2022
ค้นหาความจริงในยุคที่มีแต่ข้อมูลเท็จ
ตุลาคม 2022


ค้นหาความจริงในยุคที่มีแต่ข้อมูลเท็จ

แนวคิดทั้งห้านี้สามารถช่วยให้ท่านพัฒนาความรู้ด้านสื่อที่ดีและจับคู่ความรู้นั้นกับการนำทางจากสวรรค์

placeholder altText

โปรดระวังปลาที่ท่านตกมาได้จากทะเลที่เต็มไปด้วยข้อมูล เพราะท่านอาจพบสิ่งที่ท่าน ไม่ ต้องการ

เราอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลภายในเวลาไม่กี่วินาทีนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เรามีนั้นเชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ วิธีหนึ่งที่เราสามารถสำรวจน่านน้ำที่ยากลำบากเหล่านี้คือการเป็น “ผู้รู้เท่าทันสื่อ” ให้มากขึ้น

การรู้เท่าทันสื่อที่เราหมายถึงนั้นคืออะไร และสิ่งนี้จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการถูกหลอกในยุคสุดท้ายนี้ได้อย่างไร? การรู้เท่าทันสื่อคือ “ความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ ประเมิน และสร้างข่าวสารในรูปแบบต่างๆ”1 สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีแต่ข้อมูลเท็จเต็มไปหมด

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อท่านเริ่มฝึกฝนการรู้เท่าทันสื่อ

1. ศึกษาให้ดี

พระคัมภีร์สอนเราว่า “ข้อกล่าวหาใดๆ ต้องมีพยานสองสามปากจึงจะเป็นที่เชื่อถือได้” (2 โครินธ์ 13:1) เราสามารถประยุกต์ใช้หลักการเดียวกันนี้กับความพยายามในการแสวงหาข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้อง แม้ว่าเราจะสามารถค้นหาคำตอบสำหรับคำถามสำคัญๆ ได้อย่างง่ายดายด้วยการค้นเว็บแบบง่ายๆ แต่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนั้นต้องใช้เวลาและความพยายาม นอกจากนี้ การพึ่งพาแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียวยังก่อให้เกิดอันตรายอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สื่อดูเหมือนจะเลือกข้างใดข้างหนึ่งกันมากขึ้น และในช่วงที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะได้รับข้อมูลที่ดีขึ้นหากเราค้นหาแหล่งข้อมูลหลายแหล่งจากช่องทางหลายช่องทาง เช่น หนังสือ บทความในหนังสือพิมพ์ การศึกษาเชิงวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้คนอื่นๆ

2. ตรวจสอบแหล่งที่มาของท่านซ้ำอีกครั้ง

เรามีแนวโน้มที่จะใช้ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราบริโภคแบบไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรารู้สึกว่าเราสามารถเชื่อถือแหล่งที่มาของข้อมูล อย่างไรก็ตาม แม้แต่แหล่งข้อมูลที่มีเจตนาดีที่สุดก็อาจผิดพลาดได้ในบางครั้ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลที่เราได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะปฏิบัติตามหรือแบ่งปันกับผู้อื่น

3. ระวังสื่อสังคมออนไลน์ที่ “ยึดติดกับความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง”

การสำรวจล่าสุดที่เผยแพร่โดย Pew Research Center เปิดเผยว่าผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเกือบครึ่ง (48 เปอร์เซ็นต์) ได้รับข่าวสารและข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์2 แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมในการให้ข้อมูล แต่เนื้อหาที่เราพบในฟีดนั้นส่วนใหญ่อิงตามกลยุทธ์ที่ตั้งใจจะดึงความสนใจของเรา แทนที่จะให้ข้อมูลที่มีค่าและถูกต้องแก่เรา อัลกอริธึมที่ปรับให้เข้ากับแต่ละบุคคลและความสามารถของเราในการควบคุมกลุ่มเพื่อนภายในแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจทำให้เราสร้างความเชื่อในแบบของเราเอง ซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นของเรานั้นขยายไปในวงกว้าง และเราจะได้รับข้อมูลที่เน้นเฉพาะความสนใจของเราเองเท่านั้น

สื่อสังคมออนไลน์ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะข้อมูลที่เป็นเท็จและข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิดอีกด้วย เนื่องจากการสร้างและแบ่งปันเนื้อหามีความสะดวกมาก ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อมูลที่เราเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างละเอียดและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่เราจะเชื่อหรือเลือกแบ่งปัน ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเคยเตือนเราว่า “หากข้อมูลที่ท่านได้รับส่วนใหญ่มาจากโซเชียลมีเดียหรือสื่ออื่นๆ ความสามารถในการได้ยินเสียงกระซิบของพระวิญญาณจะลดลง”3

4. จงฟังพระวิญญาณ

โลกนี้เต็มไปด้วยข้อความมากมายที่แข่งกันดึงความสนใจเรา ซึ่งบอกเราว่าต้องคิดอย่างไรและต้องทำอย่างไร ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า วิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะ “เสียงรบกวน” ในโลกคือการฟังและทำตามสุรเสียงของพระวิญญาณ “ต้องใช้ความอดทนในโลกที่เรียกร้องให้สนองความพอใจในทันที วิธีนี้เงียบสงบ และละเอียดอ่อนในโลกที่หลงใหลสิ่งซึ่งส่งเสียงดัง ไม่หยุดหย่อน รัวเร็ว ฉูดฉาด และหยาบคาย” ท่านกล่าว4

พระวิญญาณเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถช่วยเราแยกแยะและระบุข้อมูลที่ถูกต้องและมีค่าได้ เราพบการปลอบโยนในคำสัญญาของโมโรไนที่ว่า “โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ท่านจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง” (โมโรไน 10:5) แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระวิญญาณกำลังตรัสกับเรา? ดังที่พระเจ้าแนะนำออลิเวอร์ คาวเดอรีว่า “เราจะบอกเจ้าในความนึกคิดเจ้าและในใจเจ้า, โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์, ซึ่งจะเสด็จมายังเจ้าและซึ่งจะสถิตอยู่ในใจเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2)

เราอาจต้องใช้ความพยายามทางปัญญาอย่างดีที่สุดเพื่อระบุความจริงจากความผิดพลาด ตลอดจนต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินชีวิตในแบบที่มีพระวิญญาณสถิตกับเรา ระมัดระวังอย่ามีส่วนร่วมในสื่อหรือเนื้อหาอื่นๆ ที่จะขับไล่พระวิญญาณบริสุทธิ์ออกไป

ชายคนหนึ่งตกปลาข้างประภาคาร

คำแนะนำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกสามารถส่องทางและช่วยให้เราแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จได้เช่นเดียวกับประภาคาร

5. ทำตามศาสดาพยากรณ์

ระหว่างการเดินทางอันยากลำบากและยาวนานออกจากอียิปต์ ลูกหลานของอิสราเอลเริ่มบ่นว่าพระเจ้า พวกเขาถามโมเสสว่า “ทำไมพาเราออกจากอียิปต์ให้มาตายในถิ่นทุรกันดาร?” (กันดารวิถี 21:5) งูพิษถูกส่งไปท่ามกลางผู้คนเนื่องจากการบ่นว่าของพวกเขา หลายคนถูกกัดและเสียชีวิต เมื่อโมเสสไปหาพระเจ้าแทนพวกเขา พระเจ้าทรงแนะนำให้เขาทำงูพิษแล้วพันไว้ที่เสา ผู้ที่ถูกกัดเพียงมองดูงูทองเหลืองและจะมีชีวิตรอด—วิธีง่ายๆ ในการแก้ปัญหาที่คุกคามชีวิตเรา ชาวอิสราเอลที่เลือกมองก็สามารถมีชีวิตอยู่ (ดู กันดารวิถี 21:6–9) แต่คนอื่นๆ คิดว่าวิธีแก้นั้นง่ายเกินไป ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะไม่เชื่อ พวกเขาไม่ได้มองไปที่งูทองเหลืองและเสียชีวิตในที่สุด (ดู 1 นีไฟ 17:41; แอลมา 33:19–20)

ในสมัยของเรา เราเผชิญกับมารผจญที่คล้ายๆ กับ “งูพิษ” ซึ่งมาในรูปแบบของข้อมูลเท็จ ความแตกแยก หรือกระทั่งข้อมูลมุ่งร้ายที่มุ่งหมายจะทำร้ายเราและผู้อื่น หากเราบริโภคข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นอันตรายอย่างมากได้—ตายทางวิญญาณ ทางจิตใจ และทางอารมณ์—เช่นเดียวกับที่งูพิษทำต่อลูกหลานของอิสราเอล

แนวป้องกันที่ดีที่สุดของเราในวันสุดท้ายจากข้อมูลเท็จที่ “ล่อลวงแม้พวกที่พระเจ้าทรงเลือก” (มัทธิว 24:24) คือการมองไปที่ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตของเรา แม้โลกอาจไม่เห็นคุณค่าในคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ แต่เรารู้ว่าท่านเป็นกระบอกเสียงของพระเจ้า พระเจ้าตรัสกับเราว่า “ไม่ว่าโดยเสียงของเราเอง หรือโดยเสียงของผู้รับใช้ทั้งหลายของเรา, ก็เหมือนกัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38) เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำให้ข่าวสารและข้อมูลสมดุลกับพระวจนะของพระเจ้า รวมทั้งสมดุลกับคำแนะนำที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์ด้วย เมื่อเราพึ่งพาการนำทางของท่านเหล่านั้นและเมื่อเราตรวจสอบสิ่งที่เราได้ยินจากโลกเทียบกับสิ่งที่เราได้ยินจากพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ เราจะแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จได้ง่ายขึ้น

แสวงหาปัญญา

ด้วยข้อมูลผิดทั้งหมดที่มีอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่เปาโลกล่าวว่าในยุคสุดท้าย มนุษย์จะ “ร่ำเรียนอยู่เสมอ แต่ไม่สามารถเข้าใจหลักความจริงได้เลย” (2 ทิโมธี 3:7)

ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเป็นของขวัญจากพระบิดาบนสวรรค์ของเรา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อมูลมากมาย “จุดเริ่มต้นของปัญญาเป็นอย่างนี้คือ จงเอาปัญญา ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้” (สุภาษิต 4:7) นั่นคือสิ่งที่เราไม่สามารถพึ่งพาเครื่องมือค้นหาได้

แต่เมื่อเราแสวงหาปัญญา เราต้อง “แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118) การจับคู่การรู้เท่าทันสื่อที่ดีและความพยายามทางปัญญาที่ดีที่สุดของเราเข้ากับการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและความพยายามทางวิญญาณอย่างดีที่สุดจะเชื้อเชิญการนำทางทางวิญญาณที่เราต้องการเพื่อแยกแยะความจริงจากข้อมูลที่ผิดพลาดและหลีกเลี่ยงการถูกหลอกโดยข้อมูลเท็จที่อยู่รอบตัวเรามากมาย

อ้างอิง

  1. “Media Literacy: A Definition and More,” Center for Media Literacy, medialit.org.

  2. ดู Mason Walker and Katerina Eva Matsa, “News Consumption across Social Media in 2021,” Sept. 20, 2021, pewresearch.org.

  3. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “จัดสรรเวลาให้พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 120.

  4. เจมส์ อี. เฟาสท์ “สุรเสียงของพระวิญญาณ,” เลียโฮนา มิ.ย. 2006, 6.