2010–2019
ประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร: การผนึกและการเยียวยา
เมษายน 2018


2:3

ประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร: การผนึกและการเยียวยา

เมื่อเรารวบรวมประวัติครอบครัวและไปพระวิหารแทนบรรพชนของเรา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้พรที่สัญญาไว้เกิดขึ้นทั้งสองด้านของม่านไปพร้อมๆ กัน

ความสัมพันธ์ในครอบครัวสามารถเป็นประสบการณ์ท้าทายแต่คุ้มค่าที่สุดส่วนหนึ่งที่เราพบเจอ พวกเราหลายคนเผชิญความร้าวฉานบางอย่างในครอบครัวเรา ความร้าวฉานเช่นนั้นเกิดขึ้นระหว่างวีรบุรุษสองคนของการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้ายนี้ พาร์ลีย์กับออร์สัน แพรทท์เป็นพี่น้องกัน เป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรุ่นแรก และเป็นอัครสาวก แต่ละคนเผชิญการทดลองศรัทธาแต่ผ่านพ้นมาได้ด้วยประจักษ์พยานอันไม่สั่นคลอน ทั้งคู่เสียสละและเอื้อประโยชน์ใหญ่หลวงต่ออุดมการณ์แห่งความจริง

พาร์ลีย์ แพรทท์

ในช่วงสมัยนอวู ความสัมพันธ์ของพวกเขาตึงเครียดจนกลายเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างเผ็ดร้อนในปี 1846 ความแตกร้าวฝังลึกและยืดเยื้อ ตอนแรกพาร์ลีย์เขียนถึงออร์สันเพื่อแก้ไขความแตกร้าว แต่ออร์สันไม่ตอบ พาร์ลีย์ยอมแพ้ โดยเชื่อว่าคงไม่มีการติดต่อกันอีกแล้วเว้นแต่ออร์สันจะติดต่อมาก่อน1

ออร์สัน แพรทท์

หลายปีต่อมา ในเดือนมีนาคม ปี 1853 ออร์สันศึกษาโครงการหนึ่งเพื่อจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับลูกหลานของวิลเลียม แพรทท์ บรรพชนชาวอเมริกันรุ่นแรกสุดของพวกเขา ออร์สันเริ่มร้องไห้ “เหมือนเด็กเล็ก” ขณะมองดูขุมทรัพย์ล้ำค่าของประวัติครอบครัว ใจเขาอ่อนลง และเขาตัดสินใจแก้ไขความบาดหมางกับพี่ชาย

ออร์สันเขียนถึงพาร์ลีย์ว่า “พี่ชายที่รัก ไม่มีใครในบรรดาลูกหลานทั้งหมดของร้อยโทวิลเลียม แพรทท์บรรพชนของเราที่มีความสนใจลึกซึ้งในการค้นหาลูกหลานของท่านเหมือนพวกเรา” ออร์สันเป็นคนแรกๆ ที่เข้าใจว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีหน้าที่ค้นคว้าและรวบรวมประวัติครอบครัวเพื่อเราจะสามารถประกอบศาสนพิธีแทนบรรพชนของเราได้ จดหมายของเขาเขียนต่อไปว่า “เรารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าของบรรรพบุรุษเราทรงช่วยเหลือในเรื่องทั้งหมดนี้ … ผมขอโทษที่เมินเฉยไม่เขียนถึงพี่ … ผมหวังว่าพี่จะให้อภัยผม”2 แม้พวกเขาจะมีประจักษ์พยานไม่สั่นคลอน แต่ความรักที่มีต่อบรรพชนเป็นตัวเร่งให้สมานรอยร้าว บรรเทาความเจ็บปวด ขออภัย และให้อภัย3

