“หนักใจ? จงจดจ่ออยู่ที่พระคริสต์,” เลียโฮนา, ต.ค. 2022
คนหนุ่มสาว
หนักใจ? จง จดจ่ออยู่ที่พระคริสต์
เมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบของฉันที่เป็นสมาชิกของศาสนจักรดูหนักหนา พระคริสต์ทรงเปลี่ยนใจของฉันและช่วยให้ฉันเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณของพระองค์
ถ้าฉันต้องสรุปสองสามปีที่ผ่านมาด้วยคำพูดเพียงคำเดียว ก็คงเป็นคำว่า เหนื่อยล้า ทุกอย่างดูเหมือนจะหนักมากทีเดียวซึ่งรวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของฉันในฐานะสมาชิกศาสนจักร ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าฉันควรใส่ใจอะไรอย่างแท้จริง หรือฉันควรจะทุ่มเทพลังงานที่มีเล็กน้อยอย่างไร
เราได้รับคำแนะนำที่ชาญฉลาดจากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันว่า “หันใจ จิตใจและจิตวิญญาณ [ของพวกเรา] มาหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ”1 ในระหว่างช่วงเวลาที่ท้าทายนี้
เมื่อฉันพยายามนำคำปรึกษานี้ไปใช้ในชีวิตของฉัน ในตอนแรกฉันรู้สึกว่าน่าหนักใจ โดยที่คิดว่าฉันจำเป็นต้องทำตามแนวทางปฏิบัติทุกข้ออย่างสมบูรณ์แบบเพื่อความพยายามของฉันจะสร้างความแตกต่าง แต่พระวิญญาณได้เตือนอย่างอ่อนโยนว่า “ไม่จำเป็นที่ [เรา] จะวิ่งไปเร็วเกินกำลัง [ที่เรามี]” (โมไซยาห์ 4:27) ฉันตระหนักว่า ฉันจำเป็นต้องจดจ่อไปที่สิ่งแรกสุด นั่นคือพระคริสต์
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาเราคือประจักษ์พยานของเหล่าอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง ทรงคืนพระชนม์อีกครั้งในวันที่สาม และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องดังกล่าว”2
การเสริมสร้างความเข้าใจของฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ช่วยให้ฉันสามารถสร้างประจักษ์พยานถึงคำสอนพระกิตติคุณที่เป็นศูนย์กลางของพระองค์ซึ่งช่วยให้ฉันเข้าใจ เหตุผล เบื้องหลังทุกสิ่งที่เราได้รับคำบัญชาและคำแนะนำ นั่นคือทุกอย่างมุ่งไปที่พระคริสต์
การเข้าใจพระคริสต์
ในคำอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ (ดู มัทธิว 25:14–30) พระเจ้าทรงมอบทรัพย์สิ่งของแก่บ่าวสามคนก่อนจะเสด็จไปไกล เมื่อกลับมาแล้วบ่าวสองคนใช้พรสวรรค์ของตนและได้รับพรขณะคนที่สามซ่อนพรสวรรค์ของตนไว้และถูกขับไล่ออกไป
เราอาจสงสัยว่าบ่าวรู้ว่าจะทำอย่างไรกับพรสวรรค์ที่พวกเขาได้รับ ทั้งสามคนต่างมี “ความสามารถ” (มัทธิว 25:15) และรู้วิธีลงทุน แต่คนที่สามเลือกที่จะไม่ใช้ความรู้ของเขา เขาเข้าใจงานของเขา แต่บางทีเขาอาจจะไม่เข้าใจพระเจ้าของเขา
ด้วยความเข้าใจถึงพระคริสต์อย่างลึกซึ้งเราไม่จำเป็นต้องได้รับ “บัญชา” ในทุกสิ่งแต่จะรู้จักพระคริสต์และคำสอนของพระองค์ดีพอที่จะ “ทำสิ่งสารพันด้วยเจตจำนงอิสระ [ของเรา] , และทำให้เกิดความชอบธรรมยิ่ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26–27) ยิ่งเรารู้จักพระองค์มากเท่าใดการกระทำของเราก็จะสะท้อนพระประสงค์ของพระองค์เพื่อเรามากเท่านั้น
พระเจ้าทรงหวังว่าเราจะใช้ความสามารถของเราเพื่อเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมเหมือนพระคริสต์ในชีวิตของเรา โดยหลักแล้วพระองค์ทรงคาดหวังว่าเราจะเป็นเหมือนพระองค์3
เรียนจากพระองค์
การเรียนจากพระคริสต์คือความอุตสาหะนิรันดร์และพระองค์ทรงช่วยเราในทุกย่างก้าว ในสาขาการศึกษามีแนวคิดที่เรียกว่า นั่งร้าน ครูจะใช้แนวคิดนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้นและมีความเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อพวกเขาเรียนรู้4 และเราก็อาจกล่าวได้ว่าพระเยซูคริสต์ในฐานะที่ทรงเป็นพระอาจารย์พระองค์ทรงใช้นั่งร้านเพื่อช่วยให้เราเติบโตในพระกิตติคุณของพระองค์และ “เรียนจาก [พระองค์]” (มัทธิว 11:29; ดู ข้อ 28; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23 ด้วย)
