“ภาคผนวก ก: สำหรับบิดามารดา—การเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)
“ภาคผนวก ก,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024
ภาคผนวก ก
สำหรับบิดามารดา—การเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต
เพราะพระองค์ทรงรักท่าน วางใจท่าน และรู้ศักยภาพของท่าน พระบิดาบนสวรรค์จึงประทานโอกาสให้ท่านช่วยให้ลูกๆ ของท่านเข้ามาและก้าวหน้าไปตามเส้นทางพันธสัญญาของพระองค์ เส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–28) ทั้งนี้รวมถึงการช่วยให้พวกเขาเตรียมทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เช่น พันธสัญญาแห่งบัพติศมาและพันธสัญญาที่ทำในพระวิหาร ลูกๆ ของท่านจะผูกมัดตนเองกับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ผ่านพันธสัญญาเหล่านี้
มีวิธีเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมเดินทางบนเส้นทางพันธสัญญาหลายวิธี และพระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยให้ท่านพบวิธีที่จะช่วยพวกเขาได้ดีที่สุด เมื่อท่านแสวงหาการดลใจ จงจำไว้เสมอว่าการเรียนรู้ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงบทเรียนที่กำหนดไว้ อันที่จริง ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเรียนรู้ที่บ้านเกิดประสิทธิผลคือโอกาสในการเรียนรู้จากตัวอย่างและผ่านทางช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียบง่าย แบบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในการดำเนินชีวิตประจำวัน กาเดินตามเส้นทางพันธสัญญาเป็นกระบวนการต่อเนื่องชั่วชีวิตฉันใด การเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางพันธสัญญาก็เป็นฉันนั้น (ดู “บ้านและครอบครัว,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด [2022], 30–31)
ด้านล่างนี้เป็นแนวคิดบางประการที่อาจทำให้ได้รับการดลใจมากขึ้น ท่านจะพบแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กปฐมวัยใน “ภาคผนวก ข: สำหรับปฐมวัย—การเตรียมเด็กให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต”
บัพติศมาและการยืนยัน
นีไฟสอนว่า “ประตูซึ่งโดยทางนั้น [เรา] ต้องเข้าไป” ในเส้นทางพันธสัญญา “คือการกลับใจและบัพติศมาโดยน้ำ” (2 นีไฟ 31:17) ความพยายามของท่านในการช่วยลูกๆ เตรียมรับบัพติศมาและการยืนยันจะช่วยให้พวกเขามีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่บนเส้นทางนั้น ความพยายามเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการสอนเกี่ยวกับศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจ อีกทั้งสอนด้วยว่าเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาโดยการรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์อย่างไร
ต่อไปนี้เป็นแหล่งช่วยบางส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับท่าน: 2 นีไฟ 31; นิตยสาร เพื่อนเด็กฉบับพิเศษ เกี่ยวกับบัพติศมา
-
เมื่อใดก็ตามที่ท่านมีประสบการณ์ซึ่งเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ จงแบ่งปันกับลูกๆ ของท่าน โดยช่วยให้เขาเข้าใจว่าศรัทธาคือสิ่งที่แข็งแกร่งขึ้นได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ลูกๆ ของท่านจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์ให้แข็งแกร่งขึ้นก่อนที่พวกเขาจะรับบัพติศมา?
-
เมื่อลูกของท่านเลือกผิด จงพูดเรื่องของประทานแห่งการกลับใจด้วยความปีติยินดี และเมื่อท่านเลือกผิด จงแบ่งปันปีติที่เกิดขึ้นเมื่อท่านกลับใจ เป็นพยานว่าเนื่องจากพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา พระองค์จึงประทานพลังให้เราเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกของท่านแสวงหาการให้อภัย จงให้อภัยด้วยความเต็มใจและด้วยความยินดี
-
เล่าเรื่องบัพติศมาของท่านให้ลูกๆฟัง ให้ดูภาพและแบ่งปันความทรงจำ พูดว่าท่านรู้สึกอย่างไร พันธสัญญาบัพติศมาของท่านได้ช่วยให้ท่านรู้จักพระเยซูคริสต์ดีขึ้นอย่างไร และยังคงเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร กระตุ้นให้ลูกๆ ถามคำถาม
-
เมื่อมีบัพติศมาในครอบครัวหรือวอร์ดของท่าน ให้พาลูกๆ ไปดู พูดคุยกันว่าท่านกับลูกๆเห็นอะไรและรู้สึกอย่างไร หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้พูดคุยกับคนที่รับบัพติศมาและถามคำถามทำนองนี้ “คุณตัดสินใจรับบัพติศมาอย่างไร? คุณเตรียมตัวอย่างไร?”
