมสภาสูง” (ดูคำถามข้อ 8 และข้อ 19 ด้านล่าง)

ที่ระดับวอร์ด โควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งโควรัม

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “การเปิดเผยไม่จำเป็นต้องมาในคราวเดียว อาจจะมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป”1 เหตุการณ์ต่อเนื่องเกี่ยวกับโควรัมฐานะปุโรหิตและความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในเรื่องกุญแจฐานะปุโรหิตเป็นรูปแบบหนึ่งของการเปิดเผยที่มาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดประวัติศาสนจักร บ่อยครั้งพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์เป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด ทรงอวยพรบุตรธิดาของพระองค์ให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละน้อยเกี่ยวกับวิธีประยุกต์ใช้หลักธรรมของพระกิตติคุณกับสภาวะปัจจุบัน (ดู คพ. 46:15–16)

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองได้พิจารณาการปรับเปลี่ยนที่อธิบายไว้ด้านล่าง ด้วยการสวดอ้อนวอนอย่างมาก การศึกษาพื้นฐานของโควรัมฐานะปุโรหิตอย่างรอบคอบจากพระคัมภีร์ การยอมรับเป็นเอกฉันท์ของผู้นำศาสนจักรที่ควบคุมอยู่ และการยืนยันว่าทั้งหมดนี้เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้น ผู้นำจึงเดินหน้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างของโควรัมระดับวอร์ดและสเตค นับเป็นความต่อเนื่องอีกก้าวหนึ่งของการฟื้นฟู

1. การปรับเปลี่ยนสำหรับกลุ่มมหาปุโรหิตวอร์ดและโควรัมเอ็ลเดอร์มีอะไรบ้าง

ในวอร์ด ต่อไปนี้สมาชิกของโควรัมเอ็ลเดอร์และกลุ่มมหาปุโรหิตจะรวมกันเป็นหนึ่งโควรัมโดยมีฝ่ายประธานหนึ่งชุด โควรัมนี้ที่เพิ่มตามจำนวนและความเป็นเอกภาพจะมีชื่อว่า “โควรัมเอ็ลเดอร์” โดยจะไม่มีกลุ่มมหาปุโรหิตวอร์ดอีกต่อไป

โควรัมเอ็ลเดอร์ได้แก่เอ็ลเดอร์และผู้หวังเป็นเอ็ลเดอร์ทุกคนในวอร์ด และมหาปุโรหิตที่ปัจจุบันไม่ได้รับใช้ในฝ่ายอธิการ ในฝ่ายประธานสเตค ในสภาสูง หรือไม่ได้เป็นผู้ประสาทพรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

2. ฝ่ายประธานของโควรัมเอ็ลเดอร์จัดตั้งอย่างไร

ประธานสเตค โดยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษา จะปลดฝ่ายหัวหน้ากลุ่มมหาปุโรหิตและฝ่ายประธานโควรัมชุดปัจจุบัน จากนั้นประธานสเตคจะเรียกประธานโควรัมเอ็ลเดอร์คนใหม่ในแต่ละวอร์ด และประธานสเตค ที่ปรึกษาที่ได้รับมอบหมายในฝ่ายประธานสเตค หรือสมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมายจะเรียกที่ปรึกษาที่ประธานโควรัมเสนอให้รับใช้ในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ชุดใหม่อาจได้แก่เอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิตหลากหลายวัยและประสบการณ์ รับใช้ด้วยกันในฝ่ายประธานโควรัมหนึ่งชุด เอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตอาจรับใช้เป็นประธานโควรัมหรือเป็นที่ปรึกษาได้2

3. ใครกำกับดูแลงานของประธานโควรัมเอ็ลเดอร์

ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ขึ้นตรงต่อประธานสเตคผู้ให้การอบรมและการนำทางจากฝ่ายประธานสเตคและผ่านสภาสูง อธิการในฐานะมหาปุโรหิตควบคุมในวอร์ดประชุมเป็นประจำกับประธานโควรัมเอ็ลเดอร์เช่นกัน อธิการหารือกับเขาและให้แนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับวิธีที่จะรับใช้และเป็นพรแก่สมาชิกวอร์ดได้ดีที่สุด โดยทำงานสอดคล้องกับองค์การวอร์ดทั้งหมด (ดู คู่มือเล่ม 2, 7.3.1)

4. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างโควรัมเปลี่ยนตำแหน่งฐานะปุโรหิตของสมาชิกโควรัมหรือไม่

ไม่ เอ็ลเดอร์ยังคงเป็นเอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิตยังคงเป็นมหาปุโรหิตในแง่ของตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่เอ็ลเดอร์จะยังคงได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตเมื่อพวกเขาได้รับเรียกให้อยู่ในฝ่ายประธานสเตค สภาสูง หรือฝ่ายอธิการ—หรือในเวลาอื่นที่ประธานสเตคกำหนดผ่านการพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนและการดลใจ

