2023
เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นโดยการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมษายน 2023


ดิจิทัลเท่านั้น

เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นโดยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การศึกษาเป็นเป้าหมายนิรันดร์เพราะการเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าคือการแสวงหาอันเป็นนิตย์

ภาพ
ชายที่กำลังวิ่งรายล้อมด้วยดาวเคราะห์ หนังสือ และหลอดไฟ

การสำเร็จการศึกษาวิทยาลัยเป็นเรื่องยากสำหรับผม ไม่ใช่เพราะทุกสิ่งที่ผมต้องเสียสละเพื่อยังคงศึกษาในวิทยาลัย แต่เป็นเพราะส่วนหนึ่งในตัวผมเองที่ต้องยอมจากมา ทุกการบรรยายที่น่าทึ่งในแต่ละสัปดาห์ที่ผลักดันให้ก้าวหน้าหรือผลสำเร็จของงานวิจัยที่ยาวนานถึงหนึ่งเดือนทำให้ทุกวินาทีของการเรียนคุ้มค่าในท้ายที่สุด แต่ผมเรียนรู้ว่าการศึกษาของผม—และของท่าน—ไม่จำเป็นต้องสิ้นสุดเมื่อจบการศึกษา

ถ้าเราได้รับปริญญาหลายสิบปีแล้วหรือมีงานที่เราถนัดอยู่แล้ว เราก็สามารถ และควร เรียนรู้ต่อไปเพราะยังมีอะไรมากกว่าที่เราอาจคิดไว้ เมื่อประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดเรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ในวิทยาลัย ท่านรู้สึกหนักใจ ความท้อแท้ทำให้ท่านไม่ศึกษาต่อและคิดที่จะลาออกจากวิทยาลัย

แต่ในคืนหนึ่งท่านเล่าว่า “ความช่วยเหลือมาในรูปแบบเสียง เป็นเสียงจริงๆ ในใจข้าพเจ้า ไม่ใช่เสียงของข้าพเจ้า เป็นเสียงที่อ่อนโยนและเปี่ยมด้วยความรัก—แต่หนักแน่น คำพูดที่เปล่งออกมาคือ: ‘เมื่อเจ้ารู้ว่าเจ้าเป็นใครจริงๆ เจ้าจะเสียใจที่ไม่ได้พยายามมากกว่านี้ ’”1

ความคิดนี้ทำให้ประธานอายริงก์เรียนจบวิทยาลัย ศึกษาต่อปริญญาโท และเป็นครูหลังจากนั้น เราอาจพอใจแล้วกับจุดที่เราอยู่ในการศึกษาหรืองานอาชีพ แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเล็งเห็นศักยภาพในตัวเรา แม้เราไม่ได้สังเกตเห็นเสมอไป เราจะไม่สูญเสียอะไรและได้รับทุกสิ่งโดยมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ความรับผิดชอบของเราในการเรียนรู้

การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงการที่เรา สามารถ มีส่วนร่วมได้ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “เพราะความใส่ใจอันศักดิ์สิทธิ์ของเราต่อสติปัญญาของมนุษย์แต่ละคน เราจึงพิจารณาว่าการได้รับการศึกษาถือเป็นความรับผิดชอบทางศาสนา”2

เหตุใดการได้รับการศึกษามากขึ้นจึงเป็นความรับผิดชอบทางศาสนา? ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:79–80 สอนเราให้ได้รับการศึกษาหลายๆ ด้าน “เพื่อเจ้าจะพร้อมในสิ่งทั้งปวงเมื่อเราจะส่งเจ้าไปอีกเพื่อขยายการเรียกซึ่งในการเรียกนั้นเราเรียกเจ้า, และพันธกิจนั้นซึ่งเรามอบหมายเจ้า” เราสามารถและควรใช้ความรู้ของเราเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่นและช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากนั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรามากและทรงต้องการเห็นเราก้าวหน้า ในฐานะบุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ เรามีความสามารถที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนแผ่นดินโลก นั่นคือกลายเป็นเหมือนพระองค์ เราเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรง “[เป็น] ผู้รอบรู้” (โยบ 37:16) ดังนั้นเป้าหมายสู่ความสมบูรณ์แบบควรรวมถึงการพยายามไปสู่ความรู้อันสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

นิตยสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน กล่าวว่า: “ท่านมีเหตุผลทั้งทางโลกและทางวิญญาณในการแสวงหาและรักการเรียนรู้ การศึกษาไม่ได้เป็นแค่เรื่องการหาเงินเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายนิรันดร์ของท่านในการเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น”3การศึกษาเป็นเป้าหมายนิรันดร์เพราะการเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าคือการแสวงหาอันเป็นนิตย์

หลักการของการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้เป็นโอกาสที่จำกัดเฉพาะผู้ที่สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ถ้าไม่มีการศึกษาในระบบ จงอย่าปล่อยให้สิ่งนั้นมาขัดขวางท่านจากการแสวงหาความรู้ที่ท่านจะหาได้ ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว หนังสือดีที่สุดจะเป็น ‘มหาวิทยาลัย’ ของท่านได้—ชั้นเรียนที่เปิดและให้ทุกคนที่สมัครเข้าเรียนได้ตลอดเวลา”6

หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 สอนดังนี้ “เจ้าจงแสวงหาถ้อยคำแห่งปัญญาจากบรรดาหนังสือดีที่สุด; แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” “หนังสือดีที่สุด” หมายถึงพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และในการเรียนรู้ทักษะและความรู้อื่น เรามักต้องการข้อมูลเชิงลึกจากแหล่งอื่นๆ เช่น หนังสือในห้องสมุดจากผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้ เครื่องมือการเรียนรู้ของวิทยาลัยชุมชน เว็บไซต์การศึกษาออนไลน์ หนังสือพิมพ์ เทศกาลวัฒนธรรมท้องที่ และอื่นๆ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกแหล่งจะให้ข้อมูลที่เป็นจริง ดังนั้นการศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันจะช่วยให้เราเล็งเห็นความจริงในการค้นคว้าอื่นๆ ได้ และเราสามารถแสวงหาพระวิญญาณและใช้ปัญญาเพื่อพิจารณาว่าจะเรียนรู้จากแหล่งใดและข้อมูลใดจากในนั้นที่เป็นความจริง

ใส่ใจใฝ่รู้เกี่ยวกับโลกโดยถามคำถาม มองหาความซับซ้อนและความสวยงามของชีวิตประจำวัน ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดและคริสเต็น ภรรยาของท่านกล่าวว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต … ครอบคลุมถึงความมุ่งมั่นทางศิลปะ ประสบการณ์กับผู้คนและสถานที่ การสนทนากับเพื่อนๆ การไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และคอนเสิร์ต และโอกาสในการรับใช้ เราควรเปิดหูเปิดตาและชอบการเดินทาง”7

ในทุกการเรียนรู้และทุนการศึกษาของเรา เราต้องทูลขอการนำทางจากพระบิดาบนสวรรค์เพราะคำแนะนำของพระองค์ทำให้ความพยายามด้านการศึกษาของเราเป็นประโยชน์มากขึ้น ประธานอายริงก์กล่าวว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นความจริงที่ท่านเรียนรู้ไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงรู้ความจริงทั้งหมด”8 จงมีศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้า (1) ทรงรู้ทุกสิ่งและ (2) ทรงต้องการแบ่งปันความรู้นั้นกับเรา

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าพระบิดาบนสวรรค์ของเรา “ทรงรอโอกาสที่จะตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านและทำให้ฝันของท่านเป็นจริง”9 และสิ่งนี้รวมถึงความฝันของเราด้านการศึกษาด้วย จงวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้และจะทรงนำทางเราไปยังผู้คนและแหล่งช่วยที่เราต้องการและจำเป็นในเวลาที่เหมาะสมตราบใดที่เราแสวงหาและทำตามการเปิดเผย

การเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่ที่อายุใด มีสิ่งอื่นเพิ่มเติมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการสอนเราอยู่เสมอ เราสามารถถ่อมตนพอที่จะตระหนักได้ว่ายังมีสิ่งอื่นอีกมากมายที่เราไม่รู้ และเราสามารถสำนึกคุณต่อโอกาสการเป็นนักเรียนของพระองค์

ความรับผิดชอบของเราในการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรู้ของเรา

วิธีหนึ่งในการแสดงความสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความสามารถในการเรียนรู้คือการใช้ความรู้ที่ได้รับเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น มีบางคนที่ได้รับประโยชน์จากความรู้และประสบการณ์ของเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชมทั่วโลกบนโซเชียลมีเดียหรือครอบครัวข้างบ้านที่กำลังลำบากหรือสมาชิกในครอบครัวที่บ้าน

“พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราเรียนรู้ความคิดของเรา พัฒนาทักษะ และทำให้ความสามารถของเราสมบูรณ์แบบเพื่อให้เราเป็นอิทธิพลที่ดีขึ้นต่อโลก จัดหาเลี้ยงตนเอง ครอบครัวของเรา และคนขัดสน รวมถึงสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”10 ให้พระผู้เป็นเจ้าประทานพรผ่านทุกสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และกำลังเรียนรู้ต่อไป

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเล่าอุปมาเรื่องเจ้านายคนหนึ่งที่ให้เงินตะลันต์แก่บ่าวสามคนก่อนออกเดินทาง บ่าวที่ได้รับห้าตะลันต์และบ่าวอีกคนที่ได้รับสองตะลันต์ต่างเพิ่มกำไรของพวกเขาเป็นสองเท่าก่อนที่เจ้านายจะกลับมา อย่างไรก็ตาม บ่าวคนที่สาม “ไปขุดหลุมและซ่อนเงินของนายไว้” (มัทธิว 25:18)

