การเชื่อมโยง ธิดาของพระผู้เป็นเจ้า กับ พลังอำนาจฐานะปุโรหิต ของพระองค์
สตรีเป็นผู้มีส่วนร่วมคนสำคัญในงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์
ดิฉันรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการเข้าใจฐานะปุโรหิตและพรที่เกี่ยวข้องสำหรับสตรีอย่างที่ไม่เคยรู้ซึ้งเช่นนี้มาก่อน เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่ส่งเสริมความเสมอภาค อำนาจ ความยุติธรรม และขันติธรรม—มักจะส่งเสริมมากกว่าคุณธรรมอื่น นอกจากนั้น อัตลักษณ์ สิทธิอำนาจ ความเข้มแข็งทางวิญญาณ และแม้กระทั่งพระผู้เป็นเจ้าก็เป็นหัวข้อที่หลายคนสับสนมาก
สตรีจำนวนมากไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากงานเลี้ยงทางวิญญาณที่จัดให้พวกเธอเพราะไม่รู้ว่าพวกเธอมีสิทธิ์ได้รับพรอะไรบ้าง บุรุษจำนวนมากสับสนเรื่องนี้เช่นกัน
เราจะเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างสตรีกับพลังอำนาจฐานะปุโรหิตได้ดีขึ้น และช่วยให้พวกเธอ “ก้าวออกมา” “ยืนอยู่ในสถานที่ซึ่งถูกต้องและต้องการ [พวกเธอ] ในบ้าน [ของพวกเธอ] ในชุมชน [ของพวกเธอ] และในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า—มากกว่าที่ท่านเคยเป็นมาก่อน” ได้อย่างไร1 หนึ่ง เราจะพยายามเข้าใจความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนล่าสุดของผู้นำศาสนจักร สอง เราจะพยายามเข้าใจว่าเหตุใดสตรีบางคนจึงไม่ตระหนักอย่างเต็มที่ว่าพวกเธอมีสิทธิ์เข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า สาม เราจะรับรู้ว่าเราจะช่วยให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากขึ้นในงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์ได้อย่างไร
1. มีความจริงอะไรแจกแจงไว้บ้างเกี่ยวกับสตรีและฐานะปุโรหิต
บรรดาอัครสาวกและผู้นำองค์การช่วยสามัญของสตรีเน้นมากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เรื่องความสัมพันธ์ของสตรีกับฐานะปุโรหิต ต่อไปนี้เป็นความจริงบางประการที่จำเป็นต้องเข้าใจและสอนอย่างถูกต้อง
ฐานะปุโรหิตเป็นพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
ฐานะปุโรหิตเป็นพลังอำนาจซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้ทำงานอันสำคัญยิ่งแห่งความรอดให้สำเร็จ โดยทรงทำให้เกิด “ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) ทั้งบุรุษและสตรีมีบทบาทสำคัญในงานของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งชายและหญิงมีสิทธิ์เข้าถึงพลังอำนาจของพระองค์เพื่อทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ
สตรีมีบทบาทสำคัญอย่างเป็นทางการในงานแห่งความรอด
บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญประกาศว่า “สตรีทั้งปวงต้องเห็นว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนสำคัญในงานของฐานะปุโรหิต สตรีในศาสนจักรนี้เป็นประธาน เป็นที่ปรึกษา ครู สมาชิกสภา พี่น้องสตรี และมารดา อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าดำเนินงานไม่ได้นอกจากเราจะลุกขึ้นทำหน้าที่ของเราให้สำเร็จลุล่วงด้วยศรัทธา”2
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนว่า “พระผู้เป็นเจ้าประทานงานให้สตรีของศาสนจักรนี้ทำในการสร้างอาณาจักรของพระองค์ งานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งทั้งสามด้านได้แก่ หนึ่ง สอนพระกิตติคุณให้ชาวโลก สอง เสริมสร้างศรัทธาและสร้างความสุขของการเป็นสมาชิกศาสนจักร และสาม ดำเนินงานอันสำคัญยิ่งของความรอดให้ผู้วายชนม์