ในฐานะสาวกของพระเยซูคริสต์ เราจะเสริมสร้างความเข้าใจของเราอย่างต่อเนื่องถึงสิ่งที่เรารู้และเพิ่มเติมความรู้ “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์” (2 นีไฟ 28:30) ขณะที่เราเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระคริสต์ พระองค์จะวางพระทัยเราด้วยความรู้เพิ่มเติม “เพราะเขาที่ได้รับเราจะให้อีก” (2 นีไฟ 28:30)
ลองคิดดูว่าเราถูกสอนขณะที่เราเป็นเด็กได้อย่างไร เด็กเล็กจำเป็นต้องมีการเตือนความจำอยู่เสมอเพื่อช่วยเน้นย้ำความเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สอนไว้แล้ว ในสนามเด็กเล่น อาจต้องเตือนเด็กวัยหัดเดินหลายสิบครั้งว่าอย่านำสิ่งสกปรกเข้าปาก อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาเติบโตและรู้การควรไม่ควร พวกเขาจะเข้าใจหลักการเหล่านั้นมากขึ้น และพ่อแม่ของพวกเขาก็จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
มีบางครั้งที่เราอาจต้องเรียนรู้อะไรบางอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่นั่นเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับนั่งร้าน เราจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพระอาจารย์ของเรา พระเยซูคริสต์ทรงทำการชดใช้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและศรัทธา เราจะหันไปหาพระองค์ผ่านการกลับใจและถูกสอนอีกครั้ง
การปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์
อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของพระบิดาบนสวรรค์และพระคริสต์ที่ประทานแก่เรา เราจะได้รับแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม บางครั้งแนวทางนี้จะรวมถึงแนวทางเฉพาะที่เราควรปฏิบัติตาม เราอาจพิจารณาถึงแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนั่งร้านของพระคริสต์ ซึ่งเป็นคำแนะนำเฉพาะเพื่อช่วยให้เราเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่แสดงถึง
ยกตัวอย่างเช่น หลักธรรมพระกิตติคุณเกี่ยวกับความสุภาพ จุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ให้นิยามที่เฉพาะเจาะจงมากและสามารถนำไปปฏิบัติได้สำหรับเครื่องแต่งกายที่ไม่สุภาพ กล่าวคือ “เสื้อผ้ารัดรูป บางมาก หรือเปิดเผยร่างกายทุกรูปแบบ”5 ขณะที่เราปฏิบัติตามแนวทางนี้มันสามารถช่วยเราเสริมสร้างความเข้าใจของเราว่าความสุภาพคืออะไรจริงๆ ซึ่งคือเจตคติของความอ่อนน้อมถ่อมตน ความถ่อมใจ และ “[การ] ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” (1 โครินธ์ 6:20)6 จนกว่าการเปลี่ยนแปลงใจเราและการกระทำของเราให้เข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้นกลายเป็นธรรมชาติที่สองของเรา
ตอนที่ฉันใช้การเปลี่ยนผ่านความคิดนี้กับ “สิ่งที่ต้องทำ” ที่ฉันรู้สึกว่าต้องทำให้สำเร็จในพระกิตติคุณ ความรู้สึกที่เพิ่มพูนขึ้นของการเหนื่อยล้าก็เริ่มเปลี่ยนไปสู่ความรู้สึกของศรัทธา ภาระของฉันเบาลงเมื่อฉันมองไปที่หลักธรรมพระกิตติคุณสำคัญแต่ละข้อที่ต้องทำหรือพระบัญญัติแต่ละข้อว่าหมายถึงอะไร ส่วนสิบสอนฉันเกี่ยวกับการนำกฎแห่งการอุทิศถวายมาใช้ในชีวิต การเข้าโบสถ์ในแต่ละสัปดาห์เพื่อรับศีลระลึกกลายเป็นบทเรียนในการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ทันใดนั้นเองก็รู้สึกเหมือนมีวิญญาณและไม่ใช่แค่ตัวอักษรเท่านั้นที่เป็นกฎของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของฉัน
ยอมให้พระองค์เปลี่ยนใจเรา
