จงตามเรามา
หลักธรรมของหลักคำสอนพื้นฐาน


หลักธรรมของหลักคำสอนพื้นฐาน

1. พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์

มีพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์แยกกัน: พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ พระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:1; กิจการ 7:55–56) พระบิดาและพระบุตรทรงมีพระวรกายสัมผัสได้เป็นเนื้อหนังและกระดูก และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีรูปกายเป็นวิญญาณ (ดู คพ. 130:22–23) ถึงแม้พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ทรงเป็นพระสัตภาวะแยกกันชัดเจนที่มีบทบาทแยกกันชัดเจน แต่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวในจุดประสงค์ ทั้งสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์ในการทำให้แผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์บรรลุผลสำเร็จ

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:กาลาเทีย 5:22–23; คพ. 76:22–24

2. แผนแห่งความรอด

ในการดำรงอยู่ก่อนเกิด พระบิดาบนสวรรค์ทรงแนะนำแผนหนึ่งเพื่อให้เราสามารถเป็นเหมือนพระองค์และได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ (ดู โมเสส 1:39) พระคัมภีร์เรียกแผนนี้ว่าแผนแห่งความรอด แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข แผนแห่งการไถ่ และแผนแห่งความเมตตา (ดู แอลมา 42:5, 8, 11, 15) แผนดังกล่าวครอบคลุมการสร้าง การตก การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การฟื้นคืนพระชนม์ การพิพากษาสุดท้าย และกฎ ศาสนพิธี หลักคำสอน และพระบัญญัติทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม ความสามารถในการเลือกและกระทำด้วยตนเอง เป็นส่วนจำเป็นเช่นกันในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ทรงจัดเตรียมพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้นำทางเราในการเลือกของเรา

เนื่องจากแผนแห่งความรอด เราจึงสามารถดีพร้อมได้โดยผ่านการชดใช้ ได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ และมีชีวิตตลอดกาลในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า สัมพันธภาพในครอบครัวสามารถดำรงอยู่ได้ชั่วนิรันดร์

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:ปฐมกาล 1:26–27; 2 นีไฟ 2:25; 31:19–20; โมเสส 6:52–62; อับราฮัม 3:22–26; “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”

3. การชดใช้ของพระเยซูคริสต์

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์เดียวที่สามารถทำการชดใช้อันสมบูรณ์ได้ การชดใช้ของพระองค์รวมถึงการทนทุกข์เพื่อบาปของเราในสวนเกทเสมนี การสิ้นพระชนม์บนกางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์จากอุโมงค์ นอกจากทนทุกข์เพื่อบาปของเราแล้ว พระองค์ทรงรับเอาความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพของเราด้วย (ดู แอลมา 7:11–13) พระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ เนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ ทุกคนจึงจะฟื้นคืนชีวิต (ดู 1 โครินธ์ 15:20–22) คนที่กลับใจ เชื่อฟังพระบัญญัติ รับศาสนพิธีแห่งความรอด และรักษาพันธสัญญาของพวกเขาจะได้รับของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์ (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:3)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:อิสยาห์ 53:3–5; ลูกา 24:36–39; 2 นีไฟ 2:27; 25:23, 26; เจคอบ 4:11; คพ. 18:10–11; 19:16–19; 76:40–41; “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก”

4. สมัยการประทาน การละทิ้งความเชื่อ และการฟื้นฟู

สมัยการประทานคือช่วงระยะเวลาหนึ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยหลักคำสอนพระกิตติคุณ ศาสนพิธี และฐานะปุโรหิตของพระองค์ คือช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงมีผู้รับใช้ที่มีสิทธิอำนาจอย่างน้อยหนึ่งคนบนแผ่นดินโลกผู้ดำรงฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์และมีงานรับผิดชอบจากเบื้องบนให้แจกจ่าย หรือประกาศพระกิตติคุณแก่ผู้อาศัยของแผ่นดินโลก ปัจจุบันเราอยู่ในสมัยการประทานสุดท้าย—สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา (ดู เอเฟซัส 1:10)

การละทิ้งความเชื่อเกิดขึ้นเมื่อผู้คนหันหลังให้หลักธรรมแห่งพระกิตติคุณและไม่มีกุญแจฐานะปุโรหิตอีก (ดู 2 เธสะโลนิกา 2:1–3) ช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อทั่วไปเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของโลก มักตามมาด้วยสมัยการประทานใหม่เมื่อพระเจ้าทรงฟื้นฟูหลักคำสอน ศาสนพิธี และฐานะปุโรหิตของพระองค์ (ดู กิจการ 3:19–21)

การฟื้นฟูหมายถึงการสถาปนาความจริงและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้งท่ามกลางมนุษย์บนแผ่นดินโลก การฟื้นฟูครั้งล่าสุดและครั้งสุดท้าย (มักเรียกว่า “การฟื้นฟู”) เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1820 เมื่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธเพื่อตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–20) ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟู และศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็น “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่แห่งเดียวตลอดทั้งพื้นพิภพ” (คพ. 1:30)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:อิสยาห์ 29:13–14; ดาเนียล 2:44–45; วิวรณ์ 14:6–7

5. ศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผย

ศาสดาพยากรณ์เป็นบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้พูดแทนพระองค์ (ดู อาโมส 3:7) ศาสดาพยากรณ์เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และสอนพระกิตติคุณของพระองค์ เป็นผู้ทำให้รู้ถึงพระประสงค์และพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า บางครั้งพวกท่านพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ให้พูดแทนพระองค์ในสมัยของเรา (ดู คพ. 1:38)

การเปิดเผยคือการสื่อสารจากพระผู้เป็นเจ้าถึงลูกๆ ของพระองค์ เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ต่อศาสนจักร พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ พระคัมภีร์—พระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า—บรรจุการเปิดเผยที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและยุคสุดท้าย ประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกเวลานี้

แต่ละคนสามารถรับการเปิดเผยเพื่อช่วยพวกเขาในความจำเป็นเฉพาะด้าน ความรับผิดชอบ และคำถามของพวกเขาและเพื่อช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขา การเปิดเผยส่วนใหญ่ต่อผู้นำและสมาชิกของศาสนจักรผ่านมาทางความประทับใจและความคิดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับความนึกคิดและจิตใจด้วยสุรเสียงสงบแผ่วเบา (ดู คพ. 8:2–3) การเปิดเผยสามารถผ่านมาทางนิมิต ความฝัน และการเยือนจากเหล่าเทพได้เช่นกัน

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:สดุดี 119:105; เอเฟซัส 4:11–14; คพ. 21:4–6

6. ฐานะปุโรหิตและกุญแจฐานะปุโรหิต

ฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจและพลังอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ชายบนแผ่นดินโลกกระทำแทนพระองค์ มีฐานะปุโรหิตสองอย่างในศาสนจักร แห่งอาโรนและแห่งเมลคีเซเดค (ดู คพ. 107:1, 6) กุญแจฐานะปุโรหิตประทานให้มนุษย์เพื่อกำกับดูแลอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก โดยผ่านกุญแจเหล่านี้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับมอบอำนาจให้สั่งสอน ปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอด และปกครองอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก ทุกคนที่รับใช้ในศาสนจักรได้รับเรียกภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีสิทธิ์รับพลังที่จำเป็นต่อการรับใช้และทำความรับผิดชอบในการเรียกของพวกเขาให้เกิดสัมฤทธิผล

โดยผ่านฐานะปุโรหิต พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างและทรงปกครองฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก โดยผ่านอำนาจนี้พระองค์ทรงไถ่และทรงยกลูกๆ ของพระองค์ขึ้นสู่ความสูงส่ง พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรเพื่อพวกเขาจะสามารถกระทำในพระนามของพระองค์เพื่อความรอดของลูกๆ พระองค์ พรของฐานะปุโรหิตมีให้ทุกคน—ชาย หญิง และเด็ก

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:มัทธิว 16:19; คพ. 13; 50:26–27; 84:19–20, 33; 107:8; 121:36, 41–42

7. ศาสนพิธีและพันธสัญญา

ศาสนพิธีเป็นการกระทำตามรูปแบบที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายทางวิญญาณ ศาสนพิธีแต่ละอย่างสอนความจริงทางวิญญาณ ศาสนพิธีประกอบโดยผู้มีสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีบางอย่างจำเป็นต่อความสูงส่งและเรียกว่าศาสนพิธีแห่งความรอด อาทิ บัพติศมา (ดู ยอห์น 3:5; ต่อพันธสัญญาโดยศาสนพิธีศีลระลึก) การยืนยัน (ดู กิจการ 2:36–38) และการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสำหรับผู้ชาย (ดู คพ. 84:33–34) ศาสนพิธีแห่งความรอดอื่นๆ —เอ็นดาวเม้นท์และการผนึกการแต่งงาน—ประกอบในพระวิหารเท่านั้น พระวิหารเป็นหนึ่งในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบนแผ่นดินโลก เป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า ศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมดสามารถประกอบแทนคนตายในพระวิหารได้เช่นกัน ศาสนพิธีแทนคนตายมีผลก็ต่อเมื่อผู้ล่วงลับยอมรับศาสนพิธีเหล่านั้นในโลกวิญญาณและให้เกียรติพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง (ดู คพ. 138:32–34, 58)

ศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมดของฐานะปุโรหิตมาควบคู่กับพันธสัญญา พันธสัญญาคือข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าประทานเงื่อนไขสำหรับพันธสัญญาและเรายินยอมทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาเราถึงพรบางประการสำหรับการเชื่อฟังของเรา ศีลระลึกยอมให้เราต่อพันธสัญญาที่เราทำไว้กับพระเจ้า

ศาสนพิธีอื่นๆ เช่น การปฏิบัติต่อผู้ป่วย การตั้งชื่อและให้พรเด็ก มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางวิญญาณของเราเช่นกัน

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:อพยพ 19:5–6; เอเสเคียล 11:20; 1 โครินธ์ 15:29; แอลมา 30:3; คพ. 42:78; 82:10; 136:4; หลักแห่งความเชื่อ 1:3, 4

8. การแต่งงานและครอบครัว

การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า และครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนแห่งความรอดและความสุขของพระองค์ (ดู ปฐมกาล 2:24) บิดามารดาพึงขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลก เลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม จัดหาปัจจัยสนองความต้องการทางร่างกายและทางวิญญาณ สามีและภรรยามีความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกัน ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากเกิดขึ้นได้เมื่อมีรากฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เช่น ศรัทธา การสวดอ้อนวอน การกลับใจ การให้อภัย ความเคารพ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การทำงาน และกิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม (ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:สดุดี 127:3; คพ. 131:1–4; 132:15–20

9. พระบัญญัติ

พระบัญญัติคือกฎและข้อกำหนดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์ เมื่อเรารักษาพระบัญญัติ เราแสดงความรักต่อพระเจ้าและได้รับพรจากพระองค์ (ดู เลวีนิติ 26:3–12; ยอห์น 14:15; โมไซยาห์ 2:41) เราได้รับบัญชาให้รักพระผู้เป็นเจ้าสุดใจ จิตวิญญาณ และความนึกคิดของเรา และมีความรักให้ผู้อื่นเฉกเช่นพระคริสต์ (ดู มัทธิว 22:36–39; ยอห์น 13:34–35)

พระบัญญัติสิบประการเปิดเผยต่อโมเสสในสมัยโบราณและยังคงสำคัญยิ่งในปัจจุบัน (ดู อพยพ 20:3–17) ครอบคลุมถึง การรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ (ดู อพยพ 20:8–11; อิสยาห์ 58:13–14; คพ. 59:9–13) การรักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ (ดู อพยพ 20:14; ปฐมกาล 39:7–9; แอลมา 39:9) และการเป็นคนซื่อสัตย์ (ดู อพยพ 20:16) ตัวอย่างของพระบัญญัติอื่นๆ ได้แก่ การจ่ายส่วนสิบเต็ม (ดู มาลาคี 3:8–10) การอดอาหาร (ดู อิสยาห์ 58:6–7) การสวดอ้อนวอน (ดู 3 นีไฟ 18:15, 20–21; คพ. 10:5)และการถือปฏิบัติพระคำแห่งปัญญา (ดู คพ. 89:18–21)

เราได้รับบัญชาเช่นกันให้เป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ในความปรารถนา ความคิด คำพูด และการกระทำของเรา (ดู 3 นีไฟ 12:48) พระเจ้าประทานความจริงนิรันดร์ หรือหลักธรรมแก่เราเพื่อช่วยปกครองการตัดสินใจและการกระทำของเรา หลักธรรมเหล่านี้นำเราให้ดำเนินชีวิตเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดและได้รับพรที่พระองค์ทรงสัญญาไว้

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:ยากอบ 1:5–6; 2 นีไฟ 32:8–9; โมไซยาห์ 4:3; แอลมา 37:35; คพ. 82:8–10; 105:5; 121:36; 130:18–19; 138:4