“18. การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)
“18. การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต” คู่มือทั่วไป
18.
การประกอบศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิต
18.0
บทนำ
ศาสนพิธีและการให้พรเป็นการปฏิบัติอันศักดิ์สิทธิ์โดยผู้มีสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตและในพระนามของพระเยซูคริสต์ เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตประกอบศาสนพิธีและให้พร พวกเขาทำตามแบบอย่างการให้พรผู้อื่นของพระผู้ช่วยให้รอด ศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิตทำให้เข้าถึงพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20)
พึงประกอบศาสนพิธีและการให้พรด้วยศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ และตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้นำพึงแน่ใจว่ามีการประกอบศาสนพิธีและให้พรด้วยการอนุมัติที่ถูกต้อง (เมื่อจำเป็น) ด้วยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่กำหนด ถูกวิธี และโดยผู้ร่วมประกอบพิธีที่มีค่าควร (ดู 18.3)
ดูนโยบายเกี่ยวกับศาสนพิธีและการให้พรฐานะปุโรหิตใน 38.2
18.1
ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง
ฐานะปุโรหิตรวมถึงสิทธิอำนาจให้ปฏิบัติศาสนพิธีพระกิตติคุณที่จำเป็นต่อความรอดและความสูงส่ง ผู้คนทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพวกเขารับศาสนพิธีเหล่านี้ ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งมีดังนี้:
-
บัพติศมา
-
การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับผู้ชาย)
-
เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร
-
การผนึกในพระวิหาร
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบศาสนพิธีเหล่านี้ให้ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาดังนี้:
-
สำหรับบัพติศมาและการยืนยัน (38.2.8.1)
-
สำหรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (38.2.9.7)
-
สำหรับเอ็นดาวเม้นท์และการผนึกในพระวิหาร (27.2.1.3 และ 27.3.1.2)
หากเด็กที่เกิดในพันธสัญญาสิ้นชีวิตก่อนอายุ 8 ขวบ ไม่จำเป็นต้องประกอบศาสนพิธีใดๆ หากเด็กไม่เกิดในพันธสัญญา ศาสนพิธีเดียวที่เขาต้องได้รับคือการผนึกกับบิดามารดา เพราะการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เด็กทุกคนที่สิ้นชีวิตก่อนอายุ 8 ขวบจึง “รอดในอาณาจักรซีเลสเชียลแห่งสวรรค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10; ดู โมโรไน 8:8–12 ด้วย)
18.2
ศาสนพิธีและการให้พรอื่นๆ
ศาสนพิธีและการให้พรอื่นๆ ทำให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับเดชานุภาพ การเยียวยา การปลอบประโลม และการนำทางของพระองค์ ศาสนพิธีและการให้พรเหล่านี้ได้แก่:
-
การตั้งชื่อและให้พรเด็ก
-
ศีลระลึก
-
การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับเยาวชนชายและผู้ใหญ่ชาย)
-
การวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกต่างๆ
-
การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์
-
การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย
-
พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำ รวมถึงพรของบิดา
-
การอุทิศบ้าน
-
การอุทิศหลุมฝังศพ
-
ปิตุพรโดยผู้ประสาทพรที่ได้รับการแต่งตั้ง
18.3
การมีส่วนร่วมในศาสนพิธีหรือการให้พร
ผู้มีส่วนร่วมหรือประกอบศาสนพิธีหรือการให้พรต้องมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่จำเป็นและมีค่าควร โดยทั่วไปมาตรฐานความมีค่าควรเกี่ยวข้องกับการถือใบรับรองพระวิหาร อย่างไรก็ดี เมื่อพระวิญญาณทรงนำและตามคำแนะนำในบทนี้ อธิการและประธานสเตคอาจยินยอมให้บิดาและสามีผู้ดำรงตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่จำเป็นมีส่วนร่วมหรือประกอบศาสนพิธีและการให้พรบางอย่างแม้พวกเขาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ทำบาปร้ายแรงและยังไม่ได้แก้ไขจะไม่มีส่วนร่วม
โดยทั่วไป เฉพาะผู้นำฐานะปุโรหิตและผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนอื่นๆ ที่เป็นคนสนิทในครอบครัวและเพื่อนสนิทเท่านั้นจึงจะมีส่วนร่วมในศาสนพิธีและการให้พร
บุคคลที่รับศาสนพิธี สมาชิกครอบครัว และผู้นำฐานะปุโรหิตหารือกันเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ใครและกี่คนมีส่วนร่วม การตัดสินใจนี้ควรทำก่อนประกอบศาสนพิธี
เมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตมีส่วนร่วมเพียงหนึ่งหรือสองคน แต่ละคนวางมือทั้งสองข้างอย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ เมื่อมีส่วนร่วมหลายคน พวกเขายืนเป็นวงกลมล้อมผู้รับศาสนพิธีหรือการให้พร แต่ละคนวางมือขวาอย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ (หรือใต้ตัวทารก) และวางมือซ้ายบนบ่าของพี่น้องชายที่อยู่ด้านซ้าย หนึ่งคนทำหน้าที่กล่าวออกเสียงเพื่อประกอบศาสนพิธีหรือให้พร
การประกอบหรือการรับศาสนพิธีหรือการให้พรบางอย่างต้องได้รับอนุมัติจากผู้นำที่เป็นประธานผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่จำเป็น (ดู 3.4.1) เมื่อจำเป็น อาจต้องได้รับอนุมัติจากที่ปรึกษาที่เขามอบอำนาจ ดูแผนภูมิต่อไปนี้ การอ้างถึงประธานสเตคใช้กับประธานคณะเผยแผ่ด้วย การอ้างถึงอธิการใช้กับประธานสาขาด้วย
ผู้นำคนใดถือกุญแจเพื่ออนุมัติให้รับหรือประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง?
ศาสนพิธี |
ผู้ถือกุญแจ |
---|---|
ศาสนพิธี บัพติศมา | ผู้ถือกุญแจ อธิการ (สำหรับเด็กอายุ 8 ขวบและสำหรับสมาชิกในบันทึกที่อายุ 9 ขวบขึ้นไปที่บัพติศมาล่าช้าเนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญา) ประธานคณะเผยแผ่ (สำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส) |
ศาสนพิธี การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ | ผู้ถือกุญแจ อธิการ (สำหรับเด็กอายุ 8 ขวบและสำหรับสมาชิกในบันทึกที่อายุ 9 ขวบขึ้นไปที่บัพติศมาล่าช้าเนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญา) ประธานคณะเผยแผ่ (สำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส) |
ศาสนพิธี การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับผู้ชาย) | ผู้ถือกุญแจ ประธานสเตค |
ศาสนพิธี เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร | ผู้ถือกุญแจ อธิการและประธานสเตค |
ศาสนพิธี การผนึกในพระวิหาร | ผู้ถือกุญแจ อธิการและประธานสเตค |
ผู้นำคนใดถือกุญแจเพื่ออนุมัติให้รับหรือประกอบศาสนพิธีและการให้พรอื่น?
