2021
ไม่มีอุปสรรค
เมษายน 2021


“ไม่มีอุปสรรค” เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน, เม.ย. 2021, 14–17

ไม่มี อุปสรรค

ชายหนุ่มสองคนจากวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาพบวิธีรับใช้แม้มีข้อจำกัดทางกาย

ภาพ
ชายหนุ่ม

ภาพถ่ายเมือง จาก Getty Images

ออสติน นิกเคิลเริ่มเรียนภาษามือเมื่ออายุ 18 ปี เขาเริ่มเข้าร่วมการประชุมของสาขาคนหูหนวกในท้องที่และลงชื่อเข้าเรียนที่วิทยาลัยชุมชนด้วย แต่ออสตินไม่ได้หูหนวก

“ผมเกิดมาพร้อมกับภาวะบกพร่องในการพูด” ออสตินกล่าว “ผมไม่กล้าพูดมากมาตลอดชีวิตผมเพราะผมพูดติดอ่างและพูดตะกุกตะกัก [ไม่สามารถพูดครบทุกเสียงให้คนอื่นเข้าใจได้ชัดเจน] แต่ผมไม่ใช่คนเขินอาย ผมชอบเข้าสังคม ผมแค่ไม่พูดมากเท่าคนอื่น”

บางครั้งออสตินต้องใช้หลายนาทีกว่าจะพูดสิ่งที่คนอื่นพูดในไม่กี่วินาทีออกมาได้ แต่นั่นไม่เคยทำให้เขาหยุดมองในแง่ดีและมีส่วนร่วมเต็มที่ในโรงเรียนและที่โบสถ์ แม้บางครั้งเขาอาจจะรู้สึกกลัว แต่เขาก็กล้าแสดงออก

“เขาไม่กลัว” รอดเจอร์ พิกเคทท์อธิการวอร์ดบ้านของออสตินกล่าว

“ผมเคยเป็นครูเซมินารีของเขา เขาไม่กลัวทั้งที่รู้ว่าเขาอาจจะถูกล้อ และมีสมาชิกในชั้นเรียนที่กรอกตาไปมาด้วยความรำคาญ แต่เขากล้ามีส่วนร่วม ตอบคำถามบ่อยๆ สวดอ้อนวอน และทำอีกหลายอย่างในชั้นเรียน”

เป็นอย่างนั้นจริงๆ ออสตินไม่เพียงกล้าเท่านั้นแต่ใจดีด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรได้ง่ายๆ

ถูกเรียกให้รับใช้

การรับใช้งานเผยแผ่เป็นอะไรที่ออสตินรู้ว่าจะมีความท้าทาย

“เมื่อผมนึกถึงการรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา” ออสตินบอก “ผมรู้ว่าผมจะประสบความสำเร็จกับงานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ แต่ผมอยากรับใช้งานเผยแผ่ศาสนาเต็มเวลา อย่างไรก็ดี ผมรู้ว่าไม่ว่าพระเจ้าทรงเรียกผมไปที่ใด พระองค์จะทรงใช้ผมได้ดีที่สุดที่นั่น”

สำหรับออสติน ก็เหลือแค่เรื่องของการคิดหาวิธีที่ดีที่สุด

วันอาทิตย์วันหนึ่ง ทิศทางชัดเจนขึ้นมาบ้าง ประธานสเตคของออสตินมาเยี่ยมวอร์ดของออสติน และออสตินให้พรศีลระลึก ก่อนจบคำสวดอ้อนวอน ทั้งประธานสเตคและอธิการพิกเคทท์ได้รับการกระตุ้นเตือนเหมือนกัน

“เราหันมามองหน้ากันด้วยความคิดเหมือนกัน” อธิการพิกเคทท์กล่าว “เขาควรเรียนภาษามือ!”

ทันทีที่อธิการพิกเคทท์และประธานแม็คคอลล์บอกความรู้สึกของตน ออสตินพูดว่า “ผมไม่กังวลอีกแล้วกับการไปเป็นผู้สอนศาสนา ผมรู้ว่าผมต้องการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาที่ใช้ภาษามืออเมริกัน

ออสตินเริ่มเข้าร่วมการประชุมของสาขาคนหูหนวกแล้วเรียนภาษามือที่วิทยาลัยชุมชนในท้องที่ แน่นอนว่าไม่มีอะไรรับประกัน แต่เขาหมั่นฝึกฝนและเตรียมตัวให้พร้อมเผื่อพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เขารับใช้ในคณะเผยแผ่ที่ใช้ภาษามืออเมริกัน

วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2019 ออสตินได้รับหมายเรียกเป็นผู้สอนศาสนา—คณะเผยแผ่ที่ใช้ภาษามืออเมริกันในฟีนิกส์ แอริโซนา สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาสองปี

“ผมอยากให้คุณได้เห็นสีหน้าของเขา” อธิการพิกเคทท์กล่าว “ความปีติยินดี ความปีติยินดีอย่างแท้จริง เขากำลังใช้ภาษามือและคุณแม่ของเขาเป็นล่ามขณะเขาเปิดอีเมล เขาโห่ร้อง … พร้อมกับชูกำปั้นด้วยความดีใจ”

“ผมตื่นเต้น” ออสตินบอก “น่าตื่นเต้นที่มีหลายวิธีให้รับใช้”

ภาพ
ผู้สอนศาสนา

เอ็ลเดอร์ออสติน นิกเคิลกับคู่คนแรกของเขา

ภาพ
ผู้สอนศาสนา

“พระเจ้าทรงมีคณะเผยแผ่เพื่อคุณที่ซึ่งคุณจะสร้างความแตกต่างได้”

ภาพ
ผู้สอนศาสนา

การตอบรับที่อบอุ่นสู่คณะเผยแผ่ในฟีนิกส์ แอริโซนา!