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงนำท่านให้ทำสิ่งหนึ่ง พระองค์ทรงมีจุดประสงค์มากมายในพระดำริเสมอ ประวัติครอบครัวและงานพระวิหารไม่เพียงสำหรับคนตายเท่านั้นแต่เป็นพรสำหรับคนเป็นเช่นกัน สำหรับออร์สันและพาร์ลีย์ งานนี้หันใจพวกเขาเข้าหากัน ประวัติครอบครัวและงานพระวิหารให้พลังเยียวยาสิ่งที่ต้องเยียวยา

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เรามีความรับผิดชอบที่ทรงกำหนดให้เสาะหาบรรพชนและรวบรวมประวัติครอบครัว งานนี้เป็นยิ่งกว่างานอดิเรกที่กระตุ้นให้ทำเพราะศาสนพิธีแห่งความรอดจำเป็นต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า4 เราต้องระบุชื่อบรรพชนของเราผู้ล่วงลับไปโดยไม่ได้รับศาสนพิธีแห่งความรอด เราสามารถประกอบศาสนพิธีแทนพวกเขาในพระวิหาร และบรรพชนของเราอาจเลือกยอมรับศาสนพิธีเหล่านั้น5 เราได้รับการกระตุ้นให้ช่วยสมาชิกวอร์ดและสมาชิกสเตคหาชื่อครอบครัวของพวกเขาเช่นกัน น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนักที่เราสามารถช่วยไถ่คนตายผ่านประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร

แต่ขณะที่เรามีส่วนในประวัติครอบครัวและงานพระวิหารวันนี้ เรามีสิทธิ์รับพรแห่ง “การเยียวยา” ที่ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกสัญญาไว้เช่นกัน6 พรเหล่านี้น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งเช่นกันเพราะขอบข่าย ความเฉพาะเจาะจง และผลลัพธ์ในความเป็นมรรตัย รายการที่ยาวเหยียดมีพรดังต่อไปนี้

  • ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

  • อิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น7 ช่วยให้รู้สึกถึงความเข้มแข็งและการนำทางสำหรับชีวิตของเรา

  • ศรัทธาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดจะลึกซึ้งและยั่งยืน

  • ความสามารถและแรงจูงใจให้เรียนรู้และกลับใจเพิ่มขึ้น8 เพราะความเข้าใจว่าเราเป็นใคร มาจากที่ใด และมีวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนว่าเราจะไปที่ใด

  • อิทธิพลที่บรรเทา ขัดเกลา และชำระให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นในใจเรา

  • ปีติเพิ่มขึ้นเพราะสามารถรู้สึกถึงความรักของพระเจ้าเพิ่มขึ้น

  • พรครอบครัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์ครอบครัวเราในปัจจุบัน อดีต หรืออนาคตเป็นเช่นไรหรือแผนภูมิครอบครัวเราบกพร่องเพียงใดก็ตาม

  • ความรักและความสำนึกคุณต่อบรรพชนและญาติที่ยังมีชีวิตอยู่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป

  • พลังความสามารถในการเล็งเห็นสิ่งที่ต้องเยียวยาเพิ่มขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงรับใช้ผู้อื่นด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า

  • ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นให้พ้นจากการล่อลวงและอิทธิพลที่แรงกล้าขึ้นของปฏิปักษ์ และ

  • ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นขณะบรรเทาใจที่เป็นทุกข์ ชอกช้ำ หรือวิตก และทำให้บาดแผลหายสนิท9

ถ้าท่านสวดอ้อนวอนขอพรเหล่านี้ จงมีส่วนในประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร ขณะทำเช่นนั้น คำสวดอ้อนวอนของท่านจะได้รับคำตอบ เมื่อประกอบศาสนพิธีแทนผู้วายชนม์ บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกได้รับการเยียวยาไม่แปลกเมื่อประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันประกาศในข่าวสารแรกของท่านในฐานะประธานศาสนจักรว่า “การนมัสการในพระวิหารและการรับใช้บรรพชนของท่านที่นั่นจะเป็นพรให้ท่านได้รับการเปิดเผยส่วนตัวและสันติสุขที่เพิ่มขึ้นและจะเสริมพลังให้แก่คำมั่นสัญญาของท่านว่าจะคงอยู่บนเส้นทางแห่งพันธสัญญา”10