-
เมื่อใดก็ตามที่เห็นลูกทำบางอย่างที่เขาสัญญาว่าจะทำ จงเอ่ยชมด้วยความจริงใจ ชี้ให้เห็นว่าการรักษาคำมั่นสัญญาจะช่วยให้เราเตรียมพร้อมที่จะรักษาพันธสัญญาที่เราทำเมื่อเรารับบัพติศมา เราสัญญาอะไรกับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับบัพติศมา? พระองค์ทรงสัญญาอะไรกับเรา? (ดู โมไซยาห์ 18:8–10, 13)
-
เมื่อท่านกับลูกๆ มีประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน (เช่น ที่โบสถ์ ขณะอ่านพระคัมภีร์ หรือขณะรับใช้ใครบางคน) จงบอกลูกๆ เกี่ยวกับความรู้สึกทางวิญญาณหรือความประทับใจที่ท่านมี เชื้อเชิญให้ลูกๆ แบ่งปันความรู้สึกของตนเอง สังเกตหลากหลายวิธีที่พระวิญญาณสามารถตรัสกับผู้คน รวมถึงวิธีที่พระองค์ตรัสกับท่านเป็นการส่วนตัว ช่วยให้ลูกๆ รับรู้ช่วงเวลาที่พวกเขาอาจจะกำลังประสบอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
. พูดคุยกันเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าฟังสุรเสียงของพระองค์ เชื้อเชิญให้ลูกๆ วาดรูปหรือทำวิดีโอเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาฟังสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด
-
พูดคุยว่าการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นพรแก่ท่านอย่างไร ท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไรเมื่อท่านรับใช้ผู้อื่นและเมื่อผู้อื่นรับใช้ท่าน? ช่วยให้ลูกๆ คิดหาวิธีรับใช้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้อื่นในฐานะสมาชิกของศาสนจักร
-
ทำให้ศีลระลึกเป็นเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมปีติในครอบครัวท่าน ช่วยลูกๆ วางแผนวิธีจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสต์ระหว่างศีลระลึก เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าศีลระลึกศักดิ์สิทธิ์ต่อเรา?
-
นิตยสาร เพื่อนเด็ก มักจะมีบทความ เรื่องราว และกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยเด็กๆ เตรียมรับบัพติศมาและการยืนยัน ให้ลูกๆ เลือกอ่านบางเรื่องและสนุกไปกับท่าน .
พลังอำนาจ สิทธิอำนาจ และกุญแจฐานะปุโรหิต
ฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงใช้ประทานพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ ฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าอยู่บนโลกทุกวันนี้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย สมาชิกศาสนจักรที่รักษาพันธสัญญา—รวมถึงเด็ก—ล้วนได้รับพรให้มีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าในบ้านของพวกเขาเพื่อทำให้พวกเขาและครอบครัวเข้มแข็ง (ดู คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 3.5, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) พลังอำนาจนี้จะช่วยเหลือสมาชิกในการทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว (ดู คู่มือทั่วไป, 2.2)
เราได้รับศาสนพิธีต่างๆ โดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต เมื่อชายหญิงรับใช้ในการเรียกของศาสนจักร พวกเขาทำเช่นนั้นด้วยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ลูกทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์—บุตรและธิดาของพระองค์—จะได้รับพรเมื่อพวกเขาเข้าใจฐานะปุโรหิตดีขึ้น
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 76–79; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความมีค่าควรในพลังฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 66–69; “หลักธรรมฐานะปุโรหิต,” บทที่ 3 ใน คู่มือทั่วไป
-
ทำให้ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัวท่านเสมอ ตัวอย่างเช่น ช่วยลูกๆ ของท่านเตรียมทางวิญญาณเพื่อพร้อมรับศีลระลึกทุกสัปดาห์ กระตุ้นให้ลูกๆ ขอพรฐานะปุโรหิตเมื่อป่วยหรือต้องการคำปลอบโยนหรือคำแนะนำ สร้างนิสัยของการชี้ให้เห็นวิธีต่างๆที่พระเจ้ากำลังประทานพรครอบครัวท่านผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิต
-
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน ให้มองหาโอกาสเพื่อพูดคุยกันว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพรผู้คนผ่านพลังอำนาจของพระองค์อย่างไร แบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเมื่อพระผู้เป็นเจ้าประทานพรแก่ท่านผ่านฐานะปุโรหิตของพระองค์ ดูตัวอย่างพรที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านฐานะปุโรหิตใน คู่มือทั่วไป, 3.2, 3.5
-
เรียนรู้สายอำนาจฐานะปุโรหิตของคนในครอบครัวท่าน (ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสามารถขอรับสำเนาสายอำนาจของพวกเขาได้โดยส่งอีเมลไปที่ LineofAuthority@ChurchofJesusChrist.org; see also “Request a Priesthood Line of Authority” in the Help Center on ChurchofJesusChrist.org.) พูดคุยว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตมาจากพระเยซูคริสต์พระองค์เอง เหตุใดพระองค์ทรงแบ่งปันสิทธิอำนาจดังกล่าวให้กับเรา?
-
สอนลูกๆ ว่าหลังจากรับบัพติศมา พวกเขาจะรับพลังฐานะปุโรหิตได้โดยรักษาพันธสัญญาบัพติศมา ทบทวนข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันด้วยกันเรื่อง “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 76–79) บอกลูกๆ ว่าศาสนพิธีฐานะปุโรหิตนำพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาในชีวิตท่านอย่างไร ดูบางวิธีที่เราได้รับพรโดยพลังอำนาจฐานะปุโรหิตใน คู่มือทั่วไป, 3.5
-
สนทนาคำถามที่ว่า “ผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นอย่างไร?” อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–42 ด้วยกันเพื่อหาคำตอบ เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นลูกๆ (หรือคนใดคนหนึ่ง) ประยุกต์ใช้หลักธรรมหรือคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อเหล่านี้ จงหยิบยกมาพูด
-
เมื่อท่านหรือลูกๆ ใช้กุญแจไขประตูหรือสตาร์ทรถ จงใช้เวลาครู่หนึ่งเปรียบเทียบกุญแจเหล่านั้นกับกุญแจที่ผู้นำฐานะปุโรหิตถือ (ดูนิยามของกุญแจฐานะปุโรหิตใน คู่มือทั่วไป, 3.4.1) กุญแจฐานะปุโรหิต “ไข” หรือ “สตาร์ท” อะไรให้เรา? ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตอยู่ที่ไหน, ” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 29–32; “Where Are the Keys?” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ
-
เมื่อท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่สำหรับการเรียก จงเชิญลูกๆ มาอยู่ด้วยถ้าทำได้ ให้ลูกๆ เห็นท่านทำการเรียกจนสำเร็จลุล่วง ท่านอาจมองหาวิธีที่เหมาะสมที่พวกเขาจะช่วยท่านได้ อธิบายว่าท่านรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการเรียกของท่านอย่างไร
การไปพระวิหาร—บัพติศมาและการยืนยันแทนคนตาย
พระวิหารเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์ ในพระวิหาร เราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเรามีส่วนร่วมในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นชี้ไปที่พระเยซูคริสต์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมทางให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ทำพันธสัญญาและมีส่วนร่วมในศาสนพิธี รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้รับศาสนพิธีในชีวิตนี้ ต้นปีที่ลูกๆของท่านจะอายุครบ 12 ปี พวกเขามีอายุมากพอที่จะรับบัพติศมาและได้รับการยืนยันในพระวิหารแทนบรรพชนที่ถึงแก่กรรม
-
เข้าพระวิหารบ่อยเท่าที่สภาวการณ์ของท่านเอื้ออำนวย พูดคุยกับลูกๆ ว่าเหตุใดท่านจึงไปพระวิหารและพระวิหารช่วยให้ท่านรู้สึกใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร
-
ทบทวนและสนทนา คำถามสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร ด้วยกัน พูดคุยกับลูกๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร แบ่งปันว่าเหตุใดการมีใบรับรองพระวิหารจึงสำคัญต่อท่าน
-
อ่าน มาลาคี 4:6 ด้วยกัน พูดคุยว่าใจท่านจะหันไปหาบรรพชนของท่านได้อย่างไร เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรพชนของท่านโดยสำรวจประวัติครอบครัวของท่านบน FamilySearch.org ด้วยกัน หาบรรพชนที่ต้องการรับบัพติศมาและการยืนยัน ผู้ให้คำแนะนำด้านพระวิหารและประวัติครอบครัววอร์ดสามารถช่วยท่านได้
-
ทบทวนแหล่งข้อมูลบางอย่างด้วยกันในหมวดย่อย “Temple” ในหมวดเด็กของคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ดู “Preparing Your Child for Temple Baptisms and Confirmations” บน ChurchofJesusChrist.org
การรับปิตุพร
