2021
เราจะมีความหวังและปีติกับโลกที่มืดลงทุกขณะได้อย่างไร?
พฤษภาคม 2021


หาคำตอบ: จากพี่ถึงน้อง

เราจะมีความหวังและปีติกับโลกที่มืดลงทุกขณะได้อย่างไร?

คำถามที่พี่น้องสตรีที่ซื่อสัตย์จำนวนมากเคยถาม รวมทั้งดิฉัน

ภาพ
หญิงสาวเงยหน้ามองตะวันยอแสงสีส้ม

ดิฉันมีนิสัยไม่ดีคือชอบบอกพระบิดาบนสวรรค์ว่าอะไรที่ดิฉันคิดว่าจัดการได้และอะไรจัดการไม่ได้ ดิฉันจำได้ว่าสมัยยังเด็กดิฉันเคยบอกพระองค์ว่าดิฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่ในช่วงวันเวลาสุดท้ายเพราะดิฉันรู้ว่าจะไม่สามารถยืนหยัดในเวลาที่ชั่วร้ายเช่นนั้นได้

ขณะชีวิตดำเนินต่อไป ดิฉันยังอ้างเหมือนเดิมว่าดิฉันจัดการกับความมืดที่เพิ่มขึ้นในโลกไม่ได้

ที่แปลกพอกันคือปิตุพรของดิฉันบอกว่าดิฉันจะพบปีติในชีวิตนี้ ดิฉันสับสนงุนงงบ่อยครั้งว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้ดิฉันพบปีติในโลกที่คนกำลังเลือกสนับสนุนส่งเสริมความชั่วอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้นได้อย่างไร

คนเรา จะพบความหวังหรือปีติอันยั่งยืนในโลกเช่นนี้ได้อย่างไร?

ความไม่เชื่อมโยงอย่างเห็นได้ชัดระหว่างสิ่งที่ปิตุพรบอกดิฉันว่าเป็นไปได้กับสภาพของโลกทุกวันนี้นำดิฉันให้ศึกษาบทบาทของความหวังและปีติในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ความหวัง

เมื่อดิฉันเริ่มเรียนรู้เรื่องความหวัง ดิฉันบังเอิญเห็นข้อความของเอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์ สาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เกียรติคุณ “ความหวังของเราในการชดใช้ [ของพระเยซูคริสต์] ให้พลังแก่เราที่จะมีทัศนะนิรันดร์ ทัศนะเช่นนี้ช่วยให้เรามองไกลกว่าชีวิตนี้และเข้าไปสู่คำสัญญาแห่งความเป็นนิรันดร เราไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในขอบเขตคับแคบของความคาดหวังอันไม่แน่นอนของสังคม”1

ดิฉันตระหนักว่าดิฉันเคยประสบความจริงอันเปี่ยมด้วยพลังนี้มาแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน ก่อนดิฉันจบงานเผยแผ่ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ผู้ก่อการร้ายโจมตีปารีส ทำให้ทุกคนในประเทศอกสั่นขวัญแขวน เมื่อเราพูดคุยกับผู้คนในสัปดาห์หลังจากนั้น พวกเขาถามเราบ่อยครั้งว่าเรายังมีศรัทธาได้อย่างไรในเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงปล่อยให้เรื่องเลวร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้น เราจะแบ่งปันเรื่องราวพระคัมภีร์กับพวกเขา เราสอนเรื่องความรักของพระผู้เป็นเจ้าและแผนแห่งความสุข คนที่สามารถพบความหวังอีกครั้งคือคนที่ฟังข่าวสารของเราและพยายามมีทัศนะนิรันดร์

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “หากไม่มีความหวังในพระคริสต์ ย่อมไม่มีการรับรู้แผนอันสูงส่งสำหรับการไถ่มนุษยชาติ เมื่อไม่มีความรู้ดังกล่าว ผู้คนจึงเชื่อกันอย่างผิดๆ ว่าการดำรงอยู่วันนี้ตามมาด้วยการดับสูญในวันพรุ่งนี้—ว่าความสุขและความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น”2

ถ้าการขาดความหวังในพระคริสต์เป็นเหตุให้เกิดความสิ้นหวังที่เราเห็นบ่อยครั้งในโลกแล้วละก็ การเพิ่มศรัทธาและความหวังของเราในพระคริสต์จะช่วยให้เรามีความหวังมากขึ้นในชีวิตได้อย่างแน่นอน เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองยืนยันดังนี้ “เนื่องจากการฟื้นฟูยืนยันความจริงพื้นฐานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานในโลกนี้ เราจึง สามารถ หวัง เรา ควร หวัง แม้เมื่อเผชิญกับโอกาสที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย”3

บางครั้งการรู้ว่าเราควรวางความหวังไว้ในพระคริสต์ก็ไม่ได้ทำให้ความหวังเช่นนั้นง่ายขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะกับความมืดที่เพิ่มขึ้นในโลกรอบตัวเรา เมื่อดิฉันเริ่มรู้สึกท้อ ดิฉันชอบนึกถึงคำแนะนำที่ปราดเปรื่องนี้จากเควิน เจ. วอร์เธ็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์:

ถ้าเราต้องการเพิ่มพลังความหวังของเรา เราต้องจดจ่ออยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกสิ้นหวัง วิธีเรียบง่ายที่สุดแต่ได้ผลที่สุดวิธีหนึ่งที่เราทำได้คือทำตามแบบอย่างของพระองค์โดยรับใช้ผู้อื่น ขณะทำเช่นนั้น การจดจ่อของเราจะเปลี่ยนจากตัวเราเป็นผู้อื่น และเราจะเริ่มปรารถนาให้พวกเขามีความผาสุก เมื่อนั้นความหวังดังกล่าวจะอยู่คู่กับความเชื่อมั่นว่าพระคริสต์ทรงสามารถช่วยเหลือพวกเขาและพระองค์ทรงสามารถทำเช่นนั้นผ่านเรา การเพิ่มศรัทธาเข้ากับความปรารถนาที่ชอบธรรมของเราเช่นนี้สามารถเปลี่ยนความหวังอันน้อยนิดที่เกิดใหม่ของเราให้เป็นความหวังแบบยั่งยืน มีพลัง และยอดเยี่ยมมากขึ้นซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเรา—และผู้อื่น4

เราสามารถพบความหวังมากขึ้นในอนาคตของเราโดยเพียงทำสิ่งที่นำเราเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลกรอบตัวเราก็ตาม เมื่อเรากระชับความสัมพันธ์กับพระองค์ เราจะหัดมองชีวิตผ่านมุมมองนิรันดร์และรับรู้ว่าความยากลำบากและการทดลองที่เราประสบในชีวิตนี้ “จะอยู่เพียงชั่วครู่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7)

ปีติ

และปีติเล่า? เราไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อจะมีปีติหรือ? (ดู 2 นีไฟ 2:25) เราจะพบปีติได้อย่างไรในเมื่อสิ่งต่างๆ มืดมัวและเรากำลังทำสุดความสามารถเพียงเพื่อให้มีความหวังของอนาคตที่ดีกว่า?

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยนิยาม ปีติ ไว้ว่า “มุมมองพระกิตติคุณของเราช่วยให้เราเข้าใจว่าปีติเป็นมากกว่าความรู้สึกหรืออารมณ์ชั่วประเดี๋ยว แต่เป็นของประทานฝ่ายวิญญาณและสภาวะการเป็นอยู่หรือเปลี่ยนเป็น”5

เมื่อดิฉันได้ยินท่านกล่าวเช่นนี้ ดิฉันเปลี่ยนวิธีค้นหาปีติของตน ก่อนหน้านั้นดิฉันค้นหาความรู้สึกที่มีความสุขแบบบริสุทธิ์ ความรู้สึกที่จะไม่มีวันจากไปและกลบความรู้สึกเศร้าเสียใจและเจ็บปวดจนหมดสิ้น แต่นิยามของเอ็ลเดอร์เบดนาร์เปิดตาให้ดิฉันมองเห็นแนวคิดที่ว่าดิฉันอาจจะไม่ได้กำลังหาปีติที่ได้รับสัญญาเพราะดิฉันค้นหาสิ่งที่ผิด

แทนที่จะค้นหาเพื่อให้ รู้สึก ปีติ ดิฉันควรค้นหาเพื่อ เปลี่ยนเป็นคนมี ปีติ

เราจะเปลี่ยนเป็นคนมีปีติได้อย่างไร? ดิฉันไม่ทราบ

เอ็ลเดอร์เบดนาร์เพิ่มเติมว่า “ปีติมาจากการใช้ศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การรับศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์อย่างมีค่าควรและให้เกียรติอย่างซื่อสัตย์ การมุ่งมั่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดและจุดประสงค์ของพระองค์อย่างลึกซึ้ง”6

ประธานเนลสันสอนเช่นกันว่า

“ปีติที่เรารู้สึกแทบไม่เกี่ยวกับสภาพการณ์ในชีวิต แต่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับสิ่งที่เราให้เป็นศูนย์กลางในชีวิต…

“ปีติเป็นของประทานสำหรับคนซื่อสัตย์ [ปีติ] เป็นของประทานที่มาจากความตั้งใจพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมดังที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน”7

สิ่งนี้จุดประกายความตระหนักรู้ในดิฉันเมื่อดิฉันพบความจริงมากขึ้นเกี่ยวกับที่มาของปีติ

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์หรือ? การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระองค์และจุดประสงค์ของพระองค์อย่างลึกซึ้งหรือ? นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันได้ยินมาตลอดชีวิต เป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนความรู้สึกที่ดิฉันมีต่อการอยู่ในโลกในช่วงเวลามืดมนนี้จริงหรือ?

จริง!

ขณะใคร่ครวญชั่วขณะที่ดิฉันรู้สึกมีความหวังและปีติมากที่สุดในชีวิต ดิฉันตระหนักว่าชั่วขณะส่วนใหญ่เหล่านั้นมักจะเป็นชั่วขณะที่ดิฉันจดจ่อมากที่สุดกับการกระชับความสัมพันธ์กับพระคริสต์และพยายามเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

ถึงแม้จะยังต่อสู้กับชั่วขณะของความโศกเศร้าหรือความสิ้นหวัง แต่ดิฉันมีความหวังและศรัทธาว่าเมื่อดิฉันเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้นเรื่อยๆ พระองค์จะทรงอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยดิฉันในยามอ่อนแอ ดิฉันมีความหวังว่าสักวันดิฉันจะเปี่ยมปีติและเมื่อดิฉันมองหาแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดและพยายามเป็นคนมีปีติแม้ในสภาวการณ์ท้าทาย ดิฉันจะพบปีติที่สัญญาไว้กับดิฉันในปิตุพรและที่สัญญาไว้กับเราทุกคน—ว่า “ปีติของพวกเขาจะเปี่ยมอยู่ตลอดกาล” (ดู 2 นีไฟ 9:18)

อ้างอิง

  1. สตีเวน อี. สโนว์, “ความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 68.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “A More Excellent Hope” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 8 ม.ค. 1995), 5, speeches.byu.edu.

  3. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 83.

  4. เควิน เจ. วอร์เธ็น, “The Process and Power of Hope” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 8 ก.ย. 2020), 4, speeches.byu.edu.

  5. เดวิด เอ. เบดนาร์, “That They Might Have Joy” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 4 ธ.ค. 2018), 4, speeches.byu.edu.

  6. เดวิด เอ. เบดนาร์, “That They Might Have Joy,” 4.

  7. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82.

พิมพ์