ศาสดาพยากรณ์สมัยก่อนท่านหนึ่งเห็นพรล่วงหน้าทั้งสำหรับคนเป็นและคนตาย11 ทูตสวรรค์แสดงให้เอเสเคียลเห็นนิมิตของพระวิหารที่มีสายน้ำไหลออกมา ทูตสวรรค์บอกเอเสเคียลว่า

“น้ำนี้ไหลตรงไป … และไหลลง‍ไปถึงอาร‌บาห์ และ … ไหลไปถึงทะเล [มรณะ] [และ] น้ำที่ลงทะเลก็จะทำน้ำให้จืด

“แม่‍น้ำนั้นไปถึงที่ไหนสัตว์ทุก‍ชนิดที่อยู่กันเป็นฝูงก็จะมีชีวิตอยู่ได้ และ … แม่‍น้ำนี้ไปถึงที่‍ไหน ก็จะทำน้ำให้จืด แม่‍น้ำไปถึงไหน ทุก‍สิ่งก็มีชีวิตอยู่ได้”12

คุณสมบัติสองอย่างของน้ำมีความสำคัญ หนึ่ง แม้ลำน้ำสายเล็กๆ ที่ไม่ได้แยกออกเป็นแควเล็กแควน้อย ก็จะกลายเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ ยิ่งไหลไปไกลยิ่งกว้างขึ้นและลึกขึ้น บางสิ่งที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับพรที่ไหลมาจากพระวิหารเมื่อบุคคลรับการผนึกเป็นครอบครัว การเติบโตที่มีความหมายเกิดขึ้นกับคนรุ่นก่อนเราและหลังเราเมื่อศาสนพิธีผนึกเชื่อมครอบครัวเข้าด้วยกัน

สอง แม่น้ำชุบชีวิตให้ทุกสิ่งที่น้ำไปถึง พรของพระวิหารสามารถเยียวยาได้อย่างน่าทึ่งเช่นกัน พรพระวิหารสามารถเยียวยาใจ ชีวิต และครอบครัว

ทอดด์ บุตรของเบตตี

ข้าพเจ้าขออธิบาย ในปี 1999 เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อทอดด์ล้มป่วยเพราะหลอดเลือดในสมองแตก ถึงแม้ทอดด์กับครอบครัวเป็นสมาชิกของศาสนจักร แต่พวกเขาไม่ได้แข็งขันอย่างต่อเนื่อง และไม่มีใครประสบพรของพระวิหาร คืนสุดท้ายของชีวิตทอดด์ เบตตีมารดาของเขานั่งลูบมือเขาอยู่ข้างเตียง และพูดว่า “ทอดด์ ถ้าลูกต้องไปจริงๆ แม่สัญญาว่าจะทำงานพระวิหารให้ลูก” เช้าวันรุ่งขึ้น แพทย์ประกาศว่าทอดด์มีภาวะสมองตาย ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจของทอดด์ให้ผู้ป่วยของข้าพเจ้าชื่อร็อด

ไม่กี่เดือนหลังการปลูกถ่าย ร็อดทราบชื่อครอบครัวของผู้บริจาคหัวใจและเริ่มเขียนจดหมายติดต่อกับพวกเขา ราวสองปีต่อมา เบตตีมารดาของทอดด์เชิญร็อดอยู่ที่นั่นด้วยเมื่อเธอไปพระวิหารเป็นครั้งแรก ร็อดกับเบตตีพบกันครั้งแรกในห้องซีเลสเชียลของพระวิหารเซนต์จอร์จ ยูทาห์