5. วอร์ดมีโควรัมเอ็ลเดอร์มากกว่าหนึ่งโควรัมได้หรือไม่

ได้ ตามเจตนารมณ์ของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:89 เมื่อวอร์ดมีจำนวนผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่แข็งขันมากเป็นพิเศษ ผู้นำอาจจัดตั้งโควรัมเอ็ลเดอร์มากกว่าหนึ่งโควรัม ในกรณีเช่นนี้โควรัมเอ็ลเดอร์ควรมีดุลยภาพตามสมควรในแง่ของอายุ ประสบการณ์ ตำแหน่งฐานะปุโรหิต และความเข้มแข็ง

6. สมาชิกในฝ่ายประธานพระวิหาร ฝ่ายประธานคณะเผยแผ่ และฝ่ายประธานศูนย์อบรมผู้สอนศาสนาอยู่ในโควรัมใด

พี่น้องชายเหล่านี้เป็นสมาชิกของโควรัมเอ็ลเดอร์ในวอร์ดของพวกเขา

ที่ระดับสเตค โควรัมมหาปุโรหิตหนึ่งโควรัม

7. การปรับเปลี่ยนสำหรับโควรัมมหาปุโรหิตสเตคมีอะไรบ้าง

ฝ่ายประธานสเตคยังคงรับใช้เป็นฝ่ายประธานโควรัมมหาปุโรหิตสเตค สมาชิกของโควรัมนั้นมีเฉพาะมหาปุโรหิตที่ปัจจุบันรับใช้ในฝ่ายประธานสเตค ในฝ่ายอธิการ ในสภาสูง และเป็นผู้ประสาทพรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พนักงานวอร์ด พนักงานสเตค และเลขาธิการสเตคไม่ใช่สมาชิกของโควรัมมหาปุโรหิต

สมาชิกของโควรัมมหาปุโรหิตสเตคโดยปกติจะประชุมกับโควรัมเอ็ลเดอร์ถ้าไม่ได้รับมอบหมายให้ไปที่อื่น

8. บทบาทของโควรัมมหาปุโรหิตสเตคคืออะไร

ในบทบาทควบคุม ฝ่ายประธานสเตคประชุมตามความจำเป็นกับสมาชิกของโควรัมมหาปุโร-หิตสเตคเพื่อให้การอบรมและช่วยเหลือสมาชิกโควรัมในการเรียกของพวกเขา การประชุมสเตคที่อธิบายไว้ใน คู่มือเล่ม 2 หมวด 18.3 ยังคงเดิมโดยมีการปรับเปลี่ยนดังต่อไปนี้

  • การประชุมคณะกรรมการบริหารฐานะปุโรหิตสเตคจะเรียกว่า “การประชุมสภาสูง”

  • การประชุมประจำปีของมหาปุโรหิตที่ได้รับแต่งตั้งทุกคนในสเตคจะไม่จัดอีกต่อไป แต่ฝ่ายประธานสเตคจัดการประชุมประจำปีของโควรัมมหาปุโรหิตสเตค

9. อะไรคือจุดประสงค์ของการปรับเปลี่ยนโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

การมีฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งโควรัมในวอร์ดทำให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตมีเอกภาพในการทำงานแห่งความรอดครบทุกด้าน รวมถึงงานพระวิหารและประวัติครอบครัวที่หัวหน้ากลุ่มมหาปุโรหิตประสานงานไว้แล้ว ช่วยให้สมาชิกโควรัมทุกวัยและทุกภูมิหลังได้ประโยชน์จากมุมมองและประสบการณ์ของคนในช่วงต่างๆ ของชีวิต นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่มีประสบการณ์ได้เป็นครูพี่เลี้ยงคนอื่นๆ รวมถึงผู้หวังเป็นเอ็ลเดอร์ สมาชิกใหม่ เด็กหนุ่ม และคนที่กลับมาแข็งขันในศาสนจักร

การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ช่วยให้โควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์ประสานงานกัน ทำให้การประสานงานของโควรัมกับฝ่ายอธิการและสภาวอร์ดง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยให้อธิการได้มอบหมายความรับผิดชอบแก่ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ได้มากขึ้นทั้งนี้เพื่อให้เขากับที่ปรึกษาจะได้จดจ่อกับหน้าที่หลักของตน—โดยเฉพาะการควบคุมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและเยาวชนหญิง

10. ในสเตค มหาปุโรหิตผู้รับใช้ในฝ่ายประธานสาขาเป็นสมาชิกโควรัมมหาปุโรหิตหรือไม่

ไม่ มหาปุโรหิตที่รับใช้ในฝ่ายประธานสาขาในสเตคไม่ใช่สมาชิกของโควรัมมหาปุโรหิต สมาชิกโควรัมมหาปุโรหิตมีเฉพาะผู้มีการเรียกในฝ่ายประธานสเตค ฝ่ายอธิการ สภาสูง และเป็นผู้ประสาทพรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีข้อกำหนดให้พวกเขาเป็นมหาปุโรหิต

11. เอ็ลเดอร์ที่รับใช้ในฝ่ายอธิการ (ตัวอย่างเช่นในสเตคหนุ่มสาวโสด) เป็นสมาชิกโควรัมมหาปุโรหิตหรือไม่

