มาระโก 5:21–24, 35–43
พระเยซูคริสต์ทรงรักษาบุตรสาวของไยรัส
พระเยซูทรงทำให้บุตรสาวของไยรัสฟื้นจากคนตาย จุดประสงค์ของบทเรียนนี้คือเพื่อช่วยให้ท่านใช้ศรัทธาและเชื่อในพระคริสต์ในช่วงเวลาของความกลัวและความไม่แน่นอน
ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ในบทเรียนของวันนี้ ท่านจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์แม้ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนและความกลัว นึกถึงสถานการณ์ใดก็ได้ที่อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนหรือความกลัวในชีวิตท่าน เขียนหนึ่งหรือสองอย่างในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน
-
ศรัทธาของท่านระหว่างสถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างไร? เขียนความคิดของท่านในหนึ่งถึงสองประโยค
ขณะท่านศึกษาบทเรียนนี้ ฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านใช้ศรัทธามากขึ้นในพระเยซูคริสต์ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนหรือความกลัว
ใน มาระโก 5 นายธรรมศาลาชาวยิวชื่อไยรัสเผชิญความไม่แน่นอนและความกลัวครั้งใหญ่
อ่าน มาระโก 5:22–24 ค้นหาสิ่งที่ไยรัสประสบอยู่
-
เหตุใดท่านจึงคิดว่าไยรัสเสาะหาพระผู้ช่วยให้รอด?
ขณะพวกเขาเดินทางไปยังบ้านของไยรัส หญิงที่เป็นโรคโลหิตตกแตะต้องฉลองพระองค์ของพระผู้ช่วยให้รอดและหายจากโรค พระเยซูทรงหยุดเพื่อพูดคุยและปลอบโยนหญิงคนนี้ (ดู มาระโก 5:25–34)
-
ท่านจินตนาการว่าไยรัสมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรขณะมองดูพระผู้ช่วยให้รอดกับหญิงคนนี้
อ่าน มาระโก 5:35–36 มองหาสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป
1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:
-
ไยรัสมีทางเลือกอะไรบ้างเมื่อเขาได้รับแจ้งว่าบุตรสาวสิ้นใจแล้ว?
-
ท่านคิดว่าพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 36 ช่วยให้ไยรัสเผชิญความกลัวได้อย่างไร?
-
ท่านรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่จะช่วยให้ท่านเชื่อในพระองค์ แม้ในช่วงเวลาแห่งความกลัว?
ศึกษาส่วนที่เหลือของเรื่องราวด้วยการอ่าน มาระโก 5:37–43 มองหาปาฏิหาริย์ที่ไยรัสเป็นพยานถึงเพราะเขาเลือกที่จะเชื่อ
-
เรื่องราวนี้จะทำให้ศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์เข้มแข็งด้วยวิธีใดบ้าง?
พระเจ้าทรงแนะนำเราไม่ให้กลัว
ตลอดทั่วทั้งพระคัมภีร์พระเจ้าทรงแนะนำเราว่า “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” (มาระโก 5:36) ค้นคว้าพระคัมภีร์หรือการประชุมใหญ่สามัญเพื่อหาข้อพระคัมภีร์หรือข้อความอ้างอิงที่แนะนำเราไม่ให้กลัว ท่านอาจต้องการเชื่อมโยงหรืออ้างโยงข้อพระคัมภีร์และคำปราศรัยการประชุมใหญ่เหล่านี้กับ มาระโก 5:36
-
เหตุใดท่านจึงคิดว่าพระเจ้าทรงแนะนำเราบ่อยครั้งว่าไม่ให้กลัว?
-
ท่านได้รับพรอย่างไรจากการทำตามพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเจ้าว่า “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น”?
2. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:
-
สถานการณ์อะไรบ้างในชีวิตท่านที่พระเจ้าอาจตรัสกับท่าน “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น”?
-
ท่านอาจทำอะไรบ้างเพื่อทำตามพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดว่า “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น”? การกระทำเหล่านั้นจะช่วยท่านเผชิญความกลัวของท่านอย่างไร?
3. ทำสิ่งต่อไปนี้ให้ครบถ้วน:
สร้างรูปภาพที่มีวลี “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” ท่านอาจต้องการเพิ่มวลีอื่นจากพระคัมภีร์หรือคำพูดอ้างอิงที่พบ วางภาพนี้ในที่ซึ่งจะช่วยให้ท่านระลึกว่าท่านจะเชื่อในพระเยซูคริสต์และไม่กลัว
ทางเลือก: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมใช่หรือไม่?
ศรัทธาในพระเยซูคริสต์คืออะไร?
ข้อความอ้างอิงต่อไปนี้จาก Gospel Topics สอนเกี่ยวกับศรัทธาในพระเยซูคริสต์:
การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หมายถึงการพึ่งพาพระองค์อย่างสมบูรณ์—วางใจในเดชานุภาพอันไม่มีขอบเขต พระปรีชาญาณ และความรักของพระองค์ รวมถึงการเชื่อคำสอนของพระองค์ หมายถึงการเชื่อว่าแม้เราไม่เข้าใจทุกสิ่ง แต่พระองค์เข้าพระทัย เพราะพระองค์ทรงประสบความเจ็บปวด ความทุกข์ และความเจ็บป่วยของเรามาแล้วทั้งหมด พระองค์ทรงทราบวิธีที่จะช่วยให้เราอยู่เหนือความยากลำบากในแต่ละวัน
(Gospel Topics, “Faith in Jesus Christ,” topics.ChurchofJesusChrist.org)
สิ่งใดที่จะช่วยให้เราเชื่อและไม่กลัวได้?
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
พระเยซูทรงบอกนายธรรมศาลาว่า “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” (มาระโก 5:36) การเป็นสานุศิษย์คือการเชื่อพระองค์ในยามสงบและเชื่อพระองค์ในยามยากลำบาก เมื่อความเจ็บปวดและความกลัวของเราบรรเทาได้ด้วยการเพียงแต่เชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงรักเราและทรงรักษาสัญญาของพระองค์
(นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “พระคริสต์ทรงคิดอย่างไรด้วยเรื่องฉัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 112)
ความท้าทาย ความยากลำบาก คำถาม ความสงสัย—สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมรรตัยของเรา แต่เราไม่ได้อยู่ตามลำพัง ในฐานะสานุศิษย์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เรามีคลังสะสมพลังทางวิญญาณของความสว่างและความจริง ความกลัวและศรัทธาจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ในวันแห่งความยากลำบากของเรา เราเลือกถนนแห่งศรัทธา พระเยซูตรัสว่า “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” [มาระโก 5:36]
(นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ท่านรู้มากพอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 16)
มีวิธีใดบ้างที่พระเจ้าจะทรงรักษาเราได้?
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า
พรแห่งการรักษาหายเกิดขึ้นในหลายวิธี แต่ละวิธีตามความเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ดังเป็นที่รู้สำหรับพระองค์ผู้ทรงรักเราที่สุด บางครั้ง “การรักษา” เยียวยาความเจ็บป่วยของเราหรือยกภาระไปจากเรา แต่บางครั้งเรา “รักษาหายได้” ด้วยการให้พละกำลังหรือความเข้าใจหรือความอดทนเพื่อแบกภาระที่วางไว้กับเรา
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระองค์ทรงรักษาผู้ที่แบกภาระหนัก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 8)