ศาสนพิธีหรือการให้พร |
ผู้ถือกุญแจ |
---|---|
ศาสนพิธีหรือการให้พร การตั้งชื่อและให้พรเด็ก | ผู้ถือกุญแจ อธิการ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร ศีลระลึก | ผู้ถือกุญแจ อธิการ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง (สำหรับเยาวชนชายและผู้ใหญ่ชาย) | ผู้ถือกุญแจ อธิการ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร การวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกต่างๆ | ผู้ถือกุญแจ ดู 30.8 |
ศาสนพิธีหรือการให้พร การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ | ผู้ถือกุญแจ ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย | ผู้ถือกุญแจ ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำ รวมถึงพรของบิดา | ผู้ถือกุญแจ ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร การอุทิศบ้าน | ผู้ถือกุญแจ ไม่จำเป็นต้องอนุมัติ |
ศาสนพิธีหรือการให้พร การอุทิศหลุมฝังศพ | ผู้ถือกุญแจ ผู้นำฐานะปุโรหิตที่เป็นประธานในพิธี |
ศาสนพิธีหรือการให้พร ปิตุพร | ผู้ถือกุญแจ อธิการ |
18.4
ศาสนพิธีสำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะได้รับพร บัพติศมา การยืนยัน การแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต หรือการวางมือมอบหน้าที่สู่การเรียกด้วยความเห็นชอบของ (1) บิดามารดาผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะร่วมตัดสินใจ หรือ (2) ผู้ปกครองตามกฎหมายเท่านั้น หากมีคำถามเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายของบิดามารดาที่ไม่ได้เป็นผู้ดูแล อธิการหรือประธานสเตคจะขอคำแนะนำด้านกฎหมายจาก Church’s Office of General Counsel หรือจากสำนักงานภาค (ดู 38.8.23)
ดูแนวทางเกี่ยวกับการให้บัพติศมาและการยืนยันบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะใน 38.2.8.2
18.5
ศาสนพิธีที่ประกอบให้ผู้พิการหรือโดยผู้พิการ
18.6
การตั้งชื่อและให้พรเด็ก
“สมาชิกทุกคนในศาสนจักรของพระคริสต์ที่มีบุตรธิดาต้องพาพวกเขามาหาเอ็ลเดอร์ต่อหน้าศาสนจักร, ผู้จะวางมือบนพวกเขาในพระนามของพระเยซูคริสต์, และให้พรพวกเขาในพระนามของพระองค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:70)
โดยปกติเด็กได้รับการตั้งชื่อและให้พรระหว่างการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานในวอร์ดที่บิดามารดาอยู่ โดยไม่คำนึงว่าบิดามารดาของเด็กจะแต่งงานกันหรือไม่ หากบิดามารดาไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน ปกติจะประกอบศาสนพิธีในวอร์ดที่เด็กอยู่เป็นหลัก
ข้อยกเว้นเรื่องเวลาและสถานที่ให้พรเด็กต้องได้รับอนุมัติจากอธิการ ข้อยกเว้นอาจได้แก่การให้พรในวันที่ไม่ใช่วันอาทิตย์อดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวอร์ดที่มีทารกใหม่หลายคน การให้พรในอีกวอร์ดหนึ่งที่ปู่ย่าตายายหรือสมาชิกครอบครัวหลายคนของเด็กอาศัยอยู่ อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคให้พรเด็กในบ้านได้เช่นกัน สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเป็นประธาน
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งชื่อและให้พรเด็กในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.7
18.6.1
ผู้ให้พร
ศาสนพิธีของการตั้งชื่อและให้พรเด็กประกอบโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค สอดคล้องกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:70 ผู้นำฐานะปุโรหิตแจ้งสมาชิกเรื่องนี้ก่อนตั้งชื่อและให้พรเด็ก ผู้นำควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้บุคคลหรือครอบครัวรู้สึกอับอายหรือขุ่นเคือง
บุคคลหรือครอบครัวผู้ปรารถนาจะให้เด็กได้รับชื่อและพรจะประสานงานกับอธิการเรื่องศาสนพิธี อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการตั้งชื่อและให้พรเด็กในวอร์ด
อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคตั้งชื่อและให้พรบุตรของตนแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3) อธิการกระตุ้นให้บิดาเตรียมตนเองในการให้พรบุตรของตน
เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในการให้พรเด็ก บุคคลที่อยู่นอกวอร์ดของเขาเองต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา
18.6.2
คำแนะนำ
ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดครวมกันเป็นวงกลมเพื่อตั้งชื่อและให้พรเด็ก พวกเขาวางมือใต้ทารก หรือวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะของเด็กโต จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:
-
เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน
-
กล่าวว่ากำลังให้พรโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
ให้ชื่อเด็ก
-
เอ่ยชื่อเด็ก
-
ให้พรเด็กตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
18.6.3
แบบฟอร์มบันทึกเด็กและใบสำคัญการให้พร
ก่อนให้พรเด็ก พนักงานใช้ แหล่งช่วยผู้นำและพนักงาน (LCR) เตรียม แบบฟอร์มบันทึกเด็ก หลังจากให้พร เขาสร้างบันทึกสมาชิกภาพในระบบนั้นและเตรียม ใบสำคัญการให้พร อธิการเซ็นชื่อในใบสำคัญและมอบให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็ก
ชื่อบนบันทึกสมาชิกภาพและใบสำคัญต้องตรงกับสูติบัตร ใบแจ้งเกิด หรือชื่อปัจจุบันตามกฎหมาย
18.7
บัพติศมา
บัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้มีสิทธิอำนาจจำเป็นต่อผู้จะเป็นสมาชิกของศาสนจักรและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทุกคนที่แสวงหาความสูงส่งต้องทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยรับศาสนพิธีเหล่านี้ (ดู มัทธิว 3:13–17; ยอห์น 3:3–7; กิจการ 2:37–38; 2 นีไฟ 31:5–21)
ดูข้อมูลเกี่ยวกับบัพติศมาในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.8
18.7.1
การอนุมัติให้บุคคลรับบัพติศมาและการยืนยัน
18.7.1.1
เด็กที่เป็นสมาชิกในบันทึก
อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการให้บัพติศมาสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบในวอร์ด เด็กเหล่านี้ควรรับบัพติศมาและการยืนยันในวันเกิดปีที่ 8 หรือหลังจากนั้นเร็วที่สุดเท่าที่เห็นสมควร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:27) เด็กเหล่านี้มีบันทึกสมาชิกภาพศาสนจักรอยู่แล้ว (ดู 33.6.2) เมื่อพวกเขาอายุครบ 8 ขวบอธิการต้องแน่ใจว่าเด็กมีโอกาสยอมรับพระกิตติคุณพร้อมกับรับบัพติศมาและการยืนยัน
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการบัพติศมาและการยืนยันผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาใน 38.2.4 และ 38.2.8.1
อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์เด็กในบันทึกสำหรับบัพติศมาและการยืนยัน คำแนะนำมีอยู่ใน 31.2.3.1
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการกรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยันใน 18.8.3
อธิการเอาใจใส่เด็กอายุ 7 ขวบในวอร์ดเป็นพิเศษ โดยต้องแน่ใจว่าบิดามารดา ผู้นำและครูปฐมวัย และผู้ปฏิบัติศาสนกิจต่อครอบครัวของเด็กช่วยเด็กเตรียมรับบัพติศมาและการยืนยัน ผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์และผู้นำสมาคมสงเคราะห์กระตุ้นให้บิดามารดาเตรียมบุตรธิดาสำหรับศาสนพิธีเหล่านี้เช่นกัน
18.7.1.2
ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส
ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในคณะเผยแผ่ เพราะเหตุนี้ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจึงสัมภาษณ์ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสำหรับบัพติศมาและการยืนยัน คำแนะนำมีอยู่ใน 31.2.3.2
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการกรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยันใน 18.8.3
18.7.2
พิธีบัพติศมา
พิธีบัพติศมาควรเรียบง่าย กระชับ และยกระดับจิตวิญญาณ พิธีจะประกอบด้วย:
-
เพลงก่อนการประชุม
-
การกล่าวต้อนรับสั้นๆ จากบราเดอร์ผู้ดำเนินพิธี
-
เพลงสวดเปิดและการสวดอ้อนวอนเปิด
-
ข่าวสารสั้นๆ หนึ่งหรือสองคนเกี่ยวกับพระกิตติคุณ เช่น บัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
เพลงพิเศษ
-
บัพติศมา
-