ไม่นานหลังจากนั้น คุณพ่อของทอดด์—สามีของเบตตี—สิ้นชีวิต สองปีต่อมา เบตตีเชิญร็อดมาเป็นตัวแทนของบุตรชายที่ล่วงลับในการรับศาสนพิธีพระวิหารของเขา ร็อดทำด้วยความสำนึกคุณ และงานแทนคนตายมาถึงจุดสูงสุดในห้องผนึกของพระวิหารเซนต์จอร์จ ยูทาห์ เบตตีรับการผนึกกับสามีที่ล่วงลับขณะคุกเข่าที่แท่นตรงข้ามหลานชายเธอผู้ทำหน้าที่แทน ต่อจากนั้น เธอพยักหน้าเรียกร็อดมาสมทบที่แท่นขณะน้ำตาเธอไหลอาบแก้ม ร็อดคุกเข่าข้างพวกเขา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของทอดด์บุตรชายเธอผู้ซึ่งหัวใจของเขายังเต้นอยู่ในอกของร็อด ต่อจากนั้นทอดด์ผู้บริจาคหัวใจให้ร็อดได้รับการผนึกกับบิดามารดาของเขาชั่วนิจนิรันดร์ มารดาของทอดด์รักษาสัญญาที่ทำไว้กับบุตรชายขณะกำลังจะสิ้นใจเมื่อหลายปีก่อน

ร็อดกับคิมในวันแต่งงาน

แต่เรื่องราวไม่จบตรงนั้น สิบห้าปีต่อมาร็อดผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมั้นหมายเพื่อแต่งงานและเขาขอให้ข้าพเจ้าประกอบพิธีผนึกในพระวิหารโพรโว ยูทาห์ ในวันแต่งงาน ข้าพเจ้าพบร็อดกับคิมเจ้าสาวผู้แสนดีของเขาในห้องติดกับห้องผนึกที่ครอบครัวและเพื่อนสนิทของพวกเขารออยู่ หลังจากพูดคุยสั้นๆ กับร็อดและคิม ข้าพเจ้าถามว่าพวกเขามีคำถามหรือไม่

ร็อดตอบว่า “มีครับ ครอบครัวผู้บริจาคอยู่ที่นี่และอยากพบท่าน”

ข้าพเจ้าตกใจและถามว่า “คุณหมายความว่าพวกเขาอยู่ที่นี่ ตอนนี้หรือ”

ร็อดตอบ “ครับ”

ข้าพเจ้าเดินอ้อมไปเรียกครอบครัวนั้นออกจากห้องผนึก เบตตี บุตรสาวของเธอ และบุตรเขยของเธอมาสมทบกับเรา ร็อดทักทายเบตตีด้วยการสวมกอด ขอบคุณที่เธอมา และแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักเธอ ร็อดพูดว่า “เบตตี นี่เอ็ลเดอร์เรนลันด์ครับ ท่านเป็นแพทย์ผู้ดูแลหัวใจของลูกชายคุณมานานหลายปี” เธอเดินข้ามห้องมาโอบกอดข้าพเจ้า หลายนาทีต่อจากนั้นมีการสวมกอดและน้ำตาแห่งปีติจากทุกคน

หลังจากเราสงบจิตใจได้แล้ว เราย้ายเข้าไปในห้องผนึกที่ร็อดกับคิมได้รับการผนึกเพื่อกาลเวลาและนิรันดร ร็อด คิม เบตตี และข้าพเจ้าสามารถเป็นพยานได้ว่าสวรรค์อยู่ใกล้มาก มีคนอื่นอยู่กับเราวันนั้นผู้ผ่านม่านแห่งความเป็นมรรตัยไปก่อนเรา

พระผู้เป็นเจ้า ในพระปรีชาสามารถอันไร้ขอบเขต ทรงผนึกและเยียวยาบุคคลและครอบครัวทั้งที่มีความเศร้าสลด ความสูญเสีย และความยากลำบาก บางครั้งเราเปรียบเทียบความรู้สึกที่เราประสบในพระวิหารเหมือนการได้เห็นแวบหนึ่งของสวรรค์13 วันนั้นในพระวิหารโพรโว ยูทาห์ ข้อความนี้ของซี.เอส.ลูอิสดังก้องในใจข้าพเจ้า “[มนุษย์] พูดถึงความทุกข์ทางโลกบางอย่างว่า ‘ไม่มีความสุขใดในอนาคตสามารถชดเชยความทุกข์นี้ได้’ โดยหารู้ไม่ว่าเมื่อเราขึ้นสวรรค์ สวรรค์จะเปลี่ยนความปวดร้าวนั้นเป็นความปลาบปลื้มยินดี … ผู้ได้รับพรจะพูดว่า ‘เราไม่เคยอยู่ที่ใดยกเว้นในสวรรค์’”14

