“22–28 ธันวาคม: ‘ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“คริสต์มาส” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
22–28 ธันวาคม: ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า
คริสต์มาส
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศว่า “หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาเราคือประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง ทรงคืนพระชนม์อีกครั้งในวันที่สาม และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องดังกล่าว” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2011], 52) กว่า 160 ปีต่อมา คำกล่าวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองจัดพิมพ์ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” เพื่อเป็นเกียรติแก่วันครบรอบ 2,000 ปีวันประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 40)
ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราชื่นชมยินดีในพรของการเปิดเผยต่อเนื่องผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบัน เราขอบคุณสำหรับคำแนะนำ คำเตือน และคำพูดให้กำลังใจที่มาจากการดลใจของพวกท่าน แต่สำคัญที่สุดคือเราได้รับพรจากประจักษ์พยานอันเปี่ยมด้วยพลังของพวกท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์—เนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและตลอดปี ถ้อยคำเหล่านี้เป็นมากกว่าคำพูดปลุกใจของนักเขียนฝีมือดีหรือนักพูดผู้มีชื่อเสียงหรือข้อคิดจากผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ สิ่งนี้เป็นถ้อยคำของ “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก ทรงเรียก และทรงมอบอำนาจ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
“ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้น”
ท่านจะพูดอะไรในการสนับสนุนถ้อยแถลงที่ว่า “ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่น [พระเยซูคริสต์] ต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก”? มองหาข้อความใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ที่เป็นพยานถึงอิทธิพลอันลึกซึ้งของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อท่านอย่างไร?
สมมติว่าคนที่ไม่คุ้นเคยกับศาสนาคริสต์ถามท่านว่าเหตุใดท่านจึงฉลองคริสต์มาส ท่านจะตอบว่าอย่างไร? ทบทวน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” พร้อมกับนึกถึงคําถามนี้ และท่านอาจจดความคิดหรือความประทับใจที่มาถึงท่าน
ดู “Why We Need a Savior” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
“พระองค์ทรงลุกขึ้นจากความตาย”
ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” อัครสาวกเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด โดยกล่าวถึงการปรากฏสามครั้งของพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู ย่อหน้าที่ 5) ท่านอาจอ่านเรื่องราวของการเสด็จเยือนเหล่านี้ใน ยอห์น 20; 3 นีไฟ 11 และ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–20 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากพระคำและพระกรณียกิจของพระองค์ในระหว่างการปรากฏเหล่านี้?
“ฐานะปุโรหิตของพระองค์และศาสนจักรของพระองค์ได้รับการฟื้นฟู”
ระหว่างศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาปีนี้ ท่านได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นว่า “ฐานะปุโรหิตและศาสนจักรของพระองค์ได้รับการฟื้นฟู” อย่างไร ความจริงหรือหลักธรรมที่ได้รับการฟื้นฟูข้อใดมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ? ท่านอาจทบทวนพระคัมภีร์บางข้อต่อไปนี้ที่สอนเกี่ยวกับการฟื้นฟู: หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17–23; 13; 20:1–12; 65; 110; 112:30–32; 124:39–42; 128:19–21 ไตร่ตรองว่าความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูช่วยให้ท่านรู้จักและรักพระเยซูคริสต์อย่างไร
“วันหนึ่งพระองค์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลก”
คริสต์มาสเป็นเวลาให้หวนนึกถึงวันที่พระเยซูคริสต์ประสูติและตั้งตารอวันที่พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้ง ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาของพระองค์จาก ย่อหน้าที่สองถึงย่อหน้าสุดท้าย ของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”? ท่านอาจอ่าน ร้องเพลง หรือฟังเพลงสวดคริสต์มาสที่สอนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองด้วย เช่น “โลกจงสุขี” หรือ “ในยามเที่ยงคืนสุกใสนั้นนา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 94, 99)
“พระองค์ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก”
ใน ย่อหน้าสุดท้าย ของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ให้สังเกตคุณลักษณะและพระสมัญญานามที่ประทานแด่พระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะและพระสมัญญานามเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น:
ความสว่าง: พระเยซูคริสต์เปรียบเหมือนความสว่างสําหรับท่านอย่างไร? ท่านอาจวาดรูปหรือถ่ายภาพแทนความสว่างที่พระองค์ประทานแก่ท่าน ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อแบ่งปันแสงสว่างของพระองค์? (ดู ยอห์น 8:12; 3 นีไฟ 18:24; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:24 ด้วย)
ชีวิต: ท่านคิดว่าเหตุใด ชีวิต จึงเป็นคําที่ดีในการบรรยายถึงพระเยซูคริสต์? พระองค์ประทานชีวิตแก่ท่านในแง่ใด? ชีวิตท่านจะต่างจากนี้อย่างไรหากปราศจากพระองค์และพระกิตติคุณของพระองค์? (ดู ยอห์น 10:10; 1 โครินทร์ 15:19–23; หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:2 ด้วย)
ความหวัง: ท่านหวังอะไรเพราะพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์? ท่านรู้จักคนที่รู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตหรือไม่? ไตร่ตรองว่าท่านจะแบ่งปันความหวังที่ท่านรู้สึกในพระเยซูคริสต์กับบุคคลนั้นได้อย่างไร (ดู โรม 8:24–25; อีเธอร์ 12:4; โมโรไน 7:41 ด้วย)
“เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้าสำหรับของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้ [ของพระองค์]”
ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” อัครสาวกเรียกพระคริสต์ว่าทรงเป็น “ของประทาน” จากพระบิดาบนสวรรค์ของเรา จากสิ่งที่พบใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ท่านจะเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์อย่างไร: “โดยผ่านพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าประทานของประทานแห่ง …” ไตร่ตรองว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับของประทานเหล่านี้อย่างเต็มที่มากขึ้น
การศึกษา “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ส่งผลต่อศรัทธาและความรักที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ของขวัญสี่ประการที่พระเยซูคริสต์ประทานให้ท่าน” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณจากฝ่ายประธานสูงสุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส, 2 ธ.ค. 2018), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ; “Excerpts from ‘The Living Christ: The Testimony of the Apostles’” (วีดิทัศน์), ChurchofJesusChrist.org ด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ฉันสามารถ “มอบประจักษ์พยาน [ของฉัน]” เพื่อฉลองการประสูติของพระเยซู
-
พิจารณาว่าท่านจะแนะนําเด็กให้รู้จัก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ได้อย่างไร ท่านอาจช่วยพวกเขาชี้ไปที่พระนาม พระคริสต์ ในตำแหน่งและลายเซ็นของฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสอง ท่านอาจอธิบายว่านี่คือประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ที่พวกท่านต้องการแบ่งปันกับโลก
-
ท่านอาจแจกวลีหนึ่งจาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ให้เด็กแต่ละคนและขอให้พวกเขาหาหรือวาดรูปวลีนั้น จากนั้นท่านอาจช่วยพวกเขาหาวลีใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ท่านอาจรวบรวมรูปภาพและวลีเหล่านั้นเป็นเล่ม
-
แบ่งปันกันว่าท่านได้รับประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์อย่างไร ท่านอาจส่งต่อภาพพระผู้ช่วยให้รอดไปรอบๆ และผลัดกันแบ่งปันบางสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระองค์ (รวมถึงความจริงที่สอนใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”)
“พระองค์เสด็จไปกระทำคุณประโยชน์”
-
ขณะที่ท่านและเด็กอ่านย่อหน้าที่สองของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ให้พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับบางสิ่งที่พระเยซูทรงทํา ท่านอาจดูภาพจากพระชนม์ชีพของพระองค์ด้วย (ดู หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้และ หนังสือภาพพระกิตติคุณ) ให้เด็กพูดคุยกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังทำอะไรในภาพเหล่านี้ เราจะรับใช้ผู้อื่นเหมือนพระองค์ได้อย่างไร? วีดิทัศน์ “แสงส่องโลก” ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณอาจให้แนวคิดแก่ท่าน
“พระองค์ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก”
-
ช่วยเด็กหาเพลงสวดคริสต์มาสที่พูดถึงแสงสว่าง ชีวิต และความหวังที่การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดนำมาให้ชาวโลก—เช่น “โอ้ หมู่บ้านน้อยชื่อเบ็ธเลเฮ็ม” (เพลงสวด บทเพลงที่ 100) ร้องเพลงสวดด้วยกัน และให้เด็กแบ่งปันว่าพระเยซูทรงนำความสว่าง ชีวิต และความหวังเข้ามาในชีวิตพวกเขาอย่างไร
“เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้าสำหรับของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระองค์”
-
เราได้รับของประทานใดเพราะพระเยซูคริสต์บ้าง? ท่านและเด็กอาจมองหาของประทานเหล่านี้ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” หรือในเพลง เช่น “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 20–21) จากนั้นพวกเขาอาจห่อของบางอย่างเพื่อแทนของประทานเหล่านั้น ท่านอาจเสนอแนะให้เด็กเปิดของขวัญในวันคริสต์มาสเพื่อช่วยให้พวกเขาระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและของประทานที่พระองค์ประทานแก่เรา