“วิธีสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของท่าน” เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ธ.ค. 2021
จงตามเรามา
“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”
วิธีสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของท่าน
ท่านสามารถสร้างความแตกต่างให้บ้านของท่านได้มากกว่าที่ท่านอาจคิดไว้
หากพูดถึงการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของท่าน การบ้านบางอย่างก็ไม่น่าจะยากลำบากเกินไป นั่นคือจงสนุกไปด้วยกัน! อันที่จริงคำแนะนำนี้มาโดยตรงจาก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ที่เผยแพร่โดยฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครสาวกสิบสอง
การเข้าร่วม “กิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม” เป็นครอบครัวคือหนึ่งในรายการสิ่งที่สามารถทำให้ครอบครัวของท่านเข้มแข็งและประสบความสำเร็จได้ และยังมีอีกแปดอย่างในรายการเดียวกันนี้ แต่เรามากล่าวถึงรายการนี้มากขึ้นสักนิดดีกว่า
กิจกรรมนันทนาการที่ดีงามช่วยทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้นและช่วยฟื้นฟูพลังงานของเรา
ผู้บุกเบิกศาสนจักรในยุคแรกๆ ทราบถึงความสำคัญของนันทนาการเพื่อสร้างสมดุลในวันที่ยากลำบาก ครอบครัวต่างๆ มักฉลองด้วยดนตรีและการเต้นรำเพื่อปลุกขวัญกำลังใจ แม้ภายหลังจากเดินมาทั้งวัน
ต่อไปนี้คือเรื่องราวสั้นๆ ของผู้บุกเบิกนิรนามผู้หนึ่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัตินี้ “ไม่ว่าการเดินทางจะยากลำบากเพียงใดในระหว่างวัน เมื่อถึงเวลาพลบค่ำและมีการตั้งที่พักแรม เมื่อมีการรับประทานอาหารมื้อค่ำ ก็พลันลืมความอ่อนล้าของวันนั้นเมื่อได้เต้นรำ”1
ท่านได้รับมอบหมายการบ้านของท่านแล้ว นั่นคือสนุกกับครอบครัวของท่าน! แล้วท่านรออะไรหรือ?
แน่นอนว่าในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวก็ได้ระบุข้ออื่นๆ ที่ช่วยครอบครัวได้ มีข้อหนึ่งที่สอดคล้องกับกิจกรรมนันทนาการที่ดีงามอย่างลงตัว นั่นคืองาน
งาน
เดี๋ยวก่อน ทำงานหรือ? สิ่งนั้นตรงกันข้ามกับความสนุกมิใช่หรือ? ใครบางคนอาจจะอยากถามว่า “ประสบการณ์ ทั้งสองอย่าง นี้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของท่านได้อย่างไร?”
ลองนึกถึงมะนาวและน้ำตาล ทั้งสองสิ่งรสชาติไม่เหมือนกันเลย แต่เมื่อท่านใส่ทั้งสองสิ่งลงไปในน้ำ ท่านจะได้น้ำมะนาว
ในการประชุมใหญ่สามัญเกี่ยวกับความสำคัญของการทำงานหนัก เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงวิธีที่หลักธรรมสองข้อนี้สอดคล้องกัน
“เมื่อพูดถึงประโยชน์ของการทำงานแล้วก็ต้องพูดถึงข้อดีของเวลาว่างด้วย” ท่านกล่าว “การตรากตรำงานหนักให้ความชื่นบานในยามได้พักผ่อนเฉกเช่นนันทนาการที่ดีเป็นเพื่อนและมิตรแท้ของการทำงาน”2.
หากไม่มีการทำงาน เราก็ไม่สามารถกิน มีที่คุ้มภัย หรือทำอะไรก็ตามให้สำเร็จได้ การทำงานยังนำมาซึ่งจุดประสงค์ในชีวิตของเราที่เราไม่สามารถหามาได้ด้วยวิธีอื่น เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยสอนว่า “งานเป็นความจำเป็นทางวิญญาณ ถึงแม้ว่าในบางครั้งงานจะไม่ใช่ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ”3
การทำงานเป็นครอบครัวอาจหมายถึงการทำงานบ้านให้เสร็จ การรับใช้ผู้อื่น หรือแม้แต่หารายได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดล้วนทำให้ท่านมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเติบโตขึ้นมาในบ้านพร้อมกับวิถีชีวิตที่สะดวกสบาย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น ทำให้ครอบครัวของท่านสูญเสียทุกอย่างและกลายเป็นผู้ลี้ภัย
แต่พวกเขาร่วมแรงร่วมใจกัน! เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลานั้น เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟ (เวลานั้นเป็นประธานอุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด) กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังประทับใจอย่างมากจนถึงทุกวันนี้ถึงวิธีที่ครอบครัวข้าพเจ้าทำงานหลังจากสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2! ข้าพเจ้าจำได้ว่าคุณพ่อ … ทำงานยากๆ หลายอย่าง … คุณแม่เริ่มรับจ้างซักรีดและทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงในงานที่ใช้แรงงานนี้ ท่านเกณฑ์ให้พี่สาวและข้าพเจ้าช่วยในธุรกิจของท่าน ข้าพเจ้าใช้จักรยานรับส่งเสื้อผ้า ข้าพเจ้ารู้สึกดีที่สามารถช่วยครอบครัวในวิธีเล็กๆ น้อยๆ”4