“สตรีในศาสนจักรเป็นผู้ร่วมงานกับพี่น้องชายในการดำเนินงานอันยิ่งใหญ่นี้ของพระเจ้า … สตรีมีความรับผิดชอบมากมายและพวกเธอมีหน้าที่ต้องทำความรับผิดชอบเหล่านั้นให้สำเร็จ … พวกเธอเป็นผู้นำองค์การของพวกเธอ และองค์การเหล่านั้นเข้มแข็ง ใช้การได้ และเป็นกำลังสำคัญตลอดไปในโลก พวกเธอมีบทบาทเป็นผู้ช่วยของฐานะปุโรหิต ทุกคนล้วนพยายามช่วยกันสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก เรายกย่องและเคารพท่านสำหรับความสามารถของท่าน เราคาดหวังการเป็นผู้นำและความเข้มแข็ง ตลอดจนผลอันน่าประทับใจจากการบริหารองค์การที่ท่านต้องรับผิดชอบ เราสนับสนุนและส่งเสริมท่านในฐานะธิดาของพระผู้เป็นเจ้าขณะท่านทำหน้าที่หุ้นส่วนใหญ่ช่วยเหลือพระองค์ในการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า”3
ทั้งบุรุษและสตรีได้รับมอบพลังอำนาจและสิทธิอำนาจจากผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต
กุญแจฐานะปุโรหิตคือ “สิทธิอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้นำฐานะปุโรหิตเพื่อกำกับดูแล ควบคุม และ ปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก”4 ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายว่า “การดำเนินงานทุกอย่างหรือศาสนพิธีที่ปฏิบัติในศาสนจักรกระทำภายใต้การมอบอำนาจทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมของผู้ถือกุญแจสำหรับหน้าที่นั้น”5
สตรีมีสิทธิอำนาจในการทำหน้าที่การเรียกของพวกเธอภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตเช่นเดียวกับบุรุษ ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ผู้ที่มีกุญแจฐานะปุโรหิต … ย่อมทำให้ทุกคนที่รับใช้หรือทำงานอย่างซื่อสัตย์ภายใต้การกำกับดูแลของเขามีโอกาสใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและเข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิต”6
ประธานโอ๊คส์กล่าวว่า “เราไม่คุ้นเคยกับการพูดว่าสตรีมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการเรียกของพวกเธอในศาสนจักร แต่จะเป็นสิทธิอำนาจอื่นใดได้เล่า เมื่อสตรีคนหนึ่ง—ไม่ว่าเยาว์วัยหรือสูงวัย—ได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้สั่งสอนพระกิตติคุณในฐานะผู้สอนศาสนาเต็มเวลา เธอได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้ทำหน้าที่ฐานะปุโรหิต เช่นเดียวกับเมื่อสตรีคนหนึ่งได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นเจ้าหน้าที่หรือครูในองค์การของศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต”7
เมื่อสอนแนวคิดนี้ให้กับนักศึกษา ดิฉันถามบ่อยครั้งว่า “ถ้าสเตคมีการประชุมฝ่ายประธานเยาวชนชายร่วมกับฝ่ายประธานเยาวชนหญิง ใครเป็นประธาน” เพราะทั้งประธานเยาวชนหญิงสเตคและประธานเยาวชนชายสเตคต่างได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่โดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ประธานสเตค) เนื่องจากการเรียกของพวกเขา ทั้งสองฝ่ายจึงมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเดียวกันและด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครเป็นประธานควบคุมอีกฝ่าย พวกเขาจะผลัดกันดำเนินการประชุม
พระเจ้าทรงอวยพรสตรีและบุรุษเท่าเทียมกันผ่านฐานะปุโรหิตของพระองค์