ปิตุพรสามารถเป็นแหล่งของการนำทาง การปลอบโยน และการดลใจ ในนั้นมีคำแนะนำส่วนตัวจากพระบิดาบนสวรรค์ให้กับเราและช่วยให้เราเข้าใจอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์ของเรา ช่วยลูกๆ เตรียมรับปิตุพรโดยสอนพวกเขาเรื่องความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของปิตุพร
เรียนรู้เพิ่มเติมจาก “ปิตุพร” ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ
-
เล่าประสบการณ์การรับปิตุพรของท่านให้ลูกๆ ฟัง ท่านอาจจะเล่าว่าท่านเตรียมตัวรับปิตุพรอย่างไร ปิตุพรช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร และท่านใช้ปิตุพรในชีวิตท่านอย่างไร ท่านอาจจะเชิญชวนลูกๆ ให้พูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่เคยรับปิตุพรด้วย
-
ใช้เวลาในการทบทวนแหล่งข้อมูลบางอย่างจากในคู่มือพระคัมภีร์ด้วยกัน “ปิตุพร” เรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการรับปิตุพรใน คู่มือทั่วไป, 18.17
-
ถ้าท่านมีบรรพชนที่รับปิตุพรแล้ว การอ่านปิตุพรของบางคนให้ลูกๆ ฟังอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ถ้าต้องการขอปิตุพรของบรรพชนที่สิ้นชีวิตแล้ว ให้เข้าสู่ระบบ ChurchofJesusChrist.org คลิกไอคอนบัญชีตรงมุมบนขวาของหน้าจอ แล้วเลือก “Patriarchal Blessing”
-
หลังจากลูกๆ ของท่านได้รับปิตุพรแล้ว ให้เชิญสมาชิกครอบครัวที่อยู่ด้วยบันทึกความรู้สึกของพวกเขาและแบ่งปันกับลูกๆ ของท่าน
การไปพระวิหาร—เอ็นดาวเม้นท์
พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประสาทพรหรือให้พรบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ด้วย “อำนาจจากเบื้องบน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:8) เราไปพระวิหารเพื่อรับเอ็นดาวเม้นท์ของเราเองเพียงครั้งเดียว แต่พันธสัญญาที่เราทำกับพระผู้เป็นเจ้าและพลังอำนาจทางวิญญาณที่ประทานแก่เราอันเป็นส่วนหนึ่งของเอ็นดาวเม้นท์จะเป็นพรแก่ชีวิตของเราทุกวัน
-
ให้ติดภาพพระวิหารในบ้านของท่าน บอกลูกๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่ท่านประสบในพระวิหาร พูดคุยบ่อยๆ เกี่ยวกับความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าและพระนิเวศน์ของพระองค์ และพันธสัญญาที่ท่านทำไว้ที่นั่น
-
สำรวจ temples.ChurchofJesusChrist.org ด้วยกัน . ให้ลูกๆ ถามคำถามที่มีเกี่ยวกับพระวิหาร ดูคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านจะนำมาพูดนอกพระวิหารได้ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ เรื่อง “เตรียมรับสิ่งจำเป็นทุกอย่าง” (Ensign เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 101–104; โดยเฉพาะหัวข้อ “การเรียนรู้ที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลางและศาสนจักรสนับสนุนและการเตรียมเข้าพระวิหาร”)
-
เมื่อท่านกับลูกๆ มีส่วนร่วมหรือเป็นพยานในศาสนพิธีอื่นๆ (เช่น ศีลระลึกหรือพรของการรักษา) จงใช้เวลาครู่หนึ่งสนทนาเรื่องสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีนั้น สัญลักษณ์นั้นแทนอะไร? สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์อย่างไร? นี่จะช่วยลูกๆ ของท่านเตรียมไตร่ตรองความหมายเชิงสัญลักษณ์ของศาสนพิธีพระวิหาร ซึ่งเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์เช่นกัน
-
ช่วยให้ลูกๆ สังเกตว่าพวกเขากำลังรักษาพันธสัญญาบัพติศมาตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 18:8–10, 13 อย่างไร ช่วยให้ลูกๆ สังเกตเช่นกันว่าพระเจ้ากำลังประทานพรพวกเขาอย่างไร สร้างความมั่นใจให้ลูกๆ ว่าพวกเขาสามารถรักษาพันธสัญญาได้
-
พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาบ่อยๆ ว่าพันธสัญญาพระวิหารของท่านชี้นำการเลือกของท่านและช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร ท่านอาจใช้ คู่มือทั่วไป 27.2 ทบทวนพันธสัญญาที่เราทำในพระวิหาร
การรับใช้งานเผยแผ่
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “ชายหนุ่มทั้งหลาย สิ่งสำคัญที่สุดข้อเดียวที่ท่านจะทำได้เพื่อเตรียมตัวรับการเรียกให้รับใช้คือ เป็น ผู้สอนศาสนาให้ยาวนานก่อนที่ท่านจะ ไป รับใช้เป็นผู้สอนศาสนา … เราไม่ได้ไปรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา หากแต่เราเป็นผู้สอนศาสนาและรับใช้ตลอดชีวิตของเราด้วยสุดใจ พลัง ความคิด และพละกำลังของเรา … ท่านกำลังเตรียมทำงานเผยแผ่ศาสนาตลอดชีวิต” (“การเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 53–54, 55) ประสบการณ์ที่ลูกๆ ของท่าน ได้เป็น ผู้สอนศาสนาจะเป็นพรแก่พวกเขาชั่วนิรันดร์ ไม่เฉพาะช่วงเวลาที่พวกเขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเท่านั้น
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การประกาศพระกิตติคุณแห่งสันติสุข,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 6–7; เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด “การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเป็นพรแก่ชีวิตข้าพเจ้าชั่วนิรันดร์” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 8–10; การเตรียมตัวเป็นผู้สอนศาสนา: การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนา, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ
-
จำลองวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างเป็นธรรมชาติ จงตื่นตัวเสมอเมื่อมีโอกาสแบ่งปันกับผู้อื่นถึงความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด ตลอดจนพรที่ท่านได้รับในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระองค์ เชิญผู้อื่นให้เข้าร่วมกับครอบครัวของท่านในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนจักรและครอบครัว
-
มองหาโอกาสที่จะให้ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนศาสนา โดยเชิญพวกเขามาสอนเพื่อนของท่าน หรือเสนอให้พวกเขาสอนคนในบ้านของท่าน ถามผู้สอนศาสนาเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับและการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร ท่านอาจจะถามด้วยว่าพวกเขาทำ (หรือปรารถนาให้ตนทำ) อะไรเพื่อเตรียมเป็นผู้สอนศาสนา
-
หากท่านรับใช้งานเผยแผ่ ให้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านอย่างเปิดเผยและบ่อยครั้ง เชิญเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่เคยรับใช้งานเผยแผ่มาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา หรือท่านอาจจะพูดถึงวิธีที่ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นตลอดชีวิตท่านด้วยก็ได้ ช่วยลูกๆ คิดหาวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ
-
เปิดโอกาสให้พวกเขาสอนหลักธรรมพระกิตติคุณให้กับครอบครัว ลูกๆ ของท่านอาจฝึกแบ่งปันความเชื่อของพวกเขากับผู้อื่นด้วย ตัวอย่างเช่น ท่านอาจสนทนาคำถามทำนองนี้ “เราจะแนะนำพระคัมภีร์มอรมอนกับคนที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าอย่างไร?” หรือ “เราจะอธิบายกับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อย่างไรว่าเราจำเป็นต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด?”
-
ช่วยให้ลูกๆ สะดวกใจในการพูดคุยกับคนอื่นๆ มีวิธีดีๆ อะไรบ้างที่จะเริ่มการสนทนา? กระตุ้นให้ลูกๆ เรียนรู้วิธีฟังสิ่งที่คนอื่นพูด เข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจพวกเขา และแบ่งปันความจริงของพระกิตติคุณที่อาจเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขา
-
มองหาโอกาสให้ลูกๆ เรียนรู้วัฒนธรรมและความเชื่ออื่นๆ ช่วยให้พวกเขารับรู้และเคารพหลักธรรมที่จริงและดีในความเชื่อของคนอื่น
การไปพระวิหาร—การผนึก
ในพระวิหาร สามีภรรยาสามารถแต่งงานกันเพื่อนิรันดร ซึ่งจะเกิดขึ้นในศาสนพิธีที่เรียกว่าการผนึก ถึงแม้ศาสนพิธีนี้อาจใช้เวลาหลายปีกว่าลูกชายหรือลูกสาวของท่านจะได้รับศาสนพิธีนี้ แต่สิ่งเล็กๆ เรียบง่ายที่ท่านทำด้วยกันสม่ำเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสามารถช่วยลูกๆ เตรียมรับพรวิเศษสุดนี้
-
อ่าน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วยกัน ถ้อยแถลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับความสุขในชีวิตครอบครัวและชีวิตแต่งงานที่ประสบความสำเร็จ? เลือกศึกษาหนึ่งหลักธรรมที่ระบุไว้ในถ้อยแถลงกับลูกๆ ของท่าน ท่านสามารถค้นหาข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมนั้นได้ใน คู่มือพระคัมภีร์ ท่านอาจตั้งเป้าหมายเพื่อประยุกต์ใช้หลักธรรมนั้นในครอบครัวท่านอย่างเต็มที่มากขึ้นด้วย ขณะที่ท่านพยายามทำตามเป้าหมาย ให้สนทนากันถึงผลของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมดังกล่าวที่มีต่อชีวิตครอบครัว
-
อ่านข่าวสารของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟกับลูกๆ เรื่อง “สรรเสริญผู้ที่ช่วยให้รอด” (เลียโฮนา , พ.ค. 2016, 77–80) เมื่อท่านอ่านถึงหัวข้อ “สังคมแห่งการใช้แล้วทิ้ง” ท่านอาจมองหาสิ่งของในบ้านที่ใช้แล้วทิ้งได้และสิ่งที่ใช้แล้วทิ้งไม่ได้ พูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ เมื่อท่านต้องการให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่เป็นเวลานาน การทำเช่นนี้ชี้แนะอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อชีวิตแต่งงานและความสัมพันธ์ในครอบครัว? เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างจากข่าวสารของประธานอุคท์ดอร์ฟเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราสร้างชีวิตแต่งงานและครอบครัวที่มั่นคง?
-
หากท่านแต่งงานแล้ว จงเปิดใจกับลูกๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าท่านทำได้ดีในฐานะคู่สามีภรรยา สิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้ และวิธีต่างๆ ที่ท่านพยายามปรับปรุง หากท่านและคู่สมรสของท่านได้รับการผนึกในพระวิหารแล้ว จงแสดงตัวอย่างให้ลูกเห็นว่าท่านพยายามรักษาพันธสัญญาต่อกันและกับพระเจ้าอย่างไร บอกลูกๆ ว่าท่านพยายามทำให้พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ของท่านอย่างไรและพระองค์ทรงช่วยเหลือท่านอย่างไร
-
เมื่อมีเรื่องต้องตัดสินใจในครอบครัว ให้จัดสภาครอบครัวและสนทนากัน พึงแน่ใจว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวฟังและเห็นคุณค่าความคิดเห็นของกันและกัน ใช้การสนทนาเหล่านี้เป็นโอกาสจำลองการสื่อสารที่ดีและความอ่อนโยนในความสัมพันธ์ฉันครอบครัว แม้ทุกคนจะมองต่างกัน
-
เมื่อมีความเห็นต่างหรือความขัดแย้งในครอบครัว ให้แสดงความอดทนและความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้ลูกๆ เห็นว่าวิธีแก้ไขความขัดแย้งแบบพระคริสต์จะช่วยให้พวกเขาเตรียมมีชีวิตแต่งงานที่มีความสุขได้อย่างไร อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–42 ด้วยกันและพูดคุยกันว่าจะนำหลักธรรมในข้อเหล่านี้มาใช้กับชีวิตแต่งงานได้อย่างไร