ฉันจะช่วยเอาชนะอคติได้อย่างไร?
ต่อไปนี้คือหกวิธีที่เราสามารถขจัดอคติและส่งเสริมความเคารพ
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเอาชนะอคติ?
1. มองในใจก่อน เราสามารถมุ่งมั่นรับรู้ภายในตัวเราและการขจัด “เจตคติและการกระทำที่เป็นอคติ”1
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ใครก็ตามในพวกเราที่มีอคติต่อเชื้อชาติอื่นจำเป็นต้องกลับใจ!”2
2. พยายามเข้าใจ ให้เวลากับการฟังผู้ที่ประสบกับอคติ ซึ่งรวมถึงหนังสือ ภาพยนตร์ และการรายงานข่าวที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย3
ดาเรียส เกรย์ สมาชิกและผู้นำศาสนจักรชาวแอฟริกันอเมริกันผู้มีชื่อเสียงตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าเราพยายามฟังจากคนที่เราถือว่าเป็น ‘คนอื่น’ อย่างจริงใจ และถ้าเราจดจ่ออย่างซื่อสัตย์อยู่กับการยอมให้เขาเล่าถึงชีวิต ประวัติ ครอบครัว ความหวัง และความเจ็บปวดของพวกเขา ไม่เพียงเราจะได้รับความเข้าใจที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่การปฏิบัติเช่นนี้จะนำไปไกลสู่การเยียวยาบาดแผลของการเหยียดเชื้อชาติ”4
3. เปิดปากพูด ถ้ามีใครมาแบ่งปันแนวคิดที่เป็นเท็จและเป็นเชิงลบเกี่ยวกับเชื้อชาติแก่ท่าน จงเปิดปากพูดในวิธีที่สุภาพแต่ชัดเจน
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราต้องทำให้ดีขึ้นในการช่วยขุดรากถอนโคนการเหยียดเชื้อชาติ”5
เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยูู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เราได้รับเชิญให้เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น จากภายในสู่ภายนอก ทีละคน ทีละครอบครัว ทีละหมู่บ้าน’’6
ฉันจะทำอะไรได้บ้างถ้าฉันประสบกับการเลือกปฏิบัติ?
1. ให้อภัยและได้เพื่อน เมื่อการกระทำของผู้อื่นทำร้ายเรา เราสามารถสอน ให้อภัย และพยายามสร้างความสัมพันธ์ได้
ขณะรับใช้เป็นสาวกเจ็ดสิบภาค เอ็ลเดอร์เฟรด เอ. ‘โทนี” พาร์เคอร์กล่าวว่า: “เมื่อตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติ ข้าพเจ้าพบความสำเร็จในการเผชิญกับสิ่งนี้ซึ่งหน้า ในการให้อภัยต่อคนและจัดการกับเรื่องนั้น ถ้ามีใครพูดอะไรทำร้ายความรู้สึกของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจำเป็นต้องหาวิธีที่จะช่วยให้เขาเข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเจ็บปวด นั่นไม่เพียงเป็นโอกาสที่จะให้อภัยแต่เป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์เพื่อที่บุคคลนั้นจะไม่เพียงมองดูโทนี พาร์เคอร์ในฐานะคนแอฟริกันอเมริกันเท่านั้นแต่มองในฐานะลูกพระผู้เป็นเจ้าด้วย พระเยซูทรงสอนการให้อภัย (ดู มัทธิว 18:21–35) และทรงสอนให้เรานำเรื่องที่ถูกทำให้ขุ่นเคืองไปหาบุคคลนั้นและสะสางกัน (ดู มัทธิว 18:15)”7
2. เรียนรู้ประสบการณ์ที่มีประโยชน์จากประสบการณ์ที่เจ็บปวด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:7)
สาธุคุณอามอส ซี. บราวน์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับฮาเวิร์ด วอชิงตัน เธอร์แมน บ้านของฮาเวิร์ดอยู่ติดกับสตรีคนหนึ่งซึ่งปฏิบัติไม่ดีต่อครอบครัวของเขาเพราะพวกเขาเป็นคนผิวดำ—ถึงขนาดเทมูลจากเล้าไก่ของเธอลงมาในลานบ้านของเธอร์แมน
เมื่อสตรีคนนั้นล้มป่วย แม่ของฮาเวิร์ดนำซุปและดอกกุหลาบไปให้เธอ ด้วยความขอบคุณ สตรีคนนั้นถามว่าดอกไม้มาจากไหน นางเธอร์แมนอธิบายว่า “ขณะที่คุณโยนมูลไก่มา พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังเตรียมดินอยู่”
“นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำท่ามกลางความชั่วร้าย” สาธุคุณบราวน์กล่าว “รับมูลไว้แต่มีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าที่จะใช้ปุ๋ยนั้นปลูกสวนกุหลาบ”8
3. หันไปพึ่งพระคริสต์เพื่อรับการเยียวยาและการนำทาง การวางใจในพระผู้ช่วยให้รอดแม้เจ็บปวดและทำตามพระองค์สามารถนำสันติมาให้
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่านอกจากการไถ่เราจากบาปโดยตอบสนองข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรมที่มีต่อเรา พระเยซูคริสต์ “ยังทรงชำระหนี้ที่ความยุติธรรมติดค้างเราโดยเยียวยาและชดเชยให้เราสำหรับความทุกข์ทรมานใดๆ ก็ตามที่เราต้องทนทุกข์โดยปราศจากความผิด” ด้วย9
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมให้เราทำตาม ทรงสอนว่าเราต้องทำอะไรเมื่อถูกทำให้ขุ่นเคือง (ดู มัทธิว 18:15) ถูกข่มเหง (ดู มัทธิว 5:38–48) และแม้ถูกกล่าวโทษให้ถึงตายอย่างไม่ยุติธรรม (ดู ลูกา 23:34)