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเพิ่มพลัง ช่วยเหลือ และค้ำจุนเรา15 พระองค์จะทรงทำให้เราพ้นไปจากความโศกศัลย์อย่างสุดซึ้งของเรา16 เมื่อเรารวบรวมประวัติครอบครัวและไปพระวิหารแทนบรรพชนของเรา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้พรที่สัญญาไว้เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองด้านของม่าน ทำนองเดียวกัน เราได้รับพรเมื่อเราช่วยให้คนอื่นๆ ในวอร์ดและสเตคทำเช่นเดียวกัน สมาชิกที่ไม่ได้อยู่ใกล้พระวิหารได้รับพรเหล่านี้เช่นกันโดยมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัว รวบรวมรายชื่อบรรพชนของพวกเขาเพื่อประกอบศาสนพิธีพระวิหาร

แต่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนว่า “เราสามารถรับการดลใจตลอดวันเกี่ยวกับประสบการณ์พระวิหารและประวัติครอบครัวที่คนอื่นเคยได้รับ แต่เราต้องทำบางอย่างเพื่อประสบปีติด้วยตัวเราเอง” ท่านกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าท่านจะเสียสละแบบใด—โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสละเวลา—เพื่อทำงานประวัติครอบครัวและงานพระวิหารมากขึ้น”17 เมื่อท่านยอมรับคำเชื้อเชิญของประธานเนลสัน ท่านจะค้นพบ รวบรวม และเชื่อมต่อกับครอบครัวของท่าน ยิ่งไปกว่านั้น พรจะหลั่งไหลมาหาท่านและครอบครัวเหมือนแม่น้ำที่เอเสเคียลพูดถึง ท่านจะพบการเยียวยาสำหรับสิ่งที่ต้องเยียวยา

ออร์สันกับพาร์ลีย์ แพรทท์ประสบผลการเยียวยาและการผนึกของประวัติครอบครัวตลอดจนงานพระวิหารในช่วงต้นของสมัยการประทานนี้ เบตตี ครอบครัวเธอ และร็อดประสบเช่นกัน ท่านประสบได้ด้วย โดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงมอบพรเหล่านี้ให้ทุกคน ทั้งคนตายและคนเป็น เพราะพรเหล่านี้ เราจะพบโดยนัยของอุปลักษณ์ว่าเรา “ไม่เคยอยู่ที่ใดยกเว้น … สวรรค์”18 ข้าพเจ้าเป็นพยานในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. See Parley P. Pratt to Orson Pratt, May 25, 1853, Orson Pratt Family Collection, Church History Library, Salt Lake City; in Terryl L. Givens and Matthew J. Grow, Parley P. Pratt: The Apostle Paul of Mormonism (2011), 319.

  2. Orson Pratt to Parley P. Pratt, Mar. 10, 1853, Parley P. Pratt Collection, Church History Library, Salt Lake City; in Givens and Grow, Parley P. Pratt, 319.

  3. ที่สำคัญคือออร์สัน แพรทท์ไม่เพียงช่วยจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับลูกหลานของวิลเลียม แพรทท์เท่านั้น แต่หลายปีต่อมา ในปี 1870 เขากับครอบครัวของเขาประกอบพิธีบัพติศมาแทนคนตายในหนังสือเล่มนั้นกว่า 2,600 คนในบ้านเอ็นดาวเม้นท์ที่ซอลท์เลคซิตี้ด้วย (ดู Breck England, The Life and Thought of Orson Pratt [1985], 247).

  4. ดู Joseph Smith, History of the Church, 6:312–13.

  5. ดู “Names Submitted for Temple Ordinances,” จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 29 ก.พ. 2012. รายชื่อบรรพชนที่ส่งไปทำศาสนพิธีพระวิหารแทนควรเป็นญาติกับผู้ส่ง ไม่ว่ากรณีใด สมาชิกศาสนจักรต้องไม่ส่งรายชื่อจากกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คนมีชื่อเสียงและเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

  6. ดู Dallin H. Oaks, “In Wisdom and Order,” Tambuli, Dec. 1989, 18–23; ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “การไถ่คนตายและประจักษ์พยานของพระเยซู,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 10–13; Boyd K. Packer, “Your Family History: Getting Started,” Liahona, Aug. 2003, 12–17; โธมัส เอส. มอนสัน, “ความจริงที่ไม่แปรผันสำหรับคืนวันที่ผันแปร,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 19–22; เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “ใจผูกพันกัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 77–80; เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ความเชื่อ ครอบครัว ข้อเท็จจริง และผล,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 25–27; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความรอดและความสูงส่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 7–10; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เชื่อมโยงคนหลายรุ่นด้วยความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 91–94; เดวิด เอ. เบดนาร์, “ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 24–27; ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “ปีติจากการไถ่คนตาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 93–95; เควนทิน แอล. คุก, “รากและกิ่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 44–48; โธมัส เอส. มอนสัน, “การเร่งงานแห่งความรอด,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2014, 4–5; เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “สัญญาเรื่องการหันใจ,” เลียโฮนา, ก.ค. 2014, 4–5; เดวิด เอ. เบดนาร์, “ผู้สอนศาสนา ประวัติครอบครัว และงานพระวิหาร,” เลียโฮนา, ต.ค. 2014, 14–19; นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “‘วันเวลาของฉัน’ แห่งพระวิหารและเทคโนโลยี,” เลียโฮนา, ก.พ. 2015, 26–33; Neil L. Andersen, “Sharing the Temple Challenge,” Family Discovery Day, Feb. 2015, LDS.org; เควนทิน แอล. คุก, “ปีติของงานประวัติครอบครัว,” เลียโฮนา, ก.พ. 2016, 22–27; แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตอยู่ที่ไหน เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 29–32; ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “สรรเสริญผู้ที่ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 77–80; เควนทิน แอล. คุก, “ดู มองเห็นตัวท่านในพระวิหาร,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 97–101; เดล จี. เรนลันด์, รูธ เอล. เรนลันด์, และแอชลีย์ อาร์. เรนลันด์, “ประวัติครอบครัว และพรพระวิหาร,” เลียโฮนา, ก.พ. 2017, 34–39; Dallin H. Oaks and Kristen M. Oaks, “Connected to Eternal Families,” Family Discovery Day, Mar. 2018, LDS.org.

  7. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:15.

  8. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:21.

  9. ดู บอยด์ เค. แพคเกอร์, “Balm of Gilead,” Ensign, Nov. 1987, 16–18; เยเรมีย์ 8:22; 51:8.

  10. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ขณะที่เราเดินหน้าไปด้วยกัน,” เลียโฮนา, เม.ย. 2018, 7.

  11. ดู เอเสเคียล 40–47; Bible Dictionary, “Ezekiel.”

  12. เอเสเคียล 47:8–9.

  13. ดู สเป็นเซอร์ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “Glimpses of Heaven,” Ensign, Dec. 1971, 36–37.

  14. ซี.เอส.ลูอิส, The Great Divorce: A Dream (2001), 69.

  15. ดู อิสยาห์ 41:10.

  16. ดู “ฐานมั่นคงหนักหนา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 33.

  17. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกับเวนดี ดับเบิลยู. เนลสัน, “เปิดฟ้าสวรรค์ผ่านงานพระวิหารและประวัติครอบครัว,” เลียโฮนา, ต.ค. 2017, 19.

  18. ลูอิส, The Great Divorce, 69.