จงตามเรามา
2–8 ธันวาคม: “เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง” โมโรไน 1–6


“2–8 ธันวาคม: ‘เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง’ โมโรไน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“2–8 ธันวาคม โมโรไน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

แอลมาให้บัพติศมาผู้คนในผืนน้ำแห่งมอรมอน

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976), แอลมาให้บัพติศมาในผืนน้ำแห่งมอรมอน 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัดขนาด 35 7/8 × 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 1969

2–8 ธันวาคม: “เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง”

โมโรไน 1–6

หลังจากจบบันทึกชาวนีไฟของบิดาและย่อบันทึกของชาวเจเร็ดจบแล้ว โมโรไนคิดว่างานบันทึกของเขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว (ดู โมโรไน 1:1) มีอะไรต้องพูดอีกบ้างเกี่ยวกับสองประชาชาติที่ถูกทำลายสิ้น? แต่โมโรไนเห็นเวลาของเรา (ดู มอรมอน 8:35) และเขาได้รับการดลใจให้ “เขียนเพิ่มอีกเล็กน้อย, เพื่อว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะมีคุณค่า … สักวันหนึ่งในอนาคต” (โมโรไน 1:4) เขารู้ว่าการละทิ้งความเชื่อกำลังแพร่ไปทั่ว ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและเกี่ยวกับศาสนาโดยทั่วไป นี่อาจเป็นสาเหตุให้เขาแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับศีลระลึก บัพติศมา การประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และพรของการรวมกับเพื่อนผู้เชื่อเพื่อ “ให้ [กันและกัน] อยู่ในทางที่ถูกต้อง … โดยวางใจแต่ในคุณความดีของพระคริสต์, ซึ่งเป็นพระผู้ทรงลิขิตและพระผู้ทรงประสิทธิ์ศรัทธาของ [เรา]” (โมโรไน 6:4) ข้อคิดที่มีค่าเหล่านี้ทำให้เรามีเหตุผลให้ขอบพระทัยที่พระเจ้าทรงปกปักรักษาชีวิตของโมโรไนเพื่อท่านจะได้ “เขียนเพิ่มอีกเล็กน้อย” (โมโรไน 1:4)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

โมโรไน 1

ฉันสามารถติดตามพระเยซูคริสต์แม้จะถูกต่อต้าน

ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 1 อะไรดลใจท่านเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของโมโรไนต่อพระเจ้าและการเรียกของเขา? คนคนหนึ่งจะ “ปฏิเสธพระคริสต์” ด้วยวิธีใดบ้าง? (โมโรไน 1:2–3) ไตร่ตรองว่าท่านจะซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรแม้เมื่อท่านเผชิญการทดลองและการต่อต้าน

โมโรไน 2–6

ต้องประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิตตามที่พระเจ้าทรงบัญชา

โมโรไนวิ่งเอาชีวิตรอดเมื่อเขาเขียนบทเหล่านี้ ทำไมเขาจึงต้องเขียนรายละเอียดการบริหาร เช่น วิธีประกอบศาสนพิธี? ไตร่ตรองเรื่องนี้ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 2–6 ท่านคิดว่าเหตุใดรายละเอียดเหล่านี้จึงสำคัญต่อพระเจ้า? คำถามบางข้อต่อไปนี้จะให้แนวทางในการศึกษาของท่าน:

การยืนยัน (โมโรไน 2; 6:4)พระดำรัสแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดใน โมโรไน 2:2 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับศาสนพิธีการยืนยัน? ท่านจะอธิบายความหมายของ “อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำและชำระ” ว่าอย่างไร? (โมโรไน 6:4)

การวางมือแต่งตั้งฐานะปุโรหิต (โมโรไน 3)ท่านพบอะไรในบทนี้ที่จะช่วยคนบางคนเตรียมรับการวางมือแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต? ท่านพบอะไรที่จะช่วยคนบางคนเตรียมประกอบศาสนพิธี?

ศีลระลึก (โมโรไน 4–5; 6:6)ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ศีลระลึกเป็นไฮไลต์ทางวิญญาณของสัปดาห์?

บัพติศมา (โมโรไน 6:1–3)ท่านกำลังทำอะไรเพื่อให้มีคุณสมบัติในการรับบัพติศมาต่อไป?

เยาวชนหญิงกำลังรับพร

พระเยซูทรงสอนวิธีประกอบศาสนพิธี

จากที่ท่านเรียนรู้ ท่านจะเปลี่ยนวิธีที่ท่านคิด มีส่วนร่วม หรือเตรียมผู้อื่นให้พร้อมรับศาสนพิธีเหล่านี้อย่างไร?

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20 ด้วย

แสดงบทบาทสมมติ วิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการจดจำสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้คือการอธิบายให้ผู้อื่นฟัง ตัวอย่างเช่น ลองแสดงบทบาทสมมติทำนองนี้: เพื่อนคนหนึ่งไม่แน่ใจว่าเธอพร้อมรับบัพติศมาหรือไม่ ท่านจะใช้ โมโรไน 6 ช่วยเพื่อนคนนี้อย่างไร?

โมโรไน 4–5

การรับศีลระลึกช่วยให้ฉันเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้น

ท่านคงได้ยินคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกมาแล้วหลายครั้ง แต่ท่านคิดถี่ถ้วนบ่อยเพียงใดเกี่ยวกับความหมายของคำสวดอ้อนวอนเหล่านั้น? ท่านอาจจะลองจดคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกทั้งสองจากความทรงจำ จากนั้นให้เปรียบเทียบสิ่งที่ท่านเขียนกับ โมโรไน 4:3 และ 5:2 ท่านสังเกตเห็นสิ่งที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนเกี่ยวกับคำสวดอ้อนวอนเหล่านี้หรือไม่?

ท่านอาจจะรวมเพลงสวดศีลระลึกไว้ในการศึกษาของท่านด้วย เช่น “ในความรำลึกนึกถึงการตรึง” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 87)

โมโรไน 6:4–9

ไอคอนเซมินารี
สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ดูแลจิตวิญญาณของกันและกัน

การเลือกติดตามพระคริสต์เป็นการเลือกรายบุคคล แต่เพื่อนผู้เชื่อสามารถช่วยประคองเรา “ในทางที่ถูกต้อง” ได้ (โมโรไน 6:4–5) สมาชิกศาสนจักรในสมัยของโมโรไนทำอะไรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กัน? ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 6:4–9 ให้ไตร่ตรองพรที่มาจากการ “นับ [พวกเรา] อยู่ในบรรดาผู้คนของศาสนจักรของพระคริสต์” (โมโรไน 6:4)

ท่านอาจจะนึกถึงคนที่เข้าร่วมวอร์ดหรือสาขาของท่านด้วย มีใครบ้างหรือไม่ที่อาจต้องการความรักของท่านเป็นพิเศษ— อาจจะคนที่มาใหม่หรือเพิ่งกลับมาก็ได้? ท่านจะช่วยทำให้ประสบการณ์ของพวกเขาที่โบสถ์เป็นเหมือนที่โมโรไนบรรยายไว้มากขึ้นได้อย่างไร? (ดูแนวคิดในวีดิทัศน์เรื่อง My Covenant Path หรือ “Strengthening New Members” ใน Gospel Library) ท่านอาจจะพบการดลใจบางอย่างในหัวข้อ 1 ของข่าวสารจากประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์เรื่อง “ความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักร” (เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 24–25)

ขณะไตร่ตรองความหมายของการได้รับการ “บำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า” (โมโรไน 6:4) อาจจะช่วยได้หากนึกถึงการบำรุงเลี้ยงที่ต้นอ่อนหรือเด็กทารกต้องการ—และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากละเลย ค้นคว้า โมโรไน 6:4–9 เพื่อหาแนวคิดว่าท่านจะช่วย “บำรุงเลี้ยง” ผู้อื่นทางวิญญาณได้อย่างไร เพื่อนสานุศิษย์ช่วยบำรุงเลี้ยงท่านอย่างไร?

ไม่ใช่ทุกคนจะทราบว่าทำไมการ “นับพวกเขาอยู่ในบรรดาผู้คนของศาสนจักรของพระคริสต์” และการ “ประชุมกันบ่อย” ในการประชุมของศาสนจักรจึงสำคัญ ท่านจะอธิบายอย่างไรว่าเหตุใดท่านจึงขอบพระทัยที่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ (ดูหัวข้ออื่นในข่าวสารของประธานโอ๊คส์เรื่อง “ความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักร”)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

โมโรไน –6

พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทานอันศักดิ์สิทธิ์

  • โมโรไน 2–6 กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพระวิญญาณหลายครั้ง ท่านอาจจะขอให้เด็กหาทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์ อ่านข้อเหล่านั้น และเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์เวลาท่านรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณให้กันด้วย

โมโรไน 4–5

ฉันรับศีลระลึกเพื่อแสดงว่าฉันจะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา

  • การอ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกกับเด็กจะนำไปสู่การสนทนาว่าจะมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับศีลระลึกมากขึ้นได้อย่างไร การให้เด็กสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งจะมาการประชุมศีลระลึกเป็นครั้งแรกอาจช่วยได้ เราจะอธิบายให้เพื่อนฟังอย่างไรว่าศีลระลึกคืออะไรและเหตุใดศีลระลึกจึงศักดิ์สิทธิ์? กระตุ้นให้เด็กใช้บางอย่างจาก โมโรไน 4 หรือ 5 ในคำอธิบายของพวกเขา เด็กเล็กจะใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้หรือ หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 108

  • ท่านอาจจะร้องเพลงด้วยกันที่ช่วยให้เด็กนึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด (เช่น “คารวะอย่างสงบ,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 11) ท่านจะฝึกนั่งด้วยความคารวะระหว่างศีลระลึกด้วย

โมโรไน 6:1–3

ฉันสามารถเตรียมรับบัพติศมา

  • ใครสามารถรับบัพติศมาได้? ช่วยเด็กหาคำตอบของคำถามนี้ใน โมโรไน 6:1–3 การมี “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” หมายความว่าอย่างไร? (โมโรไน 6:2) สิ่งนี้ช่วยเราเตรียมรับบัพติศมาอย่างไร? ท่านอาจจะบอกเด็กว่าท่านเตรียมรับบัพติศมาอย่างไร

โมโรไน 6:4–6, 9

เราไปโบสถ์เพื่อรับศีลระลึกและสนับสนุนกัน

  • เด็กรู้หรือไม่ว่าเหตุใดท่านจึงชอบไปโบสถ์? การอ่าน โมโรไน 6:4–6, 9 จะเปิดโอกาสให้ท่านได้พูดคุยกันเกี่ยวกับบางสิ่งที่เราทำที่โบสถ์ เด็กอาจจะวาดรูปตนเองกำลังทำสิ่งเหล่านี้ (เช่น สวดอ้อนวอน สอน ร้องเพลง และรับศีลระลึก)

  • หลังจากอ่าน โมโรไน 6:4 ด้วยกันแล้ว ท่านและเด็กจะดูภาพหรือตัวอย่างอาหารบำรุงร่างกายและเปรียบเทียบการบำรุงร่างกายของเรากับการ “บำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า” ท่านจะดูวีดิทัศน์เรื่อง “Children Sharing the Gospel” (Gospel Library) ด้วย

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

โมโรไนซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ

โมโรไนในถ้ำ โดย จอร์จ ค็อคโค