เวลาของความคารวะขณะผู้มีส่วนร่วมในบัพติศมาเปลี่ยนใส่ชุดแห้ง (อาจร้องหรือบรรเลงเพลงสวดหรือเพลงปฐมวัยระหว่างนี้)
-
การยืนยันสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบ การยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหากอธิการกำหนด (ดู 18.8)
-
การแสดงประจักษ์พยานโดยผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่หากประสงค์
-
เพลงสวดปิดและการสวดอ้อนวอนปิด
-
เพลงหลังการประชุม
เมื่อเด็กในบันทึกกำลังเตรียมรับบัพติศมา สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการและในฝ่ายประธานปฐมวัยหารือกับครอบครัวเพื่อวางแผนและกำหนดเวลาจัดพิธีบัพติศมา สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเป็นผู้ดำเนินพิธี หากเด็กมากกว่าหนึ่งคนจะรับบัพติศมาในเดือนเดียวกัน พวกเขาจะทำพิธีบัพติศมารวมกันได้
ในสเตคที่มีเด็กในบันทึกหลายคน เด็กจากหลายวอร์ดจะทำพิธีบัพติศมารวมกันได้ ในกรณีดังกล่าว สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือในฝ่ายประธานปฐมวัยสเตคหรือสมาชิกสภาสูงคนหนึ่งหารือกับครอบครัวของเด็กที่จะรับบัพติศมาเพื่อวางแผนและกำหนดเวลาจัดพิธีบัพติศมา สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือสมาชิกสภาสูงที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินพิธี วอร์ดหรือครอบครัวอาจแยกกันทำพิธีบางส่วนเพื่อจะได้รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล ตัวอย่างเช่น อาจแยกกันทำศาสนพิธีบัพติศมา การยืนยัน หรือผู้พูดโดยสมาชิกวอร์ดหรือสมาชิกครอบครัว สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเป็นผู้ดำเนินพิธีส่วนนั้น
ควรกำหนดเวลาทำพิธีบัพติศมาสำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสทันทีที่พวกเขามีคุณสมบัติครบตามที่ระบุไว้ใน 31.2.3.2 ไม่ควรเลื่อนบัพติศมาของสมาชิกครอบครัวจนกว่าบิดาได้รับฐานะปุโรหิตและสามารถประกอบพิธีบัพติศมาด้วยตนเอง
ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการ หัวหน้าเผยแผ่วอร์ด (ถ้าคนหนึ่งได้รับเรียก) หรือสมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ผู้เป็นหัวหน้างานเผยแผ่ศาสนาจะวางแผนและดำเนินพิธีบัพติศมาสำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส พวกเขาประสานงานกับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา
18.7.3
ผู้ประกอบศาสนพิธี
ผู้ประกอบพิธีบัพติศมาคือปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ผู้ประกอบพิธีบัพติศมาต้องได้รับอนุมัติจากอธิการ (หรือจากประธานคณะเผยแผ่หากผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจะประกอบพิธีบัพติศมา)
อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้เป็นปุโรหิตหรือเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคให้บัพติศมาบุตรของตนแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3) อธิการกระตุ้นให้บิดาเตรียมตัวให้บัพติศมาบุตรของตน
เพื่อประกอบพิธีบัพติศมา บุคคลที่อยู่นอกวอร์ดต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา
18.7.4
สถานที่ประกอบศาสนพิธี
ควรประกอบพิธีบัพติศมาในอ่างบัพติศมาหากมี หากไม่มีอ่าง ให้ใช้แหล่งน้ำที่ปลอดภัย อ่างบัพติศมาควรใหญ่พอให้ทั้งผู้ประกอบพิธีและผู้รับบัพติศมาลงไปยืนในนั้นได้ ไม่ต้องอุทิศน้ำสำหรับบัพติศมา
หากใช้อ่างบัพติศมา ต้องนัดเวลาใช้ผ่านสมาชิกที่ได้รับมอบหมายในวอร์ดของอธิการตัวแทน
เพื่อความปลอดภัย ผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้คนหนึ่งต้องอยู่ขณะเติมน้ำลงอ่างและอยู่จนกว่าระบายน้ำออก ทำความสะอาด และปลอดภัย ระบายน้ำออกจากอ่างทันทีหลังพิธีบัพติศมาแต่ละครั้ง ต้องล็อกประตูห้องอ่างบัพติศมาเมื่อไม่ใช้
18.7.5
ชุดบัพติศมา
ผู้ประกอบพิธีบัพติศมาและผู้รับบัพติศมาสวมชุดขาวที่ไม่โปร่งบางเมื่อเปียกน้ำ ผู้รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วสวมการ์เม้นท์พระวิหารไว้ใต้ชุดนี้ขณะประกอบพิธีบัพติศมา หน่วยท้องที่ซื้อชุดบัพติศมาด้วยเงินงบประมาณและไม่คิดค่าใช้ชุด
18.7.6
พยาน
พยานสองคนที่อนุมัติโดยผู้นำที่เป็นประธานจะสังเกตบัพติศมาแต่ละครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าประกอบพิธีถูกต้อง สมาชิกที่รับบัพติศมาแล้วของศาสนจักร รวมทั้งเด็กและเยาวชน อาจทำหน้าที่พยาน
ต้องทำบัพติศมาซ้ำหากผู้ประกอบพิธีพูดไม่ตรงกับคำที่ให้ไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73 ต้องทำซ้ำหากส่วนใดของร่างกาย ผม หรือชุดไม่จมน้ำจนมิด
18.7.7
คำแนะนำ
เพื่อประกอบศาสนพิธีบัพติศมา ปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค:
-
ยืนในน้ำกับผู้รับบัพติศมา
-
ใช้มือซ้ายของเขาจับข้อมือขวาของผู้รับบัพติศมา (เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย) ผู้รับบัพติศมาใช้มือซ้ายจับข้อมือซ้ายของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต
-
ยกมือขวาทำแขนตั้งฉาก
-
เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับและกล่าว “โดยได้รับมอบหมายจากพระเยซูคริสต์, ข้าพเจ้าให้บัพติศมาท่านในพระนามของพระบิดา, และของพระบุตร, และของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เอเมน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73)
-
ให้ผู้รับบัพติศมาใช้มือขวาบีบจมูกของตน (เพื่อความสะดวก) แล้วผู้ประกอบพิธีใช้มือขวารองหลังผู้รับบัพติศมา และทำให้ผู้รับบัพติศมารวมทั้งชุดบัพติศมาลงไปในน้ำจนมิด การลงไปในน้ำทั้งตัวจะง่ายขึ้นหากผู้รับย่อเข่า
-
ช่วยผู้รับขึ้นมาจากน้ำ
18.7.8
บันทึกบัพติศมา
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการทำบันทึกบัพติศมาใน 18.8.3
18.8
การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
หลังจากรับบัพติศมา บุคคลรับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักรและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการวางมือ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:41; กิจการ 19:1–6) บุคคลกลายเป็นสมาชิกของศาสนจักรหลังจากรับศาสนพิธีครบทั้งสองอย่างและลงบันทึกไว้อย่างถูกต้อง (ดู ยอห์น 3:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:11; 3 นีไฟ 27:20)
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการยืนยันในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.8
อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการยืนยันสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบในวอร์ดของเขา ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจสำหรับการยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดูนิยามของบัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใน 31.2.3.2)
อธิการสอดส่องดูแลการประกอบการยืนยัน โดยปกติเด็กอายุแปดขวบได้รับการยืนยันในวันที่พวกเขารับบัพติศมา ปกติผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรับการยืนยันในการประชุมศีลระลึกในวอร์ดที่พวกเขาอยู่ ถ้าจะให้ดีคือในวันอาทิตย์หลังบัพติศมาของพวกเขา แต่อธิการอาจมีข้อยกเว้นให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรับการยืนยันที่พิธีบัพติศมา
สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการทำตามแนวทางใน 29.2.1.1 เมื่อแนะนำให้รู้จักสมาชิกใหม่
18.8.1
ผู้ประกอบศาสนพิธี
ศาสนพิธีของการยืนยันประกอบโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ผู้ทำหน้าที่กล่าวออกเสียงต้องได้รับอนุมัติจากอธิการ (หรือประธานคณะเผยแผ่หากผู้สอนศาสนาเต็มเวลาประกอบพิธียืนยัน)
เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรเข้าพระวิหารเท่านั้นจึงจะทำหน้าที่กล่าวออกเสียงสำหรับการยืนยัน แต่อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคยืนในวงกลมสำหรับการยืนยันบุตรของเขาแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3)
สมาชิกในฝ่ายอธิการอย่างน้อยหนึ่งคนมีส่วนร่วมในศาสนพิธีนี้ เมื่อเอ็ลเดอร์ผู้สอนศาสนาได้สอนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส อธิการเชิญพวกเขาร่วมการยืนยัน
เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในศาสนพิธีนี้ ผู้อยู่นอกวอร์ดของเขาต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา
18.8.2
คำแนะนำ
ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนขึ้นไปจะมีส่วนร่วมในการยืนยัน พวกเขาวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:
-
เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ
-
กล่าวว่าศาสนพิธีประกอบโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
ยืนยันผู้รับเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย
-
กล่าวว่า “จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (ไม่ใช่ “จงรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์”)
-
ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
18.8.3
บันทึกและใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน
ก่อนเด็กผู้เป็นสมาชิกในบันทึกรับการสัมภาษณ์สำหรับบัพติศมา พนักงานใช้ LCR เตรียม แบบฟอร์มบัพติศมาและการยืนยัน อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์และเซ็นแบบฟอร์ม หลังจากบัพติศมาและการยืนยัน พนักงานใช้แบบฟอร์มนี้อัปเดตบันทึกสมาชิกภาพของเด็กใน LCR
เมื่อผู้สอนศาสนาเต็มเวลาสัมภาษณ์ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสำหรับบัพติศมา เขาใช้แอป Area Book Planner (ABP) กรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยัน หลังจากบัพติศมาและการยืนยัน ผู้สอนศาสนาบันทึกข้อมูลลงใน ABP และส่งให้พนักงานวอร์ดทางอิเล็กทรอนิกส์ พนักงานวอร์ดทบทวนข้อมูลใน LCR และสร้างบันทึกสมาชิกภาพ
หลังจากสร้างบันทึกสมาชิกภาพ พนักงานวอร์ดเตรียมใบสำคัญบัพติศมาและการยืนยัน อธิการเซ็นใบสำคัญนี้และมอบให้สมาชิก
ชื่อบนบันทึกสมาชิกภาพและใบสำคัญต้องตรงกับสูติบัตร ใบแจ้งเกิด หรือชื่อปัจจุบันตามกฎหมาย
18.9
ศีลระลึก
สมาชิกศาสนจักรประชุมกันในวันสะบาโตเพื่อนมัสการพระผู้เป็นเจ้าและรับส่วนศีลระลึก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75; 59:9; โมโรไน 6:5–6) ระหว่างศาสนพิธีนี้ สมาชิกรับส่วนขนมปังและน้ำเพื่อระลึกถึงการพลีพระมังสาและพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดและเพื่อต่อพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา (ดู มัทธิว 26:26–28; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 14:20–25; ลูกา 22:15–20; 3 นีไฟ 18; โมโรไน 6:6) ทุกคนควรแสดงความคารวะระหว่างการให้พรและส่งผ่านศีลระลึก
18.9.1
การอนุมัติให้ปฏิบัติศีลระลึก
อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการปฏิบัติศีลระลึกในวอร์ด ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการเตรียม ให้พร และส่งผ่านศีลระลึกต้องได้รับอนุมัติจากอธิการหรือคนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเขา
หากสมาชิกในวอร์ดของเขาไม่สามารถรับส่วนศีลระลึกเพราะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน ศูนย์ดูแล หรือโรงพยาบาล อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตปฏิบัติศีลระลึกให้สมาชิกเหล่านี้ อธิการอาจมอบอำนาจให้ทำเช่นนี้แม้สมาชิกจะอยู่นอกเขตวอร์ดของอธิการชั่วคราวก็ตาม แต่เขาจะไม่มอบอำนาจให้ปฏิบัติศีลระลึกแก่สมาชิกนอกเขตวอร์ดในสภาวการณ์อื่น
ในสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก อาจไม่มีการจัดศีลระลึกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในสถานการณ์เหล่านี้ อธิการอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่มีค่าควรในวอร์ดเตรียมและปฏิบัติศีลระลึกในบ้านของพวกเขาทุกวันสะบาโต อธิการอาจมอบอำนาจให้พวกเขาเตรียมและปฏิบัติศีลระลึกให้กับสมาชิกวอร์ดที่ไม่มีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตในบ้านด้วย
เมื่ออธิการมอบอำนาจให้เตรียมและปฏิบัติศีลระลึกนอกพิธีมาตรฐานของศาสนจักร จะยังใช้คำแนะนำใน 18.9.2 เกี่ยวกับผู้ประกอบศาสนพิธี
18.9.2
ผู้ประกอบศาสนพิธี
-
ผู้สอน ปุโรหิต และผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะเตรียมศีลระลึก
-
ปุโรหิตและผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะให้พรศีลระลึก
-
มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะส่งผ่านศีลระลึก
เมื่อมีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนมากพอ โดยปกติพวกเขาจะทำหน้าที่เหล่านี้ เมื่อมีมัคนายกไม่พอให้ส่งผ่านศีลระลึก ประธานโควรัมมัคนายกปรึกษากับอธิการเกี่ยวกับคนที่จะเชิญมาช่วย โดยทั่วไป เขาขอให้ผู้สอนและปุโรหิตช่วยก่อนขอเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิต
18.9.3
แนวทางสำหรับศีลระลึก
เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึก ผู้นำฐานะปุโรหิตควรเตรียมอย่างระมัดระวังเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความคารวะ ผ้าปูโต๊ะศีลระลึกควรเป็นสีขาว สะอาด และรีดเรียบ ถาดศีลระลึกต้องสะอาด ถาดและถ้วยศีลระลึกควรสั่งไว้ล่วงหน้า
ผู้ปฏิบัติศีลระลึกควรปฏิบัติด้วยความสง่างามโดยตระหนักว่าพวกเขากำลังเป็นตัวแทนของพระเจ้า ฝ่ายอธิการขอให้ผู้ปฏิบัติศีลระลึกไตร่ตรองการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดขณะเตรียม ให้พร และส่งผ่านศีลระลึก
ผู้ปฏิบัติศีลระลึกควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยและสะอาดหมดจด พวกเขาจะไม่สวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่อาจเบนจากการนมัสการและการทำพันธสัญญาอันเป็นจุดประสงค์ของศีลระลึก หากอธิการจำเป็นต้องแนะนำผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เขาจะทำด้วยความรัก เขาคำนึงถึงวุฒิภาวะของบุคคลในศาสนจักรด้วย
การส่งผ่านศีลระลึกควรเป็นไปตามธรรมชาติและไม่เป็นทางการเกินไป ตัวอย่างเช่น ไม่จำเป็นต้องทำท่าบางอย่าง (เช่นกำมือซ้ายไปด้านหลัง) หรือสร้างภาพลักษณ์บางอย่าง (เช่นแต่งกายเหมือนกัน)
ผู้เข้าร่วมประชุมร้องเพลงสวดศีลระลึกขณะผู้ปฏิบัติฉีกขนมปัง จะไม่ใช้การร้องเดี่ยวหรือเพลงบรรเลงแทนเพลงสวดศีลระลึก จะไม่เล่นดนตรีระหว่างส่งผ่านศีลระลึกหรือทันทีหลังจากนั้น
หากสมาชิกแพ้อาหารหรือกลูเตน พวกเขาพูดคุยกับสมาชิกในฝ่ายอธิการเพื่อดูว่าจะปรับอะไรได้บ้างสำหรับศีลระลึก ฝ่ายอธิการอาจปรับขั้นตอนการปฏิบัติศีลระลึกต่อพวกเขาเมื่อจำเป็น
โดยทั่วไปต้องฉีกขนมปังอันเป็นส่วนหนึ่งของศาสนพิธีศีลระลึก แต่เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของสมาชิก สมาชิกคนนั้นอาจเตรียมขนมปังปลอดกลูเตนหรือสิ่งทดแทนคล้ายขนมปังที่ฉีกแล้วใส่ถุงพลาสติกหรือถ้วยปิดผนึกมาเอง แล้วมอบให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตวางไว้บนถาดแยกต่างหาก ฝ่ายอธิการช่วยให้ผู้ส่งผ่านรู้ว่าจะส่งผ่านขนมปังปลอดสารภูมิแพ้ให้สมาชิกคนใด
ดู disability.ChurchofJesusChrist.org สำหรับแนวทางเกี่ยวกับการแพ้อาหาร
ถึงแม้ศีลระลึกมีไว้สำหรับสมาชิกศาสนจักร แต่ไม่ควรทำสิ่งใดเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้อื่นรับส่วน
18.9.4
คำแนะนำ
-
ผู้เตรียม ให้พร หรือส่งผ่านศีลระลึกล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดก่อน
-
ผู้สอน ปุโรหิต หรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคต้องจัดวางถาดขนมปังที่มีขนมปังยังไม่ได้ฉีก ถาดน้ำที่มีถ้วยน้ำสะอาด และผ้าปูโต๊ะที่สะอาดก่อนการประชุม
-
ขณะสมาชิกวอร์ดร้องเพลงสวดศีลระลึก ผู้จะให้พรศีลระลึกยืนอย่างคารวะ เปิดผ้าคลุมถาดขนมปัง และฉีกขนมปังให้เป็นชิ้นเล็กพอดีคำ
-
หลังจากเพลงสวด ผู้ให้พรขนมปังคุกเข่าและกล่าวคำสวดศีลระลึกสำหรับขนมปัง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77)
-
อธิการต้องแน่ใจว่าผู้สวดศีลระลึกกล่าวชัดเจน ถูกต้อง และด้วยการให้เกียรติ หากผู้สวดกล่าวผิดและแก้ไขด้วยตนเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอีก หากผู้สวดไม่แก้ไข อธิการขอร้องอย่างนุ่มนวลให้เขาสวดอ้อนวอนซ้ำ อธิการใช้ดุลพินิจเมื่อขอให้สวดอ้อนวอนซ้ำ เขาต้องแน่ใจว่าการขอเช่นนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดความอับอายโดยมิควรหรือลดความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนพิธี อีกคนที่โต๊ะศีลระลึกช่วยได้เมื่อจำเป็น
-