พระเจ้าทรงจัดเตรียมพรมากมายผ่านฐานะปุโรหิตของพระองค์เพื่อให้มาถึงสมาชิกทุกคนผู้ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ประธานบัลลาร์ดสอนว่า “ทุกคนผู้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระเจ้าและผู้ให้เกียรติพันธสัญญาเหล่านั้นย่อมมีสิทธิ์ได้รับการเปิดเผยส่วนตัว ได้รับพรโดยการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพ ติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า ได้รับความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณ และสุดท้ายได้เป็นทายาทสืบทอดทั้งหมดที่พระบิดาทรงมีเคียงข้างพระเยซูคริสต์”8
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972) สอนว่า “พรของฐานะปุโรหิตมิได้จำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่พรเหล่านี้หลั่งมาบน … สตรีที่ซื่อสัตย์ทุกคนของศาสนจักร … พระเจ้าทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณและพรทุกประการที่บุตรชายของพระองค์ได้รับให้บุตรสาวของพระองค์เช่นกัน”9
และเมื่อสตรีไปทำงานของพระบิดา พวกเธอจะได้รับพรให้เป็น “ทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์” เช่นกัน (โรม 8:17; ดู ข้อ 16 ด้วย)
ทั้งสตรีและบุรุษ (โสดและแต่งงานแล้ว) จะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ด้วยพลังอำนาจฐานะปุโรหิตในพระวิหาร
ในปี 1833 พระเจ้าทรงสัญญากับโจเซฟ สมิธว่าวิสุทธิชนทั้งชายและหญิงจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ด้วย “อำนาจจากเบื้องบน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:8) ประธานบัลลาร์ดชี้แจงว่า “เอ็นดาวเม้นท์เป็นของประทานแห่งพลังอำนาจอย่างแท้จริง ทุกคนที่เข้าพระนิเวศน์ของพระเจ้าล้วนประกอบศาสนพิธีของฐานะปุโรหิต ประยุกต์ใช้ได้กับบุรุษและสตรีเหมือนกัน”10 สมาชิกที่มีค่าควรทุกคนผู้ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนแล้วและรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้ในพระวิหารล้วนมีพลังอำนาจฐานะปุโรหิต ด้วยเหตุนี้ สตรีที่แต่งงานแล้วหรือโสดจึงสามารถมีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตในบ้านของพวกเธอไม่ว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจะไปเยี่ยมหรือไม่ก็ตาม
เชอรี ดิว อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญถามว่า “การเข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิตหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเราสามารถรับการเปิดเผย ได้รับพรและความช่วยเหลือจากการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพ เรียนรู้วิธีแหวกม่านที่แยกเราจากพระบิดาบนสวรรค์ มีพลังต่อต้านการล่อลวงมากขึ้น ได้รับความคุ้มครอง รู้แจ้งมากขึ้น และฉลาดขึ้น—โดยไม่ต้องมีมนุษย์คนใดเป็นสื่อกลาง”11 อะไรคือผลสำคัญที่สุดของพลังอำนาจนี้และจะได้รับอย่างไร พระเจ้าทรงเปิดเผยว่า “พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า” รวมถึงพลังอำนาจที่จะเป็นเหมือนพระองค์ แสดงให้ประจักษ์พยานผ่านศาสนพิธีฐานะปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20)
สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตบางครั้งทำงานในศาสนจักรต่างจากในครอบครัว
องค์กรศาสนจักรเรียงตามลำดับชั้น ส่วนครอบครัวมีบิดาเป็นหัวหน้า ประธานโอ๊คส์สอนว่ามี “ความแตกต่างบางอย่างในวิธีทำงานของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัวและในศาสนจักร”12 ตามแบบแผนของพระเจ้า สามีภรรยามีความรับผิดชอบต่างกันบางอย่าง ทว่าพวกเขาทำงานด้วยกันในฐานะ “หุ้นส่วนเท่าๆ กัน”13 เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “พี่น้องครับ จำไว้ว่าในบทบาทของการเป็นผู้นำในครอบครัว ภรรยาท่านคือคู่ชีวิต … นับแต่กาลเริ่มต้น พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนมนุษย์ว่าการแต่งงานควรรวมสามีภรรยาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีประธานหรือรองประธานในครอบครัว ทั้งคู่ทำงานด้วยกันชั่วนิรันดร์เพื่อประโยชน์ของครอบครัว พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งในคำพูด และในการกระทำขณะนำ แนะนำ และชี้นำหน่วยครอบครัว พวกเขาเสมอภาคกัน พวกเขาช่วยกันวางแผนและจัดระบบการงานในครอบครัวด้วยความสมานฉันท์ขณะก้าวเดินไปข้างหน้า”14
จากนั้นเกิดอะไรขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งสิ้นชีวิต ประธานโอ๊คส์สอนว่า “เมื่อบิดาข้าพเจ้าสิ้นชีวิต มารดาข้าพเจ้าควบคุมดูแลครอบครัวของเรา ท่านไม่มีตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่ในฐานะคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจึงกลายเป็นผู้มีหน้าที่ปกครองครอบครัว ขณะเดียวกัน ท่านเคารพสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตของอธิการของเราและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นเสมอ ท่านควบคุมดูแลครอบครัวท่าน แต่ผู้นำเหล่านั้นควบคุมดูแลศาสนจักร”15
2. อุปสรรค
มีอุปสรรคอะไรบ้างที่จะขัดขวางไม่ให้สตรีตระหนักอย่างเต็มที่ว่าตนเข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าได้
ความสับสนของทั้งบุรุษและสตรีเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต
ประธานโอ๊คส์สอนว่า “ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคไม่ใช่สถานภาพหรือฉายานาม แต่เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงไว้ด้วยความวางใจให้ใช้เป็นประโยชน์ในงานของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อบุตรธิดาของพระองค์ พึงระลึกไว้เสมอว่าชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิต ไม่ใช่ ‘ฐานะปุโรหิต’ ไม่เหมาะสมที่จะพูดว่า ‘ฐานะปุโรหิตและสตรี’ เราควรพูดว่า ‘ผู้ดำรง ฐานะปุโรหิตและสตรี’”16
การพูดว่า “ตอนนี้ฐานะปุโรหิตจะร้องเพลง” หรือ “เราต้องการอาสาสมัครฐานะปุโรหิตไปค่ายเยาวชนหญิง” เท่ากับเรากำลังทำลายตัวเราเองและผู้อื่นทั้งที่เรามีเจตนาดีโดยก่อให้เกิดความสับสนต่อเนื่องและทำให้พลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าลดน้อยลง
การคิดว่าฐานะปุโรหิตไม่เกี่ยวกับสตรี
เมื่อเชื้อเชิญให้ศึกษาเรื่องฐานะปุโรหิต พี่น้องสตรีบางคนตอบว่า “ดิฉันไม่จำเป็นต้องศึกษาหัวข้อนั้น เพราะนำมาใช้กับดิฉันไม่ได้” แต่เพราะฐานะปุโรหิตเป็นพรแก่บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า เราทุกคนจึงได้ประโยชน์จากการเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เราทุกคนจะได้ประโยชน์จากการเข้าใจฐานะปุโรหิต ลองนึกดูว่าศาสนจักรและครอบครัวเราจะได้รับพรอย่างไรถ้าทั้งสตรีและบุรุษของศาสนจักรเข้าใจและสอนความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต
ลินดา เค. เบอร์ตัน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเน้นว่าสตรีและบุรุษต้องศึกษาหัวข้อเรื่องฐานะปุโรหิต “พี่น้องสตรี เราไม่สามารถลุกขึ้นและสอนเรื่องที่เราไม่เข้าใจและตัวเราไม่รู้”17
การวางข้อจำกัดที่ไม่มีอยู่จริงให้กับสตรี
เห็นชัดว่าการเรียกบางอย่างในศาสนจักรต้องได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่เราต้องระวังอย่าจำกัดสตรีของเราโดยยึดวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แนวคิดผิดๆ หรือประเพณีเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น สตรีสามารถเป็นผู้นำและครูที่มีประสิทธิภาพ เป็นเสียงสำคัญในสภาศาสนจักร และเป็นแบบอย่างของการเป็นสานุศิษย์ที่มีอิทธิพลต่อสมาชิกทุกวัย
3. เราจะทำอะไรได้บ้าง
เราแต่ละคนสามารถใช้บางวิธีต่อไปนี้ช่วยให้พี่น้องสตรีของเรามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากขึ้นในงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์
ติดตามถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และผู้นำสตรีของเราอยู่เสมอ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สมาชิกอาวุโสของโควรัมอัครสาวกสิบสองได้พูดถึงบทบาทของสตรีในศาสนจักรอย่างเจาะจง เราตั้งใจฟังคำพูดเหล่านี้หรือไม่
ตัวอย่าง ในปี 2015 ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่และไม่สามารถสมบูรณ์ได้โดยปราศจากสตรีผู้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ และรักษาพันธสัญญาหลังจากนั้น สตรีที่สามารถพูดด้วยพลังและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า!”18
ช่วยให้สมาชิกทุกคนเข้าใจบทบาทของสตรีในงานของฐานะปุโรหิต
ประธานบัลลาร์ดกำชับสตรีของสมาคมสงเคราะห์ว่า “แวดวงอิทธิพลของท่านมีขอบเขตเฉพาะ—ที่ชายไม่อาจลอกเลียนแบบได้ ไม่มีใครสามารถปกป้องพระผู้ช่วยให้รอดด้วยการชักชวนหรือพลังได้มากไปกว่าท่าน—ธิดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้มีจิตใจเข้มแข็งและมีความเชื่อมั่นเช่นนั้น พลังเสียงของสตรีที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสนั้นมิอาจประมาณได้ และศาสนจักรต้องการเสียงของท่านเวลานี้มากกว่าที่ผ่านมา”19 บอนนี่ แอล. ออสคาร์สันประกาศว่า “[สตรี] ของศาสนจักรต้องเห็นว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนสำคัญในงานแห่งความรอดที่กำกับดูแลโดยฐานะปุโรหิตและไม่ได้เป็นเพียงผู้ดูและผู้สนับสนุน”20
ให้ความไว้วางใจผู้นำสตรี
เราควรเอาใจใส่ให้มากต่อสิ่งที่พูดโดยผู้ที่เราสนับสนุนในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย พวกท่านถือกุญแจของอาณาจักร และพระเจ้าทรงกำกับดูแลงานของพระองค์ผ่านท่านเหล่านั้น นอกจากคำสอนของพวกท่าน ผู้นำสตรีของศาสนจักรได้รับการวางมือมอบหน้าที่และได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้พูดกับบุรุษและสตรีของศาสนจักรด้วย เราต้องฟังคำสอนของพวกเธอเช่นกันและฟังสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแนะนำเราผ่านพวกเธอ
จงให้สตรีมีส่วนร่วมในสภา ไม่เพียงนั่งในสภาเท่านั้นแต่เคารพความคิดเห็นของพวกเธอ
ประธานบัลลาร์ดกล่าวว่า “ผู้นำฐานะปุโรหิตคนใดที่ไม่ให้ผู้นำสตรีมีส่วนร่วมด้วยความเคารพเต็มที่ การมีส่วนร่วมนั้นย่อมไม่ใช่การให้เกียรติและไม่ขยายกุญแจที่เขาได้รับ พลังอำนาจและอิทธิพลของเขาจะลดลงจนกว่าเขาจะเรียนรู้วิธีของพระเจ้า”21
อย่าให้คำตอบ “แบบเผด็จการ” กับคำถามที่พระเจ้าไม่ได้ทรงตอบด้วยพระองค์เอง
ประธานโอ๊คส์เตือนสมาชิกศาสนจักรให้เลี่ยงตอบคำถามที่พระเจ้าไม่เคยตอบ “อย่าทำผิดพลาดอย่างที่เคยทำในอดีต … โดยพยายามใช้เหตุผลของท่านอธิบายการเปิดเผย เหตุผลเหล่านั้นส่วนใหญ่มนุษย์คิดขึ้นเอง การเปิดเผยคือสิ่งที่เราสนับสนุนว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าและมีความปลอดภัยอยู่ในนั้น”22
ประธานบัลลาร์ดยกตัวอย่างที่เหมาะกับเรื่องนี้ “เหตุใดบุรุษ—และไม่ใช่สตรี—จึงได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต … พระเจ้าไม่ได้ทรงเปิดเผยว่าเหตุใดพระองค์ทรงจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์”23 ประธานบัลลาร์ดเตือนเราเช่นกันว่า “อย่าส่งต่อข่าวลือที่ส่งเสริมศรัทธาแต่ไม่เป็นความจริงหรือความเข้าใจและคำอธิบายที่ล้าสมัยในเรื่องหลักคำสอนและวิธีปฏิบัติของเราในอดีต นับว่าฉลาดเสมอถ้าจะสร้างนิสัยของการศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิต ติดตามประเด็น นโยบาย และถ้อยแถลงปัจจุบันของศาสนจักรผ่าน mormonnewsroom.org และ LDS.org ค้นคว้าผลงานของนักวิชาการแอลดีเอสที่ซื่อสัตย์ รอบคอบ และได้รับการยอมรับเพื่อให้แน่ใจว่าท่านไม่สอนสิ่งที่ไม่จริง ล้าสมัย หรือแปลกประหลาด”24 จำไว้ว่าบางครั้งคำตอบที่ดีที่สุดคือ “ฉันไม่รู้” เราต้องค้นคว้าอย่างขยันหมั่นเพียรตามศรัทธาเพื่อเรียนรู้ความจริงจากพระเจ้า
จงช่วยให้สตรีและบุรุษเข้าใจเรื่องฐานะปุโรหิต
สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องช่วยทั้งบุรุษและสตรีให้เชื่อมั่นว่าตนสามารถศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับฐานะปุโรหิตได้ พระคัมภีร์บางข้อที่จะช่วยเราในขั้นตอนนี้ แต่ไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ ได้แก่ แอลมา 13 และ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 2, 13, 20, 76, 84, 95, 107, 110, 121 และ 124 การเข้าพระวิหารโดยมีจุดประสงค์ไม่เพียงแสวงหาคำตอบเท่านั้นแต่แสวงหาคำถามที่ได้รับการดลใจเกี่ยวกับหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำเช่นกัน
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “หลักคำสอนเรื่องฐานะปุโรหิต—ที่คนในโลกไม่รู้และคนในศาสนจักรรู้เล็กน้อย—ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากพระคัมภีร์เพียงอย่างเดียว …
“หลักคำสอนเรื่องฐานะปุโรหิตรู้โดยการเปิดเผยส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งมาโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บรรทัดมาเติมบรรทัดและกฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ ถึงคนที่รักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของพวกเขา (ดู คพ. 98:12)”25
จงช่วยให้สตรีเข้าใจว่าพวกเธอต้องยืนอยู่กับพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์
โลกเรานับวันจะแบ่งแยกและดูถูกกันมากขึ้น สตรีแข่งขันกันในหลายๆ ด้าน ความคิดเห็นดุเดือดและอารมณ์รุนแรง ลองนึกภาพอิทธิพลดีในโลกนี้ถ้าสมาชิกของศาสนจักรพูดได้ว่าพวกเธอเหมือนเอสเธอร์คือได้รับการสงวนไว้ “เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้” (เอสเธอร์ 4:14) และพวกเธอแต่ละคนและทั้งกลุ่มต้องพร้อมใจกันนำโลกไม่ใช่ตามโลก
4. สรุป
เอ็มมา สมิธกล่าวว่า “เราจะทำเรื่องพิเศษบางอย่าง … เราคาดหวังโอกาสพิเศษและความต้องการเร่งด่วน”26 ความต้องการเร่งด่วนเหล่านี้ แม้กระทั่งคำขอร้องจากผู้นำศาสนจักรตลอดหลายปีที่ผ่านมามาถึงพี่น้องสตรีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเราเข้าใจความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตดีขึ้น รับรู้เหตุผลว่าทำไมสตรีจำนวนมากจึงดำเนินชีวิตต่ำกว่าอภิสิทธิ์ของเธอ และปฏิบัติตามความรู้ที่เราได้รับเกี่ยวกับสตรีและโอกาสที่พวกเธอจะมีส่วนร่วมในงานของฐานะปุโรหิต เราจะ “พบปีติและสันติที่มาจากการรู้ผ่านการสอนของท่านว่าท่านได้สัมผัสชีวิต ท่านได้หนุนใจบุตรธิดาคนหนึ่งของพระบิดาบนสวรรค์ในการเดินทางของเขาหรือเธอจนถึงวันที่จะรับพวกเขาเข้าในที่ประทับของพระองค์อีกครั้ง”27 ◼