ไม่ เอ็ลเดอร์ที่รับใช้ในฝ่ายอธิการไม่ใช่สมาชิกของโควรัมมหาปุโรหิต

12. การปฏิบัติศาสนกิจประยุกต์ใช้กับสมาชิกโควรัมมหาปุโรหิตอย่างไร

ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ ผู้เป็นมหาปุโรหิตควบคุมในวอร์ด สมาชิกโควรัมมหาปุโรหิตและครอบครัวมีบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพวกเขาโดยโควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์

เนื่องจากฝ่ายประธานสเตคและฝ่ายอธิการมีความรับผิดชอบต่อสมาชิกทุกคนในสเตคหรือวอร์ด โดยปกติจึงไม่มอบหมายพี่น้องชายเหล่านี้ให้เป็นบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลหรือครอบครัวใดแบบเฉพาะเจาะจง อาจมอบหมายสมาชิกสภาสูงและผู้ประสาทพรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ของท้องที่ ตามวิจารณญาณประธานสเตค หากพวกเขาได้รับมอบหมาย จะได้รับมอบหมายจากประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการวอร์ดของพวกเขา

นอกเหนือจากหน้าที่รับผิดชอบสำคัญอื่นๆ เช่นการเป็นมหาปุโรหิตควบคุมและผู้พิพากษาใหญ่ในอิสราเอล อธิการมีหน้าที่รับผิดชอบพิเศษร่วมกับที่ปรึกษาคือการดูแลเยาวชน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:15 เขียนไว้ว่า “ฝ่ายอธิการเป็นประธานควบคุมฐานะปุโรหิต [แห่งอาโรน] นี้, และถือกุญแจหรือสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตดังกล่าว” คู่มือเล่ม 1, 2.2 กล่าวว่า “สมาชิกในฝ่ายอธิการจะดูแลและบำรุงเลี้ยงเยาวชนชายและเยาวชนหญิงในวอร์ด”

เช่นเดียวกัน ประธานสเตค ในฐานะมหาปุโรหิตควบคุมของสเตค เป็น “ผู้นำทางวิญญาณคนสำคัญอันดับแรกในสเตค” (คู่มือเล่ม 1, 1.1.1) และ “ควบคุมงานแห่งความรอด” (คู่มือเล่ม 1, 1.1.2)

การปฏิบัติศาสนกิจแทนการสอนประจำบ้านและการเยี่ยมสอน

เป็นเวลาหลายปีที่ผู้สอนประจำบ้านและผู้เยี่ยมสอนขานรับงานมอบหมายให้ไปเยี่ยมบ้านของสมาชิกแต่ละคนทุกเดือน ให้ข่าวสาร และความช่วยเหลือตามต้องการ พวกเขาสละเวลานับไม่ถ้วนให้กับการทุ่มเทรับใช้โดยไม่คำนึงถึงตนเองในงานอันสำคัญยิ่งนี้

โดยอาศัยความทุ่มเทดังกล่าว ผู้นำศาสนจักรจึงขอให้สมาชิกเน้นมากขึ้นเรื่องการดูแลผู้อื่นเหมือนพระคริสต์ทรงดูแล ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ (ดู คู่มือเล่ม 2, 3.2.3) เพื่อเน้นเรื่องนี้ ต่อไปนี้โปรแกรมเดิมของการสอนประจำบ้านและการเยี่ยมสอนจึงเป็นงานที่ทำร่วมกันเรียกว่า “การปฏิบัติศาสนกิจ” โดยมีฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์เป็นผู้สอดส่องดูแลภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ

13. “การปฏิบัติศาสนกิจ” คืออะไร

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงแบบอย่างให้เห็นว่าการปฏิบัติศาสนกิจหมายความว่าอย่างไรเมื่อทรงรับใช้ด้วยความรักที่มีต่อพระบิดาและต่อบุคคลแต่ละคน (ดู ยอห์น 15:9–10) พระองค์ทรงรัก ทรงสอน ทรงสวดอ้อนวอนให้ ทรงปลอบโยน และทรงให้พรคนรอบข้าง โดยทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนติดตามพระองค์ (ดู มาระโก 8:34) เมื่อสมาชิกศาสนจักรปฏิบัติศาสนกิจ พวกเขาพยายามรับใช้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนดังที่พระองค์จะทรงรับใช้—เพื่อ “ปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน” “ดูแลศาสนจักรเสมอ, และอยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น” “เยี่ยมบ้านสมาชิกแต่ละคน” และช่วยให้แต่ละคนเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ (โมไซยาห์ 18:9; คพ. 20:51, 53; ดู ยอห์น 13:35 ด้วย)

เมื่อสมาชิกปฏิบัติศาสนกิจ พวกเขากำหนดความถี่และรูปแบบการติดต่อที่มีกับคนที่พวกเขาให้การดูแลผ่านการสื่อสารและการดลใจ พวกเขาหารือกับผู้นำของตนเองและเล่าให้ฟังอย่างน้อยไตรมาสละครั้งเกี่ยวกับการรับใช้ของพวกเขา ความต้องการตลอดจนความเข้มแข็งของคนที่พวกเขาได้รับการเชื้อเชิญให้ดูแล ผู้นำรายงานการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจเหล่านี้ทุกไตรมาส พวกเขาไม่รายงานจำนวนการเยี่ยมหรือการติดต่อกับแต่ละบุคคลและครอบครัวอีกต่อไป นอกจากนี้ โดยผ่านการเชื่อมโยงฐานะปุโรหิตกับสมาชิกแต่ละคน บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ผู้นำอาจจะใช้ในยามคับขันหรือเกิดอันตรายด้วย

14. จะเรียกผู้ปฏิบัติศาสนกิจเหล่านั้นว่าอะไร

เรียกผู้ดำรงฐานะปุโรหิตว่า “บราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ” และเรียกพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์ว่า “ซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ” ปกติจะเรียกชื่อของพวกเขาเท่านั้นเช่น “บราเดอร์โจนส์” และ “ซิสเตอร์สมิธ” จะไม่เรียกพวกเขาว่า “ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ”

15. การปฏิบัติศาสนกิจคล้ายคลึงและแตกต่างจากการสอนประจำบ้านและการเยี่ยมสอนอย่างไร

การปฏิบัติศาสนกิจคล้ายคลึงกับการสอนประจำบ้านและการเยี่ยมสอนในแง่ที่แต่ละครัวเรือนจะมีพี่น้องชายฐานะปุโรหิต—บราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ—ไปปฏิบัติศาสนกิจและดูแลครอบครัวหรือแต่ละบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนนั้น (ดู คพ. 20:47, 59) ผู้ใหญ่สตรีแต่ละคนจะมีสมาชิกของสมาคมสงเคราะห์—ซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ—ไปปฏิบัติศาสนกิจและดูแลเธอ โดยส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจที่ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเน้นเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2018 (ดู “ติดต่อกับเธอทุกเมื่อ ทุกที่ ทุกทาง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2018, 7)

นอกจากนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดบางอย่างของการสอนประจำบ้านและการเยี่ยมสอนด้วยเพื่อช่วยให้สมาชิกปฏิบัติศาสนกิจโดยมุ่งเน้นมากขึ้นเรื่องการหาทางช่วยเหลือตามความต้องการ การติดต่อไม่จำเป็นต้องเป็นการเยี่ยมอย่างเป็นทางการเสมอไป อาจเยี่ยมได้ที่บ้าน ที่โบสถ์ หรือในสภาวะแวดล้อมอื่นที่ปลอดภัย สะดวก และติดต่อได้ ดังที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอน “[สิ่ง] สำคัญที่สุดคือวิธีที่ท่านเป็นพรและดูแลผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของท่าน ซึ่งอันที่จริงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตารางเวลาเฉพาะอย่างหรือพื้นที่เฉพาะแห่งเลย สิ่งสำคัญคือท่านรักผู้คนของท่าน และทำตามพระบัญญัติที่จะ ‘ดูแลศาสนจักรเสมอ’”3

สรุป การปฏิบัติศาสนกิจนำโดยพระวิญญาณ ยืดหยุ่นได้ และปรับตามความต้องการของสมาชิกแต่ละคน

16. การปฏิบัติศาสนกิจนำโดยพระวิญญาณอย่างไร

เมื่อสมาชิกปฏิบัติศาสนกิจ พวกเขาแสวงหาการดลใจให้รู้วิธียื่นมือช่วยเหลือและหาทางช่วยเหลือตามความต้องการของผู้อื่นได้ดีที่สุด การเยี่ยมตามกำหนดเวลาและการโทรศัพท์หาพี่น้องสตรีสูงวัยที่อยู่ตามลำพังเป็นประจำจะให้ความสัมพันธ์ที่เธอต้องการหรือไม่ การเชื้อเชิญคนหนุ่มสาวที่แข็งขันน้อยให้มาร่วมโครงการชุมชนจะเป็นการติดต่อที่เกิดประโยชน์มากที่สุดหรือไม่ การสนับสนุนการแข่งฟุตบอลของเยาวชนจะช่วยทั้งเยาวชนและบิดามารดาของพวกเขาหรือไม่ การส่งข้อพระคัมภีร์ที่เต็มไปด้วยความหวังให้คนบางคนจะช่วยให้ภาระของเขาเบาลงหรือไม่ ข้อความหรือการ์ดหรืออีเมลจะแสดงความห่วงใยที่เป็นประโยชน์หรือไม่ พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทำอะไร การหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้นและการใช้ทุกวิธีที่มีเพื่อติดต่อกับคนที่พวกเขาได้รับมอบหมายเป็นหัวใจของการปฏิบัติศาสนกิจด้วยการดลใจ เพื่อให้การรับใช้เหมือนพระคริสต์ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจจะอาศัยการเยี่ยมเป็นประจำหรือข่าวสารที่กำหนดไว้ล่วงหน้าไม่ได้ พวกเขาต้องแสวงหาการดลใจและหารือกับสมาชิกครอบครัวจึงจะดูแลคนที่พวกเขาได้รับมอบหมายได้ดีที่สุด—โดยใช้เวลาและแหล่งช่วยที่มี

17. การปฏิบัติศาสนกิจยืดหยุ่นได้อย่างไร

บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจมีโอกาสทำสิ่งที่ได้ผลที่สุด แต่ละคนที่พวกเขาได้รับเชิญให้ดูแลอาจต้องการความเอาใจใส่ไม่เท่ากัน ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ทำงานกับฝ่ายอธิการและสภาวอร์ดโดยบอกลำดับความสำคัญก่อนหลังให้บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจทราบเพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าใครต้องการพวกเขามากที่สุด เรามักจะให้ความสำคัญสูงสุดกับสมาชิกใหม่ สมาชิกที่แข็งขันน้อยผู้อาจจะเปิดใจรับ และคนอื่นๆ เช่น พ่อหรือแม่ตัวคนเดียว หญิงม่าย และพ่อม่าย ผู้นำอาจมอบหมายให้ผู้นำเยาวชนไปเยี่ยมครอบครัวที่เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงกำลังประสบความท้าทาย และพวกเขามอบหมายให้บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจไปเยี่ยมผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ทันที พวกเขาสามารถมอบหมายสมาชิกคนใดคนหนึ่งของโควรัมเอ็ลเดอร์—มหาปุโรหิตและเอ็ลเดอร์—ไปปฏิบัติศาสนกิจเช่นนั้น

หากเห็นสมควร คู่สมรสอาจได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมครอบครัวหรือแต่ละบุคคล นอกจากนี้ กุลสตรีและยุวนารีอาจทำคุณประโยชน์สำคัญโดยรับใช้เป็นคู่กับพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์ เช่นเดียวกับปุโรหิตและผู้สอนรับใช้กับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดูคำถามข้อ 22 ด้านล่าง)

18. จะปรับการปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการของสมาชิกแต่ละคนอย่างไร

บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจพยายามทำสิ่งที่เป็นการช่วยเหลือตามความต้องการของแต่ละบุคคลได้ดีที่สุด การสื่อสารทุกรูปแบบมีไว้เพื่อขานรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณและหาทางช่วยเหลือตามความต้องการของคนที่พวกเขารับใช้ การหาทางช่วยเหลือตามความต้องการเหล่านั้นเริ่มด้วยการพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนและด้วยการสนทนากับครอบครัวและแต่ละบุคคลที่พวกเขาได้รับมอบหมายเพื่อทราบข้อมูล ในการสนทนาดังกล่าวและในการติดต่อหลังจากนั้น พวกเขาฟังคนที่พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจให้เพื่อจะเข้าใจวิธีรับใช้ได้ดีที่สุด ความถี่และรูปแบบการติดต่อที่คนเหล่านั้นปรารถนา และความต้องการตลอดจนเนื้อหาของข่าวสารที่พวกเขาแบ่งปัน ผู้ปฏิบัติศาสนกิจต้องแน่ใจว่าการสื่อสารทั้งหมดกับสมาชิกครอบครัวคนใดก็ตามหมาะแก่กาลเทศะ

บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจมุ่งหมายจะช่วยแต่ละบุคคลแะครอบครัวเตรียมรับศาสนพิธีต่อไปของพวกเขา รักษาพันธสัญญาที่พวกเขาทำไว้ และพึ่งพาตนเอง ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจรวมถึงการแบ่งปันข่าวสารทางวิญญาณที่ปรับตามความต้องการของแต่ละบุคคลและครอบครัว ถึงแม้การปฏิบัติศาสนกิจจะไม่ใช่งานมอบหมายให้แบ่งปันข่าวสารเป็นหลัก เลียโฮนา และ Ensign จะไม่มีข่าวสารให้ใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจอีกต่อไป

19. ผู้นำฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและผู้นำสมาคมสงเคราะห์ทำให้งานของพวกเขาเป็นเอกภาพอย่างไร

ความสามารถในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นได้ดีขึ้นเป็นผลตามธรรมชาติและตามเจตนาประการหนึ่งของความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นในโควรัมฐานะปุโรหิตที่ปรับโครงสร้างใหม่และความเป็นเอกภาพที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกับสมาคมสงเคราะห์ การปฏิบัติศาสนกิจกลายเป็นการประสานงานเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลในหน้าที่ฐานะปุโรหิตในการ “เยี่ยมบ้านสมาชิกแต่ละคน” และ “ดูแลศาสนจักรเสมอ, และอยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น” บรรลุจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์ในการ “เพิ่มศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้านผ่านศาสนพิธีและพันธสัญญา และทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อช่วยคนขัดสน” (คพ. 20:47, 53; คู่มือเล่ม 2, 9.1.1)

โดยทำงานด้วยกันและภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์มีโอกาสได้รับการดลใจ วางระเบียบ และประสานงานกันในการพยายามดูแลแต่ละบุคคลและครอบครัว การประสานงานกันรวมถึงการทำงานด้วยกันในวิธีต่อไปนี้

  • ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์เสนองานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจสำหรับแต่ละบุคคลและครอบครัวของวอร์ด ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์เสนองานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจสำหรับพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์ หากที่ใดมีความต้องการพิเศษ ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์อาจสนทนางานมอบหมายที่เฉพาะเจาะจงก่อนกำหนดแผน

  • ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์เสนองานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจให้อธิการอนุมัติ

  • บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจอาจสนทนาสภาวการณ์พิเศษของแต่ละบุคคลตามความจำเป็นและติดต่อผู้นำโควรัมหรือผู้นำสมาคมสงเคราะห์ของพวกเขาเมื่อจำเป็นเพื่อขอความช่วยเหลือและข้อมูลเพิ่มเติม

  • ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ประชุมกันทุกไตรมาสเพื่อสนทนาความต้องการของแต่ละบุคคลและครอบครัวที่ทราบผ่านการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ

  • หลังจากการประชุมนั้น ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ประชุมกับอธิการทุกไตรมาสเพื่อแก้ไขความต้องการของแต่ละบุคคลและครอบครัว

  • ผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์และผู้นำสมาคมสงเคราะห์หารือกับสภาวอร์ดตามความจำเป็นเกี่ยวกับความเข้มแข็งและความต้องการที่ระบุไว้ในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ วางแผน และดำเนินแผนการรับใช้และเป็นพรแก่สมาชิกวอร์ด

เพื่อทำให้การประสานงานง่ายขึ้น วอร์ดเน้นเรื่องการประชุมสภาวอร์ดและไม่จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารฐานะปุโรหิตอีกต่อไป วาระการประชุมที่จัดไว้ก่อนแล้วในการประชุมคณะกรรมการบริหารฐานะปุโรหิตจะนำมาสนทนาเท่าที่จำเป็นในการประชุมฝ่ายอธิการเพิ่มเติม สภาวอร์ด หรือการประชุมประจำไตรมาสของอธิการ ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ และประธานสมาคมสงเคราะห์

20. สมาชิกได้รับงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจอย่างไร

ผู้นำประชุมกับบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ—อาจจะกับคู่ของพวกเขาด้วย—เพื่อแบ่งงานมอบหมายให้พวกเขาและหารือเกี่ยวกับความเข้มแข็ง ความต้องการ และความท้าทายของคนที่พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจให้ การสนทนานี้อาจเกิดขึ้นในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ (ดูคำถามข้อ 24 ด้านล่าง) หรือเมื่อจำเป็น

21. บทบาทของการเยี่ยมในบ้านคืออะไร

เมื่อพิจารณาจำนวน ระยะทาง ความปลอดภัย และข้อควรคำนึงอื่นๆ แล้ว การเยี่ยมบ้านทุกหลังทุกเดือนอาจไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้หรือปฏิบัติได้ กระนั้นก็ตาม การเยี่ยมส่วนตัวก็สำคัญเมื่อสามารถทำได้ เพื่อรับใช้ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรับใช้ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจพิจารณาความเป็นไปได้ทุกอย่างสำหรับการดูแลและการติดต่อกับคนที่พวกเขาได้รับมอบหมาย

22. การปฏิบัติศาสนกิจรวมการแบ่งปันข่าวสารไว้ด้วยเสมอหรือไม่

ไม่ เมื่อบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจรู้จักคนที่พวกเขาได้รับมอบหมายแล้ว พวกเขาทราบความต้องการของคนเหล่านั้น และพระวิญญาณบริสุทธิ์อาจกระตุ้นเตือนให้สอนหลักธรรมพระกิตติคุณ บิดาหรือมารดาอาจขอหัวข้อจำเพาะสำหรับครอบครัวของเขาได้เช่นกัน แต่ “ข่าวสาร” ที่ดีที่สุดคือความห่วงใยและความเห็นใจ

23. บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจรายงานการทำงานของพวกเขาอย่างไร

ผู้นำไม่รวบรวมรายงานของครอบครัวและแต่ละบุคคลที่ได้รับการเยี่ยมในช่วงเดือนที่กำหนดอีกต่อไป แต่บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจมีโอกาสหารือกับผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์และผู้นำสมาคมสงเคราะห์ของพวกเขาเกี่ยวกับสภาวการณ์ของคนที่พวกเขารับใช้และเกี่ยวกับงานปฏิบัติศาสนกิจต่อเนื่องของพวกเขา การหารือกันนี้เกิดขึ้นอย่างน้อยไตรมาสละครั้งในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและเวลาอื่นเมื่อจำเป็นต้องสื่อสาร

24. การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจคืออะไร

การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจจัดขึ้นเพื่อ (1) หารือเกี่ยวกับความเข้มแข็ง ความต้องการ และความท้าทายของครอบครัวและแต่ละบุคคลที่ได้รับมอบหมาย (2) พิจารณาความต้องการที่โควรัม สมาคมสงเคราะห์ หรือสภาวอร์ดจะช่วยได้ และ (3) เรียนรู้จากผู้นำและรับกำลังใจในงานปฏิบัติศาสนกิจ

บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจพบกับผู้นำของโควรัมเอ็ลเดอร์หรือสมาคมสงเคราะห์อย่างน้อยไตรมาสละครั้งในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ อาจจะคนเดียวและกับคู่ของพวกเขาได้เช่นกัน คู่สมรสที่ปฏิบัติศาสนกิจด้วยกันสามารถพบกับผู้นำของโควรัมเอ็ลเดอร์หรือผู้นำของสมาคมสงเคราะห์หรือทั้งสอง ระหว่างการสัมภาษณ์ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจแจ้งข้อมูลอื่นตามความจำเป็น—ด้วยตนเองหรือผ่านโทรศัพท์ ส่งข้อความ อีเมล หรือวิธีอื่น พวกเขาบอกข้อมูลที่ไม่พึงเปิดเผยเฉพาะกับประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์เท่านั้น—หรือกับอธิการโดยตรง

25. ผู้นำจดบันทึกการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างไร

ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์จดบันทึกการสัมภาษณ์ที่พวกเขาจัดกับบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ผู้นำกำหนดเดือนที่จัดสัมภาษณ์และผู้มีส่วนในการสัมภาษณ์ พวกเขารายงานว่าคู่นั้นได้รับการสัมภาษณ์แล้วถ้าสัมภาษณ์อย่างน้อยคู่ละหนึ่งคนในระหว่างไตรมาส

ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2018 อัพเดทของแอปพลิเคชัน LDS Tools กับแหล่งช่วยผู้นำและสมาชิกบน LDS.org จะมีให้รายงานเช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงในรายงานประจำไตรมาสจะมีให้กลางปี 2018 เช่นกัน รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับผู้นำและพนักงานจะมีให้ในประกาศแจ้งที่จะมาจากสำนักงานใหญ่ของศาสนจักร

26. บทบาทของผู้ประสานงานการปฏิบัติศาสนกิจและผู้ดูแลการปฏิบัติศาสนกิจมีอะไรบ้าง

ไม่มีการเรียกผู้ประสานงานการปฏิบัติศาสนกิจและผู้ดูแลการปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ผู้ที่ได้รับเรียกในตำแหน่งเหล่านี้ควรได้รับการปลด

27. ใครสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ

ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ทุกคนเป็นผู้สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ แม้ในวอร์ดขนาดใหญ่ ผู้นำจะจัดการเรื่องสัมภาษณ์ได้อย่างดีเมื่อสัมภาษณ์สัปดาห์ละสองสามรายโดยสมาชิกในฝ่ายประธานแต่ละคน การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้เวลานาน

28. ควรสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจในระหว่างไตรมาสเมื่อใด

การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจสามารถและควรทำ ตลอด ไตรมาส—และไม่ควรรอจนถึงสัปดาห์หรือเดือนสุดท้ายของไตรมาส ขณะผู้นำสัมภาษณ์อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจะพบว่าตนเองสามารถบรรลุจุดประสงค์ของการปฏิบัติศาสนกิจได้ทั้งทางโลกและทางวิญญาณ

การรวมเยาวชนไว้ในการปฏิบัติศาสนกิจ

29. จะรวมเยาวชนไว้ในงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างไร

ผู้นำอาจเลือกมอบหมายให้กุลสตรีและยุวนารีเป็นคู่กับพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์ ส่วนปุโรหิตและผู้สอนเวลานี้ได้รับมอบหมายให้เป็นคู่กับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เยาวชนแบ่งปันของประทานเฉพาะตัวและเติบโตทางวิญญาณเมื่อพวกเขารับใช้เคียงข้างผู้ใหญ่ในงานแห่งความรอดและเมื่อพวกเขาหารือเกี่ยวกับการรับใช้นั้นในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ นอกจากนี้ การให้เยาวชนมีส่วนในงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจยังทำให้การดูแลผู้อื่นทั่วถึงมากขึ้นด้วยโดยการเพิ่มจำนวนสมาชิกที่มีส่วนร่วม ทั้งจะทำให้งานเหล่านี้ง่ายขึ้นและมั่นคงขึ้นในครอบครัวเมื่อมารดากับบุตรสาว—และบิดากับบุตรชาย—รับใช้ด้วยกัน

30. เยาวชนควรมีบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและ/หรือซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจสำหรับเขาโดยเฉพาะหรือไม่

ไม่ เยาวชนชายและเยาวชนหญิงได้รับการปฏิบัติศาสนกิจจากคนที่ปฏิบัติศาสนกิจต่อครอบครัวของพวกเขาและได้รับการดูแลจากผู้นำฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและผู้นำเยาวชนหญิงของพวกเขาเช่นกัน

31. การมอบหมายให้เยาวชนชายและเยาวชนหญิงปฏิบัติศาสนกิจกับคู่ที่เป็นผู้ใหญ่ ทำได้หรือไม่

ได้ แนวทางในเอกสารก่อนหน้านี้ “การป้องกันและการตอบสนองต่อการทำทารุณกรรม” อนุญาตให้คู่ปฏิบัติศาสนกิจเยาวชนคู่กับผู้ใหญ่ได้ ไม่ถือว่า “การปฏิบัติศาสนกิจ” เป็น “กิจกรรม” หรือ “ชั้นเรียน” ตามที่อ้างไว้ในแนวทางดังกล่าว

ผู้นำควรใช้วิจารณญาณจากการดลใจเมื่อมอบหมายเยาวชนให้เป็นคู่ปฏิบัติศาสนกิจ คู่ที่เป็นผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เข้าใจผิด พวกเขาควรระมัดระวังเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อยู่สองต่อสองตามลำพังเพื่อให้เยาวชนมีประสบการณ์ที่ปลอดภัยและให้ผลคุ้มค่าในการปฏิบัติศาสนกิจ นอกจากนี้ ควรใช้ปัญญาที่จะไม่มอบหมายเยาวชนให้ไปพบกับสถานการณ์ของบ้านหรือครอบครัวที่ยากลำบาก

32. ยุวนารีและกุลสตรีทุกคนควรมีงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่

อาจเชิญยุวนารีและกุลสตรีให้ปฏิบัติศาสนกิจ บิดามารดาและผู้นำให้คำปรึกษาแก่เยาวชนหญิงทุกคน และเมื่อสภาวการณ์เอื้ออำนวยและเธอเต็มใจรับใช้ อาจมอบหมายให้เธอปฏิบัติศาสนกิจได้ เยาวชนหญิงรับใช้เป็นคู่กับพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์

33. ใครเป็นผู้สื่อสารเรื่องงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจกับเยาวชน

โดยความเห็นชอบของอธิการ สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ให้งานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจแก่ยุวนารีและกุลสตรี และโดยความเห็นชอบของอธิการ สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ให้งานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจแก่ผู้สอนและปุโรหิต

โควรัมและสมาคมสงเคราะห์

34. การมุ่งความสำคัญไปที่โควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์เสริมความเข้มแข็งให้บทบาทของอธิการและสภาวอร์ดหรือไม่

ใช่ อธิการคือมหาปุโรหิตควบคุมและ “ให้แนวทางและคำปรึกษาแก่ผู้นำคนอื่นๆ ในวอร์ด” (คู่มือเล่ม 1, 2.1.1) เขาทบทวนและอนุมัติงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ สภาวอร์ดดำเนินต่อไปในบทบาทอันสำคัญที่จะ “ช่วยให้สมาชิกมีประจักษ์พยาน รับศาสนพิธีแห่งความรอด รักษาพันธสัญญา และเป็นผู้ติดตามที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วของพระเยซูคริสต์” (คู่มือเล่ม 2, 4.4) โควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์ที่เข้มแข็งขึ้น—มีประธานเป็นตัวแทน ของพวกเขาเป็นสมาชิกสภาวอร์ด—จะเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่สภานั้น

35. ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ควรไปเยี่ยมหรือสัมภาษณ์สมาชิกโควรัมปีละครั้ง (ดู คู่มือเล่ม 2, 7.3.2)—นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจประจำไตรมาสหรือไม่

ใช่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่รับผิดชอบโดยรวม ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ควรสัมภาษณ์สมาชิกโควรัมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ฐานะปุโรหิตทั้งหมด—รวมถึงความผาสุกของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต คู่สมรส และครอบครัว—อย่างน้อยปีละครั้ง การสัมภาษณ์เหล่านี้ทำได้ตลอดปี การสนทนานี้ไม่ควรทำพร้อมกับการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจซึ่งมีคู่อยู่ที่นั่นด้วย

36. ใครสามารถช่วยฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ทำงานแห่งความรอดให้สำเร็จได้

ฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์อาจจัดให้สมาชิกช่วยให้งานดังกล่าวสำเร็จตามความจำเป็น ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจเรียกสมาชิกให้เป็นผู้นำและช่วยเหลือในงาน ดังต่อไปนี้ งานรับใช้ งานพระวิหารและประวัติครอบครัว การแบ่งปันพระกิตติคุณ และงานสวัสดิการ

37. วอร์ดมีโควรัมเอ็ลเดอร์หรือสมาคมสงเคราะห์มากกว่าหนึ่งกลุ่มได้หรือไม่

ได้ ตามเจตนารมณ์ของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:89 เมื่อวอร์ดมีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่แข็งขันในจำนวนมากเป็นพิเศษ ผู้นำอาจจัดตั้งโควรัมเอ็ลเดอร์มากกว่าหนึ่งโควรัม ในกรณีเช่นนี้โควรัมเอ็ลเดอร์แต่ละกลุ่มควรมีดุลยภาพตามสมควรในแง่ของอายุ ประสบการณ์ ตำแหน่งฐานะปุโรหิต และความเข้มแข็ง ใช้หลักการเดียวกันนี้กับสมาคมสงเคราะห์

38. ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์เรียกที่ปรึกษาเพิ่มเพื่อช่วยงานปฏิบัติศาสนกิจได้หรือไม่

ไม่ได้ ประธานหนึ่งคนมีที่ปรึกษาสองคน ถ้าผู้นำพบว่าจำเป็นต้องใช้คนเพิ่ม สามารถปรึกษากับอธิการเพื่อเรียกเลขานุการงานปฏิบัติศาสนกิจได้หนึ่งคนหรือมากกว่านั้น อาจมอบหมายให้เลขานุการงานปฏิบัติศาสนกิจทำงาน เช่น จัดกำหนดการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจและช่วยเตรียมรายงานการสัมภาษณ์ประจำไตรมาส