หลังจากสวดอ้อนวอน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตส่งผ่านขนมปังให้สมาชิกด้วยความคารวะ ผู้นำที่เป็นประธานรับก่อน หลังจากนั้นไม่ต้องเรียงลำดับ เมื่อยื่นถาดให้สมาชิก พวกเขาอาจส่งต่อให้อีกคน
-
สมาชิกรับส่วนด้วยมือขวาเมื่ออยู่ในวิสัยที่ทำได้
-
เมื่อส่งผ่านขนมปังให้สมาชิกครบแล้ว ผู้ส่งผ่านคืนถาดที่โต๊ะศีลระลึก ผู้ให้พรศีลระลึกปิดผ้าคลุมถาดขนมปังแล้วเปิดผ้าคลุมถาดน้ำ
-
ผู้ให้พรน้ำคุกเข่าและกล่าวคำสวดศีลระลึกสำหรับน้ำ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:79) เขาใช้คำว่า น้ำ แทน เหล้าองุ่น
-
หลังจากสวดอ้อนวอน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตส่งผ่านน้ำให้สมาชิกด้วยความคารวะ ผู้นำที่เป็นประธานรับก่อน หลังจากนั้นไม่ต้องเรียงลำดับ
-
เมื่อส่งผ่านน้ำให้สมาชิกครบแล้ว ผู้ส่งผ่านคืนถาดที่โต๊ะศีลระลึก ผู้ให้พรศีลระลึกปิดผ้าคลุมถาด ผู้ให้พรและส่งผ่านนั่งที่ของตนด้วยความคารวะ
-
หลังการประชุม ผู้เตรียมศีลระลึกทำความสะอาด พับผ้าคลุมโต๊ะ และทิ้งขนมปังที่ไม่ได้ใช้
18.10
การประสาทฐานะปุโรหิตและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง
ฐานะปุโรหิตแบ่งเป็นสองส่วนคือ ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู 3.3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1, 6) เมื่อประสาทฐานะปุโรหิตให้บุคคลหนึ่ง เขาได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตนั้นด้วย หลังจากประสาทฐานะปุโรหิตอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้แล้ว ผู้ชายเพียงต้องได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งอื่นในฐานะปุโรหิตนั้น
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.9
18.10.1
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
ประธานสเตคถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิต แต่ปกติอธิการเป็นผู้เสนอชื่อสำหรับการแต่งตั้งเหล่านี้
18.10.1.1
เอ็ลเดอร์
พี่น้องชายที่มีค่าควรจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ได้เมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป อธิการพิจารณาตามสภาวการณ์ของแต่ละคนว่าเยาวชนชายควรได้รับการเสนอชื่อให้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ทันทีหลังจากวันเกิดปีที่ 18 หรืออยู่กับโควรัมปุโรหิตต่อไป สภาวการณ์เหล่านี้ของเยาวชนชายได้แก่:
-
ประจักษ์พยานและวุฒิภาวะ
-
การสำเร็จการศึกษา
-
ความปรารถนาจะอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน
-
การเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
ในการตัดสินใจเรื่องนี้อธิการปรึกษากับเยาวชนชายและบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเยาวชนชายก่อน ผู้ชายที่มีค่าควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์เมื่ออายุ 19 ปีหรือก่อนพวกเขาออกจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัย รับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา รับราชการทหาร หรือรับงานประจำ
ผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เพิ่งรับบัพติศมาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หลังจากพวกเขา:
-
ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและรับใช้เป็นปุโรหิตแล้ว
-
มีความเข้าใจพระกิตติคุณมากพอ
-
แสดงให้เห็นถึงความมีค่าควรของตน
ไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการเป็นสมาชิกศาสนจักร
18.10.1.2
มหาปุโรหิต
ผู้ชายได้รับแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตเมื่อได้รับการเรียกเป็นฝ่ายประธานสเตค สมาชิกสภาสูง หรือฝ่ายอธิการ พวกเขาอาจได้รับการแต่งตั้งเวลาอื่นด้วยตามที่ประธานสเตคเห็นควรผ่านการพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนและการดลใจ
18.10.1.3
การสัมภาษณ์และการสนับสนุน
โดยได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสเตค อธิการสัมภาษณ์พี่น้องชายตามคำแนะนำในบันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค จากนั้นสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคสัมภาษณ์เขาด้วย ด้วยการอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ ประธานท้องถิ่นอาจสัมภาษณ์พี่น้องชายเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ (ดู 6.3) ดูคำแนะนำเกี่ยวกับการสัมภาษณ์เหล่านี้ใน 31.2.6
หลังการสัมภาษณ์ ฝ่ายประธานสเตคขอให้สภาสูงสนับสนุนการตัดสินใจแต่งตั้งพี่น้องชายคนนี้ สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคเสนอชื่อเขาเพื่อการสนับสนุนในการประชุมใหญ่สเตคภาคทั่วไป (ดู 18.10.3) ด้วยการอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ ประธานท้องถิ่นจะเสนอชื่อพี่น้องชายเพื่อการสนับสนุนให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ (ดู 6.3)
18.10.2
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน
อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน และปุโรหิต โดยปกติพี่น้องชายที่มีค่าควรได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งตามอายุต่อไปนี้ แต่ไม่เร็วกว่านี้:
-
มัคนายกตอนต้นปีที่พวกเขาอายุครบ 12 ปี
-
ผู้สอนตอนต้นปีที่พวกเขาอายุครบ 14 ปี
-
ปุโรหิตตอนต้นปีที่พวกเขาอายุครบ 16 ปี
อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์ผู้จะรับการแต่งตั้งเป็นมัคนายกหรือผู้สอนเพื่อพิจารณาว่าพวกเขาพร้อมทางวิญญาณหรือไม่ อธิการสัมภาษณ์พี่น้องชายผู้จะรับการแต่งตั้งเป็นปุโรหิต
ก่อนการสัมภาษณ์เยาวชนชายเพื่อการแต่งตั้งฐานะปุโรหิต สมาชิกในฝ่ายอธิการขออนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเยาวชนก่อน หากบิดามารดาหย่าร้าง เขาจะขออนุญาตจากบิดาหรือมารดาที่เป็นผู้ดูแลตามกฎหมาย
หากสัมภาษณ์แล้วพบว่าเขามีค่าควร สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเสนอชื่อเขาเพื่อการสนับสนุนในการประชุมศีลระลึก (ดู 18.10.3)
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตั้งพี่น้องชายที่เพิ่งรับบัพติศมาใน 38.2.9.1
18.10.3
การเสนอชื่อสมาชิกให้ได้รับการสนับสนุนก่อนแต่งตั้งเขา
หลังจากสัมภาษณ์และพบว่าพี่น้องชายมีค่าควรได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต เขาจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อการสนับสนุน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:65, 67) สมาชิกในฝ่ายประธานสเตคเสนอชื่อพี่น้องชายที่จะรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตในการประชุมใหญ่สเตคภาคทั่วไป (ดูคำแนะนำสำหรับประธานท้องถิ่นใน 6.3) สมาชิกในฝ่ายอธิการเสนอชื่อพี่น้องชายที่จะรับการแต่งตั้งเป็นมัคนายก ผู้สอน หรือปุโรหิตในการประชุมศีลระลึก
ผู้ดำเนินการสนับสนุนขอให้พี่น้องชายยืนขึ้น เขาประกาศการเสนอให้ประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (หากต้องประสาท) และให้แต่งตั้งพี่น้องชายสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต จากนั้นเขาเชื้อเชิญให้สมาชิกสนับสนุนการเสนอ ตัวอย่างเช่น เพื่อเสนอพี่น้องชายให้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ เขาจะใช้คำพูดดังนี้:
“เราขอเสนอให้ [ชื่อนามสกุล] ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ ผู้เห็นชอบโปรดแสดงให้ประจักษ์โดยยกมือ [หยุดครู่หนึ่ง] ผู้คัดค้าน หากมี โปรดแสดงให้ประจักษ์ [หยุดครู่หนึ่ง]”
ผู้ได้รับการเสนอชื่อจะร่วมออกเสียงสนับสนุนด้วย หากมีการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งคน พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนเป็นกลุ่ม
หากสมาชิกที่อยู่ในสถานะน่าเชื่อถือคัดค้านการแต่งตั้ง ผู้นำที่เป็นประธานหรือผู้นำฐานะปุโรหิตอีกคนหนึ่งที่เขามอบหมายจะพบกับสมาชิกคนนั้นเป็นการส่วนตัวหลังเลิกประชุม ผู้นำพยายามเข้าใจสาเหตุที่สมาชิกคัดค้าน เขาถามว่าสมาชิกทราบเรื่องความประพฤติที่อาจทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติที่จะรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือไม่
เฉพาะสมาชิกในสถานะดีเท่านั้นจึงจะร่วมออกเสียงสนับสนุนได้ อย่างไรก็ดี หากสมาชิกในสถานะดีหรือผู้ไม่เป็นสมาชิกออกเสียงคัดค้าน อธิการหรือประธานสเตคจะรับฟังข้อกังวลของคนนั้นเป็นส่วนตัวหลังเลิกประชุม