ขณะที่เราจดจ่ออยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด และยอมให้พระองค์เปลี่ยนใจเรา รูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้าจะ “จารึกอยู่บนสีหน้า [ของเรา]” (แอลมา 5:19) พระองค์ไม่เพียงทรงต้องการให้เราทำตามพระองค์แต่ทรงประสงค์ให้เราเป็นเหมือนพระองค์เพื่อจะได้คิดและทำตามอย่างที่พระองค์จะทรงทำ เพื่อ รู้จัก พระองค์
ในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ (ดู มัทธิว 25:14–30) บ่าวคนสุดท้ายจะอ้างว่ารู้จักพระเจ้าได้อย่างไรหากเขาทำในทางตรงข้ามกับพระประสงค์ของพระองค์? เขาอาจจะเข้าใจพระเจ้าของเขาในระดับผิวเผินว่าเป็น “คนใจตระหนี่” (มัทธิว 25:24) ขณะที่ “บ่าวที่ดีและซื่อสัตย์ (มัทธิว 25:21) เข้าใจพระเจ้าถึงแก่นแท้ของพระองค์
เราจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้าใจของเราเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่สำคัญของพระองค์ เพื่อจะรู้จักพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดถึงแก่นแท้ของทั้งสองพระองค์อย่างแท้จริง พระคริสต์ทรงสอนหลักธรรมสำคัญหลายประการใน ยอห์น 3:3 – 21 รวมถึงการชดใช้ของพระองค์และความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีต่อเรา เราเรียนรู้เพิ่มเติมในพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อ รักพระผู้เป็นเจ้า และรักเพื่อนบ้านของเราเหมือนตัวเราเอง (ดู มัทธิว 22:37–39)
พระบัญญัติ พันธสัญญาของเราและการเรียกทั้งหมดในพระกิตติคุณมุ่งไปที่หลักธรรมอันเป็นแก่นแท้พื้นฐานเหล่านี้ซึ่งชี้ไปที่พระเยซูคริสต์ พิจารณาว่าคำสอนอื่นๆ ช่วยสนับสนุนความจริงที่เป็นสาระสำคัญในพระกิตติคุณได้อย่างไร ศีลระลึกสอนอะไรท่านเกี่ยวกับความรักของพระผู้เป็นเจ้า? การปฏิบัติศาสนกิจสอนอะไรท่านเกี่ยวกับความรักของท่านต่อพระผู้เป็นเจ้า?
มุ่งไปที่พระองค์
เมื่อเราเห็นพระบัญญัติและความรับผิดชอบของเราในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำซึ่งลำบาก ความรู้สึกเหนื่อยล้าของเราสามารถทำให้เราตั้งคำถามได้ว่าการทำตามนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ด้วยทัศนคติเช่นนี้เราอาจเริ่มรู้สึกขมขื่นและเริ่มมองเห็นพระบัญญัติเป็นการจำกัดและไม่เป็นธรรม แต่การเข้าใจแผนความสุขโดยมีพระเยซูคริสต์ที่ศูนย์กลางของแผนช่วยให้เรามุ่งเน้น เหตุผล ที่อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้เราทำและสามารถเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบของเราให้มีความหมายได้ (ดู แอลมา 12:32)
เมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญหรือสิ่งที่คุ้มค่ากับพลังความมั่นคงของเราขอให้เรา “ใช้อนุภาคหนึ่งของศรัทธา” (แอลมา 32:27) ว่าพระคริสต์ทรงเป็นหนทางและเส้นทางพันธสัญญาจะนำเราไปหาพระองค์ “ทดลองคำพูด [ของพระองค์] … แม้หาก [เรา] ทำไม่ได้มากไปกว่าปรารถนาที่จะเชื่อ” (แอลมา 32:27) ในการทำเช่นนั้นเราอาจเห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแก่นแท้ของทุกสิ่งอย่างไร หรือแม้แต่สิ่งที่ท่านกำลังดิ้นรนอย่างลำบากในพระกิตติคุณ จะเป็นอย่างไรถ้าทุกอย่างมุ่งไปที่พระคริสต์ การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์? จะเป็นอย่างไรถ้าทุกอย่างมุ่งไปที่ความรักของพระองค์และของพระบิดาบนสวรรค์ที่มีต่อเรา?
เนื่องจากฉันได้วางรากฐานประจักษ์พยานของฉันไว้ในพระคริสต์ ภาระของการเหนื่อยล้าจึงรู้สึกเบาบางลง บางครั้งฉันยังคงรู้สึกหนักใจแต่การปรับโฟกัสหัวใจของฉันใหม่อีกครั้งจะช่วยให้ฉันตระหนักว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความพยายามของฉันทั้งใหญ่และเล็กเพื่อเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นในแต่ละวัน