“21–27 กรกฎาคม: ที่ใด ‘ประทานให้มากก็เรียกร้องมาก’: หลักคำสอนและพันธสัญญา 81–83,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 81–83” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
21–27 กรกฎาคม: ที่ใด “ประทานให้มากก็เรียกร้องมาก”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81–83
ในเดือนมีนาคม ปี 1832 พระเจ้าทรงเรียกเจสส์ กอสเป็นที่ปรึกษาของโจเซฟ สมิธในฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูง (ปัจจุบันเรียกว่าฝ่ายประธานสูงสุด) หลักคําสอนและพันธสัญญา 81 เป็นการเปิดเผยต่อบราเดอร์กอสเกี่ยวกับการเรียกใหม่ของเขา แต่เจสส์ กอสไม่ได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์ ดังนั้นเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์จึงได้รับเรียกแทนเขา ชื่อของบราเดอร์วิลเลียมส์แทนที่ชื่อของบราเดอร์กอสในการเปิดเผย
นั่นอาจดูเหมือนเป็นรายละเอียดเล็กๆ แต่บอกเป็นนัยถึงความจริงสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ การเปิดเผยส่วนใหญ่ในหลักคำสอนและพันธสัญญากล่าวกับคนๆ หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เราสามารถหาวิธีประยุกต์ใช้กับตัวเราได้เสมอ (ดู 1 นีไฟ 19:23) เมื่อเราอ่านพระดำรัสแนะนำของพระเจ้าให้เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ “ให้กำลังเข่าที่อ่อนล้า” เราสามารถนึกถึงคนที่เราจะให้กำลังได้ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5) เมื่อเราอ่านพระดํารัสเชื้อเชิญของพระเจ้าให้สมาชิกในระเบียบเอกภาพ “ผูกมัดตนโดยพันธสัญญานี้” เราสามารถนึกถึงพันธสัญญาของเราเอง และเราสามารถอ่านคําสัญญาของพระองค์ว่า “เรา … ถูกผูกมัดเมื่อเจ้าทําสิ่งที่เรากล่าว” ประหนึ่งพระองค์กําลังตรัสกับเรา (หลักคําสอนและพันธสัญญา 82:10, 15) เราสามารถทําเช่นนั้นได้เพราะพระเจ้าทรงประกาศเช่นกันว่า “สิ่งใดที่เรากล่าวแก่คนหนึ่งเราจึงกล่าวแก่ทุกคน” (ข้อ 5)
ดู “Newel K. Whitney and the United Firm,” “Jesse Gause: Counselor to the Prophet,” ใน Revelations in Context, 142–47, 155–57.
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:4–5; 82:18–19
“เจ้าจะทำความดีมากที่สุดต่อเพื่อนมนุษย์ของเจ้า”
หลายข้อใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 81–83 พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนรอบตัวเรา ท่านอาจทําเครื่องหมายเมื่อท่านพบข้อเหล่านั้น ตัวอย่างหนึ่งที่สื่อความหมายได้มากที่สุดอยู่ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 81:4–5 ต่อไปนี้เป็นคำถามบางข้อเพื่อช่วยท่านไตร่ตรองข้อเหล่านี้:
-
คนเรา “อ่อนแอ” ในด้านใดได้บ้าง? การ “ช่วยเหลือ” พวกเขาหมายความว่าอย่างไร? เมื่อใดที่การรับใช้ผู้อื่นเหมือนพระคริสต์ช่วยเหลือฉันเมื่อฉันรู้สึกอ่อนแอ?
-
ในเชิงเปรียบเทียบอะไรอาจเป็นเหตุให้มือของคนๆ หนึ่ง “อ่อนแรง”? ฉันจะ “ยก” มือเหล่านี้ได้อย่างไร?
-
“เข่าที่อ่อนล้า” น่าจะหมายถึงอะไร? สิ่งเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไร?
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําสิ่งเหล่านี้เพื่อท่านอย่างไร?
การศึกษาข้อนี้อาจจะทำให้นึกถึงคนที่ท่านสามารถ “ช่วยเหลือ” “ยก” หรือ “ให้กำลัง” ท่านจะทำอะไรเพื่อปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลนั้น?
ท่านเรียนรู้อะไรอีกเกี่ยวกับการรับใช้ผู้อื่นใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:18–19? ท่านอาจดูวิดีโอ “Teachings of Thomas S. Monson: Rescuing Those in Need” (Gospel Library). สมาชิกวอร์ดของอธิการมอนสันเป็นแบบอย่างของสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนอย่างไร?
ดู เจคอบ 2:17–19; โมไซยาห์ 18:8–9 ด้วย
พระผู้ช่วยให้รอดประทานให้ฉันมากและทรงเรียกร้องจากฉันมาก
การอ่านข้อนี้อาจกระตุ้นเตือนให้ท่านทบทวนถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่าน—ทั้งพรทางร่างกายและทางวิญญาณ นึกถึงสิ่งนี้ขณะที่ท่านอ่านส่วนที่เหลือของ ภาค 82 ท่านรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องสิ่งใดจากท่าน?