การทำงานหนักนำมาซึ่งพร ความพึงพอใจ และแน่นอนว่าความสนิทสนมเป็นครอบครัว
การเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวของท่าน
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสองข้อจากคุณลักษณะเก้าข้อในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ขณะที่เราพิจารณาอีกเจ็ดข้อที่เหลืออย่างสั้นๆ ท่านอาจจดหนึ่งหรือสองข้อจากเก้าข้อที่ท่านคิดว่าสามารถทำได้ในตอนนี้เพื่อช่วยให้ครอบครัวของท่านเข้มแข็งขึ้น
_____________________________________________________________________________________________________________
ศรัทธา
ในพระกิตติคุณ ที่ด้านบนสุดของรายการ หลักธรรม ประการแรก ของพระกิตติคุณ คือ “ศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์” (หลักแห่งความเชื่อ 1:4)
ยิ่งครอบครัวของท่านดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มากเท่าใด ท่านก็จะยิ่งสามารถดึงดูดความช่วยเหลือจากสวรรค์มาสู่บ้านของท่านได้มากเท่านั้น สิ่งนี้เป็นความจริงแม้ว่าท่านจะเป็นเพียงผู้เดียวที่ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณในบ้านของท่าน แสงสว่างของพระคริสต์สร้างความแตกต่างอันทรงพลังให้แก่ผู้ที่สัมผัสแสงนั้น
ทำหน้าที่ของท่านเพื่อนำศรัทธาที่เพิ่มขึ้นมาสู่บ้านของท่าน
การสวดอ้อนวอน
แน่นอนว่าการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวจะนำท่านให้มาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านสวดอ้อนวอนเพื่อสมาชิกในครอบครัวของท่าน เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “คู่ครองเรา ลูกๆ และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ รู้สึก … หรือไม่ถึงพลังของคำสวดอ้อนวอนของเราต่อพระบิดาสำหรับความต้องการและความปรารถนาที่เฉพาะของพวกเขา?”5
ตัวอย่างเช่น การโกรธน้องสาวของท่านสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในวันนั้นยากกว่ามาก เมื่อน้องสาวท่านสวดอ้อนวอนเสียงดังในระหว่างการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวว่าขอให้ท่านทำข้อสอบที่โรงเรียนที่กำลังจะมาถึงได้ดี
การสวดอ้อนวอนด้วยชื่อของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนช่วยให้ท่านคิดถึงแต่ละคนและความต้องการของพวกเขา พวกเขายังรู้ด้วยว่าท่านกำลังคิดถึงพวกเขา
การให้อภัย เคารพ และรัก
คุณลักษณะทั้งสามอย่างนี้มักจะทำงานร่วมกัน ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและความเคารพคือการเต็มใจจะให้อภัยกันและกัน เมื่อเราให้อภัยและได้รับการให้อภัย ความเคารพและรักที่เรารู้สึกต่อกันจะเติบโตขึ้น
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับความสุขทั้งของเราและของลูกๆ มากไปกว่าที่เราจะรักและสนับสนุนกันในครอบครัว”6
ปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาอีกสักนิด รักกันให้มากขึ้น อย่ามัวขุ่นเคืองกัน
ความสงสาร
การแสดงความสงสารต่อสมาชิกคนอื่นในครอบครัวหมายถึงความต้องการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระบางส่วนและช่วยพวกเขาเผชิญความยากลำบาก
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุดของเราในการแสดงความสงสาร นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งจากหลายๆ ตัวอย่างในพระคัมภีร์
เมื่อพระเยซูทรงดำเนินออกมาจากเยริโค ชายตาบอดสองคนที่ข้างถนนก็ร้องเรียกหาพระองค์ ฝูงชนพยายามทำให้ชายทั้งสองเงียบลงและกล่าวว่าพวกเขาควรจะ “นิ่งเสีย” (มัทธิว 20:31)
เราเคยเป็นเหมือนฝูงชนเหล่านั้นกับครอบครัวของเราไหม? บางครั้งการมองข้ามใครบางคนที่กำลังขอความช่วยเหลืออาจเป็นเรื่องง่าย บางครั้งเราก็อยากกล่าวว่า “ไม่ใช่ตอนนี้!”
แต่พระเยซูทรงแสดงให้เราเห็นทางที่ดีกว่านี้ เมื่อชายตาบอดทั้งสองร้องหาพระองค์ด้วยเสียงที่ดังขึ้นอีก พระเยซูตรัสถามว่า “ท่านทั้งสองต้องการให้เราทำอะไรเพื่อท่าน” (มัทธิว 20:32)
ทั้งสองทูลขอให้ทรงรักษาดวงตาของพวกเขา “พระเยซูทรงแตะต้องนัยน์ตาของเขาทั้งสองด้วยพระทัยสงสาร ในทันใดนั้นเขาทั้งสองก็มองเห็น และติดตามพระองค์ไป” (มัทธิว 20:33–34)
ความสงสารไม่ได้สะดวกสบายเสมอไป แต่จะแสดงให้เห็นถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าเสมอ
พลังของตัวท่าน
สุดท้ายแล้วท่านอาจจะอยากคิดว่า “แต่ฉันมีเพียงตัวคนเดียว ฉันจะช่วยได้มากเพียงใด?” คำตอบคือ ช่วยได้มาก! จงนำถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวมาทดลองใช้
ท่านและครอบครัวของท่านคุ้มค่ากับความพยายาม