เมื่อเจ้านายกลับมา เขาชมเชยบ่าวที่ซื่อสัตย์ทั้งสองขณะติเตียนบ่าวที่เกียจคร้าน: “เพราะว่าใครที่มีอยู่แล้วจะให้แก่คนนั้นจนมีอย่างเหลือเฟือ แต่คนที่ไม่มี แม้แต่สิ่งที่มีอยู่ก็จะเอาไปจากเขา” (มัทธิว 25:29)

ไม่ว่าตลอดชีวิตเราจะได้รับความรู้มากน้อยเพียงใด เรามีจุดประสงค์ที่สูงส่งกว่าเสมอในการเป็นพรแก่ผู้อื่นด้วยความรู้นี้ ประธานเนลสันสอนว่า “การศึกษาคือความแตกต่างระหว่างความ ปรารถนา จะช่วยผู้อื่นกับความ สามารถ ช่วยพวกเขาได้”11 เมื่อเราใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อเสริมกำลังพี่น้องของเราและเปิดรับความรู้มากขึ้น เราจะมีความรู้ที่กว้างขวางและประสบการณ์ของเราจะเพิ่มพูน อย่างไรก็ตาม หากเราซ่อนความรู้และเก็บไว้กับตนเอง ความรู้เหล่านั้นจะไม่ช่วยเราให้เป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

เราแสวงหาการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้หลายวิธี เราสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันในชุมชนหรือประเทศของเราเพื่อดำเนินการในเชิงบวกตามความจำเป็น หากคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจเจ็บป่วยเป็นโรคที่เรารู้จักเพียงเล็กน้อย เราสามารถค้นคว้าเพื่อให้ความช่วยเหลือและแสดงความเห็นอกเห็นใจได้ดียิ่งขึ้น เราสามารถใช้ความรู้ของเราเกี่ยวกับพระกิตติคุณและประจักษ์พยานถึงพระคริสต์เพื่อทำให้วันของเพื่อนสดใสขึ้นผ่านข้อความ หากสมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยกว่ามีปัญหากับวิชาที่เรียน เราสามารถแบ่งเวลาเพื่อติวพวกเขา

นอกเหนือจากการมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว เรายังสามารถสนับสนุนผู้อื่นให้ทำเช่นเดียวกัน การช่วยเหลือผู้อื่นในเส้นทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพวกเขาไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเป็นครู แต่อาจหมายถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเรียนรู้ต่อไปด้วยความกระตือรือร้นของเราที่จะทำเช่นนั้น หรืออาจเป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่กับสมาชิกในครอบครัวเพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาสนใจ แม้ว่าเราไม่ได้พยายามเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นด้วยตัวเราเองก็ตาม

อาจเป็นการแสวงหาความช่วยเหลือรอบตัวเราและเรียนรู้กับผู้อื่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หมายถึงการเรียนรู้ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำและแสวงหาการเรียนรู้นั้นตลอดชีวิตของเราเพราะ “สิ่งซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นความสว่าง; และคนที่รับความสว่าง, และดำเนินอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าต่อไป, รับความสว่างมากขึ้น” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:24)

ประธานเนลสันเชื้อเชิญให้เรา “ศึกษาต่อไป … ไม่ว่าท่านตัดสินใจว่าจะสามารถรับใช้ครอบครัวและสังคมของท่านได้ดีที่สุดอย่างไร”12 ไม่มีประสบการณ์ทางโลกสองอย่างหรือการเดินทางเพื่อการศึกษาที่เหมือนกัน แต่ตราบใดที่เรายังคงเรียนรู้และเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เราจะเป็นอิทธิพลที่ไม่เหมือนใครและไม่มีผู้ใดสามารถทำได้

อ้างอิง

  1. Henry B. Eyring, “Learning Who You Really Are” (Ensign College devotional, Nov. 6, 2018), ensign.edu/devotionals.

  2. Russell M. Nelson, “Where Is Wisdom?,” Ensign, Nov. 1992, 6.

  3. เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก (จุลสาร, 2022), 31.

  4. David A. Bednar, “An Apostle Describes a Latter-day Work” (address given at the National Press Club in Washington, D.C., May 26, 2022), newsroom.ChurchofJesusChrist.org.

  5. David A. Bednar, “An Apostle Describes,” newsroom.ChurchofJesusChrist.org.

  6. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “หลักธรรมสองข้อสำหรับเศรษฐกิจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 71.

  7. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ และคริสเต็น เอ็ม. โอ๊คส์, “การเรียนรู้และสิทธิชนยุคสุดท้าย,” เลียโฮนา, เม.ย. 2009, 31.

  8. Henry B. Eyring, “Do What They Think You Can’t Do,” New Era, Oct. 1989, 6.

  9. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยการประทานทั้งหมด,” เลียโฮนา, ก.ค. 2007, 20.

  10. Gospel Topics, “Education,” topics.ChurchofJesusChrist.org.

  11. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ท่านจะเลือกอะไร,” เลียโฮนา, ม.ค. 2015, 20.

  12. Russell M. Nelson, “Where Is Wisdom?,” 6.

พิมพ์