พระเยซูคริสต์ทรงทราบความรู้สึกเจ็บปวดที่เราได้รับจากอคติ
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในจังหวัดเกาเต็ง แอฟริกาใต้
การแสวงหาของดิฉันคือการเห็นผู้คนอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็น
ดิฉันประสบกับอคติหรือการเลือกปฏิบัติไม่แบบใดก็แบบหนึ่งมาเกือบ 20 ปี
หลังจากเข้าร่วมศาสนจักรในโมซัมบิก ดิฉันย้ายมาแอฟริกาใต้ นี่คือประเทศที่สวยงาม รุ่งเรืองที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา ความสวยงามนี้ได้รับอิทธิพลจากความหลากหลายของผู้คนและความร่ำรวยในวัฒนธรรม
แอฟริกาใต้เป็นชาติที่ยังคงอยู่ในระหว่างการเยียวยาจากประวัติศาสตร์ที่ปกคลุมไปด้วยการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ แม้การแบ่งแยกสีผิวจะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 1994 แต่รอยแผลของการดำเนินนโยบายเหยียดเชื้อชาติของรัฐบาลแต่ก่อนนี้ยังคงอยู่
ในฐานะสตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผิวดำชาวโมซัมบิกผู้อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้เป็นเวลา 18 ปี ดิฉันพบการเลือกปฏิบัติและการกีดกัน ซึ่งมักแสดงให้เห็นเป็นนัยๆ การเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดชนชั้น การเหยียดเผ่า การเหยียดเพศ และการกลัวคนต่างถิ่นเป็นบางตัวอย่างของปัญหาที่เกิดจากการแบ่งแยกซึ่งสังคมยังคงเผชิญอยู่ ยังมีบางอย่างในความเป็นปุถุชนที่ดูเหมือนต้องการแบ่งแยกสังคมและทำให้เราเชื่อว่าความแตกต่างไม่ดี
สิ่งที่เราพยายามทำ
วิธีคิดแบบนี้มีแนวโน้มจะมีอิทธิพลต่อสมาชิกศาสนจักรได้หรือไม่? ได้แน่นอน เราต้องทิ้งความเป็นปุถุชนด้วยความพยายามตลอดชีวิตเพื่อเป็นวิสุทธิชนผ่านการชดใช้ของพระคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 3:19)
เมื่อใดก็ตามที่ดิฉันกับลูกๆ รู้สึกโดดเดี่ยว ถูกมองข้าม ถูกเหมารวม หรือถูกมองว่าเป็นพวกประหลาด เราก็กลับมาคุยกันเรื่องนี้ที่บ้าน เราพูดว่า “เมื่อสักครู่นี้เกิดอะไรขึ้น? ให้เราลองคิดดู มาคุยกันซิว่าทำไมผู้คนจึงมีพฤติกรรมแบบนี้” การคุยเรื่องนี้ช่วยหยุดความรู้สึกเคืองแค้นในใจเรา
ดิฉันพยายามสอนลูกๆ ว่าความยิ่งใหญ่ของตนเองดูจากจากวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้คนที่ถูกลดความสำคัญหรือถูกแยกออกจากกลุ่มในสังคม (ดู มัทธิว 25:40) นั่นหมายความถึงการค้นหาวิธีที่จะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นๆ เพื่อที่เราจะไม่กีดกันพวกเขา
ดิฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู
ประสบการณ์ที่เจ็บปวดเทียบเท่ากับบางประสบการณ์คือ บทเรียนที่เรากำลังเรียนรู้กำลังทำให้ลูกๆ เป็นคนดีขึ้น รวมทั้งตัวดิฉันเองด้วย ความผิดหวังของเราช่วยให้เราพัฒนาความเมตตาสงสารและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ประสบการณ์เรื่องอคติทำให้ดิฉันมีโอกาสเลือก ดิฉันจะรู้สึกขมขื่นแล้วแก้แค้น หรือจะให้โอกาสบุคคลนั้นไม่เพียงอีกครั้ง แต่ให้อีกเป็นครั้งที่สอง ที่สามและที่สี่? ดิฉันจะมองสังคมว่าเป็นสถานที่น่ากลัว หรือดิฉันจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก?
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเผชิญกับอคติเนื่องจากสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น สิ่งที่พระองค์ทรงเชื่อ และสถานที่ซึ่งพระองค์จากมาเช่นกัน (ดู ยอห์น 1:46) กระนั้นพระองค์มิได้ทรงตอบสนองด้วยความรุนแรง ความโกรธ ความขมขื่น หรือเกลียดชัง พระองค์ทรงสอนให้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดและทรงกระทำในความรักและความจริง ทรงสอนว่าอำนาจและอิทธิพลมาจากการชักชวน ความอดกลั้น ความสุภาพอ่อนน้อม ความอ่อนโยน และความรัก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41) ทรงสอนว่าเมื่อเราถูกทำให้ขุ่นเคือง เราควรไปหาพี่น้องของเราและพูดคุยแก้ปัญหาเรื่องนั้น (ดู มัทธิว 18:15) ทรงสอนให้เราสวดอ้อนวอนเพื่อคนที่ข่มเหงเรา (ดู มัทธิว 5:38–48) และเมื่อพระองค์ทรงถูกสอบสวนอย่างไม่ยุติธรรมและถูกตรึงกางเขนให้สิ้นพระชนม์ ทรงสอนเราที่จะให้อภัย (ดู ลูกา 23:34)
ในที่สุด เป็นความรักของพระองค์ที่จะเปลี่ยนเราและโลก (ดู 2 นีไฟ 26:24)
และดิฉันจะพยายามต่อไป
ดิฉันไม่ใช่คนดีพร้อม เมื่อมีใครดูหมิ่น ดิฉันให้อภัยทันทีไม่ได้เสมอไป ต้องใช้เวลา ต้องเยียวยา และต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำงานกับดิฉัน บางครั้งดิฉันเลือกที่จะขุ่นเคือง และไม่น้อมรับการกระตุ้นเตือนของพระองค์โดยทันที แต่ดิฉันเปิดใจต่อพระองค์ พระวิญญาณทรงทำงานกับดิฉันอย่างอดทนจนดิฉันสามารถเข้าใจสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้ดิฉันทำต่อสถานการณ์นั้น
การแสวงหาของดิฉันคือการเห็นผู้คนดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็น เพื่อทำเช่นนั้น เราต้องเต็มใจที่จะยอมรับว่าเราไม่มีคำตอบทั้งหมด เมื่อเราเต็มใจที่จะกล่าวว่า “ฉันไม่ดีพร้อม ต้องเรียนรู้อีกมาก ฉันจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากมุมมองของคนอื่น?”—นั่น คือเวลาที่เราสามารถฟังได้จริงๆ นั่น คือเวลาที่เราสามารถมองเห็นอย่างแท้จริง
ขณะดิฉันเดินบนเส้นทางนี้ สิ่งนี้ช่วยให้จำได้ว่าดิฉันมาที่นี่เพื่อจุดประสงค์หนึ่ง ว่าการทดลองของชีวิตเป็นสิ่งชั่วคราว—เป็นส่วนที่จำเป็นของความเป็นมรรตัย—และดิฉันไม่โดดเดี่ยว โดยผ่านทุกสิ่ง ดิฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู! ความพยายาม มีพลัง และเมื่อเราล้มเหลว เราพยายามอีกได้