ดู “เพราะฉันได้รับมากมาย,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 105 ด้วย
พระบัญญัติคือการแสดงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา
หากท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเคยสงสัยว่าเหตุใดพระเจ้าประทานพระบัญญัติให้มากมายขนาดนี้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–10 จะช่วยได้ ข้อคิดใดจากข้อเหล่านี้จะช่วยท่านอธิบายให้บางคนรู้ว่าเหตุใดท่านจึงเลือกปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า? ท่านจะเปรียบเทียบพระบัญญัติกับสิ่งใดที่อาจช่วยได้? ท่านจะพบข้อคิดเพิ่มเติมใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 1:37–38; 130:20–21 ประสบการณ์ใดบ้างสอนท่านให้เห็นว่าพระบัญญัติเป็นพร?
นึกถึงพระบัญญัติบางข้อที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่าน พระบัญญัติเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์และพระประสงค์ของพระองค์? (ดู ข้อ 8) การรักษาพระบัญญัติเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตท่านอย่างไร?
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าจาก ข้อ 10? ท่านคิดว่า “ผูกมัด” หมายความว่าอย่างไรสําหรับพระเจ้า (ดู ข้อ 15 ด้วย)
พระเจ้าทรงรักษาคำสัญญาของพระองค์ในชีวิตท่านอย่างไร? ท่านจะกล่าวสิ่งใดกับผู้ที่รู้สึกขาดแรงจูงใจในการรักษาพระบัญญัติเพียงเพราะพวกเขายังไม่ได้รับพรที่พวกเขาหวัง? ท่านพบข้อคิดที่เป็นประโยชน์ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันเรื่อง “ความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า” หรือไม่? (เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 78-80)
ดู Topics and Questions, “Commandments,” Gospel Library ด้วย
พระเจ้าประทานพรเราในวิธีที่น่าอัศจรรย์ของพระองค์
ซิสเตอร์เวอร์จิเนีย เอช. เพียร์ซ อดีตสมาชิกในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญพูดถึงสตรีคนหนึ่งที่กังวลอย่างมากเกี่ยวกับลูกๆ ของเธอที่กำลังเลือกในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ในภาวะที่แทบจะหวั่นวิตก เธอพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแสวงหาพรจากพระเจ้าแทนลูกๆ นอกจากการสวดอ้อนวอนอย่างแรงกล้าแล้ว เธอตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าพระวิหารบ่อยขึ้นและรู้สึกมั่นใจว่าพระเจ้าจะประทานรางวัลกับการเสียสละครั้งสำคัญนี้โดยเปลี่ยนใจลูกๆ ของเธอ เธอเล่าว่า
“หลังจากเข้าพระวิหารบ่อยขึ้นและสวดอ้อนวอนสม่ำเสมอนานสิบปี ดิฉันเสียใจที่ต้องพูดว่าการเลือกของลูกไม่เปลี่ยนเลย …
“แต่ดิฉันเปลี่ยน ดิฉันต่างจากเดิม … ดิฉันมีใจที่อ่อนโยนมากขึ้น ดิฉันเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ จริงๆ แล้วดิฉันสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นและปราศจากความหวาดกลัว ความกังวล ความรู้สึกผิด การตำหนิ และความพรั่นพรึง ดิฉันเลิกจำกัดเวลาของตนเองและสามารถรอคอยพระเจ้าได้ และดิฉันประสบกับการแสดงให้ประจักษ์ถึงเดชานุภาพของพระเจ้าบ่อยครั้ง พระองค์ทรงส่งพระเมตตาอันละเอียดอ่อน ข้อความเล็กน้อยที่แสดงถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อดิฉันและลูกๆ ความคาดหวังของดิฉันเปลี่ยนไป แทนที่จะคาดหวังให้ลูกเปลี่ยน ดิฉันคาดหวังให้พระเมตตาอันละเอียดอ่อนเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ และเปี่ยมด้วยความสำนึกคุณต่อพระเมตตาเหล่านั้น …
“คําสวดอ้อนวอนของดิฉันเปลี่ยนไป ดิฉันแสดงความรักมากขึ้นและรู้สึกขอบคุณมากขึ้น … พระเจ้าทรงงานในวิธีที่น่าอัศจรรย์ และดิฉันเปี่ยมด้วยสันติสุขเกินความเข้าใจทั้งหมด” (ใน “Prayer: A Small and Simple Thing,” At the Pulpit [2017], 288–289)
“หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าพึงได้รับการจัดหาให้”
ในเดือนเมษายน 1832 พระเจ้าทรงแนะนำให้โจเซฟ สมิธเดินทางราว 800 ไมล์ไปเยี่ยมวิสุทธิชนที่มารวมกันในมิสซูรี (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:9) ขณะอยู่ที่นั่น ท่านไปเยี่ยมชุมชนที่หญิงหม้ายหลายคนเลี้ยงดูเด็กตามลําพัง ฟีบี เพ็คกับแอนนา โรเจอร์สผู้ที่ท่านศาสดาพยากรณ์รู้จักเป็นส่วนตัวอยู่ในบรรดาคนเหล่านั้นด้วย ในมิสซูรีทศวรรษ 1830 กฎหมายรัฐให้สิทธิจำกัดแก่หญิงหม้ายในเรื่องทรัพย์สินของสามีที่ล่วงลับ ท่านเรียนรู้อะไรจาก ภาค 83 ว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า? ท่านรู้จักใครในสถานการณ์นี้ผู้จะได้ประโยชน์จากความรักหรือความห่วงใยของท่านหรือไม่? มีวิธีใดบ้างที่ท่านสามารถแบ่งปันสิ่งที่ท่านมีกับหญิงหม้าย เด็กกําพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้อื่นที่ขัดสน?