ในบางกรณีพี่น้องชายอาจต้องรับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตก่อนจะเสนอชื่อเขาในการประชุมใหญ่สเตค กรณีนี้จะเสนอชื่อเขาเพื่อการสนับสนุนในการประชุมศีลระลึกวอร์ด จากนั้นจะเสนอชื่อเขาในการประชุมใหญ่สเตคครั้งถัดไปเพื่อรับรองการแต่งตั้ง (การปรับขั้นตอนการสนับสนุนอธิบายไว้ข้างต้น) ทั้งนี้รวมถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิกสเตคสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินการด้วย
18.10.4
ผู้ประกอบศาสนพิธี
ประธานสเตคหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของเขาจะแต่งตั้งผู้ชายสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์ โดยได้รับอนุมัติจากประธานคณะเผยแผ่ ประธานท้องถิ่นหรือคนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเขาจะประกอบพิธีแต่งตั้ง (ดู 6.3) เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเท่านั้นจึงจะยืนในวงกลมได้
ประธานสเตคหรือมหาปุโรหิตคนหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของเขาจะแต่งตั้งผู้ชายสู่ตำแหน่งมหาปุโรหิต เฉพาะมหาปุโรหิตเท่านั้นจึงจะยืนในวงกลมได้
บุคคลผู้แต่งตั้งผู้ชายสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะต้องมีค่าควรเข้าพระวิหาร ประธานสเตคหรือผู้ที่เขากำหนดต้องอยู่ที่นั่นด้วย
ปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะแต่งตั้งพี่น้องชายสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน หรือปุโรหิต เขาต้องได้รับมอบอำนาจจากอธิการ อธิการหรือคนที่เขากำหนดต้องอยู่ที่นั่นด้วย
เพื่อมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน บุคคลต้องเป็นปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
อธิการอาจยินยอมให้บิดาผู้เป็นปุโรหิตหรือผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคแต่งตั้งบุตรชายของตนสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน หรือปุโรหิตแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3) อธิการกระตุ้นให้บิดาเตรียมตัวแต่งตั้งบุตรชายของตน
เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในศาสนพิธีนี้ ผู้อยู่นอกวอร์ดของเขาเองต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำที่เป็นประธาน หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา
18.10.5
คำแนะนำ
เพื่อประสาทฐานะปุโรหิตและแต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:
-
เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ
-
กล่าวถึงสิทธิอำนาจที่เขาดำรงอยู่เพื่อประกอบศาสนพิธี (ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค)
-
ประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เว้นแต่ได้รับการประสาทแล้ว
-
แต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และมอบสิทธิ พลังอำนาจ และสิทธิอำนาจของตำแหน่งนั้น (ไม่มอบกุญแจฐานะปุโรหิตเมื่อประสาทฐานะปุโรหิตหรือแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง ยกเว้นเมื่อแต่งตั้งอธิการ)
-
ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
เพื่อแต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหลังจากเขาได้รับการประสาทฐานะปุโรหิตที่เหมาะสมแล้ว ผู้ประกอบศาสนพิธีข้ามขั้นตอน 3
การแต่งตั้งเป็นโอกาสให้พร คำแนะนำและการสอนโดยละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ของบุคคลจะให้ก่อนหรือหลังการแต่งตั้ง คำแนะนำเหล่านั้นไม่ควรเป็นจุดโฟกัสของพร อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีการสวดอ้อนวอน ประจักษ์พยาน หรือการสอนเมื่อแต่งตั้ง
18.10.6
บันทึกและใบสำคัญการแต่งตั้ง
ก่อนผู้ชายได้รับการสัมภาษณ์เพื่อรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค พนักงานใช้ LCR เตรียม บันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์และเซ็นแบบฟอร์มหากบรรลุเงื่อนไขความมีค่าควรทั้งหมด
หลังจากแต่งตั้ง ประธานสเตคหรือตัวแทนที่เขามอบหมายกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วนและมอบให้พนักงาน เขาบันทึกการแต่งตั้งลงใน LCR และเตรียมใบสำคัญการแต่งตั้ง ประธานสเตคเซ็นใบสำคัญนี้และมอบให้บุคคลนั้น
ก่อนสัมภาษณ์พี่น้องชายเพื่อรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พนักงานใช้ LCR เตรียม บันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายดำเนินการสัมภาษณ์และเซ็นแบบฟอร์มหากบรรลุเงื่อนไขความมีค่าควรทั้งหมด
หลังจากแต่งตั้ง อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วนและมอบให้พนักงาน เขาบันทึกการแต่งตั้งลงใน LCR และเตรียมใบสำคัญการแต่งตั้ง
ควรใช้ชื่อตามกฎหมายในปัจจุบันของบุคคลบนบันทึกและใบสำคัญการแต่งตั้ง
18.11
การวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกต่างๆ
สมาชิกที่ได้รับการเรียกและการสนับสนุนสู่ตำแหน่งส่วนใหญ่ในศาสนจักรจะได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้รับใช้ในตำแหน่งนั้น (ดู ยอห์น 15:16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11; ดู 3.4.3.1 ในคู่มือนี้ด้วย) ระหว่างการวางมือมอบหน้าที่ บุคคลได้รับ (1) สิทธิอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกและ (2) คำให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ
ประธานสเตค อธิการ และประธานโควรัมได้รับกุญแจของฝ่ายประธานเมื่อได้รับการวางมือมอบหน้าที่ (ดู 3.4.1.1) แต่จะไม่ใช้คำว่า กุญแจ เมื่อวางมือมอบหน้าที่ให้สมาชิกรับใช้ในการเรียกอื่น รวมทั้งที่ปรึกษาในฝ่ายประธาน
ดูข้อมูลเกี่ยวกับการเรียก การแต่งตั้ง และการวางมือมอบหน้าที่อธิการใน 30.7
18.11.1
ผู้วางมือมอบหน้าที่
การวางมือมอบหน้าที่ทำโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เขาต้องได้รับอนุมัติจากผู้นำที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่เหมาะสม ผู้ได้รับมอบอำนาจให้วางมือมอบหน้าที่มีระบุไว้ใน 30.8 เอ็ลเดอร์จะไม่ทำหน้าที่กล่าวออกเสียงหรือยืนในวงกลมเมื่อวางมือมอบหน้าที่ชายคนหนึ่งสู่ตำแหน่งที่ต้องให้เขาเป็นมหาปุโรหิต
ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำที่เป็นประธาน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นจะมีส่วนร่วมในการวางมือมอบหน้าที่ ประธานรับการวางมือมอบหน้าที่ก่อนที่ปรึกษา
ผู้นำที่เป็นประธานอาจยินยอมให้สามีหรือบิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคยืนในวงกลมสำหรับการวางมือมอบหน้าที่ให้ภรรยาหรือบุตรของเขาแม้บิดาไม่มีค่าควรอย่างเต็มที่ในการเข้าพระวิหาร (ดู 18.3)
18.11.2
คำแนะนำ
ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่ได้รับมอบอำนาจหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:
-
เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ
-
กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
วางมือมอบหน้าที่บุคคลนั้นสู่การเรียกในสเตค วอร์ด โควรัม หรือชั้นเรียน
-
ประสาทกุญแจหากบุคคลควรได้รับกุญแจ
-
ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
การวางมือมอบหน้าที่ไม่ใช่การประชุมอย่างเป็นทางการด้วยการสวดอ้อนวอนหรือประจักษ์พยาน ทั้งไม่ใช่เวลาให้คำแนะนำอย่างละเอียด คำแนะนำเหล่านั้นจะให้ระหว่างการอบรมแต่ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการให้พร
18.12
การทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์
ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคต้องทำให้น้ำมันมะกอกศักดิ์สิทธิ์ก่อนใช้เจิมผู้ป่วยหรือผู้มีทุกข์ (ดู ยากอบ 5:14) จะใช้น้ำมันอื่นไม่ได้
สมาชิกจะไม่บริโภคน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือใช้ทาร่างกายบริเวณที่เจ็บปวด
18.12.1
ผู้ประกอบศาสนพิธี
ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นจะทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิต
18.12.2
คำแนะนำ
เพื่อทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค:
-
ถือขวดน้ำมันมะกอกที่เปิดฝาไว้
-
เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน
-
กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
ทำให้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ใช่ขวดน้ำมัน) และกำหนดไว้สำหรับการเจิมและการให้พรผู้ป่วยกับผู้มีทุกข์
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
18.13
การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย
โดยปกติการปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยจะทำตามคำขอของผู้รับพรหรือตามคำขอของคนที่ห่วงใยเพื่อพรจะเป็นไปตามศรัทธาของพวกเขา (ดู ยากอบ 5:14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 24:13–14; 42:43–44, 48–52)
การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย “โดยการวางมือ” มีสองส่วนคือ การเจิมด้วยน้ำมันและการผนึกการเจิมด้วยการให้พร หากไม่มีน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ อาจให้พรโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคโดยไม่ต้องเจิมน้ำมัน
หากบุคคลขอพรมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความเจ็บป่วยเดิม ไม่จำเป็นต้องเจิมน้ำมันอีก ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสามารถให้พรอีกครั้งโดยการวางมือและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค แต่จะเจิมน้ำมันอีกครั้งก็ได้
ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลจะไม่ขอโอกาสปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย
18.13.1
ผู้ให้พร
เฉพาะผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรเท่านั้นจึงจะปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยหรือผู้มีทุกข์ได้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิต หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจะปฏิบัติและให้พรสมาชิกที่เจ็บป่วยในครอบครัวของตน
โดยปกติผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสองคนหรือมากกว่านั้นจะปฏิบัติและให้พรผู้ป่วย แต่คนหนึ่งอาจทำทั้งการเจิมและการผนึก
18.13.2
คำแนะนำ
การปฏิบัติและให้พรผู้ป่วยมีอยู่สองส่วนคือการเจิมด้วยน้ำมันและการผนึกการเจิม
การเจิมด้วยน้ำมันทำโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคน เขา:
-
หยดน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ลงบนศีรษะผู้รับหนึ่งหยด
-
วางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ
-
กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
กล่าวว่าเขากำลังเจิมน้ำมันที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วสำหรับการเจิมและการให้พรผู้ป่วยและผู้มีทุกข์
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
เพื่อผนึกการเจิม ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นผู้ผนึกการเจิม:
-
เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ
-
กล่าวว่าเขากำลังผนึกการเจิมโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
ให้พรตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
18.14
พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำ รวมถึงพรของบิดา
18.14.1
ผู้ให้พร
ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจให้พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำแก่สมาชิกครอบครัวตลอดจนคนอื่นๆ ที่ขอพร โดยปกติสมาชิกครอบครัว บราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ หรือผู้นำฐานะปุโรหิตจะให้พรเหล่านี้
บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอาจให้พรของบิดาแก่บุตรธิดาของตน พรเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อบุตรธิดาไปเรียนหนังสือ ไปรับใช้งานเผยแผ่ แต่งงาน เข้ารับราชการทหาร หรือประสบความท้าทายพิเศษ บิดามารดากระตุ้นให้บุตรธิดาขอพรของบิดาในยามต้องการ อาจบันทึกพรของบิดาไว้ใช้ส่วนตัว
ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิตเพื่อให้พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำหรือพรของบิดา
18.14.2
คำแนะนำ
เพื่อให้พรของการปลอบประโลมและคำแนะนำหรือพรของบิดา ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นวางมืออย่างแผ่วเบาบนศีรษะผู้รับ จากนั้นคนหนึ่งทำหน้าที่กล่าวออกเสียง:
-
เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้รับ
-
กล่าวว่าเขาให้พรโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
ให้พร ปลอบประโลม และแนะนำตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
18.15
การอุทิศบ้าน
สมาชิกศาสนจักรอาจอุทิศบ้านของพวกเขาโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ไม่ต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือบ้านปลอดหนี้ก็อุทิศได้ บ้านไม่เหมือนอาคารศาสนจักร ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องอุทิศถวายบ้านแด่พระเจ้า
18.15.1
ผู้ทำการอุทิศ
บ้านได้รับการอุทิศโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค หากไม่มีผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคในบ้าน:
-
ครอบครัวอาจเชิญเพื่อนสนิท ญาติ หรือบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมาอุทิศบ้าน บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากผู้นำฐานะปุโรหิต
-
ครอบครัวจะรวมกันและถวายการสวดอ้อนวอนตามที่พระวิญญาณทรงนำ คำสวดอ้อนวอนจะมีองค์ประกอบตามที่กล่าวไว้ใน 18.15.2 ข้อ 3
18.15.2
คำแนะนำ
เพื่ออุทิศบ้าน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่ง:
-
เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน
-
กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
อุทิศบ้านให้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะสถิตได้และกล่าวตามที่พระวิญญาณทรงนำ ตัวอย่างเช่น เขาอาจให้พรบ้านเป็นสถานที่ซึ่งสมาชิกครอบครัวสามารถนมัสการ พบความปลอดภัยจากโลก เติบโตทางวิญญาณ และเตรียมรับความสัมพันธ์ฉันครอบครัวนิรันดร์
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
18.16
การอุทิศหลุมฝังศพ
18.16.1
ผู้อุทิศหลุมฝังศพ
ผู้อุทิศหลุมฝังศพจะต้องดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและได้รับมอบอำนาจจากผู้นำฐานะปุโรหิตที่ดำเนินพิธี
หากครอบครัวเห็นชอบ อาจจะสวดอ้อนวอนข้างหลุมฝังศพแทนการสวดอ้อนวอนอุทิศหลุมฝังศพ จะสวดอ้อนวอนโดยใครก็ได้ที่ครอบครัวเลือก
เพื่อทำหน้าที่กล่าวออกเสียงในการอุทิศหลุมฝังศพ ผู้อยู่นอกวอร์ดต้องแสดงใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันต่อผู้นำฐานะปุโรหิตที่เป็นประธานในพิธี หรือเขาอาจแสดง ใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี ที่เซ็นโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการของเขา
18.16.2
คำแนะนำ
เพื่ออุทิศหลุมฝังศพ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคนหนึ่ง:
-
เอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์เหมือนในการสวดอ้อนวอน
-
กล่าวว่าเขากระทำโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
-
อุทิศและอุทิศถวายที่ฝังให้เป็นที่พักร่างของผู้ถึงแก่กรรม
-
สวดอ้อนวอนให้สถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์และปลอดภัยจนถึงการฟื้นคืนชีวิต (หากเห็นสมควร)
-
ทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงปลอบประโลมครอบครัวและแสดงความคิดตามที่พระวิญญาณทรงนำ
-
จบในพระนามของพระเยซูคริสต์
หากฌาปนกิจร่างของสมาชิกศาสนจักร ผู้นำที่เป็นประธานใช้วิจารณญาณตัดสินใจว่าจะอุทิศสถานที่เก็บอัฐิหรือไม่ เขาคำนึงถึงความประสงค์ของครอบครัว ธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมายในท้องที่ บราเดอร์ผู้ทำหน้าที่กล่าวออกเสียงจะปรับคำแนะนำสำหรับการอุทิศหลุมฝังศพ
18.17
ปิตุพร
สมาชิกทุกคนที่รับบัพติศมาแล้วและมีค่าควรย่อมมีสิทธิ์ได้รับปิตุพรซึ่งให้การนำทางด้วยการดลใจจากพระบิดาบนสวรรค์ (ดู ปฐมกาล 48:14–16; 49; 2 นีไฟ 4:3–11) บิดามารดาและผู้นำศาสนจักรสนับสนุนให้สมาชิกเตรียมทางวิญญาณเพื่อพร้อมรับปิตุพรของตน
อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์สมาชิกผู้ประสงค์จะรับปิตุพร หากสมาชิกมีค่าควร ผู้สัมภาษณ์เตรียมใบรับรองปิตุพร เขาส่งใบรับรองผ่าน ระบบปิตุพร บน ChurchofJesusChrist.org.
