จงตามเรามา
5–11 พฤษภาคม: “สัญญา … จะเกิดสัมฤทธิผล”: หลักคําสอนและพันธสัญญา 45


“5–11 พฤษภาคม: ‘สัญญา … จะเกิดสัมฤทธิผล’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 45” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคําสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“หลักคำสอนและพันธสัญญา 45” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

ครอบครัวที่พระวิหาร

5–11 พฤษภาคม: “สัญญา … จะเกิดสัมฤทธิผล”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45

การเปิดเผยใน ภาค 45 ได้รับแล้วตามหัวบทภาค “[เพื่อ] ความปรีดีแก่วิสุทธิชน” และมีเรื่องน่ายินดีมากมายในการเปิดเผยนี้ ในภาคดังกล่าว พระผู้ช่วยให้รอดประทานสัญญาอันอ่อนโยนของพระองค์ว่าจะทรงวิงวอนพระบิดาแทนเรา (ดู ข้อ 3–5) พระองค์ตรัสถึงพันธสัญญาอันเป็นนิจที่แผ่ขยายไปทั่วโลก เช่น “ผู้ส่งสาร … เพื่อเตรียมมรรคาไว้ก่อน [พระองค์]” (ข้อ 9) พระองค์ทรงพยากรณ์ถึงการเสด็จมาครั้งที่สองอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําทั้งหมดนี้ขณะทรงยอมรับเช่นกันว่านี่เป็นเวลาน่ากังวลใจ (ดู ข้อ 34) ส่วนหนึ่งเพราะภยันตรายที่จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาของพระองค์ แต่ภยันตรายนั้น ความมืดนั้นไม่รุนแรงพอที่จะทำให้แสงสว่างแห่งความหวังมอดดับลง “เพราะตามจริงแล้ว เรากล่าวแก่เจ้า” พระเจ้าทรงประกาศว่า “เราเป็น … แสงสว่างซึ่งส่องในความมืด” (ข้อ 7) สิ่งเดียวนั้นคือเหตุผลที่จะรับการเปิดเผยนี้—ด้วยคําแนะนํา คําเตือน และความจริงใดก็ตามที่พระองค์ทรงประสงค์จะประทาน—ด้วยปีติ

ไอคอนการศึกษา

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:1–5

ไอคอนเซมินารี
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา

เมื่อเรารู้สึกไม่ดีพอหรือไม่มีค่าควรต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เราจะพบความมั่นใจจากพระดํารัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 45:1–5 ขณะที่ท่านค้นคว้าข้อเหล่านี้ ให้พิจารณาคําถามทํานองนี้:

  • คำหรือวลีใดในข้อเหล่านี้มีความหมายต่อท่านมากที่สุด?

  • ผู้วิงวอนแทนคือผู้ที่สนับสนุนหรือเสนอชื่อบุคคลหรืออุดมการณ์ทางสาธารณะ ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเยซูคริสต์ทรงทําสิ่งนี้เพื่อท่านอย่างไร? อะไรทําให้พระองค์ทรงมีคุณสมบัติคู่ควรทําสิ่งเหล่านั้น?

  • ท่านประทับใจสิ่งใดเกี่ยวกับพระคําที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับพระบิดา (ข้อ 4–5)

ท่านอาจศึกษาสิ่งที่เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ พระผู้วิงวอนแทนเราใน “ท่านจงเลือกเสียในวันนี้” (เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 104–105) ตามที่เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าว พระประสงค์ของพระผู้ช่วยให้รอดเปรียบกับจุดประสงค์ของลูซิเฟอร์อย่างไร?

ข้อต่อไปนี้อาจเพิ่มความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะพระผู้วิงวอนแทน ขณะที่ท่านศึกษา ท่านอาจจดวลีหรือความจริงที่ท่านจะแบ่งปันกับผู้อื่น: 2 นีไฟ 2:8–9; โมไซยาห์ 15:7–9; โมโรไน 7:27–28; หลักคําสอนและพันธสัญญา 29:5; 62:1 เหตุใดคำหรือวลีเหล่านี้จึงมีความหมายต่อท่าน?

ดู “ฉันเฝ้าพิศวง,” เพลงสวด, เพลงที่ 89;

10:47

The Mediator

A portrayal of the analogy Elder Boyd K. Packer used in his April 1977 general conference address. A young man who fails to pay a debt is saved from the grasp of justice through the mediation of a friend.

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:9–10

พระกิตติคุณเป็นมาตรฐานให้ประชาชาติ

ในสมัยโบราณ มาตรฐานคือผืนผ้าหรือธงที่ใช้ในการรบเพื่อระดมพลและรวมกำลังทหาร มาตรฐานคือแบบอย่างหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้วัดสิ่งอื่นด้วย ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:9–10 ให้ไตร่ตรองว่าพันธสัญญาของท่านกับพระเจ้าเป็นมาตรฐานสำหรับท่านอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:11–75

พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาด้วยความรุ่งโรจน์

การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าได้รับการอธิบายว่าเป็นวันที่ “ใหญ่ยิ่ง” และ “น่าสะพรึงกลัว” (มาลาคี 4:5) ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 45 คําบรรยายทั้งสองดูเหมือนจะเหมาะสม การเปิดเผยนี้มีทั้งคำเตือนและคำสัญญาอันเปี่ยมด้วยความหวังเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเจ้า ขณะที่ท่านศึกษา ข้อ 11–75 ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองด้วยศรัทธาในพระคริสต์แทนที่จะกลัวได้อย่างไร ท่านอาจบันทึกสิ่งที่ท่านพบไว้ในตารางคล้ายกันนี้:

คำพยากรณ์หรือคำสัญญา

สิ่งที่ฉันทำได้

คำพยากรณ์หรือคำสัญญา

ความสว่าง (พระกิตติคุณ) จะมาถึงคนที่นั่งอยู่ในความมืด (ข้อ 28)

สิ่งที่ฉันทำได้

รับแสงสว่าง—และแบ่งปัน (ข้อ 29)

คำพยากรณ์หรือคำสัญญา

สิ่งที่ฉันทำได้

คำพยากรณ์หรือคำสัญญา

สิ่งที่ฉันทำได้

คำพยากรณ์หรือคำสัญญา

สิ่งที่ฉันทำได้

ในวีดิทัศน์เรื่อง “Men’s Hearts Shall Fail Them” (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้คําแนะนําอะไรเพื่อช่วยเราเผชิญสถานการณ์ที่น่ากลัวด้วยสันติสุข?

2:3

Men's Hearts Shall Fail Them

เอ็ลเดอร์รัสเซล เอ็ม. เนลสันแบ่งปันเรื่องส่วนตัวเพื่อให้กำลังใจเมื่อเรารู้สึก “ท้อแท้”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:31–32, 56–57

ฉันสามารถ “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” และไม่หวั่นไหว

ท่านเรียนรู้อะไรใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:31–32, 56–57 เกี่ยวกับการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า? อะไรคือ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ของท่าน? “ไม่หวั่นไหว” หมายความว่าอย่างไร? ท่านจะทําให้จุดที่ท่านอยู่ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นได้อย่างไร?

สังเกตว่าพระเจ้าตรัสถึงอุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคน โดยเปรียบเทียบน้ำมันในอุปมากับความจริงและพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ท่านอาจอ่านอุปมาใน มัทธิว 25:1–13 โดยนึกถึงเรื่องนี้ ท่านได้รับข้อคิดอะไรบ้าง?

ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ถ้าพวกท่านรู้จักเราแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 102–105 ด้วย

หญิงพรหมจารีมีปัญญาห้าคน

อุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคน โดยแดน เบอร์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:1–15, 66–71

ไซอันเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้า

วิสุทธิชนในสมัยโจเซฟ สมิธกระตือรือร้นที่จะสร้างไซอัน เยรูซาเล็มใหม่ (ดู อีเธอร์ 13:2–9; โมเสส 7:18, 62–64) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับไซอัน—ทั้งเมืองสมัยโบราณในสมัยของเอโนคกับเมืองยุคสุดท้าย—จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:11–15, 66–71 ปัจจุบันพระบัญชาให้สถาปนาไซอันหมายถึงการสถาปนาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยสร้างไซอันตรงที่ที่ท่านอยู่?

ไอคอนหมวดเด็ก 01

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:3–5

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา

  • ท่านอาจต้องการช่วยให้เด็กเข้าใจว่าผู้วิงวอนคือผู้ที่สนับสนุนผู้อื่น จากนั้นท่านจะพูดถึงตัวอย่างการเป็นผู้วิงวอนที่อาจคุ้นเคย (เช่น ยืนหยัดสนับสนุนเพื่อน) ขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 45:3–5 ด้วยกัน ขอให้ท่านช่วยเด็กค้นพบว่าผู้วิงวอนของเราเป็นใครและพระองค์ทรงช่วยเราอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:32

ฉันสามารถ “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์”

  • อาจเป็นเรื่องสนุกถ้าหากวางภาพบ้าน อาคารศาสนจักร และพระวิหารไว้รอบๆ ห้อง จากนั้นท่านอาจให้คําใบ้ที่บรรยายสถานที่เหล่านี้แก่บุตรหลานของท่านและชวนให้พวกเขายืนใกล้ภาพที่ท่านกําลังพูดถึง ขอให้พวกเขายืนนิ่งขณะท่านอ่านบรรทัดแรกจาก หลักคําสอนและพันธสัญญา 45:32 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดบ้างที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เรา? ช่วยให้เด็กเข้าใจว่า “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์, และ … ไม่หวั่นไหว” หมายถึงเลือกสิ่งถูกต้องเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราจะทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:9

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นมาตรฐานแก่โลก

  • ท่านอาจอธิบายให้เด็กฟังว่าในสมัยโบราณ มาตรฐานคือผืนผ้าหรือธงที่นำเข้าไปในสนามรบ นั่นช่วยให้ทหารรู้ว่าจะรวมพลที่ใดและจะทำอะไร อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 45:9 ด้วยกันและสนทนาวิธีที่พระกิตติคุณเป็นเหมือนมาตรฐาน เด็กอาจชอบทําธงสัญญาณหรือธงของตนเอง รวมถึงภาพหรือคําที่แสดงความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

การยกธงสัญญาณ

พระกิตติคุณเปรียบเสมือนมาตรฐาน หรือป้ายหรือธง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:44–45

พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาอีกครั้ง

  • ความพินาศที่จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองอาจทําให้เด็กกลัว การชี้ทางให้พวกเขาไปหาพระเยซูคริสต์จะช่วยให้พวกเขาตั้งตารอด้วยศรัทธา! ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาคิดว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนพิเศษมาเยี่ยม เช่น ปู่ย่าตายายหรือเพื่อน พวกเขาเตรียมรับการมาเยี่ยมนั้นอย่างไร? ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอด และอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:44-45 แบ่งปันกันว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เพื่อช่วยให้บุตรหลานของท่านรู้สึกตื่นเต้นกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจเขียนสัญญาแห่งความหวังบางข้อจาก ภาค 45 ลงในกระดาษ (ดูตัวอย่างใน ข้อ 44–45, 51–52, 55, 58–59, 66–71) แจกกระดาษให้เด็กและขอให้พวกเขายกมือเมื่อกล่าวถึงคําสัญญาที่พวกเขาถือขณะท่านอ่านข้อเหล่านี้ สนทนาว่าสัญญาเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร ท่านอาจร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง เช่น “คราพระเสด็จมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 46–47)

ช่วยให้เด็กรับรู้พระวิญญาณ ขณะที่ท่านสอนเด็ก จงบอกพวกเขาเมื่อท่านรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ พูดคุยกันว่าท่านรับรู้ถึงอิทธิพลของพระองค์ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจรู้สึกสงบหรือเบิกบานใจขณะร้องเพลงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

การเสด็จมาครั้งที่สอง โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

หน้ากิจกรรมสําหรับเด็ก