“7–13 กรกฎาคม: ‘สิ่งล้ำค่าจะเป็นรางวัลของพวกเขาและนิรันดรจะเป็นรัศมีภาพของพวกเขา’: หลักคำสอนและพันธสัญญา 76,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคำสอนและพันธสัญญา 76” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
7–13 กรกฎาคม: “สิ่งล้ำค่าจะเป็นรางวัลของพวกเขาและนิรันดรจะเป็นรัศมีภาพของพวกเขา”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76
“จะเกิดอะไรขึ้นกับฉันหลังจากฉันตาย?” เกือบทุกคนถามคําถามนี้ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง ประเพณีมากมายในศาสนาคริสต์ที่สืบทอดมาหลายศตวรรษตามคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลต่างสอนเรื่องของสวรรค์และนรก เมืองบรมสุขเกษมสำหรับคนชอบธรรมและความทรมานสำหรับคนชั่วร้าย แต่ครอบครัวมนุษย์ทั้งหมดถูกแบ่งอย่างเคร่งครัดขนาดนั้นจริงหรือ? ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1832 โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันสงสัยว่ามีให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกหรือไม่ (ดูหัวบทของ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 76)
มีแน่นอน ขณะโจเซฟและซิดนีย์ไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ พระเจ้าทรง “สัมผัสดวงตาแห่งความเข้าใจ [ของพวกท่าน] และมันจึงเปิด” (ข้อ 19) พวกเขาได้รับการเปิดเผยอันน่าทึ่ง ขยายความ และให้ความกระจ่างมากจนวิสุทธิชนเรียกว่า “นิมิต” อีกทั้งเปิดหน้าต่างสวรรค์และให้มุมมองที่ขยายความคิดของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับนิรันดร นิมิตเปิดเผยว่าสวรรค์ใหญ่โต กว้างขวาง และครอบคลุมมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยคิด พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาและเที่ยงธรรมเกินกว่าเราจะเข้าใจได้ และบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีจุดหมายนิรันดร์รุ่งโรจน์กว่าที่เราจะนึกภาพออก
ดู วิสุทธิชน, 1:147–150; “The Vision,” ใน Revelations in Context, 148–154.
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
ความรอดมาทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า
ภาค 76 เปิดเผยความจริงสําคัญๆ เกี่ยวกับจุดหมายนิรันดร์ของเรา แต่จะไม่สมบูรณ์หากกล่าวว่าการเปิดเผยนี้เกี่ยวกับอาณาจักรแห่งรัศมีภาพสามระดับหรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับแผนแห่งความรอด ที่ถูกต้องกว่านี้คือ ภาค 76 เกี่ยวข้องกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงทําให้แผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดและรัศมีภาพนิรันดร์ของเราเป็นไปได้ ขณะที่ท่านอ่าน ท่านอาจมองหาคําหรือวลีที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูคริสต์กับผู้ที่สืบทอดอาณาจักรแห่งรัศมีภาพต่างๆ เป็นมรดก ตารางต่อไปนี้อาจช่วยท่านบันทึกสิ่งที่ท่านพบ
อาณาจักรแห่งรัศมีภาพ |
ความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ |
พรนิรันดร์ |
---|---|---|
อาณาจักรแห่งรัศมีภาพ | ความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์
| พรนิรันดร์
|
อาณาจักรแห่งรัศมีภาพ | ความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ | พรนิรันดร์ |
อาณาจักรแห่งรัศมีภาพ | ความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ | พรนิรันดร์ |
ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอด?
เมื่อวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์อ่านนิมิตนี้ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกรักพระเจ้ามากกว่าที่เคยรักในชีวิต” (ดู “เสียงของการฟื้นฟู: ประจักษ์พยานเรื่อง ‘นิมิต’”) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จาก ข้อ 1–5, 20–24, 39–43, 107–108 ที่ทําให้ท่านรักพระองค์มากขึ้น?