ดู อิสยาห์ 1:17; ยากอบ 1:27 ด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ฉันสามารถสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า “โดยออกเสียงและในใจ”
-
ขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 81:3 กับเด็ก ช่วยให้พวกเขานึกถึงสถานที่ “สาธารณะ” และ “ส่วนตัว” ที่พวกเขาจะสวดอ้อนวอนได้ ท่านอาจฟังหรือร้องเพลงสวดเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนกับพวกเขาด้วย เช่น “สวดอ้อนวอนที่ลับตา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 66) แบ่งปันบางสิ่งจากเพลงสวดที่สอนความจริงอันสําคัญเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน ท่านอาจพูดคุยเกี่ยวกับการพูดด้วยความคารวะต่อพระบิดาบนสวรรค์ได้เช่นกัน
-
เพื่อกระตุ้นให้เด็กสวดอ้อนวอนในใจ ท่านอาจให้หัวใจกระดาษแก่พวกเขาและเชื้อเชิญให้พวกเขาวาดหรือเขียนบางสิ่งที่พวกเขาต้องการสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาบนสวรรค์ เป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าเรากําลังคิดและรู้สึกอย่างไร พระองค์ทรงได้ยินคําสวดอ้อนวอนของเราแม้เราไม่ได้พูดออกเสียงก็ตาม ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านสวดอ้อนวอนในใจและพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินท่าน
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันช่วยเหลือคนขัดสน
-
วาดภาพมือและเข่ากับเด็ก และขอให้พวกเขาหาอวัยวะเหล่านี้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 81:5 พระเจ้าทรงขอให้เราทำอะไรในข้อนี้? ท่านอาจแบ่งปันบางวิธีที่ผู้คนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท่านเมื่อท่านรู้สึก “อ่อนแอ” หรือ “อ่อนล้า” ChurchofJesusChrist.org ท่านอาจร้องเพลงร่วมกันเกี่ยวกับการรับใช้ เช่น “ฉันทำความดีบ้างหรือไม่?” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 109) ท่านอาจช่วยเด็กวางแผนช่วยเหลืออย่างน้อยหนึ่งคนที่ต้องการความช่วยเหลือในสัปดาห์นี้
-
ท่านอาจใช้ภาพหรือวิดีโอเล่าเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ทรงรับใช้ผู้อื่นด้วย (ดูภาพในโครงร่างนี้; หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 41, 42, 46, 47, 55; หรือ วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล เรื่องหนึ่งในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) เราจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร?
พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญาพรเมื่อฉันพยายามเชื่อฟังพระองค์
-
ท่านและเด็กสามารถหาคําตอบใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 82:8–10 สำหรับคําถามที่ว่า “เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์จึงประทานพระบัญญัติแก่เรา?” ท่านอาจต้องการช่วยให้เด็กนึกถึงตัวอย่างพระบัญญัติของพระองค์ (ดูตัวอย่างใน อพยพ 20:4–17; มัทธิว 22:37–39; หลักคําสอนและพันธสัญญา 89:5–17) อาจช่วยได้หากท่านและเด็กค้นหาหรือวาดภาพที่แสดงถึงพระบัญญัติบางประการ พระบัญญัติของพระบิดาบนสวรรค์แสดงให้เห็นถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราอย่างไร?
-
เกมง่ายๆ อาจช่วยให้เด็กเห็นว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเป็นพร ไม่ใช่ภาระ คนหนึ่งอาจให้คําแนะนําเพื่อช่วยอีกคนหนึ่งที่ถูกปิดตาทําบางอย่าง เช่น ทําแซนด์วิชหรือวาดรูป คิดบางอย่างที่สนุกและสร้างสรรค์! จากนั้นพูดคุยกันว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนคำแนะนำในเกมนี้อย่างไร