2023
การแบ่งปันพระกิตติคุณด้วย 3 C ของฉัน
กันยายน 2023


ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว

การแบ่งปันพระกิตติคุณด้วย 3 C ของฉัน

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในประเทศบราซิล

ขจัดความเครียดจากการแบ่งปันพระกิตติคุณโดยกำหนดบทบาทและแหล่งที่มาของความสำเร็จภายในตัวท่าน

ภาพ
เทียนสองเล่มที่กำลังลุกไหม้

เป็นระยะเวลา 10 ปีแล้วที่ฉันรับบัพติศมาเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ในทศวรรษที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูกับผู้คนมากมาย—ส่วนใหญ่ผ่านการแบ่งปันพระคัมภีร์มอรมอน เป้าหมายของฉันคือในแต่ละปีฉันจะแจกพระคัมภีร์ 20 เล่ม บางปี เช่น ในปี 2020 ฉันได้รับพรโดยการทำเกินเป้าหมายที่ฉันตั้งไว้

ฉันมักจะชวนเพื่อนที่โบสถ์มาร่วมแบ่งปันพระกิตติคุณกับฉัน แต่เกือบทุกครั้งที่ฉันเชื้อเชิญใครให้แบ่งปันพระคัมภีร์มอรมอนกับเพื่อนๆ และครอบครัว พวกเขามักตอบกลับฉันว่า “แล้วถ้าคนนั้นไม่ยอมรับข่าวสารล่ะ”

หลังจากได้ยินข้อกังวลเดียวกันนี้บ่อยๆ ฉันได้ข้อสรุปว่าบางครั้งสมาชิกของศาสนจักรไม่มั่นใจในบทบาทของตนในการแบ่งปันพระกิตติคุณ แต่ความรู้สึกไม่แน่ใจเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ง่ายหากเราระลึกถึงสิ่งที่ฉันชอบเรียกว่า “3 C” ในการแบ่งปันพระกิตติคุณ

1. แบ่งปัน (Compartilhar ในภาษาโปรตุเกส)

“C” ตัวแรกของฉันกำหนดจุดประสงค์ของเรา ซึ่งก็คือการแบ่งปัน บทบาทของเราคือแบ่งปันปีติที่เรารู้สึกเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู! ผู้คนจำนวนมากจะชื่นชมยินดีมากเช่นเดียวกับเราหากพวกเขาเรียนรู้ความจริงที่ได้รับการฟื้นฟูในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ เราสามารถแบ่งปันความสุขที่พระกิตติคุณนำมาให้เราผ่านการสนทนาแบบสบาย ๆ หรือแม้แต่แบบอย่างประจำวันของเราในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ข้อยืนยันที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราและความรู้สึกของเราเกี่ยวกับพระกิตติคุณในชีวิตของเราคือความเต็มใจที่จะแบ่งปันกับผู้อื่น”1 การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราแบ่งปัน เราสามารถขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้เรามีความกล้าหาญและเต็มใจแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนรอบข้างได้เสมอ และเมื่อเราพยายามให้พระวิญญาณอยู่กับเรา พระองค์จะทรงนำเราไปในทิศทางที่ถูกต้อง

2. เชื้อเชิญ (Convidar ในภาษาโปรตุเกส)

“C” ตัวที่สองของฉันเกี่ยวกับการเชิญชวนผู้คน เมื่อเรามีงานสำคัญ เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน งานรับปริญญา เราเชิญคนมาร่วมงานเพราะเราใช้ช่วงเวลาสนุกๆ นี้ด้วยกัน เราไม่สามารถบังคับให้ใครมาได้ (เราหวังว่าพวกเขาจะมา!) แต่ถ้าเขาไม่มา เราก็ยังเป็นเพื่อนกับเขา และจะยังมีโอกาสอื่นๆ ในอนาคตที่เราจะใช้เวลาร่วมกันได้ การเชื้อเชิญผู้คนให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณไม่แตกต่างกันมากนัก

คนที่เราเชื้อเชิญให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน ไปโบสถ์ หรือน้อมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีสิทธิ์เสรีในการตัดสินใจว่าจะตอบรับคำเชิญของเราหรือไม่ ความสำเร็จของเราไม่ได้วัดจากการตอบสนองของพวกเขา แต่วัดได้จากความตั้งใจของเราที่จะเชื้อเชิญ

ในคู่มือ สั่งสอนกิตติคุณของเรา, ที่เขียนว่า จุดประสงค์ของผู้สอนศาสนาเต็มเวลาคือ “เพื่อ เชื้อเชิญ ผู้คนให้มาหาพระคริสต์”2 ขณะที่เราพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ จะเป็นประโยชน์มากกว่าหากเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อเชื้อเชิญแทนที่จะสนใจว่าผู้คนจะตอบสนองต่อคำเชิญของเราอย่างไร

3. โน้มน้าวใจ (Convencer ในภาษาโปรตุเกส)

“C” ตัวที่สามของการแบ่งปันพระกิตติคุณคือการโน้มน้าวใจ ต่างจาก C สองตัวแรก C ตัวที่สามนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา การโน้มน้าวใจเป็นความรับผิดชอบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู ยอห์น 15:26; 2 นีไฟ 32:5; โมโรไน 10:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:17; โมเสส 1:24) โดยผ่านอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น คนที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยจะเชื่อความจริงอย่างแท้จริง—ตราบเท่าที่พวกเขาได้รับความจริงในใจ (ดู เจคอบ 3:2)

ขณะที่เราพยายามรักษาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา พระองค์จะทรงอยู่กับเราเมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณกับเพื่อนๆ และครอบครัว และจะทรงเป็นพยานถึงความจริงของข่าวสารของเรา

การแบ่งปันพระกิตติคุณเป็นสิทธิพิเศษ

มีหลายวิธีที่เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณ และถึงแม้อาจจะเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เราไม่ต้องกังวลเมื่อพระบิดาบนสวรรค์ทรงอยู่เคียงข้างเรา

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสรุปสิ่งที่เราหลายคนกังวลดังนี้

“ถ้าฉันทำทั้งหมดนี้แล้วผู้คนตอบสนองไม่ดีล่ะ? ถ้าพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศาสนจักร ถ้าพวกเขาเลิกเป็นเพื่อนฉันล่ะ?

“ใช่ สิ่งนั้นอาจเกิดขึ้นได้” เขากล่าว “ตั้งแต่สมัยโบราณ สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์มักถูกข่มเหง [ดู ยอห์น 15:18]

พึงระลึกไว้ว่าพระเจ้าทรงทำงานด้วยวิธีลี้ลับ อาจเป็นไปได้ว่าการตอบสนองเหมือนพระคริสต์ต่อการปฏิเสธอาจทำให้ใจที่แข็งกระด้างอ่อนลงได้ …

“พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักท่าน พระเจ้าทรงรักท่าน พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรท่าน งานนี้ได้รับแต่งตั้งจากพระองค์ ท่านทำได้ เราทุกคนสามารถช่วยกันทำสิ่งนี้ได้”3

เราสามารถขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ในการพยายามรวบรวมอิสราเอลได้เสมอ และผ่านพระผู้ช่วยให้รอด เรามีความหวังได้เสมอว่าสักวันหนึ่งผู้คนจะตอบรับคำเชิญของรา

อ้างอิง

  1. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ได้เวลาแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2000, 75.

  2. สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2019), 144; เน้นตัวเอน

  3. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 18

พิมพ์