“12 กันยายน เราจะเผชิญความยากลำบากด้วยศรัทธาได้อย่างไร? หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2021 (2020)
“12 กันยายน เราจะเผชิญความยากลำบากด้วยศรัทธาได้อย่างไร?” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2021
12 กันยายน
เราจะเผชิญความยากลำบากด้วยศรัทธาได้อย่างไร?
หารือกัน
นำโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมหรือฝ่ายประธานชั้นเรียน ประมาณ 10–20 นาที
ในช่วงต้นของการประชุม ให้ท่อง สาระสำคัญโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน หรือ สาระสำคัญเยาวชนหญิง พร้อมกัน จากนั้นให้นำการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ และวางแผนวิธีลงมือทำตามที่ท่านสนทนา (ท่านสามารถตัดสินใจในการประชุมฝ่ายประธานว่าจะสนทนาเรื่องใด):
-
โควรัมหรือชั้นเรียนของเรา ใครต้องการความช่วยเหลือและคำสวดอ้อนวอนของเรา? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือพวกเขา? เราควรเชิญใครมากิจกรรมคราวหน้า?
-
หน้าที่หรือความรับผิดชอบของเรา เราทำงานมอบหมายอะไรไปแล้วบ้าง? เราต้องมอบหมายอะไรบ้าง? เราได้เชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์อย่างไร และเวลานี้เราจะเชื้อเชิญผู้อื่นได้อย่างไร?
-
ชีวิตเรา เมื่อเร็วๆ นี้ประสบการณ์ใดเสริมสร้างประจักษ์พยานของเรา? มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเรา และเราจะสนับสนุนกันได้อย่างไร?
ตอนจบบทเรียนให้ทำดังต่อไปนี้เมื่อเห็นเหมาะสม:
-
เป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอน
-
เตือนความจำสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับแผนและคำเชื้อเชิญที่ทำไว้ระหว่างการประชุม
สอนหลักคำสอน
นำโดยผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชน ประมาณ 25–35 นาที
เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ
พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 และ 101 ปลอบโยนวิสุทธิชนที่กำลังประสบการทดลองสาหัสในมิสซูรีในทศวรรษ 1830 แม้การทดลองของเราจะต่างจากการทดลองของสมาชิกยุคแรกของศาสนจักร แต่เราทุกคนล้วนประสบความยากลำบากระหว่างความเป็นมรรตัย และการตอบสนองความยากลำบากด้วยศรัทธาจะช่วยให้เราเติบโตทางวิญญาณและเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น
การหันมาหาพระเจ้าในยามยากได้ทำให้ท่านเข้มแข็งและปรับปรุงความสัมพันธ์ของท่านกับพระเยซูคริสต์อย่างไร? สมาชิกในโควรัมหรือชั้นเรียนของท่านกำลังประสบความท้าทายและการทดลองอะไรบ้าง และท่านจะช่วยให้พวกเขาพบพลังในพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร? เพื่อช่วยท่านเตรียมสอนเกี่ยวกับความยากลำบาก ท่านอาจจะทบทวนข่าวสารของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “บาดเจ็บ” (เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 83–86) และ “ความทุกข์ยาก” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา ([2004], 108–112)
เรียนรู้ด้วยกัน
สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนของท่านแต่ละคนกำลังต่อสู้กับความท้าทายของตน ท่านรู้สึกว่าพวกเขาจะพบการปลอบโยนอะไรได้บ้างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3? ท่านอาจจะใช้กิจกรรมด้านล่างหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นช่วยให้พวกเขาเข้าใจวิธีอดทนต่อความยากลำบากด้วยศรัทธาในพระเจ้า
-
พระคัมภีร์มีตัวอย่างมากมายของคนที่อดทนต่อการทดลองด้วยศรัทธา สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนสามารถเรียนรู้วิธีอดทนต่อความยากลำบากด้วยศรัทธาโดยศึกษาบางตัวอย่างเหล่านี้ (ดูบางตัวอย่างใน “แหล่งข้อมูลสนับสนุน”) พวกเขาแต่ละคนอาจเลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อและสรุปประสบการณ์ของบุคคลนั้นให้โควรัมหรือชั้นเรียนฟัง เราได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับสาเหตุที่เรามีความยากลำบาก? เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีอดทนต่อความยากลำบากด้วยศรัทธา? เชื้อเชิญให้สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนจดการทดลองที่พวกเขาหรือคนที่พวกเขารักกำลังประสบและไตร่ตรองว่าพวกเขาจะดึงเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดมาช่วยพวกเขาระหว่างการทดลองเหล่านี้ได้อย่างไร
-
เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุบางประการของความยากลำบากและสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากการทดลองของเรา ท่านอาจอ่านสองย่อหน้าแรกด้วยกันใต้ “ความทุกข์ยาก” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา (หน้า 108) ขอให้สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ จากนั้นให้แต่ละคนทบทวนสามหัวข้อที่เหลือใต้ “ความทุกข์ยาก” และเตรียมสอนคนอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ รวมทั้งวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราระหว่างการทดลอง กระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านถ้าพวกเขารู้สึกสบายใจจะทำเช่นนั้น
-
วิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นการสนทนาเรื่องความยากลำบากคือลากเส้นตรงลงมากลางกระดานและเขียนว่า เหตุใดเราจึงมีความยากลำบาก? ไว้ด้านหนึ่ง และ เราจะเผชิญความยากลำบากด้วยศรัทธาได้อย่างไร? ไว้อีกด้านหนึ่ง สมาชิกในโควรัมหรือชั้นเรียนของท่านอาจจะอ่านคนละหัวข้อจากข่าวสารของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “บาดเจ็บ” โดยมองหาคำตอบของคำถามบนกระดาน เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข่าวสารของเอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็น?
-
เอ็ลเดอร์สแตนลีย์ จี. เอลลิสใช้ตัวอย่างของลูกเจี๊ยบกับผีเสื้อสอนเรื่องความยากลำบากในข่าวสารของท่านเรื่อง “เราวางใจพระองค์หรือไม่ ยากแหละดี” (เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 112–114) ท่านอาจให้ดูภาพลูกเจี๊ยบออกจากไข่หรือผีเสื้อโผล่ออกจากดักแด้และสนทนาสิ่งที่เอ็ลเดอร์เอลลิสสอน จากนั้นคนที่ท่านสอนอาจทำงานด้วยกันเป็นคู่เพื่อทบทวนคำพูดของเอ็ลเดอร์เอลลิส แต่ละคู่อาจเขียนทุกอย่างที่พวกเขาหาเจอที่ท่านสอนว่าเหตุใดเราจึงมีความยากลำบากและเราควรตอบสนองอย่างไร การอดทนด้วยศรัทธาในยามยากได้ช่วยให้เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร?
ลงมือทำด้วยศรัทธา
กระตุ้นสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนให้ไตร่ตรองและบันทึกสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อลงมือทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับวันนี้ บทเรียนวันนี้เกี่ยวข้องกับเป้าหมายส่วนตัวที่พวกเขาตั้งไว้อย่างไร? สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันแนวคิดหากพวกเขาประสงค์จะทำเช่นนั้น
แหล่งข้อมูลสนับสนุน
-
1 ซามูเอล 1; 1 พงศ์กษัตริย์ 17; ลูกา 23:33–34; 1 นีไฟ 5:1–9; โมไซยาห์ 24:8–17; 3 นีไฟ 1:4–21; โมโรไน 1; คู่มือพระคัมภีร์, “รูธ” และ “เอสเธอร์” scriptures.ChurchofJesusChrist.org (ตัวอย่างของคนที่เผชิญความยากลำบาก)
-
ยอห์น 14:18; โรม 8:28, 35–39; แอลมา 36:3 (พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราในยามยาก)
-
“God Will Lift Us Up,” “The Will of God,” วีดิทัศน์, ChurchofJesusChrist.org
NaN:NaN2:57