พบกับโดโนแวน

ภาพ
ชายหนุ่ม

โดโนแวน โซเรนเซ็นเกิดมาพร้อมกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการที่ร่างกายผลิตโปรตีนไม่พอสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ เขาได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 7 ขวบ “ผมเดินได้จนถึงอายุ 11 ขวบ” โดโนแวนบอก “แต่จากนั้นผมก็นั่งเก้าอี้เข็นตลอด”

โดโนแวนใช้เวลานานกว่ามากในการทำเรื่องปกติทั่วไปเช่น ลุกจากเตียง แต่งตัว หรือเตรียมอาหาร

“ผมเรียนรู้ว่าอย่ามองข้ามคุณค่าของสิ่งต่างๆ” โดโนแวนกล่าว “โรคนี้ทำให้ผมชื่นชมคนที่อาจทำสิ่งเหล่านี้ได้ยากกว่าผม”

คุณแม่ของโดโนแวนบอกว่า “แม้จะมีข้อจำกัดทางกาย แต่เขาไม่เคยปล่อยให้สภาพของตัวเองขัดขวางไม่ให้เขาทำสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เขาแสดงความกล้าหาญมากขณะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เขามีความเชื่อมั่นในตนเองแบบเงียบๆ และรับได้ที่เขาแตกต่าง”

ภาพ
ผู้สอนศาสนา

โดโนแวนเข้าร่วมโปรแกรมลูกเสือ

ภาพ
ผู้สอนศาสนา

ชอบนั่งเรือข้ามฟากวอชิงตัน

รับใช้ในพระนิเวศน์ของพระเจ้า

“งานเผยแผ่ศาสนาเต็มเวลาไม่ได้เป็นตัวเลือกของผมตั้งแต่แรก” โดโนแวนบอก “และผมไม่เป็นไรกับเรื่องนั้น ผมยอมรับ”

แต่จากนั้นโดโนแวนกับครอบครัวได้ยินเรื่องงานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์

“เราติดต่อผู้ประสานงานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ระดับภาคของเรา เราบอกเขาว่าผมจะทำอะไรได้บ้าง” โดโนแวนกล่าว “เขาช่วยผมหาโอกาสที่เหมาะสม จากตรงนั้น เขาทำงานกับประธานสเตคและอธิการเพื่อดำเนินขั้นตอนให้แล้วเสร็จ”

ไม่นานนักโดโนแวนก็ได้ส่งใบสมัคร เขาได้รับหมายเรียกให้รับใช้งานเผยแผ่ในพระวิหารซีแอตเทิล วอชิงตัน หลังจากนั้นเขาได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้ทำงานในพระวิหารสัปดาห์ละห้าวัน

“ตอนแรกผมกังวลนิดหน่อย เราพบกับประธานพระวิหารและผู้บันทึกหนึ่งสัปดาห์ก่อนผมเริ่มงาน ผมได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ศาสนพิธี และผู้บันทึกให้ผมดูบางอย่างที่ผมจะทำ ผมจึงคลายกังวลไปได้มาก เมื่อเริ่มงาน ผมไม่กังวลเลย ผมรักงานนั้นทุกนาที”

แต่การรับใช้ของเขาไม่ได้มาแบบไม่มีการเสียสละและความท้าทาย

“การตื่นนอนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ผมแค่ต้องไม่เข้านอนดึกเกินไป โดยปกติผมจะตื่นง่ายมาก ไปพระวิหาร และทำทุกอย่างที่พวกเขาต้องการให้ผมทำ” แต่การตื่นเช้าเป็นแค่การเริ่มต้น ความท้าทายต่อไปคือป้ายรถเมล์ ที่นั่นโดโนแวนจะรอขึ้นรถเมล์ไปและกลับจากพระวิหาร เขาเดินทางวันละประมาณสามชั่วโมงและบางครั้งนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

“เขาไม่ได้มองเรื่องพวกนี้ว่าเป็นการเสียสละ” คุณแม่ของเขากล่าว “เขาไปไม่ว่าฝนตก หิมะตก หรือแดดออก เขาไม่อยากขาดแม้แต่วันเดียว เพราะเขารู้ว่าคนที่นั่นเชื่อใจเขา และเขารู้ว่าการรับใช้ของเขาสำคัญมาก”

“ผมชอบช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่าเราต้อนรับ” โดโนแวนกล่าว “มีคนมาขอบคุณการรับใช้ของผมเยอะมาก และถึงแม้ผมจะทำบางสิ่งที่เจ้าหน้าที่ศาสนพิธีคนอื่นๆ ทำได้ แต่ผมรู้สึกดีที่รู้ว่าผมช่วยทำให้พวกเขามีความสุข”

โดโนแวนกับออสตินอาจไม่ได้รับใช้ในวิธีที่พวกเขาวางแผนไว้แต่แรก แต่ทั้งคู่กำลังรับใช้ในวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการให้พวกเขารับใช้—ในวิธีของพระองค์

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

พิมพ์