“15–21 ธันวาคม: ‘ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้าง’: ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
15–21 ธันวาคม: “ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้าง”
ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก
แม้ก่อนเราเกิด เราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว—ครอบครัวของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา แบบแผนนั้นดำเนินต่อเนื่องบนแผ่นดินโลก ครอบครัวที่นี่ดีที่สุดมีไว้เพื่อให้เป็นไปตามแบบแผนที่สมบูรณ์ในสวรรค์
แน่นอนว่าไม่มีใครรับประกันได้ว่าครอบครัวบนแผ่นดินโลกจะสมบูรณ์แบบหรือแม้กระทั่งบังเกิดผล แต่ดังที่ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอน ครอบครัว “ให้โอกาสดีที่สุดแก่ลูกพระผู้เป็นเจ้าที่จะได้รับการต้อนรับสู่โลกพร้อมความรักแบบเดียวบนโลกที่ใกล้เคียงกับความรักที่เรารู้สึกในสวรรค์—ความรักของพ่อแม่” (“การรวบรวมครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 20) เพราะรู้ว่าครอบครัวไม่ดีพร้อมและจะเผชิญการโจมตีของปฏิปักษ์ พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงส่งพระบุตรที่รักของพระองค์มาไถ่เราและเยียวยาครอบครัวเรา พระองค์ทรงส่งศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายกับถ้อยแถลงมาเพื่อปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ถ้าเราทำตามศาสดาพยากรณ์และมีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด แม้ครอบครัวเราจะไม่บรรลุความสมบูรณ์แบบ แต่มีความหวังสำหรับครอบครัว—บนแผ่นดินโลกและในสวรรค์
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
“ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้าง”
เห็นชัดว่า “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว แต่เกี่ยวกับแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้าเท่าๆ กัน วิธีหนึ่งในการศึกษาถ้อยแถลงคือเขียนวลี ชีวิตก่อนเกิด ชีวิตมรรตัย และ ชีวิตหลังมรรตัย ลงในกระดาษและเขียนสิ่งที่ถ้อยแถลงสอนเกี่ยวกับแต่ละหัวข้อเหล่านี้ ท่านเรียนรู้อะไรเมื่อท่านศึกษาถ้อยแถลงวิธีนี้? ช่วยให้ท่านเข้าใจเหตุที่การแต่งงานและครอบครัวจำเป็นต่อแผนของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? ความจริงในถ้อยแถลงมีอิทธิพลต่อการเลือกของท่านอย่างไร?
มีคนมากมายที่อาจกลัวการแต่งงานหรือการเลี้ยงดูบุตรด้วยเหตุผลต่างๆ ถ้าเพื่อนคนหนึ่งพูดกับท่านว่า “ฉันไม่อยากแต่งงานหรือมีครอบครัว” ท่านจะตอบว่าอย่างไร? ท่านอาจค้นคว้าถ้อยแถลงโดยมองหาบางสิ่งที่จะช่วยให้เพื่อนมีความหวังในแผนของพระผู้เป็นเจ้า
คําถามอีกข้อหนึ่งที่อาจมีคนถามท่าน—หรือท่านอาจถามตนเอง—เป็นคําถามทํานองนี้ “จะเป็นอย่างไรถ้าสถานการณ์ครอบครัวของฉันไม่ตรงกับสิ่งที่อธิบายไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว”? ต่อไปนี้เป็นสองแหล่งที่ท่านอาจหาคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์: หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเรื่อง “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความเข้มแข็งของพ่อแม่” (เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 55–59) และสี่ย่อหน้าสุดท้ายในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันเรื่อง “เหตุผลที่แต่งงาน เหตุผลที่มีครอบครัว” (เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 52)
ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรจากสิ่งที่ท่านศึกษา?
ดู ดัลลิน เอช.โอ๊คส์, “แผนและถ้อยแถลง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 28–31 ด้วย
“แต่ละคนเป็นปิยบุตรและปิยธิดาของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์”
เรามักคิดว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นแนวทางสําหรับชีวิตครอบครัว แต่สอนความจริงสําคัญเกี่ยวกับครอบครัวบนสวรรค์และอัตลักษณ์นิรันดร์ของเราด้วย เหตุใดจึงสําคัญที่ท่านต้องรู้ว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้? ความจริงนี้ส่งผลต่อการเลือกของท่านอย่างไร?
ดู “ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” เพลงสวด บทเพลงที่ 149 ด้วย
“ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะสำเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์”
ให้คิดว่า ย่อหน้า 6 และ 7 ของ ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว เป็นแบบแผนสำหรับ “ความสุขในชีวิตครอบครัว” ขณะที่ท่านอ่านย่อหน้าเหล่านี้ ให้ระบุหลักธรรมของ “การแต่งงานและครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ” ท่านอาจนึกถึงตัวอย่างของหลักธรรมเหล่านี้ที่ท่านเคยเห็นในครอบครัวของท่านเองหรือครอบครัวอื่น หลักธรรมเหล่านี้ช่วยทําให้พระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของชีวิตครอบครัวอย่างไร?
จากนั้นท่านอาจนึกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ท่านต้องการเสริมสร้างให้แน่นแฟ้นขึ้น วางแผนด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อทําตามความประทับใจที่ท่านได้รับ
ดู แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน, “บ้านที่ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 107–109 ด้วย
“เราเรียกร้องประชาชนพลเมือง … ผู้มีความรับผิดชอบ … เพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว”
ย่อหน้าสุดท้าย ของ ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว มีการเรียกให้ดําเนินการด้วย ขณะที่ท่านพิจารณาว่าท่านจะตอบรับการเรียกนั้นอย่างไร การศึกษาหัวข้อถ้อยแถลงอาจช่วยได้ ตัวอย่างเช่น ถ้อยแถลงคืออะไร? คํานั้นบอกอะไรท่านเกี่ยวกับข่าวสารของเอกสารนี้? อะไรทำให้ฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครสาวกสิบสองมีสิทธิ์ออกถ้อยแถลงต่อโลกเกี่ยวกับครอบครัว? ท่านอาจเขียนสิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นข่าวสารหลักของถ้อยแถลงเป็นข้อๆ ด้วย ท่านจะส่งเสริมข่าวสารเหล่านี้ในชีวิตท่าน ในบ้าน และในชุมชนของท่านได้อย่างไร?
ดู บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “ผู้ปกป้องถ้อยแถลงครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 14–17; “Defenders of the Faith” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ครอบครัวสำคัญในแผนของพระบิดาบนสวรรค์
-
ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่มีความสำคัญมากจนพวกเขาต้องการบอกทุกคนเกี่ยวกับสิ่งนั้น ให้เด็กดูสำเนา “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” และอธิบายว่าศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเขียนถ้อยแถลงนี้เพื่อบอกเราว่าครอบครัวสำคัญเพียงใดต่อพระบิดาบนสวรรค์ เหตุใดครอบครัวจึงสําคัญต่อพระองค์? (ดูวีดิทัศน์เรื่อง “What Is the Purpose of Family?” [ChurchofJesusChrist.org] ด้วย)
-
แบ่งปันบางอย่างจากถ้อยแถลงที่ท่านรู้สึกว่าเราทุกคนจําเป็นต้องรู้กับเด็ก เชิญเด็กแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงเหล่านั้น ชีวิตเราจะต่างจากนี้อย่างไรถ้าเราไม่รู้เรื่องเหล่านี้? ท่านอาจร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับความจริงที่พบในถ้อยแถลง เช่น “ฉันจะทําตามแผนของพระเจ้า” (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 86–87)
-
ใน หัวข้อที่สี่ ของข่าวสารเรื่อง “แผนและถ้อยแถลง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 30) ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายว่า ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว เขียนอย่างไร ท่านและเด็กอาจทบทวนคําบรรยายของประธานโอ๊คส์ด้วยกันและพูดคุยกันว่าเหตุใดท่านจึงสํานึกคุณที่พระเจ้าทรงดลใจผู้รับใช้ของพระองค์ให้สอนความจริงเหล่านี้แก่เราเกี่ยวกับครอบครัว
-
ท่านอาจให้เด็กดูภาพ (หรือเชื้อเชิญให้พวกเขาวาดภาพ) แสดงความจริงที่พบใน ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว อาจจะเป็นภาพพระวิหาร ภาพครอบครัวกำลังสวดอ้อนวอนหรือเล่นด้วยกัน หรือภาพคู่ชายหญิงกำลังแต่งงาน จากนั้นให้เด็กหาประโยคใน ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ที่เกี่ยวกับภาพ พระเจ้าทรงสอนอะไรเราเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ในถ้อยแถลง?
ฉันเป็น “ปิยบุตรและปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์”
-
ขณะที่ท่านร้องเพลง “ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” ด้วยกัน (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 149) ท่านอาจโยนลูกบอลให้เด็กคนหนึ่งขณะที่ท่านพูดว่า “ฉันรู้จักลูกของพระผู้เป็นเจ้าชื่อ [ชื่อเด็ก]” จากนั้นเด็กคนนั้นอาจโยนลูกบอลให้คนอื่นโดยพูดเหมือนเดิมและใส่ชื่อของบุคคลนั้น ช่วยเด็กหาวลี “ปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์” ใน ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว และแสดงประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงนี้
ครอบครัวมีความสุขที่สุดเมื่อพวกเขาทำตามพระเยซูคริสต์
-
เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ท่านและเด็กอาจพูดคุยกันว่าเราทําอะไรเพื่อทําให้สิ่งอื่นแข็งแรง—เช่น ฟัน ร่างกายของเรา หรือตึก จากนั้นท่านอาจเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง ช่วยเด็กหาหลักธรรมเหมือนพระคริสต์ที่ทำให้เกิดความสุขในชีวิตครอบครัว ตามที่พบใน ย่อหน้าที่ 7 ของ ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว (ดู หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้ด้วย)