ดู 1 เปโตร 3:18–19; 4:6; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําอะไรเพื่อเราบ้าง?” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 75–77; “ฉันเฝ้าพิศวง” เพลงสวด, บทเพลงที่ 89 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:5–10; 114-118
ฉันเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้า “โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์”
ไม่ใช่สมาชิกของศาสนจักรทุกคนที่ยอมรับการเปิดเผยใน ภาค 76 ได้อย่างง่ายดาย เพราะศาสนจักรสอนว่าเกือบทุกคนจะรอดและได้รับรัศมีภาพระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บริคัม ยังก์กล่าวว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้าปฏิบัติมานานคือเมื่อนิมิตซึ่งตรงข้ามและขัดกับความรู้เดิมของข้าพเจ้ามาถึงข้าพเจ้าครั้งแรก ข้าพเจ้าจะพูดว่ารอสักครู่ ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธ แต่ข้าพเจ้าจะไม่เข้าใจ” ท่านอธิบายว่าท่านต้อง “คิดและสวดอ้อนวอน อ่านและคิด จนกระทั่งข้าพเจ้ารู้และเข้าใจนิมิตนั้นอย่างถ่องแท้ด้วยตัวข้าพเจ้าเอง” (ใน “The Vision,” Revelations in Context, 150) ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของบริคัม ยังก์ที่สามารถช่วยท่านได้เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยสิ่งที่ต่างจากความเข้าใจปัจจุบันของท่าน? ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 76:5–10, 114–118? ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะเข้าใจ “ความพึงพอใจอันเป็น [พระ] ประสงค์ [ของพระผู้เป็นเจ้า]” (ข้อ 7)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:39-44; 50–70
ความสูงส่งเป็นรูปแบบสูงสุดของความรอด
หลักคําสอนและพันธสัญญา 76:39–44 บรรยายถึงความรอดโดยทั่วไป ข้อ 50–70 บรรยายถึงความสูงส่ง ความรอดแบบเฉพาะเจาะจง ท่านจะอธิบายความแตกต่างระหว่างความรอดและความสูงส่งอย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีบทบาทอะไรในทั้งสองสิ่งนี้? ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่ดลใจให้ท่านแสวงหาความสูงส่ง?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:50–70, 92–95
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันได้รับชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรซีเลสเชียล
ท่านเคยสงสัย—หรือกังวล—หรือไม่ว่าท่านจะสามารถเป็นคนที่จะได้รับรัศมีภาพซีเลสเชียล ดังที่อธิบายไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 76:50–70, 92–95 ถึงแม้การรู้ว่าพระเจ้าคาดหวังอะไรจากเราเป็นสิ่งสำคัญ ท่านอาจลองพิจารณาดูข้อเหล่านี้ถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทํา—และกำลังทำ—เพื่อช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์ เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าความพยายามของท่านสําคัญต่อพระองค์?
นิมิตนี้ของอาณาจักรซีเลสเชียลส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านต้องการดำเนินชีวิตประจำวันของท่าน?
ดู โมเสส 1:39; เจ. เดฟน์ คอร์นิช, “ฉันดีพอหรือไม่ ฉันจะทำได้ไหม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 32–34 ด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
เราทุกคนเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้า
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจศักยภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ท่านอาจให้พวกเขาดูภาพเด็กๆ และบิดามารดาของพวกเขา จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 76:24 และแบ่งปันกันว่าเหตุใดท่านจึงมีความสุขที่รู้ว่าเราทุกคนล้วนเป็น “บุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้า”
-
ท่านอาจร้องเพลง “ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” ร่วมกัน (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 2–3) และชวนให้เด็กชี้ตัวเองเมื่อพวกเขาร้องคำว่า “ฉัน” จากนั้นให้ร้องเพลงอีกครั้ง โดยแทนที่คําว่า “ฉัน” ด้วยคําว่า “เธอ” ขณะชี้ไปที่คนอื่น
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:5, 41–42, 69
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน
-
ท่านอาจแสดงบทบาทสมมติกับเด็กในสถานการณ์ที่มีคนถามว่า “พระเยซูคริสต์ทรงทําอะไรเพื่อฉัน?” ท่านและเด็กสามารถมองหาคําตอบที่เป็นไปได้ใน ข้อ 5, 41–42, หรือ 69 ใน ภาค 76 ท่านอาจร้องเพลง: “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 20–21 ด้วย เราจะแสดงความสำนึกคุณต่อสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราได้อย่างไร?
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันกลับไปอยู่กับพระองค์ตลอดกาล
-
ท่านและเด็กอาจอ่านหรือชม “บทที่ 26: อาณาจักรแห่งสวรรค์สามระดับ” บางส่วนหรือทั้งหมด (ใน เรื่องราวในหลักคําสอนและพันธสัญญา, 97–103 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังพระกิตติคุณ) และแบ่งปันกันว่าท่านชอบอะไรเกี่ยวกับนิมิตที่โจเซฟ สมิธเห็น ให้เด็กแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของพวกเขาว่าการอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ในอาณาจักรซีเลสเชียลจะเป็นอย่างไร
-
ท่านอาจอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:62 ให้เด็กฟังและเชื้อเชิญให้พวกเขาวาดภาพตนเองกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ในอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:12, 15–19, 114–116
การศึกษาพระคัมภีร์จะช่วยให้ฉัน “เข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า”
-
ท่านอาจเชื้อเชิญให้เด็กอ่าน ข้อ 15–19 เพื่อดูว่าโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันกําลังทําอะไรเมื่อพวกท่านเห็นนิมิตใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 76 เล่าให้เด็กฟังถึงครั้งที่ท่านได้รับการดลใจขณะอ่านพระคัมภีร์ และถามเด็กว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์คล้ายกันหรือไม่