ผู้ออกใบรับรองปิตุพรต้องแน่ใจว่าสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอจะเข้าใจความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของพร ตามหลักแล้วสมาชิกควรอายุน้อยพอที่การตัดสินใจสำคัญๆ หลายเรื่องในชีวิตยังอยู่ข้างหน้า แต่ศาสนจักรสนับสนุนให้ผู้ใหญ่ที่อายุมากแล้วไปรับปิตุพรเช่นกัน ผู้นำฐานะปุโรหิตไม่ควรตั้งเกณฑ์อายุต่ำสุดให้สมาชิกไปรับปิตุพร
ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ต้องเข้าใจหลักคำสอนพื้นฐานของศาสนจักรก่อนรับปิตุพร
ดูข้อมูลเกี่ยวกับปิตุพรในสภาวการณ์พิเศษใน 38.2.10
18.17.1
การรับปิตุพร
หลังจากได้รับใบรับรอง สมาชิกติดต่อผู้ประสาทพรเพื่อนัดรับปิตุพร ในวันนัด สมาชิกจะไปพบผู้ประสาทพรด้วยเจตคติที่ดีร่วมกับการสวดอ้อนวอนและแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมือนไปโบสถ์วันอาทิตย์ สมาชิกอาจอดอาหารแต่การอดอาหารไม่ใช่ข้อกำหนด
ปิตุพรของแต่ละคนศักดิ์สิทธิ์ ไม่พึงเปิดเผย และเป็นส่วนตัว ด้วยเหตุนี้จึงให้ปิตุพรเป็นการส่วนตัวแต่อาจให้สมาชิกครอบครัวจำนวนจำกัดอยู่ด้วย
ผู้รับปิตุพรจะจดจำถ้อยคำในปิตุพร ไตร่ตรอง และดำเนินชีวิตให้คู่ควรได้รับพรที่สัญญาไว้ในชีวิตนี้และในนิรันดร
สมาชิกศาสนจักรจะไม่เปรียบเทียบปิตุพรและจะไม่บอกพรนั้นกับใครยกเว้นกับคนสนิทในครอบครัว จะไม่อ่านปิตุพรในการประชุมของศาสนจักรหรือการชุมนุมสาธารณะอื่นๆ
หากปิตุพรไม่ได้ประกาศเชื้อสาย ผู้ประสาทพรจะให้ใบแทรกภายหลังเพื่อประกาศเชื้อสาย
18.17.2
การขอรับสำเนาปิตุพร
ผู้ได้รับปิตุพรแล้วควรเก็บสำเนาที่ได้รับไว้เป็นอย่างดี แต่หากสำเนาหายหรือเสียหาย เขาจะขอสำเนาใหม่ เขาสามารถขอได้ที่ Patriarchal Blessings (ปิตุพร) บน ChurchofJesusChrist.org. หากขอไม่ได้ เขาติดต่ออธิการให้ช่วยเหลือ
18.17.3
ข้อมูลเพิ่มเติม
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปิตุพรใน 38.2.10 และ “ปิตุพร”
18.18
เอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและการผนึก
ดูข้อมูลเกี่ยวกับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารและศาสนพิธีผนึกใน บทที่ 27
18.19
แผนภูมิการแต่งตั้ง
ตำแหน่ง |
เสนอชื่อโดย |
อนุมัติโดย |
สนับสนุนโดย |
สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย |
---|---|---|---|---|
ตำแหน่ง ผู้ประสาทพร | เสนอชื่อโดย ฝ่ายประธานสเตค | อนุมัติโดย โควรัมอัครสาวกสิบสอง | สนับสนุนโดย สมาชิกในการประชุมใหญ่สเตค | สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย ประธานสเตคหลังได้รับอนุมัติจากโควรัมอัครสาวกสิบสอง; หรือสมาชิกท่านหนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดหรือโควรัมอัครสาวกสิบสอง |
ตำแหน่ง มหาปุโรหิต | เสนอชื่อโดย อธิการและฝ่ายประธานสเตค | อนุมัติโดย ฝ่ายประธานสเตคและสภาสูง | สนับสนุนโดย สมาชิกในการประชุมใหญ่สเตค | สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย สัมภาษณ์โดยอธิการและโดยประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย; แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของประธานสเตค |
ตำแหน่ง เอ็ลเดอร์ | เสนอชื่อโดย อธิการ | อนุมัติโดย ฝ่ายประธานสเตคและสภาสูง | สนับสนุนโดย สมาชิกในการประชุมใหญ่สเตคหรือการประชุมใหญ่ท้องถิ่น | สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย สัมภาษณ์โดยอธิการและโดยประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย (ในท้องถิ่นสัมภาษณ์โดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานคณะเผยแผ่หรือโดยประธานท้องถิ่นถ้าได้รับมอบหมาย ดู 6.3) แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของประธานสเตค (ในท้องถิ่น แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของประธานคณะเผยแผ่หรือประธานท้องถิ่นถ้าได้รับมอบหมาย) |
ตำแหน่ง อธิการ | เสนอชื่อโดย ฝ่ายประธานสเตค โดยใช้ LCR | อนุมัติโดย ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง | สนับสนุนโดย สมาชิกในการประชุมศีลระลึก | สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย ประธานสเตคหลังได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุด (ดู 30.7) |
ตำแหน่ง ปุโรหิต | เสนอชื่อโดย อธิการ | อนุมัติโดย ฝ่ายอธิการ | สนับสนุนโดย สมาชิกในการประชุมศีลระลึก | สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย สัมภาษณ์โดยอธิการ; แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ |
ตำแหน่ง ผู้สอนหรือมัคนายก | เสนอชื่อโดย อธิการ | อนุมัติโดย ฝ่ายอธิการ | สนับสนุนโดย สมาชิกในการประชุมศีลระลึก | สัมภาษณ์และแต่งตั้งโดย สัมภาษณ์โดยอธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย; แต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ |