การเสน่หาเพศเดียวกัน
คนที่ฉันรักเป็นเกย์ ฉันควรทำอย่างไร?


“คนที่ฉันรักเป็นเกย์ ฉันควรทำอย่างไร?“พฤติกรรมเสน่หาเพศเดียวกัน: ครอบครัวและเพื่อน (2020)

“คนที่ฉันรักเป็นเกย์ ฉันควรทำอย่างไร?” พฤติกรรมเสน่หาเพศเดียวกัน: ครอบครัวและเพื่อน

คนที่ฉันรักเป็นเกย์ ฉันควรทำอย่างไร?

เริ่มด้วยความรัก

การพูดถึงพฤติกรรมเสน่หาเพศเดียวกันของใครสักคนอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวและสับสน บุตรธิดา คู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัวของท่านอาจไม่ทราบวิธีพูดคุยเรื่องนี้กับท่าน บางครั้งท่านอาจรู้สึกไม่ดีพอ ถึงแม้ท่านอาจไม่รู้ตลอดเวลาว่าจะตอบสนองความยากลำบากที่สมาชิกในครอบครัวเผชิญอยู่ได้อย่างไร แต่ท่านจะไม่เสียใจที่ได้พยายามหาทางช่วยเหลือด้วยความรักและความเข้าใจ

ท่านจะไม่เสียใจที่พูดว่า “ฉันรักเธอ”

ท่านจะไม่เสียใจที่ได้โอบคนที่ท่านรักและกอดเขาไว้ ท่านจะไม่เสียใจที่ได้ฟัง ท่านจะไม่เสียใจที่พยายามทำความเข้าใจ

หากท่านตอบสนองเกินเหตุ โกรธ หรือพูดสิ่งที่ทำให้ท่านเสียใจ อย่าท้อ นี่เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งในการสนทนาตลอดชีวิต ไม่สายเกินไปที่จะขอโทษ

ถ้าท่านรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสน่หาเพศเดียวกันของคนที่ท่านรักจากผู้อื่น จงอย่าขุ่นเคือง การพูดถึงพฤติกรรมเสน่หาเพศเดียวกันอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวและสับสน คนที่ท่านรักอาจไม่ทราบวิธีพูดคุยเรื่องนี้กับท่าน

เป็นเรื่องธรรมดาที่จะโศกเศร้า ท่านรู้สึกว่าความฝันของการมีครอบครัวที่ “สมบูรณ์แบบ” กำลังเลือนหายไปหรือไม่? ท่านกลัวจะสูญเสียความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นหรือไม่? ท่านกลัวว่าคนที่ท่านรักจะไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยความเมตตาหรือไม่? ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ความโศกเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย

อย่าโทษตัวท่านเองเมื่อคนที่ท่านรักมีพฤติกรรมเสน่หาเพศเดียวกัน ไม่ใช่ความผิดของใคร การตำหนิไม่ใช่เรื่องจำเป็นหรือเป็นประโยชน์

แสวงหาการนำทางฝ่ายวิญญาณ

ในฐานะสมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง คำสวดอ้อนวอนที่ให้ประสิทธิผลน้อยที่สุดคือ “ทำไม?” ที่รองลงมาใกล้เคียงกันคือ “ขอทรงนำสิ่งนี้ออกไปทันที” คำถามที่เป็นประโยชน์ที่สุดที่ท่านถามได้คือ “ทำอย่างไร?” ฉันจะช่วยได้อย่างไร? ฉันจะเป็นกำลังใจให้คนที่ฉันรักตามที่เขาต้องการได้อย่างไร? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้?

แสวงหาความรู้และเรียนรู้ทั้งหมดที่ท่านทำได้ พูดคุยกับอธิการหรือประธานสาขาของท่าน และรับคำแนะนำจากผู้รับใช้ที่ได้รับสิทธิอำนาจของพระเจ้า หากรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือน จงขอพรฐานะปุโรหิตเพื่อช่วยให้ท่านตอบรับความต้องการของคนที่ท่านรัก บางคนพบมุมมองในกลุ่มสนับสนุนหรือจากการเข้าพระวิหาร อันที่จริง ไม่มีสถานที่ใดที่จะพบสันติสุขและมุมมองได้ดีกว่าในพระวิหาร

สร้างความเข้าใจ

อยู่ในแวดวงของคนที่ทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น บางคนห่วงใย บางคนอยากรู้อยากเห็น การตอบคำถามสามารถช่วยให้ท่านสร้างความเข้าใจ แต่ก็อาจทำให้หมดแรงได้เช่นกัน ให้แน่ใจว่าท่านเติมพลังทางวิญญาณด้วยการใช้เวลาอันมีค่าในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่มีใครห่วงใยมากไปกว่าพระบิดาในสวรรค์ของท่าน

การเรียนรู้ที่จะเป็นบิดาหรือมารดาในการเดินทางนี้จะช่วยให้ท่านเติบโตขึ้น ขณะที่ท่านแสวงหาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณ ท่านจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า บุตรธิดา และคู่สมรสของท่านหากมี จงอย่าลืมให้เกียรติสิทธิ์เสรี หากคู่สมรสของท่านไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการสิ่งต่างๆ ของท่าน ให้แก้ปัญหาด้วยความเคารพ หากบุตรธิดาของท่านเลือกสิ่งที่ท่านไม่เห็นด้วย ให้บอกพวกเขาอย่างมีเมตตาว่าท่านรู้สึกอย่างไร อย่าควบคุมหรือชี้นำพวกเขา ให้เวลาพวกเขา และยืนยันความรักที่ท่านมีต่อพวกเขา

สร้างสมดุลระหว่างความรักและกฎ

“ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย พวกเราหลายคน—ไม่ใช่พวกเราทุกคน แต่เป็นพวกเราหลายคน - มีแนวโน้มที่จะยืนกรานในกฎและทำเช่นนั้นด้วยวิธีที่ไร้ความรัก

“ข้าพเจ้าได้รับจดหมายมากมายจากผู้คนที่เสียใจกับการเลือกของบางคนในครอบครัว และพวกเขาพูดว่า “เราจะทำอย่างไรดี?” สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าแนะนำเสมอคือให้รักพวกเขาต่อไป ท้ายที่สุดแล้วนั่นเป็นสิ่งที่ท่านทำได้เสมอ เราต้องคำนึงถึงพระบัญญัติของพระเจ้าซึ่งข้าพเจ้าจะขอเรียกว่ากฎและเป็นพระบัญญัติที่สำคัญให้รักกันและกันด้วย ทั้งสองสิ่งนั้นจะขัดแย้งกันเมื่อคนที่เราคบหาด้วยไม่รักษาพระบัญญัติหรือรักษากฎ ซึ่งทำให้เราคบหาและรักพวกเขาได้ยากขึ้น แต่ถ้าเรายังรักบุคคลนั้นและในขณะเดียวกันก็ยึดมั่นสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นความรับผิดชอบของเราต่อกฎการทำเช่นนั้นจึงอยู่ในวิสัยที่ทำได้ …

“เราไม่ควรเริ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ตัดสินใจเลือกแตกต่างจากที่เราต้องการโดยการโต้เถียงเกี่ยวกับการเลือกของพวกเขา ย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับเราที่จะเริ่มพูดคุยว่า ฉันอยากรู้อะไรทำให้คุณมีความคิดเห็นแบบนั้น? ค่านิยมพื้นฐานของคุณคืออะไร? คุณต้องการบรรลุผลสำเร็จในเรื่องใด? จากนั้นในบริบทดังกล่าวเราสามารถอธิบายได้ว่าเรากังวลเกี่ยวกับพระบัญญัติของพระเจ้าเพราะสิ่งสำคัญสำหรับเราคือการอยู่บนเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์

“เราได้รับพระบัญญัติ เมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติเหล่านั้น เราจะเป็นผู้ที่เชื่อฟัง ผลของการเชื่อฟังพระบัญญัติคือการวางตัวให้สอดคล้องกับกฎนิรันดร์ที่อนุญาตให้เราเติบโตและก้าวหน้าไปสู่ชีวิตนิรันดร์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้ผู้ติดตามพระองค์ ‘รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น’ (ยอห์น 13:34) ด้วยเหตุนี้เราจึงดูว่าพระองค์ทรงรักเราอย่างไร พระองค์ทรงเสียสละพระองค์เองเพื่อเรา พระองค์ทรงห่วงใยแต่ละบุคคลเสมอ พระองค์ทรงเข้าถึงผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะรักกันและกันดังที่พระองค์ทรงรักเราได้อย่างไร ถ้าเราทำให้พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของเรา เราควรพยายามเอื้อมไปรวมทุกคนเข้ามาในกลุ่มเสมอ” (ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Love and Law,” ChurchofJesusChrist.org).

ความรักของพระเจ้าไม่มีข้ออ้างให้แก่บาป—“เราพระเจ้าไม่อาจมองดูบาปด้วยระดับความยินยอมแม้เล็กน้อยที่สุด”—แต่มุ่งหวังจะให้อภัย—“กระนั้นก็ตาม, คนที่กลับใจและทำตามบัญญัติของพระเจ้าจะได้รับการให้อภัย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:31–32) ในทำนองเดียวกัน เราต้องไม่ยอมจำนนในการดำเนินชีวิตและปกป้องพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า แต่สะท้อนความรักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มที่ เราต้องรักกันอย่างเปิดเผยและอย่างสมบูรณ์ด้วยเพื่อจะไม่มีใครรู้สึกถูกทอดทิ้ง เหงา หรือสิ้นหวัง

การพูดถึงภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

ความรู้สึกซึมเศร้าเป็นเรื่องจริง อาจครอบงำและบั่นทอนจิตใจได้ บ่อยครั้งการให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพและการดูแลทางการแพทย์สามารถช่วยให้คนรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้ เมื่อความรู้สึกซึมเศร้านำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย การมีคนพูดคุยด้วยจึงสำคัญมาก ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายมีความเจ็บปวดทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์อย่างรุนแรง มักปลีกตัว และอาจรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีความหวังในอนาคต พวกเขาอาจรู้สึกว่าไม่มีทางอื่นที่จะยุติความเจ็บปวดจนไม่อาจรู้สึกอะไรได้นอกจากการจบชีวิตตนเอง การนึกถึงความตายโดยการฆ่าตัวตายมักจะมีการไตร่ตรอง พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะพยายามทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อฆ่าตัวตาย ในช่วงของการไตร่ตรองนี้ การเข้าไปแทรกแซงสามารถช่วยชีวิตได้

การป้องกันการฆ่าตัวตายเริ่มจากการตระหนักรู้สัญญาณเตือน  

หากดูเหมือนว่าอาจมีใครบางคนตกอยู่ในความเสี่ยง สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนั้น อาจดูอึดอัดหรือบุ่มบ่าม แต่คนที่ซึมเศร้ามักต้องการใครสักคนเพื่อพูดคุยด้วยอย่างมาก ใครสักคนที่ช่วยประมวลความคิดและความรู้สึกได้ การสนทนาเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยาก แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความรู้สึกโดดเดี่ยวและความสิ้นหวังที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย