จงตามเรามา
9–15 ธันวาคม: “ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น” โมโรไน 7–9


“9–15 ธันวาคม: ‘ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น’ โมโรไน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“9–15 ธันวาคม โมโรไน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976) โมโรไน: ชาวนีไฟคนสุดท้าย 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 34 3/4 × 47 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 1969

9–15 ธันวาคม: “ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น”

โมโรไน 7–9

ก่อนโมโรไนสรุปบันทึกที่เรารู้กันในปัจจุบันว่าเป็นพระคัมภีร์มอรมอนด้วยถ้อยคำสุดท้ายของเขา เขาแบ่งปันข่าวสารสามเรื่องจากมอรมอนบิดาของเขา ได้แก่ คำปราศรัยกับ “ผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์” (โมโรไน 7:3) และจดหมายสองฉบับที่มอรมอนเขียนถึงโมโรไน บางทีโมโรไนรวมข่าวสารเหล่านี้ไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนเพราะเขาเห็นความคล้ายคลึงล่วงหน้าระหว่างอันตรายในยุคสมัยของเขากับของเรา เมื่อโมโรไนเขียนถ้อยคำเหล่านี้ ผู้คนชาวนีไฟกำลังหันหลังให้พระผู้ช่วยให้รอด หลายคน “สูญเสียความรัก, ที่มีต่อกัน” และเบิกบานใน “ทุกสิ่งนอกจากสิ่งที่ดี” (โมโรไน 9:5, 19) แต่มอรมอนยังคงหาเหตุให้หวัง โดยสอนเราว่าความหวังไม่ได้หมายถึงการเพิกเฉยหรือเมินปัญหาของโลก ความหวังหมายถึงการมีศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเดชานุภาพยิ่งใหญ่และเป็นนิจยิ่งกว่าปัญหาเหล่านี้ หมายถึงการ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (โมโรไน 7:19) หมายถึงการให้การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ “และความหวังในรัศมีภาพของพระองค์และชีวิตนิรันดร์, จงสถิตอยู่ในจิตใจ [ท่าน] ตลอดกาล” (โมโรไน 9:25)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

โมโรไน 7:12–20

แสงสว่างของพระคริสต์ช่วยให้ฉันรู้ความจริงจากความผิดพลาด

หลายคนสงสัยว่า “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าความประทับใจมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือจากความคิดของฉันเอง?” หรือ “เนื่องด้วยการหลอกลวงมากมายในทุกวันนี้ ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด?” ถ้อยคำของมอรมอนใน โมโรไน 7 ให้หลักธรรมหลายประการที่เราสามารถใช้ตอบคำถามเหล่านี้ได้ มองหาหลักธรรมเหล่านั้นใน ข้อ 12–20 เป็นพิเศษ ท่านอาจจะใช้ความจริงเหล่านี้ช่วยประเมินข่าวสารที่ท่านพบและประสบการณ์ที่ท่านมีในสัปดาห์นี้

ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สว่าง (ความ), แสงสว่าง, แสงสว่างของพระคริสต์,” คลังพระกิตติคุณ ; “Patterns of Light: Discerning Light” (วีดิทัศน์) Gospel Library ด้วย

โมโรไน 7:20–48

เพราะพระเยซูคริสต์ฉันจึงสามารถ “ยึดมั่นในทุกสิ่งที่ดี” ได้

มอรมอนถามคำถามที่ดูเหมือนสำคัญเป็นพิเศษในยุคปัจจุบันว่า “เป็นไปได้อย่างไร [ที่จะ] ยึดมั่นในทุกสิ่งที่ดี?” (โมโรไน 7:20) จากนั้นเขาสอนเกี่ยวกับศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ความหวัง และจิตกุศล ขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 20–48 ให้ดูว่าคุณลักษณะแต่ละอย่างช่วยให้ท่านพบและ “ยึดมั่น” ความดีที่มาจากพระเยซูคริสต์อย่างไร เหตุใดคุณลักษณะเหล่านี้จึงจำเป็นสำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์?

ดู “Mormon’s Teachings about Faith, Hope, and Charity” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

โมโรไน 7:44–48

ไอคอนเซมินารี
“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”

มอรมอนสังเกตว่าศรัทธาและความหวังของเราในพระเยซูคริสต์นำเราให้มีจิตกุศล แต่จิตกุศลคืออะไร? ท่านอาจจะเขียนว่า จิตกุศลคือ … แล้วอ่าน โมโรไน 7:44–48 เพื่อมองหาคำหรือวลีที่จะเติมประโยคให้สมบูรณ์ เมื่อเติมเสร็จแล้ว ให้แทนคำว่า จิตกุศล ด้วยพระนามของ พระเยซูคริสต์ นี่สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด? พระเยซูคริสต์ทรงแสดงความรักอันบริสุทธิ์ของพระองค์อย่างไร? นึกถึงตัวอย่างจากพระคัมภีร์และจากชีวิตท่านเอง

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ตั้งข้อสังเกตว่า “เหตุผลที่จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้นและเหตุผลที่จิตกุศลยิ่งใหญ่กว่าการทำความดีที่สำคัญที่สุด … คือจิตกุศล ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ [โมโรไน 7:47] ไม่ใช่การกระทำ แต่เป็นสภาวะหรือสภาพการดำรงอยู่ … จิตกุศลคือสิ่งที่มนุษย์จะเป็น” (“การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 49) เมื่อนึกถึงข้อความนี้ ท่านอาจจะอ่านข่าวสารของเอ็ลเดอร์มัสสิโม ดี ฟีโอเรื่อง “ความรักอันบริสุทธิ์: เครื่องหมายที่แท้จริงของสานุศิษย์ที่แท้จริงทุกคนของพระเยซูคริสต์” (เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 81–83) จิตกุศลส่งผลต่อการเป็นสานุศิษย์ของท่านอย่างไร? ท่านจะ “แนบสนิทอยู่กับจิตกุศล” ได้อย่างไร? (ข้อ 46)

ดู 1 โครินธ์ 13:1–13; อีเธอร์ 12:33–34; “จงรักกันและกัน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 155; “Charity: An Example of the Believers” (video), Gospel Library; Gospel Topics, “Charity,” Gospel Library ด้วย

สอนบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง การนึกถึงเก้าอี้สามขาอาจจะช่วยให้ท่านเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลมากขึ้น (ดู ดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟ, “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 25–29)

โมโรไน 9:3-5

ความโกรธนำไปสู่โทมนัสและความทุกข์

ตรงกันข้ามกับข่าวสารแห่งความรักของมอรมอนใน โมโรไน 7:44–48 สาส์นฉบับที่สองที่มอรมอนเขียนถึงโมโรไนมีคำเตือนให้ระวังสิ่งที่หลายคนต้องเผชิญในปัจจุบัน—นั่นคือความโกรธ ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 9:3–5 อะไรคือผลบางอย่างของความโกรธของชาวนีไฟ? เราได้รับคำเตือนอะไรบ้างจาก ข้อ 3–5, 18–20, 23?

ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “เชื่องช้าที่จะโกรธ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 79–81 ด้วย

โมโรไน 9:25–26

ฉันสามารถมีความหวังในพระคริสต์ไม่ว่าสภาวการณ์ของฉันเป็นเช่นไร

หลังจากบรรยายความชั่วร้ายที่เห็น มอรมอนบอกบุตรชายว่าอย่าเศร้าโศก ท่านประทับใจอะไรกับข่าวสารของมอรมอนเรื่องความหวัง? พระคริสต์ “ทรงยก [ท่าน] ขึ้น” มีความหมายต่อท่านอย่างไร? คุณลักษณะใดของพระคริสต์และหลักธรรมใดของพระกิตติคุณ “อยู่ในจิตใจ” ท่านและให้ความหวังแก่ท่าน? (โมโรไน 9:25)

ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 81–84 ด้วย

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

โมโรไน 7:33

ถ้าฉันมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ฉันสามารถทำได้ทุกอย่างที่ทรงต้องการให้ฉันทำ

  • ท่านอาจจะดูภาพสองสามภาพด้วยกันที่แสดงให้เห็นว่าบางคนจากพระคัมภีร์ทำสิ่งสำคัญได้สำเร็จ (ดูตัวอย่างใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 19, 70, 78,81) การมีศรัทธาในพระคริสต์สร้างความแตกต่างอย่างไรในตัวอย่างเหล่านี้? จากนั้นท่านและเด็กจะอ่าน โมโรไน 7:33 เพื่อมองหาสิ่งที่เราทำได้เมื่อเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์ให้กันเมื่อพระผู้เป็นเจ้าประทานพรท่านให้มีพลังความสามารถจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์

โมโรไน 7:41

การเชื่อในพระเยซูคริสต์สามารถให้ความหวังแก่ฉัน

  • ขณะอ่าน โมโรไน 7:41 ให้เด็กฟัง ท่านอาจจะขอให้พวกเขายกมือขึ้นเมื่อได้ยินบางสิ่งที่มอรมอนกล่าวว่าเราควรหวัง บอกพวกเขาเกี่ยวกับความหวังที่ท่านรู้สึกเพราะพระเยซูคริสต์

  • ท่านและเด็กจะนึกถึงคนที่อาจกำลังมีปัญหาบางอย่าง ท่านอาจจะให้เด็กวาดรูปให้คนที่สามารถเตือนเขาให้มีความหวังในพระเยซูคริสต์

โมโรไน 7:40–41; 9:25–26

ฉันสามารถมีความหวังในพระเยซูคริสต์แม้ในระหว่างการทดลองยากๆ

  • เพื่อสอนเด็กเกี่ยวกับความหวังในพระเยซูคริสต์ ท่านจะเติมน้ำในภาชนะใสและหย่อนของสองอย่างลงในน้ำ—อย่างหนึ่งลอยและอย่างหนึ่งจม ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 7:40–41 และ 9:25–26 ด้วยกัน เด็กจะมองหาว่าความหวังทำอะไรให้เราบ้าง จากนั้นพวกเขาจะเปรียบเทียบของที่ลอยน้ำกับคนที่มีความหวังในพระคริสต์ พระองค์ทรง “ยก [เรา] ขึ้น” อย่างไรเมื่อเราประสบการทดลองยากๆ? ช่วยเด็กคิดหาวิธีที่พวกเขาสามารถจดจำพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนให้กำลังใจของพระองค์ไว้ “ในจิตใจ [พวกเขา] ตลอดกาล”

โมโรไน 7:45–48

“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”

  • เพลงเกี่ยวกับความรัก เช่น “จงรักกันและกัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 74) อาจเริ่มการสนทนาว่าจิตกุศลคืออะไร ท่านจะอ่านหรือสรุป โมโรไน 7:47 และเชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปตนเองแสดงความรักต่อคนบางคน แนะนำให้พวกเขาวางรูปนั้นไว้ในที่ที่จะเตือนพวกเขาให้รักผู้อื่นเหมือนพระเยซูทรงรัก

  • ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแสวงหาและพัฒนาความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ในชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร? ท่านอาจจะช่วยให้เด็กนึกถึงวิธีที่พระเยซูทรงแสดงจิตกุศล (ดูตัวอย่างใน ลูกา 23:34; ยอห์น 8:1–11; อีเธอร์ 12:33–34) เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

พระเยซูคริสต์

ภาพครึ่งตัวของพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์