“12–18 พฤษภาคม: ‘จงแสวงหาของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 46–48” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคําสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 46–48” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
12–18 พฤษภาคม: “จงแสวงหาของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 46–48
ขณะที่พาร์ลีย์ พี. แพรทท์, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, ซีบา พีเตอร์สัน และปีเตอร์ วิตเมอร์ จูเนียร์ออกจากเคิร์ทแลนด์ไปสั่งสอนพระกิตติคุณ พวกเขาลาจากสมาชิกใหม่ของศาสนจักร 100 กว่าคนผู้มีความกระตือรือร้นมากแต่มีประสบการณ์หรือแนวทางเพียงน้อยนิด พวกเขาไม่มีคู่มือคำแนะนำ ไม่มีการประชุมอบรมผู้นำ ไม่มีการถ่ายทอดการประชุมใหญ่สามัญ—อันที่จริงไม่มีแม้กระทั่งพระคัมภีร์มอรมอนหลายเล่มพอให้กับทุกคน ผู้เชื่อคนใหม่เหล่านี้หลายคนสนใจพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเพราะสัญญาเรื่องการแสดงให้ประจักษ์อันน่าอัศจรรย์ของพระวิญญาณ โดยเฉพาะการแสดงให้ประจักษ์ที่พวกเขารู้จากการศึกษาพันธสัญญาใหม่ (ดูตัวอย่างใน 1 โครินธ์ 12:1–11) แต่หลายคนพบว่ายากที่จะพิสูจน์การแสดงให้ประจักษ์ที่แท้จริงของพระวิญญาณ เมื่อเห็นความสับสนดังกล่าวโจเซฟจึงสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ พระดำรัสตอบของพระเจ้ามีค่าในปัจจุบันเมื่อผู้คนไม่ยอมรับหรือไม่สนใจเรื่องของพระวิญญาณ ท่านยืนยันอีกครั้งว่าปรากฏการณ์ทางวิญญาณมีอยู่จริง พระองค์ทรงให้ความกระจ่าง: ของประทานจากพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา “ให้ไว้เพื่อประโยชน์ของคนเหล่านั้นที่รัก [พระองค์] และรักษาบัญญัติทั้งหมดของ [พระองค์], และคนที่หมายมั่นจะทําเช่นนั้น” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:9)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้อนรับทุกคนที่ต้องการนมัสการในศาสนจักรของพระองค์
ท่านรู้สึกว่ามิตรสหายและคนในละแวกบ้านของท่านรู้สึกถึงการต้อนรับที่พิธีนมัสการของวอร์ดท่านหรือไม่? ท่านกำลังทำอะไรเพื่อทำให้การประชุมของศาสนจักรเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนอยากกลับมา? ไตร่ตรองว่าท่านจะประยุกต์ใช้คําแนะนําของพระเจ้าใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:1–7 อย่างไร (ดู 2 นีไฟ 26:24–28; 3 นีไฟ 18:22–23 ด้วย)
ท่านอาจนึกถึงตอนที่ท่านเข้าร่วมพิธีของศาสนจักร—หรือการประชุมของกลุ่มอื่น—เป็นครั้งแรก ผู้คนทําสิ่งใดเพื่อช่วยให้ท่านรู้สึกถึงการต้อนรับ?
ดู โมโรไน 6:5–9; “ยินดีต้อนรับ” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณแก่ฉันเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น
วิสุทธิชนสมัยแรกเชื่อในของประทานฝ่ายวิญญาณแต่จำเป็นต้องได้รับการชี้นำให้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับจุดประสงค์ของของประทานเหล่านั้น ขณะที่ท่านศึกษาเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:7–33 ให้ไตร่ตรองจุดประสงค์ “สิ่งเหล่านี้ให้ไว้เพื่ออะไร” (ข้อ 8) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า—ผู้ให้ของประทานเหล่านี้?
ท่านนึกตัวอย่างที่ท่านเคยเห็นคนใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณเหล่านี้หรือของประทานฝ่ายวิญญาณอื่นๆ ออกหรือไม่? พวกเขาใช้ “เพื่อผลประโยชน์ของลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า” อย่างไร? (ข้อ 26) ท่านอาจดูว่าท่านสามารถระบุตัวอย่างของประทานฝ่ายวิญญาณต่างๆ ในพระคัมภีร์เช่นนี้ได้หรือไม่: 1 พงศ์กษัตริย์ 3:5–15; ดาเนียล 2:26–30; กิจการของอัครทูต 3:1–8; ฮีลามัน 5:17–19; มอรมอน 1:1–5; อีเธอร์ 3:1–15; หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:10–12; โมเสส 7:13.
การศึกษาของประทานฝ่ายวิญญาณของท่านอาจทำให้ท่านไตร่ตรองว่าของประทานใดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่าน ท่านจะใช้ของประทานเหล่านี้เป็นพรแก่บุตรธิดาของพระองค์อย่างไร? ถ้าท่านมีปิตุพร ปิตุพรน่าจะระบุของประทานที่ท่านได้รับ การอ่านข่าวสารของเอ็ลเดอร์จอห์น ซี. พิงกรี จูเนียร์เรื่อง “เรามีงานอย่างหนึ่งให้เจ้า” จะเปิดความคิดท่านให้รับของประทานที่ท่านนึกไม่ถึงเช่นกัน (เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 32–35)
หากท่านต้องการเรียนรู้วิธีพัฒนาของประทานฝ่ายวิญญาณ การเปรียบเทียบในตอนต้นของข่าวสารของเอ็ลเดอร์ฮวน ปาโบล วิยาร์เรื่อง “การใช้กล้ามเนื้อทางวิญญาณของเรา“ อาจเป็นประโยชน์ (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 95) “การใช้กล้ามเนื้อ” แบบใดสามารถช่วยท่านพัฒนาของประทานฝ่ายวิญญาณ?
.
พระเจ้าทรงต้องการให้ศาสนจักรของพระองค์จารึกประวัติ
การเรียกจอห์น วิตเมอร์ให้เขียนประวัติของศาสนจักรสานต่อประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของผู้จดบันทึกในบรรดาผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า ท่านคิดว่าเหตุใดการเขียนประวัติจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อพระเจ้า? ไตร่ตรองเรื่องนี้ขณะที่ท่านอ่านภาค 47 และคําแนะนําที่คล้ายกันใน 2 นีไฟ 29:11–12; โมเสส 6:5; อับราฮัม 1:28, 31 ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ท่านบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของท่านอย่างไร?
ท่านสามารถบันทึกความทรงจําและประสบการณ์จากชีวิตท่าน—และชีวิตบรรพชนของท่านบน FamilySearch (ดู FamilySearch.org)
ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “โอ้จงจำ จงจำไว้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 66–69.
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถนำทางฉันขณะที่ฉันทำการเรียกให้เกิดสัมฤทธิผล
ท่านอาจเข้าใจสิ่งที่จอห์น วิตเมอร์รู้สึกเมื่อเขาต้องการความมั่นใจว่าการเรียกของเขามาจากพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าตรัสอะไรใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 47 กับจอห์น วิตเมอร์—และกับท่าน—เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมั่นใจในการเรียกที่พระองค์ประทานให้เกิดสัมฤทธิผล?
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ฉันสามารถช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกถึงการต้อนรับที่โบสถ์
-
หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:5 กับเด็ก ให้พูดคุยกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ผู้คนรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขามาที่ศาสนจักรของพระองค์ เชื้อเชิญเด็กให้นึกภาพว่าพวกเขาเห็นใครบางคนที่ไปโบสถ์เป็นครั้งแรก ช่วยให้เด็กฝึกวิธีช่วยให้บุคคลดังกล่าวรู้สึกถึงการต้อนรับ
พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณแก่ฉันเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น
-
เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับของประทานฝ่ายวิญญาณที่บรรยายไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:13–26 ให้พิจารณาแนวคิดนี้ ท่านอาจเขียนของประทานไว้บนแผ่นกระดาษและซ่อนไว้ทั่วๆ ห้อง เมื่อเด็กเจอกระดาษแต่ละแผ่น ให้ช่วยพวกเขาหาว่าของประทานนั้นกล่าวถึงส่วนใดใน ภาค 46 สําหรับของประทานแต่ละอย่าง ให้พูดคุยกับพวกเขาว่าของประทานนี้ใช้เพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่นอย่างไร (คําบรรยายใน “บทที่ 20: ของประทานแห่งพระวิญญาณ” ใน เรื่องราวในหลักคําสอนและพันธสัญญา หน้า 77–80 อาจช่วยได้)
-
บอกเด็กเกี่ยวกับของประทานที่ท่านรู้สึกว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบให้พวกเขา และให้พวกเขาพูดถึงของประทานที่พวกเขาสังเกตเห็นในกันและกัน ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:8–9, 26 เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์จึงทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณแก่เรา เราจะใช้ของประทานของเราเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร?
ฉันสามารถบันทึกประวัติของฉัน
-
ให้เด็กค้นพบสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้จอห์น วิตเมอร์ทําใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 47:1, 3 ท่านอาจแบ่งปันเรื่องราวที่ชื่นชอบจากพระคัมภีร์ให้กันและกัน ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถรู้เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ได้เพราะมีผู้บันทึก
-
พิจารณาว่าท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กบันทึกประวัติส่วนตัวของพวกเขาอย่างไร ท่านจะแบ่งปันข้อมูลบางอย่างจากบันทึกส่วนตัวของท่านหรือเล่าเรื่องบรรพชนคนหนึ่งของท่าน (ดู FamilySearch.org หรือแอปความทรงจํา). ท่านอาจจะมีคำกระตุ้นเตือนให้เขียนบันทึกส่วนตัว เช่น “เกิดอะไรขึ้นสัปดาห์นี้ที่ท่านอยากให้หลานๆ รู้?” หรือ “สัปดาห์นี้ท่านเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตท่านอย่างไร?” เด็กเล็กจะวาดภาพประสบการณ์ของพวกเขา หรือท่านจะบันทึกขณะพวกเขาเล่าเรื่องก็ได้ พรใดมาจากการบันทึก “ประวัติสม่ำเสมอ”? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 47:1)
ฉันสามารถช่วยเหลือผู้อื่นโดยแบ่งปันสิ่งที่ฉันได้รับ
-
ขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 48:2–3 กับเด็ก ท่านอาจต้องอธิบายว่าผู้คนเดินทางจากตะวันออกมายังโอไฮโอ และพวกเขาไม่มี่ที่ให้อาศัย พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนทำสิ่งใดเพื่อช่วยเหลือ? ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้พวกเขาซึ่งสามารถแบ่งปันกับผู้อื่นได้ ท่านอาจร้องเพลงกับพวกเขา เช่น “ลำธารเล็กๆ พูดว่า ‘จงให้’” (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 116)